All Posts

Archives

  • Home
  • กฤษณา อโศกสิน

เวียงแว่นฟ้า

เป็นนวนิยายที่นำข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนามาปรุงแต่งเป็นนวนิยายที่มีกลิ่นอายของสังคมภาคเหนือได้อย่างละเมียดละไม การดำเนินเรื่องชวนให้ติดตามและสมจริง สอดแทรกวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเจ้านายกับสามัญชนได้อย่างแนบเนียนแสดงถึงการอยู่ร่วมกันของคนต่างขั้นในสังคม ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน เอื้อประโยชน์ต่อกันในภาพรวม การสร้างตัวละครเน้นการรู้จักคุณค่าของตนเอง การบรรยายและการพรรณนาก่อให้เกิดจินตภาพที่ขัดเจนด้วยภาษาที่งดงามและสมบูรณ์ มีความโดดเด่นในด้านวรรณศิลป์

น้ำเล่นไฟ

นวนิยายเรื่องน้ำเล่นไฟของกฤษณา อโศกสิน นำเสนอคุณค่าของอาชีพเกษตรกรรม ผ่านเรื่องราวของครอบครัวเกษตรกรหัวก้าวหน้าไปพร้อมกับครอบครัวเศรษฐีเจ้าของตลาดสดสมัยใหม่  ทั้งสองครอบครัวมีลักษณะที่เหมือนกันคือประกอบอาชีพด้วยจิตใจมุ่งมั่น ขยันขันแข็ง อดทน และดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์ อดออม ประกอบกับใช้สติปัญญาความรู้ที่สืบทอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และนำแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพและดำรงตน ให้พอดี พอประมาณ และพอใจ อันสร้างความสุขแก่บุคคลและสังคมอย่างยั่งยืน เส้นทางของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าคุณภาพ ปลอดสารพิษ ที่ใส่ความรักความอาทรลงในทุกพืชผลและพื้นดิน รับผิดชอบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม จึงมาบรรจบกับนายทุนเจ้าของตลาดผู้มีเจตนารมณ์ในการจำหน่ายสินค้าดี สร้างเสริมคุณภาพชีวิตแก่ผู้บริโภค พร้อมกับดำเนินธุรกิจของตนให้เป็นตลาดสดครบวงจรที่สะอาด สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ นายทุนและเกษตรกรดูเหมือนจะเป็นคู่ตรงข้าม โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เอาเปรียบ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียเปรียบ แต่ในนวนิยายเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่แลดูเหมือนอยู่คนละขั้ว คนละฝ่าย อาจจะไม่ใช่สิ่งที่แย้งกัน หากแต่อาจจะเป็นสิ่งที่เสริมให้อีกฝ่ายหนึ่งโดดเด่นขึ้นเมื่อความสัมพันธ์นั้นเดินไปตามธรรมะ ตามธรรมชาติ น้ำเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับไฟ หากแต่แสงเจิดจ้าของไฟที่ส่องกระทบน้ำทำให้เกิดประกายระยิบระยับ คลื่นน้ำและแสงไฟจึงเล่นล้อกันไปมาเป็นภาพงดงามจับใจ ดังข้อความที่ผู้ประพันธ์บรรยายไว้ว่า “เมื่อยามลมพันมาพาเอาระลอกน้ำในนากุ้งแล่นละลิ่วพลิ้วตามกัน ครั้นกระทบแสงอาทิตย์อันกราดกล้า ก็ยิ่งสะท้อนประกายพาให้น้ำระยิบระยับจับนัยน์ตามจำเริญใจ” ดังนั้น นวนิยายเรื่องน้ำเล่นไฟจึงเสนอให้เห็นว่านายทุนเกษตรกรต่างต้องพึ่งพาเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกัน อันเป็นการดำเนินเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมคุณภาพของชีวิต คุณภาพของสังคม คุณภาพของประเทศชาติ และคุณภาพของประชาคมโลกในที่สุดถึงแม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะนำเสนอประเด็นทางสังคมที่หนักหน่วง แต่ผู้ประพันธ์ก็มิได้ละเลยเสน่ห์ของนวนิยายที่ชวนอ่านด้วยการสร้างปมขัดแย้งในครอบครัว ปมขัดแย้งในใจของตัวละคร และความไม่ลงรอยกันของตัวละครคู่เอก ซึ่งในที่สุดก็คลี่คลายลงด้วยดี เพราะมีความรักและอุดมคติไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยเหตุที่นวนิยายเรื่องน้ำเล่นไฟมีความโดดเด่นในด้านเนื้อหาแนวคิดที่สร้างสรรค์ การสร้างตัวละครที่มีชีวิตชีวา การนำเสนอรสอารมณ์ที่บันเทิงใจ ภาษาและกลศิลป์ที่เนียนงามด้วยฝีมือของผู้ประพันธ์ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2554

ลายสลักอักษรา

ลายสลักอักษรา เป็นสารคดีอัตชีวประวัติที่สะท้อนประวัติศาสตร์สังคม ความเป็นไปของวงการวรรณกรรมไทยในยุคหนึ่ง วิธีนำเสนอใช้สำนวนภาษคล้ายนวนิยาย เปิดเผยวิธีบ่มเพาะการเขียน ปัญหา และแนวทางแก้ไขในการทำงาน ถือเป็นประสบการณ์ตรงของนักเขียนที่ประสบความสำเร็จ ให้อรรถรสในการอ่านที่หลากหลายและเป็นแบบอย่างในการเขียนที่ดี  

กระจกขอบทอง

กระจกขอบทอง เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของตระกูลช่างทำทองในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 จากรุ่นสู่รุ่น ที่โลดแล่นตามเส้นทางที่บรรพบุรุษได้วางไว้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งลิขิตวิถีชีวิตตนเองโดยไม่ยอมแพ้ความทุกข์หรือท้อถอยต่อโชคชะตา กฤษณา อโศกสิน ได้แสดงสัญญะผ่าน “กระจก” ให้ตัวละครเอกเข้าใจและตระหนักรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาแต่ละช่วงชีวิตทีละมิติ ดังนี้ มิติแรก ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อมองกระจก สิ่งที่สะท้อนออกมาคือเงาของตัวตนที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพบุรุษ มิติที่สอง เงาสะท้อนย่อมมีทั้งความงามและความบกพร่อง ทำให้แยกแยะได้ว่าควรจะเก็บอะไรไว้ หรือทิ้งอะไรไป ความเข้าใจนี้ทำให้เห็นปุถุชนวิสัยของบรรพบุรุษที่มีทั้งดีและร้าย มิติที่สาม การสั่งสมเกียรติยศและคุณงามความดีของบรรพบุรุษเปรียบเสมือนขอบทองของกระจกกระจกอาจหมองไปตามกาลเวลา จึงต้องหมั่นเพียรเช็ดถูรอยด่างดำที่กระจกและปิดทองที่ขอบเพื่อส่งมอบกระจกขอบทองเป็นสมบัติให้ลูกหลานรักษาสืบไป นอกจากสะท้อนความหมายของการดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจและยอมรับข้อบกพร่องต่าง ๆ แล้ว  ยังแสดงให้เห็นความองอาจและเด็ดเดี่ยวของมนุษย์ที่ใช้คุณธรรมกำกับนำพาชีวิตไปสู่ทิศทางที่ดีได้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยาย จึงมีมติให้ กระจกขอบทอง ของ กฤษณา อโศกสิน สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ  ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2560