ผลรางวัล

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง

  • Home
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง

รางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง

มันนิซาไก คนป่าแห่งเขาบรรทัด

หนังสือเรื่องนี้แสดงการสำรวจทางมานุษยวิทยาอย่างนักวิชาการ แต่นำเสนออย่างสารคดี เป็น        สารคดีสัญจรไปค้นหาคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกหลงลืม และถูกมองว่าเป็นผู้ล้าหลัง อ่อนด้อยทางวัฒนธรรม แต่แท้ที่จริงแล้ว มันนิซาไกเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง โดยคำว่ามันนิก็แปลว่า “คน” นั่นเอง ผู้เขียนได้เข้าไปสัมผัส  ศึกษา  ค้นคว้า หาความเป็นจริง ถ่ายทอด ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมดั้งเดิมออกมาให้สังคมคนเมืองรับรู้ได้อย่างน่าติดตาม สร้างความสะเทือนใจ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจไปพร้อมกัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้  “มันนิซาไก คนป่าแห่งเขาบรรทัด”  ของ “บุหลัน รันตี”  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓  

Say Hi until Goodbye

“Say Hi until  Goodbye” เป็นหนังสือการ์ตูนที่รวบรวมผลงานเรื่องสั้น ๆ จากเพจ Tum Ulit เล่าเรื่องด้วยภาพ มีภาษาอังกฤษประกอบ แต่ละเรื่องให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน มีทั้งประทับใจ อบอุ่น มีความสุข และเศร้า เน้นการใช้ภาพสื่อสารให้ผู้อ่านจินตนาการตามเรื่องราวเหล่านั้น การวาดภาพมีลักษณะทันสมัยเป็นสากล ตัวการ์ตูนมีลายเส้นเรียบง่าย สีสันสบายตา มีชีวิตชีวา การจัดองค์ประกอบและลำดับภาพดี คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “Say Hi until  Goodbye” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓

PRESENTS FROM THE PRESENT

“PRESENTS FROM THE PRESENT” เป็นหนังสือแนวสร้างเสริมกำลังใจ มีเรื่องราวที่หลากหลาย ประกอบด้วยคำบรรยายสั้น ๆ นำเสนอมุมมองที่ดี และการทำให้ชีวิตมีความสุข เน้นการอยู่กับปัจจุบัน มีโอกาสรัก ให้อภัย มีความสุข สร้างสรรค์ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง และได้ลงมือทำสิ่งที่รักที่ชอบ เปรียบเสมือนของขวัญหลากหลาย สามารถสร้างให้เป็นได้จริงในปัจจุบัน ก่อนจะผ่านไปเป็นอดีต ภาพลายเส้นละเอียด สีสันสดใส ตัวการ์ตูนสวยงามมีเอกลักษณ์ ลำดับภาพและองค์ประกอบดูสบายตา มีความทันสมัย ผู้อ่านได้ใช้จินตนาการในการตีความ คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “PRESENTS FROM THE PRESENT” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓

The Boy Who Never Grows เด็กไม่รู้จักโต (Hard Cover Edition)

มนุษย์ทุกคนย่อมเจริญเติบโตตามกาลเวลาจากทารกเป็นเด็ก จากเด็กเป็นหนุ่มสาว จากหนุ่มสาวเป็นผู้ใหญ่  และจากผู้ใหญ่เป็นคนชรา แต่มีนักเขียนนวนิยายที่ใช้นามแฝง เจนมานะ   ไม่ยอมให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโตตามปกติ ไว้ในนวนิยายเรื่อง “เด็กไม่รู้จักโต” นวนิยายเรื่องนี้ เล่าเรื่องเด็กชายที่ฟื้นจากความตายและมีลักษณะแปลกประหลาดมหัศจรรย์คือ ร่างกายหยุดการเจริญเติบโตและสูญเสียความทรงจำ เขาสงสัยในความผิดปกติของตัวเอง จึงทำให้ออกเดินทางครั้งใหญ่เพื่อตามหาความจริงตามร่องรอยของปริศนาที่ถูกทิ้งไว้  เขาได้พบกับผู้คน สิ่งของและเหตุการณ์มหัศจรรย์มากมาย  ที่สำคัญคือ “ห้องสมุดแห่งสถานที่” และ “ห้องสมุดแห่งกาลเวลา” ซึ่งเป็นที่รวบรวมหนังสือชีวประวัติมนุษย์แต่ละคน จนในที่สุดเด็กชายก็ได้พบหนังสือปกดำที่นำเขาไปสู่ความจริง ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวแบบแฟนตาซี ซึ่งมีเรื่องมหัศจรรย์และเหนือจริง  และเล่าเรื่องด้วยสำนวนภาษาที่สละสลวย เห็นภาพ ได้ยินเสียง ชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราว โลดแล่นไปกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ นวนิยายเรื่องนี้มิใช่เรื่องเบาสมองสำหรับเด็ก แต่เป็นเรื่องหนักสมองสำหรับผู้ใหญ่ ผู้เขียนวิพากษ์ชีวิตมนุษย์ไว้อย่างแยบยล เช่น เรื่องมลพิษ ความไม่สนใจหนังสือแต่ให้ความสนใจกับอินเทอร์เน็ตแทน และการเลือกลืมเรื่องราวที่เจ็บปวด  แม้นวนิยายเรื่องนี้ จะแสดงให้เห็นว่าความเป็นเด็กคือความใสสะอาดบริสุทธิ์และไร้เดียงสา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่หลบซ่อนและปฏิเสธความจริงอันโหดร้ายด้วย  แต่แนวคิดสำคัญของ               นวนิยายเรื่องนี้คือความกล้าที่จะเผชิญกับความจริงเพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้นวนิยายเรื่อง “เด็กไม่รู้จักโต” ของเจนมานะ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓

ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ

“ ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ”  ของ  “บัญชา อ่อนดี”  เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๐ เรื่องที่สะท้อนความเข้าใจชีวิตผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างคนกับคน คนกับความคิด และคนกับสิ่งแวดล้อม โดยขุดเอาปมเหง้าของปัญหาในชีวิตที่แตกต่างหลากหลายในสังคมมาเขียนได้อย่างลึกซึ้ง อาทิ เรื่องชาติพันธุ์ การรุกล้ำชีวิตของสัตว์และผลพวงของการกระทำ กลไกการทำงานของความเป็นแม่ มนุษย์กับอดีต  เป็นการตั้งคำถามกับชีวิตด้วยลีลาการเขียนที่แยบยล ซับซ้อน และใช้ภาษาที่สอดคล้องกับเรื่องราว ให้ความรู้สึกกระทบใจ บางเรื่องมีอารมณ์ขัน  มีชีวิตชีวา คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น  “ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ” ของ “บัญชา อ่อนดี”  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำพุทธศักราช  ๒๕๖๓

หน้ากากยิ้มของสิงโต

“หน้ากากยิ้มของสิงโต”  เป็นเรื่องที่สะท้อนภาพจากจินตนาการ การดำเนินเรื่องใช้แนวสัญลักษณ์ แต่สร้างเรื่องให้เป็นแนวสมจริง โดยใช้กลวิธีสวมหน้ากากและให้ตัวละครผู้หญิงและผู้ชายสลับกันเล่าเรื่อง   “คุณอยากฟังเรื่องจริงหรือเรื่องที่ฉันอยากเล่า”  ผู้ประพันธ์นำนิทานมาเล่าไว้ ๓ เรื่อง เป็นนิทานที่ให้แง่คิดดี เสมือนเป็นตัวแทนความคิด ความรู้สึก ความปรารถนาของตัวละคร ผ่านเรื่องราวในนิทาน เรื่องสนุกได้เห็นจินตนาการ แนวคิด การใช้ชีวิตของวัยรุ่นที่มีสีสัน ตื่นเต้นเร้าใจ เป็นเรื่องอ่านสบาย ๆ บางเหตุการณ์ในเรื่องแสดงพฤติกรรมที่ไม่อาจคาดเดา ท้ายเรื่องทั้งสองได้เปิดเผยตัวตนและเรื่องราวที่เป็นเหตุผลให้สวมหน้ากาก ประเด็นสำคัญจากบทประพันธ์เรื่องนี้ คือ การเน้นย้ำให้ตระหนักว่า “บางครั้งรอยยิ้มอาจเป็นสัญลักษณ์ของความสุข แต่บางเวลามันอาจเป็นเพียงหน้ากากรูปแบบหนึ่ง” คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “หน้ากากยิ้มของสิงโต”  ของ “กนกศักดิ์  เรือนทอง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓  

เรื่องเล่าของพลอยดาว

“เรื่องเล่าของพลอยดาว” เป็นเรื่องชีวิตครอบครัว ของเด็กหญิงอายุ ๑๑ ปีซึ่งมีพ่อเป็นครูดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน  ต้องเดินทางไปสอนที่โรงเรียนห่างไกลจากบ้านในเมือง เด็กหญิงพลอยดาวต้องเดินทางเพียงลำพังไปเยี่ยมพ่อที่บ้านพักของโรงเรียนในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะแม่ต้องดูแลกิจการร้านหนังสือ เมื่ออยู่กับพ่อ พลอยดาวได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ได้ส่องกล้องดูดาว เป็นประสบการณ์ตรง เพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้รู้จากหนังสือที่แม่ซึ่งเป็นนักเขียนแนะนำให้อ่าน การเดินทางไปเยี่ยมพ่อของพลอยดาว ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักปางอุ๋ง สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของแม่ฮ่องสอน และหมู่บ้านรักไทย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างภูเขากับทะเลเมื่อครอบครัวได้ไปเที่ยวทะเลที่ชลบุรีซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่  พลอยดาวจึงรู้ว่าเธอชอบภูเขามากกว่าทะเล  เรื่องนี้ผู้อ่านจะได้สัมผัสชีวิตครอบครัวที่มีความสงบสุข  มีความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อกัน แม้บางครั้งจะมีความคิดที่แตกต่างกันบ้าง           คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “เรื่องเล่าของพลอยดาว”  ของ “อัชฌาฐิณี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชนประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓  

ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต

ต้นฉบับรวมบทกวี “ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต” ของ “นนทพัทธ์ หิรัญเรือง” เป็นงานฉันทลักษณ์หลากรูปแบบ อย่างเช่น กลอนแปด กลอนหก กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ โดยผู้เขียนได้แบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกตั้งชื่อ ‘ชีวิตในพรุ่งนี้’ ส่วนช่วงหลัง ‘พรุ่งนี้ในชีวิต’ ซึ่งเล่นคำสลับกันอย่างลงตัว แม้ว่างานชุดนี้เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่เมื่อนำมารวมกันถือว่าเข้าชุดในความหมายของ ‘พรุ่งนี้’ ที่ทำให้ผู้อ่านมีความหวัง และเมื่อชีวิตมีความหวัง กำลังใจก็ตามมา ด้านรูปแบบแม้บางสำนวนอาจไม่สมบูรณ์ในฉันทลักษณ์ แต่ด้านเนื้อหาและลีลาวรรณศิลป์ถือว่ามีความโดดเด่น เรื่องราวส่วนใหญ่ผู้เขียนมักหยิบเอาประสบการณ์รอบ ๆ ตัวมาถ่ายทอด อาทิ จากการอ่านหนังสือวรรณกรรม ดังตัวอย่าง… “แสนล้านเล่มไหลหลามข้ามสะพาน  โดยบรรทุกจิตวิญญาณแต่โพ้นเหย้า  ถ่ายทอดบรรทัดส่งบันทึกสำนึกเนา  ผลัดกันเล่าเปลี่ยนกันรักในวรรควลี” หรือประสบการณ์จากการเป็นครูบรรจุใหม่…  “เช้าแรกหลังเลิกแถวหน้าเสาธง             บางพะวงวับสลายฉายยิ้มปรี่  ”รีบขึ้นสอนเถอะครูขาอย่าช้าที’               ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต” ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รวมบทกวี “ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต” ของ “นนทพัทธ์ หิรัญเรือง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓  

บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน

หนังสือกวีนิพนธ์ชุด “บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน” ของ “นิตา มาศิริ”  เป็นงานฉันทลักษณ์ที่สร้างสรรค์ในรูปแบบกลอนแปด ผู้เขียนได้แยกย่อยเนื้อหาเป็น ๖ ภาค ดังนี้ หากจะเรียกเธอว่าความรัก, แว่วเสียงนกที่จรจากรัง, ไม่มีเสียงเพลงในคืนอิเล็กโทนถูกเผาไฟ, เหลือความรักบ้างไหมแผ่นดินนั้น, บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน และ คิดถึงครึ่งชีวิต ตามลำดับ กวีนิพนธ์เล่มนี้โดดเด่นที่เนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งแสดงออกถึงความรักความผูกพัน รำลึกถึงคืนวันเก่า ๆ หอมกลิ่นอดีตในวัยเด็ก ตลอดจนเรื่องราวปัจจุบัน รวมทั้งการพลัดพราก อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ผู้เขียนได้ฉายภาพ ‘พื้นที่-ทุ่ง-ทาง’ บรรยากาศในชุมชนและ ‘บ้าน’ มาเป็นฉากเดินเรื่อง โดยมีความรักความผูกพันต่อ ‘พ่อ-แม่’ เป็นองค์ประกอบสำคัญ…  “หากจะเรียกสิ่งนั้นว่าความรัก     ที่พาเรามารู้จักและพบหน้า              แก้วกาแฟมื้อเช้า ข้าว ผัก ปลา              ที่มิเคยตีราคา ค่าหัวใจ” และบางบทในชิ้นงาน ‘เธออยู่บนชิงช้าสวรรค์’ ซึ่งสูญเสียพ่อ… “โลกหมุนเร็วเกินไปไหมเธอว่า?    ชิงช้าที่มาชิง-ยิ่งหม่นหมอง         ราวโลกเงียบนิ่งงัน-ฝันตระกอง              กอดเปลวไฟสีทองที่ลามเลีย              ฝุ่นเถ้าแหละเท่ารักที่รวมไว้         ทั้งคือลมหายใจผู้สูญเสีย        เคยโอบอุ้มพะเน้าพะนอเคยคลอเคลีย      อิงไออุ่นวนเวี่ยลงเรี่ยวาง” ส่วนเครื่องมือที่ใช้สื่อสาร แม้ว่าบางสำนวนอาจยังไม่สมบูรณ์ด้านฉันทลักษณ์ แต่โดยภาพรวมถือว่าเป็นหนังสือที่มีพลัง (กวี) มีภาษาง่าย ๆ  แต่งดงามอีกเล่มหนึ่ง ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้กวีนิพนธ์ชุด “บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน” ของ “นิตา มาศิริ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓

ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป

หนังสือกวีนิพนธ์ “ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป” ของ “สุธีร์ พุ่มกุมาร” ผลงานร้อยกรองจำนวน                  ๗๘ สำนวน รวม ๔๗๓ บท ประกอบด้วยฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก มีโคลงสุภาพ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ กลอนเพลงพื้นบ้านแทรกอยู่จำนวนหนึ่ง ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการใช้ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อให้ได้บรรยากาศตามเนื้อหาสาระ โดยใช้ฉันทลักษณ์ได้ครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด มีความไพเราะของถ้อยคำที่นำเสนอ เช่น คนปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะของหมู่บ้านจัดสรร การเดินข้ามทางม้าลายของหญิงชรา ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป กิงก่องแก้ว : ร้อยเกี่ยวเหนี่ยวฝัน ด้วยมือของฉันและมือของเธอ เนื้อหาและรูปแบบเหมาะสมกลมกลืน กระชับรัดกุม มีสาระในด้านความรู้ ความคิด ชัดเจน ใจความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การใช้ถ้อยคำถูกต้องตามหลักภาษาไทย ทั้งในด้านการสะกดคำ และการสื่อความหมาย  มีความเหมาะสมกับเนื้อหา ใช้คำให้อารมณ์และความรู้สึก มีความสมบูรณ์ กวีโวหารสร้างความประทับใจ ทำให้เกิดจินตนาการด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น อุปมาอุปไมย ใช้สัญลักษณ์ เร้าอารมณ์ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ มีความหมายลึกซึ้ง สามารถดึงดูดความสนใจได้ ทำให้ผู้อ่านซาบซึ้ง ด้านความคิดสร้างสรรค์ มีศิลปะในการนำเสนอความคิดริเริ่มอย่างมีคุณค่า มีเหตุมีผล  มีวิสัยทัศน์ และความคิดใหม่ ๆ ที่เป็นของตนเองได้ดีพอสมควร ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป” ของ “สุธีร์ พุ่มกุมาร” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓

จ็อกกิ๊งซิ่งสายฟ้า

“จ็อกกิ้งซิ่งสายฟ้า” เรื่องอ่านสนุก แต่คุณภาพของลายเส้นและฝีมือด้อยกว่า ๒ เรื่อง แรกเป็นเรื่อง ของ “เอก” หนุ่มน้อยนักกีฬาวิ่งแข่งที่เก่งกาจ โดยมีสิ่งยืดเหนี่ยวและสร้างกำลังใจให้เอกก็คือ คุณปู ซึ่งเป็นอดีตนักวิ่งเหรียญทองทีมชาติไทย ผ่านรองเท้าวิ่งของที่เอกได้เป็นของขวัญตอนเด็กๆ และเขาใส่ทุกครั้งที่ชนะการวิ่งแช่งจนวันหนึ่งรองเท้กถูก ขโมยไปทำให้เอกขาดกำลังใจและสูญเสียความมั่นใจในตัวเอง ต่อเมื่อได้ทวนคิดถึงคำสอนต่างๆ ของปู่ว่า “ปู่ไม่เคยชนะเพราะรองเท้าหรอกนะ ปู่ไม่คิดว่าโลกนี้มันจะมีรองเท้าวิเศษหรอกนะ ที่หลานชนะมาตลอดก็เพราะตัวเราเองต่างหากที่วิ่ง” ทำให้เอกค้นพบตัวเอง เรียก ความมั่นใจกลับคืนมาและชนะการแข่งชันในที่สุด แม้ผู้เขียนจะเป็นเยาวชนแต่สามารถเขียน นิยายภาพเรื่องนี้ได้ดีมีเนื้อหาสอนให้เชื่อมั่นในตนเอง ให้เห็นว่าแก่นแท้ของความสำเร็จย่อมเกิดจากการฝึกฝนมีกำลังใจ ต้องค้นพบตัวเองอย่าให้มีอะไรมาบังตา

PAND’A STORY

ภาพสวย แต่การใช้ภาษายังไม่ค่อยดีนัก

พระพุทธเจ้าของฉัน

เป็นหนังสือที่ผู้ประพันธ์คือ สันติสุข โสภณศิริ ได้นำพุทธประวัติมาเรียบเรียงขึ้นใหม่ด้วยภาษาที่เรียบงำย ราบรื่น และไพเราะ มีความยาวไม่มากเหมาะสมสำหรับเยาวชนและคนทั่วไป เป็นการนำเสนอพุทธประวัติที่แตกต่างจากที่เคยพบเห็นโดยทั่วไป การจัดพิมพ์และภาพประกอบเรียบร้อย สวยงาม นับว่าเป็นหนังสือที่มีคุณค่เล่มหนึ่ง คณะกรรมการพิจารณาแล้ว มีมติป็นเอกฉันท์เห็นสมควรให้ได้รับรางวัลที่ ๓ ประเภทหนังสือดีในอดีต

คาบโลกย์คาบธรรม

บรรยายปรัชญาชีวิตแทรกธรรมะ ด้วยลีลาที่ประสานความขัดแย้งเป็นสัจธรรมที่ผู้เขียนได้ประสบในชีวิตของตนเองมานานนับสิบปี ก่อนจะกลั่นกรองออกมาเป็นข้อเขียนพัฒนาลีลาพิเศษที่แสดงความคิดได้น่าอ่าน เห็นธรรมในโลก(ย์) เห็นธรรมในการต่อสู้ชีวิตของคนที่เคย “ประสบความสำร็จ”แต่ชีวิตผกผัน แล้วต้องกลับมาดิ้นรนทำมาหากินปะติดปะต่อชีวิตขึ้นมาใหม่ สำนวนภาษาสละสลวย เล่าเรื่องชีวิตสะท้อนปรัชญาได้อย่างกลมกลืน ชวนติดตาม

ข้าวเม่ารางไฟ

1. มีความคิดสร้างสรรค์ในการนำเสนอรูปแบบใหม่ โดยใช้พื้นฐานจากเพลงพื้นบ้าน 2. บันทึกภาพชีวิตชนบท ในแง่คดิชนที่มีวัฒนธรรม และวิถีชีวิตเชื่อมโยงกับสังคมปัจจุบันได้ดี

บ่ายหอยทาก

“บ่ายหอยทาก” ของมหรรณพโฉมเฉลา เป็นหนังสือรามเรื่องสั้น จำนวน ๑oได้แก่ เลื่อนลอย, ตัวละคร, ตากับหลาน, บ่ายหอยทาก, ปากสีแดงเพลิง, แม่ม่ายไปตลาต,ในราตรี, โรค่า, หญิงสาวผู้นำความเศร้าโศกอันอ่อนหวานมาสู่ประเทศ และหมู่มิตรแมลงสาบผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวอย่างมีอรรถรส ด้วยกลวิธีการประพันธ์แบบ “เหมือนจริง” ผสมผสานกับแบบ “เหนือจริง”โดยมุ่งสะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตคนไทยร่วมสมัยอันวกวนสับสนว่า พวกเรากำลังถูกสังคมบริโภคนิยม ซึ่งเป็นศัตรูที่ลื่นไหลและซับซ้อน กลืนกินและทำลายล้างอยู่ทุกขณะ ส่งผลให้ผู้คนไม่รู้จักตัวตนที่แท้จริง ดำเนินชีวิตอย่างไร้สาระและปราศจากจุดหมาย ชีวิตคนไทยร่วมสมัยคือภาพลวงตาที่ขาดจิตวิญญาณสังคมไทยร่วมสมัยสูญเสียความสมดุลโดยสิ้นเชิง งานเขียนชุดนี้นอกจากจะทำให้ผู้อ่านสำเริงอารมณ์แล้ว ยังทำให้รู้จักและเข้าใจในชีวิตคนไทยยและสังคมไทยร่วมสมัยดีขึ้นอีกด้วย

