ในวารวัน
“ในวารวัน” เป็นนวนิยายเกี่ยวกับการต่อสู้ชีวิตของตัวละครเอก ซึ่งผ่านความยากลำบากในชีวิตมาทุกรูปแบบ แต่สามารถผ่านวิกฤติทั้งมวลมาด้วยความใฝ่ดี สะท้อนแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพสังคมชนบทสมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ ๗ สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับธรรมะ และแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม
ในวารวัน
ในวารวัน ผลงานของปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่กำหนดกรอบเวลาตั้งแต่พุทธศักราช 2445 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพุทธศักราช 2486 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกินระยะเวลารวม 4 แผ่นดิน หากแต่เป็น “สี่แผ่นดินฉบับบางปลาสร้อย” เพราะในวารวันเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุมชนบางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี ที่ผู้เขียนเล่าผสานไปกับชีวประวัติของแม่วัน ตัวละครเอก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่อง แม่วันเป็นตัวละครที่เป็นแบบฉบับของคนดีที่สมบูรณ์แบบ เพราะพูดดี คิดดี ทำดี ซื่อสัตย์ ขยัน มัธยัสถ์ อดทน ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ชีวิตของแม่วันต้องเผิชญกับความทุกข์ยากทั้งทางกายและใจอย่างมากมายจากแม่เลี้ยงและพี่น้องต่างมารดา ซึ่งทั้งด่าว่าเสียดสี โกงสมบัติ ขโมยทอง ปองร้อยหมายข่มขืน จนถึงโพนทะนาให้เสียชื่อ แม่วันลูกกำพร้ากลับเป็นเหมือนเหล็กทนไฟ ยิ่งทุกข์ยิ่งแข็งแกร่ง สามารถเลี้ยงชีวิตตามลำพังหลังย่ายายตายด้วยการรับจ้างทำงานทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ คุณความดีของแม่วันได้รับการตอบสนองในที่สุด ได้แต่งงานกับผู้ชายที่ดี สร้างฐานะได้มั่นคง สุดท้ายสามีเสียชีวิตไปก่อน แม่วันก็เป็นผู้หญิงเก่งที่สามารถดูแลลูก ๆ บริวารและกิจการอาชีพได้อย่างไม่บกพร่อง ส่วนแม่เลี้ยงและพี่น้องต่างมารถาทั้งของฝ่ายแม่วันและนายเทิดสามีต่างก็มีชีวิตตกต่ำ พินาศฉิบหายไปตามกรรม นวนิยายเรื่องนี้จึงมีแก่นเรื่องแสดงให้เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือคนดีย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ การสร้างตัวละครเป็นคนดี คนชั่ว ชัดเจน ก็จัดเป็นตัวละครแบบฉบับเช่นเดียวกับแก่นเรื่อง แต่จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การสอดร้อยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้าไปในเนื้อหาเรื่องราวของตัวละครได้อย่างกลมกลืน ทั้งเรื่องประเพณี อาชีพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำนานสถานที่ โบราณสถาน ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น การเสด็จประพาสบางปลาสร้อยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีเสด็จประพาสเมืองชลบุรี เป็นต้น ในวารวันจึงบันทึกอดีตไว้ เป็นนวนิยายที่ให้อรรถรสและมีวรรณศิลป์
ตะวันเบิกฟ้า
ตะวันเบิกฟ้า บทประพันธ์ของปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นเรื่องราวของชีวิตในครอบครัวใหญ่ที่ฉายภาพของสังคมไทยในช่วง พ.ศ. 2498 ถึงราว พ.ศ.2506 อันเป็นช่วงเหตุการณ์ที่สังคมไทยเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สองมา ความผันผวนของเหตุการณ์ในสังคมไทยขณะนั้นได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยโดยส่วนรวม แต่ทว่าครอบครัวใหญ่ซึ่งมีประมุขของครอบครัวเป็นคนเด็ดขาด เรียบง่าย วางชีวิตของทุกคนในครอบครัวให้ดำรงอยู่ได้ด้วยระเบียบของศีลธรรมจรรยา อีกทั้งยังแก้ไขปัญหาของครอบครัวอย่างใช้สติปัญญา จึงประคับประคองให้ชีวิตของทุกคนในครอบครัวดำเนินไปด้วยความผาสุก แต่กระนั้นผู้ประพันธ์ก็ชี้ให้เห็นว่าคนในครอบครัวเดียวกัน ก็มิได้มีความคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิตในทางเดียวกัน ผู้ประพันธ์ได้สร้างตัวละครที่เป็นคู่เปรียบเทียบอันแสดงให้เห็นถึงฝ่ายที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมีสติ กับอีกฝ่ายที่ดำเนินชีวิตอยู่ในความลุ่มหลง ปล่อยให้โมหะและโทสะเข้าครอบงำ จนกระทั่งต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด นวนิยายเรื่องตะวันเบิกฟ้า จึงเป็นนวนิยายที่ชี้ให้เห็นถึงปรัชญาการดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร และเป็นนวนิยายที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์ล้วนตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของครอบครัว ความรัก สังคม เครือญาติ และแม้กระทั่งจิตใจตนเอง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มนุษย์ตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมบางอย่าง มนุษย์จึงจะต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติและมีปัญญา จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้คือกลการประพันธ์ซึ่งเสนอให้เห็นถึงวิธีการเล่าเรื่องที่ค่อย ๆ เปิดเผยบุคลิกลักษณะของตัวละครให้ผู้อ่านได้ทราบและติดตาม โดยการใช้ลีลาภาษาที่เปี่ยมไปด้วยวรรณศิลป์ เป็นภาษาเก็บละเอียดทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อออกมา และยังนำเรื่องราวในอดีตอันเป็นรายละเอียดของฉากในเรื่องมาสอดแทรกไว้ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว นวนิยายเรื่องตะวันเบิกฟ้า จึงเป็นนวนิยายที่มีแง่งามทั้งทางด้านวรรณศิลป์ เป็นนวนิยายที่เสนอให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับชีวิตอันจะเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อ่านได้ และยังเป็นนวนิยายที่มีคุณค่าในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์สังคมได้อย่างมีชีวิตชีวาอีกด้วย