คำ | สาร | ภาพ
คำ | สาร | ภาพ ของ วรพจน์ ทรัพย์เมฆ เป็นรวมบทกวีฉันทลักษณ์หลากรูปแบบ ทั้งโคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน ร่าย ซึ่งผู้เขียนวางแนวคิดรูปแบบและเนื้อหาสอดคล้องกัน เปิดเล่มด้วยเรื่องราวดึกดำบรรพ์ในสำนวนที่ชื่อ ‘ระหว่างบรรทัดก่อนประวัติศาสตร์’ ก่อนจะเข้าสู่ ‘กรุงเก่ากำสรด’ ในบทถัดมา ขณะเดียวกัน ‘คำ’ ที่นำมาใช้ส่วนใหญ่เป็นภาษาที่ใช้ในกวีนิพนธ์โบราณ แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนมีคลังคำและมีพื้นฐานด้านวรรณคดี โดยบางชิ้นงานได้นำ ‘โคลงกำสรวล’ และ ‘โคลงนิราศนรินทร์’ มาต่อยอดในผลงานของตนเอง ทั้งนี้ เรื่องราวในเล่มไม่จำเพาะเพียงสมัยอยุธยา แต่ไล่เรียงมาสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงยุคปัจจุบันปรากฏการณ์โรคระบาด เนื้อหาค่อนข้างหลากหลาย บางสำนวนน้ำเสียงเชิดชูกวีผู้มาก่อน บางชิ้นบูชาหนังสือ อีกด้านหนึ่งก็เสียดสีสังคม ประชดประชันคนไม่ขวนขวายใฝ่รู้ ส่วนผู้เขียนเองมีอหังการ์ความเป็นกวีซ่อนอยู่ แต่โดยรวมอารมณ์บทกวีค่อนไปทางหม่นเศร้า ด้านความคิดสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งชื่อชุด ‘คำ | สาร | ภาพ’ นัยหนึ่งถือเป็น ‘คำสารภาพ’ แนวทางกวีของผู้เขียน อีกประการสำคัญ ผู้เขียนต้องการสื่อสารแยกเป็น ๓ พยางค์เพื่อบ่งบอกความหมายของ ‘คำ-สาร-ภาพ’ ในตัวเองอย่างชัดเจน ดังบทส่งท้ายที่ว่า คำ คือภาษาภายใน สาร หลั่งไหลเนื้อนามความรู้สึก ภาพ สะท้อนซ้อนคิดฝันอันล้ำลึก คำ-สาร-ภาพ ตกผลึกสำนึกกวี คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ คำ | สาร | ภาพ ผลงานของ วรพจน์ ทรัพย์เมฆ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
ฤดูฝูงผึ้งป่าอดอยาก
ฤดูฝูงผึ้งป่าอดอยาก ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี เป็นรวมบทกวีแต่งด้วยกลอนสุภาพ มีโคลงสี่สุภาพแทรกอยู่บ้าง เนื้อหาแบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาคแรก ยิ้มที่ควรจะเป็นของเธอ เนื้อหาเป็นการสำรวจและทบทวนตนเองหลังผ่านประสบการณ์ในชีวิตช่วงที่เติบโต มีทั้งช่วงเวลาที่สุขและเศร้า เหงาและโดดเดี่ยว การกลับมาเพ่งพินิจตัวตนในบท “ยิ้มให้คนตรงหน้ากระจกบ้าง” “เราจะยิ้มอีกครั้งหลังร้องไห้” และ “วันนี้จะเป็นอดีตของวันพรุ่งนี้” ทำให้เข้มแข็งและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนมีและมั่นใจ เพราะ “วันนี้จะเป็นอดีตของพรุ่งนี้ จงโอบกอดที่เธอมีที่เธอเป็น” ภาคที่สอง ขายโลกก็ขายชีวิต นำเสนอโลกที่ธรรมชาติถูกทำลายและทำร้ายด้วยน้ำมือมนุษย์ โลกยุคใหม่ที่ล้วนเต็มไปด้วย “แม่ค้าป่าออนไลน์” จนฝูงผึ้งในป่าอดอยาก ธรรมชาติเริ่มแปรปรวนเพราะขาดความสมดุล ผู้ประพันธ์เรียกร้องให้มนุษย์ร่วมกันหยุดการ “ขาย” หรือทำลายธรรมชาติเพื่อให้โลกธรรมชาติกลับสู่สมดุล “จงเป็นผึ้งช่วยดอกไม้กับดอกไม้ เพื่อต่อลมหายใจให้มวลมนุษย์” ฤดูฝูงผึ้งป่าอดอยาก เด่นด้านการนำเสนอแนวคิดเปรียบเทียบ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ผู้ประพันธ์สามารถสรรคำมาใช้ได้อย่างมีวรรณศิลป์ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ฤดูฝูงผึ้งป่าอดอยาก ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
เราอาจกลัวและเพรียกถามทางกลับบ้าน
