สายลมบนถนนโบราณ
เป็นเรื่องสั้นที่มีความละเมียดละไมในการใช้ภาษา เปี่ยมด้วยวัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของชาวลาวและเขมรในสังคมอีสานแบบโบราณ เรื่องน่าอ่าน บรรยายน่าสนใจและผูกเรื่องดี
ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป
เล่มบาง กะทัดรัด เหมาะแก่การพกพาได้สะดวกชื่อเรื่องสะดุดหู ฟังดูเหมือนไม่มีความหมาย แต่กลับเป็นชื่อที่คนต่างชาติใช้เรียกชาวนครศรีธรรมราชว่า ‘ลิกอร์”ภาษาที่ใช้เป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้ปรุงแต่ง ซึ่งถ้าเพ่งเล็งในแงวรรณศิลป์ อาจจะไม่งดงามเท่าที่ควรนักเพราะเป็นภาษาง่ายๆ อ่านรื่น สื่อความหมายได้ตรงใจเหมือนกับผู้อื่นเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ลักษณะการเขียนเหมือนสายตาคนนอกที่มองดูชาวนครศรีธรรมราช เป็นเรื่องสั้นเล่มเดียวที่ไม่ได้เอาความรู้สึกของผู้เขียนมาชี้นำ ใช้มุมมองของคนภายนอก แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเปลี่ยนไป มีทั้งประเด็นเสียดสี อารมณ์ขัน และวิพากษ์สังคมทุนนิยม แสดงบทบาทของวรรณกรรมว่ามีหน้าที่ฉุดรั้งสังคม เตือนสติสังคมเรื่องสั้นในเล่มดีทุกเรื่อง ตอนจบเหมือนชีวิตคนจริงๆ ที่บางทีก็หาคำตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง เหมือนการดำเนินชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะเรื่องสุดท้ายดีมาก “ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป” เป็นเรื่องสั้นที่ผู้เขียนเขียนสมกับเป็นนักเขียนมืออาชีพเป็นผู้สร้างผลงานโดยจงใจ และมีสไตล์เป็นของตัวเอง และที่สำคัญเป็นหนังสือมีระบบบรรณาธิการดีมาก ซึ่งเป็นแง่มุมที่ช่วยให้หนังสือน่าอ่านยิ่งขึ้น
ลิลิตหล้ากำสรวล
1. วางรูปแบบฉันลักษณ์ถูกต้อง หลากหลาย โคลง ฉันท์ กพย์ กลอน ร่าย เหมาะกับเนื้อความ 2. เป็นงานยิ่งใหญ่ ที่สะท้อนเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น 3. มีความเหมาะสมกลมกลืนในการนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในรูปของ วรรณกรรมร้อยกรอง โดยมีจุดเด่นในเรื่องฉันทลักษณ์
เดินตามรอย
“เดินตามรอย”ของวันเนาว์ ยูเด็น คือผลงานที่นำเอา ‘โคลงโลกนิติ’ วรรณกรรมเก่าลายคราม ฉบับพระนิพนธ์ในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร มาเป็นแรงบันดาลใจ โดยผู้เขียนได้คัดเลือกโคลงจำนวน ๘๐ บท ที่มีเนื้อหาต่างกันมาเกริ่นนำ แล้วร้อยเรียงเสียใหม่ในรูปแบบ ‘กลอนสุภาพ’ เพื่ออธิบายขยายความวรรณกรรมคำสอนอันทรงคุณค่านั้น รวม ๘๐ สำนวน การนำของเก่ามาเล่มใหม่โดยผูกโยงสังคมปัจจุบันด้วยฝีมือนักกลอนชั้นครู นอกจากทำให้เข้าใจง่ายขึ้นแล้ว ผู้อ่านยังได้รับความรื่นรมย์พร้อมๆ กันไปด้วย
ปลายทางของเขาทั้งหลาย
เป็นรวมบทกวีที่มีเนื้อหาโดดเด่น เกี่ยวกับเรื่องสำคัญของสังคม เช่น มรดกของแผ่นดินที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมทางภูมิปัญญาและทรัพยากร เรื่องของศาสนาในระดับปรัชญา และแก่นพุทธธรรม เรื่องของคติความเชื่ออันมีผลต่อวิถีชีวิต ความเปลี่ยนแปลงและความพลัดพราก สูญเสีย ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ระดับโครงสร้างของสังคมทั้งสิ้น กวีได้นำเสนออย่างมีเสน่ห์ ในมุมมองของนักโบราณคดีประวัติศาสตร์ ด้วยท่าทีของนักวัฒนธรรมและด้วยกลวิธีตั้งคำถามที่ท้าทายให้เราได้ฉุกใจได้คิดถึงปฏิกิริยาของสังคมว่าจะพึงสะใจกับการตั้งคำถามหรือการค้นหาคำตอบ อันนำไปสู่ทางสองแพร่งคือ นำไปสู่หายนะธรรมหรือนำไปสู่อารยะธรรม
นาครเขษม
“นาครเกษม” ผลงานของ “คอยนุช” เป็นนวนิยายขนาดสั้นแนวเสียดสีที่เขียนในลักษณะเหนือจริงผู้เขียนเสียดสีสังคมโลกสมัยใหม่ที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและเร่งรีบจนทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างร้อนรน เพียงแค่อายุ 40 ปี พลังชีวิตก็ถูกใช้ไปจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น ทันทีที่อายุครบ 40 ปี คนเหล่านี้ก็กลายเป็นชาวนาครเกษมไปโดยอัตโนมัติ ชาวนาครเกษมมีบุคลิกแบบคนสูงวัยทั่วไป คือ หัวล้าน ผมหงอก สายตายาว อวัยวะหย่อนยานเหี่ยวย่น หูตึง ความจำไม่ดี เป็นต้น หลายคนมีความฝังใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างมาโนชผู้เชื่อมั่นในของเก่าที่ใช้การไม่ได้แล้ว วิชัยฝังใจกับผู้หญิงผมยาวไม่รู้จักชื่อและพบว่าอวัยวะเพศของตนไม่ทำงานหลังจากเก็บยางลบที่เขียนชื่อว่านภาและนาครเกษมได้ นภาพนักงานพิมพ์ดีดที่ทำงานจนลืมวันลืมคืน กว่าจะรู้ตัวฝ้าบนใบหน้าของเธอก็มีขนาดใหญ่เป็นรูปแผนที่แอฟริกาและเครื่องคอมพิวเตอร์ก็มาแทนที่พิมพ์ดีดของเธอที่ตัว