รางวัลชนะเลิศ
อีกฟากด้านกระดานหก
อีกฟากด้านกระดานหก รวมกวีนิพนธ์ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ จำนวน ๕๖ สำนวน ใช้ฉันทลักษณ์รูปแบบกลอนเป็นหลัก และกลอนเพลงพื้นบ้าน รวมทั้งกาพย์ฉบังบางบท ความโดดเด่นของกวีนิพนธ์เรื่องนี้อยู่ที่ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์มีความเชี่ยวชาญในการผสมผสานท่วงทำนองหลากหลาย ทั้งลีลาเพลงพื้นบ้านให้เข้ากับเนื้อหาและการใช้ถ้อยคำเข้าใจง่าย ลีลาสนุกสนานแม้จะนำเสนอเรื่องราวที่เป็นปัญหาให้ฉุกคิด ในขณะเดียวกันก็ชำนาญในการนำเสนอเนื้อหาเชิงธรรมะและศัพท์ทางศาสนาที่เป็นประเด็นคำถามเชิงปรัชญา บทกวีแต่ละบทจะมีกลวิธีการเล่าเรื่องแตกต่างกัน เช่น การเล่าเรื่องที่เป็นการตั้งคำถามแบบบทสนทนาเพื่อสื่อแนวคิดสำคัญแบบปุจฉา-วิสัชนา การนำเสนอเป็นเรื่องเล่าที่มีโครงเรื่อง ตัวละครและบทสนทนาง่าย ๆ แต่สื่อแนวคิดที่ลุ่มลึก แสดงถึงชั้นเชิงและความเชี่ยวชาญของผู้ประพันธ์ในการร้อยเรียงบทกวีที่มีเรื่องเล่าหลากหลาย เพื่อสื่อแนวคิดหลักของเล่มว่าหากเราคิดถึงความคิดที่ “อยู่อีกฟากกระดานหก” ซึ่งแตกต่างจากที่เราเคยเชื่อหรือคุ้นชินจะเป็นเช่นไร ด้านเนื้อหานำเสนอประเด็นปัญหาทั้งระดับประเทศและระดับโลก ความขัดแย้งและปัญหาของสังคมและการเมืองไทย โดยนำเสนอเป็นเรื่องเล่าที่ชวนติดตาม เช่น ในบท “ทางลม ผู้วางดอกไม้จันทน์” ซึ่งนำเสนอบทสนทนาทิศทางทางการเมืองและการขอคะแนนเสียงแม้ในงานศพ สงครามและความขัดแย้งในหลากหลายภูมิภาคของโลก เช่น ในบท “ดวงตาที่สาม เหนือลุ่มชลนากาฬทวีป” ที่นำเสนอว่ามนุษย์ยังคงเข่นฆ่ากันมิรู้จบสิ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะเสนอปัญหาระดับมหภาค ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งคือผู้ประพันธ์นำรูปธรรมจากธรรมชาติเพื่อเสนอเนื้อหาที่หนักแน่นในเชิงมนุษยธรรม เช่น บทสนทนาของแม่ที่สอนให้ลูกปลูกผักในสวนเพื่อจะได้แบ่งปันให้เพื่อนบ้านซึ่งเป็นผู้อพยพ ในบท “แสงไฟในกระท่อม สุขแซมในเดียงสาราตรี” หรือในบท “บ้านในเวลา รังนกมิเคยกุมขังลูกนก” และบท “ทางสองแพร่ง ทางที่ใครไม่เลือก” เป็นต้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ อีกฟากด้านกระดานหก ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗
อีสานปีดอกเอนอ้าบาน
บันทึกประวัติศาสตร์สามัญชน นำเสนอความทรงจำอันงดงามในวัยเยาว์ของผู้เขียน กับชีวิตผู้คนบนผืนแผ่นดินอีสาน ตั้งแต่ก่อนและหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื้อหาเปี่ยมคุณค่า ให้ความรู้ความเป็นไปทางการเมือง เศรษฐกิจ คู่ขนานกับความเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม ประเพณี จารีตความเชื่อ ถ่ายทอดจากความทรงจำและประสบการณ์จริงของผู้เขียนผ่านวรรณศิลป์สละสลวย ร้อยเรียงด้วยข้อเท็จจริงที่หนักแน่นน่าอ่าน ให้คติแง่คิดเป็นแบบอย่างการดำเนินชีวิตที่มีความสุขและมีคุณค่า คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ อีสานปีดอกเอนอ้าบาน ของ นิคม วรรณราชู ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗
แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวา และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของชาลี
นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพชีวิตของมนุษย์คนหนึ่งชื่อ ชาลี เป็นคนที่มีชีวิตธรรมดา ไร้ความโดดเด่น เรียนไม่เก่ง ทำงานไม่สำคัญ มีคนรักก็เลิกกันไป มีผู้หญิงรับจ้างบำบัดเหงาแต่ก็ไม่มีความหมายอะไร ชาลีมีชีวิตลอย ๆ งง ๆ ไร้เป้าหมาย ประดุจมะพร้าวทะเลทราย แห้งแล้งไร้ชีวิตชีวา คิดฆ่าตัวตายโดยไม่มีเหตุผลถึงสามครั้งแต่ก็ไม่ตาย สุดท้ายพบว่ามีคนชื่อชาลีเหมือนเขาอีกหนึ่งคน แต่เป็นนักเขียน เขาจึงตามหาจนพบ และพบว่าเขาทั้งสองมีประวัติภูมิหลังใกล้เคียงกันมาก เขาเอาปืนไปด้วย สุดท้ายก็มีเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด และชาลีก็เหลือคนเดียว เรื่องนี้สะท้อนภาวะมนุษย์ที่สวนทางกับมนุษย์แบบฉบับ มนุษย์จะต้องดี เก่ง ประสบความสำเร็จ เป็นคนดีมีความหมายในสังคม แต่ชาลีตรงกันข้าม จืดชืดสนิท ไร้ตัวตน มีลักษณะเป็นตัวเอกแบบปฏิลักษณ์(Anti-hero) ผู้เขียนใช้ท่วงทำนองของการเสียดสีเย้ยหยันชีวิตคนเมือง ใช้สถานการณ์เกินจริง สัญลักษณ์ เพลง และกระบวนการทำซ้ำทางวรรณศิลป์เพื่อตอกย้ำอารมณ์เบื่อและเหงาสู่ตัวละครและคนอ่าน ในขณะเดียวกันก็หยอกล้อตนเองในฐานะนักเขียนไปด้วย ซึ่งภาพคนแบบชาลีนี้คือคนส่วนใหญ่ของสังคมดิจิทัลในปัจจุบัน และการสะท้อนภาพชาลีในฐานะตัวเอกไร้คุณค่านับเป็นความจริงของสังคม และเป็นความกล้าหาญอย่างยิ่งของผู้เขียน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ แชมเปญจ์น ซูเปอร์โนวา และการฆ่าตัวตายครั้งสุดท้ายของ ชาลี ของ พิชา รัตนานคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗
การ์ตูนชุด เล่มละบาป (แลกชีวิต/ฤทธิ์โจรบู๊/ชู้ไร้อันดับ/ลับลวงใจ/เมาให้ลืม)
การ์ตูนชุด เล่มละบาป (แลกชีวิต/ฤทธิ์โจรบู๊/ชู้ไร้อันดับ/ลับลวงใจ/เมาให้ลืม) เป็นการ์ตูนแนวตลกร้ายที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีคุณค่าต่อสังคม ชื่อชุดหนังสือ “การ์ตูนเล่มละบาป” ล้อมาจาก“การ์ตูนเล่มละบาท” ที่ได้รับความนิยมของประชาชนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน รูปเล่มหนังสือเป็นเล่มบาง ๆ แบบการ์ตูนเล่มละบาทดั้งเดิม เค้าโครงเรื่องเป็นการนำศีล ๕ ของพุทธศาสนา มาสร้างสรรค์นำเสนอในรูปแบบการ์ตูนคุณธรรมตลกร้าย ๕ เรื่อง เล่มที่ ๑ ห้ามฆ่าสัตว์ เล่มที่ ๒ ห้ามลักทรัพย์ เล่มที่ ๓ ห้ามพูดเท็จ เล่มที่ ๔ ห้ามประพฤติผิดทางกาม เล่มที่ ๕ ห้ามดื่มสุราและของมึนเมา รวมเป็น ๑ ชุด ซึ่งการดำเนินเรื่อง การหักมุม มุกตลก คงเทคนิคสไตล์นิค ขายหัวเราะไว้ครบถ้วน เนื้อหาของเรื่องสนุกเข้าถึงผู้อ่านได้ง่าย สอนศีลธรรมโดยให้ผู้อ่านซึมซับรับรู้และได้แง่คิดด้วยตัวเอง ฝีมือการวาดลายเส้นสวยงามใช้เทคนิควาดลายเส้นผสมกับดิจิตอลเพ้นท์ การจัดองค์ประกอบภาพดี การ์ตูนชุด เล่มละบาป ช่วยกระตุกสติผู้อ่านที่กำลังมัวเมาหลงใหลอยู่ในบาปของตนข้อใดข้อหนึ่ง ด้วยมุกตลกแรง ๆ อีกทั้งหนังสือช่วยแยกกลุ่มแบ่งประเภทไว้ให้ง่ายต่อความเข้าใจ และเลือกสื่อด้วยภาษาแบบใหม่ตามยุคสมัย ทำให้สื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้เป็นอย่างดี คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้การ์ตูนชุด เล่มละบาป (แลกชีวิต/ฤทธิ์โจรบู๊/ชู้ไร้อันดับ/ลับลวงใจ/เมาให้ลืม) ของ นิค ขายหัวเราะ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗
