All Posts

Archives

  • Home
  • ปิยะพร ศักดิ์เกษม

ในวารวัน

“ในวารวัน” เป็นนวนิยายเกี่ยวกับการต่อสู้ชีวิตของตัวละครเอก ซึ่งผ่านความยากลำบากในชีวิตมาทุกรูปแบบ แต่สามารถผ่านวิกฤติทั้งมวลมาด้วยความใฝ่ดี สะท้อนแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพสังคมชนบทสมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ ๗ สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับธรรมะ และแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม

ลับแลลายเมฆ

ลับแลลายเมฆ เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมที่ร่วมสมัย เพราะเราจะได้ยินได้ฟังและได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ทางสื่อมวลชนอยู่เสมอ นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงเด็กสาวแสนสวย มีชีวิตที่อบอุ่น งดงาม อยู่ในความคุ้มครองอย่างทะนุถนอมของคุณปู่คุณย่าผู้มั่งคั่ง เธอมีคนรักเป็นหนุมหล่อร่ำรวย ฉลาดและเป็นสุภาพบุรุษ ความเหมาะสมลงตัวทุกประการราวสวรรค์สรรสร้างน่าจะทำให้ชีวิตคู่หลังแต่งงานกันมีความสุขสมบูรณ์ แต่หากเป็นเช่นนั้นนวนิยายเรื่องนี้คงไร้สาระสำหรับผู้อ่าน ท้องฟ้าที่ใสกระจ่างในตอนแรก เริ่มมีเมฆหมอกมาบดบัด  เช่นเดียวกับเด็กสาวผู้มีชีวิตงดงามราวกับล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าสมตามชื่อของเธอ เมื่อเธอย่างสู่วัยสาวเต็มตัว ก็ราวกับมีผู้เลื่อนฉากลับแลที่บดบัดความจริงแห่งชีวิตออกไป ความทรงจำเก่า ๆ เริ่มผุดพรายขึ้นมาเป็นระยะเมื่อได้เห็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึก เสียงกอไผ่เสียดสี อาวุธปืน แผงอกเปลือยเปล่า ภาพเลอะเลือน รูปเงาไร้ร้างก่อตัวทะมึนเหนือร่างเธอราวอสุรกาย รวมทั้งความรู้สึกหวาดกลัว ขยะแขยง และเกลียดชัด ที่พลุ่งขึ้นท่วมหัวใจ ทำให้เธอเกิดอาการกลัวอย่างรุนแรงจนแทบเสียสติ ร่างกายแข็งเกร็งไร้การควบคุม เธอเกิดอาการเช่นนี้ทุกครั้งที่กำลังจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนรัก อาการและความรู้สึกนี้เป็นเช่นเดียวกับฝันร้ายในวัยเยาว์ที่คุณปู่คุณย่าเฝ้าเยียวยาปลุกปลอบจนฝันร้ายนั้นห่างไป แต่อันที่จริง ฝันร้ายนั้นถูกกลบฝังให้ตกตะกอนอยู่ในจิตใจใต้สำนึก รอเวลาที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกวนให้ขุ่นขึ้นมา ในที่สุดในวันแต่งงานหญิงสาวพบว่าภาพเลอะเลือนที่เธอเห็น แต่ความรู้สึกกลัวจับใจที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ฝันร้าย หากแต่เป็นความจริงที่ถูกกลบฝังอยู่ในความทรงจำก่อนเก่า  เธอเริ่มจำประสบการณ์เลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นกับตนเองได้ แต่ไม่ทั้งหมดและเมื่อติดตามสืบค้นต่อไปก่อพบความจริงที่โหดร้ายมากขึ้นที่เกิดขึ้นกับตัวเธอและครอบครัวของเธอ เรื่องราวของการล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวละครหลักเท่านั้น ตัวละครหญิงอีกหลายตัวในเรื่องประสบกับการละเมิดทางเพศในลักษณะต่าง ๆ กัน บ้างก็รอดพ้นการข่มขืนมาได้ แต่อับอายและเจ็บช้ำ บ้างก็ถูกข่มขืนแล้วฆ่า บ้างก็ฆ่าตัวตายในภายหลังเพราะความเปราะบางของวัยเยาว์ที่ไม่อาจต่อสู้กับโลกที่โหดร้ายได้ ตัวละครเอกซึมซับกับเรื่องราวของผู้หญิงเคราะห์ร้ายมากมายที่พึ่งพาการเยียวยาจากสมาคมที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ความอนุเคราะห์แก่เพื่อนเพศหญิงด้วยกัน เธอจึงพบหนทางแห่งการใช้ชีวิตของเธอให้มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคม ลับแลลายเมฆ เป็นทั้งนวนิยายเชิงจิตวิทยาและนวนิยายเชิงสังคม “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการบำบัดรักษาคนไข้ที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ด้วยการรื้อฟื้นความจำเพื่อให้คนไข้เผชิญหน้ากับความจริงในชีวิต ไม่ใช่หลบหนีหลีกเร้นจนกลายเป็นเก็บกดความเป็นจริงนั้นไว้ให้เป็นแผลกลัดหนองในใจไม่มีวันหาย การรักษาทางแพทย์ด้วยวิธีทางจิตวิทยาจึงทำให้คนเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขตามเดิม และเนื่องจากอาการกลัวความสัมพันธ์ทางเพศเกิดจากการที่ตัวละครถูกข่มขืนซ้ำซากในวัยเด็กทำให้นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอประเด็นทางสังคมถึงการกดขี่ทางเพศด้วย (Sexual Harassment) ไปจนถึงข่มขืน เรื่องค่านิยมของสังคมที่ยกย่องผู้ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศมาก ๆ แต่เหยียดหยามผู้หญิงที่พลาดพลั้ง เรื่องระบบสังคม กฎหมาย และสื่อมวลชนที่ซ้ำเติมผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศและที่สำคัญคือผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศมักจะลงโทษตนเองด้วยความคิดว่าตนไม่มีคุณค่าอะไรเหลืออีกแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้ชี้กลวิธีในการแก้ปัญหาสังคมโดยตรง แต่ได้กระตุ้นให้คิดว่าผู้ชายไทยควรได้รับการปลูกฝังให้เคารพคุณค่าของเพศหญิง ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็ควรได้รับการปลูกฝังให้รักตนเอง และสำนึกในคุณค่าของตนเองให้มากขึ้น นอกจากจุดเด่นในด้านเนื้อหาแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังมีลักษณะเด่นทางวรรณศิลป์ ผู้เขียนวางโครงเรื่องได้กระชับ แต่มีความซับซ้อน ชวนให้ผู้อ่านติดตามความจริงที่ผู้เขียนเปิดเผยเป็นระยะ ๆ จนคลี่คลายหมดในตอนจบเรื่อง เนื่องจากเป็นนวนิยายที่มีสาระทางการแพทย์และสังคม ผู้เขียนได้ค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการอย่างมาก แต่ผู้เขียนก็นำมาย่อให้เข้าใจง่ายและสามารถสอดสลับไปกับเนื้อเรื่องได้อย่างกลมกลืน ไม่ทำลายรสวรรณศิลป์ของความเป็นนวนิยาย  ลับแลลายเมฆ จึงเป็นนวนิยายที่มีคุณค่าในมิติทางสังคมและมิติทางวรรณกรรมอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ลับแลลายเมฆ ของ “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” จึงสมควรได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด” ประเภคนวนิยาย ประจำปี 2559 นี้

