มิปรารถนาเป็นอื่น
มิปรารถนาเป็นอื่น รวมกวีนิพนธ์ของ กวิสรา ม่วงงาม แบ่งกลุ่มเนื้อหาในเล่มออกเป็น ๔ ภาค ประกอบด้วย “ภาคแรก ดิน” “ภาคสอง น้ำ” “ภาคสาม ลม” และ “ภาคสี่ ไฟ” ใช้ท่วงทำนองการเล่าเรื่องแบบ Ballad จากชีวิตประจำวันของกวีผ่านวิถีของชาวสวนผู้เปี่ยมสุข สุขเพราะการค้นพบว่าวิถีกวีและการเป็นชาวสวนล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน การดูแลต้นไม้และสัตว์เลี้ยงแม้จะเป็นงานหนักแต่ก็ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้รับรู้ถึงความละเอียดอ่อนของชีวิตไม่ผิดกับการเขียนบทกวี ผ่านวิถีการทำงานที่อบร่ำด้วยความรักเมื่อได้ประจักษ์ถึงความทุกข์ที่ไม่จีรังยั่งยืน กวีเขียนถึงบรรดาสัตว์เลี้ยงของครอบครัวได้อย่างมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะเจ้าลูกม้าขี้อ้อนที่ชื่อ “บัวหลาด” ท่ามกลางบรรยากาศแมกไม้นานาพรรณของบ้านสวน กวียังย้อนความทรงจำถึงช่วงวัยเยาว์อย่างเข้าใจชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านร่วมซึมซับประสบการณ์ในอดีตเทียบทาบกับความตระหนักรู้ในปัจจุบัน นับเป็นบทกวีที่เปี่ยมด้วยความหวังและกำลังใจอย่างมีนัยสำคัญ ด้านกลวิธีการประพันธ์ มิปรารถนาเป็นอื่น เป็นงานสร้างสรรค์ที่มีลีลาภาษาเรียบง่ายแต่หนักแน่นด้วยความหมายที่กวีกลั่นออกมาจากใจ ผ่านการกรองคำตามลีลาเฉพาะตนที่ไม่ได้เดินตามขนบวรรณศิลป์ไปทุกวรรค แต่มิปรารถนาเป็นอื่น จึงอาจเป็นได้ทั้งข้อด้อยและข้อเด่นในขณะเดียวกัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี มิปรารถนาเป็นอื่น ของ กวิสรา ม่วงงาม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู
รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู สะท้อนเรื่องราวความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดของผู้คนในสงครามมหาเอเซียบูรพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แพ้สงครามคือทหารญี่ปุ่น เน้นเนื้อหาการสร้างทางรถไฟจากไทยไปพม่า ซึ่งมีสถานีสุดท้ายอยู่ที่พญาตองซู ในเขตพม่า เรื่องนี้มีลักษณะเป็นเชิงสาระนิยาย เน้นข้อเท็จจริงและใช้จินตนาการซ้อนไปตามความจำเป็น เพื่อสร้างความสะเทือนใจ ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลบุคคลและสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ ส่วนที่เป็นจินตนาการเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ของผู้เขียน ซึ่งเล่าผ่านตัวละครไทยและญี่ปุ่นที่เป็นประหนึ่งนักสำรวจประวัติศาสตร์ โดยในแต่ละจุดที่ตัวละครทั้งสองไปถึงจะมีข้อมูลเรี่องเล่าจากชาวบ้านซ้อนขึ้นมาเป็นเรื่อง ๆ เหมือนภาพศิลปะปะติดปะต่อ หรือ “Collage” ทำให้รู้ว่าท้องถิ่น ห่างไกลความเจริญ (แม้ในปัจจุบัน) ในสมัยสงคราม คือดินแดนแห่งความทุกข์ทรมาน ของมนุษย์ทั้งสองฝ่าย และทำให้รู้ว่า ความเจ็บปวดรวดร้าวของมนุษยชาตินั้นถ่ายทอดสู้กันได้แม้ว่าพวกเขาจะตายไปแล้ว นอกจากข้อเท็จจริงอันชวนตระหนกแล้ว ผู้เขียนยังสร้างความสะเทือนใจด้วยความฝัน การซ้อนภาพปัจจุบันเข้ากับอดีต การหลอกหลอนของภาวะจิต จนเป็นเรื่องกึ่งนิมิตฝันมาสอดร้อยเรื่อง ผสานเข้ากับภาษาที่เปี่ยมไปด้วยภาพจินตนาการ การปะติดปะต่อข้อมูลสงครามที่มนุษยชาติไม่อยากเอ่ยถึงจึงเป็นเหมือนการเปิดบาดแผลในอดีตให้คนปัจจุบันได้ร่วมเจ็บปวดด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นนวนิยายที่ควรแก่การรับรู้ เรียนรู้ และเป็นตัวอย่างในการไม่ทำซ้ำ และในขณะเดียวกันก็นับได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการเขียนในอนาคต ที่ต้องการ “ข้อเท็จจริง” ที่ชัดเจนมากกว่า “จินตนาการ” คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู ของสุมาตร ภูลายยาว ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ
“ ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ” ของ “บัญชา อ่อนดี” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๐ เรื่องที่สะท้อนความเข้าใจชีวิตผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างคนกับคน คนกับความคิด และคนกับสิ่งแวดล้อม โดยขุดเอาปมเหง้าของปัญหาในชีวิตที่แตกต่างหลากหลายในสังคมมาเขียนได้อย่างลึกซึ้ง อาทิ เรื่องชาติพันธุ์ การรุกล้ำชีวิตของสัตว์และผลพวงของการกระทำ กลไกการทำงานของความเป็นแม่ มนุษย์กับอดีต เป็นการตั้งคำถามกับชีวิตด้วยลีลาการเขียนที่แยบยล ซับซ้อน และใช้ภาษาที่สอดคล้องกับเรื่องราว ให้ความรู้สึกกระทบใจ บางเรื่องมีอารมณ์ขัน มีชีวิตชีวา คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น “ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ” ของ “บัญชา อ่อนดี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