All Posts

Archives

  • Home
  • สำนักพิมพ์ Artbook

คนละฝั่งของแม่น้ำ

คนละฝั่งของแม่น้ำ  เป็นเรื่องราวของสามเณรตุเตเปรียญธรรมสามประโยคจากภาคใต้ เดินทางมากรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะสอบให้ได้เปรียญธรรมสี่ประโยคในภาคการศึกษานั้น สามเณรพักที่วัดเล็ก ๆ ฝั่งธนบุรี ต้องลงเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามายังฝั่งพระนคร  เพื่อเดินไปยังสำนักเรียนในพระอารามหลวงระดับชั้นเอกพิเศษย่านเสาชิงช้า การเดินทางไปเรียนหนังสือ สามเณรได้พบเหตุการณ์รวมถึงเรื่องราวต่าง ๆ เช่น การวางขายพระเครื่องแบกะดินริมทางเท้า เรื่องนักท่องเที่ยวต่างชาติมาอาศัยนอนค้างคืนในวัด เรื่องช่วยเหลือผู้หญิงพลัดตกน้ำจากโป๊ะ เรื่องการถูกตรวจสอบจากพระวินยาธิการผู้มีหน้าที่พิสูจน์ว่าเป็นสงฆ์จริงหรือไม่  เรื่องนั่งด้านหน้ารถขนศพไปยังสถานที่ปลายทาง เรื่องเพื่อนสามเณรที่มาเรียนทางธรรมเพื่อนำไปเทียบการศึกษาสายสามัญ เป็นต้น แม้จะพบเรื่องราวต่าง ๆ  แต่สามเณรก็ตั้งใจเรียนจนจบหลักสูตร สอบได้เปรียญธรรมสี่ประโยคในที่สุด คนละฝั่งของแม่น้ำ  เป็นหนังสือชื่อเรื่องดี โครงเรื่องดีหลากหลายอารมณ์ มีกลวิธีในการนำเสนอได้อย่างน่าสนใจ  ตัวละครสร้างแรงบันดาลใจในเรื่องโอกาสทางการศึกษาของเด็กที่มีเป้าหมายต่างกันในการบวช การคลี่คลายปมปัญหาของตัวละครเป็นไปในทางที่ดี ภาพประกอบสอดคล้องกับเรื่อง ให้ข้อคิดเรื่องการตั้งเป้าหมายของชีวิต คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้คนละฝั่งของแม่น้ำ ของ ธารา ศรีอนุรักษ์  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด  ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน  ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗

คลองที่แสงดาวเต็มฝั่ง

คลองที่แสงดาวเต็มฝั่ง เป็นงานเขียนที่ผู้ประพันธ์ เล่าเรื่องราววิถีชีวิตชนบทในอดีต ในรูปแบบสาระบันเทิง ดำเนินเรื่องโดยเด็กหญิงที่อยู่ในครอบครัวที่อบอุ่น สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับอาหาร การละเล่น ประเพณี วัฒนธรรมของท้องถิ่น มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยของเนื้อหา อธิบายให้ผู้อ่านได้เข้าใจ เก็บรายละเอียดได้เป็นอย่างดี สำนวนภาษาดี อ่านได้อย่างเพลิดเพลิน ภาพประกอบสอดคล้องกับเนื้อเรื่อง

เหมือนหนึ่งมนุษย์มีเลือด คนละสี

รวมกวีนิพนธ์ เหมือนหนึ่งมนุษย์มีเลือดคนละสี ของ ธาร ธรรมโฆษณ์ นำเสนอเรื่องราวของมนุษยโลกที่มีความขัดแย้งเข่นฆ่ากันนำไปสู่สงครามด้วยมายาคติที่เห็นว่าเป็นวีรกรรม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยร่วมสมัยที่มีทั้งความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรงในภาคใต้  เนื้อหาแบ่งเป็นสองตอนคือ เหมือนหนึ่งมนุษย์และมีเลือดคนละสี ด้านกลวิธีการประพันธ์ รวมบทกวีเรื่องนี้มีความโดดเด่นที่นำรูปแบบกวีนิพนธ์พื้นบ้านคือเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้มาเรียงร้อยเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่สืบเนื่องสัมพันธ์กัน  ในแต่ละบทจะยกเพลงกล่อมเด็กพื้นบ้านขึ้นต้นและตามด้วยบทกลอนที่เชื่อมโยงเนื้อหาในเพลงกล่อมเด็กมาสู่เหตุการณ์ในสังคมไทยร่วมสมัยและจบบทด้วยการให้แง่คิด ทัศนะที่        เฉียบคม เป็นกลวิธีการประพันธ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถสืบสานมรดกวัฒนธรรม   ทางวรรณศิลป์ที่เป็นมุขปาฐะมาถ่ายทอดประยุกต์  เนื้อหาให้เล่าเรื่องร่วมสมัยและยังให้ทางออกของความขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยแนวคิดทางพุทธศาสนาโดยการลงจบด้วยบท  “แผ่เมตตา”

อุ้มลูกโอบโลก

อุ้มลูกโอบโลก ของ กอนกูย  รวมบทกวีฉันทลักษณ์ที่มีเนื้อหาหลากหลายชวนอ่าน แบ่งเป็น 4 ภาค คือ หม่นเมืองสมัยไกลสมาน, คุ้งหนาวร้าวนานกาลครั้งหนึ่ง, กรุ่นดินกลิ่นฟางยังตราตรึง, โลกรำพึงฝากฝันนิรันดร เนื้อหาว่าด้วยสรรพชีวิต ความรัก ความหวัง ความฝัน การเมือง ธรรมชาติ ชีวิตชนบท วิถีคนเมือง และสิ่งรอบตัว ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างล้วนเจตนาดีต่อโลก อยากเห็นความสงบร่มเย็นเกิดขึ้นบนโลกใบนี้  

วาดเท้าเพื่อก้าววาง

วาดเท้าเพื่อก้าววาง ของกอนกูย เป็นบทกวีว่าด้วยสัมพันธภาพอันอบอุ่นระหว่างผู้เขียนกับสรรพสิ่งชีวิตรอบข้าง ทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตรายรอบตัว และชีวิตในสังคมที่ผู้เขียนได้ผ่านพบและมีปฏิสัมพันธ์ ผ่านห้วงเวลาที่หลากหลาย ทั้งเช้า สาย บ่าย ค่ำ เป็นลำนำกวีที่ให้ความรู้สึกละมุนละไมเหมือนสายลมแห่งความหวังดีที่คอยพัดวีให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน สมดังเจตนารมณ์ของผู้เขียน

กลางทะเลขี้ผึ้ง

กลางทะเลขี้ผึ้ง ของ ธาร ธรรมโฆษณ์ เป็นกวีนิพนธ์ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตในวัยเยาว์     มีกลิ่นอายของท้องถิ่น คติชนวิทยา ผนวกเข้ากับปรัชญาทางพระพุทธศาสนาที่ผู้เขียนเคยใช้ชีวิต                        ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ โดยใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ โคลง และเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ เป็นเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์  สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นไปของสภาพสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยผู้เขียนมีความเพียรพยายามเน้นให้เข้าถึงสัจธรรม แม้ชีวิตจะเหมือนการเดินทางกลางทะเลขี้ผึ้ง ให้มีพลังแหวกว่ายไปถึงแก่นแห่งหลักธรรม