All Posts

Archives

  • Home
  • นวนิยาย

Orlando in a Glimpse หากเล่าถึงออร์ลันโด

         Orlando in a Glimpse หากเล่าถึงออร์ลันโด เป็นนวนิยายแนวเควียร์กอธิค (Queer Gothic Literature) ที่ดำเนินเรื่องภายใต้ท้องฟ้าเจิดจ้าในช่วงฤดูร้อนแสนสั้นของอิตาลี ผ่านตัวละครหลักคือเด็กสาวชาวไทยชื่อเจ๋  ซึ่งเป็นผู้เล่าเรื่องตั้งแต่ต้นจนจบโดยใช้สรรพนามแทนตัวว่า “ผม” หลังจบ ม.๖ ก่อนมหาวิทยาลัยเปิดภาคเรียน เจ๋ ได้เดินทางไปท่องเที่ยวอิตาลีครั้งแรกโดยอาศัยอยู่ที่บ้านลุงโจ—พี่ชายแท้ ๆ ของแม่ ซึ่งได้แต่งงานกับป้ามาติลดา เจ้าของโรงแรมเก่าแก่ในเมืองเซียนา ที่นั่น..เจ๋ได้พบจูเลีย ลูกสาวของลุงกับป้า และได้รับรู้เรื่องราวของออร์ลันโด พี่ชายสุดที่รักของเธอและลูกชายหัวแก้วหัวแหวนของป้า นักเปียโนฝีมือฉกาจ ผู้มีรูปลักษณ์ราวเทพที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อปีก่อน เหตุการณ์แปลกประหลาดทยอยเกิดขึ้นเป็นระลอกนับจากวันที่เจ๋ได้ยินเสียงบรรเลงเปียโนไร้ที่มากลางจัตุรัสโล่งกว้าง ไปจนถึงวันที่ปริศนาการตายของออร์ลันโดได้รับการเปิดเผย สาเหตุการตายก่อนเวลาอันควรนี้ ชูประเด็นสำคัญที่ผู้เขียนต้องการนำเสนอในเรื่องเกี่ยวกับ “พื้นที่” และการยอมรับใน “ตัวตน” ของกลุ่มคนที่เรียกกันว่า “นอนไบนารี” (Non binary) ออร์ลันโดและเจ๋ เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่ระบุว่าตัวเองไม่ใช่ทั้งหญิงและชาย หากแต่มีความลื่นไหลทางเพศ (Gender Fluid/fluidity) ที่สามารถเปลี่ยนแปลงและนิยามอัตลักษณ์ของตนกลับไปกลับมาได้ ในช่วงเวลาต่าง ๆ ของชีวิต “เหมือนสายลมและสายน้ำที่เปลี่ยนแปรไปมาอยู่เสมอแม้เพียงข้ามคืน”  แม้ออร์ลันโดจะเป็นนักดนตรีฝีมือเอก และมีพรสวรรค์ในการบรรเลงบทเพลงราวฟ้าประทาน แต่เจ๋ผู้มีทักษะทางเปียโนกระท่อนกระแท่น ดูจะเป็นผู้โชคดีกว่า เพราะเขาได้มีชีวิตต่อมาเพื่อบรรเลงเพลงบทใหม่ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความจริงแท้ของตนเอง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ Orlando in a Glimpse  หากเล่าถึงออร์ลันโด  ของ ลาดิด ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗

แก่นไม้หอม

นวนิยายเรื่อง แก่นไม้หอม เป็นการเล่าเรื่องเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง ที่ถูกส่งมาจากเมืองจีนเพื่อมาอยู่กับพ่อแม่ที่อพยพมาก่อนแล้ว  “ซิ่วเฮียง”  จึงมีประสบการณ์ชีวิตที่ขมขื่นกว่าเด็กวัยเดียวกัน ด้วยค่านิยมที่รักลูกชายมากกว่า เมื่อโรงเรียนจีนในเมืองไทยถูกผู้นำในยุคนั้นสั่งปิด เตี่ยกับแม่จึงให้ซิ่วเฮียงออกจากโรงเรียน มีแต่น้องชายและน้องสาวที่ได้เข้าเรียนต่อในโรงเรียนไทย ด้วยความน้อยใจ และอ่อนต่อโลกซิ่วเฮียงในวัย ๑๖ ปี จึงหนีตามคนรักไป เพียงเพื่อจะพบว่าโลกนี้โหดร้ายกว่าที่เธอคิด และเธอถูกตัดขาดจากครอบครัวตั้งแต่บัดนั้น เมื่อเธออุ้มลูกชายกลับบ้านเตี่ยยอมรับเพียงแต่หลานคนเดียว แม้ต่อมาเธอจะประสบความสำเร็จกับครอบครัวใหม่ในฐานะเถ้าแก่เนี้ยคนที่สองได้รับความรักความเมตตาจากสามี ได้รับความเอ็นดูจากเถ้าแก่เนี้ยคนที่หนึ่ง และได้รับความเคารพความรักจากลูกของทั้งสองบ้าน แต่ก็ยังมีร่องรอยหม่นหมองในใจเสมอมา ผู้ประพันธ์ได้รับแรงบันดาลใจจากเรื่องจริงจึงสามารถนำผู้อ่านเข้าไปใกล้ชิดกับชีวิตของซิ่วเฮียง ทั้งในยามสุข และทุกข์ เสมือนหนึ่งได้ร่วมเติบโตทางความคิด ความรู้สึกไปด้วยกัน ทำให้เข้าใจวิธีคิด และมุมมองในการตัดสินใจของเธอ ที่มีความมุ่งมั่น กล้าหาญ ซื่อตรง อ่อนน้อมและกตัญญู แม้ครอบครัวใหญ่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจ การเมือง และค่านิยมที่ยากจะเปลี่ยนแปลงในครอบครัวคนจีน แต่ซิ่วเฮียงก็ผ่านมาได้ และพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้หญิงสามารถเลือกทางเดินชีวิตที่ดีได้ ด้วยความแข็งแกร่งดุจแก่นของต้นไม้ที่ดำรงอยู่ แม้มิอาจมองเห็นจากภายนอกก็ตาม ด้วยภาษาที่เรียบง่าย ชัดเจน ทว่ากระทบใจในความจริง ผู้อ่านจึงสัมผัสได้ถึงความรัก ความสุข ความทุกข์ ความหวัง และความผิดหวัง เสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน วาระสุดท้ายซิ่วเฮียงจึงจากโลกนี้ไปด้วยความทรงจำของชีวิตที่ได้ทำหน้าที่อย่างครบถ้วนในทุกบทบาทของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง นับเป็นความสุข ความเศร้า และการยอมรับไปพร้อมกัน ตามเจตนารมณ์ที่ผู้ประพันธ์ได้นำเรื่องไปสู่จุดหมายอย่างมั่นคง           “โลกนี้เหมือนผู้ชายเป็นใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเป็นหยินที่โอบหยางทั้งสิ้น” คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ แก่นไม้หอม ของ กิ่งฉัตร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗

แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวา และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของชาลี

นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งชื่อ ชาลี เป็นคนที่มีชีวิตธรรมดา ไร้ความโดดเด่น เรียนไม่เก่ง ทำงานไม่สำคัญ มีคนรักก็เลิกกันไป  มีผู้หญิงรับจ้างบำบัดเหงาแต่ก็ไม่มีความหมายอะไร  ชาลีมีชีวิตลอย ๆ งง ๆ ไร้เป้าหมาย ประดุจมะพร้าวทะเลทราย  แห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา คิดฆ่าตัวตายโดยไม่มีเหตุผลถึงสามครั้งแต่ก็ไม่ตาย สุดท้ายพบว่ามีคนชื่อชาลีเหมือนเขาอีกหนึ่งคน แต่เป็นนักเขียน เขาจึงตามหาจนพบ  และพบว่าเขาทั้งสองมีประวัติภูมิหลังใกล้เคียงกันมาก เขาเอาปืนไปด้วย สุดท้ายก็มีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด  และชาลีก็เหลือคนเดียว เรื่องนี้สะท้อนภาวะมนุษย์ที่สวนทางกับมนุษย์แบบฉบับ  มนุษย์จะต้องดี เก่ง ประสบความสำเร็จ  เป็นคนดีมีความหมายในสังคม  แต่ชาลีตรงกันข้าม  จืดชืดสนิท ไร้ตัวตน  มีลักษณะเป็นตัวเอกแบบปฏิลักษณ์(Anti-hero) ผู้เขียนใช้ท่วงทำนองของการเสียดสีเย้ยหยันชีวิตคนเมือง  ใช้สถานการณ์เกินจริง สัญลักษณ์ เพลง และกระบวนการทำซ้ำทางวรรณศิลป์เพื่อตอกย้ำอารมณ์เบื่อและเหงาสู่ตัวละครและคนอ่าน  ในขณะเดียวกันก็หยอกล้อตนเองในฐานะนักเขียนไปด้วย ซึ่งภาพคนแบบชาลีนี้คือคนส่วนใหญ่ของสังคมดิจิทัลในปัจจุบัน  และการสะท้อนภาพชาลีในฐานะตัวเอกไร้คุณค่านับเป็นความจริงของสังคม และเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งของผู้เขียน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวา และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของ         ชาลี ของ พิชา รัตนานคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗    

รังเลือด

นวนิยายฉายภาพชีวิตผู้คนที่ประกอบอาชีพเก็บรังนกนางแอ่น ธุรกิจที่สร้างความ ร่ำรวยมหาศาลให้นายทุน แต่ในขณะเดียวกันเป็นงานที่อันตรายและยากลำบากสำหรับ ผู้แขวนชีวิตไว้กับลำไม้ไผ่ เหตุการณ์และพฤติกรรมของตัวละครนำเสนออย่างดิบ เถื่อนและแสดงธาตุแท้ของมนุษย์อย่างระทึกใจ  

ฤดูดาว

จินตนิยายผสมผสานตำนานความเชื่อของชนเผ่า เมืองโบราณ และดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์กับแนวคิดวิทยาศาสตร์การเกษตร ผู้เขียนเน้นการต่อสู้ระหว่างความรักและความโลภ ซึ่งในที่สุดความรักเท่านั้นที่ยิ่งใหญ่และเป็นนิรันดร์

เคหาสน์กุหลาบดำ

นวนิยายกำลังภายในที่เขียนโดยนักเขียนไทย ผูกเรื่องได้สนุก หลากอารมณ์ทั้งการยุทธ์ไร้เทียมทานและความรักหวานเศร้า สำนวนโวหารกลมกล่อม ฝากคติธรรมให้คิด

กาษา นาคา

จินตนิยายที่นำเอาปกรณัมเรื่องครุกและนาคมาผูกเป็นเรื่องความรักความแค้น ข้ามชาติภพ ยึดโยงด้วยเรื่องกรรมและหลักธรรมในพระพุทธศาสนาได้อย่างมีอรรถรส

