รางวัลชนะเลิศ
BASED ON TRUE STORIES
“BASED ON TRUE STORIES” ชื่อภาษาไทย “พูดเป็นการ์ตูนไปได้” ผลงานของกวิน ศตวุฒิ เป็นการเขียนการ์ตูนสั้นหลายเรื่องรวมกันเป็นเล่ม ตัวละครมีบุคลิกชัดเจนผู้วาดสามารถเขียนลักษณะท่าทางการแสดงออกของการ์ตูนที่มีมุมมองและอารมณ์ที่หลากหลาย การวางมุมมองภาพสะท้อนเนื้อหาของเรื่องได้อย่างลงตัว วิธีเล่าเรื่องด้วยภาพ-การเขียนเรื่องได้นำแง่คิดบางอย่างในสังคมซึ่งถูกมองข้ามมาใช้เป็นจุดสำคัญสูงสุดของเรื่องได้อย่างคมคาย ทำให้ผู้อ่านเกิดความประทับใจ และในแต่ละเรื่องผู้อ่านสามารถต่อยอดความคิดเชิงคุณธรรมและปรัชญาชีวิตได้ นิยายภาพ (การ์ตูน) “BASED ON TRUE STORIES พูดเป็นการ์ตูนไปได้” จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ
หยาดน้ำค้างพันปี
อายุขัยของมนุษย์นั้นน้อยนิดนักเมื่อเทียบกับการคงอยู่ของจักรวาล อาจเปรียบได้กับหยาดน้ำค้างที่พร้อมจะระเหยหายไปตามกาลเวลา หากเมื่อมองชีวิตผ่านความทุกข์อันใหญ่หลวงที่กำลังเผชิญอยู่ย่อมยากที่ใครจะคิดเช่นนั้นได้ 22 ปีที่นางสายน้ำ นานขวัญใจ ตกอยู่ในสถานะของผู้ต้องหาคดีปลอมแปลงสมบัติของแผ่นดิน แม้จะเชื่อในความสุจริตของตน แต่ไม่มั่นใจกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงชั้นผู้ว่าคดี เพราะฉะนั้นยามที่ต้องขึ้นศาลครั้งแล้วครั้งเล่า เธออยู่ในภาวะที่ถูกกดดันต่อเนื่อง กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดียืดเยื้อยาวนานจนเธอไม่รู้ว่าจะจบลงที่ใด ชมัยภร แสงกระจ่าง ฉายภาพชีวิตของตัวละครที่เคราะห์กรรมถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ฉุดรั้งชีวิตให้ดำดิ่งสู่ห้วงลึกลงทุกที จนเวลาล่วงไป เธอจึงได้คิดแล้วพินิจความทุกข์ รับธรรมะเข้ามาประคองใจ ปลดเปลื้องด้วยการเปิดใจตามดูรู้เท่าทันจิตของตน จนตระหนักได้ว่าความทุกข์ที่มาจาก “คนอื่น” นั้น แท้ที่จริงแม้จะเริ่มจากเหตุปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ แต่ทุกข์นั้นก็ยังดำรงอยู่เพราะใจกักเก็บหล่อเลี้ยงมันไว้ นอกจากการเล่าเรื่องแบบสัจนิยมแล้ว นวนิยายเรื่อง หยาดน้ำค้างพันปี ยังแสดงสัญญะที่ตัวละครหลบเลี้ยงและปฏิเสธความทุกข์ด้วยการปักจิตปักใจกับการปักผ้าระบายแรงกดดันที่กำลังเผชิญผ่านลายปักสีสันเศร้าหมองที่สะท้อนถึงความสิ้นหวัง ภาวะไร้อำนาจและความปรารถนาในอิสรภาพ กองผ้าที่ปักสูงเพียงใดทุกข์ก็ท่วมใจเพียงนั้น จนไม่มีวันออกจากทุกข์ได้ ตราบใดที่ไม่ “ตื่น” จากทุกข์ “สิ่งใดที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ดีที่สุดสำหรับเรา” คือประโยคสำคัญที่ผู้เขียนส่งสารมายังผู้อ่านให้เปิดใจเรียนรู้ชีวิตจากทุกข์ของตนเอง วิกฤตชีวิตคือโอกาสสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นชีวิต รู้จักกับ “ใจ” ของตน จิตที่ฝึกแล้วย่อมไม่พาชีวิตให้ทอดเวลาแห่งทุกข์ยืดยาวเป็นหยาดน้ำค้างพันปีได้ อย่างไรก็ตามผู้อ่านอาจเห็นว่าประโยคนี้เป็นเพียงประโยคปลอบใจ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของนางสายน้ำ แต่เป็นสิ่งที่เธอไม่ได้เลือก หรือเลือกไม่ได้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ หยาดน้ำค้างพันปี ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายประจำปี 2558
พลิ้วไปในพรายเวลา
เราทุกคนคงมีช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่ฝังใจไม่รู้ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาแห่งความรัก แม้ว่าจะผ่านพ้นมาด้วยความสุขปนเศร้า หรือหฤหรรษ์ปนเจ็บแปลบ แต่เมื่อใดที่หวนย้อนกลับไปรำลึกถึง เราก็คงอยากจะอ้อยอิ่งละเลียดโมงยามนั้นให้ดื่มด่ำซ้ำอีกครา นั่นจึงเป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง พลิ้วไปในพรายเวลา ของผาด พาสิกรณ์ ผู้รังสรรค์เรื่องราวนิยายรักของหญิงสาวที่มีอารมณ์ผูกพันกับชายสองคน คนหนึ่งเป็นชายหนุ่มที่ผ่านพบในอดีตช่วงสั้น ช่วงเวลาที่บังเอิญมาพาดทับกันนั้น มีอิสรภาพของหัวใจเป็นตัวเร้าและความถูกชะตาเป็นตัวเร่ง แต่แล้วหนุ่มใหญ่ก็ต้องพรากจากกันด้วยความไม่พร้อมทั้งฝ่ายเธอและฝ่ายเขา ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นชายที่เธอรู้สึกคุ้นเคยเหมือนเป็นเงาของอดีต สำหรับเธอ-หนุ่มน้อยเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ขโมยมาจากอดีต สำหรับเขา-เธอเป็นเหมือนกลิ่นเงาจาง ๆ ของอดีตที่มาเติมเต็มช่องว่างของปัจจุบัน ในที่สุดเธอได้ทราบว่าเขาเป็นลูกชายของคนรักคนแรกที่หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง เธอจะตัดสินใจเลือกใคร “เลือกพ่อ ลูกเจ็บ เลือกลูก เธอก็ตัดใจจากพ่อไม่ได้” เธอมีทางเลือกที่สาม แต่ดูเหมือนว่าพระพรหมจะไม่ปล่อยให้เธอเลือกเส้นทางนั้นได้ง่าย ๆ พลิ้วไปในพรายเวลา ดำเนินเรื่องด้วยความประจวบเหมาะตั้งแต่ต้นจนจบ แต่กลับมีความเป็นไปได้ตามบริบทของท้องเรื่อง ความบังเอิญอันหาที่มาไม่ได้ถูกโยนให้เป็นความรับผิดชอบของพระพรหมที่ขีดเส้นชีวิตไว้ให้มนุษย์ตัวจ้อย และคอยเฝ้าดูด้วยความหรรษา ตัวละครทุกตัวในนวนิยายเรื่องนี้มีมิติสมจริง บทสนทนามีชีวิตชีวา ลีลาตัวอารมณ์ของตัวละครมีจังหวะหนักเบา รุกรับถอยหลบตามที่ใจและสมองผลัดกันสั่งการทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความวูบไหวพลิกพลิ้วให้ต้องติดตามตลอดเวลา