ฟ หายไป เธออยู่ที่นาครเกษมโดยไม่พูดจาแม้แต่คำเดียว เอาแต่ตามหาตัว ฟ อย่างมุ่งมั่น อนันต์ซึ่งมีความฝันว่าอยากออกไปจากกรุงเทพฯ อยากมีบ้านหลังเล็ก ๆ ในชนบทแต่ก็ไม่เคยทำได้เลย และคนอื่น ๆ ทุกคนเป็นอดีตพนักงานบริษัทที่ถูกปลดออกจากงานด้วยเหตุผลว่าหมดอายุใช้งาน ในตอนท้ายเรื่องทุกคนได้ขึ้นชิงช้าสวรรค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการกลับไปสู่ความสุขในวัยเด็กและพบคำตอบของปัญหาคาใจในชีวิตของแต่ละคน นิยายเรื่องนี้ไม่ได้สร้างตัวละครและเหตุการณ์ตามขนบของนวนิยายแบบสมจริง จึงมีความพิลึกพิลั่นเกินจริงอยู่มาก แต่พบว่าผู้เขียนตั้งใจเสนอแก่นความคิดเรื่องคุณค่าของมนุษย์ เพราะสังคมนิยมตีราคามนุษย์จากผลประโยชน์ที่เขาสร้างให้แก่บริษัท สังคมวัตถุนิยมทำให้พวก “เก่า ช้า ล้า แก่” คือ หัวเก่า เชื่องช้า ล้าสมัย แก่ ถูกคัดออกราวกับสิ่งของชำรุดหรือตกรุ่นแสดงว่าสังคมสมัยใหม่ตัดสินมนุษย์ที่ “มูลค่า” ไม่ใช่ “คุณค่า” นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเน้นว่าสังคมบริโภคนิยมผลักดันให้มนุษย์หัวปักหัวปำอยู่กับการทำงานจนลืมไปว่าความสุขที่แท้อยู่ใกล้ตัว จึงละเลยที่จะเติมความสุขให้กับตนเอง ทุกคนพบว่าถึงที่สุดแล้วคนเราไม่ได้ต้องการอะไรในชีวิตมากไปกว่าความสุขใจ นาครเกษมไม่ได้เป็นชื่อที่มีอยู่บนแผนที่กรุงเทพมหานครหรือแผนที่ประเทศไทย แต่ผู้อ่านก็รู้สึกได้ว่านาครเกษมมีจริงและอยู่ใกล้ ๆ ตัว หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองของนครแห่งนี้ไปแล้วด้วยซ้ำหรืออย่างน้อยที่สุด นาครเกษมก็ทำให้เราฉุกคิดถึงคุณค่าและความเป็นมนุษย์ท่ามกลางโลกสมัยใหม่
หมู่บ้านแอโรบิก
หมู่บ้านแอโรบิกเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีความน่าสนใจทั้งรูปแบบและเนื้อหา ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากกระแสวัตถุนิยมและค่านิยมผิด ๆ ที่รุกรานวิถีชีวิตของชาวชนบทในรูปแบบต่าง ๆ จะเห็นว่าไม่เพียงแต่ชาวบ้านและเยาวชนเท่านั้น แม้กระทั่งบุคคลในวงการศาสนา การศึกษา และการเมือง ก็ทำให้ศีลธรรม จริยธรรมถูกสั่นคลอนอย่างน่าสลดใจ แม้ปัญหาเหล่านี้อาจพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม แต่ผู้เขียนก็นำเสนอด้วยชั้นเชิงของเรื่องสั้นที่เข้าใจง่ายแต่งดงาม กระตุกเตือนให้ทุกฝ่ายต้องตั้งหลักทบทวนเพื่อดึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงกลับคืนมา
ฉันรักกรุงเทพฯ ตอนสู่กรุงเทพ เมืองเก่า
สารคดีชีวิตอิงประวัติศาสตร์ชุมชนเกาะรัตนโกสินทร์ อันเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นของผู้เขียน นำไปสู่การศึกษาค้นคว้าเอกสาร และลงสำรวจพื้นที่จริง มานำเสนอด้วยภาษาสำนวนที่อ่านง่าย ได้อรรถรสเหมือนติดตามผู้เขียนลงไปในชุมชนนั้นด้วย เนื้อหาสาระโดยรวมสะท้อนให้ผู้อ่านตระหนักว่าสังคมไทยประกอบด้วยชาติพันธุ์อันหลากหลาย แม้กระทั่งในกรุงเทพมหานคร หนังสือให้รายละเอียดประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ผ่านชีวิตบุคคล แม่น้ำลำคลอง สถาปัตยกรรม ฯลฯ ในยุคสมัยที่น่าจะ “ขาดตอน” ทางประวัติศาสตร์ คือยุคราว 50-60 ปีก่อน ซึ่งยังไม่ถือว่าเก่ามากจนนักประวัติศาสตร์สนใจ แต่ก็ไม่ใหม่มากจนร่วมสมัย การบันทึกและค้นคว้าของผู้เขียนจึงนับว่ามีประโยชน์อย่างสูง ทั้งการให้รายละเอียดในเชิงวิชาการ และความเพลินเพลินในการอ่าน อันจะมีบทบาทจุดประกายความคิดให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะอนุชนรุ่นหลังหันมาสนใจศึกษาเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง
ลับแล, แก่งคอย
ลับแล,แก่งคอย นวนิยายของอุทิศ เหมะมูล เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่พยายามขัดขืนกรอบชีวิตตามแนวทางเข้มงวดที่พ่อกำหนดให้ การหมกมุ่นอยู่กับความสูญเสียและความผิดหวังในชีวิตทำให้ตัวละครสร้างโลกจินตนาการเพื่อลวงตัวเองและลวงคนอื่น เขามีความสุขกับโลกลวงที่ทำให้สามารถกล่าวโทษคนอื่นได้สะใจ ทั้งพ่อผู้มีอัตตาสูง และแม่ผู้อ่อนแอ รวมทั้งแฝงตัวเป็นคนอื่นเพื่อปฏิเสธความเลวร้ายต่าง ๆ ที่ตนเองกระทำ ชีวิตอันสับสนของตัวละครคลี่คลายลงได้ก็ด้วยการมีสติ คือ ความรู้ตัว และปัญญา คือ ความรู้ทั่ว ทำให้ได้คิดอย่างมีเหตุมีผล ไม่งมงาย เพื่อยืนหยัดและยืนยันตัวตนแท้จริง นวนิยายเรื่องนี้ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องสลับตัดฉากไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และจงใจให้รายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ มาก เหมือนกับจะแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งมีผลสะเทือนถึงคนอื่น ๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมีผลสะท้อนถึงปัจจุบัน แม้ผู้เขียนจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครเอก ซึ่งน่าจะทำให้ผู้อ่านคล้อยตามความคิดของตัวละครนั้น แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนมีชั้นเชิงความสามารถที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอื่น ๆ ในแง่มุมที่แตกต่างไป ตัวละครในเรื่องจึงมีมิติลึกและซับซ้อนเช่นเดียวกับมนุษย์จริง การแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีหลายมุมมองยังมีแทรกอยู่อีกหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ รวมทั้งการที่ตัวละครผ่านพ้นวิกฤติชีวิตมาได้ แต่จะด้วยจิตบำบัด ความเชื่อไสยศาสตร์ หรือหลักธรรมทางพุทธศาสนาก็แล้วแต่จะมองจากมุมของใคร นอกจากนี้ ในระหว่างเรื่องเล่าของตัวละครเอก นวนิยายเรื่องนี้ยังบอกเล่าถึงความเคลื่อนไหวของสังคมไทยรวมทั้งความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่ง และความเปราะบางของความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่อาจแตกหักลงง่าย ๆ เพียงเพราะยึดมั่นอยู่ในความคิดและวิถีทางของตนเอง นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์ทางวรรณศิลป์ที่การสร้างความคลุมเครือให้แก่ตัวละครและเหตุการณ์อยู่ตลอดทั้งเรื่อง กล่าวได้ว่าผู้เขียนจงใจเล่นกับความจริงและความลวง เพื่อแสดงให้เราเห็นว่าเมื่อสกัด สิ่งลวงต่าง ๆ ในชีวิตออกไปแล้ว ความจริงของชีวิตคือความงดงาม เฉกเช่นประติมากรที่สกัดส่วนเกินบนแท่งหินอ่อน เพื่อให้ได้รูปแกะสลักที่งดงามที่สุด
ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต
ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต ของ ไพวรินทร์ ขาวงาม เป็นรวมบทกวีที่นำเสนอภาพของสังคมอีสานในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปทุกระดับ ทั้งระดับสังคมโดยรวมและระดับวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล นโยบายของภาครัฐที่ยังคนเป็นว่าอีสานเป็นดินแดนด้อยพัฒนาและแห้งแล้ง จึงนำเสนอนโยบายเปลี่ยนแปลงทุ่งกุลาร้องไห้เป็นอุตสาหกรรม เป็นดินแดนกาสิโนและสวนสนุกหรือให้เป็นที่นำขยะของเมืองมาทิ้ง ผู้ประพันธ์ให้ความสำคัญกับชาวนา ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ทำนาหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งแผ่นดิน แต่วิถีชีวิตของชาวนาต้องยากลำบากและระทมขมขื่น สภาพท้องนาที่เคยอุดมและเป็นที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิตนั้น บัดนี้แปรเปลี่ยนจนแม่โพสพก็ไม่อาจสถิตอยู่ได้ ด้านวิถีชีวิต หนุ่มที่เคยมุ่งเข้าเมืองเพื่อคามหวังไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า มาบัดนี้ พิษของสังคมทุนนิยมและเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้รัฐส่งเสริมนโยบายกลับสู่ชนบท แต่เมื่อกลับไปสภาพสังคมก็ไม่เหมือนเดิมเพราะนโยบายการ “พัฒนา” สังคมเกษตรกรรมของอีสานให้กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ส่วนสาวอีสานยุคโลกาภิวัฒนามุ่งแต่งงานกับชาวต่างชาติเพื่อยกระดับฐานะของตนเองและครอบครัว หมู่บ้านและบ้านอีสานในวันนี้ ผู้ประพันธ์รู้สึกราวกับว่า “ไม่มีบ้านให้กลับ” ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต ไม่เพียงให้ภาพสังคมอีสานที่แปรเปลี่ยนในภาพกว้าง แต่ยังคงเน้นการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกภายในของผู้คนที่รักในท้องถิ่นของตนแต่ต้องขื่นชมกับวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนได้อย่างร้าวลึกสะเทือนอารมณ์ ในด้านศิลปะการประพันธ์ ด้วยลีลาที่ลื่นไหลและหลากหลาย บทกวีของไพวรินทร์มีเสน่ห์ของสีสันท้องถิ่น การผสมผสานท่วงทำนองของกลอนแบบฉบับกับรูปแบบฉันทลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ผญาและภาษาถิ่นทำให้เกิดท่วงทำนองเฉพาะตนที่สามารถให้ภาพวิถีชีวิตจิตใจและอารมณ์ของผู้คนอีสานได้อย่างเรียบง่าย แต่คมคาย ลุ่มลึกและกินใจ
เวลาของชาติ