Z Diary

Z Diary ของ พัณณิดา ภูมิวัฒน์ คือบทบันทึกการโคจรมาพบกันของผีดิบตัวสุดท้ายกับมนุษย์ชราคนสุดท้าย ในฉากโลกอนาคตที่โรคระบาดร้ายแรงได้คร่าล้างมนุษย์จนสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ การ (อาจจะ) เป็น “สิ่งสุดท้าย” ในชีวิตกันและกันของสองตัวละครหลัก ค่อย ๆ เปลี่ยนบทบาทจากนักล่าและผู้ถูกไล่ล่าให้กลายเป็นความผูกพันระหว่างพ่อกับลูกชาย อันเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางเพื่อแสวงหา “ชีวิตอื่น” ซึ่งอาจจะเป็นทางรอดของพวกเขาทั้งคู่ ความโดดเด่นของนวนิยายวิทยาศาสตร์ (Sci-fi) เรื่องนี้ อยู่ที่การหยิบยกประเด็นร่วมสมัยเรื่องพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของโลกไซเบอร์และสมองกลหรือปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial Intelligence) มา “ทดลองคิด” และจินตนาการถึงความเป็นไปได้ที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคมมนุษย์อย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะเมื่อเอไอสามารถถือกำเนิดขึ้นเองจากมหาสมุทรแห่งข้อมูล กลายเป็นจิตสำนึกที่สามารถคิด ตัดสินใจ และมีชีวิตของตัวเอง เมื่อผนวกกับความสามารถในการปฏิบัติการได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง และเข้าถึงความรู้ของมนุษย์อย่างไร้ขีดจำกัด ยิ่งทำให้เอไอดูราวกับเป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ และมีสถานภาพไม่ต่างอะไรไปจากพระเป็นเจ้าผู้มีอำนาจสูงสุด (Sovereign) ซึ่งเป็นได้ทั้งผู้สร้างและผู้ทำลาย นอกจากนี้ ความโดดเด่นอีกประการที่เดินเคียงคู่ไปกับคำเตือนว่าโลกจะมีแนวโน้มไปในทิศทางใดภายใต้เงื่อนไขใหม่ ๆ ของวิทยาการล้ำยุค คือการ “ทดลองตอบ” และหาทางออกเพื่อกอบกู้โลกและเผ่าพันธุ์มนุษย์ โดยนำเอานิทานเรื่องพิน็อคคิโอมาเล่าและตีความใหม่ (Pinocchio Retelling)  และใช้เป็นกลวิธีในการดำเนินเรื่องจนคลี่คลายไปสู่ตอนจบที่อบอุ่นและเปี่ยมไปด้วยความหวัง ที่สุดแล้ว..จุดหมายปลายทางของทุกการแสวงหาและหัวใจแห่งความรอดเพื่อฟื้นฟูโลกและธำรงเผ่าพันธุ์ อาจเป็นคำตอบเดียวกันกับที่ทำให้หุ่นไม้อย่างพิน็อคคิโอและผีดิบอย่างไพน์ใฝ่ฝันและปรารถนาที่จะเป็นมนุษย์ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ Z Diary ของ พัณณิดา ภูมิวัฒน์  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖  

หนึ่งนับวันนิรันดร

หนึ่งนับวันนิรันดร เป็นเรื่องราวของความรักความผูกพันและความทรงจำของ “เพียงขวัญ” ที่มีต่ออดีตอันงดงามรุ่งเรืองในสิ่งแวดล้อมซึ่งคุ้นเคยแต่ก็อาจแปลกแยกแตกต่างในบางวัน ทำให้เธอต้องตั้งคำถามอยู่เสมอว่า เพราะเหตุใด ความทรงจำของเธอที่เกิดขึ้นในแต่ละวันอันมีฉากหลังเป็นบันทึกเรื่องราวของ “ใครสักคน” หรือฉากของวรรณกรรมอมตะ เช่น ข้างหลังภาพ, สี่แผ่นดิน, คู่กรรม,  เพชรพระอุมา,  ฟ้าจรดทราย,  ลับแลแก่งคอย,  ยุคสมัยแห่งความสิ้นหวัง ฯลฯ เหล่านี้ล้วนเป็นปริศนาอันชวนฉงน แม้ในแต่ละวันที่ความจำของเธอจะเปลี่ยนไป แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนคือ “ตราวุธ” ชายหนุ่มที่ดูแลเธออย่างใกล้ชิดทุกวันและทุกเวลา และแล้วเธอก็รำลึกได้ว่า ตราวุธและเธอคือใคร นาทีอันมีค่านี้ช่างน่าปีติยิ่งนัก แม้จะเพียงหนึ่งวันเมื่อเธออายุ ๘๑ ปี นวนิยายเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องราวของตัวละครที่ป่วยเป็นโรคภาวะสมองเสื่อมสูญเสียความทรงจำ (Alzheimer’s Disease) ด้วยการดำเนินเรื่องที่น่าติดตามและสร้างปมสงสัยตลอดเรื่อง ใช้ภาษางดงามสัมผัสได้ถึงความอ่อนโยนของความรัก ความอบอุ่นทั้งแจ่มใสและหม่นมัว อันสะเทือนอารมณ์ ส่งสารถึงผู้อ่านให้รับรู้อย่างน่าประทับใจ และเข้าใจสภาวะของผู้ป่วยโรคนี้มากขึ้น ภาพที่เรามองเห็นอาจไม่ใช่ภาพจริง และภาพจริงอาจมิใช่ความจริงที่เรามองเห็น ภาพชีวิตของเพียงขวัญและตราวุธ ที่ดำรงอยู่ด้วยความรัก ความห่วงใยเอื้ออาทรจึงกระทบใจผู้อ่านอย่างลึกซึ้ง แม้ว่าความรักนั้นจะเริ่มนับหนึ่งในทุกวันและจะเป็นเช่นนี้ชั่วนิรันดร คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ หนึ่งนับวันนิรันดร ของ กิตติศักดิ์ คงคา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖

หมาป่ากลางมหาสมุทร

ชื่อของประชาคม ลุนาชัย กับประสบการณ์ลูกเรือประมงมาคู่กัน นวนิยายเกี่ยวกับเรื่องลูกทะเล หลายเรื่องของเขาได้รับรางวัลทั้งจากการประกวดหนังสือดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ และเซเว่นบุ๊คอวอร์ด จนนักอ่านหลายคนคิดว่า คลังลูกเรือประมงของเขาต้องหมดและไม่มีช่องว่างให้เขียนอีก แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเขายังสร้างความแตกต่างได้           หมาป่ากลางมหาสมุทร เป็นนวนิยายที่ใช้ฉากและบรรยากาศของชีวิตลูกเรือประมงเป็นพื้นหลังเพื่อสะท้อนแก่นแท้ของเรื่องคือจิตใจส่วนลึกของความเป็นมนุษย์ ผู้เขียนใช้วิธีเล่าผ่านมุมมองของตัวละครเอกด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งเพื่อให้สามารถลงลึกถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างถึงที่สุด โดยให้เขาเป็นผู้เล่าเชิงวิเคราะห์ชีวิตของลูกเรือทุกคน นับแต่กัปตันไปจนกระทั่งลูกเรือตัวเล็ก ๆ อันเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคทั้งจากสภาพทะเลและจากมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ก็ยังสามารถดำเนินไปได้อย่างมีความหวัง หลังจากนั้นผู้เขียนได้พลิกเรื่องสะท้อนภาพของมนุษย์ที่มีจิตใจเป็นสัตว์ซึ่งเป็นฆาตกรฆ่าทุกคนบนเรือ มีตัวละครเอกรอดคนเดียว และเกิดสถานการณ์โชคล้อ (Irony) เมื่อตัวละครเอกและฆาตกรกระโดดหนีความตายมาเกาะอยู่บนแพเดียวกัน ภาวะนี้เอง ตัวละครเอกจึงแสดงความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุดผ่านจิตใจภายใน ท่ามกลางความโหดร้ายของทะเลและการเอาตัวรอดทั้งจากทะเลและศัตรู เขาต้องต่อสู้กับความมีจิตเป็นมนุษย์กับความมีจิตเป็นสัตว์ร้ายระหว่างการเอาชีวิตรอด คล้ายเฒ่าผจญทะเลของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ กับเศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึกของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ไปพร้อมกัน และกลายเป็นหมาป่ากลางมหาสมุทรแบบประชาคม ลุนาชัย ได้อย่างทระนงองอาจ ท้ายสุด ผู้เขียนได้นำไปสู่การลงจบที่ดี อาจกล่าวได้ว่า เมื่อได้ค้นพบความเป็นหมาป่าในจิตใจมนุษย์แล้ว ผู้เขียนประสงค์จะให้รางวัลแก่ตัวละครโดยให้ทุกอย่างลงเอยอย่างงดงาม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ หมาป่ากลางมหาสมุทร ของ ประชาคม ลุนาชัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖

คนจรดาบ

ภัยร้ายคืบคลานกรุงศรีอยุธยา ๗ ขุนเวียงนาครบาลออกตามล่าอ้ายดำท่าแพรและพรรคพวก ที่ต้องสงสัยว่าลอบสังหารเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี ทว่าการตามสืบกลับผิดแผน ๗ ขุนเวียงฯ ถูกลวงฆ่า ความลับถูกพราง และกรุงศรีอยุธยาอาจใกล้ถึงกาลอวสาน คนจรดาบ วรรณกรรมนักเลงดาบ นวนิยายที่ผสมผสานการเล่าเรื่องแบบพงศาวดาร เข้ากับนวนิยายกำลังภายใน เข้มข้นด้วยปมเรื่องสลับซับซ้อน ซึ่งใช้เวลาขัดเกลากว่า ๓๐ ปีโดยวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนมากฝีมือที่ฝากผลงานไว้มากมาย

วินาทีไร้น้ำหนัก

วินาทีไร้น้ำหนัก เป็นนวนิยายสะท้อนภาพชีวิตหลากหลายอาชีพในเมืองหลวงอันวุ่นวายสับสน มีคนขับรถตู้ สถาปนิก นักเรียน นักศึกษา นักเขียน แคชเชียร์สาวซูเปอร์มาร์เก็ต พนักงานเสิร์ฟร้านอาหาร หญิงชราขายน้ำที่วินรถตู้และสุนัขจรจัด ชีวิตเหล่านี้ ต่างประสบชะตากรรมหรือเกี่ยวข้องในอุบัติเหตุรถชนกันบนทางด่วนในเย็นวันศุกร์ที่ฝนตกหนักผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านเสี้ยววินาทีที่ผู้ประสบอุบัติเหตุแต่ละคนระลึกย้อนถึงเรื่องราวของตัวละครของตัวเองความทรงจำความฝันและจินตนาการ แม้ตัวละครล้วนมีชีวิตที่ยากลำบากแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือ การมุ่งไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้มีสองประการ ประการแรกผู้เขียนสามารถเล่าเรื่องและบรรยายสภาพจิตใจ ความนึกคิด อารมณ์ของตัวละครได้อย่างมีรายละเอียดผสมผสานมิติ ด้านฟิสิกส์ เคมีและปรัชญาเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ทำให้เรื่องราวชวนติดตาม ประการที่สอง ผู้เขียนสามารถชี้ให้เห็นถึงความหมายและคุณค่าของชีวิตที่ดำรงอยู่แม้ในคนเล็ก ๆ ซึ่งสังคมเคยพบ แต่ไม่เคยมองเห็น หรือให้ความสำคัญ และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ วินาทีไร้น้ำหนัก ของ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือ จากไทรบุรี

เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี เป็นนวนิยายสะท้อนเรื่องราวของผู้ถูกกดขี่ผ่านความทรงจำกระจัดกระจายของตัวละครชื่อเดฟั่น โดยที่เรื่องราวของพวกเขาไม่อาจเปล่งเสียงออกมาผ่านรูปแบบเรื่องเล่าธรรมดาหรือหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ ผู้เขียนเดินเรื่องด้วยกลวิธีสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ผสมผสานกับการใช้ตำนาน (Myth) อันเป็นแก่นแท้ของการจดจารประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเป็นประวัติศาสตร์จากคนใน บอกเล่าถึงจุดกำเนิดและการล่มสลายของชุมชนท้องถิ่นที่เกิดจาก โครงสร้างอำนาจที่ไร้ความเป็นธรรม ย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อแรกอพยพของตระกูลคนเฆี่ยนเสือที่รอนแรมจากไทรบุรีบริเวณชายฝั่งอันดามัน มาปักหลักบริเวณเทือกเขาบรรทัดบนผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถูกเรียกขานตามสภาพดินฟ้าอากาศว่า “หมู่บ้านฝนแสนห่า” ความสงบสุขร่มเย็นของชุมชนเริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อพายุจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย่งจากภายนอก ส่งผลกระทบต่อชุมชนภายในอย่างลึกซึ้งและถอนรากถอนโคน ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งจริงและไม่จริง แดนเกิดของเดฟั่นกลายสภาพเป็น “หมู่บ้านกระสุนแสนห่า” ด้วยวิธีการปราบปรามจากทางการที่คร่าชีวิตผู้คนรอบตัวเดฟั่นให้ปลิดปลิวราวใบไม้ร่วง “เดฟั่นจำไม่ได้” วลีที่กล่าวซ้ำตลอดการเดินทางของเรื่องเล่า ๖๕ บท ตอกย้ำการสูญเสียชีวิต ตัวตน และความทรงจำของผู้ถูกกระทำ จนทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือ“ประวัติศาสตร์ที่เล่าไม่ได้ และไม่ได้เล่า” นี้ อาจเป็นเพราะผู้เล่าเองก็ไม่อยากจำ? คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรีของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู

รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู สะท้อนเรื่องราวความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดของผู้คนในสงครามมหาเอเซียบูรพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แพ้สงครามคือทหารญี่ปุ่น เน้นเนื้อหาการสร้างทางรถไฟจากไทยไปพม่า ซึ่งมีสถานีสุดท้ายอยู่ที่พญาตองซู ในเขตพม่า เรื่องนี้มีลักษณะเป็นเชิงสาระนิยาย เน้นข้อเท็จจริงและใช้จินตนาการซ้อนไปตามความจำเป็น เพื่อสร้างความสะเทือนใจ ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลบุคคลและสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ ส่วนที่เป็นจินตนาการเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ของผู้เขียน ซึ่งเล่าผ่านตัวละครไทยและญี่ปุ่นที่เป็นประหนึ่งนักสำรวจประวัติศาสตร์ โดยในแต่ละจุดที่ตัวละครทั้งสองไปถึงจะมีข้อมูลเรี่องเล่าจากชาวบ้านซ้อนขึ้นมาเป็นเรื่อง ๆ เหมือนภาพศิลปะปะติดปะต่อ หรือ “Collage” ทำให้รู้ว่าท้องถิ่น ห่างไกลความเจริญ (แม้ในปัจจุบัน) ในสมัยสงคราม คือดินแดนแห่งความทุกข์ทรมาน ของมนุษย์ทั้งสองฝ่าย และทำให้รู้ว่า ความเจ็บปวดรวดร้าวของมนุษยชาตินั้นถ่ายทอดสู้กันได้แม้ว่าพวกเขาจะตายไปแล้ว นอกจากข้อเท็จจริงอันชวนตระหนกแล้ว ผู้เขียนยังสร้างความสะเทือนใจด้วยความฝัน การซ้อนภาพปัจจุบันเข้ากับอดีต การหลอกหลอนของภาวะจิต จนเป็นเรื่องกึ่งนิมิตฝันมาสอดร้อยเรื่อง ผสานเข้ากับภาษาที่เปี่ยมไปด้วยภาพจินตนาการ การปะติดปะต่อข้อมูลสงครามที่มนุษยชาติไม่อยากเอ่ยถึงจึงเป็นเหมือนการเปิดบาดแผลในอดีตให้คนปัจจุบันได้ร่วมเจ็บปวดด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นนวนิยายที่ควรแก่การรับรู้ เรียนรู้ และเป็นตัวอย่างในการไม่ทำซ้ำ และในขณะเดียวกันก็นับได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการเขียนในอนาคต ที่ต้องการ “ข้อเท็จจริง” ที่ชัดเจนมากกว่า “จินตนาการ” คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู ของสุมาตร ภูลายยาว ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

แด่ความคิดถึง

“แด่ความคิดถึง”  ของ ทนุธรรม เป็นเรื่องราวของวินกับทนิน ชายหนุ่ม ๒ คนที่แบ่งเช่าห้องชุดในคอนโดมิเนียมด้วยกัน วินจ่อมจมอยู่กับความเจ็บปวดจากอดีต ส่วนทนินหมกมุ่นอยู่กับความฝันอยากเป็นนักเขียน แม้จะอยู่ในห้องชุดเดียวกัน แต่สัมพันธภาพของคนทั้งสองห่างเหินเพราะต่างคนต่างมีโลกส่วนตัว จนวันหนึ่งทั้งสองเปิดใจเชื่อมมิตรภาพระหว่างกัน แต่ต่อมาก็กลับเกิดเหตุขัดใจจนต้องลาจากกัน นวนิยายเรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นในชีวิตของใครบางคน แต่เรื่องธรรมดานี้สะท้อนชีวิตของคนในเมืองใหญ่ที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่สนใจใครแม้แต่คนใกล้ตัว ความเหงาลึกจึงก่อตัวขึ้นอย่างเงียบ ๆ ท่ามกลางความซับซ้อน สับสน และผู้คนมากมายที่อยู่รอบตัว หลายคนพึ่งพาโซเชียลมีเดียเป็นที่ระบายความในใจแทนการสนทนากับเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ผู้เขียนใช้กลวิธีนำเสนอด้วยบันทึกของทนิน ไปพร้อมกับความคืบหน้าในบทต่าง ๆ ของนวนิยายที่ ทนินจำใจเขียน สาระว่างเปล่าของนวนิยายรักเป็นภาพล้อคู่ขนานไปกับความเปราะบางของสัมพันธภาพที่กว่าทนินจะประจักษ์ในคุณค่าของความเป็นเพื่อน ความเข้าใจถึง และห่วงใยจิตใจของผู้อื่นอย่างจริงใจ ก็สายเกินไป “ผมหลับตาลงแล้วนึกว่า ถ้ามีโอกาสพูดกับเขาเป็นครั้งสุดท้าย ผมจะพูดว่าอย่างไร มันนึกออกได้ไม่ยากเลย คงเป็นคำว่า ‘คิดถึง’ อย่างแน่นอน” น่าเสียดายที่โอกาสของทนินไม่เคยหวนกลับมาอีกเลย คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “แด่ความคิดถึง” ของ ทนุธรรม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔  

หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน

“หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน” ของ รมณ กมลนาวิน เป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคมที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนในชุมชนแห่งหนึ่งที่มีวิถีชีวิตยึดโยงอยู่กับผู้มีอิทธิพลในชุมชนซึ่งทำธุรกิจร้านนวดที่แฝงการค้าบริการทางเพศแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เม็ดเงินจากธุรกิจสีเทาเช่นนี้สร้างรายได้และความกินดีอยู่ดีให้แก่ชาวบ้าน พระเดชและพระคุณของผู้มีอิทธิพลในชุมชนจึงทำให้ชาวบ้านสมัครใจเข้าร่วมในวงจรนี้ เพื่อให้อิ่มท้อง มีงานทำ มีคุณภาพชีวิต มีอนาคตและมีความหวัง ยิ่งผู้มีอิทธิพลในชุมชนจับมือกับนักการเมืองท้องถิ่นนำธุรกิจของตนไปควบรวมไว้กับโครงการสวยหรูของรัฐในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแนบเนียน ก็ยิ่งทำให้ธุรกิจสีเทาได้รับการฟอกขาวจนสามารถขยายกิจการให้ใหญ่โตอลังการมากยิ่งขึ้น แต่ในท่ามกลางความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ ปัญหาสังคมนานาประการก็ก่อเกิดขึ้น ทั้งเรื่องการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ แม่ทิ้งลูก พ่อปฏิเสธความรับผิดชอบ ลูกกำพร้าที่ถูกทิ้งขว้าง การละทิ้งบ้านเกิด การถูกลดทอนความเป็นมนุษย์ การไม่พึ่งพาตนเอง ฯลฯ อย่างไรก็ตาม ชีวิตไม่ได้ดำมืดไปเสียทั้งหมด ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าความรักคือสิ่งประคับประคองหล่อเลี้ยงใจให้ก้าวข้ามความท้อแท้เจ็บปวดในแต่ละวันแต่ละคืนไปได้ ผู้อ่านจะประจักษ์ในความรักบริสุทธิ์ระหว่างหญิงชาย ระหว่างเพื่อน ระหว่างปู่ย่ากับหลาน ระหว่างพ่อแม่กับลูก และความรักความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ผู้ร่วมทุกข์ อีกทั้งผู้เขียนยังทำให้ตระหนักรู้ว่าครอบครัวเข้มแข็งคือรากฐานที่แข็งแกร่งของสังคม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “หากข้ามคืนนี้ หัวใจไม่แหลกยับเยินเสียก่อน” ของ รมณ กมลนาวิน ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔

มรณเวชกรรม

“มรณเวชกรรม”  เป็นหนังสือที่แนะนำพิเศษให้คนทั่วไปได้อ่าน   หนังสือเล่มนี้เขียนเป็นนวนิยาย  แต่ท้ายบทแต่ละบทจะมีข้อเขียนสั้น ๆ เชิงวิชาการเพื่อให้ความรู้ประกอบแก่ผู้อ่าน  “มรณเวชกรรม” เป็น         นวนิยายที่เล่าถึงการทำงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ของคณะแพทย์  พยาบาล และบุคลากรในภาควิชา               มรณเวชศาสตร์ (Palliative Care)  ซึ่งเป็นการดูแลแบบประคับประคองเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวที่เผชิญกับโรคร้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้  เป็นการดูแลแบบองค์รวมเพื่อป้องกันและรักษาทั้งด้านร่างกาย  จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ     นวนิยายเล่มนี้มีรสของความบันเทิงครบถ้วนทั้งความโศกเศร้า ความระทึกขวัญ ความตลกขบขัน  ผู้อ่านจึงอ่านสนุกอ่านเพลินไปพร้อมกับได้ข้อคิดถึงการเตรียมตัวตายอย่างมีสติ  ทั้งผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด  

The Boy Who Never Grows เด็กไม่รู้จักโต (Hard Cover Edition)

มนุษย์ทุกคนย่อมเจริญเติบโตตามกาลเวลาจากทารกเป็นเด็ก จากเด็กเป็นหนุ่มสาว จากหนุ่มสาวเป็นผู้ใหญ่  และจากผู้ใหญ่เป็นคนชรา แต่มีนักเขียนนวนิยายที่ใช้นามแฝง เจนมานะ   ไม่ยอมให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโตตามปกติ ไว้ในนวนิยายเรื่อง “เด็กไม่รู้จักโต” นวนิยายเรื่องนี้ เล่าเรื่องเด็กชายที่ฟื้นจากความตายและมีลักษณะแปลกประหลาดมหัศจรรย์คือ ร่างกายหยุดการเจริญเติบโตและสูญเสียความทรงจำ เขาสงสัยในความผิดปกติของตัวเอง จึงทำให้ออกเดินทางครั้งใหญ่เพื่อตามหาความจริงตามร่องรอยของปริศนาที่ถูกทิ้งไว้  เขาได้พบกับผู้คน สิ่งของและเหตุการณ์มหัศจรรย์มากมาย  ที่สำคัญคือ “ห้องสมุดแห่งสถานที่” และ “ห้องสมุดแห่งกาลเวลา” ซึ่งเป็นที่รวบรวมหนังสือชีวประวัติมนุษย์แต่ละคน จนในที่สุดเด็กชายก็ได้พบหนังสือปกดำที่นำเขาไปสู่ความจริง ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวแบบแฟนตาซี ซึ่งมีเรื่องมหัศจรรย์และเหนือจริง  และเล่าเรื่องด้วยสำนวนภาษาที่สละสลวย เห็นภาพ ได้ยินเสียง ชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราว โลดแล่นไปกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ นวนิยายเรื่องนี้มิใช่เรื่องเบาสมองสำหรับเด็ก แต่เป็นเรื่องหนักสมองสำหรับผู้ใหญ่ ผู้เขียนวิพากษ์ชีวิตมนุษย์ไว้อย่างแยบยล เช่น เรื่องมลพิษ ความไม่สนใจหนังสือแต่ให้ความสนใจกับอินเทอร์เน็ตแทน และการเลือกลืมเรื่องราวที่เจ็บปวด  แม้นวนิยายเรื่องนี้ จะแสดงให้เห็นว่าความเป็นเด็กคือความใสสะอาดบริสุทธิ์และไร้เดียงสา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่หลบซ่อนและปฏิเสธความจริงอันโหดร้ายด้วย  แต่แนวคิดสำคัญของ               นวนิยายเรื่องนี้คือความกล้าที่จะเผชิญกับความจริงเพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้นวนิยายเรื่อง “เด็กไม่รู้จักโต” ของเจนมานะ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓

เลือดข้นคนจาง

หลังเปิดพินัยกรรมไม่กี่วัน ทายาทคนโตของตระกูลจิระอนันต์ ก็ถูกฆาตกรรมอย่างมีเงื่อนงำ ด้วยน้ำมือของผู้ต้องสงสัยที่น่าจะเป็นใครคนใดคนหนึ่งในตระกูล ดูเผิน ๆ แล้ว โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในนวนิยายแนวสืบสวน-สอบสวนเรื่อง “เลือดข้นคนจาง” ของ “ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์” ก็ไม่ต่างจากเรื่องราวที่พบเห็นได้ทั่วไปในครอบครัวนักธุรกิจชาวจีนผู้มั่งคั่ง ที่ความโลภและความริษยาระหว่างพี่น้องสายเลือดเดียวกัน นำไปสู่จุดจบที่อื้อฉาวดังปรากฏพาดหัวข่าวอยู่เนือง ๆ อย่างไรก็ตาม หากพิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ผ่านพื้นที่แต่ละบท ที่ผู้เขียนเปิดโอกาสให้แต่ละตัวละครสะท้อนมุมมอง และระบายความในใจออกมา สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการเปิดเผยตัวฆาตกร คือการค้นพบว่า จารีตแห่งความเหลื่อมล้ำระหว่างชาย-หญิง ต่างหาก ที่เป็นผู้ร้ายตัวจริง ขนบธรรมเนียมซึ่งเปิดโอกาสให้เพศชายผูกขาดอำนาจ มอบอภิสิทธิ์ให้ผู้ชาย–โดยเฉพาะบุตรชาย/หลานชายคนโต สร้างความไม่เท่าเทียมกันอย่างยิ่งยวดระหว่างลูกชายและลูกสาว สิ่งเหล่านี้ถูกบ่มเพาะ ฝังราก ตอกย้ำด้วยพิธีกรรม และส่งผ่านให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า กลายเป็นยาพิษที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ กัดกร่อนสัมพันธภาพ ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ แก่งแย่งแข่งขัน และทำให้ความรักและภราดรภาพระหว่างพี่น้องร่วมสายเลือดมิอาจเกิดขึ้นได้จริง           “หากเรื่องเล่าที่ดี คือเรื่องเล่าที่ทำให้เชื่อขณะอ่าน และเปลี่ยนผู้อ่านเมื่อปิดหน้าสุดท้าย”  นวนิยายเรื่องเลือดข้นคนจาง ถือว่าเป็นเรื่องเล่าที่ดียิ่งไปกว่านั้น  เพราะสารอันทรงพลัง ที่สอดแทรกผ่านเหตุการณ์และเรื่องราวของตัวละคร  ทำให้เมื่อปิดหน้าสุดท้าย ผู้อ่านกล้าฝันถึงการถือกำเนิดขึ้นของยุคใหม่ ยุคที่อคติและความเหลื่อมล้ำทางเพศถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ยุคที่เมล็ดพันธุ์แห่งความรักและความเท่าเทียม ได้รับการปลูกฝังและเบ่งบานในหัวใจของสมาชิกทั้งชายและหญิงโดยตั้งต้นจากพื้นที่ในครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานสำคัญอันดับแรกของสังคม ด้วยกลวิธีในการประพันธ์ เนื้อหาสาระ และคุณค่าที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “เลือดข้นคนจาง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓

ไต้ก๋ง

“ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด และส่วนใดของทะเล เขาจะต้องร่าเริง เปี่ยมด้วยพลังเหมือนเกลียวคลื่น…” นี่คือความคิดคำนึง และปณิธาณของ “กิ่ง” เด็กหนุ่มลูกเรือประมงที่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าในวันข้างหน้าของตน “ไต้ก๋ง” นวนิยายของ “ประชาคม ลุนาชัย” บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเผชิญความ    ท้าทาย ชะตากรรมอันหนักหน่วง ดุจจะทดสอบความมั่นคงแห่งจิตใจอันมุ่งมั่นหาญกล้าของเขา จากลูกเรือสู่หน้าที่อันสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็น “ไต้ก๋ง” ผู้นำเรือลำที่โอ่อ่าพรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือประมงอันทันสมัย คืนวันผ่านไปปีแล้วปีเล่า ความรัก ความหวังที่สมหวังและผิดหวัง  ความยากลำบากที่มิได้คาดฝัน ท่ามกลางท้องทะเลกว้าง บางครั้งเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์และเรื่องเล่าขานถึง               “ไต๋กิ่ง” หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ผู้ประพันธ์สร้าง “กิ่ง” ให้มีชีวิตโลดแล่นไปตามบทบาทต่าง ๆ ของแต่ละช่วงวัยได้อย่างเข้มข้น ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตชาวประมง ลูกเรือที่มีทั้งด้านมืด และด้านสว่างที่เราอาจไม่เคยรู้แต่ทว่ามีอยู่จริง ธุรกิจประมงระหว่างนายทุนกับลูกเรือ ตลอดจนปัญหาระหว่างน่านน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยวรรณศิลป์อันคมคาย ลุ่มลึก ให้รายละเอียดในทุกจังหวะชีวิตของตัวละคร สามารถทำให้ผู้อ่านสะเทือนใจไปกับชะตากรรมของกิ่ง และสัมผัสได้ถึงบุคลิกอันโดดเด่นของเขา นั่นคือ ความซื่อตรง ความอดทน ความสุขุมและความเรียบง่ายในการดำรงชีวิต ที่สำคัญคือการ “ให้” แก่ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยกว่า นับเป็นความงดงามอย่างยิ่งของมนุษย์ ด้วยเนื้อหาที่มีคุณค่าและแสดงความหมายของชีวิต  ตลอดจนการดำเนินเรื่องอย่างสอดคล้อง และภาษาวรรณศิลป์อันมีพลังส่งให้ทุกตัวละครแสดงอารมณ์ของปุถุชนอันมิอาจปฏิเสธได้และมีชีวิตชีวาดูราวกับเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้าผู้อ่าน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้  “ไต้ก๋ง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓  

