รางวัลชนะเลิศ
ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป
เล่มบาง กะทัดรัด เหมาะแก่การพกพาได้สะดวกชื่อเรื่องสะดุดหู ฟังดูเหมือนไม่มีความหมาย แต่กลับเป็นชื่อที่คนต่างชาติใช้เรียกชาวนครศรีธรรมราชว่า ‘ลิกอร์”ภาษาที่ใช้เป็นไปตามธรรมชาติไม่ได้ปรุงแต่ง ซึ่งถ้าเพ่งเล็งในแงวรรณศิลป์ อาจจะไม่งดงามเท่าที่ควรนักเพราะเป็นภาษาง่ายๆ อ่านรื่น สื่อความหมายได้ตรงใจเหมือนกับผู้อื่นเข้าไปอยู่ในเหตุการณ์ด้วย ลักษณะการเขียนเหมือนสายตาคนนอกที่มองดูชาวนครศรีธรรมราช เป็นเรื่องสั้นเล่มเดียวที่ไม่ได้เอาความรู้สึกของผู้เขียนมาชี้นำ ใช้มุมมองของคนภายนอก แสดงให้เห็นว่าพวกเขาเปลี่ยนไป มีทั้งประเด็นเสียดสี อารมณ์ขัน และวิพากษ์สังคมทุนนิยม แสดงบทบาทของวรรณกรรมว่ามีหน้าที่ฉุดรั้งสังคม เตือนสติสังคมเรื่องสั้นในเล่มดีทุกเรื่อง ตอนจบเหมือนชีวิตคนจริงๆ ที่บางทีก็หาคำตอบได้บ้างไม่ได้บ้าง เหมือนการดำเนินชีวิตของคนในสังคม โดยเฉพาะเรื่องสุดท้ายดีมาก “ลิกอร์ พวกเขาเปลี่ยนไป” เป็นเรื่องสั้นที่ผู้เขียนเขียนสมกับเป็นนักเขียนมืออาชีพเป็นผู้สร้างผลงานโดยจงใจ และมีสไตล์เป็นของตัวเอง และที่สำคัญเป็นหนังสือมีระบบบรรณาธิการดีมาก ซึ่งเป็นแง่มุมที่ช่วยให้หนังสือน่าอ่านยิ่งขึ้น
ครอบ (บ้าน)ครัว(เดียว)
“ครอบ (บ้าน) ครัว (เดียว)” เป็นนวนิยายชีวิตครอบครัวที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสภาพชีวิตความเป็นอยู่ และความสัมพันธ์ของคนในครอบครัวใหญ่ ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 จนถึงสมัยปัจจุบัน กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่ชับซ้อนและมีปัญหา ซึ่งก่อให้เกิดความขัดแย้งทั้งในด้านความเป็นอยู่ และความคิดของตัวละคร โดยเฉพาะตัวละครเอก ซึ่งเป็นสตรีที่สามารถยืนหยัดดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมั่นคงและเข้มแข็งนวนิยายเรื่องนี้ มีกลวิธีการเสนอเรื่องที่ชวนติดตาม มีองค์ประกอบด้านฉาก ตัวละคร และบทสนทนาที่สมจริง มีชีวิตชีวา ให้ข้อคิดที่หลากหลายเกี่ยวกับการอนุรักษ์และสร้างสรรค์สังคมไทย ด้วยการผสานวัฒนธรรมเก่ากับใหม่ได้อย่างกลมกลืน ผู้แต่งใช้ภาษาและสำนวนโวหาที่เปี่ยมด้วยวรรณศิลป์ มีสีสัน มีเสน่ห์ สร้างจินตภาพได้อย่างแจ่มชัดและก่อให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ
“กระต่ายกับเต่า ภาค ๒ เราไม่วิ่งแข่งกันแล้ว”
กระต่ายกับเต่า ภาค ๒ เราไม่วิ่งแข่งกันแล้ว เขียนโดย ฮ. นิกฮูกี้ เป็นการนำเอาโครงเรื่องของนิทานอีสป อมตะนิทานของโลกมาสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ ให้เป็นวรรณกรรมเยาวชนที่แฝงพุทธปรัชญา โดยมุ่งสอนผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ให้เข้าใจ และเห็นจริงว่าเรสามารถนำธรรมะมาใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสังคมโลกปัจจุบันคืสังคมแห่งการแช่งชัน ผู้คนจำนวนหนึ่งคิดอย่างกระต่ายคือมีความสุขกับการมุ่งเอาชนะกับผู้อื่น หนังสือเล่มนี้กลับทำให้เราหยุดพินิจความคิดของเต่าที่รู้สึกว่า การชนะใจตนเองเป็นสิ่งยิ่งใหญ่และให้ความปิติยิ่งกว่า