เราอาจกลัวและเพรียกถามทางกลับบ้าน รวมกวีนิพนธ์ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคีเป็นงานกวีนิพนธ์ใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ เป็นหลัก มีบทกวีวัจนะและกลอนเพลงพื้นบ้านแทรกอยู่เล็กน้อย แบ่งเนื้อหาสาระในเล่มเป็น ๒ ภาค ภาคที่ ๑ เราจากบ้านนานไกลเพื่อใกล้ฝัน เป็นการบอกเล่าเรื่องของชีวิตที่จากบ้านเกิดเมืองนอน มาต่อสู้กับวิถีสังคมเมืองกรุงที่ตนเองไม่คุ้นเคย ต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ดังความตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า “ฉันคือผู้โดยสารผ่านวังวน กระเสือกกระสนทนข้ามฝ่าความหนาว หนาวทรงจำทิ่มแทงใต้แสงดาว หนาวตะวันเคยผ่าวหนาวน้ำตา” เรื่องราวประสบการณ์ที่ผ่านพบ ประเมินภาพรวมออกมาคืออยากกลับบ้านมีโวหารงดงาม มีศิลปะและเชิงชั้นวรรณศิลป์ ภาคที่ ๒ เพื่อฝ่าฟันทางเก่ากลับเข้าบ้าน กล่าวถึงเรื่องราวสิ่งที่ได้พบเห็น และบทสรุปว่า “เราจากบ้านนานไกลเพื่อใกล้ฝัน และฝ่าฟันทางเก่ากลับเข้าบ้าน มากราบรูป ธูปหนึ่งดอก บอกวิญญาณ ว่าวันนี้ลูกหลานกลับบ้านแล้ว” ในส่วนนี้กวีทำได้อย่างมีเชิงชั้นวรรณศิลป์ ทั้งด้านฉันทลักษณ์ถูกต้องตามกฎเกณฑ์เนื้อหาสาระเหมาะสมกลมกลืน การใช้ถ้อยคำได้รสคำ รสความ รวมบทกวี เราอาจกลัวและเพรียกถามทางกลับบ้าน กวีเสนอแนวคิดและเป้าหมายชัดเจน ภาษาเรียบง่ายเป็นรสแห่งถ้อยคำที่นำมาร้อยกรองให้เกิดความรู้สึกและจินตภาพได้ เนื้อหาสาระมีสัมพันธภาพตามหัวข้อที่กำหนด คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ เราอาจกลัวและเพรียกถามทางกลับบ้าน ผลงานของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
ละไว้ในฐานที่คิดถึง
ละไว้ในฐานที่คิดถึง ของ แทนชีวา เป็นกวีนิพนธ์ ใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก มุ่งเน้นการถกแถลง “สาระแห่งชีวิต” เป็นเนื้อหาแห่งบทกวี โดยใช้ภาษาที่เรียบง่าย มีความฝัน ของคนหนุ่มสาว การเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตนเองและสังคมที่ผ่านมา เพื่อตั้งคำถาม และให้ คำตอบบางประการ การสร้างประเด็นความคิด เปิดโอกาสให้ผู้อ่านแทรกเข้าไปอยู่ในบทกวีได้ด้วยท่าที ของกวีเป็นดั่งการสนทนาถึงการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่ยังมีคำตอบไม่แจ่มชัด ต่างจากรุ่น บรรพบุรุษ ซึ่งมีชีวิตชัดเจนนับตั้งแต่ออกจากระบบการศึกษา ละไว้ในฐานที่คิดถึง จึงเป็นการคิดใคร่ครวญ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ในการ แสวงหาความหมายของชีวิต ในขณะถูกกระแสโลกสมัยใหม่เหวี่ยงแต่ละคนออกไปคนละทิศ ละทาง แต่ความรักความผูกพัน ความฝัน และความดี อันรวมเป็น “ความคิดถึง” จะยังคง ส่งทอดและเป็นกำลังใจแก่กัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ละไว้ในฐานที่คิดถึง ของ แทนชีวา ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
พิชิตโควิดด้วยจิตกวี
“พิชิตโควิดด้วยจิตกวี” รวมงานร้อยกรองของ ด.ญ.รินรัก แซ่โค้ว ยุวกวีที่มีมานะมุ่งมั่นเรียงร้อยสร้อยอักษรอันงดงามออกมาเป็นงานประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์ กาพย์ยานี ๑๑ เนื้อหาสาระกล่าวถึงสภาพเหตุการณ์ ข่าวสาร ในช่วงที่ไวรัสโควิดกำลังระบาดหนักทั่วโลก เป็นงานเขียนบริสุทธิ์ที่พรั่งพรูออกมาจากพัฒนาการทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของผู้เขียน สำนวนภาษา เรียบง่ายเหมาะสมกับวัย เช่น “ไข้หวัดโคโรน่า อยากบอกว่าน่ากลัวจัง แค่หนูนั้นได้ฟัง เป็นข่าวดังที่โหดร้าย” “หน้ากากอนามัย ฉันสงสัยเป็นนักหนา ทำไมมีราคา แพงนักหนักหนาแพงเกินไป หรือผ้าทำจากทอง ฉันก็มองอย่างสงสัย ดูแล้วก็ไม่ใช่ แล้วทำไมขายแพงจัง” “หมอคือเทวดา นางฟ้าคือพยาบาล พวกเราควรสงสาร พยาบาลและคุณหมอ” พลังการเขียนด้วยใจรักงานวรรณศิลป์ของเด็กหญิงวัยแปดขวบที่กำลังมีพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจ เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง นับเป็นการเริ่มต้นภาษากวีที่ซื่อใส รอวันบ่มเพาะประสบการณ์ต่อไป ผู้เขียนตั้งใจเขียนตามความรู้สึกของตนได้อย่างมีลีลา ความหมายแจ่มแจ้งชัดเจน นับเป็นงานสร้างสรรค์ที่น่าชื่นชม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบเกียรติบัตรรางวัลเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ ด.