กลางทะเลลึก

เป็นนวนิยายชีวิตชาวประมง ซึ่งทำงานหนักและเผชิญภัยอันตรายกลางทะเลลึกตีแผ่ภาวะจิตใจของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา เผยให้เห็นความชับซ้อนทางความคิดและอารมณ์ของตัวละคร ผู้ประพันธ์สามารถถ่ายทอดภาพและภาวะความขัดแย้งของตัวละครได้อย่างละเอียดและลุ่มลึก มีการหน่วงเรื่องอย่างน่าสนใจชวนติดตาม ใช้ภาษากระชับ เข้มข้น และสมจริง

มลาบรี

เป็นวรรณกรรมเยาวชนในด้านมานุษยวิทยา ให้ความรู้เกี่ยวกับผีตองเหลืองซึ่งเป็น ขนกลุ่มน้อยที่อาศัยอยู่ในป่า เนื้อเรื่องน่าสนใจให้แง่คิดในการใช้ชีวิตโดยเคารพธรรมชาติสะท้อน ความบริสุทธิ์ของจิตใจ อ่านแล้วรู้สึกถึงความอบอุ่นในครอบครัว สร้างทัศนคติที่ดีระหว่าง คนเมืองกับชนเผ่า การใช้ภาษาสละสลวย เหมาะสมกับวัย ดำเนินเรื่องน่าสนใจ การจัดรูปเล่มหากเพิ่มภาพประกอบจะทำให้หนังสือสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

Flower Shop

Flower shop ลายเส้นสวยงามใช้ได้ สัดส่วนการ์ตูนถูกต้อง เนื้อหาไม่หนักแน่น แต่ให้สาระ นำเสนอการให้โอกาสผู้ที่ทำผิดได้กลับเนื้อกลับตัว และสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง ดังนั้น Flower Shop ของ อรณิชา ชัยสิงหาญ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๐

ลิ้นชักแห่งความทรงจำ

เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการออกแบบตัวการ์ตูน และนำเสนอที่ทันสมัย ถูกรสนิยมคนรุ่นใหม่ ตัวการ์ตูนมีเอกลักษณ์โดดเด่นและให้อารมณ์ เนื้อหาแฝงแนวปรัชญาเป็นการเตือนคนและสังคมปัจจุบัน ผู้เขียนกล้าหาญที่เสนอแนวการ์ตูนนี้ เป็นการหยิบปัญหาของคนในสังคมออกมาบอกและเสนอทางแก้ นั่นคือทุกคนทุกช่วงวัยล้วนมีความทรงจำและประสบการณ์มากมาย ทั้งควรจำ ไม่ควรจำ ทั้งเศร้าทั้งทุกข์ ทั้งรื่นรมย์ ทั้งหม่นหมอง บรรจุในลิ้นชักแห่งความทรงจำในสมอง ทุกท่านควรให้เวลาและใจในการเปิดลิ้นชักแห่งความทรงจำ มาปัดกวาดสิ่งเศร้าหมองและเติมเต็มสิ่งที่น่ารื่นรมย์เพื่อชีวิตที่ดี  รูปแบบการ์ตูนเล่มนี้ อาจจะดูรูปแบบแล้วเรียกว่าไม่เป็นนิยายภาพเสียทีเดียว แต่ก็เป็นการ์ตูนภาพเล่าเรื่องที่ดี ทางคณะกรรมการเห็นว่าน่าจะเป็นแนวทางใหม่ ๆ เปิดทางให้นำเสนอการ์ตูนเล่าเรื่องหรือนิยายภาพในรูปแบบใหม่ ๆ บ้าง เพราะเล็งเห็นว่าหนังสือเล่มนี้มีคุณค่าดีพอ จึงเห็นพ้องต้องกันให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

พ่อนายกฯ สายไหม บ้านหนองฮี

เป็นเรื่องความฝันของวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย พอตัว พอใช้ พอจ่ายพอเพียง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม ตัวละครสมจริง สะท้อนให้เห็นการใช้ชีวิตที่ร่มเย็นเป็นสุขในชนบทอย่างแจ่มชัด ผู้เขียนนำความรู้เรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเสนอให้เข้าใจ ง่าย ชวนอ่าน

กล้วยหอมในร้านเคเอฟซี

กล้วยหอมในร้านเคเอฟซีเป็นรวมเรื่องสั้นที่หลากหลาย น่าสนใจ เมื่อพิจารณาภาพรวม  ทั้งด้านเนื้อหา วิธีการนำเสนอ  และความคิดสร้างสรรค์ของผู้ประพันธ์แล้ว จะเห็นได้ว่าเรื่องส่วนใหญ่แฝงเจตนาปลุกจิตสำนึกห่วงใยสังคมที่เปลี่ยนไปตามลัทธิบริโภคนิยม ซึ่งขัดแย้งกับวิถีชีวิตดั้งเดิมในชนบท นอกจากนี้ผู้ประพันธ์ยังเสนอปัญหาน่าขบคิดผ่านข้อมูลในด้านต่าง ๆ เช่น การศึกษา เศรษฐกิจ การเมืองท้องถิ่น ศาสนา ฯลฯ อย่างมีชีวิตชีวา และมีอารมณ์ขัน

