รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง
ตามหาสรวงสวรรค์
เริ่มเรื่องขึ้นกลางนครใหญ่ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวไกล มนุษย์ใช้เครื่องจักรกลต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกสบาย แม้กระทั่งสามารถซื้ออวัยวะจักรกลเพื่อให้มีชีวิตยืนยาวขึ้น ในนครแห่งนี้มีตำนานเล่าขานถึงเรื่องเมืองสวรรค์ ที่มนุษย์สามารถมีชีวิตชั่วนิรันดร์ แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถพิสูจน์ได้ว่ามีจริง คาวีและมินตรา แฝดสองพี่น้อง กำลังประสบปัญหาด้วยไม่มีกำลังทรัพย์จะจัดหาหัวใจจักรกลมาเปลี่ยนให้แม่ ประกอบกับทั้งสองได้พบเห็นและรับรู้เรื่องราวบางอย่างโดยบังเอิญ ที่ทำให้เชื่อได้ว่าเมืองสวรรค์น่าจะมีจริง จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ทั้งคู่ออกเดินทางตามหาเมืองดังกล่าว เพื่อนำหัวใจอมตะมาช่วยชีวิตแม่ เรื่องดำเนินไปอย่างน่าติดตาม ผู้อ่านจะค่อย ๆ รับรู้เรื่องลี้ลับของดินแดนแห่งนั้น จากฉาก เหตุการณ์ และตัวละครที่ปรากฏเด่นชัดขึ้น ในระหว่างการเดินทางสองพี่น้องต้องเผชิญอุปสรรคมากมาย แต่ก็ผ่านมาได้ด้วยความรัก ความเสียสละซึ่งกันและกัน จนสามารถเดินทางสู่เป้าหมายได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามทั้งสองกลับต้องพบกับเงื่อนไขหลายประการที่ต้องเลือก สุดท้ายทั้งสองตัดสินใจเลือกกลับไปใช้ชีวิตร่วมกับแม่อย่างมีความสุข ก่อนที่แม่จะจากไปตามอายุขัย เป็นช่วงเวลาที่มีคุณค่า ด้วยแม่บอกว่าหัวใจของแม่อยู่ในตัวลูกทั้งสองนั่นเอง ในตอนสุดท้ายผู้เขียนได้ฝากแง่คิดผ่านตัวละครไว้อย่างงดงามว่าความเป็นอมตะอาจจะไม่ใช่การอยู่ไปชั่วนิรันดร์ แต่หมายถึงการส่งผ่านความรัก และความดีงามแก่ลูกหลานของเรา ครอบครัวของเรารวมถึงคนรุ่นต่อไป
บันไดกระจก
“บันไดกระจก” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 10 เรื่อง ของวัฒน์ ยวงแก้ว ที่มีความน่าสนใจทั้งในด้านศิลปะการเขียนและแง่คิดมุมมอง วัฒน์ ยวงแก้วเป็นนักเขียนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทั้งในการใช้ภาษาและกลวิธีการนำเสนอ ซึ่งมีรูปแบบทั้งเรียบง่ายและซับซ้อน มีเนื้อหาสื่อแสดงและซ่อนเร้นนัยทางสังคมอย่างคมคาย จะเห็นได้ว่างานเขียนในหนังสือบันไดกระจกแสดงถึงความสนใจของผู้แต่งที่มีต่อปัญหารอบตัวและผู้คนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่เรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ผ่านลีลาและวิธีคิดวิธีเขียนของคนยุคปัจจุบัน เสน่ห์ของหนังสือ“บันไดกระจก” อยู่ที่ความแปลกแยกแตกต่างของเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ซึ่งผู้อ่านสามารถตีความได้โดยอิสระและถามตัวเองว่าผู้แต่งได้บอกเล่าหรือให้คำตอบอะไรใหม่ ๆ บ้าง หนังสือรวมเรื่องสั้นบันไดกระจกจึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประจำปี พ.ศ. 2555
อิสรภาพบนเส้นบรรทัด ๑๓ นักโทษประหาร
หนังสือรวมข้อเขียนของ 13นักโทษประหาร ผู้ต้องขังเรือนจำกลางบางขวาง ที่ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการเขียน ตามโครงการ “เรื่องเล่าจากแดนประหาร” สะท้อนชีวิตที่ดำเนินไปอย่างไร้อิสรภาพในกรอบกรงขัง และโซ่ตรวนที่ติดตรึงอยู่ตลอดเวลา ทว่า ก็มิอาจกักขังความคิดและจินตนาการของพวกเขาได้ การได้เขียนหนังสือ จึงถือเป็นอิสรภาพบนเส้นบรรทัดของพวกเขาโดยแท้ สาระสำคัญของหนังสือ ที่สื่อสารผ่านข้อเขียนอันมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ มีบทบาทจุดประกายความคิดให้ผู้อ่านตระหนักถึงผลร้ายของการกระทำความผิด ความไม่เกรงกลัวต่อบาป อันส่งผลให้ต้องไร้สิ้นซึ่งอิสรภาพ กระทั่งดูเหมือนจะไร้สิ้นซึ่งสถานะความเป็นมนุษย์ ทว่าเรื่องเล่าเกี่ยวกับการช่วยเหลือเอื้ออาทรกันระหว่างนักโทษประหาร ก็สะท้อนความจริงในมุมกลับ ว่าในความเป็นจริง พวกเขายังมีความเป็นมนุษย์ ที่มีความรู้สึกนึกคิด มีจินตนาการ มีความใฝ่ฝัน..อยู่เต็มเปี่ยม
โนนสวรรค์
