All Posts

Archives

  • Home
  • สุขุมพจน์ คำสุขุม

เสียงที่ไม่เคยเปลี่ยน

เป็นกวีนิพนธ์ที่เขียนได้ไพเราะงดงามอ่อนหวาน ให้จินตภาพมีทั้งกาพย์และกลอนให้เนื้อหาสาระด้านวัฒนธรรม แนวคิดเน้นความเป็นไทย

ระเบียงตะวัน

“ระเบียงตะวัน” ของสุขุมพจน์ คำสุขุม โดยภาพรวมผู้เขียนเสนอเรื่องราวอดีต ที่เป็น ‘ร่องรอยการพบ-พรากของชีวิต’ อ่านแล้วทำให้หวนระลึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์มนต์ขลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท ซึ่งบรรยากาศเหล่านั้นแม้แต่ในยุคปัจจุบันก็ยังคงอยู่ เนื้อหาค่อนข้างหลากหลาย ทั้งเรื่องราวชีวิตผู้คน สังคม รวมถึงฉายภาพสะท้อนปัญหาต่าง ๆ โดยผู้เขียนไม่สรุปว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ปล่อยให้ผู้อ่านได้คิดเอง นี่คือเสน่ห์ และเสน่ห์อีกอย่างในงานเล่มนี้ คือ มีอารมณ์ขัน ในส่วนของเชิงชั้นทางวรรณศิลป์ ถือว่าชั้นเชิงดี มีความชัดเจน แม่นยำในฉันทลักษณ์           “นัยน์ตาใสซื่อสื่อสัมผัส                                  แจ่มชัดเป็นมิตรไร้ปริศนา ถ้อยคำชาวบ้านไร้มารยา                                     ดวงหน้าดวงใจมิไกลกัน แลกเปลี่ยนความรัก  แลกผักหญ้า                                   ปูปลากุ้งหอยมาก-น้อยนั่น ราคาสูงต่ำไม่สำคัญ                                           หมู่บ้านผูกพันแบ่งปันกิน”   หรือ…           “พวกผู้แทนเชื่อไม่ได้  มึงไม่รู้                      มึงเชื่อกูอีวันทา  มึงอย่าขำ  มันแจกเงินแจกทองมึงต้องจำ                                      รับแล้วทำเออออ  ป้อยอมัน”

รากของเรา เงาของโลก

รวมบทกวี รากของเรา เงาของโลก ของสุขุมพจน์  คำสุขุม ประกอบไปด้วย บทกวีจำนวน 40 บท เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรก “รากของเรา” และภาคสอง “เงาของโลก” ภาคแรก  “รากของเรา” ผู้ประพันธ์นำเสนอวิถีชีวิตพื้นถิ่นบ้านเกิดภาคอีสาน  ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดในครอบครัวและบรรพบุรุษ ที่แม้จะต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต แต่มีความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งยังคงเป็นความสุขในความทรงจำ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันของไททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไทอีสาน ไทลาวและเผ่าไทในดินแดนอื่น ๆ วิถีชีวิตชาวนาในชนบทอีสานแม้จะต้องเผชิญอุปสรรคนานาประการ แต่การต่อสู้ชีวิตก็เป็นแนวทางที่บรรพบุรุษและหัวหน้าครอบครัวปลูกฝังให้ลูกหลานสืบต่อกันมาดุจรากเหง้าของเผ่าพันธุ์ที่หยั่งลึกท่ามกลางวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นสุขด้วยอาหารพื้นถิ่นอีสาน เช่น ปลาแดก และข้าวจี่ ซึ่งผูกร้อยสายสัมพันธ์ของผู้คนร่วมแผ่นดินถิ่นเกิด ภาคที่สอง “เงาของโลก” ผู้ประพันธ์นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เข้าสู่โลกาภิวัฒน์ สื่อร่วมสมัย เช่น เฟสบุ๊ค อินเทอร์เน็ต เปลี่ยนวิถีของคนไทย ซึ่งดูเหมือนใกล้ชิดแต่ไกลห่างทางความรู้สึกและความเข้าใจ ช่องว่างในสังคมเมืองที่มีผู้ที่เสพสุขอย่างล้นเหลือ รวมถึงผู้พิการที่เข้ามาขอทานเพื่อหาเลี้ยงชีวิต การอพยพเข้ามาอยู่เมืองหลวงของชาวอีสานจึงมิได้นำมาซึ่งความสุข แต่กลับเป็นพิษภัย “กรุงเทพฯ เป็นกรุงท่วม อาบทุกข์อ่วมนครอัน- สูงเด่นเป็นสวรรค์ จะซบหน้าลึกบาดาล” ผู้ประพันธ์ยังเสนอไว้ในบท “ความสุขมวลรวมฉบับสามัญชน”  ว่าความสุขที่แท้จริง คือ ชีวิตที่เรียบง่าย พอมีพอกินในชนบท ความเอื้ออาทรเจือจานซึ่งกันและกัน การรู้จักอยู่และรู้จักประมาณตน ในทัศนะของผู้ประพันธ์ จี.ดี.พี จึงหมายถึง “จึงดีพอ” สำหรับชนชั้นสามัญชน