“เวลาของชาติ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 8 เรื่องของกิติวัฒน์ ตันทะนันท์ ที่มีความโดดเด่นทั้งในด้านเนื้อหาและวรรณศิลป์ ผู้แต่งนำเสนอเหตุการณ์และเรื่องราวอันหลากหลายของผู้คนในสังคม โดยเน้นย้ำถึงเบื้องลึกของความคิด อารมณ์ และความรู้สึก ซับซ้อนลุ่มลึกภายในตัวตนของมนุษย์ต่างสถานะ ต่างเพศ และต่างวัย บางเรื่องกล่าวถึงความรู้สึกโหยหาอดีตอันเปี่ยมสุข ได้แก่เรื่อง “เวลาของชาติ” บางเรื่องกล่าวถึงอารมณ์เหงาเศร้าร้าวรานของคนชราที่ปรารถนาจะได้รับไออุ่นจากลูกหลาน ได้แก่เรื่อง “บ้านสัตว์เลี้ยง” บางเรื่องกล่าวถึงมิติแห่งความรักและความสัมพันธ์ของหนุ่มสาวในปัจจุบันสมัย ได้แก่ เรื่อง “วีณา” ฯลฯ ผู้แต่งมีความสามารถในการใช้ภาษาที่มีพลัง กินใจ และประทับใจ เลือกใช้ลีลาโวหารในแต่ละเรื่องได้อย่างสอดคล้องกับเนื้อหา เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นร่วมสมัยที่ควรค่าแก่การอ่านอย่างยิ่งเล่มหนึ่ง หนังสือรวมเรื่องสั้น “เวลาของชาติ” จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี พ.ศ. 2555
ในรูปเงา
นวนิยายเล่มบางเรื่องในรูปเงา ของ เงาจันทร์ ผูกเรื่องจากปมของความรักและความแค้นอันเป็นกิเลสสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์จากหน้ามือเป็นหลังมือ นวนิยายเรื่องนี้ใช้โครงเรื่องตามขนบที่นิยมกันแบบหนึ่ง คือ โครงเรื่องรักสามเส้า ซึ่งมี 2 วงเหลื่อมซ้อนกัน วงแรกคือความรักของพร้อม พลิ้ว และเจ้าดอกรุงรัง ซึ่งเป็นวัวที่พร้อมซื้อมาให้พลิ้วเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก แต่เขาเคยเขียนตีมันอย่างรุนแรงเพื่อระบายความเจ็บแค้นในใจ เจ้าดอกรุงรังจึงอาฆาตแค้นพร้อมไม่รู้เลิกรา พลิ้วจึงมีทั้งความรักและความแค้นให้เจ้าวัวเลี้ยงของตนไปพร้อม ๆ กัน รักสามเส้าวงที่สองคือความรักของพร้อม พลิ้ว และว่าน พลิ้วรักว่าน แต่ว่านรักพร้อม ส่วนพร้อมก็รักลูกชายของตนจึงยอมเก็บงำความลับเร้นเอาไว้ เมื่อพลิ้วล่วงรู้โศกนาฏกรรมจึงเกิดขึ้น เจ้าดอกรุงรังและว่านจึงพรากพร้อมและพลิ้วให้จากกันชั่วนิรันดร์กาล นวนิยายเรื่องนี้เป็นงานวรรณศิลป์ที่นำเสนอเรื่องเสน่หาอารมณ์อันเป็นธรรมชาติของสรรพสัตว์ นอกจากความรักความใคร่ของมนุษย์แล้ว ฉากของวัวหนุ่มกับวัวสาวที่กำลังติดสัด จริตของวัวสาวที่เย้ายวนวัวหนุ่มที่มันหมายปอง วัวสาวใจเสรีที่เลือกวัวหนุ่มแปลกหน้ามากกว่าวัวหนุ่มในฝูง ฉากหึงหวงของเหล่าวัวหนุ่มกลัดมันที่กลุ้มรุมทำร้ายวัวต่างถิ่นที่ได้ใจวัวสาวไปครอง ฉากอันน่าตื่นเต้นระทึกใจเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของพฤติกรรมมนุษย์อย่างแยบคาย ดังนั้น เหล่าวัวในท้องทุ่ง โดยเฉพาะเจ้าดอกรุงรัง จึงไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์เลี้ยงประกอบฉากทุ่งนา หากแต่เป็นเงาสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างธรรมชาติสัตว์กับธรรมชาติมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากจบของเรื่อง การชำระแค้นตามสัญชาตญาณของสัตว์ที่ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส กับการคุมแค้นของมนุษย์จนสามารถปล่อยให้ความตายเกิดขึ้นต่อหน้าต่อหน้าโดยไม่แยแส กลมกลืนรวมเป็นเนื้อเดียวกันจนไม่มีอะไรแตกต่าง ไม่ว่าคนหรือสัตว์ล้วนมีความดิบ เถื่อน ของสัญชาตญาณมืด ซึ่งหากขาดการควบคุมเสียแล้ว มนุษย์ผู้ประเสริฐก็ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เพียงวาบเดียวของโทสะจริต ก็สามารถทำลายความรักและบุคคลที่รักได้หมดสิ้น นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นโศกนาฏกรรมที่บีบหัวใจผู้อ่านไม่แพ้นวนิยายรักคลาสสิกในอดีต ความรัก ความแค้น ความสวยงาม ความโหดร้าย ความนุ่มนวล ความดิบเถื่อน ต่างสอดร้อยกันไปมาอยู่ในพฤติกรรม ในอารมณ์ของมนุษย์และสัตว์ ในสีสันของต้นไม้ ดอกไม้ ของฝูงแมงปอริมคลองอันร่มรื่น ในรูปเงาที่เต้นไหวอยู่บนรั้วขัดแตะ เป็นองค์ประกอบที่จัดวางไว้ลงตัว ไม่ขาดไม่เกิน และหนุนส่งให้เรื่องราวในนวนิยายดำเนินไปอย่างมีพลังอารมณ์เข้มข้น ในรูปเงา เป็นนวนิยายที่สามารถตรึงผู้อ่านไว้กับตัวหนังสือตั้งแต่หน้าแรกไปจนหน้าสุดท้าย ระหว่างที่อ่านจะรู้สึกว่าเส้นประสาทกล้ามเนื้อขมวดเขม็งบิดเกลียวอยู่ข้างใน ใจเต้นระทึกตึกตัก บางครั้งรู้สึกเหมือนลืมหายใจ จนต้องระบายลมหายใจเฮือกใหญ่ที่กลั้นไว้อย่างไม่รู้ตัวเมื่อปิดหน้าหนังสือลง
คำสารภาพสุดท้าย ก่อนเข้าห้องประหาร
เป็นสารคดีจากปลายปากกา “คนใน” คือตัวนักโทษเอง โค้งสุดท้ายของชีวิตในฐานะผู้ต้องขังรอการประหาร ปลุกความฝันที่อยากเป็นนักเขียนมาเนิ่นนานให้โลดเต้นขึ้นจนสามารถขั้นพลังสร้างสรรค์เท่าที่จะพยายามศึกษาและฝึกฝนได้ ถอดประสบการณ์ตรงจากด้านมือของชีวิตเพื่อให้บทเรียนที่เป็นแง่คิดล้ำค่าทั้งด้านบวกและด้านลบกับผู้อ่าน ทั้งนี้ เพื่อให้รู้เท่าทันความเลวและแคล้วคลาดจากกับดักที่จะนำชีวิตมุ่งสู่ทางตันแห่งความหายนะ
เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม
เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม โดย นทธี ศศิวิมล เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 8 เรื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้หญิงในมิติหน้าที่ที่แตกต่างกัน สภาพสังคมและความเป็นไปของชีวิต ผ่านบทบาทของตัวละครในฉากเล็ก ๆ แคบ ๆ และธรรมดา แต่ภาพที่ปรากฏกลับมีแง่มุมที่น่าสนใจและชวนให้ขบคิด ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ได้ชวนอ่าน ชวนติดตาม ด้วยสำนวนที่ละเมียดละไม บางเรื่องให้ความสะเทือนใจสูง โดดเด่นในด้านอารมณ์และความรู้สึก เช่น เรื่อง “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้มีโครงเรื่องที่หลากหลาย ผู้เขียนใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องที่ต่างกัน ซึ่งนำผู้อ่านไปสัมผัสความรัก ความชัง ความทุกข์ ความสุข ความเจ็บปวด และการดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตอยู่ของตัวละครอย่างลึกซึ้ง รวมเรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี 2556
ครั้งหนี่ง…คิดถึงเป็นระยะ
ครั้งหนึ่ง…คิดถึงเป็นระยะ ของเจน จิ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่นำภาพชีวิตของบรรดาผู้คนและสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพมหานคร มาบอกเล่าผ่านเรื่องราวของความรัก มิตรไมตรี และความปรารถนาดีต่อกันของตัวละครในเรื่องแต่ละเรื่องได้อย่างน่าประทับใจ โดยผู้เขียนเลือกนำเสนอภาพของมหานครในแง่มุมที่งดงามสดใส ทั้ง ๆ ที่มีภาพลักษณ์ว่าเป็นเมืองวุ่นวาย อึกทึก และผู้คนไร้น้ำใจไมตรีต่อกัน ผู้เขียนเล่าเรื่องได้อย่างมีชีวิตชีวา ทำให้ผู้อ่านย้อนรำลึกถึงสถานที่ต่าง ๆ ที่คุ้นเคย เช่น เยาวราช สะพานพุทธฯ เป็นต้น ทำให้สถานที่เหล่านั้นกลับมามีเสน่ห์น่าสนใจขึ้นผู้อ่านสามารถสัมผัสแง่คิดที่จริงจัง แต่แฝงอารมณ์ขันผู้เขียนได้อย่างชัดเจน
พลิ้วไปในพรายเวลา
เราทุกคนคงมีช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่ฝังใจไม่รู้ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาแห่งความรัก แม้ว่าจะผ่านพ้นมาด้วยความสุขปนเศร้า หรือหฤหรรษ์ปนเจ็บแปลบ แต่เมื่อใดที่หวนย้อนกลับไปรำลึกถึง เราก็คงอยากจะอ้อยอิ่งละเลียดโมงยามนั้นให้ดื่มด่ำซ้ำอีกครา นั่นจึงเป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง พลิ้วไปในพรายเวลา ของผาด พาสิกรณ์ ผู้รังสรรค์เรื่องราวนิยายรักของหญิงสาวที่มีอารมณ์ผูกพันกับชายสองคน คนหนึ่งเป็นชายหนุ่มที่ผ่านพบในอดีตช่วงสั้น ช่วงเวลาที่บังเอิญมาพาดทับกันนั้น มีอิสรภาพของหัวใจเป็นตัวเร้าและความถูกชะตาเป็นตัวเร่ง แต่แล้วหนุ่มใหญ่ก็ต้องพรากจากกันด้วยความไม่พร้อมทั้งฝ่ายเธอและฝ่ายเขา ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นชายที่เธอรู้สึกคุ้นเคยเหมือนเป็นเงาของอดีต สำหรับเธอ-หนุ่มน้อยเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ขโมยมาจากอดีต สำหรับเขา-เธอเป็นเหมือนกลิ่นเงาจาง ๆ ของอดีตที่มาเติมเต็มช่องว่างของปัจจุบัน ในที่สุดเธอได้ทราบว่าเขาเป็นลูกชายของคนรักคนแรกที่หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง เธอจะตัดสินใจเลือกใคร “เลือกพ่อ ลูกเจ็บ เลือกลูก เธอก็ตัดใจจากพ่อไม่ได้” เธอมีทางเลือกที่สาม แต่ดูเหมือนว่าพระพรหมจะไม่ปล่อยให้เธอเลือกเส้นทางนั้นได้ง่าย ๆ พลิ้วไปในพรายเวลา ดำเนินเรื่องด้วยความประจวบเหมาะตั้งแต่ต้นจนจบ แต่กลับมีความเป็นไปได้ตามบริบทของท้องเรื่อง ความบังเอิญอันหาที่มาไม่ได้ถูกโยนให้เป็นความรับผิดชอบของพระพรหมที่ขีดเส้นชีวิตไว้ให้มนุษย์ตัวจ้อย และคอยเฝ้าดูด้วยความหรรษา ตัวละครทุกตัวในนวนิยายเรื่องนี้มีมิติสมจริง บทสนทนามีชีวิตชีวา ลีลาตัวอารมณ์ของตัวละครมีจังหวะหนักเบา รุกรับถอยหลบตามที่ใจและสมองผลัดกันสั่งการทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความวูบไหวพลิกพลิ้วให้ต้องติดตามตลอดเวลา ผู้เขียนแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 4 ภาคเพื่อตามเก็บรายละเอียดไม่เผลอไผลทิ้งค้าง สิ่งที่กล่าวถึงในตอนต้นเรื่องถูกคลี่คลายในตอนท้ายเรื่องอย่างไม่ตกหล่น บทบรรยายและบทพรรณนาด้วยภาษาภาพพจน์ของผู้เขียนพาผู้อ่านพลิ้วไปในท้องสมุทรของตัวอักษร ที่มีแสง สี เสียง กลิ่น รส อันช่วยกันสร้างจินตนาการและจินตนาการบรรเจิดแก่ผู้อ่าน ส่วนตอนจบ ผู้เขียนก็ทิ้งค้างไว้ให้อารมณ์และความคิดของผู้อ่านทำงานต่อบ้าง…อย่างน้อยก็ถกเถียงกันพอหอมปากหอมคอว่า มาราดา-ตัวเอกของเรื่องจะตัดสินใจใหม่หรือไม่ ชีวิตรักของมาราดาลงเอยแบบใดหรือนักเขียนจงใจหยุดเรื่องไว้ตรงนี้ เพราะเขียนได้เพียงต้นชีวิตและกลางชีวิต ส่วนปลายชีวิตนั้นเป็นลิขิตของพระพรหม พลิ้วไปในพรายเวลา เป็นเรื่องเลาถึงอารมณ์มนุษย์ช่วงที่หวามไหวในความรักกับคนที่ใช่ แล้วเก็บฝังไว้ในความทรงจำไม่รู้ลืม ไม่ว่าความรักนั้นจะลงตัวและลงเอยหรือไม่ นวนิยายเรื่องนี้จึงจับใจ จับอารมณ์ จับความรู้สึกของผู้อ่านให้ร่วม “พลิ้วไปในพรายเวลา” ที่ฝังอยู่ในใจของแต่ละคน คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ พลิ้วไปในพรายเวลา ของผาด พาสิกรณ์ เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายประจำปี 2558