เป็นเรื่องราวสะท้อนชีวิตชาวอีสานที่ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด ย้ายที่ทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้าทั้งครอบครัว ทิ้งให้ลูกอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้อง อ้ายหย้าวเฮือน กับหมูหล้า สองพี่น้องชาวอีสานแห่งหมู่บ้านโนนสวรรค์ก็เช่นกัน พ่อแม่ย้ายที่ทำงานไปเรื่อย เพื่อพ่อกับแม่ต้องแยกทางกัน พ่อกลับมาสร้างบ้านไว้โดยหวังว่าจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันสามคนพ่อลูก ทั้งสองเฝ้ารอคอยการกลับมาของพ่อ แต่พ่อไม่มีเวลาแม้จะกลับมาเยี่ยมเยียนลูก ในขณะที่แม่พร้อมที่จะรับลูกไปอยู่ด้วย หมูหล้าจึงตัดสินใจไปอยู่กับแม่ ส่วนอ้ายหย้าวเฮือนเฝ้ารอคอยการกลับมาของพ่ออย่างมีความหวัง นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพของสังคมชนบทไทยในยุคปัจจุบัน เมื่อไม่สามารถสร้างงานในท้องถิ่นเองได้ ก็ต้องออกไปหางานทำต่างถิ่นเพื่อส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว ลูกหลานจึงมีปัญหาขาดความอบอุ่น ปัญหาเหล่านี้นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในสังคมไทย ก่อให้เกิดปัญหาตามมีอีกมากมาย
กานท์เอ๋ย กานเมือง
รวมบนกวี กานท์เอ๋ย กานเมือง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นบทร้อยกรองหรือบทกวีที่ว่าด้วย ‘การเมือง’ รวมไปถึงสังคมยุคปัจจุบันอันฟอนเฟะและน่าห่วง ซึ่งผู้เขียนกำลังจะสื่อถึงผู้อ่านอย่างนั้น บทกวีทั้งหมดที่นำเสนอ ผู้เขียนมีความพยายามในแง่ความหลากหลากทั้งรูปแบบของร้อยกรองและกลวิธีเล่าเรื่อง ด้านเนื้อหาก็ได้หยิบยกเอาปัญหาของสังคม การเมือง นักการเมือง มาพูดถึงในลักษณะวิเคราะห์วิจารณ์อย่างพินิจพิเคราะห์ ด้วยอารมณ์เสียดสีประชดประชันแบบแสบ ๆ คัน ๆ ได้ค่อนข้างแหลมคมพอสมควร ด้านฉันทลักษณ์ แม้ว่ามีความอ่อนด้อยอยู่บ้าง แต่ก็หวังว่าผู้เขียนซึ่งยังอยู่ในระดับเยาวชน คงจะมีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับและก้าวไกลไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีจุดบกพร่องดังกล่าว แต่โดยภาพรวมแล้วบทกวีชุดนี้ก็อยู่ในข่ายที่ควรส่งเสริมและเพิ่มกำลังใจ คณะกรรมการจึงมีมติให้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
คำสารภาพสุดท้าย ก่อนเข้าห้องประหาร
เป็นสารคดีจากปลายปากกา “คนใน” คือตัวนักโทษเอง โค้งสุดท้ายของชีวิตในฐานะผู้ต้องขังรอการประหาร ปลุกความฝันที่อยากเป็นนักเขียนมาเนิ่นนานให้โลดเต้นขึ้นจนสามารถขั้นพลังสร้างสรรค์เท่าที่จะพยายามศึกษาและฝึกฝนได้ ถอดประสบการณ์ตรงจากด้านมือของชีวิตเพื่อให้บทเรียนที่เป็นแง่คิดล้ำค่าทั้งด้านบวกและด้านลบกับผู้อ่าน ทั้งนี้ เพื่อให้รู้เท่าทันความเลวและแคล้วคลาดจากกับดักที่จะนำชีวิตมุ่งสู่ทางตันแห่งความหายนะ
ลูกยางกลางห้วย
จ้อยเด็กชายชาวใต้ เติบโตมาท่ามกลางสวนยางพารา ลำห้วยน้ำใส และป่าที่อุดมสมบูรณ์ จ้อยซุกซน สนุกสนานตามประสาเด็ก มีความสุขอยู่กับเพื่อน ๆ และญาติมิตรในหมู่บ้านที่แสนอบอุ่น จ้อยรักและผูกพันกับญาติมิตร เพื่อนบ้าน ป่าเขา และลำห้วย ด้วยร่างกายไม่แข็งแรง จึงช่วยงานสวยยางได้ไม่ดีเท่าพี่ชายและน้องชาย แตผลการเรียนดีเป็นที่ชื่นชมของครู แม่จึงส่งเสริมให้ไปเรียนต่อชั้นมัธยมฯ ในเมือง จ้อยจึงต้องตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเองว่า จะอยู่บ้านเป็นลูกยางอยู่กลางห้วยต่อไป หรือจะไปเรียนต่อในเมือง ดั่งลูกยางที่ล่องลอยออกไปเติบโตในที่ที่เหมาะสม ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ของตนเองในสมัยเด็ก โดยบอกเล่าเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ความเป็นอยู่ของผู้คนชาวสวนยางพารา และชาวเหมืองแร่ผ่านความรู้สึกนึกคิด และวิถีชีวิตของจ้อย หนังสือเล่มนี้จึงให้ทั้งความรู้ ข้อคิด และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านอย่างเหมาะสม
D DAY
นิยายภาพเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่แสดงแนวทางของสังคมวัยรุ่น ความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมบางแง่มุมของหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนนิยายภาพต้องการให้ผู้ผ่านได้ใช้วิจารณญาณในการอ่าน ฝีมือการสร้างสรรค์ด้านภาพมีความทันสมัย ฉีกแนวไปสู่รูปแบบการแสวงหาที่โดดเด่น การสร้างบุคลิกของตัวละครได้เด่นชัดตรงกับอุปนิสัยของแต่ละคน
บุญโฮม ฅนป่วง
โครงเรื่องโดยรวมดี เป็นการแสดงพฤติกรรมของตัวละครชุดเดียวกัน บอกเล่าเรื่องราวเป็นตอน ๆ โดยแต่ละตอนเป็นเหตุการณ์สนุกสนานเฮฮา และแสดงความซื่อปนเซ่อของตัวละครเอก (บุญโฮม) ผู้เขียนสามารถนำภาษาอีสานพื้นบ้านมาผสมผสานได้อย่างสนุกสนาน ขณะเดียวกันได้แสดงบุคลิก อุปนิสัย และวัฒนธรรมพื้นบ้านโดยรวมของชาวชนบทที่มีอาชีพทำนา ฝีมือการวาดภาพสวยงามทั้งลายเส้นและอารมณ์ของตัวละคร และบุคลิกของตัวละครแต่ละตัวมีเอกลักษณ์แสดงความเป็นไทยชัดเจน การดำเนินภาพต่อเนื่องเป็นธรรมชาติชวนติดตาม