แด่ลิลลี่ในความทรงจำ
แด่ลิลลี่ในความทรงจำ เป็นหนังสือในโครงการ 7-11 ถอดรหัสนักวาดการ์ตูนในฝัน ส่งผลงานเข้าประกวดในนามกลุ่ม แด่ลิลลี่ในความทรงจำ เป็นการ์ตูนสั้นที่นำเสนอภาพและเรื่องราวที่ตอกย้ำให้ผู้อ่านเห็นความลึกซึ้งของ “ความคิด” และ “พฤติกรรม” ของมนุษย์ และจรรยาบรรณแพทย์ เป็นเรื่องราวของหมอรักษาคนไข้สาวที่เป็นโรคไข้ทรพิษ แสดงให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของหญิงสาวจากคนที่สวยมากกลายเป็นน่าเกลียดพุพองด้วยตุ่มหนองทั้งตัว คนที่เคยรักก็ห่างไกลแยกทาง แต่หมอผู้รักษาคนไข้ที่ทุกคนเข้าใจว่าตาบอดเพราะใส่แว่นดำตลอด ก็ยังคงรักษาดูแลคนไข้อย่างดีด้วยจรรยาบรรณของความเป็นหมอ ทำให้หญิงสาวรู้สึกขอบคุณที่หมอยังอยู่เคียงข้าง เมื่อหมอถอดแว่นดำออก ได้กล่าวว่า… “ผมเห็นคุณมาตลอด ดอกลิลลี่สวยที่สุดตั้งแต่แรกได้เจอ” เรื่องนี้ใช้สัญลักษณ์แทนจรรยาบรรณความรับผิดชอบและภาระหน้าที่ ลายเส้นและการจัดภาพการ์ตูนสวยงาม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้แด่ลิลลี่ในความทรงจำ ของ ฟ้าใส เย็นฉ่ำ, สุชัญญา พลสิงหะ, มนทกานต์ นาวาพนม, ภูริพงศ์ พันศิริ, ปิยธิดา มีชำนาญ และ รุ้งนภา นามประทาย ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗
ฤดูฝูงผึ้งป่าอดอยาก
ฤดูฝูงผึ้งป่าอดอยาก ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี เป็นรวมบทกวีแต่งด้วยกลอนสุภาพ มีโคลงสี่สุภาพแทรกอยู่บ้าง เนื้อหาแบ่งเป็น ๒ ภาค คือ ภาคแรก ยิ้มที่ควรจะเป็นของเธอ เนื้อหาเป็นการสำรวจและทบทวนตนเองหลังผ่านประสบการณ์ในชีวิตช่วงที่เติบโต มีทั้งช่วงเวลาที่สุขและเศร้า เหงาและโดดเดี่ยว การกลับมาเพ่งพินิจตัวตนในบท “ยิ้มให้คนตรงหน้ากระจกบ้าง” “เราจะยิ้มอีกครั้งหลังร้องไห้” และ “วันนี้จะเป็นอดีตของวันพรุ่งนี้” ทำให้เข้มแข็งและเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนมีและมั่นใจ เพราะ “วันนี้จะเป็นอดีตของพรุ่งนี้ จงโอบกอดที่เธอมีที่เธอเป็น” ภาคที่สอง ขายโลกก็ขายชีวิต นำเสนอโลกที่ธรรมชาติถูกทำลายและทำร้ายด้วยน้ำมือมนุษย์ โลกยุคใหม่ที่ล้วนเต็มไปด้วย “แม่ค้าป่าออนไลน์” จนฝูงผึ้งในป่าอดอยาก ธรรมชาติเริ่มแปรปรวนเพราะขาดความสมดุล ผู้ประพันธ์เรียกร้องให้มนุษย์ร่วมกันหยุดการ “ขาย” หรือทำลายธรรมชาติเพื่อให้โลกธรรมชาติกลับสู่สมดุล “จงเป็นผึ้งช่วยดอกไม้กับดอกไม้ เพื่อต่อลมหายใจให้มวลมนุษย์” ฤดูฝูงผึ้งป่าอดอยาก เด่นด้านการนำเสนอแนวคิดเปรียบเทียบ สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่มนุษย์เป็นผู้กระทำ ผู้ประพันธ์สามารถสรรคำมาใช้ได้อย่างมีวรรณศิลป์ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ฤดูฝูงผึ้งป่าอดอยาก ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม
โลกาภิวัตน์ผ่านการค้าขายและระบบมรสุมเกิดขึ้นมานับพันปีแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นหลักฐานยืนยันเรื่องนี้ได้ดี แม้เป็นงานค้นคว้าทางวิชาการ แต่ใช้ภาษาที่รื่นรมย์เพลิดเพลิน ผสมผสานเนื้อหาสาระกับลีลาภาษา จนเป็นหนังสือที่ทรงคุณค่าอย่างยิ่ง ประวัติศาสตร์ชาวสยามมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรม การค้า การศาสนา การเมืองการปกครองกับนานาอารยประเทศมาเนิ่นนานแล้ว คำไทยมากมายจัดเป็น “คำยืม” จากภาษาต่างประเทศ แม้กระทั่งจากภาษาเปอร์เซีย เช่น กุหลาบ มัสมั่น ข้าวหมกไก่ หรือแม้กระทั่งของใช้ในชีวิตประจำวันอย่าง “ผ้าขาวม้า” ก็มาจากภาษาเปอร์เซียว่า “กามาร์ บันด์” (Kamar Band) หนังสือเล่มนี้ค้นคว้าเรื่องราวเช่นนี้อย่างมีวรรณศิลป์ และเปี่ยมด้วยข้อมูลความรู้ จึงมีคุณค่าสมกับรางวัลชนะเลิศประเภทสารคดี คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ กุหลาบเปอร์เชียในแดนสยาม ของ กุสุมา รักษมณี ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
เหมือนหั่นหัวหอม
เหมือนหั่นหัวหอม วรรณกรรมเยาวชนสะท้อนปัญหาของเด็กที่ถูกล้อเลียน ทำให้เศร้าเสียใจ เสียน้ำตา มุ่งสื่อสารให้ผู้อ่านเข้าใจ ลดละการกระทำที่สร้างบาดแผลในใจให้ผู้อื่น เหมือนหั่นหัวหอม นำเสนอเรื่องราวสนุก ซุกซน ปนเศร้าของ วิน โม่ มาย แก้ม และเพื่อน ๆ นักเรียนชั้น ป.๔ โรงเรียนแห่งหนึ่ง วิน ลูกแม่ค้าขายข้าวแกงหน้าโรงเรียน ฐานะยากจน จึงรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าเพื่อน โม่ เด็กชายตัวอ้วนที่มีอาม่าเลี้ยงดูด้วยความรัก บำรุงด้วยอาหารดี ๆ อบรมสั่งสอนให้ข้อคิดในการใช้ชีวิต มาย ลูกสาวแม่เลี้ยงเดี่ยว ไม่เคยเห็นหน้าพ่อตั้งแต่เกิด แก้ม เด็กหญิงตัวเล็ก เรียนเก่ง ซึ่งพ่อแม่หวังให้เป็นหมอเหมือนพ่อ ไม่มีโอกาสเลือกทำในสิ่งที่ตนเองชอบ เด็กทั้งสี่คนมีปมในใจที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ถูกซ้ำเติมจากเพื่อนที่นำปมด้อยของแต่ละคน มาตั้งฉายาล้อเลียนทำให้เศร้าเสียใจ ปมปัญหาของเด็ก ๆ ค่อย ๆ คลี่คลาย ด้วยความรัก ความเข้าใจ ของพ่อแม่ และญาติมิตร ผู้ใหญ่บางคนยอมปรับพฤติกรรมของตน เพื่อส่งเสริมกำลังใจเด็ก ๆ ให้เติบโตอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็งและมีความสุข ครูแก้ปัญหาการล้อเลียนโดยใช้หัวหอมเป็นสื่อ ให้นักเรียนได้พูดสื่อสารความในใจที่ทำให้รู้สึกเสียใจน้ำตาไหลเหมือนหั่นหัวหอม ทำให้เด็กเข้าใจ และรับรู้ถึงความรู้สึกของเพื่อน ว่าไม่มีใครชอบถูกล้อ แม้แต่ผู้ที่ล้อคนอื่น ก็ไม่อยากให้ใครมาล้อตนเอง ยอมรับความผิดพลาด กล้าที่จะขอโทษ ให้อภัย ช่วยเหลือกัน อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข เหมือนหั่นหัวหอม เป็นเรื่องราวในมุมมองของเด็ก อ่านสนุก ภาพประกอบสวยงาม มีสาระ ความรู้ สอดแทรกข้อคิดคำคมไว้อย่างน่าสนใจ เป็นประโยชน์สำหรับเด็กและผู้ใหญ่ สามารถนำไปปรับใช้สร้างความเข้มแข็งให้ตนเองและคนรอบข้าง โดยไม่ล้อเลียนผู้อื่น และรับมือกับการถูกล้อเลียนได้อย่างเหมาะสม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ เหมือนหั่นหัวหอม ของ สองขา ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