สะกดรอยสินไซ
สะกดรอยสินไช เป็นงานสารคดีเต็มรูปแบบ เล่าเรื่องราวของวรรณกรรมสินไซ อันเป็นวรรณคดีท้องถิ่นประจำภาคอีสานของไทย และของท้องถิ่นอุษาคเนย์ เสน่ห์ของผลงานชิ้นนี้อยู่ที่การเล่าเรื่อง ผู้เขียนพาเราก้าวสู่วรรณกรรมสินไซด้วยวิธีการของนักสืบวรรณกรรม คือสืบค้นด้วยตัวผู้เขียนเอง ประกอบเข้ากับภาษาราบรื่นเรียบง่าย แต่ครบรสชาติ ให้ทั้งความรู้และความสนุกจากการเดินทาง นับเป็นสารคดีที่พร้อมทั้งเนื้อหาสาระและกลวิธี
ไม่มีขาใช่ว่าไม่มีลมหายใจ
ไม่มีขาใช่ว่าไม่มีลมหายใจ เป็นสารคดีที่มีความสละสลวยของภาษาที่ใช้ ดำเนินเรื่องอย่างต่อเนื่องราบรื่น นำเสนอชีวิตของคนที่น่าจะสิ้นหวังแต่ไม่สิ้นหวัง ทั้งยังมีความลุ่มลึกให้กำลังใจแก่ผู้อ่านที่อาจรู้สึกว่าชีวิตด้อยโอกาส โดยมีลีลาภาษาเขียนที่สวยงาม ราบรื่นเพลิดเพลิน และสะเทือนใจ
รักในรอยบาป
รักในรอยบาป นำเสนอความ “แตกสลาย” อันเป็นชะตากรรมร่วมกันของตัวละคร ภายใต้เงื้อมเงาของ เงาจันทร์ แผลแรกจากประสบการณ์ผลักหลายชีวิตเข้าสู่วังวนแห่งทุกข์ที่ยากจะพบทางออก ชีวิตของตัวละครดุจดังแก้วที่แตกหักจากการเฆี่ยนตีของผู้เขียนซึ่งมิได้ปรารถนาจะ “ซ่อม” สู่ความบริบูรณ์ การอ่านนิยายเล่มนี้ คือการตอบรับคำเชิญให้ก้าวเข้าสู่มุมหม่นของโชคชะตา ซึ่งแท้จริงคือจุดอับ ที่ผู้เขียนขับต้อนตัวละครให้ “จนมุม“ อย่างศิโรราบอยู่ก่อนแล้ว ผู้อ่านมิอาจร่วมคิด ร่วมหวัง ร่วมฝัน ถึงทางออกอันสว่างไสวใด ๆ ได้เลย ทำได้แค่เพียงยอมจำนนต่อบาดแผลของตัวละคร โดยมอบตัวเองเป็นผู้เฝ้าดูการเดินทางสู่ความอับปางในชีวิต อภิสิทธิ์ในฐานะของพยานคือ การที่ผู้อ่านได้ประจักษ์ถึงสุนทรียภาพที่ซุกซ่อนอยู่ในความร้าวรานของสรรพสิ่ง ในความวิปริตของตัวละครมีความวิจิตรอย่างยิ่งยวด มีความงามแตกเส้นสายออกมาจากการมองโลกที่บิดเบี้ยว คลื่นอารมณ์ยามดำดิ่งก่อระลอกเป็นความแปรผันอันซับซ้อน ความดี-ความชั่วคือการสร้างภาพเชิงศิลปะ สิ่งสามัญที่ถูกมองข้ามฉับพลันกลับมีสีสันเจิดจ้าน่าพิศวง ความแปร่งปร่ากลับเร้าความปรารถนาให้ใคร่ลิ้มลอง “ทิพยรส” อันจะเกิดขึ้นกับจิตที่ผิดปกติเท่านั้น การเตลิดไปดื่มด่ำกับภาวะ “หลุดลอย” ของเหล่าตัวละครเพียงชั่วครู่ กลายเป็นประสบการณ์น่าตื่นใจของผู้อ่าน …ที่สุดแล้ว เราคงไม่จำเป็นต้อง “ซ่อม” แก้วที่แตกหัก เพราะอาจทำให้พลาดการได้ยลแถบรุ้งงาม …ที่สุดแล้ว การเป็นผู้พินิจ อาจทำให้พบความวิจิตรในเสี้ยวชีวิตที่แตกสลาย ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ นวนิยายเรื่อง รักในรอยบาป ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในปีพุทธศักราช 2559
ทางจักรา
ทางจักรา โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ เป็นหนังสือกวีนิพนธ์เรื่องยาว ร้อยความดำเนินเรื่องให้เกี่ยวเนื่องไปกับกงล้อแห่งสัญญะ “จักรา” ซึ่งหมายถึงการเดินทางของสาระความคิด โดยอาศัยวงล้อของจักรยานเป็นความเปรียบที่มีทั้งจังหวะปั่นให้เร็วขึ้นและถีบปกติอย่างเชื่องช้า โดยมีตัวละคร 2 ตัวเป็นพลังขับเคลื่อนแท้จริงของกงล้อ ด้วยวิธีปุจฉา-วิสัชนาไปตลอดทาง ฉากและผู้คนที่เคลื่อนเข้ามาประกอบอย่างมีจังหวะ เป็นส่วนเติมให้เห็นสภาวะความเป็นมนุษย์ เห็นสังคมอันหลากหลาย นำพาผู้อ่านไปสู่ประสบการณ์ต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้านกลวิธีการประพันธ์ ทางจักรา ได้แสดงลีลาวรรณศิลป์ในการนำเสนอ การใช้ภาษาเรียบง่าย ชี้ให้เห็นวัฏฏะที่นอกเหนือจากชีวิตอันเวียนว่ายแล้ว ยังมีการเคลื่อนเปลี่ยนโลกภายในและภายนอกที่ทับซ้อนเกี่ยวเนื่องต่อกัน ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ จึงตัดสินให้ทางจักรา โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประจำปี 2559
บางคนอาจเดินสวนทางเราไป