สัปดาห์สุดท้าย

“สัปดห์สุดท้าย” เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องเศรษฐศาสตร์ได้อย่างน่สนใจ ผู้แต่งสามารถเขียนเรื่องยากๆ ให้เข้าใจง่าย การใช้ภาษาตี ใช้เทคนิคดี อ่านแล้วเกิดอารมณ์สะเทือนใจ ไม่น่าเบื่อ

ในวารวัน

“ในวารวัน” เป็นนวนิยายเกี่ยวกับการต่อสู้ชีวิตของตัวละครเอก ซึ่งผ่านความยากลำบากในชีวิตมาทุกรูปแบบ แต่สามารถผ่านวิกฤติทั้งมวลมาด้วยความใฝ่ดี สะท้อนแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม ให้รายละเอียดเกี่ยวกับสภาพสังคมชนบทสมัยรัชกาลที่ 2 ถึงรัชกาลที่ ๗ สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับธรรมะ และแนวทางการดำเนินชีวิตอย่างมีคุณธรรม

ครอบ (บ้าน)ครัว(เดียว)

“ครอบ (บ้าน) ครัว (เดียว)” เป็นนวนิยายชีวิตครอบครัวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวใหญ่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 จนถึงสมัยปัจจุบัน กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ชับซ้อนและมีปัญหา ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งในด้านความเป็นอยู่ และความคิดของตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครเอก ซึ่งเป็นสตรีที่สามารถยืนหยัดดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็งนวนิยายเรื่องนี้ มีกลวิธีการเสนอเรื่องที่ชวนติดตาม มีองค์ประกอบด้านฉาก ตัวละคร และบทสนทนาที่สมจริง มีชีวิตชีวา ให้ข้อคิดที่หลากหลายเกี่ยวกับการอนุรักษ์และสร้างสรรค์สังคมไทย ด้วยการผสานวัฒนธรรมเก่ากับใหม่ได้อย่างกลมกลืน ผู้แต่งใช้ภาษาและสำนวนโวหาที่เปี่ยมด้วยวรรณศิลป์ มีสีสัน มีเสน่ห์ สร้างจินตภาพได้อย่างแจ่มชัดและก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ

เสือตีตรวน

เป็นนวนิยายแนวชีวิตที่แสดงให้เห็นถึงสภาพการถูกกดขี่ การถูกจำกัดเลรีภาพในการเลือกวิถีชีวิตของมนุษย์ที่อยู่ภายใต้ทุนนิยมโดยภาวะจำยอม ด้วยภาษาที่ประณีด มีพลังสามารถนำผู้อ่านไปสู่บรรยากาศของสถานการณ์และอารมณ์ของตัวละครได้อย่างมีจุดสะเทือนใจ

โลกของจอม

เป็นนวนิยายแฝงปรัชญา มีรูปแบบแตกต่างจากนวนิยายแบบเดิม ผู้เขียนมีข้อมูลมากและพยายามใช้ข้อมูลทั้งหมดเพื่อนำไปสู่แนวคิดสำคัญของเรื่อง สะท้อนภาพและความคิดของคนร่วมสมัยในยุคการแสวงหาอันสับสน

ฟ้าสางที่กลางใจ

เป็นนวนิยายชีวิตครอบครัว สื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้ลึกเป็นธรรมชาติมีความสมจริง มีความแยบยลในการนำเรื่องจากจุดเล็ก ๆ มาขยายเป็นภาพใหญ่ได้อย่างน่าสนใจด้วยภาษาที่เข้มข้น มีสีสันจัดจ้าน โดยเฉพาะบทสนทนา

โพรงมะเดือ

เป็นนวนิยายแนวทางชีวิตชนบท แสดงให้เห็นด้านบวกและด้านลบของสังคมท้องถิ่น สภาพการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากความเจริญทางวัตถุและค่านิยมทางสังคม เสนอคตินิยมแบบไทย ๆ มีกลวิธีในการนำเสนอต่างจากขนบโดยทั่วไป ใช้ภาษาที่มีสีสันมีชีวิตชีวาและ อารมณ์ขัน

พระจันทร์สีเขียว

เป็นนวนิยายแนวส่งเสริมคุณค่าสิ่งแวดล้อม มีเนื้อหาสร้างสรรค์ให้กำลังใจแก่ผู้ที่ทำงานเพื่อส่วนรวม ด้วยอุดมกรณ์ที่แน่วแน่ มีเป้าหมายในการนำเสนอชัดเจนและดีงาม ด้วยการใช้ภาษาและสำนวนโวหารที่เข้าใจง่าย แต่คมคายและน่าประทับใจ

ป่าเปลี่ยนสี

เป็นนวนิยายแนวอนุรักษ์ ปลุกจิตสำนึกให้เห็นคุณค่าของธรรมชาติ ให้คิดถึงว่าป่านั้นเอื้อประโยชน์แก่สิ่งมีชีวิต ให้ภาพกรรุกรานของมนุษย์ที่มีวิสัยทัศน์แคบ เห็นแก่ตัว และให้เห็นความพยายามที่จะป้องกันตนเองของป่า ด้วยวิธีการนำเสนอที่กลมกลืน

บัลลังก์แสงเดือน

เป็นนวนิยายชีวิตรักให้แง่คิดด้านคุณธรรม การใช้ชีวิตร่วมกันของแต่ละคนที่มีความต่างและขัดแย้งกัน ให้ความรู้สึกที่ดีในการเข้าใจเพื่อนมนุษย์ ให้ความเพลิดเพลิน มีการนำเสนอชวนให้ติดตาม