สู่อนาคตกาล
สู่อนาคตกาล ของ อุเทน พรมแดง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ๘ เรื่อง ที่นำความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีมาเสนอภาพปัญหาและอิทธิพลต่อสภาพสังคมปัจจุบัน ด้วย ชั้นเชิงการเล่าเรื่องอย่างแยบยลและสมจริง แม้โครงเรื่องจะใช้ฉากของโลกอนาคต หรือเหตุการณ์เหนือจริง แต่ก็มิได้ทิ้งหลักเหตุผลและความเป็นไปได้ สะท้อนภาพสังคมไทยในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยความยอกย้อนสับสนได้อย่างเด่นชัดและน่าสนใจ ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ อยู่ตรงที่นำเสนอสารัตถะและองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาสอดประสานกับเนื้อหาทางด้านสังคมและการเมือง ด้วยกลวิธีการประพันธ์ที่มีวรรณศิลป์ และสร้างความสะเทือนอารมณ์ได้อย่างน่าประทับใจยิ่ง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น สู่อนาคตกาล ของ อุเทน พรมแดง ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
หมาป่ากลางมหาสมุทร
ชื่อของประชาคม ลุนาชัย กับประสบการณ์ลูกเรือประมงมาคู่กัน นวนิยายเกี่ยวกับเรื่องลูกทะเล หลายเรื่องของเขาได้รับรางวัลทั้งจากการประกวดหนังสือดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ และเซเว่นบุ๊คอวอร์ด จนนักอ่านหลายคนคิดว่า คลังลูกเรือประมงของเขาต้องหมดและไม่มีช่องว่างให้เขียนอีก แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเขายังสร้างความแตกต่างได้ หมาป่ากลางมหาสมุทร เป็นนวนิยายที่ใช้ฉากและบรรยากาศของชีวิตลูกเรือประมงเป็นพื้นหลังเพื่อสะท้อนแก่นแท้ของเรื่องคือจิตใจส่วนลึกของความเป็นมนุษย์ ผู้เขียนใช้วิธีเล่าผ่านมุมมองของตัวละครเอกด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งเพื่อให้สามารถลงลึกถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างถึงที่สุด โดยให้เขาเป็นผู้เล่าเชิงวิเคราะห์ชีวิตของลูกเรือทุกคน นับแต่กัปตันไปจนกระทั่งลูกเรือตัวเล็ก ๆ อันเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคทั้งจากสภาพทะเลและจากมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ก็ยังสามารถดำเนินไปได้อย่างมีความหวัง หลังจากนั้นผู้เขียนได้พลิกเรื่องสะท้อนภาพของมนุษย์ที่มีจิตใจเป็นสัตว์ซึ่งเป็นฆาตกรฆ่าทุกคนบนเรือ มีตัวละครเอกรอดคนเดียว และเกิดสถานการณ์โชคล้อ (Irony) เมื่อตัวละครเอกและฆาตกรกระโดดหนีความตายมาเกาะอยู่บนแพเดียวกัน ภาวะนี้เอง ตัวละครเอกจึงแสดงความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุดผ่านจิตใจภายใน ท่ามกลางความโหดร้ายของทะเลและการเอาตัวรอดทั้งจากทะเลและศัตรู เขาต้องต่อสู้กับความมีจิตเป็นมนุษย์กับความมีจิตเป็นสัตว์ร้ายระหว่างการเอาชีวิตรอด คล้ายเฒ่าผจญทะเลของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ กับเศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึกของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ไปพร้อมกัน และกลายเป็นหมาป่ากลางมหาสมุทรแบบประชาคม ลุนาชัย ได้อย่างทระนงองอาจ ท้ายสุด ผู้เขียนได้นำไปสู่การลงจบที่ดี อาจกล่าวได้ว่า เมื่อได้ค้นพบความเป็นหมาป่าในจิตใจมนุษย์แล้ว ผู้เขียนประสงค์จะให้รางวัลแก่ตัวละครโดยให้ทุกอย่างลงเอยอย่างงดงาม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ หมาป่ากลางมหาสมุทร ของ ประชาคม ลุนาชัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
ควันหลง และ หมอกขาว
ควันหลง และ หมอกขาว นำเสนอเรื่องราวผ่านการ์ตูนเด็กหญิงและเด็กชายกับแมว ประกอบภาพธรรมชาติต่าง ๆ ในลักษณะเชิงสัญลักษณ์ ด้วยรูปแบบภาพประกอบที่มีรายละเอียดและการจัดวางสวยงาม ใช้เทคนิคผสมผสานในการทำให้ภาพโดดเด่นเป็นสากล หนังสือจัดแบ่งเป็น ๒ เรื่อง คือ เรื่อง “ควันหลง” ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านแมวดำ ชื่อ “ควันหลง” กับเด็กหญิง “ฟองฝัน” ทั้ง ๒ พบและร่วมกันตามหาครอบครัวควันหลง และความฝันของฟองฝัน เรื่องนี้เล่าถึงความผูกพันห่วงหาอาทรของกันและกัน เรื่อง “หมอกขาว” เล่าผ่านเด็กชาย “สายลม” ที่สูญเสียคุณยายและคิดเสมอว่ายายจะเป็นผีเสื้อมาหา จนได้พบและผูกพันกับแมวขาวชื่อ “หมอกขาว” สายลมได้คลายทุกข์ โดยมีหมอกขาวเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ สองเรื่องนี้ นิยามคำว่า “ครอบครัว” ที่แสดงถึงความผูกพัน สร้างสายใยชีวิตไม่จำกัดเพศวัย หรือสายเลือด ขอเพียงให้มีสัมพันธภาพที่แน่นแฟ้นและมีความรักความอบอุ่น “เป็นครอบครัวที่เราเลือกด้วยตนเอง” โดยใช้สัญลักษณ์ผ่านแมว ๒ ตัว ทั้ง ๒ เรื่อง สุดท้ายก็มาบรรจบสัมพันธ์กัน ควันหลง และ หมอกขาว ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงคุณค่าความรัก ความผูกพัน และสัมพันธภาพของชีวิต คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ควันหลง และ หมอกขาว ของ มนัสวี โรจนพรรณ ได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม
เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม รวมบทกวีของ นิตา มาศิริ แบ่งเนื้อหาสาระเป็น ๖ ตอน ได้แก่ มือที่จับดินสอเขียนกอไก่ มนุษย์คือสัตว์ทดลองของพระเจ้า เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม ดูสิดวงใจของใครหนอ สนิมบนขวานและบ้านของเรา และสายธารที่ท้นหลั่งกำลังใจ โดยภาพรวมของทุกตอน เนื้อหาสาระง่ายงาม มีศิลปะในการใช้ภาษา เป็นเรื่องราวการผ่านพบปรากฏการณ์ทางสังคมและธรรมชาติ ทำให้เกิดความรู้สึกและเห็นภาพได้กระจ่างชัด เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม เป็นกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าและเชิงชั้นทางวรรณศิลป์ รูปแบบฉันทลักษณ์ใช้กลอนแปดเป็นหลัก แทรกด้วยกาพย์ยานี โดดเด่นด้วยกวีโวหาร เลือกสรรคำและภาพพจน์มาใช้อย่างเหมาะสม มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างอารมณ์สะเทือนใจ เช่น ฉันกับเรือใบในมหานคร หน้ากากสีทอง นิทานดวงดาวและข่าวคราวของสงคราม เป็นต้น ด้วยการใช้จินตนาการ พร้อมถ้อยคำอย่างมีชั้นเชิง ผสมผสานความสุข ความเศร้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว แต่น่าค้นหาข้อความจริงที่ผู้เขียนซ่อนไว้ ดังตัวอย่างจาก เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม “บนดาวดวงเดียวกัน สัมพันธภาพ เคยไหมทาบทอแสงฉายแรงหวัง ไปบนผืนแผ่นดินถิ่นหยัดยัง ท่ามกลางความเกลียดชังที่ฝังใจ ดาวดวงที่ฉันอยู่ …ท้นรู้สึก ว่าลึกลึก คืนวันฉันหวั่นไหว โอบกอดความปวดร้าวมายาวไกล ณ แดนดินยากไร้…และไกลจันทร์…” หรือในบท โลกวันใหม่ ที่ว่า “ดาวจะอยู่อย่างไรหากไร้ฟ้า ผู้โอบอุ้มชีวาแห่งสมัย หนอ, นิทานดวงดาวอันยาวไกล บอกว่าโลกวันใหม่ – ไม่เหมือนเดิม” คณะกรรมการจึงมีมติให้รวมบทกวี เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม ของ นิตา มาศิริ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
ละไว้ในฐานที่คิดถึง
ละไว้ในฐานที่คิดถึง ของ แทนชีวา เป็นกวีนิพนธ์ ใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก มุ่งเน้นการถกแถลง “สาระแห่งชีวิต” เป็นเนื้อหาแห่งบทกวี โดยใช้ภาษาที่เรียบง่าย มีความฝัน ของคนหนุ่มสาว การเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตนเองและสังคมที่ผ่านมา เพื่อตั้งคำถาม และให้ คำตอบบางประการ การสร้างประเด็นความคิด เปิดโอกาสให้ผู้อ่านแทรกเข้าไปอยู่ในบทกวีได้ด้วยท่าที ของกวีเป็นดั่งการสนทนาถึงการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่ยังมีคำตอบไม่แจ่มชัด ต่างจากรุ่น บรรพบุรุษ ซึ่งมีชีวิตชัดเจนนับตั้งแต่ออกจากระบบการศึกษา ละไว้ในฐานที่คิดถึง จึงเป็นการคิดใคร่ครวญ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ในการ แสวงหาความหมายของชีวิต ในขณะถูกกระแสโลกสมัยใหม่เหวี่ยงแต่ละคนออกไปคนละทิศ ละทาง แต่ความรักความผูกพัน ความฝัน และความดี อันรวมเป็น “ความคิดถึง” จะยังคง ส่งทอดและเป็นกำลังใจแก่กัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ละไว้ในฐานที่คิดถึง ของ แทนชีวา ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
หลังบ้านคณะราษฏร
แม้เรื่องราวของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และคณะราษฎร จะมีผู้เขียนถึงมาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่หนังสือเล่มนี้เลือกบันทึกถึงประวัติศาสตร์ช่วงนั้นในแง่มุมใหม่ที่ไม่เคยมีผู้เขียนมาก่อน นั่นคือแง่มุมของ ‘ผู้หญิง’ ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘หลังบ้าน’ ของคณะราษฎรผู้อ่านจึงได้รับรู้ถึงส่วนเสี้ยวแห่งประวัติศาสตร์ที่อาจขาดหายไปในบันทึกอย่างเป็นทางการต่าง ๆ บทบาทคณะราษฎรที่เป็นผู้ชายมักจะมองเห็นได้ง่าย เนื่องจากอยู่หน้าฉาก การเมือง แต่บทบาทผู้หญิงที่ถูกเก็บซ่อนอยู่หลังฉากก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ผู้เขียนเก็บข้อมูลได้ละเอียดลออ และมีวิธีเล่าเรื่อง รวมถึงลีลาภาษาที่ชวนติดตาม สนุกเพลิดเพลินและได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาสำคัญของประเทศไปด้วยพร้อมกัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ หลังบ้านคณะราษฎร ของ ชานันท์ ยอดหงษ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
ด.ช.ตุ้ม
“ด.ช.ตุ้ม” เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตของเด็กชายเชื้อสายจีนในครอบครัวใหญ่ในชนบทแถบนครนายก ที่จากบ้านมาพักอาศัยที่บ้านญาติในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาระดับประถมศึกษาในโรงเรียนเอกชน ผูิแต่งนำเสนอเนื้อหาหลากหลาย สนุกสนานและมีสาระผ่านการบอกเล่าของเด็กชายตุ้ม ในรูปแบบเรื่องสั้นรวม ๔๕ เรื่อง ซึ่งจัดเป็น ๔ กลุ่มตามพัฒนาการของตัวละครตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ๔ เสมือนเป็นตัวแทนสะท้อนอารมณ์ความคิดของเด็กที่ห่างไกลบ้านและครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุข ความเศร้า ความใสซื่อ และซุกซนตามวัยแต่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและการเรียน เนื้อหาของหนังสือ ‘ด.ช.ตุ้ม’ แม้จะเป็นเรื่องย้อนยุคเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินแต่มีสาระและข้อคิดที่เป็นประโยชน์ แม้แต่เรื่องที่เป็น ‘ความสนุกร้าย’ ด้วยความซุกซนและขาดประสบการณ์ของเด็ก ผู้แต่งก็ได้แสดงความรู้สึกผิดของตัวละครและชี้แนวทางที่เหมาะสมไว้ การบรรยายเกี่ยวกับครอบครัวให้สาระเรื่องวิถีชีวิตชาวจีนในสมัยก่อน ที่มีความขยันอดทน และประหยัด เพื่อสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว มีความรัก ความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือดูแลกันในครอบครัวและระหว่างญาติพี่น้อง นอกจากนี้ยังได้รู้ถึงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในชนบท สภาพแวดล้อม และสังคมของท้องถิ่นที่ตัวละครเติบโตมาทั้งในชนบทและในกรุงเทพฯซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในปีจจุบัน หนังสือ ‘ด.ช.ตุ้ม’ มีเนื้อหาแตกต่างจากวรรณกรรมเยาวชนส่วนใหญ่ ให้ทั้งความสนุกสนาน เพลิดเพลิน สาระ ความรู้ และข้อคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การจัดรูปเล่มมีความประณีต ตัวอักษรอ่านง่าย ชัดเจน มีภาพประกอบเป็นภาพวาดสวยงาม ให้อารมณ์และ สอดคล้องกับเนื้อเรื่องแต่ละตอน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ด.ช.ตุ้ม” ของ สุรศักดิ์ กฤษณมิษ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง
สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง ของ รมณ กมลนาวิน เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๒ เรื่อง สะท้อนภาพภาวะความเป็นมนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยความหม่นหมองมุ่งเน้นที่ชีวิตของคนชายขอบ คนต่างด้าว คนยากไร้ ครอบครัว และความทุกข์ของมนุษยชาติ ผ่านเรื่องเล่าด้วยภาษาที่ทรงพลัง สื่อภาพและอารมณ์ความรู้สึก แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงแตกร้าวในสังคม อาทิ ปัญหาด้านจิตวิทยาภายในครอบครัว เรื่องชนชาวเขาซึ่งเป็นปัญหาทางชาติพันธุ์ เรื่องแรงงานต่างด้าวในสังคมไทย เป็นต้น ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่โครงเรื่องซึ่งมีความซับซ่อนมีหลายมิติ บางเรื่องยอกย้อน แล้วค่อย ๆ คลี่คลายเรื่องไปในตัวเอง ผู้แต่งเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ด้วยภาษาที่งดงามและลุ่มลึก ฉายภาพความเป็นปัจเจกบุคคลที่เต็มไปด้วยริ้วรอยแห่งความเศร้า อย่างไรก็ดี แม้เรื่องสั้นชุดนี้จะแสดงให้เห็นถึงความทุกข์นานัปการของมนุษย์ แต่ผู้เขียนก็ตรึงผู้อ่าน ให้ติดตามและมีอารมณ์ร่วมกับชะตากรรมของตัวละคร และในขณะเดียวกันก็สัมผัสถึง“ท่วงทำนองแห่งความหวัง” ที่ผู้เขียนต้องการสะกิดเตือน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง ของ รมณ กมลนาวิน ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู
รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู สะท้อนเรื่องราวความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดของผู้คนในสงครามมหาเอเซียบูรพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แพ้สงครามคือทหารญี่ปุ่น เน้นเนื้อหาการสร้างทางรถไฟจากไทยไปพม่า ซึ่งมีสถานีสุดท้ายอยู่ที่พญาตองซู ในเขตพม่า เรื่องนี้มีลักษณะเป็นเชิงสาระนิยาย เน้นข้อเท็จจริงและใช้จินตนาการซ้อนไปตามความจำเป็น เพื่อสร้างความสะเทือนใจ ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลบุคคลและสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ ส่วนที่เป็นจินตนาการเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ของผู้เขียน ซึ่งเล่าผ่านตัวละครไทยและญี่ปุ่นที่เป็นประหนึ่งนักสำรวจประวัติศาสตร์ โดยในแต่ละจุดที่ตัวละครทั้งสองไปถึงจะมีข้อมูลเรี่องเล่าจากชาวบ้านซ้อนขึ้นมาเป็นเรื่อง ๆ เหมือนภาพศิลปะปะติดปะต่อ หรือ “Collage” ทำให้รู้ว่าท้องถิ่น ห่างไกลความเจริญ (แม้ในปัจจุบัน) ในสมัยสงคราม คือดินแดนแห่งความทุกข์ทรมาน ของมนุษย์ทั้งสองฝ่าย และทำให้รู้ว่า ความเจ็บปวดรวดร้าวของมนุษยชาตินั้นถ่ายทอดสู้กันได้แม้ว่าพวกเขาจะตายไปแล้ว นอกจากข้อเท็จจริงอันชวนตระหนกแล้ว ผู้เขียนยังสร้างความสะเทือนใจด้วยความฝัน การซ้อนภาพปัจจุบันเข้ากับอดีต การหลอกหลอนของภาวะจิต จนเป็นเรื่องกึ่งนิมิตฝันมาสอดร้อยเรื่อง ผสานเข้ากับภาษาที่เปี่ยมไปด้วยภาพจินตนาการ การปะติดปะต่อข้อมูลสงครามที่มนุษยชาติไม่อยากเอ่ยถึงจึงเป็นเหมือนการเปิดบาดแผลในอดีตให้คนปัจจุบันได้ร่วมเจ็บปวดด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นนวนิยายที่ควรแก่การรับรู้ เรียนรู้ และเป็นตัวอย่างในการไม่ทำซ้ำ และในขณะเดียวกันก็นับได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการเขียนในอนาคต ที่ต้องการ “ข้อเท็จจริง” ที่ชัดเจนมากกว่า “จินตนาการ” คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู ของสุมาตร ภูลายยาว ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
Whale Hunters (นักล่าวาฬ)
“WHALE HUNTERS (นักล่าวาฬ)” เป็นหนังสือการ์ตูนในรูปแบบ Graphic Novel ถ่ายทอดผ่าน ๔ เรื่องเล่าจากท้องทะเลที่เคยปรากฏในรูปแบบของเรื่องสั้น กวี และบทเพลง จากผลงานของผู้เขียน เป็นภาพวาดลายเส้น “คุณยังไม่ตายใช่ไหม…” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของทุกเรื่องในหนังสือเรื่องนี้ เนื้อหาเปรียบเทียบเชิงปรัชญาชีวิตในการต่อสู้ทางความคิดของตนเอง ผ่านเรื่องราว ของนักล่าวาฬจากเรื่อง Whale Hunter ตลอดจนความไม่แน่นอนของสัมพันธภาพ ผ่านความรักของหญิงสาวกับคนเฝ้าประภาคารจากเรื่อง LIGHT HOUSE และเรื่อง FLOAT ถ่ายทอดเรื่องราวของแพที่อยากเป็นอิสระ กับชายเฝ้าประภาคาร ส่วนเรื่อง KIMARZ เป็นเรื่องส่งเสริมการเข้าใจตนเอง สังคม ครอบครัว การต่อสู้ชีวิต การต่อสู้กับการยึดติด ในตัวตน และความอยู่รอดของสังคม เผ่าพันธุ์ ที่มาของแรงบันดาลใจ ผู้เขียนต้องการระลึกถึงลูกชาย ที่ต้องการเป็นนักวาดการ์ตูน แต่ไม่มีโอกาสนั้น จึงถ่ายทอดเรื่องราวผ่านนักล่าวาฬ สัญลักษณ์ของความสำเร็จ และ ชื่อเสียงในสังคม “Whale Hunters (นักล่าวาฬ)” สะท้อนเสรีภาพทางความคิดของผู้อ่าน ในมุมมองต่อชีวิต ที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของผู้อ่าน การออกแบบภาพขาวจัดดำจัด จัดองค์ประกอบภาพหลายมุมมอง เข้ากับเรื่องราว ได้ดีหนังสือเล่มนี้เหมาะกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “Whale Hunters (นักลาวาฬ)” ของ จเด็จ กำจรเดช ได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๕
จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้
รวมบทกวี จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ กวีนิพนธ์จากบทสนทนาแห่งชีวิต ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ มีความโดดเด่นด้วยวรรณศิลป์ที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึก สะเทือนอารมณ์ ความเรียบง่ายของทั้งรูปแบบที่ใช้กลอนสุภาพ ภาษาที่เข้าใจง่ายรวมทั้ง ภาษาในบทสนทนา สื่อภาพและเรื่องเล่าของชีวิตผู้คนในสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ด้วยลีลาที่เฉียบคมและบาดลึก ผู้ประพันธ์ ให้ความสำคัญกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในหลากหลายมิติ ทั้งใน ครอบครัวที่ฐานะดี ด้วยความรักและความห่วงใยของพ่อแม่ที่กลับกลายเป็นการไม่เปิด โอกาสให้เด็กได้เลือกเอง ในขณะที่เด็กในครอบครัวผู้ยากไร้กลับไม่มีทางเลือกสำหรับเด็ก การใช้เรื่องราวของเด็กในรายการทีวีเพื่อเพิ่มยอดผู้ชม เรื่องของเด็กหลังห้องที่ครูอาจไม่ได้ ใส่ใจ และเรื่องของเยาวชนจากต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตในเมืองหลวง จนต้องเลือกหาทางออกอันน่าสลดใจ การนำเสนอภาพชีวิตจากหลากหลายมุมในสังคม ประกอบเสียงสนทนาในลีลาและท่วงทำนองกระชับ หนักแน่น ทำให้บทกวีนำเสนอปัญหา ความทุกข์ยากที่หลากหลายอย่างมีพลัง ในขณะเดียวกันก็สื่อแนวคิดเข้มข้นของความเหลื่อมล้ำ ในสังคมได้อย่างคมคาย เนื้อหาของรวมบทกวี ประกอบด้วย ๔ ภาค คือ ภาคหนึ่ง Pandemic: ยุคสมัย แห่งการแพร่พันธุ์ภาคสอง Romanticize: เราทำให้ทุกอย่างโรแมนติก ภาคสาม จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ และภาคสี่ ไปสู่อ้อมกอดอันเป็นนิรันดร์ ด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์สามารถใช้กลอนสุภาพเล่าเรื่องได้อย่าง หลากหลายลีลาและอารมณ์ นำเสนอปัญหาสังคมร่วมสมัยยุคโรคระบาดด้วยท่วงทำนอง เสียดสีอย่างเฉียบคมและขันขื่น เช่น มี “โรคชักหน้าไม่ถึงหลัง” “โรคไร้ความหวังวางจำหน่าย” แถม “โรคซึมเศร้า ซังกะตาย” “คนละครึ่ง” ซื้อขายได้คล่องตัว “โรค เรา ไม่เท่ากัน” แพร่พันธุ์ง่าย จุดส่งเสริมการขายกระจายทั่ว “โรคเหลื่อมล้ำระยะสุดท้าย” ขายถูกชัวร์ “โรคเฉยชากับความชั่ว” ขายทั่วไป… ทั้งนี้ แม้ผู้ประพันธ์จะนำเสนอปัญหาเลวร้ายที่หลากหลายในสังคมร่วมสมัย แต่ก็ไม่ได้ เคียดแค้นชิงชังและสิ้นหวัง ด้วยน้ำเสียงของแม่ เธอยังคงเห่กล่อมลูกน้อยให้มีความหวัง แม้จะตระหนักว่าโลกที่ลูกน้อยจะเติบโตไปจะพบความโหดร้ายเพียงไร “ลูกเอ๋ย…เช่นนี้แหละชีวิต เจ้าอย่าพร่ำพินิจเพียงบาดแผล ศิโรราบซ้ำซ้ำ-ความอ่อนแอ ลั่นกุญแจคุมขังความหวังใด เจ้าจงยืมหัวใจวัยทารก มาเต้นในหัวอกที่หมกไหม้ ยืมแววตาวัยเยาว์อันวาวไว “ชอบ” อาจหลับใหลอยู่ใน “ชัง” ด้วยคุณลักษณะโดดเด่นด้วยวรรณศิลป์ที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกและเฉียบคมดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการจึงมีมติให้หนังสือรวมบทกวี จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๕
ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า : จารึกโรงสี ลูกจีนโพ้นทะเล
ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า : จารึกโรงสี ลูกจีนโพ้นทะเล เป็นงานเขียนประวัติชีวิตของบุพการีที่หนักแน่นด้วยข้อมูล จากการลงพื้นที่ สัมภาษณ์บุคคล และค้นคว้าเอกสาร มานำเสนออย่างมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ เนื้อหามีคุณค่า ให้ทั้งความรู้ทางประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่าและการค้นคว้าหลักฐานอ้างอิงเชิงวิชาการ ประวัติศาสตร์ชุมชน ท้องถิ่น ชาติพันธุ์ สารคดีชีวประวัติของสามัญชนที่ละเอียดและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เช่นนี้หาได้ไม่ง่ายนัก แม้เป็นเรื่องราวของครอบครัวเชื้อสายจีนในดินแดนสยามช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ ที่อยู่ในอำเภอเล็ก ๆ ของจังหวัดไกลโพ้น ทว่ากลับสัมพันธ์กับโครงสร้างการเมืองการปกครองในยุคสมัยต่าง ๆ ฉายภาพให้เห็นการเริ่มต้น ความรุ่งเรือง กระทั่งถึงความร่วงโรยของธุรกิจโรงสี โดยใช้ภาษาที่ลุ่มลึก แต่บอกเล่าให้เข้าใจง่าย ให้บรรยากาศชวนติดตาม ผู้อ่านจึงได้รับอรรถรสทางภาษาสำนวนและความรู้ทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่นไปพร้อมกัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ลมพัดมิรู้ล่วงหน้า : จารึกโรงสี ลูกจีนโพ้นทะเล” ของ สุกัญญา หาญตระกูล ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
การเดินทางของผีเสื้อหลากสี BECOMING A BUTTERFLY
“การเดินทางของผีเสื้อหลากสี BECOMING A BUTTERFLY” เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่ผู้เขียนได้นำประสบการณ์ขณะยังเป็นนักจิตวิทยาฝึกหัดที่โรงพยาบาลบาร์เน็ต กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มาเรียบเรียงเป็นเรื่องสั้นทั้งหมด ๑๒ เรื่อง เนื้อหาเป็นเรื่องราวของ “ลิซ่า” นักจิตวิทยาฝึกหัดกับ ๑๒ กรณีศึกษาของเด็กและวัยรุ่น ๑๒ คน เป็นชาย ๗ คนและหญิง ๕ คน ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักและเข้าใจบทบาทของจิตแพทย์และนักจิตวิทยามากขึ้น ว่าการไปพบจิตแพทย์หรือนักจิตวิทยาเป็นเรื่องปกติเหมือนเช่นเวลาที่ร่างกายของเราเจ็บป่วย เราสามารถไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาได้ จิตแพทย์และนักจิตวิทยาจะช่วยให้คำปรึกษาและแนะนำ อันจะทำให้ได้แนวทางแก้ปัญหา หนังสือเล่มนี้ให้ความรู้แก่ผู้อ่านโดยนำวิชาการด้านจิตเวชกับการทำงานของจิตแพทย์และนักจิตวิทยามาเขียนเรียบเรียงได้อย่างเหมาะสมลงตัว ทำให้รู้ถึงการวางแผนงานที่จะใช้รักษาคนไข้ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น เนื้อหาแต่ละเรื่องชวนอ่าน ชวนติดตาม แม้จะเป็นเรื่องทางการแพทย์ แต่ภาษาเขียนที่ดีทำให้เข้าใจง่าย เป็นหนังสือที่ให้ประโยชน์เหมาะสำหรับเด็กและผู้ใหญ่ที่จะนำไปปรับใช้ ในการดำเนินชีวิตประจำวัน อีกทั้งมีภาพประกอบสวยงามเหมาะสมกับเนื้อหาของทุกเรื่อง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “การเดินทางของผีเสื้อหลากสี BECOMING A BUTTERFLY” ของ เมริษา ยอดมณฑป ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ
“คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” ของ จเด็จ กำจรเดช เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๑ เรื่อง มุ่งสะท้อนภาพวิถีและชีวิตชาวบ้าน เน้นหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยชี้ให้เห็นภาพชีวิตแบบเดิมที่เต็มไปด้วยป่าเขาลำเนาไพร สิงสาราสัตว์ และการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย กับชีวิตที่ถูกเทคโนโลยีสมัยใหม่รุกล้ำตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยตั้งต้นด้วยเรื่องเล็ก ๆ แต่เกี่ยวพันหรือยึดโยงไปสู่เรื่องใหญ่ หรือเรื่องหลักของประเทศหรือแม้กระทั่งเรื่องของโลก บางครั้งแสดงความรู้ด้านตำนาน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณกรรม ฯลฯ มากจนอาจกล่าวได้ว่า แหวกขนบของเรื่องสั้น ผู้เขียนมีวิธีการนำเสนอเรื่องเล่าที่แปลกใหม่แตกต่าง ทำให้ซับซ้อนขึ้นด้วยวิธีเล่าสลับไปสลับมาทั้งย้อนไปในอดีตและก้าวไปในอนาคต และไม่ใช่ครั้งเดียวในแทบทุกเรื่อง รวมทั้งการเล่นกับโลกภายในที่เต็มไปด้วยจินตนาการจนแยกไม่ออกจากโลกภายนอก และอาศัยความเหลื่อมกันของสองโลกนี้เป็นตัวทำให้เกิดความคลุมเครือได้อย่างงดงามและกระแทกใจ เป็นเรื่องสั้นที่มีความเป็นสมัยใหม่ มีเสน่ห์ สมยุคสมสมัย คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น “คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” ของ จเด็จ กำจรเดช ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