บางคนอาจเดินสวนทางเราไป ของบัญชา อ่อนดี เป็นหนังสือรวมบทกวีจำนวน 39 เรื่องที่นำเสนอเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งผู้เขียนเปรียบโลกปัจจุบันว่าเป็น “โลกเสมือน” หรือยุค “สังคมก้มหน้า” ที่แม้ในเมืองจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนแต่ก็ห่างเหิน ไร้ความใส่ใจซึ่งกันและกัน ในลักษณะ “ใกล้ตัว ใกล้ตา ไกลใจ” โลกอยู่ในยุค “สงครามใบ้” กับโลกเสมือนที่ “แรงถล่ม wi-fi เกินไซโคลน” ผู้ประพันธ์เล่าเรื่องราวของผู้คนในกระแสของความเปลี่ยนแปลงทั้งในเมืองและชนบท ในขณะที่ชาวชนบทอพยพย้ายถิ่นมาใช้แรงงานในเมืองหลวงด้วยหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น แต่ไม่เป็นไปดังหวัง ยังคงทุกข์ยาก ใช้แรงงานหนักและได้เพียงฝันกลางวันเพื่อรำลึกโหยหาชีวิตและความสุขในชนบท ส่วนชาวเมืองก็ไปบุกรุกชนบทให้เป็นรีสอร์ต ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาวชนบทแต่งงานกับชาวต่างชาติและไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตในชนบท แม้ “โลกเสมือน” จะเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี แต่ความเชื่อของคนไทยบางส่วนยังคงงมงาย อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างกำไรจากความเชื่อ เช่น การสแกนกรรม การเปิดเว็บไซต์ขายสวรรค์ โดยมิได้ใส่ใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ด้านศิลปะการประพันธ์บทกวี ของบัญชา อ่อนดี มีความแม่นยำ ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ใช้ภาษาเรียบง่ายและภาษาร่วมสมัยเพื่อเล่าเรื่องราวอันหลากหลายของปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะชนชั้นล่างของสังคมโดยดำเนินเรื่องอย่างมีโครงเรื่องชวนติดตาม ด้วยลีลาและท่วงทำนองกระชับฉับไว สามารถผสมผสานสีสันชนบททั้งด้านการใช้คำ ฉากและบรรยากาศทำให้บทกวีทุกเรื่องราบรื่นเรียบง่าย ชวนอ่านและชวนให้ขบคิด ดังนั้น รวมบทกวีบางคนอาจเดินสวนทางเราไป ของ บัญชา อ่อนดี จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2559
กระต่ายในพระจันทร์
กระต่ายในพระจันทร์ กล่าวถึงสุดาหญิงสาวชาวเกาะสมุยผู้ไปเติบโตและใช้ชีวิตในเมืองหลวง แต่ยังมีความรักความผูกพันกับถิ่นกำเนิด เนื้อเรื่องบรรยายถึงสภาพภูมิประเทศ การดำเนินชีวิตของชาวเกาะสมุยและความเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นตามยุคสมัย สุดากลับมาเกาะสมุยขณะที่มีความผิดหวังในชีวิต เธอคิดถึงอดีตเมื่อเห็นธรรมชาติและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปผ่านความคิดคำนึงถึงคำบอกเล่าของพ่อและจากความทรงจำ เธอมักจะเปรียบเทียบธรรมชาติกับความคิดของตน ตั้งคำถาม หาคำตอบ จนเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตและยอมรับได้ เสมือนการมองเห็นแสงจันทร์และกระต่ายในพระจันทร์ หนังสือเรื่องกระต่ายในพระจันทร์มีการนำเสนอเนื้อหาและความคิดโดยใช้ภาษาที่เรียบง่าย สละสลวย ชวนอ่าน ดังนั้น กระต่ายในพระจันทร์ ของ แพน พงศ์พนรัตน์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช 2560
บังไพรแห่งทรัพย์จำปาและเรื่องอื่น ๆ
บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่น ๆ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 13 เรื่องของ องค์ บรรจุน โดยผู้เขียนนำเสนอเนื้อหาที่สะท้อนให้เห็นรากเหง้าของชาติพันธุ์ ผ่านวิถีชีวิต ความเชื่อและวัฒนธรรมของชนชาติมอญและชาติอื่น ๆ ในอาเซียนทั้งในอดีตและปัจจุบัน หลายเรื่องทำให้เห็นผลกระทบของภาวะความเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ของยุคสมัย จนก่อให้เกิดปัญหาขึ้น และที่สำคัญภาพสะท้อนที่เกิดขึ้นกับชาวมอญ ยังกระตุ้นเตือนให้สังคมไทยได้ฉุกคิดเกี่ยวกับความมั่นคงของชาติ เรื่องสั้นชุดนี้ นอกจากจะมีความเป็นเอกภาพในเนื้อหาตลอดทั้งเล่มแล้ว ยังเชื่อมโยงให้เห็นภาพรวมของความเป็นอาเซียน และการไหลบ่าของชนชาติในประเทศแถบนี้ โดยผ่านชั้นเชิงการเขียนอย่างมีวรรณศิลป์ ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสกลิ่นอายและเห็นภาพทั้งด้านมืดด้านสว่างอย่างชัดเจน หนังสือรวมเรื่องสั้น บังไพรแห่งซับจำปาและเรื่องอื่น ๆ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช 2560
คืนหนึ่ง…คิดถึงอีกครั้ง
คืนหนึ่ง…คิดถึงอีกครั้ง ของ เจน จิ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 10 เรื่องที่นำเสนอเรื่องราวหลายมุมของกรุงเทพมหานครอย่างมีเสน่ห์และมีชีวิตชีวา เรื่องสั้นชุดนี้ เป็นบันเทิงคดีที่มีเนื้อหาสาระยึดโยงกับฉากซึ่งเป็นสถานที่ต่าง ๆ และวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม ฉายภาพให้เห็นความเปลี่ยนแปลงซึ่งเป็นผลจากการพัฒนาของสังคมในเมืองใหญ่ เริ่มตั้งแต่การตั้งชื่อเรื่องน่าสนใจ และเนื้อหาน่าติดตาม ผู้เขียนจบเรื่องได้อย่างจับใจ ผู้อ่านรู้สึกอิ่มเอมในเนื้อหา ซึ่งให้แง่คิดมุมมองในการดำเนินชีวิตอย่างมีความสุข และเห็นว่าความรักความสุขของคนรอบข้างคือสิ่งที่ล้ำค่า เพราะนั่นคือความสุขร่วมกันอย่างแท้จริง นอกจากนี้ ผู้เขียนยังนำเสนอเรื่องราวด้วยลีลาการเขียนที่กระชับเรียบง่ายแต่งดงามด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ หนังสือรวมเรื่องสั้น คืนหนึ่ง…คิดถึงอีกครั้ง จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช 2560