ยาย

เป็นเรื่องราวของคนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา นำเสนอชีวิตจริงของหญิงชาวนาสามัญผู้ต่อสู้เพื่อสิทธิในการทำกินของครอบครัวอย่างทรหดอดทน และอย่างสันติ สะท้อนถึงความไม่ชอบธรรมของระบบราชการ การต่อสู้อย่างไม่ย่อท้อของหญิงชาวบ้านคนหนึ่งและครอบครัวของเธอ การกดขี่เอาเปรียบของคนที่มีอำนาจมากกว่า ผู้เขียนเก็บรายละเอียดของชีวิต “ยาย” มาถ่ายทอดอย่างมีศิลปะอันทรงคุณค่าในเชิงวรรณศิลป์ และเกิดอรรถรสในการอ่านอย่างน่าสนใจ

นาครเขษม

“นาครเกษม” ผลงานของ “คอยนุช” เป็นนวนิยายขนาดสั้นแนวเสียดสีที่เขียนในลักษณะเหนือจริงผู้เขียนเสียดสีสังคมโลกสมัยใหม่ที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและเร่งรีบจนทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างร้อนรน เพียงแค่อายุ 40 ปี พลังชีวิตก็ถูกใช้ไปจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น ทันทีที่อายุครบ 40 ปี คนเหล่านี้ก็กลายเป็นชาวนาครเกษมไปโดยอัตโนมัติ ชาวนาครเกษมมีบุคลิกแบบคนสูงวัยทั่วไป คือ หัวล้าน ผมหงอก สายตายาว อวัยวะหย่อนยานเหี่ยวย่น หูตึง ความจำไม่ดี เป็นต้น หลายคนมีความฝังใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างมาโนชผู้เชื่อมั่นในของเก่าที่ใช้การไม่ได้แล้ว วิชัยฝังใจกับผู้หญิงผมยาวไม่รู้จักชื่อและพบว่าอวัยวะเพศของตนไม่ทำงานหลังจากเก็บยางลบที่เขียนชื่อว่านภาและนาครเกษมได้ นภาพนักงานพิมพ์ดีดที่ทำงานจนลืมวันลืมคืน กว่าจะรู้ตัวฝ้าบนใบหน้าของเธอก็มีขนาดใหญ่เป็นรูปแผนที่แอฟริกาและเครื่องคอมพิวเตอร์ก็มาแทนที่พิมพ์ดีดของเธอที่ตัว ฟ หายไป เธออยู่ที่นาครเกษมโดยไม่พูดจาแม้แต่คำเดียว เอาแต่ตามหาตัว ฟ อย่างมุ่งมั่น อนันต์ซึ่งมีความฝันว่าอยากออกไปจากกรุงเทพฯ อยากมีบ้านหลังเล็ก ๆ ในชนบทแต่ก็ไม่เคยทำได้เลย และคนอื่น ๆ ทุกคนเป็นอดีตพนักงานบริษัทที่ถูกปลดออกจากงานด้วยเหตุผลว่าหมดอายุใช้งาน ในตอนท้ายเรื่องทุกคนได้ขึ้นชิงช้าสวรรค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการกลับไปสู่ความสุขในวัยเด็กและพบคำตอบของปัญหาคาใจในชีวิตของแต่ละคน นิยายเรื่องนี้ไม่ได้สร้างตัวละครและเหตุการณ์ตามขนบของนวนิยายแบบสมจริง จึงมีความพิลึกพิลั่นเกินจริงอยู่มาก แต่พบว่าผู้เขียนตั้งใจเสนอแก่นความคิดเรื่องคุณค่าของมนุษย์ เพราะสังคมนิยมตีราคามนุษย์จากผลประโยชน์ที่เขาสร้างให้แก่บริษัท สังคมวัตถุนิยมทำให้พวก “เก่า ช้า ล้า แก่” คือ หัวเก่า เชื่องช้า ล้าสมัย แก่ ถูกคัดออกราวกับสิ่งของชำรุดหรือตกรุ่นแสดงว่าสังคมสมัยใหม่ตัดสินมนุษย์ที่ “มูลค่า” ไม่ใช่ “คุณค่า” นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเน้นว่าสังคมบริโภคนิยมผลักดันให้มนุษย์หัวปักหัวปำอยู่กับการทำงานจนลืมไปว่าความสุขที่แท้อยู่ใกล้ตัว จึงละเลยที่จะเติมความสุขให้กับตนเอง ทุกคนพบว่าถึงที่สุดแล้วคนเราไม่ได้ต้องการอะไรในชีวิตมากไปกว่าความสุขใจ นาครเกษมไม่ได้เป็นชื่อที่มีอยู่บนแผนที่กรุงเทพมหานครหรือแผนที่ประเทศไทย แต่ผู้อ่านก็รู้สึกได้ว่านาครเกษมมีจริงและอยู่ใกล้ ๆ ตัว หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองของนครแห่งนี้ไปแล้วด้วยซ้ำหรืออย่างน้อยที่สุด นาครเกษมก็ทำให้เราฉุกคิดถึงคุณค่าและความเป็นมนุษย์ท่ามกลางโลกสมัยใหม่

