All Posts

Archives

  • Home
  • สำนักพิมพ์ศรีปัญญา

ในกับดักและกลางวงล้อม

เมื่อเอ่ยถึงเรื่องเล่าชีวิตของคนจับปลาในท้องทะเลลึก นักอ่านก็จะนึกถึงชื่อ ประชาคม  ลุนาชัย   ผู้เขียนนวนิยายฝั่งแสงจันทร์  คนข้ามฝัน  กลางทะเลลึก  เที่ยวเรือสุดท้าย  นวนิยายเรื่อง ในกับดักและกลางวงล้อม แสดงฝีมือและประสบการณ์อันตกผลึกแล้วของผู้เขียน  ชีวิตลูกเรือจับปลากลางทะเลใน                นวนิยายเรื่องนี้ฉีกแนวไปจากเรื่องเดิม ๆ  เพราะตัวละครกว่าครึ่งบนเรือหาปลาลำนี้เป็นผู้บกพร่องทางร่างกาย  ทั้งตาบอดข้างเดียว  ตาเหล่  ขาขาด  นิ้วขาด  แขนคด  นอกจากนี้แทบทุกคนไม่มีประสบการณ์ในการเดินเรือจับปลากลางมหาสมุทรมาก่อน ไม่เว้นแม้แต่ไต้ก๋งที่กว่าจะเรียนรู้สัญญาณโซน่าช่วยหาฝูงปลาก็สาวอวนได้ท่อนไม้มาเสียหลายครั้ง  และจุมโพ่ที่ทำอาหารไม่เป็นแต่อยากได้งาน ตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกโดดเด่นชัดเจน  และมีพัฒนาการที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิต   เห็นชัดว่าผู้เขียนพยายามถอยห่างจากเรื่อง จนแทบไม่ปรากฏเงาร่างของผู้เขียน  แต่มุ่งนำเสนอเรื่องราวของนักสู้ชีวิตเหล่านี้อย่างสมจริง  ไม่มีใครเป็นพระเอก  ทุกคนล้วนเป็นตัวเอกที่ช่วยกันขับเคลื่อนนาวากลางสมุทรให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอาชีพและบรรลุความฝัน ยาเสพติด การพนัน และผู้หญิงบนฝั่ง  เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกเรือประมง  แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นกับดักที่ทำลายอนาคตและความใฝ่ฝัน   ฝูงปลาที่ตกอยู่ในวงล้อมของอวนไม่ต่างจากพวกเขาที่ตกอยู่ในวงล้อมและกับดักของงานหนักและการเสี่ยงกับโชคชะตา  แต่พวกเขาก็ฝ่าฟันมาได้ด้วยแรงกายเท่าที่มี แรงใจที่เข้มแข็ง  และการล่มหัวจมท้ายด้วยกัน  ที่สำคัญคือรได้เรียนรู้ว่าการสู้ชีวิตให้พ้นกับดักและวงล้อมไปสู่อิสรภาพและเป็นนายตนเองนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง  ดังที่ไต้ก๋งกล่าวในท้ายสุดว่า “ที่จะล้อมปลาให้อยู่หมัด  ไม่ใช่เพียงแค่เรือหรืออวน  หากยังรวมถึงสติปัญญา  ความสามารถ ประสบการณ์  และภูมิรู้ทั้งหมดทั้งมวล…” แม้เรือหาปลาจะเทียบฝั่งแล้ว  แต่นาวาชีวิตของแต่ละคนยังโลดแล่นฝ่าคลื่นลมในมหาสมุทรชีวิตตามทิศทางของตนต่อไป ด้วยความโดดเด่นด้านเนื้อหาสาระ ข้อคิด  และชั้นเชิงทางวรรณศิลป์  คณะกรรมการจึงมีมติให้ในกับดักและกลางวงล้อม ของ ประชาคม  ลุนาชัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2561

140 ปี “การ์ตูน” เมืองไทย

การ์ตูนเป็นสื่อที่มักถูกมองข้าม เพราะสังคมไทยมักเห็นว่าการ์ตูนเป็นสื่อสำหรับอ่านเล่น จึงไม่มีการบันทึกประวัติความเป็นมา ทั้ง ๆ ที่การ์ตูนเป็นหนังสือเล่มแรก ๆ ในชีวิตของเด็ก ๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้รักการอ่าน การ์ตูนจึงสำคัญต่อการสร้างสรรค์สังคมมาตั้งแต่ต้น สิ่งที่อยู่ในการ์ตูนไม่ได้มีเพียงลายเส้น แต่รวมถึงคติและค่านิยมต่าง ๆ ด้วย การศึกษาประวัติศาสตร์ของการ์ตูนในสังคมหนึ่ง ๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญ หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้ ความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ ความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับชีวิต สังคม และการเมือง ผ่านพัฒนาการของตัวการ์ตูนไทย โดยมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ ใช้ภาษาที่อ่านง่าย มีเสน่ห์ และเพลิดเพลิน