สวนชีวิต
สวนชีวิต รวมกวีนิพนธ์ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เป็นงานฉันทลักษณ์ในรูปแบบกลอนแปดตลอดเล่ม จำนวนทั้งสิ้น ๓๘ สำนวน นำเสนอเรื่องราวได้อย่างมีเอกภาพ เนื้อหาโดยรวม กวีพูดถึงสวน ไม่ว่าจะเป็นสวนในบ้าน (ชานกรุง) สวนนอกบ้าน สวนบ้านนอก อันเป็นถิ่นเกิดของตัวละครผู้เล่าเรื่อง ซึ่งมีทั้งสวนเล็ก สวนใหญ่ สวนทะเล และสวนโลก แล้วหลอมรวมเป็น “สวนชีวิต” ตามชื่อหนังสือ ฉากต่าง ๆ นอกจากสวน ยังมีหนองคลองบึง สายน้ำความทรงจำในวัยเยาว์ เฉพาะอย่างยิ่งสำนวนที่ ๓๐ ชื่อ ‘ทุ่งชีวิต’ เป็นบทกวีขนาดยาว ๔๗ บท ที่เน้นไปทางท้องทุ่ง หัวไร่ปลายนา ภาพลงแขกปักดำทำนา เป็นภาพจำอันแสนงาม เสน่ห์อีกอย่างของหนังสือเล่มนี้คือ ความรักความผูกพัน คนในครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนเก่าที่เล่นผจญภัยมาด้วยกันตอนเด็ก ๆ แม้ตัวละครผู้เล่าจะจากถิ่นฐานมาอยู่เมืองหลวงนานเพียงใดก็ไม่เคยลืมรากเหง้า ที่สำคัญกวีเชื่อมโยงธรรมชาติสู่ชีวิต เขียนสายลม แสงแดดได้เห็นภาพ มองต้นไม้ มด แมลง แล้วย้อนมองตนเอง ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติสามารถเยียวยาจิตใจได้ และแฝงด้วยธรรมะ อ่านง่ายแต่งดงามได้พลังบวก
ดวงดาวที่มีชื่อว่าเด็กเด็ก
“ดวงดาวที่มีชื่อว่าเด็กเด็ก” ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เป็นบทกวีที่น่ารัก งดงาม ผู้เขียนได้พูดถึงความบริสุทธิ์ ซื่อ ใส ไร้เดียงสาของเด็ก-ลูกน้อย ซึ่งดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัวในครอบครัวเล็ก ๆ แต่นัยยะที่ซ่อนและแทรกไว้ มีความหมายกว้างใหญ่ถึงระดับสังคมโลก โดยผู้เขียนพยามจะบอกเราว่า ความบริสุทธิ์ดุจผ้าขาวของเด็ก สามารถหยุดการฆ่าฟัน สร้างสันติได้ ดังตัวอย่าง… “ยิ้มของเด็กเหมือนเหมือนกันสันติผุด บริสุทธิ์ไม่กลิ้งกลอกไม่หลอกหลอน มิตรภาพอาบยิ้มนั้นนิรันดร สงครามอาจใจอ่อนตอนเจ้ายิ้ม”
หลงรูปจูบนาม
หลงรูปจูบนาม ของ พรชัย แสนยะมูล ‘กุดจี่’ เป็นบทกวีสั้น ๆ ที่เล่นกับ ฉันทลักษณ์ และสนุกกับการเล่นคำอย่างมีอารมณ์ขัน นำเสนอเนื้อหาทันยุคทันสมัยด้วยมุมมองและภาษาแปลกใหม่ตามกระแสนวัตกรรมการสื่อสาร โดยหยิบยกเรื่องราวใกล้ตัวซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏในสังคมออนไลน์มาเป็นแกนหลัก เพื่อสะท้อนปัญหาสังคม การเมือง ปัญหาวัยรุ่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนำเสนอแบบเสียดสียั่วล้อและใช้สัญลักษณ์ ทำให้ผู้อ่านคิดตามได้ไม่ยาก
นิธาร
รวมบทกวีชุด “นิธาร” ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล มีลีลาเฉพาะตัว กล่าวคือ ‘คิดนอกกรอบ’ ในด้านเนื้อหา กล้านำเสนอไม่ซ้ำใคร มีมุมมองใหม่ ๆ ‘ภายใต้กรอบ’ ฉันทลักษณ์ (ที่ผ่อนคลาย) ซึ่งผสมผสานกันระหว่างรูปแบบเก่า (นิทาน) ประยุกต์กับการเล่าเรื่องแบบใหม่ได้ลงตัว เรื่องราวที่นำเสนอหลากหลายประเด็น เป็นต้นว่า โลก ชีวิต ธรรมชาติ สังคม การเมือง ฯลฯ โดยใช้ชั้นเชิงวรรณศิลป์ซึ่งมีทั้งความเปรียบ และสัญลักษณ์ แม้บางเรื่องจะสื่อสารตรง ๆ แต่ยังคงมีเสน่ห์การยั่วล้อและเสียดสี