เรื่องเล่าในโลกลวงตา
เรื่องเล่าในโลกลวงตา ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ เป็นนวนิยายอธิบายสภาวะในจิตใจของมนุษย์อย่างประณีตและละเอียดลออ ผ่านเรื่องเล่าของชายผู้หนึ่งที่คนรักถูกงูกัดตาย ผู้เขียนสามารถสะท้อนภาวะทางอารมณ์ได้ตั้งแต่สุดโศกเศร้าอาดูร เสียดาย ไปจนกระทั่งถึงบ้าคลั่งเคียดแค้นแสนสาหัส และพัฒนาความแค้นนั้นไปสู่ความแกร่งกล้าทางกายและทางใจอันนำไปสู่จุดสูงสุดของการเรียนรู้ ความเป็นมายาและอนิจจังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนพลิกผันนำไปสู่ความเข้าใจชีวิตอันจริงแท้ และสงบลงได้ในที่สุด แม้เป็นนวนิยายขนาดสั้น ตัวละครน้อยแต่เนื้อสารลึกซึ้ง ภาษางดงามทำให้เกิดจินตภาพ
โลกใบเล็ก
โลกใบเล็ก ของพลัง เพียงพิรุฬห์ รวมบทกวีนิพนธ์ ตามรูปแบบฉันทลักษณ์โคลง กาพย์ กลอน ร่ายสุภาพ และกลอนเปล่าที่เน้นเนื้อหาสาระ จังหวะคำ กวีโวหารเรียบง่าย ในภาพรวมของรูปแบบฉันทลักษณ์ส่วนใหญ่ถูกต้อง แม่นยำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยในเรื่องการใช้คำและสัมผัสในบางแห่ง แต่โดยภาพรวมมีความไพเราะเหมาะความ การถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของผู้ประพันธ์ สร้างอารมณ์สุนทรีย์ได้อย่างมีวรรณศิลป์ เนื้อหาสาระเป็นความฝันที่สะท้อนออกมาจากการเฝ้ามองปรากฎการณ์สังคม อดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต โดยหลอมรวมประสบการณ์ ความคิด ความเปลี่ยนแปลงเพื่อสื่อความหมายที่ชัดเจนได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนผู้ประพันธ์มีศิลปะในการเสนอแนวความคิดริเริ่มได้อย่างมีคุณค่าทางวรรณศิลป์และคุณค่าด้านสังคม มีวิสัยทัศน์ในการประเมินคุณค่าของสิ่งที่ได้พบเห็นอย่างสมเหตุสมผลและนำเสนอด้วยความคิดใหม่ผ่านโลกใบเล็กของตนเองเป็นองค์ประกอบที่มีความงดงามทั้งรูปแบบ เนื้อหา และการสื่อความผ่านงานวรรณกรรม
เสียงจักจั่นในป่าสน
เป็นเรื่องราวชีวิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สะท้อนสภาพรักวัยเรียนที่ทำให้เกิดปัญหา “แม่วัยใส” ระหว่างณิชาและอรุษ ในขณะที่ฝ่ายชายไม่สามารถสานต่อความสัมพันธ์ต่อไปได้ด้วยข้อจำกัดทางครอบครัวและเศรษฐกิจ ฝ่ายหญิงเลือกที่จะรักษาชีวิตทีจะเกิดมา รดิศ รุ่นพี่ต่างคณะเป็นตัวละครที่ผ่านเข้ามาพร้อมกับปมปัญหาทางครอบครัวของแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าเพราะสูญเสียลูกสาว จนต้องกระโดดให้รถไฟทับ จึงคอยให้กำลังใจณิชาจนผ่านพ้นวิกฤติการณ์ของชีวิตช่วงนี้ไปได้ คณะกรรมการชื่นชมการเสนอประเด็นเหล่านี้ และเห็นว่าผู้แต่งนำเสนอในรูปแบบของนวนิยายขนาดสั้นได้อย่างน่าสนใจระดับหนึ่ง จึงขอมอบรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ให้แก่ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท แต่เนื่องจากในต้นฉบับยังมีความบกพร่องเกี่ยวกับสำนวนภาษาอยู่บ้าง จึงขอแนะนำให้ทำงานบรรณาธิการกิจก่อนพิมพ์รวมเล่มต่อไป
ต้นมะกอกหลานยาย
“ต้นมะกอกหลานยาย” เป็นเรื่องของเด็กหญิงนักเรียนชั้นประถมต้น นำเสนอความคิดและประสบการณ์ของ “ชะเอม” เด็กฉลาด ช่างคิด ทั้งด้านที่มีความสุข สนุกสนาน “ชะเอม” อยู่ที่บ้านชานเมืองกับพ่อแม่และยาย ใกล้บ้านชะเอมมีต้นมะกอกใหญ่ที่ยายปลูกไว้ริมคลอง เมื่อลูกมะกอกแก่จัดยายจะเก็บไปทำมะกอกเชื่อมให้ “ชะเอม” นำไปขายให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนและให้เธอเก็บสะสมเงินไว้เอง ผ่านไปหลายวันมะกอกเชื่อมเริ่มขายไม่หมด “ชะเอม” ไม่มีความสุขที่ต้องขายจึงแก้ปัญหาด้วยการเอามะกอกเชื่อมที่เหลือไปทิ้งแล้วหลอกยายว่าขายได้ เมื่อความจริงเปิดเผย ยายหยุดทำมะกอกเชื่อม แต่ทั้งยายและชะเอมเสียใจมาก ต่อมา “ชะเอม” ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งคณิตศาสตร์และชนะได้รับคำชมเชย และเธอเริ่มตระหนักว่าทักษะการคิดเลขของตนส่วนหนึ่งเกิดจากการฝึกคิดเงินในการขายมะกอกเชื่อมของยาย แล้ววันหนึ่งเมื่อ “ชะเอม” กลับจากโรงเรียนก็พบว่ายายตัดต้นมะกอกทิ้งเสียแล้ว “ชะเอม” เป็นเด็กดีและช่างคิดจึงเข้าใจถึงความรักที่ยายมีต่อเธอ และจะปลูกมะกอกต้นใหม่ให้ยายในที่เดิม หนังสือเรื่อง “ต้นมะกอกหลานยาย” เป็นเรื่องประสบการณ์ชีวิตของเด็กหญิงคนหนึ่งในครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง สะท้อนถึงความรัก การดูแลเด็กในครอบครัวและปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่พูดหรือแสดงความรักต่อเด็กอย่างชัดเจน แต่ยอมสละสิ่งที่ตนรักเพื่อให้เด็กมีความสุข ดังที่ยายของ “ชะเอม” ตัดต้นมะกอกทิ้ง ซึ่งอาจจะเป็นความรุนแรง ที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันจนเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัยได้