ผู้เขียนแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 4 ภาคเพื่อตามเก็บรายละเอียดไม่เผลอไผลทิ้งค้าง สิ่งที่กล่าวถึงในตอนต้นเรื่องถูกคลี่คลายในตอนท้ายเรื่องอย่างไม่ตกหล่น บทบรรยายและบทพรรณนาด้วยภาษาภาพพจน์ของผู้เขียนพาผู้อ่านพลิ้วไปในท้องสมุทรของตัวอักษร ที่มีแสง สี เสียง กลิ่น รส อันช่วยกันสร้างจินตนาการและจินตนาการบรรเจิดแก่ผู้อ่าน ส่วนตอนจบ ผู้เขียนก็ทิ้งค้างไว้ให้อารมณ์และความคิดของผู้อ่านทำงานต่อบ้าง…อย่างน้อยก็ถกเถียงกันพอหอมปากหอมคอว่า มาราดา-ตัวเอกของเรื่องจะตัดสินใจใหม่หรือไม่ ชีวิตรักของมาราดาลงเอยแบบใดหรือนักเขียนจงใจหยุดเรื่องไว้ตรงนี้ เพราะเขียนได้เพียงต้นชีวิตและกลางชีวิต ส่วนปลายชีวิตนั้นเป็นลิขิตของพระพรหม พลิ้วไปในพรายเวลา เป็นเรื่องเลาถึงอารมณ์มนุษย์ช่วงที่หวามไหวในความรักกับคนที่ใช่ แล้วเก็บฝังไว้ในความทรงจำไม่รู้ลืม ไม่ว่าความรักนั้นจะลงตัวและลงเอยหรือไม่ นวนิยายเรื่องนี้จึงจับใจ จับอารมณ์ จับความรู้สึกของผู้อ่านให้ร่วม “พลิ้วไปในพรายเวลา” ที่ฝังอยู่ในใจของแต่ละคน คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ พลิ้วไปในพรายเวลา ของผาด พาสิกรณ์ เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายประจำปี 2558
ไปโรงเรียน
ไปโรงเรียน ของ รังสิมันต์ จุลหริก เป็นผลงานกวีนิพนธ์นำเสนอในรูปแบบกลอนแปดที่ยึด ขนบค่อนข้างเคร่งครัด และมีความแม่นยำในเชิงฉันทลักษณ์พอสมควร ลักษณะเด่นของผลงานชุดนี้ คือผู้เขียนตั้งใจให้มีความเป็นเอกภาพทั้งรูปแบบเนื้อหา แม้แต่การวางลำดับชื่อเรื่องในแต่ละเรื่องก็จงใจเรียง เช่น เริ่มเปิดเรื่อง (เปิดหนังสือ) ด้วยบท เรื่องที่ 1 “รวมกันเป็น 1 : รั้ว ความรัก และนักเรียน” เรื่องที่ 2 “ชู 2 นิ้ว : ตัวแทนถ้อยคำ” เรื่องที่ 3 “ปราการทั้ง 3 ความฝัน ความลวง ความจริง : ผู้ค้นพบในความสงบนิ่ง” เป็นต้น ด้านเนื้อหา เป็นการเล่าผ่านความรู้สึก ความคิด มุมมองของเด็กนักเรียน ด้วยสำนวนภาษาที่งดงาม ปลุกปลอบใจ ทำให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ แก่ตนเองและสังคม ดังนั้น ผลงานชุดนี้เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน ดังนั้น รวมบทกวีไปโรงเรียน ของ รังสิมันต์ จุลหริก จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2559
มหาวิทยาลัยบนคันนา ชาวนาอัจฉริยะ 1 ไร่ 1 แสน
มหาวิทยาลัยบนคันนา ชาวนาอัจฉริยะ 1 ไร่ 1 แสน เป็นเรื่องเล่าจากชีวิตจริงที่หลากหลายด้วยภาษาที่เรียบง่าย ถ่ายทอดหลักการและแนวทางขององค์ความรู้เกษตรสรรพสิ่ง 1 ไร่ 1 แสน อันเป็นนวัตกรรมการเกษตรอินทรีย์แห่งยุคสมัย โดยนำเสนอแนวคิดใหม่ในการเกษตรที่อิงแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจในการทำการเกษตรให้คนรุ่นใหม่ตระหนักว่าวิชาชีพเกษตรกรเป็นวิชาชีพที่มีเกียรติ และสามารถสร้างฐานะอันพออยู่พอกินได้โดยไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมหรือเอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ผู้เขียนยังมองทะลุไปถึงบริบททางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และความไม่สมดุลกันระหว่างชนบทกับเมือง ให้ความรู้ที่มีคุณค่า เหมาะกับความต้องการของสังคมไทย คือการปลูกข้าวให้มีคุณภาพสูงสุด ประหยัด และรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีคุณค่า คือดินอุดม น้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์และทัศนียภาพสวยงาม ให้ความสำคัญกับหลักการปลูกข้าวที่ประณีต ใส่ใจ ตั้งใจ และเป็นหนึ่งเดียวกับธรรมชาติ โดยใช้วรรณศิลป์นำเสนอแนวคิดให้เข้าใจได้กระจ่างแจ้ง เพลิดเพลิน มีเทคนิคการนำเสนอหลายรูปแบบ จึงอ่านได้อย่างเพลิดเพลิน มีตัวอย่างประกอบอย่างสมเหตุสมผลและเหมาะกับการดำเนินเรื่อง เหมาะสมที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ
ลูกชายแดน
ลูกชายแดน เป็นหนังสือที่สะท้อนให้เห็นถึงความทุกข์ยากของคนที่อยู่ชายแดน แม้ผู้เขียนจะนำเสนอในรูปแบบของบันเทิงคดี แต่เป็นความจริงของชีวิตที่ทำให้ผู้อ่านได้รู้ถึงวิถีชีวิตของคนไทย ยามได้รับผลกระทบจากสงครามในประเทศเพื่อนบ้าน ผู้เขียนเสมือนตัวละครเอกเล่าเรื่องราวในวัยเด็กที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดจากภัยสงคราม ครอบครัว ญาติพี่น้องมีชีวิตอยู่อย่างยากลำบาก พ่อกับแม่ที่เป็นชาวนาต้องดิ้นรนทำมาหากิน ซึ่งผู้เขียนได้ให้รายละเอียดจากชีวิตจริงและประสบการณ์ในการทำนา มาถ่ายทอดได้อย่างน่าสนใจ นอกจากนี้ ผู้เขียนยังแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาว่าจะช่วยให้พ้นจากความยากจน ทั้งเป็นโอกาสที่จะพ้นจากภัยสงคราม โดยสอดแทรกไว้ในกลวิธีนำเสนออย่างแนบเนียน สงครามในกัมพูชาจบลงแล้ว แต่อดีตยังฝังใจผู้เขียน ซึ่งได้รับผลกระทบจากระเบิดจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด รอยบาดแผลยังคงปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ ผู้เขียนได้ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวให้เราอ่านอย่างชวนติดตาม โดยดำเนินเรื่องสลับเหตุการณ์ สภาพสงคราม การทำมาหากินโดยเฉพาะการทำนา ชีวิตในวัยเด็ก โรงเรียนและบุคคลในหมู่บ้านที่ผู้เขียนรู้จัก และนำเสนอตัวละครอย่างเด่นชัดเป็นตอน ๆ ไป หนังสือเรื่อง ลูกชายแดน ของ เชาวลิต ขันคำ จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน
ใต้แสงธูป
ใต้แสงธูป เป็นหนังสือการ์ตูนที่ผู้เขียนมีความกล้า มีอิสระในการนำเสนอแต่ไม่นอกกรอบรูปแบบนิยายภาพ มีฝีมือทักษะในการลำดับภาพอย่างต่อเนื่อง เขียนภาพได้ประณีตละเอียดสวยงาม ลายเส้นทันสมัยมีน้ำหนักมีมิติเก็บรายละเอียดได้ดี การจัดองค์ประกอบของช่องการ์ตูนและลำดับภาพดูมีความเคลื่อนไหวน่าสนใจและชวนติดตาม โดยให้ภาพแสดงการเล่าเรื่องมากกว่าคำบรรยาย การสร้างภาพประสานกับเรื่องได้อย่างดี มีอารมณ์บุคลิกกลมกลืนกับเนื้อเรื่อง เนื้อเรื่องมีการลำดับเรื่องดี บทต่อบทตอนต่อตอนของเรื่องดี เค้าโครงเรื่องบอกเล่าความสัมพันธ์ของหญิงสาวกับวิญญาณในมิติร่วมสมัย โดยใช้วิญญาณเป็นตัวแทนหรือสัญลักษณ์ที่บอกเล่าแก่นแท้ของคนธรรมดาคนหนึ่ง ที่มีความกล้า ความกลัว ความเชื่อ ความเหงา ความต้องการเพื่อนในมุมมองโลกแง่ดี ผู้เขียนได้จินตนาการภาพน่าสนใจและน่าติดตาม ใต้แสงธูป ให้คุณค่า สะท้อนแง่คิดความเชื่อด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับวิญญาณในมิติร่วมสมัย การจัดรูปเล่มและองค์ประกอบของภาพโดดเด่นสื่อสารได้ดีมีคุณค่า จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทนิยายภาพ (การ์ตูน)
บางคนอาจเดินสวนทางเราไป
บางคนอาจเดินสวนทางเราไป ของบัญชา อ่อนดี เป็นหนังสือรวมบทกวีจำนวน 39 เรื่องที่นำเสนอเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งผู้เขียนเปรียบโลกปัจจุบันว่าเป็น “โลกเสมือน” หรือยุค “สังคมก้มหน้า” ที่แม้ในเมืองจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนแต่ก็ห่างเหิน ไร้ความใส่ใจซึ่งกันและกัน ในลักษณะ “ใกล้ตัว ใกล้ตา ไกลใจ” โลกอยู่ในยุค “สงครามใบ้” กับโลกเสมือนที่ “แรงถล่ม wi-fi เกินไซโคลน” ผู้ประพันธ์เล่าเรื่องราวของผู้คนในกระแสของความเปลี่ยนแปลงทั้งในเมืองและชนบท ในขณะที่ชาวชนบทอพยพย้ายถิ่นมาใช้แรงงานในเมืองหลวงด้วยหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น แต่ไม่เป็นไปดังหวัง ยังคงทุกข์ยาก ใช้แรงงานหนักและได้เพียงฝันกลางวันเพื่อรำลึกโหยหาชีวิตและความสุขในชนบท ส่วนชาวเมืองก็ไปบุกรุกชนบทให้เป็นรีสอร์ต ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาวชนบทแต่งงานกับชาวต่างชาติและไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตในชนบท แม้ “โลกเสมือน” จะเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี แต่ความเชื่อของคนไทยบางส่วนยังคงงมงาย อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างกำไรจากความเชื่อ เช่น การสแกนกรรม การเปิดเว็บไซต์ขายสวรรค์ โดยมิได้ใส่ใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ด้านศิลปะการประพันธ์บทกวี ของบัญชา อ่อนดี มีความแม่นยำ ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ใช้ภาษาเรียบง่ายและภาษาร่วมสมัยเพื่อเล่าเรื่องราวอันหลากหลายของปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะชนชั้นล่างของสังคมโดยดำเนินเรื่องอย่างมีโครงเรื่องชวนติดตาม ด้วยลีลาและท่วงทำนองกระชับฉับไว สามารถผสมผสานสีสันชนบททั้งด้านการใช้คำ ฉากและบรรยากาศทำให้บทกวีทุกเรื่องราบรื่นเรียบง่าย ชวนอ่านและชวนให้ขบคิด ดังนั้น รวมบทกวีบางคนอาจเดินสวนทางเราไป ของ บัญชา อ่อนดี จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2559
กระจกขอบทอง
กระจกขอบทอง เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของตระกูลช่างทำทองในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 จากรุ่นสู่รุ่น ที่โลดแล่นตามเส้นทางที่บรรพบุรุษได้วางไว้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งลิขิตวิถีชีวิตตนเองโดยไม่ยอมแพ้ความทุกข์หรือท้อถอยต่อโชคชะตา กฤษณา อโศกสิน ได้แสดงสัญญะผ่าน “กระจก” ให้ตัวละครเอกเข้าใจและตระหนักรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาแต่ละช่วงชีวิตทีละมิติ ดังนี้ มิติแรก ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อมองกระจก สิ่งที่สะท้อนออกมาคือเงาของตัวตนที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพบุรุษ มิติที่สอง เงาสะท้อนย่อมมีทั้งความงามและความบกพร่อง ทำให้แยกแยะได้ว่าควรจะเก็บอะไรไว้ หรือทิ้งอะไรไป ความเข้าใจนี้ทำให้เห็นปุถุชนวิสัยของบรรพบุรุษที่มีทั้งดีและร้าย มิติที่สาม การสั่งสมเกียรติยศและคุณงามความดีของบรรพบุรุษเปรียบเสมือนขอบทองของกระจกกระจกอาจหมองไปตามกาลเวลา จึงต้องหมั่นเพียรเช็ดถูรอยด่างดำที่กระจกและปิดทองที่ขอบเพื่อส่งมอบกระจกขอบทองเป็นสมบัติให้ลูกหลานรักษาสืบไป นอกจากสะท้อนความหมายของการดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจและยอมรับข้อบกพร่องต่าง ๆ แล้ว ยังแสดงให้เห็นความองอาจและเด็ดเดี่ยวของมนุษย์ที่ใช้คุณธรรมกำกับนำพาชีวิตไปสู่ทิศทางที่ดีได้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยาย จึงมีมติให้ กระจกขอบทอง ของ กฤษณา อโศกสิน สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2560
ระหว่างทางกลับบ้าน
รวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์ นำเสนอความคิดเรื่องบ้านในหลากหลายมิติทั้งบ้านของผู้ประพันธ์เอง และบ้านของผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายชนชั้นในสังคมไทยและสังคมโลก อาทิ บ้านของแรงงานอพยพข้ามชาติ บ้านของชาวโรฮิงญา บ้านของผู้ลี้ภัยสงคราม บ้านจึงมีความหมายมากกว่าสถานที่เกิดและที่พำนักอาศัยแต่บ้านเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ ความรัก ความผูกพันและความสุขของสมาชิกในครอบครัว ทุกชีวิตล้วนโหยหาและปรารถนาที่จะกลับบ้านซึ่งเป็น “ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ ที่ไม่นับ เล็กหรือใหญ่ ที่ให้อยู่ ที่ชีวิต จิตวิญญาณ อวลซ่านอณู ที่ทุกข์สุข ทุกฤดู อยู่ในนั้น” ด้านศิลปะการประพันธ์ใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพซึ่งมีลีลาและท่วงทำนองเรียบง่ายแต่มีความโดดเด่นในการเปรียบเทียบ โดยให้รูปธรรมของส่วนต่าง ๆ ซึ่งประกอบสร้างเป็นตัวบ้าน สื่อความหมายในเชิงนามธรรมของประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกและจิตวิญญาณของคำว่า “บ้าน” ได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้น รวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์ จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
ไม่อยากเก็บคุณไว้ในตู้เย็นตลอดไป
ไม่อยากเก็บคุณไว้ในตู้เย็นตลอดไป เป็นหนังสือการ์ตูนที่มีภาพวาด มีสไตล์สวยงามเป็นสากล เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดความนึกคิดของผู้หญิงคนหนึ่ง บอกเล่าอารมณ์ความสุขในวัยเด็ก ซึ่งมีความประทับใจและไม่เคยลืมผ่านตุ๊กตาหิมะ เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เธอต้องปรับตัวให้เข้ากับ สังคมการงาน และความรู้สึกของตัวเอง สิ่งแวดล้อมและผู้คนใหม่ ๆ ทำให้เธอต้องถามและตอบคำถามของตัวเอง คอยเตือนและสร้างกำลังใจให้ตนเอง เป็นหนังสือการ์ตูนที่สร้างสรรค์ให้เกิดกำลังใจในการพัฒนาจิตและอารมณ์ ให้รู้จักตนเอง และตระหนักถึงความสุข ความฝันแต่ละช่วงวัย ดังนัน ไม่อยากเก็บคุณไว้ในตู้เย็นตลอดไป ของ Noetta จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๑
โลกประจำตัว
โลกประจำตัว ผลงานการประพันธ์ของ รัฐ ปัญเจียง ประกอบด้วยฉันทลักษณ์เป็นกลอนแปดตลอดทั้งเรื่อง โดยแบ่งเนื้อหาสาระออกเป็น 13 หัวเรื่อง ความยาว 128 บท นับเป็นงานร้อยกรองที่ครบถ้วนด้วยองค์ประกอบของวรรณศิลป์ ฉันทลักษณ์ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด มีความไพเราะสละสลวย ถ้อยคำที่นำเสนอถูกต้องเหมาะสมตามหลักภาษาไทย ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดได้อย่างมีสุนทรียภาพ ให้อารมณ์และความรู้สึก ด้านเนื้อหาสาระเป็นแรงบันดาลใจจากสภาพสังคมทั่วไปในยุคปัจจุบัน บูรณาการเข้ากับความรู้สึกนึกคิดจากประสบการณ์ของตนเอง ตั้งชื่อหัวเรื่องได้อย่างมีเสน่ห์น่าสนใจ เช่น หนังสือหนักเป็นนักหนา อย่าเกลียดสีของฟ้าเมื่อฟ้าค่ำ ก่อนหัวใจกลายเป็นหิน กระจกกั้นโลก อาณาจักรของแม่ เป็นต้น ผู้เขียนพยายามสะท้อนปรากฏการณ์ในชีวิต นำเสนอความคิดใหม่ที่เป็นของตนเองได้อย่างน่าสนใจ นับเป็นงานกวีนิพนธ์ที่น่าอ่านในระดับเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง คณะกรรมการจึงเห็นสมควรให้ โลกประจำตัว ของ รัฐ ปัญเจียง ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561
City Sight เมืองที่มองไม่เห็น
CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น ของ สรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ เป็นหนังสือที่โดดเด่นเนื่องจากนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่หลากหลาย แต่เกี่ยวพันกับชีวิตของคนเมืองสมัยไหม่ให้แง่คิดปลุกเร้าเชิญชวนให้ทุกภาคส่วนสร้างความสมดุลระหว่างชีวิตกับสิ่งรอบตัวสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงที่ขาดความเคารพต่อธรรมชาติและผู้อื่น ใช้เทคนิควิภาษวิธีชวนถกเถียงเพื่อนำไปสู่ความจริงและวิธีแก้ไขปัญหา โดยใช้ภาษาเขียนเรียบง่าย สั้นกระชับได้ใจความมีน้ำเสียงทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการผสมผสานกัน บอกเล่าเรื่องราวเชิงวิชาการให้เข้าใจง่ายและอ่านสนุก ด้วยเหตุผลดังกล่าวคณะกรรมการจึงมีมตีให้ CITY SIGHT เมืองที่มองไม่เห็น ของสรณรัชฎ์ กาญจนะวณิชย์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๑
อัศวินอุตุกับปีศาจทั้ง 8
อัศวินอุตุกับปีศาจทั้ง 8 เป็นบันเทิงคดีแนวจินตนาการอิงหลักธรรมะ ตัวเอกของเรื่อง คือ อัศวินอุตุ ในวัยเด็กมีนิสัยชอบนอน หลังจากได้ฟังแม่เล่านิทานเรื่อง 8 ปีศาจแห่งอนิจจอาณาจักร ก็เปลี่ยนเป็นเด็กที่มีความกระตือรือร้น รักการต่อสู้ ผจญภัย และมีน้ำใจช่วยเหลือผู้อื่น เขาอ่านนิทานเรื่องนี้ซ้ำ ๆ ใฝ่ฝันที่จะปราบปีศาจทั้ง 8 มาตั้งแต่นั้น เมื่อเติบโตเข้ารับราชการได้รับแต่งตั้งเป็นอัศวิน รู้ว่าปีศาจทั้ง 8 มีอยู่จริง และกำลังสร้างความเดือดร้อนให้ผู้คน จึงออกปราบปีศาจ โดยได้รับความช่วยเหลือจากปู่ปัญญ์ ปราชญ์แห่งอนิจจอาณาจักร ผู้เขียนได้นำลักษณะนิสัยของมนุษย์ 8 อย่าง อันได้แก่ โมโห ซึมเศร้า โลภ ขี้เกียจ ขี้ขลาด อิจฉา แล้งน้ำใจ อัตตาสูง มาสร้างเป็นตัวละครปีศาจทั้ง 8 