เต่าจึงไมโกรธกับคำสบประมาทของกระต่ายและไม่โง่ที่ จะกระโจนเข้าสู่การแข่งขันที่ไร้ประโยชน์ นอกจากให้ความคิดเรื่อง “ความพอเพียง”‘แล้ว หนังสือเล่มนี้ยังให้ความคิดเรื่อง “ความพอดี’ โดยนำหลักพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณามุทิตา อุเบกขา มานำเสนอในเหตุการณ์ต่างๆ ระหว่างการเดินทางของครอบครัวเต่าซึ่งเปรียบได้กับการเดินทางของชีวิตมนุษย์ ผู้เขียนมีกลวิธีการนำเสนออย่างแยบยลด้วยบทสนทนาโต้แย้งระหว่างพ่อเต่ากับลูกเต่า ที่แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าคนเราจะมีหลักคิดแต่ต้องมีวิจารณญาน ในการนำมาปฏิบัติให้เหมาะสม อย่างเช่น พ่อเต่าบอกลูกเต่าว่าควรช่วยเหลือผู้อื่นหากไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน และรู้จักปล่อยวางเมื่อไม่สามารถช่วยได้ พ่อเต่าห้ามไม่ให้ลูกเต่าช่วยชีวิตปลาดุกปลาช่อนโดยแบกใส่หลังเดินทางไปด้วยกัน พราะจะพลอยทำให้ตาย หมดก่อนเดินทางถึงจุดหมาย พ่อเต่าไม่ช่วยปล่อยนักโทษประหารเพราะเขาเป็นคนเลวต้องได้รับกรรมตามที่กระทำไว้ แต่พ่อเต่ากลับช่วยชีวิตกระต่ายหลายครั้งทั้งๆ ที่กระต่ายดูหมิ่นเหยียดหยามและกลั่นแกล้งต่างต่างนานา เพราะมีเหตุผลว่าสามารถช่วยได้โดยไม่เดือดร้อนและหวังว่ากระต่ายจะกลับตัวกลับใจประพฤติตนดีขึ้น แต่หากกระต่ายไม่ทำตัวดีขึ้น เต่าก็ ไม่เดือดร้อนใจแต่อย่างใด ถือว่าเป็นเรื่องของกระต่ายไม่ใช่เรื่องของตน เต่าทำตนเป็นแบบอย่างแก่ลูกเต่าว่ายึดมั่นในศีลและในธรรมไม่ปล่อยให้ตกอยู่ในอำนาจของกิเลสใดๆ หนังสือเล่มนี้ยังแสดงให้เห็นว่า การยึดมั่นในหลักธรรมอื่นๆ เช่น ความกตัญญู ความรู้สึกสำนึกผิดการให้อภัย ความมีสติ ความมีปัญญา ฯลฯ ย่อมนำชีวิตและโลกไปสู่สันติสุขอย่างแท้จริงหนังสือเล่มนี้จึงเป็นวรรณกรรมเยาวชนที่เหมาะแก่ผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ให้ข้อคิดที่สอดคล้องกับสังคมในปัจจุบัน เนื้อหาอ่านสนุกและวิธีเล่าเรื่องชวนอ่าน ภาพประกอบที่สวยงามและเหมาะสมกับเนื้อเรื่องสร้างความรื่นรมย์ในการอ่านยิ่งขึ้น บทสนทนาและข้อขัดแย้งในตัวเรื่องทำให้ต้องครุ่นคิดและเกิดปัญญา ผู้ใหญ่สามารถนำหนังสือเล่มนี้ไปใช้สอนเด็กได้อย่างดี กระต่ายกับเต่า ภาค๒ เราไม่วิ่งแข่งกันแล้ว จึงสมควรได้รับยกย่องเป็นหนังสือ ดีเด่นรางวัล “เชเว่นบุ๊คอวอร์ด” ประเภท “วรรณกรรมสำหรับเยาวชน” ประจำปี ๒๕๔๘
อีสานเมื่อวันวาน
เป็นหนังสือที่ ดร.ก่อ สวัสดิ์พาณิชย์ นำเอาวิถีการดำรงชีวิต ตลอดจนประเพณีความเชื่อต่าง ๆ ของคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมาเล่าเป็นเรื่อง ๆ เช่น เรื่อง ข่าว งาน กิน บ้าน วัด ฯลฯ รวม ๑๕ เรื่องด้วยกัน เป็นการเล่าเรื่องด้วยภาษาง่าย ๆแต่อุดมไปด้วยเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ต่อความรู้ ความเข้าใจในขนบธรรมเนียม ประเพณีวัฒนธรรมของคนอีสานเป็นอย่างดี วิธีการเล่านั้นยึดเอาอำเภออาจสามารถ จังหวัดร้อยเอ็ดเป็นที่มาของเรื่อง แต่ถ้าอ่านให้ตลอดแล้ว สิ่งที่สะท้อนเป็นวัฒนธรรมประเพณีนั้นเป็นของคนอีสานโดยรวมมากกว่าเป็นของอำเภออาจสามารถ บ้านเกิดของผู้เขียน ผู้เขียนไม่ใช่นักเขียนโดยอาชีพ แต่เป็นนักการศึกษาที่อุทิศตนเพื่อการศึกษามาโดยตลอด อีสานเมื่อวันวาน ก็เป็นสื่อสะท้อนความคิดในเชิงการศึกษาไว้เป็นอย่างดี เนื้อหาสาระขอหนังสือมีคุณค่าสูงมาก ผู้อ่านจะได้ข้อมูลทางมนุษยวิทยาและสังคมวิทยาที่ดีของคนไทยืนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะกรรมการจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ได้รับรางวัลที่ ๑ ประเภทหนังสือดีในอดีต