Global Warning (สัญญาณที่คุณลืม สัญญาที่โลกรอ)

เมื่อเราต้องเผชิญกับมหันตภัยโลกร้อน จึงเป็นหน้าที่ของชาวโลกรวมทั้งเยาวชนที่ต้องออกมารณรงค์ เพื่อปลูกจิตสำนึกของผู้คนบนโลกและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันตระหนักและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ได้นำเสนอเรื่องราวสาระความรู้เกี่ยวกับสภาวะ “โลกร้อน” ทั้งสาเหตุและภัยที่คุกคามผ่านรูปแบบลายเส้นการ์ตูนที่สนุกสนาน มีการผสมผสานความรู้ในเชิงวิชาการและจินตนาการเป็นการ์ตูนที่จูงใจให้ตระหนักถึงภัยจากสภาวะ “โลกร้อน” และเรียกร้องให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ควบคุมและลดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หยุดการตัดไม้ทำลายป่า เลิกใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นบรรยากาศ ลดและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ฯลฯ ซึ่งจะเป็นวิธีที่จะฟื้นฟูธรรมชาติและโลกของเรา ผู้เขียนและทีมงานผู้จัดทำหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ เน้นและย้ำให้มองและคิดอย่างจริงจังกับวิกฤตินี้ ดังข้อความท่อนหนึ่งซึ่งสรุปไว้ท้ายเล่มว่า “มนุษยชาติไม่เคยถูกกดดันให้ยื้อยุดกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่หนักหน่วงและน่ากลัวเช่นนี้มาก่อน ถ้าเราไม่ลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วนและทันท่วงทีเพื่อหยุดสภาวะโลกร้อน อาจทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับคืนได้ โลกของเรามีเพียงใบเดียว หากทุกสิ่งทุกอย่างสายเกินที่จะแก้ไข โลกของเราจะหายไป ถึงเวลาแล้วล่ะ ที่เราทุกคนจะร่วมมือกันเพื่อปกป้อง “โลกของเรา”

องคุลิมาล

หนังสือการ์ตูนเล่มนี้เป็นการนำเรื่องราวบางช่วงตอนของพระพุทธประวัติ ที่เกี่ยวกับพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า คือ องคุลิมาล มานำเสนอเป็นนิยายภาพ เป็นการ์ตูนพุทธศาสนาที่ให้ความรู้ความสนุกสนาน และให้ตระหนักถึงคุณค่าของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนผ่านลายเส้นการ์ตูนที่สวยงาม และคงความมีเอกลักษณ์แบบไทย ๆ มีความประณีตละเอียด น่าประทับใจ การนำเรื่องขององคุลิมาล พระอรหันต์มานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าชีวิตนั้นไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ละเลิกกระทำความชั่ว แม้ว่าในทางวิชาการจะถือว่าการนำเสนอพระพุทธประวัติอาจจะดูคลุมเครือไม่ชัดเจน แต่ในเชิงของศิลปะแล้วถือว่าน่าจะสนับสนุนให้มีการนำเรื่องราวดี ๆ มีคุณค่าทางสังคมและศาสนามาถ่ายทอดเป็นการ์ตูนที่เป็นเอกลักษณ์ไทยเพื่อให้เป็นที่แพร่หลายและดำรงเอาไว้สืบไป

หมู่บ้านแอโรบิก

หมู่บ้านแอโรบิกเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีความน่าสนใจทั้งรูปแบบและเนื้อหา ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากกระแสวัตถุนิยมและค่านิยมผิด ๆ ที่รุกรานวิถีชีวิตของชาวชนบทในรูปแบบต่าง ๆ  จะเห็นว่าไม่เพียงแต่ชาวบ้านและเยาวชนเท่านั้น แม้กระทั่งบุคคลในวงการศาสนา การศึกษา และการเมือง ก็ทำให้ศีลธรรม จริยธรรมถูกสั่นคลอนอย่างน่าสลดใจ แม้ปัญหาเหล่านี้อาจพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม แต่ผู้เขียนก็นำเสนอด้วยชั้นเชิงของเรื่องสั้นที่เข้าใจง่ายแต่งดงาม กระตุกเตือนให้ทุกฝ่ายต้องตั้งหลักทบทวนเพื่อดึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงกลับคืนมา

แสงใต้ในมรสุม

ขณะที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยมีแต่ข่าวการใช้ความรุนแรงและการสร้างสถานการณ์ร้าย แต่สารคดีเล่มได้สะท้อนให้เห็นความจริง ความดีงาม และความหวังของสังคมในพื้นที่ อันจะเป็นแสงใต้นำไปสู่ความสงบสุขได้ ผู้เขียนนำเสนอภูมิปัญญาชาวบ้านในจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยกลวิธีเชิงเรื่องสั้นโดยใช้ภาษาสำนวนสละสลวย ชวนอ่าน ทรงคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ เป็นเรื่องที่ใช้ความพยายามในการเก็บข้อมูลโดยละเอียด ผ่านการทำงานในพื้นที่จริงเนื้อหามีประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิต จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของกลุ่มชนที่ถูกมองว่ามีปัญหา  อันนำไปสู่แนวทางสมานฉันท์ของชนในชาติ อย่างไรก็ตามพิจารณาองค์รวมของหนังสือแล้ว เห็นว่ามีสัดส่วนของสารคดีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม มาปะปน เช่น ชุมชนคนปีนเขา, ชักพระโคกโพธิ์,  ล่าบรูดา ฯลฯ ทำให้มีความโดดเด่นน้อยลง เมื่อเทียบกับหนังสือที่เป็นสารคดีภูมิปัญญาโดยตรง

