แม่น้ำเดียวกัน
แม่น้ำเดียวกัน ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ รวมบทกวีจำนวน 80 บท แบ่งเป็น 3 ภาค คือ ภาคหนึ่ง โลกใบอื่น ภาคสอง พื้นที่จริงแท้ และภาคสาม แม่น้ำเดียวกัน ผู้ประพันธ์เฝ้ามองและตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในดินแดนภาคใต้ที่นำมาซึ่งความทุกข์ ความสูญเสียเศร้าโศกของมนุษย์ด้วยกันเอง แท้จริงมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกชาติศาสนามาจากแม่น้ำสายเดียวกันอันดุจเป็นมารดรของมนุษยชาติซึ่งก็คือ “บุตรธิดามารดาเดียว” มนุษย์ควรลืมความขัดแย้งในอดีตซึ่งเป็น “คอกกำแพงกั้นแบ่งมนุษย์” และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ผู้ประพันธ์เน้นคุณค่าของความรักในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างแม่กับลูกที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ โลกทัศน์มนุษยนิยมของผู้ประพันธ์ยังครอบคลุมไปถึงสัตว์ร่วมโลกซึ่งอาจให้อุทาหรณ์ที่มนุษย์ได้เรียนรู้และมีสำนึกเชิงจริยธรรม ด้านศิลปะการประพันธ์เด่นด้านการใช้ภาพพจน์ประเภทอุปลักษณ์และอุปมาการเปรียบเทียบระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายในใจของมนุษย์ รวมบทกวีเล่มนี้จึงมีคุณค่าด้านจิตวิญญาณและการสร้างสำนึกเชิงจริยธรรมด้วยการสร้างสรรค์เชิงวรรณศิลป์
แม่น้ำที่สาบสูญ
แม่น้ำที่สาบสูญ ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นหนังสือรวมบทกวีบอกเล่าเรื่องราวของอารมณ์และความรู้สึก ที่กวีมีต่อชีวิตและสถานที่ที่ได้เข้าไปสัมผัสสัมพันธ์ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 หมวดหมู่ โดยเริ่มจาก “มาจากดิน” กวีหวนคำนึงถึงรกรากที่จากมาด้วยอาวรณ์ ส่องสะท้อนความหลังครั้งเยาว์วัยด้วยหัวใจอันเต็มตื้น กวีพาผู้อ่านท่องไปยังโลกภายในของผู้เขียนผ่านกาละและเทศะอันหลากหลาย ก่อนจบลงตรง “คืนสู่ดิน” ด้วยการกลับไปสู่เรื่องราวของเด็กช่างฝันในท้องทุ่งจินตนาการ ผู้ท่องเทียวอยู่กับโลกด้านในผ่านฤดูกาลของชีวิตอันสัมพันธ์กับฤดูกาลภายนอก แม่น้ำที่สาบสูญ แสดงให้เห็นถึงเนื้อแท้ของความสุขอันเกิดจากวิถีเกษตรกรรมที่มีรกรากเดียวกันทั้งโลก ก่อนจะเกิดพรมแดนแผนที่และพรมแดนชีวิตเช่นปัจจุบัน ยิ่งกวีออกเดินทางกวีก็ยิ่งค้นพบว่าตัวเองสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งจนเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งบทกวี ชีวิต และความฝันบรรพกาล ในด้านของภาษา เรวัตร์สามารถใช้ภาษาเพื่อสื่อความรู้สึกให้ผู้อ่านต้องจมดิ่งอยู่ในมนตราของอารมณ์อันคมเข้ม ทั้งหม่นมัวและสดใส ตามแต่กาละและเทศะที่ต้องการจะสื่อสารมายังผู้อ่านได้อย่างมีพลังสะเทือนอารมณ์ กระทบความรู้สึกไม่น้อย แม้ว่าจะปรากฏความซ้ำซ้อนทางเนื้อหาอารมณ์ในหลายบทหลายตอนก็ตาม รวมบทกวี แม่น้ำที่สาบสูญ ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2