ญ.รินรัก แซ่โค้ว ผู้เขียน “พิชิตโควิดด้วยจิตกวี” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจแก่เยาวชนต้นแบบการสืบสานขนบวรรณศิลป์ของไทย
แผนแผ่นพ่างเมืองแมน
รวมบทร้อยกรอง “แผนแผ่นพ่างเมืองแมน” ของ ปรัชญา พวงเพ็ชร นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับประสบการณ์และรสชาติชีวิต โดยแบ่งเป็น ๔ ภาค ดังนี้ ปฐมภาค แผนแผ่นรักแห่งอักษรา กล่าวถึงการถวายความจงรักภักดีพระบาทสมเด็จพระบรม ชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร แรงบันดาลใจจาก “คุณยายนักเล่า” ความศรัทธาในภาษาและบทกวี รวมทั้งบทกราบครูกลอนสุนทรภู่ ทุติยภาค ผืนแผ่นฟ้าแห่งความฝัน กล่าวถึงความฝันและ “ความอยากเป็น” ในรูปแบบต่าง ๆ ตติยภาค ร้อยรักสลักประพันธ์ กล่าวถึงความรักหลากหลายรูปแบบ ทั้งสมหวังและผิดหวัง รวมทั้งความรักต่อผู้มีพระคุณ จตุรภาค หยัดยืนยันโลกความจริง นำเสนอการเผชิญปัญหา อุปสรรคและการยอมรับความเป็นไปในโลก ด้านรูปแบบคำประพันธ์ ส่วนใหญ่ใช้กลอนสุภาพ นอกจากนี้ยังมีกลอนดอกสร้อยและสักวา กาพย์ยานีและโคลงสี่สุภาพ ผู้เขียนแสดงถึงภูมิหลังการอ่านวรรณคดีโบราณ เช่น นิราศนรินทร์และนำมาประยุกต์ใช้ด้วยความหวังที่จะสืบสานกานท์กวี คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทร้อยกรอง “แผนแผ่นพ่างเมืองแมน” ผลงานของ ปรัชญา พวงเพ็ชร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียน รุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
หมอกสางม่าน
รวมบทกวี “หมอกสางม่าน” ของ นนทพัทธ์ หิรัญเรือง ประกอบด้วยบทกวี ๑๗ บท ใช้คำประพันธ์ประเภทโคลงและกลอน รวมทั้งกลอนเพลงพื้นบ้าน นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัว ทั้งความรุนแรงทางร่างกายและวาจาระหว่างพ่อแม่กับลูก ปัญหาครอบครัวแตกแยกที่ทำให้ปู่ย่าตายายกลายเป็นผู้ทำหน้าที่เลี้ยงดู ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน รวมทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษา และปัญหาความขัดแย้งทางความคิดในสังคมไทย ผู้เขียนแบ่งเนื้อหาเป็นสองภาค “ภาคแรก ข้างในหมอก” กล่าวถึงปัญหาที่แฝงเร้นในครอบครัว โรงเรียนและสังคมเปรียบเสมือนม่านหมอกที่ปิดบังปัญหาที่แฝงเร้น ส่วน “ภาคหลัง ข้างนอกม่าน” เมื่อม่านหมอกจางไป ปัญหาก็ปรากฏเด่นชัดและคลี่คลาย ทุกคนจึงควร “สางม่านหมอก” แห่งปัญหาเพื่อเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งที่ดีกว่า คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “หมอกสางม่าน” ผลงานของ นนทพัทธ์ หิรัญเรือง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
เพลงรักจากตักแม่