ตั้งชื่อปีศาจโดยนำลักษณะของดวงตาสื่อถึงนิสัยของปีศาจแต่ละตน ได้แก่ ปีศาจตาแดง ปีศาจตาซึม ปีศาจตาวาว ปีศาจตาปรือ ปีศาจตาร้อน ปีศาจตาขาว และปีศาจตาบอด การปราบปีศาจแต่ละตนมีกระบวนการเป็นขั้นตอน โดยศึกษาข้อมูลลักษณะที่อยู่ ร่างที่อาศัย ลักษณะนิสัย และจุดแข็ง จุดอ่อนของปีศาจแต่ละตนอย่างดี โดยมีข้อคิดว่าของวิเศษต่าง ๆ ของปู่ปัญญ์จะไม่มีอิทธิฤทธิ์ใด ๆ ถ้าใช้โดยขาดสติและสมาธิ การนำเสนอเรื่องสอดแทรกแก่นธรรมะได้อย่างแนบเนียน ได้ข้อคิด หลักธรรม ช่วยให้เข้าใจตนเอง และพฤติกรรมของมนุษย์มากขึ้น ตระหนักรู้ว่าปีศาจทั้งหลายนั้นล้วนเกิดจากเราเป็นผู้สร้างขึ้นเอง การกำจัดให้สิ้นไปจึงขึ้นอยู่กับการควบคุมตนเองให้มีสติรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา ด้วยความโดดเด่นในการนำเสนอเรื่องที่มีแก่นธรรมะที่เข้าใจง่าย การดำเนินเรื่องที่สนุกสนาน เพลิดเพลิน ชวนติดตามด้วยสำนวนภาษากระชับสละสลวย อัศวินอุตุกับปีศาจทั้ง 8 ของ ขุนเขา สินธุเสน เขจรบุตร จึงสมควรได้รับการยกย่องให้เป็นหนังสือดีเด่นรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช 2561
The thing behind that door ทุกอย่างเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน
งานประพันธ์และงานการ์ตูนเริ่มต้นด้วยการสร้างโครงเรื่อง แล้วจินตนาการสร้างความสมจริง งานประพันธ์ใช้อักษรเล่าเรื่อง งานการ์ตูนใช้ภาพเล่าเรื่อง การ์ตูนเรื่อง ทุกอย่างเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน THE THINGS BEHIND THAT DOOR เรื่องและภาพโดย คัจฉกุล แก้วเกต เป็นเรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่ง พบว่าเบื้องต้นในห้องของเธอมีช่องประตูลับซ่อนอยู่ เบื้องหลังประตูลับมีตัวประหลาดอาศัยมากมาย เธอนำเรื่องที่พบเห็นไปเล่าให้พ่อแม่ฟัง แต่ท่านไม่เชื่อ ไปเล่าให้เพื่อนในโรงเรียนฟังกลับไม่มีใครเชื่อ เธอจึงตัดสินใจเดินเข้าไปในประตูนั้นเพียงผู้เดียว และพบความเป็นจริงในชีวิตที่หลากหลาย เช่น มิตรภาพอันแท้จริงจากรูปลักษณ์น่าเกลียดน่ากลัว ได้พบการลาจากเสมือนเป็นเงาอันมืดมิดปิดกั้นความมีชีวิตอันสดใสทั้งหมด แต่ในความมืดก็ยังมีประกายความสุขและความดีงามเรืองรองให้ได้สัมผัส แม้กระทั่งการจากลาชั่วนิรันดร์ก็ยังมาถึงเด็กหญิงตัวน้อย ท่ามกลางการไหลเลื่อนของกาลเวลาซึ่งแปรเปลี่ยนความเป็นเด็กสู่วัยหนุ่มสาวพร้อมกับความผิดหวัง-สมหวังสารพัด ก็ใช่ว่าในโลกกว้างจะไม่มีเพื่อนซึ่งเข้าใจในวิถีชีวิตอลวนและยินดีที่จะยืนหยัดเคียงข้างตลอดไป คัจฉกุลสร้างเรื่องให้เกิดแง่คิดได้หลายแง่มุม เป็นการนำความเป็นจริงของชีวิตมาผสมผสาน กับทางออกจากหล่มด้านมืดของมนุษย์อย่างคมคายและลึกซึ้ง การสร้างภาพกลมกลืนกับจินตนาการและจุดประสงค์ในการนำเสนอ กลบเกลื่อนความรุนแรงด้วยความอ่อนโยนอย่างมีศิลปะ ความโดดเด่นของการ์ตูนเรื่องนี้อยู่ที่การชี้นำให้เกิดความสะเทือนใจ และการยอมรับสัจธรรมในรูปลักษณะ “มันเป็นเช่นนี้เอง” … คณะกรรมการจึงเห็นสมควรให้ทุกอย่างเหมือนเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อวาน THE THINGS BEHIND THAT DOOR ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนิยายภาพ (การ์ตูน) ประจำปีพุทธศักราช 2561
ในกับดักและกลางวงล้อม
เมื่อเอ่ยถึงเรื่องเล่าชีวิตของคนจับปลาในท้องทะเลลึก นักอ่านก็จะนึกถึงชื่อ ประชาคม ลุนาชัย ผู้เขียนนวนิยายฝั่งแสงจันทร์ คนข้ามฝัน กลางทะเลลึก เที่ยวเรือสุดท้าย นวนิยายเรื่อง ในกับดักและกลางวงล้อม แสดงฝีมือและประสบการณ์อันตกผลึกแล้วของผู้เขียน ชีวิตลูกเรือจับปลากลางทะเลใน นวนิยายเรื่องนี้ฉีกแนวไปจากเรื่องเดิม ๆ เพราะตัวละครกว่าครึ่งบนเรือหาปลาลำนี้เป็นผู้บกพร่องทางร่างกาย ทั้งตาบอดข้างเดียว ตาเหล่ ขาขาด นิ้วขาด แขนคด นอกจากนี้แทบทุกคนไม่มีประสบการณ์ในการเดินเรือจับปลากลางมหาสมุทรมาก่อน ไม่เว้นแม้แต่ไต้ก๋งที่กว่าจะเรียนรู้สัญญาณโซน่าช่วยหาฝูงปลาก็สาวอวนได้ท่อนไม้มาเสียหลายครั้ง และจุมโพ่ที่ทำอาหารไม่เป็นแต่อยากได้งาน ตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกโดดเด่นชัดเจน และมีพัฒนาการที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิต เห็นชัดว่าผู้เขียนพยายามถอยห่างจากเรื่อง จนแทบไม่ปรากฏเงาร่างของผู้เขียน แต่มุ่งนำเสนอเรื่องราวของนักสู้ชีวิตเหล่านี้อย่างสมจริง ไม่มีใครเป็นพระเอก ทุกคนล้วนเป็นตัวเอกที่ช่วยกันขับเคลื่อนนาวากลางสมุทรให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอาชีพและบรรลุความฝัน ยาเสพติด การพนัน และผู้หญิงบนฝั่ง เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกเรือประมง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นกับดักที่ทำลายอนาคตและความใฝ่ฝัน ฝูงปลาที่ตกอยู่ในวงล้อมของอวนไม่ต่างจากพวกเขาที่ตกอยู่ในวงล้อมและกับดักของงานหนักและการเสี่ยงกับโชคชะตา แต่พวกเขาก็ฝ่าฟันมาได้ด้วยแรงกายเท่าที่มี แรงใจที่เข้มแข็ง และการล่มหัวจมท้ายด้วยกัน ที่สำคัญคือรได้เรียนรู้ว่าการสู้ชีวิตให้พ้นกับดักและวงล้อมไปสู่อิสรภาพและเป็นนายตนเองนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ดังที่ไต้ก๋งกล่าวในท้ายสุดว่า “ที่จะล้อมปลาให้อยู่หมัด ไม่ใช่เพียงแค่เรือหรืออวน หากยังรวมถึงสติปัญญา ความสามารถ ประสบการณ์ และภูมิรู้ทั้งหมดทั้งมวล…” แม้เรือหาปลาจะเทียบฝั่งแล้ว แต่นาวาชีวิตของแต่ละคนยังโลดแล่นฝ่าคลื่นลมในมหาสมุทรชีวิตตามทิศทางของตนต่อไป ด้วยความโดดเด่นด้านเนื้อหาสาระ ข้อคิด และชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ คณะกรรมการจึงมีมติให้ในกับดักและกลางวงล้อม ของ ประชาคม ลุนาชัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2561
