ผลรางวัล

รางวัลยกย่องการสืบสานขนบวรรณศิลป์ท้องถิ่น

  • Home
  • รางวัลยกย่องการสืบสานขนบวรรณศิลป์ท้องถิ่น

การเวกครวญ

การเวกครวญ กวีนิพนธ์ของ พันดา  ธรรมดา  เป็นรวมบทกวีที่แต่งด้วยคำประพันธ์ที่ผู้แต่งเรียกว่า “กลอนด้น” หมายถึงกลอนที่ใช้ในการขับโนราหรือการเล่นหนังตะลุง เป็นกลอนแปดที่ไม่ได้เคร่งครัดจังหวะและสัมผัสในแบบสุนทรภู่  เนื้อหานำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตในบ้านเกิดท้องถิ่นใต้ ศิลปะการแสดงโนรา ชีวิตในครอบครัว  วิถีชิวิตพื้นถิ่น ประเพณีที่มีพุทธศาสนาเป็นแนวทางและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติรวมทั้งบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นใต้ในสังคมร่วมสมัย ด้านศิลปะการประพันธ์มีความโดดเด่นด้วยการประสานศิลป์ ใช้ท่วงทำนองของศิลปะการแสดงโนรามานำเสนอในรูปแบบกวีนิพนธ์อย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะ การใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบท่วงทำนองของเนื้อหาแต่ละตอนเหมือนเสียงขับขานและลีลาของนกที่มีในพื้นถิ่น โดยตั้งชื่อแต่ละภาคว่า การเวกครวญ กาเหว่าหวน วิมานสาลิกาและน้ำตานกเปล้า ใช้ท่วงทำนองการเล่าเรื่องเหมือนการขับขานโนรา แสดงถึงศักยภาพในการผสมผสานขนบการแสดงพื้นบ้านกับเรื่องเล่าในท้องถิ่นได้อย่างมีวรรณศิลป์ แสดงให้เห็นภูมิธรรมแห่งพื้นถิ่นด้วยความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลยกย่องการสืบสานขนบวรรณศิลป์ท้องถิ่น ให้  พันดา  ธรรมดา  ผู้ประพันธ์ การเวกครวญ เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยความวิริยะอุตสาหะในการสืบสานภาษาและขนบวรรณศิลป์พื้นถิ่นของไทย

ดอย ฟ้า นา เเม่

“ดอย ฟ้า นา แม่” กวีนิพนธ์ของ “วิลักษณ์ ศรีป่าซาง” เนื้อหาเข้มข้นด้วย บรรยากาศเมืองเหนือ อันประกอบไปด้วยความเป็น “คนเมือง” ที่ยัง “อู้กำเมือง” ด้วยความ ภูมิใจ เปี่ยมด้วยบรรยากาศ แสง สี เสียง ประเพณี ที่ชวนสะเทือนไหวในอารมณ์ด้วยคม คำแห่งคำเมืองที่ปรากฏอยู่ในเนื้อสาร กวีสามารถเก็บบรรยากาศ “ล่วงสมัย” มาสอดใส่ ในเนื้อถ้อยสอดร้อยไปกับบรรยากาศ “ร่วมสมัย” ได้อย่างกลมกลืน กอปรด้วยอลังการ แห่งพลังภูมิปัญญาภาษาถิ่น และรูปแบบฉันทลักษณ์อันหลากหลาย แสดงให้เห็นความช่ำชอง ในการใช้คำอย่างมีชั้นเชิง เหมาะงามตามรูปแบบฉันทลักษณ์ที่เลือกใช้ในแต่ละช่วง โดยเฉพาะ ฉันทลักษณ์ประเภทโคลง กวีอวดฝีมือช่างสลักคำได้อย่างงดงาม อลังการ แสดงให้เห็นภูมิธรรมแห่งพื้นถิ่น ด้วยความภูมิใจในรากเหง้าของตน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลยกย่องการสืบสานขนบวรรณศิลป์ท้องถิ่น ให้ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้ประพันธ์ “ดอย ฟ้า นา แม่” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่อง ชมเชยความวิริยะอุตสาหะในการสืบสานภาษาและขนบวรรณศิลป์พื้นถิ่นของไทย