“เพลงรักจากตักแม่” กวีนิพนธ์ ของ วัชระ บุญทานัง เป็นผลงานที่มุ่งเน้นให้เห็นถึงความรัก ความผูกพัน ที่ “ลูก” มีต่อ “แม่” อย่างลึกซึ้ง โดยกล่าวถึงความสำคัญและความสัมพันธ์ที่มีต่อแม่ในแง่มุมต่าง ๆ ผ่านรูปแบบของครอบครัวที่หลากหลาย ผู้เขียนสามารถใช้ภาษาได้อย่างเหมาะสม มีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ไม่น้อย หลายบทมีสำนวนกินใจ หลายวรรคก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ กระทบใจได้เป็น อย่างดี “แม่ทำทุกเรื่องราวเกินกล่าวอ้าง เป็นทุกสิ่งทุกอย่างอย่างยิ่งใหญ่ แม้แม่ถูกกำหนดบทบาทใด แต่หัวใจยังเป็นแม่อย่างแท้จริง” เนื้อหา “เพลงรักจากตักแม่” ครอบคลุมและสอดคล้องกับชื่อปกที่กำหนดแนวคิดสำคัญของเล่มไว้ จึงทำให้เกิดเอกภาพในด้านเนื้อหา ท่ามกลางความหลากหลายของฉันทลักษณ์และอารมณ์ของเรื่องที่นำมาร้อยเรียง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “เพลงรักจากตักแม่” ผลงานของ วัชระ บุญทานัง ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
สถานกาลบังคับ
“สถานกาลบังคับ” ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี เป็นรวมบทกวีที่สะท้อนภาพชีวิตของผู้คนและสรรพสิ่งบนโลกควบคู่ขนานไปกับกาลเวลา เหตุการณ์ความเป็นไปของผู้คน ถูกบีบรัดด้วยกาลเวลา ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มองเห็นเป็นความสุข ความเศร้า ความทรงจำ และความดีงาม แม้สุดท้ายในความเป็นปัจเจกบุคคลจะจบลงด้วยการจากลาทุกอย่าง มิได้โอบกอดสิ่งใดเอาไว้ แต่ผลงาน การกระทำ อันเป็นคุณแก่โลกเท่านั้นที่จะยังปรากฏอยู่ในท่ามกลางวันเวลาที่ดำเนินต่อไป ผลงานชุดนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ภาคส่วน คือส่วนที่เป็นตัวตนของข้าพเจ้า “ภาค ๑ ข้าพเจ้าในห้วงการณ์-เวลา” กับส่วนที่สัมพันธ์กับสังคม “ภาค ๒ กาลเวลาต่างดุ่มเดินไปยังสังคม” ทั้ง ๒ ภาค เป็นภาพการมองโลกจากตัวตนของข้าพเจ้า แสดงให้เห็นว่าชีวิตของคนยังผูกพันกับคติความเชื่อ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และความฝันเพื่อหาทางออกให้กับชีวิต ซึ่งกาลเวลาผ่านไปทุกขณะเป็นพลังบังคับให้เดินหน้าไปสู่ความปรารถนานั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “สถานกาลบังคับ” ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
ดวงตาหิ่งห้อย
“ดวงตาหิ่งห้อย” ของ “ปริม” เป็นหนังสือในโครงการ “วิธีสมุดบันทึก” ที่ส่งเสริมให้เยาวชนเขียนบันทึกทุกวัน ผู้เขียนซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุเพียง ๑๒ ปี เลือกใช้รูปแบบคำประพันธ์ประเภทโคลงในการจดบันทึกประจำวันโดยแต่งโคลงวันละ ๒ บททุกวัน นอกจากโคลงสี่สุภาพแล้ว บางวันใช้โคลงกลบท ได้แก่ กลบทบุษบงแย้มผกา กลบทจาตุรทิศ โคลงกระทู้ และโคลงโบราณมหาสินธุมาลี แสดงถึงความรักในการประพันธ์และความเพียรในการสืบสานรูปแบบคำประพันธ์โบราณของเยาวชนซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ “เด็กหญิงศุภาพิชญ์ พรอำนวยผล” ผู้ประพันธ์ “ดวงตาหิ่งห้อย” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยในการเป็นเยาวชนต้นแบบการสืบสานขนบวรรณศิลป์ของไทย
ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต
ต้นฉบับรวมบทกวี “ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต” ของ “นนทพัทธ์ หิรัญเรือง” เป็นงานฉันทลักษณ์หลากรูปแบบ อย่างเช่น กลอนแปด กลอนหก กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ โดยผู้เขียนได้แบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกตั้งชื่อ ‘ชีวิตในพรุ่งนี้’ ส่วนช่วงหลัง ‘พรุ่งนี้ในชีวิต’ ซึ่งเล่นคำสลับกันอย่างลงตัว แม้ว่างานชุดนี้เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่เมื่อนำมารวมกันถือว่าเข้าชุดในความหมายของ ‘พรุ่งนี้’ ที่ทำให้ผู้อ่านมีความหวัง และเมื่อชีวิตมีความหวัง กำลังใจก็ตามมา ด้านรูปแบบแม้บางสำนวนอาจไม่สมบูรณ์ในฉันทลักษณ์ แต่ด้านเนื้อหาและลีลาวรรณศิลป์ถือว่ามีความโดดเด่น เรื่องราวส่วนใหญ่ผู้เขียนมักหยิบเอาประสบการณ์รอบ ๆ ตัวมาถ่ายทอด อาทิ จากการอ่านหนังสือวรรณกรรม ดังตัวอย่าง… “แสนล้านเล่มไหลหลามข้ามสะพาน โดยบรรทุกจิตวิญญาณแต่โพ้นเหย้า ถ่ายทอดบรรทัดส่งบันทึกสำนึกเนา ผลัดกันเล่าเปลี่ยนกันรักในวรรควลี” หรือประสบการณ์จากการเป็นครูบรรจุใหม่… “เช้าแรกหลังเลิกแถวหน้าเสาธง บางพะวงวับสลายฉายยิ้มปรี่ ”รีบขึ้นสอนเถอะครูขาอย่าช้าที’ ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต” ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รวมบทกวี “ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต” ของ “นนทพัทธ์ หิรัญเรือง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ต้นไม้ทุกต้นเคยเป็นต้นกล้า
“ต้นไม้ทุกต้นเคยเป็นต้นกล้า” กวีนิพนธ์ ของ “ณรงค์ชัย แสงอัคคี” ที่ตัวชื่อบทบ่งบอกถึงมิติความคิดต่ออนาคต เหมือนแม้ว่าวันนี้อาจจะมีปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ อยู่ แต่สังคมในอนาคตจะเป็นสังคมที่มีความแข็งแรง ประกอบด้วยเนื้อหา ๓ ภาค คือ ภาคที่ ๑ เพาะพันธุ์ ภาคที่ ๒ เติบต้น และ ภาคที่ ๓ โรยรา ภาคที่ ๑ เพาะพันธุ์ ได้แสดงให้เห็นภาวะแห่งการเริ่มต้นของชีวิต ชีวิตเป็นดั่งนาฬิกาที่เดินหน้าไปตามเวลา เพื่อเรียนรู้สู้กับอุปสรรคที่เหมือนแสงเริงแรงแห่งตะวัน ภาคที่ ๒ เติบต้น ผู้เขียนใช้ความคิด จินตนาการ เพื่อเรียนรู้โลกอย่างมั่นคง เรียนรู้ด้วยการเป็นผู้ให้ไปพร้อมกับการเติบโต ไม่เร่งร้อนรีบเร่งไปสู่จุดหมาย จนลืมรายละเอียดของชีวิต ภาคที่ ๓ โรยรา เป็นภาคที่ใช้สายตาประมวลภาพชีวิต ที่อาจต้องเผชิญกับอุปสรรค แต่ขอให้มีหัวใจจะฝ่าไป แม้แท้แล้วจะเจอกับคำตอบในชีวิตหรือไม่ก็ตาม “ต้นไม้ทุกต้นเคยเป็นต้นกล้า” เป็นบทกวีแห่งความคิดหวัง ด้วยประสบการณ์ของผู้เขียนในระดับเยาวชน จึงมีความหวั่นหวาด แต่เต็มไปด้วยกำลังใจ แม้เป้าหมายไม่อาจบอกได้ชัดว่าคือสิ่งใด แต่ความรู้สึกแบบกวีย่อมสัมผัสได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอันเดียวกับชีวิตจริงที่เราต้องเผชิญหน้า จึงต้องใช้จิตใจอันเติบโตและแข็งแรงเพื่อพบกับความจริงแห่งชีวิต ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ต้นไม้ทุกต้นเคยเป็นต้นกล้า” ผลงานของ “ณรงค์ชัย แสงอัคคี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด กวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน
“เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน” รวมกวีนิพนธ์ของ “กิตติ อัมพรมหา” เป็นงานกวีนิพนธ์ใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ จำนวน ๒๐ สำนวน แบ่งเนื้อหาสาระในเล่มเป็น ๓ ภาค ภาค ๑ ลมหายใจของเรา เป็นการบอกเล่าเรื่องของชีวิตที่เคลื่อนไหวไปกับบริบทรอบข้าง “ขณะเราขณะโลกนั้นเคลื่อนไหว ยังคงเดินทางไกลไปเบื้องหน้า ในอ้อมกอดเนิ่นนานของกาลเวลา โอบเราไว้ตลอดมาตลอดไป” สิ่งที่ผู้เขียนได้พบเห็นมีวิถีเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์กับพัฒนาการของชีวิต ความฝัน ความหวัง ความรัก ความศรัทธาและความอบอุ่น ระลึกรับรู้และเห็นคุณค่า “ลมหายใจเข้าออกบอกระยะ ทุกขณะชีวิตที่เคลื่อนไหว เลือดเนื้อชีวิตและจิตใจ มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้” ภาค ๒ ใต้แสงเงายุคสมัย เรื่องราวการเจริญเติบโตของตนเองกับพัฒนาการในยุคนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ในส่วนนี้ผู้เขียนทำได้อย่างมีเชิงชั้นวรรณศิลป์ ทั้งด้านฉันทลักษณ์ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เนื้อหาสาระเหมาะสมกลมกลืน การใช้ถ้อยคำได้รสคำ รสความ เช่น บทอาขยานกล่อมโลก : ยุคสมาร์ทโฟน การหายตัวไปของม้าก้านกล้วย