ให้ความหวังนำทางเรา
หนังสือเรื่อง “ให้ความหวังนำทางเรา” ของ “แพน พงศ์พนรัตน์” เล่าเรื่องการเดินทางของนักวิจัยไทยคนหนึ่ง ที่ตามติดไปในพื้นที่ประสบหายนะของญี่ปุ่น หลังเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ที่ทำให้โครงสร้างของสังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปแทบจะสิ้นเชิง ผู้เขียนไม่ได้มองผู้คนอย่างผิวเผิน ทว่าด้วยการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นโดยตรง จึงพาผู้อ่านไปรับรู้อารมณ์ความรู้สึก การปรับตัว ความสะเทือนใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้น โดยผ่านลีลาภาษาที่เรียบง่ายแต่งดงามอย่างยิ่ง
มันนิซาไก คนป่าแห่งเขาบรรทัด
หนังสือเรื่องนี้แสดงการสำรวจทางมานุษยวิทยาอย่างนักวิชาการ แต่นำเสนออย่างสารคดี เป็น สารคดีสัญจรไปค้นหาคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกหลงลืม และถูกมองว่าเป็นผู้ล้าหลัง อ่อนด้อยทางวัฒนธรรม แต่แท้ที่จริงแล้ว มันนิซาไกเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง โดยคำว่ามันนิก็แปลว่า “คน” นั่นเอง ผู้เขียนได้เข้าไปสัมผัส ศึกษา ค้นคว้า หาความเป็นจริง ถ่ายทอด ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมดั้งเดิมออกมาให้สังคมคนเมืองรับรู้ได้อย่างน่าติดตาม สร้างความสะเทือนใจ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจไปพร้อมกัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “มันนิซาไก คนป่าแห่งเขาบรรทัด” ของ “บุหลัน รันตี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ป่าเปลี่ยนสี
เป็นนวนิยายแนวอนุรักษ์ ปลุกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติ ให้คิดถึงว่าป่านั้นเอื้อประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิต ให้ภาพกรรุกรานของมนุษย์ที่มีวิสัยทัศน์แคบ เห็นแก่ตัว และให้เห็นความพยายามที่จะป้องกันตนเองของป่า ด้วยวิธีการนำเสนอที่กลมกลืน
ภูผา ป่าไม้ และสายน้ำ
เป็นสารคดีที่สอดแทรกสาระและความรู้ได้ตามสมควร ให้แง่คิดในเชิงอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อม ใช้ภาษาเรียบง่ายแสดงให้เห็นประสบการณ์ในการเขียนหนังสือได้ดี
เมื่อแม่ตื่น
เป็นสารคดีชีวิตที่เรียบง่าย เล่าถึงการกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดกับพ่อและแม่ ทว่าผู้เขียนสามารถทำความเรียบง่ายธรรมดานั้นให้สะเทือนใจได้ด้วยการเล่าถึงความผูกพันระหว่างลูกกับพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวเดียวกัน จึงชวนคิด ชวนตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปในปัจจุบันที่ผู้เขียนเป็นเสมือนภาพตัวแทน วิธีเล่าเรื่องมีชั้นเชิง ผ่านความงดงามของภาษาที่มาจากความรู้สึกภายในโดยแท้