ครอบครัวหัวแห้ว
การเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นการ์ตูนสะท้อนปัญหา ภาวะ “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” ซึ่งเกิดขึ้นมากในสังคมไทยปัจจุบัน เนื้อหาของเรื่อง บอกเล่าเรื่องราวจากปัญหาครอบครัว ในรูปแบบสนุกสนานและมองโลกในแง่ดี สามารถสื่อให้เห็นว่าปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออก และจะต้อง ผ่านไปได้โดยใช้ความรักความเข้าใจ และสติปัญญา ฝีมือวาดภาพ ลายเส้นเรียบง่าย การออกแบบ สร้างสรรค์มีบุคลิกเฉพาะตัว ตัวละครให้ความรู้สึกอบอุ่นมีอารมณ์ขัน คุณค่า เป็นหนังสือส่งเสริมสถาบันครอบครัว มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสังคม คณะกรรมการจึงเห็นควรให้นิยายภาพ (การ์ตูน) เรื่อง “ครอบครัวหัวแห้ว” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประจำปี 2557
ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
“ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของ วีรพร นิติประภา เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงชีวิตของเด็กหญิงและเด็กชายกำพร้า 3 คนคือ ชาลิกา ชารียา และปราณ ใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างอบอุ่นที่บ้านสวนริมแม่น้ำนครชัยศรี ครั้นโตขึ้นเป็นหนุ่มสาวก็แยกย้ายมาใช้ชีวิตของตนเองในกรุงเทพมหานครสลับกับบ้านเกิดเป็นครั้งคราว ชีวิตช่วงนี้พวกเขาต้องประสบกับปัญหาเรื่องความรักและความขัดแย้งทางอารมณ์ ชีวิตจึงมีแต่ความอ้างว้าง ขมขื่น โดดเดี่ยว เดียวดาย จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ตัวละครอื่น ๆ ที่คนทั้งสามเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยล้วนแต่ประสบกับชาตะกรรมชีวิตที่เลวร้ายหรือ “ถูกชีวิตทรยศ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าธนิตผู้หลงใหลคลั่งไคล้ผ้าโบราณ ธนานักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นทีผู้สร้างภาพให้ตนเองดูเป็นชายที่มีเสน่ห์ ภัทรนักดนตรีร็อค และนวลหญิงที่มีสามีสามคนพร้อมกัน เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มข้นทางอารมณ์ของตัวละครที่เกิดจากกลวิธีการประพันธ์ที่ผสมผสานแนวสัจนิยมและจินตนิยายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน การเสพสุนทรียะอย่างวิจิตรของตัวละคร ผ่านสีสันของสวนดอกไม้ อวลไปด้วยเสียงไพเราะของดนตรีคลาสสิค ความงดงามของผ้าโบราณ และรสชาติอาหารที่ชวนลิ้มลอง ส่งผลให้ตัวละครเสพชีวิตอย่างสุดโต่งด้วยรสอารมณ์มากกว่าคำนึงถึงตรรกะของเหตุและผล ผู้เขียนสามารถพรรณนาความรู้สึกทุกภาวะอารมณ์ของตัวละครได้อย่างลุ่มลึก ตัวอักษรบีบคั้นกดดันอารมณ์ผู้อ่านร่วมไปกับตัวละครทุกบททุกตอน นวนิยายเรื่องนี้เป็นบันเทิงคดีร่วมสมัยของไทยที่แหวกขนบ มุ่งสะท้อน “มลพิษของความรัก” ผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ปมปัญหาความรักได้อย่างลึกซึ้งแยบยล โดยชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความรักว่าคือมายาคติที่มนุษย์ลุ่มหลงและมัวเมา มายาคติแห่งรักสร้างความซาบซึ้งตรึงใจและความเจ็บปวดรวดร้าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระนั้นผู้คนก็ยังคงดิ้นรนโหยหาความรักอยู่ดี แม้บางครั้งมิอาจพานพบรักแท้ได้ในชีวิตจริง ดุจเดียวกับ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ที่หาทางออกไม่พบ คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของ วีรพร นิติประภา เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557
คง/กระ/พัน/ชาตรี
