All Posts

Archives

  • Home
  • อังคาร จันทาทิพย์

หนทางและที่พักพิง พืชพันธุ์แห่งพุทธะในท้องทุ่ง มโนทัศน์กวีนิพนธ์

“หนทางและที่พักพิง” ของอังคาร จันทาทิพย์ ถือเป็น ‘พืชพันธุ์แห่งพุทธะในท้องทุ่งมโนทัศน์กวีนิพนธ์’ ดังที่นิยามไว้บนปก จริงอยู่…การเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ใคร ๆ เขาทำมานักต่อนักแล้ว ถึงกระนั้นการนำเรื่องเก่าโบราณกาลมาทำซ้ำแบบไม่ให้ซ้ำคนอื่นนับเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่กวีผู้นี้ทำได้ดีอย่างน่าชื่นชม โดยใช้ชั้นเชิงกวีมานำเสนอในมุมมองใหม่ ๆ อย่างมีวรรณศิลป์ และมีเสน่ห์ ที่สำคัญผู้เขียนมีความช่ำชองในจังหวะจะโคนของโคลง กลอน ทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสและความรู้ควบคู่กันไป

หัวใจห้องที่ห้า

หัวใจห้องที่ห้าของ อังคาร จันทาทิพย์  รวมบทกวี 46 บทเรื่อง  แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคแรก หัวใจห้องที่ห้า และภาคหลัง นิทานเดินทาง  ในภาคแรก หัวใจห้องที่ห้าที่หมายถึง “ดวงใจใฝ่ฝันสันติสุข”  ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องราวของสังคมไทยในมิติต่าง ๆ  เริ่มจากอดีตจนเกิดความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันซึ่งดูจะเป็นวิวัฒนาการที่โลกและมนุษย์อาจไม่ได้ดีกว่าเดิมเพราะสังคมยังเต็มไปด้วยปัญหา ความขัดแย้งและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ และที่สำคัญคือคลื่นความขัดแย้งในสังคมที่ทำให้เกิดความแบ่งแยกแตกต่างของผู้คน ในภาคหลัง นิทานเดินทาง  ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องเล่าและวิถีชีวิตของกลุ่มชนในบริบทต่าง ๆ ของสังคมไทย ทั้งตำนานแม่น้ำโขงในภาคอีสาน คนไร้บ้านในเมืองหลวง ชนกลุ่มน้อย  เช่น มอญ   กะเหรียงคอยาวและคนไร้สัญชาติโดยเชื่อมโยงเรื่องเล่าในอดีตกับวิถีชีวิตในปัจจุบันซึ่งล้วนระทมทุกข์และต้องต่อสู้ดิ้นรนในสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม  นิทานเดินทางของผู้คนหลากหลายคือนิทานชีวิตที่ยังคงต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดชีวิต ด้านกลวิธีการประพันธ์  ใช้กลอนสุภาพเป็นส่วนใหญ่  นอกจากนี้มีโคลงสี่สุภาพและกาพย์ฉบัง  นำเสนอแนวคิดปัญหาสังคมในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้ผู้อ่านฉุกคิด โดยใช้เรื่องเล่าในอดีตเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในปัจจุบันได้อย่างมีนัยสำคัญ

ระหว่างทางกลับบ้าน

  รวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์ นำเสนอความคิดเรื่องบ้านในหลากหลายมิติทั้งบ้านของผู้ประพันธ์เอง และบ้านของผู้คนหลากหลายอาชีพ  หลากหลายชนชั้นในสังคมไทยและสังคมโลก อาทิ บ้านของแรงงานอพยพข้ามชาติ บ้านของชาวโรฮิงญา บ้านของผู้ลี้ภัยสงคราม บ้านจึงมีความหมายมากกว่าสถานที่เกิดและที่พำนักอาศัยแต่บ้านเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ ความรัก ความผูกพันและความสุขของสมาชิกในครอบครัว ทุกชีวิตล้วนโหยหาและปรารถนาที่จะกลับบ้านซึ่งเป็น                     “ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ       ที่ไม่นับ เล็กหรือใหญ่ ที่ให้อยู่            ที่ชีวิต จิตวิญญาณ อวลซ่านอณู            ที่ทุกข์สุข ทุกฤดู อยู่ในนั้น” ด้านศิลปะการประพันธ์ใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพซึ่งมีลีลาและท่วงทำนองเรียบง่ายแต่มีความโดดเด่นในการเปรียบเทียบ โดยให้รูปธรรมของส่วนต่าง ๆ ซึ่งประกอบสร้างเป็นตัวบ้าน  สื่อความหมายในเชิงนามธรรมของประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกและจิตวิญญาณของคำว่า “บ้าน”   ได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้น รวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์ จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2560