ในรังนอนของหนอนสายพันธุ์ใหม่ และวันที่ตุ๊กตาไขลานหยุดไขลาน ภาค ๓ ในนิยามโลกความจริง เป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียน กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของสังคมโลกความเป็นไปของยุคสมัย “โลกยังคงเร่งรุดไม่หยุดนิ่ง คือนิยามความจริงแห่งยุคสมัย สรรพสิ่งที่เห็นที่เป็นไป หลากล้วนลมหายใจในสังคม” ผู้เขียนยังครุ่นคิดถึงสภาพสังคมเก่าจึงใช้กลอนเพลงพื้นบ้านนำเสนอ “วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี คืนความสุขให้คนในชาติ เหมือนน้ำท่วมปากนานหลายปี โอ้เจ้าดอกเทคโนโลยี แผ่นดินนี้ยังทุกข์ทน” หรือบทขอจันทร์ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ไม่ขอแล้วข้าว ไม่เอาแล้วแกง ขอสุขคืนสู่ ทุกหนทุกแห่ง สิ่งร้ายแอบแฝง พ่ายแพ้ความดี” และมีหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนยอมรับความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไป รวมบทกวี “เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน” ด้วยเชิงชั้นฉันทลักษณ์ที่ถูกต้องแม่นยำ แนวคิดที่มีขอบข่ายเป้าหมายชัดเจน กอปรด้วยความไพเราะของเสียงและความหมาย อันเกิดจากความประณีตในการใช้ภาษาเป็นรสแห่งถ้อยคำที่นำมาร้อยกรองให้เกิดความรู้สึกและจินตภาพได้อย่างดี ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน” ผลงานของ “กิตติ อัมพรมหา” ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ร่มเงาเรือง
เป็นงานเขียนบทกวี 40 ชิ้น ที่มีความหลากหลายทั้งด้านฉันทลักษณ์และเนื้อหา ใช้คำที่มีพลัง นำเสนอแง่มุมความคิดและอารมณ์ ได้อย่างจับใจ
ในความว่างนั้นยังมี
เป็นงานเขียนบทกวี 40 ชิ้น ที่มีความหลากหลายด้านฉันทลักษณ์ เนื้อหาสะท้อนความคิดเชิงสังคมอย่างสร้างสรรค์ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เช่น ประวัติศาสตร์ บุคคล การเมือง ฯลฯ เลือกใช้คำและสัมผัสได้อย่างสละสลวย
เส้นสีของชีวิต
เส้นสีของชีวิต ของ อนุวัฒน์ แก้วลอย เป็นกวีนิพนธ์สะท้อนเส้นทางชีวิตและความเข้าใจชีวิตของผู้เขียน แทบทั้งหมดแต่งเป็นกลอนสี่สุภาพจบในบท ยกเว้น 1 บท แต่งเป็นโคลง แบ่งออกเป็น 4 ภาคคือ รากเหง้าเมื่อเยาว์วัย จากฟืนไฟและเรี่ยวแรง วิถีที่เปลี่ยนแปลง และมีแสงธรรมเมื่อบั้นปลาย ผู้เขียนสะท้อนประสบการณ์ชีวิต และแสดงความเข้าใจชีวิตผ่านบทกวี แสดงให้เห็นความรัก และอารมณ์อันละเอียดอ่อนที่มีต่อผู้คนและสรรพสิ่งรอบข้าง มีความจริงใจ และพร้อมส่งกำลังใจให้คนรอบข้าง ผู้เขียนสามารถแต่งกลอนได้ตามขนบ มีสำนวนโวหารงดงาม
ฟื้นฝันบรรณพิภพ
ฟื้นฝันบรรณพิภพ ของ โกฏิดารา 2551 เป็นกวีนิพนธ์สะท้อนความเป็นไปในสังคม ผู้เขียนแต่งเป็นบทกวีจบในบท รวมกันหลายบท โดยแบ่งออกเป็น 5 ภาค คือ กังวลชาติ นิราศเดือน เตือนสมัย ใจรู้ทัน และฟื้นฝันบรรณพิภพ ผู้เขียนมุ่งเน้นเรื่องการสะท้อนปัญหาสังคม ทันสถานการณ์ ทันโลก สามารถแสดงทัศนะและอารมณ์ต่อต้าน หรือเสียดสีได้ดี ผู้เขียนสามารถเลือกสรรคำได้เหมาะงาม เล่นคำสำนวนได้ดีและมีการ “ละเล่น” โวหารให้ทันสมัยขึ้น โดยการนำคำสมัยใหม่หรือคำภาษาอังกฤษไปประยุกต์ใช้ในเชิงเสียดสี หรือสะท้อนสถานการณ์ทันสมัย
นั่งแลหวัน……ฝันถึงนางฟ้า
เป็นรวมบทกวี (ฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์) สะท้อนความคิด และอารมณ์ของผู้เขียนที่มีต่อผู้คนและสรรพสิ่งรอบข้าง มีการเลือกใช้คำได้ดีพอสมควร เห็นภาพ และมีการเล่นสำนวนโวหารในระดับดี
แม้ฟ้าหม่นแผ่นดินมืด
เป็นรวมบทกวีหลากหลายฉันทลักษณ์ สะท้อนโลกทัศน์และอารมณ์สะเทือนใจที่กวีมีต่อสังคมและการเมืองไทย กวีสามารถเลือกสรรคำได้ดี สร้างภาพได้งดงาม และสร้างสำนวนโวหารได้ไพเราะกินใจ