ในวารวัน

ในวารวัน ผลงานของปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่กำหนดกรอบเวลาตั้งแต่พุทธศักราช 2445 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพุทธศักราช 2486 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกินระยะเวลารวม 4 แผ่นดิน หากแต่เป็น “สี่แผ่นดินฉบับบางปลาสร้อย” เพราะในวารวันเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุมชนบางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี ที่ผู้เขียนเล่าผสานไปกับชีวประวัติของแม่วัน ตัวละครเอก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่อง แม่วันเป็นตัวละครที่เป็นแบบฉบับของคนดีที่สมบูรณ์แบบ เพราะพูดดี คิดดี ทำดี ซื่อสัตย์ ขยัน มัธยัสถ์ อดทน ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ชีวิตของแม่วันต้องเผิชญกับความทุกข์ยากทั้งทางกายและใจอย่างมากมายจากแม่เลี้ยงและพี่น้องต่างมารดา ซึ่งทั้งด่าว่าเสียดสี โกงสมบัติ ขโมยทอง ปองร้อยหมายข่มขืน  จนถึงโพนทะนาให้เสียชื่อ แม่วันลูกกำพร้ากลับเป็นเหมือนเหล็กทนไฟ ยิ่งทุกข์ยิ่งแข็งแกร่ง สามารถเลี้ยงชีวิตตามลำพังหลังย่ายายตายด้วยการรับจ้างทำงานทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ คุณความดีของแม่วันได้รับการตอบสนองในที่สุด ได้แต่งงานกับผู้ชายที่ดี สร้างฐานะได้มั่นคง สุดท้ายสามีเสียชีวิตไปก่อน แม่วันก็เป็นผู้หญิงเก่งที่สามารถดูแลลูก ๆ บริวารและกิจการอาชีพได้อย่างไม่บกพร่อง ส่วนแม่เลี้ยงและพี่น้องต่างมารถาทั้งของฝ่ายแม่วันและนายเทิดสามีต่างก็มีชีวิตตกต่ำ พินาศฉิบหายไปตามกรรม นวนิยายเรื่องนี้จึงมีแก่นเรื่องแสดงให้เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือคนดีย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ การสร้างตัวละครเป็นคนดี คนชั่ว ชัดเจน ก็จัดเป็นตัวละครแบบฉบับเช่นเดียวกับแก่นเรื่อง แต่จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การสอดร้อยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้าไปในเนื้อหาเรื่องราวของตัวละครได้อย่างกลมกลืน  ทั้งเรื่องประเพณี อาชีพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำนานสถานที่  โบราณสถาน ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น การเสด็จประพาสบางปลาสร้อยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีเสด็จประพาสเมืองชลบุรี เป็นต้น ในวารวันจึงบันทึกอดีตไว้ เป็นนวนิยายที่ให้อรรถรสและมีวรรณศิลป์

สะพานแสงคำ

สะพานแสงคำเป็นนวนิยายรัก ซึ่งผู้เขียนนำเรื่องราวในอดีตช่วงที่รัฐต่าง ๆ แถบล้านนากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ เมื่อลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกแผ่มาถึงพร้อม ๆ กับการขยายอิทธิพลของรัฐใหญ่อย่างสยาม มาโยงใยเข้ากับยุคปัจจุบันซึ่งผู้คนต่างก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อดำเนินชีวิตในโลกที่ลัทธิทุนนิยมและวัตถุนิยมกำลังครอบงำอยู่   โดยมี “สะพานแสงคำ” ในภาพเขียนภาพหนึ่งเป็นทางเชื่อม เมื่อใดที่เมษาริน ตัวละครเอกของเรื่องก้าวข้ามสะพานนั้น เธอก็ได้เดินทางย้อนเวลาไปกว่าร้อยปี ได้เข้าไปเป็นพยานร่วมรู้เห็นเส้นทางชีวิตของ “คำประพาฬ”  หรือ “เจ้าเอื้อย” เจ้าหญิงแห่งรัฐล้านนา ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อยจนเติบใหญ่เป็นหญิงสาวผู้งามพร้อม และในขณะเดียวกันก็ได้ร่วมสัมผัสกับโลกรอบตัวของเจ้าหญิง  ซึ่งมีทั้งความขัดแย้งทางการเมือง การช่วงชิงผลประโยชน์ ความรัก ความแค้น ความเกลียดชัง  และการทรยศหักหลัง      การเดินทางข้าม “สะพานแสงคำ”  กลับไปสู่อดีตแต่ละครั้ง  ไม่เพียงทำให้ “เมษาริน” (และผู้อ่าน)ได้รับรู้และระทึกใจไปกับชะตากรรมของเจ้าเอื้อยรวมทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองของยุคนั้นเท่านั้น    แต่ยังทำให้เธอมองผู้คนและภาวะการณ์ที่แวดล้อมตัวเธออยู่ในโลกปัจจุบันด้วยทัศนะที่แจ่มกระจ่างขึ้นเรื่อย ๆ  จนนำไปสู่การเข้าใจ “ความจริงและความลวง” ในตอนสุดท้ายของเรื่อง ปิยะพร ศักดิ์เกษม ได้ค้นคว้าหาข้อมูลและใช้ความสามารถในเชิงวรรณศิลป์พรรณนาภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยนั้นอย่างมีชีวิตชีวาและสมจริง ทั้งยังสอดรับกับเรื่องราวและตัวละครที่เธอจินตนาการขึ้นได้แนบเนียนลงตัว   ทำให้สะพานแสงคำ เป็นนวนิยายรักข้ามภพข้ามเวลาที่มีเสน่ห์ชวนติดตาม สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551