ผลรางวัล

เสริมสร้างกำลังใจ

  • Home
  • เสริมสร้างกำลังใจ

พิชิตโควิดด้วยจิตกวี

“พิชิตโควิดด้วยจิตกวี”  รวมงานร้อยกรองของ ด.ญ.รินรัก แซ่โค้ว ยุวกวีที่มีมานะมุ่งมั่นเรียงร้อยสร้อยอักษรอันงดงามออกมาเป็นงานประพันธ์ด้วยฉันทลักษณ์ กาพย์ยานี ๑๑ เนื้อหาสาระกล่าวถึงสภาพเหตุการณ์ ข่าวสาร ในช่วงที่ไวรัสโควิดกำลังระบาดหนักทั่วโลก  เป็นงานเขียนบริสุทธิ์ที่พรั่งพรูออกมาจากพัฒนาการทางกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาของผู้เขียน  สำนวนภาษา  เรียบง่ายเหมาะสมกับวัย  เช่น “ไข้หวัดโคโรน่า  อยากบอกว่าน่ากลัวจัง  แค่หนูนั้นได้ฟัง  เป็นข่าวดังที่โหดร้าย”    “หน้ากากอนามัย  ฉันสงสัยเป็นนักหนา  ทำไมมีราคา แพงนักหนักหนาแพงเกินไป  หรือผ้าทำจากทอง  ฉันก็มองอย่างสงสัย  ดูแล้วก็ไม่ใช่ แล้วทำไมขายแพงจัง”    “หมอคือเทวดา  นางฟ้าคือพยาบาล พวกเราควรสงสาร  พยาบาลและคุณหมอ” พลังการเขียนด้วยใจรักงานวรรณศิลป์ของเด็กหญิงวัยแปดขวบที่กำลังมีพัฒนาการทั้งร่างกายและจิตใจ  เป็นเรื่องที่น่ายกย่อง  นับเป็นการเริ่มต้นภาษากวีที่ซื่อใส รอวันบ่มเพาะประสบการณ์ต่อไป  ผู้เขียนตั้งใจเขียนตามความรู้สึกของตนได้อย่างมีลีลา  ความหมายแจ่มแจ้งชัดเจน  นับเป็นงานสร้างสรรค์ที่น่าชื่นชม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบเกียรติบัตรรางวัลเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ ด.ญ.รินรัก  แซ่โค้ว ผู้เขียน  “พิชิตโควิดด้วยจิตกวี” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจแก่เยาวชนต้นแบบการสืบสานขนบวรรณศิลป์ของไทย

ฮ่วงเฮ้า

กวีนิพนธ์เรื่อง “ฮ่วงเฮ้า” ผู้ประพันธ์เรียกผลงานชุดนี้ว่าเป็น “คันธชาตินิพนธ์ภาษาไทยถิ่นอีสาน” ของ คำเมือง ราวะรินทร์ เป็นรวมบทกวีที่ประพันธ์ด้วยภาษาไทยถิ่นอีสาน ตามขนบวรรณศิลป์ดั้งเดิมของวัฒนธรรมไทยอีสาน นำเสนอภาพวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยพื้นถิ่นที่ผูกพันกับธรรมชาติ ด้วยลีลาทางวรรณศิลป์ โดยนำคำต่าง ๆ มาเรียงร้อยตามลำดับอักษร พร้อมอธิบายศัพท์อย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังจดจารกวีนิพนธ์นี้ด้วยอักษรธรรมแบบอีสาน  ทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต พร้อม ๆ ไปกับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาถิ่น  ฉันทลักษณ์โบราณที่นับวันจะถูกลืมและสูญหายไป  จึงกล่าวได้ว่าผู้ประพันธ์มีความวิริยะอุตสาหะและปณิธานแรงกล้าในการสืบสานมรดกวัฒนธรรมทางหนังสือที่กำลังจะสูญหายไป คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลเสริมสร้างกำลังใจให้ คำเมือง ราวะรินทร์ ผู้ประพันธ์   “ฮ่วงเฮ้า” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยความวิริยะอุตสาหะในการสืบสานภาษาและขนบ วรรณศิลป์พื้นถิ่นของไทย

ดวงตาหิ่งห้อย

“ดวงตาหิ่งห้อย” ของ “ปริม” เป็นหนังสือในโครงการ “วิธีสมุดบันทึก” ที่ส่งเสริมให้เยาวชนเขียนบันทึกทุกวัน ผู้เขียนซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุเพียง ๑๒ ปี เลือกใช้รูปแบบคำประพันธ์ประเภทโคลงในการจดบันทึกประจำวันโดยแต่งโคลงวันละ ๒ บททุกวัน นอกจากโคลงสี่สุภาพแล้ว บางวันใช้โคลงกลบท ได้แก่ กลบทบุษบงแย้มผกา กลบทจาตุรทิศ โคลงกระทู้ และโคลงโบราณมหาสินธุมาลี แสดงถึงความรักในการประพันธ์และความเพียรในการสืบสานรูปแบบคำประพันธ์โบราณของเยาวชนซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ “เด็กหญิงศุภาพิชญ์ พรอำนวยผล” ผู้ประพันธ์ “ดวงตาหิ่งห้อย” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยในการเป็นเยาวชนต้นแบบการสืบสานขนบวรรณศิลป์ของไทย  

คนที่เรารัก คนที่รักเรา

ผู้ประพันธ์มีความตั้งใจในการทำงาน การใช้ภาษาดี หากฝึกฝนบ่อยๆ สามารถพัฒนางานเขียนได้ต่อไปในอนาคต

ยังมีหวัง

เนื่องจากผู้เขียนมีอายุเยาว์กว่าทุกคนที่ส่งหนังสือเข้าประกวด สำนวนในการเขียนดี รู้จักเอาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มาเขียนเป็นเรื่องราว มีแววจะเป็นนักเขียนที่ดี เขียนเรื่องยังไม่เสมอต้นเสมอปลาย ยังไม่รู้จักใช้บทเจรจา ให้พยายามเขียนอีก ให้เขียนในเรื่องที่มีประสบการณ์ตรง เช่น สิ่งที่ได้ไปพบหรืออ่านมา เรียนรู้ลักษณะคำประพันธ์ อ่านเรื่องที่ชนะการประกวดเพื่อที่จะได้ทราบถึงวิธีการเขียน