เมื่อคำนึงจึงเห็นความเป็นเธอ
เป็นบทกวีสะท้อนทัศนะของผู้เขียนที่มีต่อโลกและชีวิต โดยเฉพาะความศรัทธาที่มีต่อวิชาชีพครูของตนสามารถใช้ภาษาได้อย่างละเมียดละไมมีความลื่นไหล และคุม “ความ” ได้ดีพอสมควร
พจน์โดยสาร
ผู้เขียนมีความช่างคิด ช่างสังเกต สามารถหยิบยกสิ่งรอบตัว อาทิ ปัญหาสังคม-การเมือง ปัญหาการศึกษา-วัฒนธรรม ฯลฯ นำมาสื่อสะท้อนเป็นประเด็นปลีกย่อยได้อย่างน่าสนใจ โดยสามารถใช้สำนวนภาษาและลีลาวรรณศิลป์ในการนำเสนอได้ดี หลายบทหลายสำนวนมีความคมคาย อาทิ “พรหมองค์เดียวที่ลิขิตชีวิตคน คือใจตนไม่ใช่ใครอื่นเลย” หรือ “คนล่าฝันไม่รู้ว่าฝันล่าคน ต่างหลงกลลาภสรรเสริญเกินพอดี”
หุบมนุษย์
เนื้อหาที่นำมาสื่อมีความเข้มข้นระดับปานกลางและมีฝีมือในการร้อยกรองระดับดีแม้จะมีข้อควรพัฒนาเชิงฉันทลักษณ์ เช่น การใช้คำสัมผัสซ้ำ หากมีการคัดสรรผลงานที่นำมารวมเป็นเล่มให้มีความเข้มข้นทั้งด้านเนื้อหาและปริมาณให้มากกว่านี้จะเป็นรวมบทกวีที่มีข้อความโดดเด่นมากยิ่งขึ้น
บนแผ่นกระดาษ
เป็นรวมบทกวีสะท้อนความคมชัดของทัศนะที่ปรากฏในเนื้อหาแต่ละเรื่องได้อย่างโดดเด่น มีมุมมองในการนำเสนอที่น่าสนใจหลายประเด็น สามารถเล่นคำได้อย่างมีวรรณศิลป์ ทั้งเสียงและความหมาย แม้จะมีปัญหาเรื่องสัมผัสซ้ำและการใช้ถ้อยคำอยู่บ้าง
หมอกขาวอาบดอยเขียว
เป็นรวมบทกวีที่มีเนื้อหาสาระสะท้อนความภาคภูมิใจในความเป็น “คนเมือง” หรือคนภาคเหนือได้อย่างมีพลัง โดยนำ “คำเมือง” มาสอดใส่ในผลงานได้อย่างมีวรรณศิลป์ รวมทั้งหยิบยืมความรุ่มรวยทางรูปแบบวรรณกรรมล้านนามาใช้ได้อย่างเหมาะสมกลมกลืน แม้จะมีข้อด้อยเชิงฉันทลักษณ์อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการลดทอนพลังในการนำเสนอความประทับใจโดยภาพรวม
เพชรแผ่นดิน
รวมบทกวี เพชรแผ่นดิน ของ นิติกรณ์ ตั้งหลัก เป็นผลงานที่พยายามสืบสานขนบฉันทลักษณ์และรูปแบบนิราศซึ่งเขียนขึ้นต่างวาระนำมารวมไว้ด้วยกัน ด้วยความหลากหลายของเนื้อหาให้เอกภาพของผลงานทั้งเล่มยังไม่เด่นชัดพอที่จะขับเน้นความโดดเด่นของเนื้อหาให้ปรากฏ ทั้งที่ผลงานบางชิ้นมีความคมคายไม่น้อย นอกจากนี้การใช้คำบางแห่งยังมีลักษณะกลอนพาไป ซึ่งหากได้พัฒนาเพิ่มเติมแนวคิดสร้างสรรค์และสำนวนโวหารจะทำให้ความแวววาวของ “เพชรแผ่นดิน” เม็ดนี้เจิดจรัสชัดเจนขึ้น
ภาพผ่านตา ภาษาผ่านใจ
รวบทกวี ภาพผ่านตา ภาษาผ่านใจ ของ กมล คูคีรีเขต ผู้เขียนสามารถเรียงร้อยฉันทลักษณ์ที่หลากหลาย ทั้งกาพย์ยานี 11 กาพย์ฉบัง 16 กลอนหก กลอนเจ็ด และกลอนแปด ให้มีสัมผัสเชื่อมร้อยกันตลอดทั้งเล่ม ช่วยขับเน้นความกลมกลืนของเนื้อหา จากบทแรก “ชีวิตใหม่” ไปจนถึงบทสุดท้าย “รู้กันด้วยใจ” ได้อย่างเหมาะงาม บทกวีหลายชิ้นมีเนื้อหาให้กำลังใจแก่ผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
สยามสิกขานุโยค
รวมบทกวี สยามสิกขานุโยค ของสิทธิศักดิ์ บุญมา มีความโดดเด่นเป็นอย่างยิ่งในการนำเสนอเนื้อหา และวิธีคิดที่มีต่อสังคมการศึกษาของประเทศอย่างแหลมคม โดยใช้รูปแบบที่หลากหลาย เช่นการเรียงรูปแบบเนื้อหาให้มีลักษณะคล้ายเป็นข้อสอบปรนัย เป็นจดหมาย หรือการนำเนื้อหาในศิลาจารึกสมัยสุโขทัยมาเขียนยั่วล้อด้วยเนื้อหาวิพากษ์สังคมสมัยใหม่ ใช้รูปแบบการเขียนโดยไม่มีย่อหน้าลักษณะเดียวกันกับหลักศิลาจารึก ผุ้เขียนสามารถใช้ภาษาเพื่อสื่อความคิดได้อย่างมีประสิทธิภาพแม้จะมีข้อบกพร่องทางฉันทลักษณ์อยู่บ้าง แต่ยังโดดเด่นด้านเนื้อหาและรูปแบบการนำเสนอ
กานท์เอ๋ย กานเมือง