ชีวิตพอเพียง หมอเกษม วัฒนชัย

เป็นสารคดีอัตชีวประวัติของเด็กจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดีในชนบท แต่มีความมานะอดทน ขยันหมั่นเพียรจนเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงและก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงถึงขั้นองคมนตรี หนังสือแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการอบรมสั่งสอนในบ้านว่าเป็นรากฐานสำคัญของสังคม เช่น ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ  ความรักความสามัคคีในครอบครัว หนังสือแสดงถึงอุดมการณ์ของโรงเรียนที่กำหนดให้คุณธรรมนำความรู้ เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาอุปนิสัยที่ดีงาม ทำให้ชีวิตที่มีความหมาย ผู้เขียนใช้ความสามารถรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด แล้วนำมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ เนื้อหาสาระมีความสำคัญต่อเยาวชนของชาติ สำนวนโวหารมีลีลาให้ชวนอ่าน นำเสนอภูมิปัญญาในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่หลงติดวัตถุ ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ จุดประกายความคิด และพัฒนาสำนึกเชิงสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม แต่ทั้งนี้เป็นงานเขียนที่มีสัดส่วนของ สารคดีชีวิต (อัตชีวประวัติ) มากกว่าส่วนที่เป็นภูมิปัญญา จึงทำให้ความโดดเด่นด้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือที่เป็นสารคดีภูมิปัญญาโดยตรง

เล่นเงา

นวนิยายสะท้อนรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่เกิดจากความล่มสลายของสถาบันหลักในสังคม   ไม่ว่าจะเป็นทหารกดขี่รังแกประชาชน   ข้าราชการฉ้อฉลเอาเปรียบ   พระสงฆ์ทุศีลที่มัวเมากับราคะ   และครูที่ล่อลวงลูกศิษย์   และที่ลึกลงไปในพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้คือกิเลสตัณหาที่ไม่มีวันจบสิ้น  จึงล่อลวงให้มนุษย์เห็นถูกเป็นผิด  ผิดเป็นถูก  ปัญหาจึงสั่งสมโดยไม่มีวันแก้ไข ผู้เขียนนำเสนอความเลวร้ายในชุมชนแห่งหนึ่ง  ผ่านสายตาและการบอกเล่าของตัวละคร 2 ตัว  หนึ่งคือ ไอ้เท่ง  ตัวตลกในหนังตะลุง   อีกหนึ่งคือลุงส่ง ชายขี้เมาขาพิการ   ไอ้เท่งเป็นตัวตลกไร้ชีวิตที่มีเพียงเงาโลดเต้น   เป็นเหมือนจิตวิญญาณที่ห่วงใยชาวบ้านชุมชน  แต่ เมื่อเป็นเพียงเงา  และตัวตลก   คำบอกเล่าของไอ้เท่งจึงเหมือนนิยายโกหกที่ไม่มีใครเชื่อ  เช่นเดียวกับลุงส่ง  คนพิการขี้เมาที่ไม่มีใครเชื่อคำพูด  ดังนั้นแม้เขาจะชี้ตัวเจ้าอาวาสทุศีลและครูใหญ่กระหายกามว่าเป็น  “ผู้ร้าย”  ในชุมชน  แต่ทุกคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล   การเลือกไอ้เท่งและลุงส่งเป็นผู้เล่าเรื่องจึงตอกย้ำการที่ผู้คนปฏิเสธที่จะเข้าถึงความจริง  ความเลวร้ายจึงฝังรากลึกต่อไปตราบนานเท่านาน  น่าเสียดายที่ผู้เขียนทิ้งตัวละครนี้ไปในตอนท้ายเรื่อง  บทจบจึงไม่สวยงามเท่าที่ควร การเลือกใช้กลวิธีเหนือจริงเพื่อบอกกล่าวความจริงนับเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่โดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้   นอกจากผู้เล่าเรื่อง  การสร้างบรรยากาศ  และเหตุการณ์อาเพศผิดธรรมชาติแล้ว  การให้แม่เฒ่าเปาะเจ๊ะหอนทุกปีเมื่อถึงวันครบรอบการตายของลูกชาย  ก็สร้างบรรยากาศลี้ลับชวนสยอง   แต่เป็นกลวิธีที่แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านได้ต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยวิธีอหิงสา  เสียงหอนของยายเฒ่าเรียกร้องความชอบธรรมให้ลูกชายที่ถูกทหารพรากชีวิตอย่างโหดเหี้ยม   เพราะทุกปีผู้คนก็จะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดกันอีกครั้งและอีกครั้ง  ความตายของผู้บริสุทธิ์จึงไม่เคยถูกลืม อย่างไรก็ตาม   แม้นวนิยายเรื่องนี้จะแสดงความมืดดำของชีวิต  ความเลวร้ายในจิตใจของผู้คน  และความจริงที่เป็นเพียงเงาที่จับต้องไม่ได้   แต่ท้ายที่สุด  ผู้เขียนก็ยังฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่  ที่จะกล้ากบฏต่ออำนาจและมายาคติที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก  เพื่อว่าในที่สุดแล้วเราจะมีสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม นวนิยายเรื่องเล่นเงา ของจิรภัทร อังศุมาลี จึงสมควรรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่น              บุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551