LOST & FOUND
“LOST & FOUND” เป็นหนังสือการ์ตูนที่ออกแบบแบ่งเนื้อหาและรูปเล่มออกเป็น ๒ เรื่อง เรื่องละครึ่งเล่ม โดยมีปกหน้าทั้ง ๒ ด้าน เนื้อหาทั้ง ๒ เรื่องไม่สัมพันธ์กันแต่มีเส้นเรื่องเกี่ยวข้องกับทะเลเหมือนกัน และตั้งชื่อ หนังสือให้ล้อกันว่า “LOST & FOUND” เรื่อง “LOST” เป็นผลงานเขียนเรื่องและภาพโดย manasawii (มนัสวี โรจนพรรณ) เป็นผลงานเพื่อสำเร็จ การศึกษาระดับปริญญาโท สาขา Visual Art : Illustration จากประเทศอังกฤษ เป็นการบันทึกความรู้สึกและ ประสบการณ์ที่ได้กลับมาวาดการ์ตูนอีกครั้งของ manasawii โดยนําเสนอ เรื่อง “LOST” ผ่านตัวการ์ตูนเด็กสาวที่บอก ว่าตัวเองเหน็ดเหนื่อยกับการใช้ชีวิตที่ไร้จุดหมาย ทั้งยังมีความกลัว ทําให้ชอบแอบซ่อนตัวอยู่ในโลกจินตนาการ จนวันหนึ่งต้องตื่นจากภวังค์ด้วยการถูกน้ำทะเลกลืนกินทุกอย่างรอบตัวหายไปหมด เหลือเพียงเรือกระดาษ ทําให้เธอจมสู่ใต้ทะเลที่มีเมืองอันมืดมิด เธอร่วมกับตัวประหลาดขนปุกปุย และแมงกะพรุน ช่วยกันตามหานางเงือกที่หายไป ทําให้เมืองใต้ทะเลกลับมามีแสงสว่างดังเดิม และช่วยให้เด็กสาวได้กลับสู่โลกของตัวเอง เรื่อง “FOUND” เป็นผลงานเขียนเรื่องและภาพโดย โฟล์ 19 (รณรงค์ พลบุตร) และ พิม 04 (ศุภัชฌา ประสพพรสุข) บอกเรื่องราวของโลกซึ่งเชื่อมโยงระหว่างชีวิตกับทะเลและมหาสมุทร ที่มีความสดใสและ ลึกลับ ผ่านตัวการ์ตูนเด็กชายชื่อโอเชี่ยน และเพื่อนสัตว์ประหลาดตัวเล็ก ชื่อมูฟี่ ทั้งคู่ออกตามหาพ่อของโอเชี่ยนที่เป็นนักชีววิทยาทางทะเลซึ่งหายตัวไป โอเชี่ยนออกตามหาโดยผจญภัยไปตามที่ต่าง ๆ มีเพื่อนเป็นชายสวม หน้ากากแก๊สชื่อดีน และชาวยิปซีทะเล คอยช่วยเหลือ โอเชี่ยนสามารถเข้าไปสู่ “โลกไร้ซึ่งกาลเวลา” จนสุดท้ายก็ช่วยพ่อจากกลุ่มโจรที่มากับเรือดําน้ำได้ หนังสือ “LOST & FOUND” ออกแบบรูปเล่มหนังสือได้โดดเด่นทันสมัย การวาดภาพที่สวยงาม มีความละเอียด ประณีต มีความคิดสร้างสรรค์ในการผสมผสานเทคนิคภาพถ่าย และผู้วาดสามารถถ่ายทอดจินตนาการเป็นภาพและเรื่องราวที่สนุกสนานได้อย่างมีคุณค่าทางศิลปะ การจัดองค์ประกอบภาพที่เหมาะสมทําให้อ่านง่าย มีเนื้อหาที่สร้างความมั่นใจในตัวเอง จรรโลงสังคมให้ตระหนักรักธรรมชาติ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “LOST & FOUND” ของ manasawii และ 19.04 ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
สถานกาลบังคับ
“สถานกาลบังคับ” ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี เป็นรวมบทกวีที่สะท้อนภาพชีวิตของผู้คนและสรรพสิ่งบนโลกควบคู่ขนานไปกับกาลเวลา เหตุการณ์ความเป็นไปของผู้คน ถูกบีบรัดด้วยกาลเวลา ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม มองเห็นเป็นความสุข ความเศร้า ความทรงจำ และความดีงาม แม้สุดท้ายในความเป็นปัจเจกบุคคลจะจบลงด้วยการจากลาทุกอย่าง มิได้โอบกอดสิ่งใดเอาไว้ แต่ผลงาน การกระทำ อันเป็นคุณแก่โลกเท่านั้นที่จะยังปรากฏอยู่ในท่ามกลางวันเวลาที่ดำเนินต่อไป ผลงานชุดนี้ แบ่งออกเป็น ๒ ภาคส่วน คือส่วนที่เป็นตัวตนของข้าพเจ้า “ภาค ๑ ข้าพเจ้าในห้วงการณ์-เวลา” กับส่วนที่สัมพันธ์กับสังคม “ภาค ๒ กาลเวลาต่างดุ่มเดินไปยังสังคม” ทั้ง ๒ ภาค เป็นภาพการมองโลกจากตัวตนของข้าพเจ้า แสดงให้เห็นว่าชีวิตของคนยังผูกพันกับคติความเชื่อ ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง และความฝันเพื่อหาทางออกให้กับชีวิต ซึ่งกาลเวลาผ่านไปทุกขณะเป็นพลังบังคับให้เดินหน้าไปสู่ความปรารถนานั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “สถานกาลบังคับ” ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
ลูกไม้กลายพันธุ์
“ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” เป็นคำพังเพยที่สะท้อนค่านิยมว่า ลูกมักจะมีวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากพ่อแม่ ความเชื่อนี้เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าพ่อแม่ดี ก็จะเชิดชูให้ลูกดีด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าพ่อแม่ทำผิดพลาด อคติที่เกิดแก่ลูกคือตราบาปว่า “ไม่มีวันดีไปได้” “ลูกไม้กลายพันธุ์” ของ “จันทรา รัศมีทอง” ได้นำเสนอเรื่องราวของเตชิต ลูกชายคนโตของครอบครัวผู้มีฐานะที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ถูกส่งมาอยู่กับปู่ที่สวนในจังหวัดจันทบุรี หลังจากที่ความจริงเปิดเผยว่าพ่อแม่ของเขาไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดที่แท้จริง เขาต้องเก็บความขื่นขม ปรับตัวในสภาพแวดล้อมและกิจวัตรที่ปู่เป็นผู้กำหนด ต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่ในโรงเรียนชนบท ซึ่งมีทั้งลูกผู้มีอิทธิพล ลูกชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เขมรและชอง เขาเลือกที่จะผดุงความยุติธรรมให้แก่เพื่อนที่ถูกเหยียดหยามและถูกรังแก จากความเป็นศัตรู มิตรภาพค่อย ๆ บ่มเพาะจากกิจกรรมในโรงเรียนและการกีฬา เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การแบ่งปัน เผื่อแผ่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และการให้อภัย ในที่สุดบ้านสวนก็ได้เปลี่ยนเตชิตเป็นคนใหม่ ที่เป็น “ลูกไม้กลายพันธุ์” ตามหนทางที่เขาเลือกจะเป็น “จันทรา รัศมีทอง” ดำเนินเรื่องด้วยสำนวนภาษาสละสลวย ผ่านมุมมองของเตชิต ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ความคับแค้น ขมขื่น กดดันจากครอบครัวที่ผลักไสเขาออกไป และเอาใจช่วยให้เตชิต มุมานะ ต่อสู้เอาชนะคำสบประมาทต่าง ๆ ด้วยจิตสำนึกใฝ่ดีที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีอยู่ในมนุษย์ทุกคน สายเลือดไม่สำคัญเท่ากับทางเดินชีวิตที่เรากำหนดเองอันเป็นแนวคิดสำคัญของเรื่อง คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “ลูกไม้กลายพันธุ์” ของ “จันทรา รัศมีทอง” ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน
“เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน” รวมกวีนิพนธ์ของ “กิตติ อัมพรมหา” เป็นงานกวีนิพนธ์ใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ จำนวน ๒๐ สำนวน แบ่งเนื้อหาสาระในเล่มเป็น ๓ ภาค ภาค ๑ ลมหายใจของเรา เป็นการบอกเล่าเรื่องของชีวิตที่เคลื่อนไหวไปกับบริบทรอบข้าง “ขณะเราขณะโลกนั้นเคลื่อนไหว ยังคงเดินทางไกลไปเบื้องหน้า ในอ้อมกอดเนิ่นนานของกาลเวลา โอบเราไว้ตลอดมาตลอดไป” สิ่งที่ผู้เขียนได้พบเห็นมีวิถีเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์กับพัฒนาการของชีวิต ความฝัน ความหวัง ความรัก ความศรัทธาและความอบอุ่น ระลึกรับรู้และเห็นคุณค่า “ลมหายใจเข้าออกบอกระยะ ทุกขณะชีวิตที่เคลื่อนไหว เลือดเนื้อชีวิตและจิตใจ มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้” ภาค ๒ ใต้แสงเงายุคสมัย เรื่องราวการเจริญเติบโตของตนเองกับพัฒนาการในยุคนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ในส่วนนี้ผู้เขียนทำได้อย่างมีเชิงชั้นวรรณศิลป์ ทั้งด้านฉันทลักษณ์ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เนื้อหาสาระเหมาะสมกลมกลืน การใช้ถ้อยคำได้รสคำ รสความ เช่น บทอาขยานกล่อมโลก : ยุคสมาร์ทโฟน การหายตัวไปของม้าก้านกล้วย ในรังนอนของหนอนสายพันธุ์ใหม่ และวันที่ตุ๊กตาไขลานหยุดไขลาน ภาค ๓ ในนิยามโลกความจริง เป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียน กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของสังคมโลกความเป็นไปของยุคสมัย “โลกยังคงเร่งรุดไม่หยุดนิ่ง คือนิยามความจริงแห่งยุคสมัย สรรพสิ่งที่เห็นที่เป็นไป หลากล้วนลมหายใจในสังคม” ผู้เขียนยังครุ่นคิดถึงสภาพสังคมเก่าจึงใช้กลอนเพลงพื้นบ้านนำเสนอ “วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี คืนความสุขให้คนในชาติ เหมือนน้ำท่วมปากนานหลายปี โอ้เจ้าดอกเทคโนโลยี แผ่นดินนี้ยังทุกข์ทน” หรือบทขอจันทร์ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ไม่ขอแล้วข้าว ไม่เอาแล้วแกง ขอสุขคืนสู่ ทุกหนทุกแห่ง สิ่งร้ายแอบแฝง พ่ายแพ้ความดี” และมีหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนยอมรับความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไป รวมบทกวี “เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน” ด้วยเชิงชั้นฉันทลักษณ์ที่ถูกต้องแม่นยำ แนวคิดที่มีขอบข่ายเป้าหมายชัดเจน กอปรด้วยความไพเราะของเสียงและความหมาย อันเกิดจากความประณีตในการใช้ภาษาเป็นรสแห่งถ้อยคำที่นำมาร้อยกรองให้เกิดความรู้สึกและจินตภาพได้อย่างดี ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน” ผลงานของ “กิตติ อัมพรมหา” ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
THEN
ผู้เขียนผูกเรื่องได้ดี กลวิธีในการวาดภาพและเทคนิคดี เล่าเรื่องด้วยภาพได้อารมณ์ชวนติดตามและอ่านสนุกพอสมควร เนื้อหาต้องการสื่อเรื่องความรักระหว่างแม่และลูกผ่านตัวละครชายหญิง ๒ คนที่อยู่ต่างประเทศคือ อนุสิกข์ ที่เป็นตำรวจอยู่ที่ QUEEN CITY ต้องดูแล วาลิกา สาวไทยที่เป็นนักฟ้อนรำแต่เป็นไบ้ ที่มาตามหาแม่ที่ขาดการติดต่อกัน แม่ ของวาลิกาเป็นโสเภณีในเมือง QUEEN CITY ส่งเสียให้วาลิกาเรียนสำเร็จในสิ่งที่ลูกหวังแม้ตัวเองจะลำบาก วาลิกาแสดงความรักและความมุ่งมั่นในการตามหาแม่ แต่ไม่พบเพราะแม่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุไปก่อนหน้านี้ทำให้ไม่ได้ติดต่อวาลิกา จนทำให้อนุสิกข์ ซึ่งหนีแม่ที่อยู่ เมืองไทยเพราะเกลียดที่เขาถูกทำให้เชื่อว่าแม่เป็นโสเภณีหรือเมียน้อยซาวบ้าน ไม่ติดต่อและฉีกจดหมายของแม่ทุกฉบับโดยไม่อ่าน ในท้ายเรื่องก็โทรศัพท์หาแม่และจะกลับเมืองไทยไปพบแม่ เพราะตระหนักถึงความรักของแม่ที่มีต่อตัวเอง และทำเรื่องที่สำคัญก่อนจะสายเกินไป
Alive
วางรูปแบบนิยายภาพได้ดี การแสดงอารมณ์ของตัวละครดีมีความต่อเนื่องของตัวละคร
ลูกผู้ชายชื่อบรรลุ
เป็นอนุทินชีวิตของนายแพทย์บรรลุ ศิริพานิช อันเป็นสารคดีที่เหมาะแก่ยุคสมัยในปัจจุบัน หนังสือได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่านายแพทย์บรรลุเป็นคนตรง มีความซื่อสัตย์สุจริตสูง เคร่งครัดในความถูกต้องและชอบธรรม สมควรเป็นตัวอย่างของคนรุ่นหลังได้อย่างดีผู้เรียบเรียงสรรหาเรื่องที่ดี มีประโยชน์ต่อการสร้างสรรค์และพัฒนาคุณภาพชีวิตมีข้อมูลมาก จนเป็นสารคดีเชิงวิซาการได้ และถึงแม้จะมีเนื้อหาเชิงวิชาการ แต่ผู้เขียนก็รู้จักดำเนินเรื่องอย่างมีเทคนิคให้น่าอ่านราวกับนวนิยายด้วยการผูกปม คลายปม ซึ่งสร้างปมต่อไป ทำให้ผู้อ่านอยากติดตามเรื่อยไปจนตลอดเล่ม ในเชิงวรรณศิลป์ ผู้เรียบเรียงทำได้ดี เป็นขั้นตอนชวนอ่านมีน้ำหนักน่าเชื่อถือเพราะส่วนใหญ่เป็นบันทึกส่วนตัวของนายแพทย์บรรลุเอง และให้ความรู้เกี่ยวกับสภาพท้องถิ่นชนบทและเหตุการณ์บ้านเมืองพร้อมทั้งความเห็นของนายแพทย์บรรลุสรุปได้ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้อ่านให้ทั้งความรู้และความคิด จึงเป็นหนังสือที่ควรสนับสนุนให้พิมพ์เผยแพร่ให้มากๆ ต่อไป เป็นการทำงานการค้นคว้าทางสารคดีเป็นครั้งแรกทั้งจากการสัมภาษณ์และการค้นคว้าจากเอกสารทำได้ดีมาก น่สนับสนุนให้มีการทำสารคดีประวัติบุคคลสำคัญของไทยให้มากขึ้นเพื่อเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมให้คนอื่นๆ ทำต่อไป
หมอกฝัน ม่านฟ้า ห่าฝน
เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์หลายปีต่อเนื่อง อาจมีข้อผิดพลาดด้านฉันทลักษณ์และสัมผัสผิดบ้าง แต่ไม่ถือว่าฉกรรจ์ สำนวนโวหารสร้างสรรค์ มีระดับคุณภาพ การสรรคำใช้พลิ้วกลมกลืน ใช้ถ้อยคำฉันทลักษณ์ ความหมายต่างๆ ลงตัว มีความเป็นหมวดหมู่ ความมีมิติ ของกวีมองได้กว้าง ไกล ลึก ข้อที่น่าชมเชยคือ เขียนในลีลาฉบับที่หายาก โดยรวมแล้วผลงานเหนือกว่าชิ้นอื่น