รวมบนกวี กานท์เอ๋ย กานเมือง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นบทร้อยกรองหรือบทกวีที่ว่าด้วย ‘การเมือง’ รวมไปถึงสังคมยุคปัจจุบันอันฟอนเฟะและน่าห่วง ซึ่งผู้เขียนกำลังจะสื่อถึงผู้อ่านอย่างนั้น บทกวีทั้งหมดที่นำเสนอ ผู้เขียนมีความพยายามในแง่ความหลากหลากทั้งรูปแบบของร้อยกรองและกลวิธีเล่าเรื่อง ด้านเนื้อหาก็ได้หยิบยกเอาปัญหาของสังคม การเมือง นักการเมือง มาพูดถึงในลักษณะวิเคราะห์วิจารณ์อย่างพินิจพิเคราะห์ ด้วยอารมณ์เสียดสีประชดประชันแบบแสบ ๆ คัน ๆ ได้ค่อนข้างแหลมคมพอสมควร ด้านฉันทลักษณ์ แม้ว่ามีความอ่อนด้อยอยู่บ้าง แต่ก็หวังว่าผู้เขียนซึ่งยังอยู่ในระดับเยาวชน คงจะมีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับและก้าวไกลไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีจุดบกพร่องดังกล่าว แต่โดยภาพรวมแล้วบทกวีชุดนี้ก็อยู่ในข่ายที่ควรส่งเสริมและเพิ่มกำลังใจ คณะกรรมการจึงมีมติให้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
บรรทัดสุดท้ายในฤดูกานต์
ต้นฉบับรวมบทกวีระดับเยาวชนชุด “บรรทุดสุดท้ายในฤดูกานต์” ของ ชาตรี ตราชู นำเสนอในรูปแบบฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ ผู้เขียนแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ช่วง คือ คิมหันต์ วัสสาน และเหมันต์ แต่ละชิ้นงานไม่ได้เป็นเรื่องเดียวกัน เขียนต่างกรรมต่างวาระ แต่เนื้อหาได้เชื่อมโยงเรื่องราววิถีชีวิตผู้คนเล็ก ๆ กับธรรมชาติแห่งฤดูกาลที่จัดหมวดหมู่ไว้ได้ค่อนข้างกลมกลืน นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งของกวีนิพนธ์ชุดนี้ ด้านฝีมือ ถือว่ามีชั้นเชิงวรรณศิลป์ใช้ได้ทีเดียว ทั้งในแง่ทักษะสำนวนภาษาที่ผู้เขียนเลือกใช้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับเนื้อหา โดยให้ความสำคัญกับฉันทลักษณ์ควบคู่กันไป แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ผู้เขียนยังอยู่ระดัยเยาวชน ในเรื่องคำและความหมายที่กลมกลืนซึ่งเป็นจุดเด่นนั้น เมื่อดูภาพรวมทั้งชุดอาจจะมีจุดบกพร่องบ้าง แต่ก็เป็นจุดเล็ก ๆ สามารถแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาฝีมือให้ดียิ่งขึ้น ๆ ได้ไม่ยาก ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมา คณะกรรมการจึงมีมติให้กวีนิพนธ์ชุด “บรรทุดสุดท้ายในฤดูกานต์” สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภท “รางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์” หมวดกวีนิพนธ์
ลมหายใจในสัญญะ
ลมหายใจในสัญญะ เป็นผลงานรวมบทกวีของ ภูวนาท เรืองฤทธิ์ ที่ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ประเภทกลอนแปดทั้งชุดเช่นเดียวกัน โดยผู้เขียนได้จัดแบ่งหมวดหมู่ไว้ 3 ภาค คือ “1. เธอคือลมหายใจ 2. ลมหายใจของชายขอบ และ 3. ลมหายใจในรอยทาง” ด้านเนื้อหาค่อนข้างหลากหลาย เป็นเรื่องราวที่เรารับรู้หรือพบเห็นกันอยู่ ซึ่งผู้เขียนสะท้อนปัญหาให้ผู้อ่านได้ตระหนักคิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม (คุณภาพชีวิต) การเมือง รวมถึงสถานการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายภาคใต้ นอกจากนี้ยังพูดถึงวัฒนธรรม ท้องถิ่น-พื้นบ้านได้อย่างมีเสน่ห์ ทั้งในแง่ของคุณค่า โหยหา และใจหายกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน ส่วนรูปแบบที่นำมาใช้ในการเล่าเรื่อง แม้ว่าจะอ่อนด้อยในเชิงฉันทลักษณ์อยู่บ้าง แต่เนื้อหาค่อนข้างหนักแน่นและมีพลัง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ลมหายใจในสัญญะ ของภูวนาถ เรืองฤทธิ์ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2559