หลายชีวิต การดำรงอยู่ช่างเป็นเรื่องเรียบง่าย นับแต่ผ่านครรภ์มารดาจวบจนวันสุดท้ายของลมหายใจ ชีวิตราวลาดปูด้วยกลีบบุปผาแห่งความราบรื่น แต่สำหรับบางชีวิต แม้ปณิธานตั้งต้นจะปรารถนาเพียงความสามัญธรรมดา มุ่งประกอบสัมมาอาชีพ เปิดรับความสุขตามครรลองการครองเรือนไปตามอัตภาพโดยไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร และสามารถยืนหยัดบนถนนแห่งความเป็นคนดีไปจนสุดทาง แต่ราวกับว่าพรง่าย ๆ ที่ร้องขอกลับได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิงจากชีวิตอย่างโหดร้าย ในนวนิยายเรื่อง คง/กระ/พัน/ชาตรี ของ ประชาคม ลุนาชัย “สถานการณ์ที่ไม่อาจขืนต้าน” ลากพาตัวละครทั้งสาม คือ คงธรรมหรือชาตรี กระ และพันรบ ระหกระเหินไปในเส้นทางที่มิอาจคาดเดา ไกลห่างลิบลับจากวิถีชีวิตในอุดมคติที่ตั้งไว้และใฝ่ฝันถึง จากบ้านสู่ป่า จากบกสู่ทะเล จากเมืองสู่ไร้เมือง จากการหยั่งลึกในรกรากสู่ความหวั่นไหวในวิถีแห่งผู้พเนจร “ความเป็นอื่น” จากการต้องเอาชีวิตรอดในอีกเส้นทางการเลือกของแต่ละตัวละคร นำพาผู้อ่านไปร่วมสัมผัสรูปแบบชีวิตที่แตกต่าง ห่างไกลการรับรู้ แต่ดำรงอยู่ร่วมสังคมเดียวกับเรา ในขณะที่ตัวละครเผชิญแรงบีบคั้นที่ชีวิตไล่ต้อนจนนำไปสู่การตั้งคำถาม และมองโลกด้วยสายตาฉงนฉงายและผิดแผกไปจากเดิม ผู้อ่านที่ร่วมรับรู้ชะตากรรมของตัวละครมาตั้งแต่ต้น ก็เข้าสู่กระบวนการตั้งคำถามและทบทวนเช่นกัน จุดจบและปลายทางของตัวละคร ทิ้งคำถามยาก ๆ ที่มิอาจตอบได้ทันที ไว้ให้ผู้อ่านได้ขบคิดว่า อะไรคือชีวิตที่ดี การเป็นเพียงคนดีและซื่อสัตย์ตามแบบฉบับเดิม ๆ เพียงพอแล้วหรือ ค่านิยมดีงามบางอย่างเช่น ความเป็นเพื่อนน้ำมิตรควรถนอมรักษาไว้อย่างไร ส่วนค่านิยมบางอย่างที่เคยเกื้อกูลการขัดเกลาความเป็นชายและตอกย้ำความหนักแน่นของสังคมนักเลง อย่างเช่นการรักศักดิ์ศรี และการไม่ยอมกัน ควรทบทวนและปรับเปลี่ยนหรือไม่ การไม่สู้คนซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของความขี้ขลาด ใจเสาะ ปกป้องครอบครัวไม่ได้นั้น สอดคล้องกับคุณค่าอารยะแบบใหม่ที่เน้นการหันหน้าเข้าหากันด้วยอหิงสา และสันติวิธี ใช่หรือไม่ และโลกเก่าซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ที่แวดล้อมด้วยคุณค่าแบบใหม่จะผสานกันให้ลงตัวได้อย่างไร เหนืออื่นใด “สาร” ที่ผู้เขียนส่งผ่านชีวิตผันผวนของตัวละครทั้งหมด นำผู้อ่านไปสัมผัสกับความกรุณาในหัวใจและความตระหนักรู้ว่า “ความจำเป็นในชีวิตนั่นเอง ที่เป็นยิ่งกว่านักฆ่าอำมหิต เมื่อถูกบีบคั้นจนรั้งสติไม่อยู่ การตัดสินใจเพียงชั่ววูบอาจส่งผลต่อชีวิตที่เหลือทั้งหมด” คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “คง/กระ/พัน/ชาตรี” ของ ประชาคม ลุนาชัย เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557
นิธาร
รวมบทกวีชุด “นิธาร” ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล มีลีลาเฉพาะตัว กล่าวคือ ‘คิดนอกกรอบ’ ในด้านเนื้อหา กล้านำเสนอไม่ซ้ำใคร มีมุมมองใหม่ ๆ ‘ภายใต้กรอบ’ ฉันทลักษณ์ (ที่ผ่อนคลาย) ซึ่งผสมผสานกันระหว่างรูปแบบเก่า (นิทาน) ประยุกต์กับการเล่าเรื่องแบบใหม่ได้ลงตัว เรื่องราวที่นำเสนอหลากหลายประเด็น เป็นต้นว่า โลก ชีวิต ธรรมชาติ สังคม การเมือง ฯลฯ โดยใช้ชั้นเชิงวรรณศิลป์ซึ่งมีทั้งความเปรียบ และสัญลักษณ์ แม้บางเรื่องจะสื่อสารตรง ๆ แต่ยังคงมีเสน่ห์การยั่วล้อและเสียดสี ผู้เขียนชี้ให้เห็นหายนะของความไม่พอดีของมนุษย์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งได้ฉายภาพให้เห็นถึงโลกสวยงามด้วยความรัก สันติภาพ เสรีภาพ และอิสรภาพ อย่างมีชั้นเชิงในการนำเสนอพอสมควร เสน่ห์อีกอย่างก็คือ เมื่อผู้เขียนพูดถึงสิ่งใด เช่น หอยทาก ผีเสื้อ นก ต้นไม้ ก็มิได้หมายความจำเพาะแต่สิ่งนั้น หากแต่ซ่อนนัยไว้เสมอ และหลายเรื่องที่ตั้งเป็นปุจฉาหรือยกสิ่งใดมากล่าวอ้าง ก็สามารถอธิบายเหตุผลรองรับได้อย่างสมเหตุสมผล ในท่ามกลางโลกปัจจุบันสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ คือ ให้ตั้งหลักทบทวนชีวิต แล้วก้าวเดินอย่างมีสติ เพื่อปรับความสมดุล อย่างไรก็ตาม ความไม่เคร่งครัดในรูปแบบการนำเสนอมีส่วนทำให้ “คำ” และ“ความหมาย” พร่าเลือนไปบ้าง หากแต่ผู้เขียนเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องคล้าย ‘นิทาน’ บวกกับ ‘ลูกเล่น’ เฉพาะตัว จึงทำให้เรื่องหนัก ๆ กลายเป็นความผ่อนคลายและร่วมสมัย รวมบทกวี “นิธาร” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
เจ้าเอย…เจ้ากรงหัวจุก
