เหมือนหนึ่งมนุษย์มีเลือด คนละสี
รวมกวีนิพนธ์ เหมือนหนึ่งมนุษย์มีเลือดคนละสี ของ ธาร ธรรมโฆษณ์ นำเสนอเรื่องราวของมนุษยโลกที่มีความขัดแย้งเข่นฆ่ากันนำไปสู่สงครามด้วยมายาคติที่เห็นว่าเป็นวีรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยร่วมสมัยที่มีทั้งความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรงในภาคใต้ เนื้อหาแบ่งเป็นสองตอนคือ เหมือนหนึ่งมนุษย์และมีเลือดคนละสี ด้านกลวิธีการประพันธ์ รวมบทกวีเรื่องนี้มีความโดดเด่นที่นำรูปแบบกวีนิพนธ์พื้นบ้านคือเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้มาเรียงร้อยเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่สืบเนื่องสัมพันธ์กัน ในแต่ละบทจะยกเพลงกล่อมเด็กพื้นบ้านขึ้นต้นและตามด้วยบทกลอนที่เชื่อมโยงเนื้อหาในเพลงกล่อมเด็กมาสู่เหตุการณ์ในสังคมไทยร่วมสมัยและจบบทด้วยการให้แง่คิด ทัศนะที่ เฉียบคม เป็นกลวิธีการประพันธ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถสืบสานมรดกวัฒนธรรม ทางวรรณศิลป์ที่เป็นมุขปาฐะมาถ่ายทอดประยุกต์ เนื้อหาให้เล่าเรื่องร่วมสมัยและยังให้ทางออกของความขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยแนวคิดทางพุทธศาสนาโดยการลงจบด้วยบท “แผ่เมตตา”
กลางทะเลขี้ผึ้ง
กลางทะเลขี้ผึ้ง ของ ธาร ธรรมโฆษณ์ เป็นกวีนิพนธ์ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตในวัยเยาว์ มีกลิ่นอายของท้องถิ่น คติชนวิทยา ผนวกเข้ากับปรัชญาทางพระพุทธศาสนาที่ผู้เขียนเคยใช้ชีวิต ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ โดยใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ โคลง และเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ เป็นเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์ สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นไปของสภาพสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยผู้เขียนมีความเพียรพยายามเน้นให้เข้าถึงสัจธรรม แม้ชีวิตจะเหมือนการเดินทางกลางทะเลขี้ผึ้ง ให้มีพลังแหวกว่ายไปถึงแก่นแห่งหลักธรรม