ความสุขของกะทิ ฉบับลายเส้น
ความสุขของกะทิ ฉบับลายเส้น เป็นนิยายภาพ (การ์ตูน) ที่มีเนื้อเรื่องดี เมื่อนำบทประพันธ์มาถ่ายทอดเป็นฉบับการ์ตูน แม้ไม่สามารถสะท้อนความลึกซึ้งของจินตนาการเท่ากับบทประพันธ์ได้ กระนั้นการบอกเล่าวิถีชีวิตแบบไทยก็ดี ความสัมพันธ์อันอบอุ่นระหว่างคุณตาคุณยาย และบุคคลที่เกี่ยวข้องกับกะทิก็ดี ตลอดจนการแสดงออกทางวัฒนธรรมในครัวเรือนแบบคนไทยก็ดี นักเขียนการ์ตูนทำได้อย่างค่อนข้างสมบูรณ์ หลังจากอ่านการ์ตูนเรื่องนี้จบแล้วจะสัมผัสถึงอารมณ์หลายมิติ ทั้งความสุข ความว้าเหว่ความอบอุ่น คุณค่าของมิตรภาพ ความรัก ความห่วงใย ความปรารถนาดี ฯลฯ ประเด็นสำคัญจากบทประพันธ์เรื่องนี้ คือ การเน้นย้ำให้ตระหนักว่าความเจริญเติบโตของเด็กคนหนึ่งจำเป็นต้องผ่านเบ้าหลอมที่มีคุณภาพ มีเหตุผลและความเข้าใจต่อการดำรงชีวิตอย่างเข้มแข็ง สำคัญที่สุดต้องมี “ความสุข” ด้านคุณค่า ความสุขของกะทิ ฉบับลายเส้น เป็นนิยายภาพ (การ์ตูน) ที่ชัดเจนในด้านสร้างสรรค์ต่อจิตใจเด็กโดยตรง เป็นพื้นฐานและเป็นแบบอย่างอีกแนวหนึ่งของหนังสือนิยายภาพ (การ์ตูน) สำหรับเยาวชน คณะกรรมการจึงเห็นสมควรให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนิยายภาพ (การ์ตูน) ประจำปีพุทธศักราช 2560
ลืมตาตื่นอีกครั้ง…ในเวลาอันสมควร
หนังสือรวมเรื่องสั้น ลืมตาตื่นอีกครั้ง…ในเวลาอันสมควร ของ ปองวุฒิ รุจิระชาคร จำนวน 12 เรื่องมีเนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอหลากหลาย ทุกเรื่องผู้เขียนใช้ภาษาสั้น กระชับ โดยเล่าเรื่องที่ให้ภาพคมชัด บางเรื่องสื่อความหมายได้หลายนัย บางเรื่องนำเสนอในแง่มุมด้วยวิธีการเขียนเสียดสี ยั่วล้อ สอดแทรกอารมณ์ขันและให้ข้อคิดอย่างน่าสนใจ เรื่องสั้นชุดนี้ ได้ส่งสารแสดงทัศนะที่เกิดจากการมองสังคมไทยที่กำลังแปรเปลี่ยนโฉมหน้า ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ สังคม การเมือง ครอบครัว ฯลฯ และยังกล่าวถึงสังคมในอนาคต และการปรับตัวของผู้คนในสังคมให้สอดคล้องกับยุคสมัย โดยมีกลวิธี หรือชั้นเชิงในการเล่าเรื่องอย่างมีวรรณศิลป์ชวนติดตาม หนังสือรวมเรื่องสั้น ลืมตาตื่นอีกครั้ง…ในเวลาอันสมควร จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช 2561
ใต้ฝุ่น
ระเบิดกลางเมืองมุมไบในปี 2011 ทำให้ เมย์ มิลเล่อร์ นักเขียนคอลัมน์ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ “ตื่น” ขึ้นอีกครั้งบนแผ่นดินอัฟกานิสถาน ย้อนกาลกลับไปเกือบสี่ทศวรรษ ในช่วงเวลาแห่งอารยะ สันติภาพ กุหลาบ และบทกวี ก่อนที่ประเทศนี้จะถูกบดขยี้จากเพลิงสงคราม นวนิยายเรื่องใต้ฝุ่น ของ โกลาบ จัน พาผู้อ่านไปสัมผัสอัฟกานิสถานด้วยสายตาของเมย์ ในร่างใหม่นาม มัรยัม ภายใต้กระบวนการปรับตัวเพื่ออยู่รอดของตัวละคร ผู้เขียนได้สอดแทรกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม-วัฒนธรรม การเมือง ภาษา ค่านิยม และวิถีชีวิตประจำวันไว้อย่างแนบเนียน เมื่อกอปรกับภาษาอันสละสลวย อรรถรสชวนติดตาม และความสะเทือนใจแบบนวนิยายแล้วก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่างข้อเท็จจริงเชิงสารคดีกับจินตนาการ ยิ่งไปกว่านั้น ชะตากรรมของตัวละครในภาวะสงครามยังเชื้อเชิญให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญถึงบทบาทของสตรีในฐานะภรรยาและมารดา บุรุษในฐานะหัวหน้าครอบครัวและผู้ปกป้อง รวมถึงอุดมการณ์ในเรื่องความภักดีและหน้าที่ต่อแผ่นดิน อะไรคือทางออกของความรักชาติและการเสียสละที่พรากคู่รักออกจากกัน จนทำให้สตรีต้องเป็นม่าย และเด็ก ๆ กลายเป็นกำพร้า หรือการธำรงปณิธานดังกล่าวจำต้องแลกมาด้วยการสังเวยชีวิตส่วนตัวและครอบครัว การเดินทางผ่านตัวอักษร นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในเคราะห์กรรมของเพื่อนมนุษย์และตระหนักถึงความโชคดีของการมีชีวิตอยู่ในประเทศที่ไม่ถูกภัยสงครามแผ้วพานแล้ว ยังนำไปสู่การค้นพบร่วมกันว่าภาย “ใต้ฝุ่น” และซากปรักหักพังจากสงคราม สิ่งมีค่าสูงสุดคือความรักและความหวังที่มอบโอกาสให้ชีวิตได้หยัดยืนและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภท นวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2562