เจ้าเอย…เจ้ากรงหัวจุก ของ ชิด ชยากร เป็นวรรณกรรมสำหรับเยาวชนที่ผู้เขียนมุ่งหมายจะเปิดโลกทัศน์ให้เด็กและเยาวชนได้ตระหนักถึงความมีชีวิตอยู่ของสัตว์โลกชนิดอื่น ๆ นอกเหนือไปจากสัตว์โลกที่เรียกตนเองว่ามนุษย์ ผ่านโครงเรื่องที่จินตนาการขึ้นจากมุมมองของเจ้าบุญรอด นกกรงหัวจุกที่มีวิธีคิดแบบมนุษย์ บุญรอด นกกรงหัวจุกที่รอดตายจากพายุร้าย แม้จะหนีไปสร้างรังอยู่ห่างไกลถึงชายป่า ก็ยังไม่พ้นจากเงื้อมมือมนุษย์ที่หวังเพียงประโยชน์จากเสียงร้องตามธรรมชาติของนก ทำให้บุญรอดต้องสูญเสียอิสรภาพและพลัดพรากจากครอบครัวด้วยความรู้ไม่เท่าทันเล่ห์กลมนุษย์ ผู้เขียนเล่าเรื่องให้เห็นภาพอย่างชัดเจน ทำให้ผู้อ่านสะเทือนใจจากการรับรู้ถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์ที่ถูกกักขัง การดิ้นรนต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระ การสร้างความมีเมตตาให้เกิดขึ้นในใจผู้อ่าน ที่คอยเอาใจช่วยเจ้าบุญรอดให้รอดพ้นจากที่กักขัง และด้วยพลังแห่งความรัก ความสามัคคีของเหล่านกกรงหัวจุกที่กล้าหาญ อดทน ทำให้บุญรอดและผองเพื่อนรอดพ้นภัยมาได้ เนื้อหาของเรื่อง “เจ้าเอย…เจ้ากรงหัวจุก” น่าตื่นเต้นชวนให้ติดตามโดยตลอดผู้เขียนมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องการเลี้ยงนกกรงหัวจุกเป็นอย่างดี กอปรกับการใช้ภาษาที่ประณีตสละสลวย ข้อคิดเกี่ยวกับความเมตตา และความรักอิสรภาพของทุกชีวิตที่ผู้อ่านจะได้รับ ทำให้วรรณกรรมสำหรับเยาวชนเรื่องนี้ สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
NOW
“NOW” ผลงานของอาร์ต จีโน การ์ตูนเรื่องนี้ใช้อากัปกิริยาของตัวละครตัวเดียวเล่าเรื่องตั้งแต่แรกจนจบ บอกเล่าความรู้สึก-นึกคิด-จิตใจ ของปุถุชนเพศหญิงคนหนึ่งที่มีความขัดแย้งระหว่างความ “อยาก” และความ “หวาด” กับบางสิ่งบางอย่าง จุดประสงค์ของผู้สร้างสรรค์การ์ตูนเรื่องนี้ต้องการให้ผู้อ่านใช้จินตนาการโดยชี้ให้เห็นเป็นนัยยะ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไร แท้จริงมันก็แค่ภาวะธรรมดาอย่างหนึ่งของโลกย์ หากใครต้องการเผชิญกับความ “เป็นไป” ควรต้องตัดสินใจ “เดี๋ยวนี้” นิยายภาพ (การ์ตูน) “NOW” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
KING OF VAMPIRES
“KING OF VAMPIRES” เป็นผลงานของมังกร สรพล เป็นการ์ตูนนิยายภาพแนวแฟนตาซี ได้รับอิทธิพลมาจากเรื่อง “แวมไพร์” ของฝรั่ง การวางโครงเรื่องเน้นฉากต่อสู้เป็นพิเศษ ฝีมือวาดภาพและแอ็คชั่นของตัวละครประณีต มีแบบฉบับเฉพาะตัว เนื้อเรื่องโดยรวมทำให้เกิดความสะเทือนอารมณ์ระหว่างวิถีความเป็นมนุษย์และอมนุษย์ การเดินเรื่องสนุก ตื่นเต้น ผสานกับการวาดที่ต่อเนื่องงดงาม ทำให้การ์ตูนเล่มนี้ชวนติดตาม นิยายภาพ (การ์ตูน) “KING OF VAMPIRES” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
กาหลมหรทึก
เป็นนวนิยายสืบสวนสอบสวนเรื่อง กาหลมหรทึก ของ ปราปต์ กล่าวถึงคดีฆาตกรรมซึ่งปรากฏรอยสักประหลาด 5 คำบนตัวผู้ตายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วพระนครและย่านฝั่งธน สร้างความโกลาหลและสะเทือนขวัญประดุจการลั่นกลองใหญ่กลางกรุงแต่ครั้งโบราณเพื่อเตือนเหตุเภทภัย แผนฆาตกรรมที่ถูกประจงสร้างขึ้นอย่างซับซ้อน โดยประสาน ศาสตร์แห่งการวางแผนที่กำหนดวัน เวลาและสถานที่ไว้แน่นอน กับศิลป์แห่งความเข้าใจในโคลงกลบทโบราณอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การไขปริศนาของ “สาร” ที่ฆาตกรต้องการประกาศให้สังคมรับรู้ การดำเนินเองเป็นไปอย่างเข้มข้น น่าติดตาม และนำผู้อ่านเข้าสู่วังวนแห่งการตั้งคำถามโดยไม่รู้ตัวถึงสาเหตุแห่งการจูงใจอันโหดเหี้ยมของผู้วางแผนและฆาตกรผู้เขียนสามารถปลุกเร้าความสนใจของผู้อ่านให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ล่อหลอกให้ไขว้เขวกว่าผู้เขียนจะคลี่คลายปมอันคาดไม่ถึงในตอนจบ นวนิยายเรื่องนี้ยังสอดแทรกเกร็ดความรู้เชิงประวัติศาสตร์สังคมเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุต่าง ๆ ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามมหาเอเชียบูรพาได้อย่างกลมกลืน คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ กาหลมหรทึก ของ ปราปต์ เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยายปี 2558
ประเทศของท่าน บ้านของผม