ผู้เขียนชี้ให้เห็นหายนะของความไม่พอดีของมนุษย์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งได้ฉายภาพให้เห็นถึงโลกสวยงามด้วยความรัก สันติภาพ เสรีภาพ และอิสรภาพ อย่างมีชั้นเชิงในการนำเสนอพอสมควร เสน่ห์อีกอย่างก็คือ เมื่อผู้เขียนพูดถึงสิ่งใด เช่น หอยทาก ผีเสื้อ นก ต้นไม้ ก็มิได้หมายความจำเพาะแต่สิ่งนั้น หากแต่ซ่อนนัยไว้เสมอ และหลายเรื่องที่ตั้งเป็นปุจฉาหรือยกสิ่งใดมากล่าวอ้าง ก็สามารถอธิบายเหตุผลรองรับได้อย่างสมเหตุสมผล ในท่ามกลางโลกปัจจุบันสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ คือ ให้ตั้งหลักทบทวนชีวิต แล้วก้าวเดินอย่างมีสติ เพื่อปรับความสมดุล อย่างไรก็ตาม ความไม่เคร่งครัดในรูปแบบการนำเสนอมีส่วนทำให้ “คำ” และ“ความหมาย” พร่าเลือนไปบ้าง หากแต่ผู้เขียนเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องคล้าย ‘นิทาน’ บวกกับ ‘ลูกเล่น’ เฉพาะตัว จึงทำให้เรื่องหนัก ๆ กลายเป็นความผ่อนคลายและร่วมสมัย รวมบทกวี “นิธาร” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
ธรรมชาติของหัวใจ
กวีนิพนธ์ชุด ธรรมชาติของหัวใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เป็นงานประพันธ์ประเภทฉันทลักษณ์ในรูปแบบกลอนแปด จำนวน 44 บทเรื่อง โดยแต่ละเรื่องมีสัมผัสรับต่อเนื่องกันไปตั้งแต่ต้นจนจบ ขณะที่เนื้อหา ผู้เขียนได้หยิบยกเอาเรื่องราวของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไปมาเชื่อมโยงเข้ากับวิถีชีวิตมนุษย์อย่างกลมกลืน ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงมิตรภาพ ความงาม ความรัก ความหวัง กำลังใจและมีน้ำใจต่อกัน ด้านรูปแบบ ผู้เขียนมีความช่ำชองในเชิงฉันทลักษณ์พอสมควร มีความแม่นยำในลีลา จังหวะของบทกวี รวมทั้งมีการเล่นคำ เล่นกับภาษาได้อย่างลงตัว อย่างเช่นใช้คำซ้ำเพื่อย้ำความหนักแน่นและเกิดอรรถรส ซึ่งเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง ดังนั้น เมื่อผสมผสานกับเนื้อหา “ธรรมชาติของหัวใจ” จึงค่อนข้างมีพลัง และทำให้ผู้อ่านได้ซึมซับได้เห็นว่า ธรรมชาติกับมนุษย์-ธรรมชาติกับหัวใจ มีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นยากที่จะแยกออกจากกัน โดยเฉพาะมนุษย์ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่อาจอยู่บนโลกใบนี้ได้เลย ดังนั้น กวีนิพนธ์ชุด ธรรมชาติของหัวใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
ใจปัจจุบัน
รวมบทกวีชุด ใจปัจจุบัน ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เนื้อหาที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น การใช้ชีวิตของตนและคนในครอบครัว แม้ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องปัจเจก แต่สามารถปรับใช้กับ “ชีวิตใครก็ได้” กวีถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงเนิบนุ่ม งดงามเป็นธรรมชาติ เรื่องราวเหล่านี้เกิดจากการเฝ้ามองอย่างสังเกตสังกา ทำให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดว่าผู้คนยุคปัจจุบันมักมองไกลตัว ซึ่งสับสนวุ่นวายจนลืมสำรวจตรวจสอบใจตัวเอง โดยชี้ให้เห็นว่าความสุขที่แท้จริงคือการอยู่กับใจปัจจุบัน ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ แล้วจะเกิดความสมดุลในชีวิต เพราะแท้แล้วชีวิตกับธรรมชาติล้วนโอบเอื้อเป็นเนื้อเดียวกัน ผลงานหลายสำนวนอ่านแล้วทำให้ชีวิตมีความหวัง หากใครกำลังท้อแท้ หรือแม้แต่บางเรื่องที่เลวร้าย แต่เมื่อได้ตั้งสติตริตรองมองมุมบวก ไม่ยึดติด พอใจในสิ่งที่มี ในที่สุดก็สามารถพลิกปัญหาเป็นปัญญาเห็นแสงสว่างได้ไม่ยาก อีกประเด็นสำคัญในงานสร้างสรรค์เล่มนี้ คือการอยู่ร่วมในสังคมด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน สิ่งดีงามเหล่านี้ปัจจุบันนับวันยิ่งห่างไกล ผู้เขียนได้ชวนมองโลกในแง่งาม ให้เห็นน้ำใจ ซึ่งมองเห็นได้ไม่ไกลจากความเป็นจริง เรื่องใกล้ตัวดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงมาสู่ใจมนุษย์ได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยใช้ความเปรียบเทียบเคียงหรืออุปมาโวหารเห็นภาพแจ่มชัด ด้านสำนวนภาษาและกลวิธีเล่าเรื่อง ผู้เขียนนำเสนอในรูปแบบกลอนแปด มีความช่ำชองในเชิงฉันทลักษณ์ สัมผัสนอกลื่นไหล สัมผัสในอย่างมีจังหวะ ขณะที่บางสำนวนจงใจอวดภาษาวรรณศิลป์แพรวพราว บางบทประสมคำทำให้เกิดความแปลกใหม่ ไม่แปลกแยก แต่กลับมีเสน่ห์ สอดแทรกอารมณ์ขันด้วยมุกทันสมัย เล่นคำ-เล่นความไม่ล้นเกิน ด้วยคำง่าย ๆ มองง่าย ๆ ชวนให้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเอง ดังนั้น หนังสือรวมบทกวี ใจปัจจุบัน ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561
ฤดูใจ
หนังสือกวีนิพนธ์ชุด ฤดูใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เป็นผลงานที่กวีใช้ต้นทุนชีวิตและวัฒนธรรมในฐานะ “เด็กชนบท” จาก “ภาคอีสาน” เป็นแกนกลางในการดำเนินเรื่องคู่ขนานไปกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเล่าเรื่องผ่านธรรมชาติที่แฝงด้วยปรัชญา ชวนให้ระลึกถึงวัยเยาว์ในท้องทุ่งที่มีความสุขตามประสา “คนบ้านนอก” กวีค่อย ๆ เผยภาพวัยเยาว์ที่สะท้อนให้เห็นการหาอยู่หากิน รับผิดชอบช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เช่น การหาบน้ำจากบ่อมาใช้ในบ้าน การหาปลา การแหย่ไข่มดแดง ฯลฯ รวมทั้งภาพความสนุกสนานใน วัยเยาว์ผ่านวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่น เช่น การจุดบั้งไฟ การแห่นางแมวขอฝน และภาพความสุขจากเทศกาล “งานวัด” กวีใช้ธรรมชาติแวดล้อมสอนใจให้ตระหนักในความสงบร่มเย็น ไม่เร่งร้อนวิ่งตามกระแสโลกจนสูญเสียความสมดุลในชีวิต สัจธรรมจากธรรมชาติบอกเตือนให้เราต้องดูแล รักษาธรรมชาติเหมือนกับการดูแล “ฤดูใจ” ของตน ให้หมุนวนไปอย่างสมดุลและงดงาม กวีตระหนักว่าท้องทุ่งคือห้องเรียน มีธรรมชาติเป็นครู ผู้ยิ่งใหญ่ผู้สอนวิถีชีวิตที่ลึกซึ้งให้แก่เรา ด้านกลวิธีการประพันธ์ กวีสามารถใช้ภาษาได้อย่างสอดคล้องกับเนื้อสารที่ต้องการสื่อ คือความเรียบง่ายที่งดงาม รวมทั้งใช้วิธีย้อนภาพความทรงจำในวัยเยาว์เทียบทาบกับประสบการณ์ชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความตระหนักในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่วนเวียนเป็นครูอยู่ใน “ฤดูใจ” ไม่รู้จบ ดังนั้น หนังสือกวีนิพนธ์ชุด ฤดูใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2562