All Posts

Archives

  • Home
  • สองขา

เหมือนหั่นหัวหอม

เหมือนหั่นหัวหอม วรรณกรรมเยาวชนสะท้อนปัญหาของเด็กที่ถูกล้อเลียน ทำให้เศร้าเสียใจ เสียน้ำตา มุ่งสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจ ลดละการกระทำที่สร้างบาดแผลในใจให้ผู้อื่น เหมือนหั่นหัวหอม นำเสนอเรื่องราวสนุก ซุกซน ปนเศร้าของ วิน โม่ มาย แก้ม และเพื่อน ๆ นักเรียนชั้น ป.๔ โรงเรียนแห่งหนึ่ง วิน ลูกแม่ค้าขายข้าวแกงหน้าโรงเรียน ฐานะยากจน จึงรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าเพื่อน  โม่ เด็กชายตัวอ้วนที่มีอาม่าเลี้ยงดูด้วยความรัก บำรุงด้วยอาหารดี ๆ  อบรมสั่งสอนให้ข้อคิดในการใช้ชีวิต   มาย ลูกสาวแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่เคยเห็นหน้าพ่อตั้งแต่เกิด   แก้ม เด็กหญิงตัวเล็ก เรียนเก่ง ซึ่งพ่อแม่หวังให้เป็นหมอเหมือนพ่อ ไม่มีโอกาสเลือกทำในสิ่งที่ตนเองชอบ เด็กทั้งสี่คนมีปมในใจที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ถูกซ้ำเติมจากเพื่อนที่นำปมด้อยของแต่ละคน มาตั้งฉายาล้อเลียนทำให้เศร้าเสียใจ ปมปัญหาของเด็ก ๆ ค่อย ๆ คลี่คลาย ด้วยความรัก ความเข้าใจ ของพ่อแม่ และญาติมิตร ผู้ใหญ่บางคนยอมปรับพฤติกรรมของตน เพื่อส่งเสริมกำลังใจเด็ก ๆ ให้เติบโตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็งและมีความสุข ครูแก้ปัญหาการล้อเลียนโดยใช้หัวหอมเป็นสื่อ ให้นักเรียนได้พูดสื่อสารความในใจที่ทำให้รู้สึกเสียใจน้ำตาไหลเหมือนหั่นหัวหอม ทำให้เด็กเข้าใจ และรับรู้ถึงความรู้สึกของเพื่อน ว่าไม่มีใครชอบถูกล้อ  แม้แต่ผู้ที่ล้อคนอื่น ก็ไม่อยากให้ใครมาล้อตนเอง  ยอมรับความผิดพลาด กล้าที่จะขอโทษ ให้อภัย ช่วยเหลือกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เหมือนหั่นหัวหอม เป็นเรื่องราวในมุมมองของเด็ก อ่านสนุก ภาพประกอบสวยงาม มีสาระ ความรู้  สอดแทรกข้อคิดคำคมไว้อย่างน่าสนใจ เป็นประโยชน์สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ สามารถนำไปปรับใช้สร้างความเข้มแข็งให้ตนเองและคนรอบข้าง โดยไม่ล้อเลียนผู้อื่น และรับมือกับการถูกล้อเลียนได้อย่างเหมาะสม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ เหมือนหั่นหัวหอม  ของ สองขา ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัล                 เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน  ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖

พี่มือใหม่

หนังสือเรื่อง “พี่มือใหม่” เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 3 ขวบ ซึ่งกำลังจะมีน้องคนแรก เธอเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่มาจนถึงวันหนึ่งที่ยายบอกว่ามีข่าวดี เกี่ยวกับน้องที่พึ่งเกิดใหม่ และสั่งว่าเธอต้อง “รักน้อง” ตัวเล็กๆ ของเธอ เธอเริ่มรู้สึกสับสนว่า “หนูยังไม่เคยเห็นน้อง ไม่เคยรู้จักน้อง แล้วหนูจะรักหรือไม่รักน้องได้อย่างไร” เมื่อพ่อกับแม่พาน้องกลับมาที่บ้าน ความสับสนในใจของเธอก็มีมากขึ้น เพราะเมื่อเธอเข้าไปใกล้น้อง พ่อแม่ก็หาว่า “กวนน้อง” หรือ “แกล้งน้อง” เธอไม่เข้าใจว่า “ทำไมผู้ใหญ่ชอบสั่งให้เด็กๆ ทำโน่น ทำนี่” และ “ทำไมต้องดุ” เวลาที่เธออยากเห็นน้องใกล้ๆ เธอไม่อยากมีน้องคนนี้เลย แต่เมื่อเธอและน้องค่อยๆ เติบโตขึ้น เธอก็สรุปกับตัวเองว่า “ดีเหมือนกันที่ได้เป็นพี่” หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจความคิดของเด็กในวัยที่กำลังต้องการความรักและความเข้าใจของพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัว เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้คนอ่านที่เป็นผู้ใหญ่ตระหนักได้ว่าควรเอาใจใส่ “พี่มือใหม่” พร้อมๆ กับน้องที่เพิ่งเกิดใหม่ด้วยเช่นกัน และควรบอกเล่าเรื่อง “น้อง” ล่วงหน้านานพอสมควร เพื่อเตรียมความพร้อมให้ “พี่” สำนวนภาษาที่น่ารัก แสดงให้เห็นถึงความคิดคำนึงที่ไร้เดียงสาของเด็กๆ ทำให้คณะกรรมการตัดสินมีความเห็นว่าหนังสือเล่มนี้สมควรเป็น “หนังสือแนะนำ”