รวมบทกวี “ประเทศของท่าน บ้านของผม” โดยพิเชฐ แสงทอง เป็นการบอกว่าชีวิตของบุคคลย่อมซ้อนทับกับการดำเนินไปของสังคม ความเป็นไป ชะตากรรม หรือความคาดหมายในครอบครัวหนึ่ง ย่อมประกอบขึ้นเป็นเนื้อหนังของสังคมประเทศที่ไม่ต่างกัน จากบ้านสู่ประเทศ จากประเทศสู่บ้าน เราต่างมุ่งหวังชีวิตที่ดีกว่า แต่ในความเป็นจริงความหวังทั้งหลายได้หล่นหายรายเรียงไม่อาจจะดินถึงได้ทั้งที่เห็นอยู่เบื้องหน้า “ประเทศของท่าน บ้านของผม” กล้าหาญที่จะบอกถึงสิ่งซึ่งผุกร่อน ล่มสลายในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ท้าทายกับยุคสมัยที่โลกหมุนไปข้างหน้า ท้าทายกับสิ่งที่เคยเป็นหมุดหมาย วีรกรรม อุดมคติ โดยผ่านการวิพากษ์จากรูปธรรมส่วนตนเองไปยังสังคมประเทศ เกิดการกระตุก ยั่วเย้า เพื่อให้เกิดการขบคิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้อย่างกว้างขวางตามทัศนะแห่งการตีความ ดังนั้นรวมบทกวี “ประเทศของท่าน บ้านของผม” โดยพิเชฐ แสงทอง จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
Flowers Hunter
FLOWERS HUNTER ฝีมือการวาดภาพพอใช้ การลำดับภาพดูสับสน เนื้อเรื่องดีมีจินตนาการสมวัย โครงเรื่องสร้างสรรค์ได้ลึก เล่าถึงนักเก็บดอกไม้ไปเก็บดอกไม้ซึ่งมีทั้งดอกไม้สดใส และดอกไม้มืดมน เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นอาภรณ์วิเศษที่เนินเขาเวทมนตร์ อาภรณ์วิเศษจะสวยงามหรือหมองหม่นไม่ได้ขึ้นกับดอกไม้สดใสหรือมืดมน แต่ขึ้นอยู่กับความคิดที่มีต่อดอกไม้ เรื่องให้แง่คิดว่า “จงยอมรับความมืดมน แต่อย่ายอมแพ้” จงเปลี่ยนความมืดมนในตัวให้กลายเป็นความเข้มแข็ง ดังนั้น FLOWERS HUNTER ของ ปัทมพร ชัยศุภกิจสินธ์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน) ประจำปีพุทธศักราช 2559
เรื่องเล่าของเพื่อนร่วมโลก
เรื่องเล่าของเพื่อนร่วมโลก เป็นเรื่องที่ผู้เขียนถ่ายทอดด้วยความรู้สึกเข้าถึงอารมณ์ของสัตว์ และความมีชีวิตจิตใจของสัตว์ ที่ล้วนดำรงชีวิตอยู่ตามสัญชาตญาณของการเอาตัวรอด เรื่องเล่าของเพื่อนร่วมโลกทั้ง 3 เรื่อง แสดงให้เห็นถึงความใสซื่อของสัตว์โลก โดยเฉพาะ “เรื่องเล่าของยูโร” ค่อนข้างโดดเด่น เนื้อหาสนุกสนาน มีเสน่ห์ ชวนติดตาม ทั้งแฝงข้อคิดให้มนุษย์เมตตาและไม่เบียดเบียนสัตว์ให้ต้องทุกข์ทรมาน “ยูโร” เป็นลูกสุนัขพันธุ์ลาบราดอร์ ที่มุดรั้วหนีไปเที่ยวเล่นนอกบ้าน จึงได้พบและผูกพันกับเจ้าดำสุนัขจรจัดในซอย และเมื่อยูโรถูกสุนัขเจ้าถิ่นกลุ้มรุมทำร้าย เจ้าดำซึ่งปกติเป็นสุนัขขี้ขลาดกลับเข้าช่วยปกป้องจนถูกกัดเป็นแผลฉกรรจ์ ยิ่งทำให้ทั้งสองรักใคร่ผูกพันกันยิ่งขึ้น ครั้นเจ้าดำห่างหายไปหลายวัน ยูโรก็ออกตามหาจนถูกแก๊งขโมยสุนัขจับตัวเอาไว้ด้วย สุนัขกว่า 50 ตัวที่ถูกกักขังต่างทนทุกข์ทรมาน กว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ บาดแผลแห่งความหวาดกลัวก็ถูกประทับไว้จนยากที่จะลบเลือน เรื่องเล่าของเพื่อนร่วมโลก ให้ความรู้สึกสะเทือนอารมณ์ อ่านแล้วทำให้ตระหนักถึงคุณค่าของสัตว์ร่วมโลกที่ควรได้รับความเมตตาธรรม และพึงได้รับการปฏิบัติอย่างมีมนุษยธรรมจากมนุษย์ผู้เจริญกว่า ผลงานเรื่องนี้จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช 2559
ชราทารก
ชราทารก เป็นรวมเรื่องสั้นจำนวน 10 เรื่อง สะท้อนปัญหาผู้สูงอายุที่ขาดความอบอุ่น ความรุนแรงในครอบครัว ความยากลำบากในทำมาหากิน และการถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม ผู้เขียนนำเสนอในแง่มุมที่หลากหลาย เช่น “เรื่องชราทารก” และ “เรื่องลูกรัก” กล่าวถึงผู้สูงอายุที่ขาดความอบอุ่นและลูกหลานไม่เข้าใจ ไม่ดูแล ทำให้ต้องอยู่โดยลำพัง มีจุดเด่นที่สะท้อนภาพของผู้สูงอายุในยุคปัจจุบันได้ดี สื่อถึงความตั้งใจที่จะให้ผู้คนรู้จักและเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้น ชราทารก ของ อธิวัฒน์ พงษ์สุระ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช 2559
ลมหายใจในสัญญะ