ใจปัจจุบัน
รวมบทกวีชุด ใจปัจจุบัน ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เนื้อหาที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น การใช้ชีวิตของตนและคนในครอบครัว แม้ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องปัจเจก แต่สามารถปรับใช้กับ “ชีวิตใครก็ได้” กวีถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงเนิบนุ่ม งดงามเป็นธรรมชาติ เรื่องราวเหล่านี้เกิดจากการเฝ้ามองอย่างสังเกตสังกา ทำให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดว่าผู้คนยุคปัจจุบันมักมองไกลตัว ซึ่งสับสนวุ่นวายจนลืมสำรวจตรวจสอบใจตัวเอง โดยชี้ให้เห็นว่าความสุขที่แท้จริงคือการอยู่กับใจปัจจุบัน ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ แล้วจะเกิดความสมดุลในชีวิต เพราะแท้แล้วชีวิตกับธรรมชาติล้วนโอบเอื้อเป็นเนื้อเดียวกัน ผลงานหลายสำนวนอ่านแล้วทำให้ชีวิตมีความหวัง หากใครกำลังท้อแท้ หรือแม้แต่บางเรื่องที่เลวร้าย แต่เมื่อได้ตั้งสติตริตรองมองมุมบวก ไม่ยึดติด พอใจในสิ่งที่มี ในที่สุดก็สามารถพลิกปัญหาเป็นปัญญาเห็นแสงสว่างได้ไม่ยาก อีกประเด็นสำคัญในงานสร้างสรรค์เล่มนี้ คือการอยู่ร่วมในสังคมด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน สิ่งดีงามเหล่านี้ปัจจุบันนับวันยิ่งห่างไกล ผู้เขียนได้ชวนมองโลกในแง่งาม ให้เห็นน้ำใจ ซึ่งมองเห็นได้ไม่ไกลจากความเป็นจริง เรื่องใกล้ตัวดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงมาสู่ใจมนุษย์ได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยใช้ความเปรียบเทียบเคียงหรืออุปมาโวหารเห็นภาพแจ่มชัด ด้านสำนวนภาษาและกลวิธีเล่าเรื่อง ผู้เขียนนำเสนอในรูปแบบกลอนแปด มีความช่ำชองในเชิงฉันทลักษณ์ สัมผัสนอกลื่นไหล สัมผัสในอย่างมีจังหวะ ขณะที่บางสำนวนจงใจอวดภาษาวรรณศิลป์แพรวพราว บางบทประสมคำทำให้เกิดความแปลกใหม่ ไม่แปลกแยก แต่กลับมีเสน่ห์ สอดแทรกอารมณ์ขันด้วยมุกทันสมัย เล่นคำ-เล่นความไม่ล้นเกิน ด้วยคำง่าย ๆ มองง่าย ๆ ชวนให้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเอง ดังนั้น หนังสือรวมบทกวี ใจปัจจุบัน ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561
แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน
แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน รวมบทกวีของ วิศิษฐ์ ปรียานนท์ เป็นบทกวีปลุกเร้าพลังแห่งการแสวงหาภายในให้โลดแล่นออกมาผจญภัย เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยี่ยงเสรีชน แม้ยังไม่มีคำตอบว่าหนทางข้างหน้าจะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่แฝงนัยแห่งความเชื่อมั่นลึก ๆ ว่าโลกภายนอกนั้นกว้างใหญ่กว่าโลกภายใน เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น 22 ภาค ภาคแรก : ระหว่างทาง เป็นการเล่าถึงชีวิตผู้คนรายรอบ ผู้เกิดมาด้วยเท้าเปลือยเปล่า ต่างเดินทางไปยังเส้นขอบฟ้าไกล เคลื่อนย้ายไปท่ามกลางฤดูกาลและธรรมชาติที่เปลี่ยนผัน ด้วยหวังว่าชีวิตจะงอกงามเมื่อปลิวออกจากบ้านไปยังดินแดนอื่น ก่อนปีกหักกลับมาพร้อมเท้าเปลือยเปล่าเช่นเดิม กลับสู่การโอบกอดของบ้านเกิด ทั้งหมดนั้นเป็นภาพจำระหว่างทาง ภาคหลัง : บนสะพาน เป็นชีวิตผจญภัยของกวี ที่กำหนดตนเองไปอยู่ ณ ชายขอบเขตแดนประเทศ กักขังตนเองอยู่ในดินแดนที่ซึ่งปิดขังขุนเขาให้เป็นแม่น้ำ เพื่อท่องไปข้างนอกและข้างใน การผจญภัยในครั้งนี้พบว่าเสรีภาพ ความเสมอภาคแห่งชนชั้นและชาติพันธุ์ หรือแม้แต่แสงสว่าง กลับเป็นสิ่งปลอมแปลง สายน้ำที่แยกคน 2 พวกออกจากกัน จึงต้องสร้างสะพานเพื่อทอดวาง เชื่อมร้อยผู้คนให้ไปมาหาสู่ หลากหลายรอยเท้าจึงปรากฏขึ้น ณ ดินแดนแห่งนั้น “แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน” ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เกิดมาล้วนแตกต่าง แต่กลับต้องถูกกำหนดมาตรฐาน กีดกั้น แบ่งแยก ปกครอง เหมือนเป็นหุ่นเชิด ทั้งที่มนุษย์ควรมี “ความแตกต่างอย่างเท่าเทียม” กัน ดังนั้น แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน โดย วิศิษฐ์ ปรียานนท์ จึงสมควรได้รางวัลชนะเลิศ รางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2562
ดอกไม้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง
ดอกไม้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง เป็นสารคดีที่ผู้เขียนทุ่มเทหาข้อมูลผ่านชีวิตจริงของผู้คน สะท้อนด้านมืดของความรุนแรงในสังคม ให้ข้อมูลเชิงลึกจนแทบไม่น่าเชื่อว่าด้านมืดของสังคมไทยจะโหดร้ายได้ถึงขนาดนี้ ผู้เขียนมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ในการเสนอปัญหาได้อย่างแนบเนียน ชวนอ่าน เจาะลึกถึงแก่นของปัญหาที่ถูกปกปิดครอบงำไว้ด้วยความเชื่อ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ความรัก ความกลัว ความละอาย ซึ่งบั่นทอนศักยภาพความเป็นคน แต่ในเวลาเดียวกัน ก็เป็นหนังสือที่พูดถึงวิธีแก้ปัญหาความรุนแรงและด้านมืดเหล่านี้ เพื่อดึงเหยื่อออกมาจากความรุนแรงต่าง ๆ ด้วย โดยมีคุณค่าทางภาษา วรรณศิลป์ มีลีลาการเขียนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ด้วยเหตุดังกล่าวคณะกรรมการจึงมีมติให้ ดอกไม้ใต้ภูเขาน้ำแข็ง ของ อรสม สุทธิสาคร ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี (ทั่วไป) ประจำปีพุทธศักราช 2562
พ่อมหา แม่หางเครื่อง ลูก(สาว)นักร้อง
พ่อมหา แม่หางเครื่อง ลูก(สาว)นักร้อง วรรณกรรมเยาวชนสะท้อนสังคมชนบทอีสานสมัยปัจจุบัน ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องราวสนุกสนานแฝงสาระการดำเนินชีวิตของชาวบ้าน และปัญหาในครอบครัว ที่มีความเปลี่ยนแปลงตามกระแสวัตถุนิยมที่แพร่อย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี และความขัดแย้งระหว่างเพื่อนของเยาวชนวัยรุ่น ซึ่งในที่สุดก็คลี่คลายลงได้ด้วยความเข้าใจและมิตรภาพที่มีมายาวนาน เรื่องราวต่าง ๆ ได้นำเสนอในสังคมหมู่บ้านเกษตรกรรม โดยมีครอบครัวของ ‘พ่อมหา’ อดีตนักเทศน์รูปงามเสียงไพเราะที่ลาสิกขามาสร้างครอบครัวกับสาวหางเครื่องลูกสาวผู้ใหญ่บ้าน และมีบุตรหญิงและ ชายวัยรุ่น เป็นศูนย์กลางของเรื่อง ครอบครัวนี้เป็นเสมือนตัวแทนครอบครัวเกษตรกรสมัยใหม่ฐานะ ปานกลาง สมาชิกในครอบครัวมีอิสระในการดำเนินชีวิตตามสมควรและมีความรับผิดชอบในหน้าที่ของตน พ่อมหาเป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีความรู้ ขยัน อดทน รักครอบครัว และมีคุณธรรม ในขณะที่ภรรยาสาวสวยอดีตหางเครื่องวงหมอลำซิ่งผู้เป็นแม่บ้านยังรักเสียงเพลงและการแสดง และมุ่งมั่นให้ลูกสาวก้าวหน้าบนเส้นทางนักร้อง ส่วนลูกสาววัยรุ่น นักร้องประจำวงดนตรีของโรงเรียน ผู้มีพร้อมทั้งสติปัญญา รูปโฉม และความสามารถในการร้องเพลงและการแสดง และยังรักการเรียน ก็มุ่งหวังอนาคตเป็นนักร้องลูกทุ่งดัง จึงเข้าประกวดร้องเพลงในงานประจำปีของจังหวัด จนเป็นที่มาของความขัดแย้งกับเพื่อนสนิทที่เป็นลูกสาวของเพื่อนมารดา ซึ่งกลายมาเป็นคู่แข่ง จนเกือบจะเสียมิตรภาพ แต่ในที่สุดด้วยความเข้าใจและความสัมพันธ์ที่มีต่อกันมานานของทุกคนในชุมชน ปัญหาต่าง ๆ ก็คลี่คลายลงด้วยดี ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องราวด้วยสำนวนภาษาเรียบง่าย สละสลวย สร้างตัวละครให้มีความสมจริงทั้งบทบาทและบทสนทนา สอดแทรกข้อคิดและคุณธรรมไว้ในเนื้อเรื่องอย่างเหมาะสม คณะกรรมการจึงมีมติให้หนังสือเรื่อง พ่อมหา แม่หางเครื่อง ลูก(สาว)นักร้อง ของ โชติ ศรีสุวรรณ สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช 2562
ดอก รัก
ดอก รัก เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 10 เรื่อง ของ ตินกานต์ ผู้แต่งตั้งชื่อเรื่องแต่ละเรื่องเป็นชื่อดอกไม้อย่างจงใจ เพื่อให้เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ของผู้หญิง มีเนื้อหาเกี่ยวกับผู้หญิงกับความรักซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงของชีวิต นำเสนอในหลากหลายแนว หลากหลายมุมมอง หลากหลายรส ผ่านภาพของผู้หญิงหลายสถานะทั้งสาวน้อยสาวใหญ่ ทั้งแม่ทั้งลูก ทั้งโสดทั้งแต่งงาน ในหลากหลายอาชีพ ผู้แต่งถ่ายทอดเรื่องราวอย่างประณีตบรรจง เข้าถึงอารมณ์ของหญิงผู้ “เคยรัก เคยร้าย เคยใคร่ เคยงมงาย เคยแค้น เคยฆ่า เคยบูชา” ได้เป็นอย่างดี สามารถสะท้อนปัญหาชีวิตได้อย่างลุ่มลึกและมีมิติ แสดงภาพความรักของมนุษย์ที่ต้องสัมพันธ์กับสภาพสังคมได้ชัดเจน บางเรื่องเป็นเรื่องความรักที่เปลี่ยนแปลงเป็นความรุนแรง หรือความเกลียดชังเพราะการถูกกระทำในครอบครัว หลายเรื่องแสดงความเข้าถึงอารมณ์รัก ทั้งความหอมหวาน ความโหยหา และการจากพราก ที่โดดเด่นคือการยอมรับความจริงของความรัก ซึ่งมีทั้งงาม ง่าย สุข สงบ และตรงกันข้าม ทั้งหมดหลั่งไหลผ่านภาษาที่ลื่นไหลงดงาม และมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการใช้คำ นับเป็นชุดเรื่องสั้นว่าด้วยความรักบนความเป็นจริงของชีวิตที่มีคุณภาพยิ่งชุดหนึ่ง คณะกรรมการจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น ดอก รัก สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี 2562
ใต้ฝุ่น
ระเบิดกลางเมืองมุมไบในปี 2011 ทำให้ เมย์ มิลเล่อร์ นักเขียนคอลัมน์ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ “ตื่น” ขึ้นอีกครั้งบนแผ่นดินอัฟกานิสถาน ย้อนกาลกลับไปเกือบสี่ทศวรรษ ในช่วงเวลาแห่งอารยะ สันติภาพ กุหลาบ และบทกวี ก่อนที่ประเทศนี้จะถูกบดขยี้จากเพลิงสงคราม นวนิยายเรื่องใต้ฝุ่น ของ โกลาบ จัน พาผู้อ่านไปสัมผัสอัฟกานิสถานด้วยสายตาของเมย์ ในร่างใหม่นาม มัรยัม ภายใต้กระบวนการปรับตัวเพื่ออยู่รอดของตัวละคร ผู้เขียนได้สอดแทรกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม-วัฒนธรรม การเมือง ภาษา ค่านิยม และวิถีชีวิตประจำวันไว้อย่างแนบเนียน เมื่อกอปรกับภาษาอันสละสลวย อรรถรสชวนติดตาม และความสะเทือนใจแบบนวนิยายแล้วก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่างข้อเท็จจริงเชิงสารคดีกับจินตนาการ ยิ่งไปกว่านั้น ชะตากรรมของตัวละครในภาวะสงครามยังเชื้อเชิญให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญถึงบทบาทของสตรีในฐานะภรรยาและมารดา บุรุษในฐานะหัวหน้าครอบครัวและผู้ปกป้อง รวมถึงอุดมการณ์ในเรื่องความภักดีและหน้าที่ต่อแผ่นดิน อะไรคือทางออกของความรักชาติและการเสียสละที่พรากคู่รักออกจากกัน จนทำให้สตรีต้องเป็นม่าย และเด็ก ๆ กลายเป็นกำพร้า หรือการธำรงปณิธานดังกล่าวจำต้องแลกมาด้วยการสังเวยชีวิตส่วนตัวและครอบครัว การเดินทางผ่านตัวอักษร นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในเคราะห์กรรมของเพื่อนมนุษย์และตระหนักถึงความโชคดีของการมีชีวิตอยู่ในประเทศที่ไม่ถูกภัยสงครามแผ้วพานแล้ว ยังนำไปสู่การค้นพบร่วมกันว่าภาย “ใต้ฝุ่น” และซากปรักหักพังจากสงคราม สิ่งมีค่าสูงสุดคือความรักและความหวังที่มอบโอกาสให้ชีวิตได้หยัดยืนและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภท นวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2562
ประโยคสัญลักษณ์
ประโยคสัญลักษณ์ เป็นหนังสือบอกเล่าเรื่องราว ความรัก การแสดงออกของวัยรุ่นที่ปราศจากความรุนแรง และสะท้อนภาพสังคมปัจจุบันได้อย่างชัดเจน สะท้อนความรู้สึกนึกคิด ความฝัน ของวัยรุ่น ที่ประสบทั้งความสมหวังและความผิดหวัง ชี้แนะให้รู้จักการควบคุมตนเองอย่างมีสติ ไม่เลือกใช้ความรุนแรง เป็นวิธีที่ผู้คนในปัจจุบันควรเลือกใช้เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาที่คาดไม่ถึง ดำเนินเรื่องโดยใช้ภาพประกอบคำบรรยายสั้น ๆ ภาพมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เรียบง่ายแต่แฝงด้วยลีลาท่าทางที่บ่งบอกถึงทักษะ ความรู้ และจินตนาการ สื่อสารให้ผู้อ่านสามารถจินตนาการเข้าถึงอารมณ์และความรู้สึกของเรื่องได้อย่างอิสระ คณะกรรมการจึงเห็นสมควรให้ ประโยคสัญลักษณ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช 2562
ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ
รวมบทกวี ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ กวีนิพนธ์ “จากฉัน…ผู้ไร้ดวงตา” ของ รินศรัทธา กาญจนวตี เป็นรวมบทกวีจำนวน 71 สำนวน ที่นำเสนอเรื่องราวประสบการณ์และความรู้สึก นึก คิดของหญิงสาวซึ่งต้องสูญเสียการมองเห็นกับความพยายามปรับตนเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับความขาดพร่องด้วยศักดิ์ศรีและความมานะอดทน เธอจึงมีโลกใหม่ที่มองเห็นด้วยใจสู่ตัวตนใหม่ ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจทั้งของตัวเธอเองและผู้ทุกข์ยากอื่น ๆ ในสังคม เนื้อหาแบ่งเป็น 4 ตอน คือ ตอนที่หนึ่ง โลกอีกดวงของผู้ไร้ดวงตา เมื่อต้องเผชิญกับสภาวะไร้การเห็น การเขียนบทกวีเป็นพื้นที่ของการแสดงออกถึงประสบการณ์การเรียนรู้และเยียวยาตนเองทั้งสภาวะปัจจุบันและเรื่องราวในอดีตด้วยความเข้มแข็ง แม้สิ่งที่ขาดพร่อง หากเข้าใจและรู้จักที่จะ “มอง” อีกด้านหนึ่ง ก็กลายเป็นความเปี่ยมล้นด้วยคุณค่าและความรู้สึก เช่น ในบท “กราบแม่ในวันพ่อ” “เคยหวั่นไหววันที่ไม่มีพ่อ เพื่อนรุมล้อจนต้องแอบร้องไห้ หยาดน้ำตาหนึ่งหยดรดหัวใจ พ่อของหนูอยู่ไหน…อยู่ไหนกัน… ในที่สุดเธอได้ตระหนักว่า “ก้มกราบแม่ในวันที่ไม่มีพ่อ น้ำตาคลอแม่จูบแล้วลูบหัว หญิงคนหนึ่งรับผิดชอบทั้งครอบครัว รักของแม่คือรั้วล้อมหัวใจ วันนี้ลูกยึดถือ…แม่คือพ่อ พร้อมเดินต่อเพื่อมีชีวิตใหม่ รักของแม่ประเสริฐเทิดทูนไว้ เป็นหลักชัยเชิดชู…กราบบูชา” ตอนที่สอง ประจักษ์ค่าชีวิต (แม้มิดแสง) การเขียนบทกวีเป็นพื้นที่ใหม่ที่เธอเห็นไม่เพียงแต่คุณค่าตัวตนของเธอเองแต่ยังเห็นอกเห็นใจผู้ยากไร้อื่น ๆ เช่น คนยากคนจน ผู้ใช้แรงงาน แรงงานข้ามชาติแม้กระทั่งสุนัขจร ตอนที่สาม รู้สึก ความรัก ความเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับหญิงสาวทั่วไป อารมณ์ความรู้สึกด้านความรัก การจากพราก ความสูญเสียและเรื่องราวในอดีต ตอนที่สี่ ปัญญากระจ่างแจ้งด้วยความคิด ทบทวนการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยซึ่งในชีวิตจริงในสังคมอาจต้องมาเริ่มเรียนรู้ใหม่และใคร่ครวญวิถีทางที่จะมุ่งเดินต่อไปในชีวิตโดยย้ำว่าในท่ามกลางสังคมที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วนั้นทุกขณะต้องอย่าลืม “พินิจใจ” “จึงต้องใช้ใจนำสัมผัสรู้ เปิดประตูบานหนึ่งซึ่งถูกปิด แบ่งเวลาชั่วขณะวันละนิด เพื่อเพ่งพิศการบานออก…ของดอกไม้” ด้านศิลปะการประพันธ์ ผู้แต่งใช้กลอนสุภาพที่มีลีลาราบรื่น สัมผัสคล้องจอง ใช้คำง่าย สื่อความและอารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจน มีวรรคทองที่คมคายให้แง่คิด ดำเนินเรื่องราวได้กระชับ งดงามด้วยจินตภาพและอารมณ์สะเทือนใจ ที่ไม่เพียงมีคุณค่า น่าอ่าน แต่ยังให้กำลังใจผู้ที่ขาดพร่องอื่น ๆ หากมองจากอีกด้านหนึ่ง ทุกคนก็ยังคงมีความหวังและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคในชีวิตเช่นเธอ “โลกของฉันมืดยิ่งกว่าหลับตาสนิท แต่ดวงจิตฉันสว่างกระจ่างอยู่ และทุกวันฉันใช้หัวใจดู ยังต้องสู้และพร้อมไม่ยอมแพ้” ดังนั้น รวมบทกวี ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ ของ รินศรัทธา กาญจนวตี จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 256