ลมหายใจในสัญญะ เป็นผลงานรวมบทกวีของ ภูวนาท เรืองฤทธิ์ ที่ใช้รูปแบบฉันทลักษณ์ประเภทกลอนแปดทั้งชุดเช่นเดียวกัน โดยผู้เขียนได้จัดแบ่งหมวดหมู่ไว้ 3 ภาค คือ “1. เธอคือลมหายใจ 2. ลมหายใจของชายขอบ และ 3. ลมหายใจในรอยทาง” ด้านเนื้อหาค่อนข้างหลากหลาย เป็นเรื่องราวที่เรารับรู้หรือพบเห็นกันอยู่ ซึ่งผู้เขียนสะท้อนปัญหาให้ผู้อ่านได้ตระหนักคิด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาสังคม (คุณภาพชีวิต) การเมือง รวมถึงสถานการณ์รุนแรงใน 3 จังหวัดชายภาคใต้ นอกจากนี้ยังพูดถึงวัฒนธรรม ท้องถิ่น-พื้นบ้านได้อย่างมีเสน่ห์ ทั้งในแง่ของคุณค่า โหยหา และใจหายกับสิ่งที่เปลี่ยนแปลงไปพร้อม ๆ กัน ส่วนรูปแบบที่นำมาใช้ในการเล่าเรื่อง แม้ว่าจะอ่อนด้อยในเชิงฉันทลักษณ์อยู่บ้าง แต่เนื้อหาค่อนข้างหนักแน่นและมีพลัง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ลมหายใจในสัญญะ ของภูวนาถ เรืองฤทธิ์ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2559
BON VOYAGE! บนเส้นทางข้าแผ่นดิน
Bon Voyage! บนเส้นทางข้าแผ่นดิน บันทึกเรื่องราวชีวิตข้าราชการสองคนที่เป็นพ่อและลูก โดยลูกเป็นผู้เล่าเรื่อง สะท้อนให้เห็นการปฏิบัติงานราชการอย่างซื่อสัตย์ต่อหน้าที่ สะท้อนชีวิตข้าราชการในอดีต ผู้เขียนได้เห็นภาพ มีรายละเอียดของยุคสมัย เห็นสัมพันธภาพของคนในครอบครัวอันอบอุ่นและงดงามผ่านกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่ทำให้เรื่องมีรสชาติ มอบบทเรียนสำคัญให้ผู้อ่านว่าด้วยความสุจริตที่รอบคอบ กล้าหาญ ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความถูกต้อง เป็นแบบอย่างให้อนุชนรุ่นหลังได้ศึกษาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น
ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น เป็นเรื่องที่หลานชายเล่าถึง “อี๊” ที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็กจนโตในตึกแถวย่านเยาวราช เมื่อหลานมองย้อนกลับไปได้เห็นความรักความเอาใจใส่ที่ได้รับ แม้อี๊ไม่ได้เรียนหนังสือแต่เห็นคุณค่าของการศึกษา จึงทุ่มเทให้หลานชายได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ซื้อหนังสือราคาแพงให้หลาน ส่วนอี๊ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับการทำงาน และไปเที่ยวไหว้พระทำบุญกับเพื่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การเล่าเรื่องทำให้เห็นวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของชาวไทยเชื้อสายจีนที่ยึดมั่นความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ เชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ว่าทำให้ชีวิตดีขึ้น สะท้อนให้เห็นการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและความคิดของคนต่างวัย กลวิธีการเขียนใช้ภาษาเรียบง่าย สละสลวย บทสนทนาเป็นธรรมชาติ ตัวละครมีความชัดเจนสมจริง จึงเป็นหนังสือดีมีคุณค่า สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
YOUNG & WILD
เรื่องเล่าทั้ง 7 เรื่อง ในหนังสือ YOUNG & WILD ของ จิรัฏฐ์ ประเสริฐทรัพย์ มีที่มาจากเรื่องราวของหนุ่มสาวรุ่นใหม่ 7 คน ที่กล้าเดินออกมาจากวิถีการดำเนินชีวิตแบบเดิมที่(น่าจะ)ราบเรียบและปลอดภัย เพื่อมาสร้างเส้นทางสายใหม่ที่เชื่อว่าถูกต้องและเหมาะสมสำหรับตน ผู้เขียนมิได้เสนอภาพคนเหล่านั้นออกมาตรง ๆ แต่เลือกหยิบแง่มุมบางส่วน มาใส่ไว้ในเรื่องสั้นที่เกิดขึ้นจากจินตนาการของตน จนเป็นเรื่องสั้นที่สร้างสรรค์และแฝงนัยซับซ้อน มีการนำเรื่องประเภทเหนือจริงมาสอดแทรกไว้ในเนื้อหาสาระได้อย่างแนบเนียน หนังสือเล่มนี้ ยังมีความแปลกใหม่ที่นำประวัติของบุคคลซึ่งเป็นที่มาของเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง มาผนวกไว้ท้ายเรื่องด้วย นับเป็นแนวทางทดลองในการนำเสนอเรื่องสั้น และหนังสือรวมเรื่องสั้นอีกรูปแบบหนึ่ง YOUNG & WILD จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี พ.ศ. 2559
เรากำลังกลายพันธุ์
เรากำลังจะกลายพันธุ์ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 8 เรื่องของเกริกศิษฏ์ พละมาตร์ มีความน่าสนใจในด้านศิลปะการเขียน การสะท้อนภาพและความคิดของผู้คนในสังคมทั้งแบบเก่าและแบบใหม่ ผู้เขียนนำเรื่องราวเกี่ยวกับความเชื่อและคตินิยม มาผสมผสานกับวิถีชีวิตปัจจุบัน และนำเรื่องเหนือจริงมาซ้อนทับกับเรื่องจริงได้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนมีความสามารถทั้งในการใช้ภาษา บรรยายและพรรณนาได้อย่างเห็นภาพ ใช้กลวิธีการนำเสนอหลายลักษณะ ทั้งเรียบง่าย และซับซ้อน เพื่อแสดงปฏิกิริยาต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม หนังสือรวมเรื่องสั้น เรากำลังจะกลายพันธุ์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่น บุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี พ.ศ. 2559