ท่องทศชาติผ่านจิตรกรรม
เล่าเรื่องทศชาติอย่างมีลีลา กระชับน่าสนใจ มีภาพประกอบจากผนังโบสถ์ทั่วประเทศเล่าเรื่องด้วยรูปแบบจดหมายคุยกับ “น้ำริน” จูงคนรุ่นใหม่ให้สัมผัสทศชาติได้อย่างนุ่มนวลส่งเสริมข้อคำนึงเชิงคุณธรรมในสถานการณ์ร่วมสมัย มีความประณีตในการทำงานสูงมากทั้งตัวหนังสือการออกแบบเป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของหนังสือประเภทสารคดี เชิงปรัชญาและศาสนา
ลิลิตหล้ากำสรวล
1. วางรูปแบบฉันลักษณ์ถูกต้อง หลากหลาย โคลง ฉันท์ กพย์ กลอน ร่าย เหมาะกับเนื้อความ 2. เป็นงานยิ่งใหญ่ ที่สะท้อนเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้น 3. มีความเหมาะสมกลมกลืนในการนำเสนอเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ในรูปของ วรรณกรรมร้อยกรอง โดยมีจุดเด่นในเรื่องฉันทลักษณ์
ชีวิตสำมะหาอันใด
“ชีวิตสำมะหาอันใด” ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน ๑๔ เรื่องได้แก่ โมงยามของวัยเยาว์, นายบังเอิญ, สะพานข้ามแม่น้ำ, ค่ายและคุก, นครรุกขชาติ.เรื่องเล่าของคนขายเหล้า, สายเลือด, ประตู, เพียงชั่วขณะหนึ่ง, ภูเขา, พฤศจิกายน, เรื่องเล่าสายน้ำและความตาย, บุรุษไปรษณีย์ผู้หลงลืมเลขที่บ้านของตน และค่ำคืน มทัศจรรย์ ภาพชีวิตของมนุษย์ในเรื่องสั้นดังกล่าว จำแนกตามแนวคิดได้สามภาพใหญ่ ๆคือความไร้เหตุผลของชีวิต, ความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองกับขนบท และการต่อสู้ของมโนธรรมกับสัญชาตญาณทางเพศ ภาพชีวิตภาพแรกสะท้อนทัศนะของผู้เขียนว่าชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็น ความบังเอิญทั้งสิ้นนั้นเหลือเชื่อยิ่งกว่านิยายภาพชีวิตภาพ ต่อมาผู้เขียนซี้ให้ตระหนักถึงคุณค่าธรรมชาติชีวิต เรียบง่ายซึ่งน่าพึงปรารถนากว่าความสับสนวุ่นวาย การแก่งแย่งชิงดีขิงเด่นของผู้คนในสังคมเมือง ส่วนภาพชีวิตภาพสุดท้ายผู้เขียนเห็นว่า คุณธรรมทำให้มนุษย์สุขใจ กว่ากามารมณ์ เรื่องสั้นของเรวัตร์พันธุ์ พิพัฒน์ ชุดนี้คือผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย เพราะผู้เขียนได้ใช้อักษรศิลป์สะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตของคนไทยและสังคมไทยร่วมสมัยอันสับสน วุ่นวาย สามารถเสริมสร้างสุนทรียภาพ รวมทั้งความเข้าใจชีวิตและโลกให้กับผู้อ่านได้โดยแท้
เวียงแว่นฟ้า
เป็นนวนิยายที่นำข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนามาปรุงแต่งเป็นนวนิยายที่มีกลิ่นอายของสังคมภาคเหนือได้อย่างละเมียดละไม การดำเนินเรื่องชวนให้ติดตามและสมจริง สอดแทรกวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเจ้านายกับสามัญชนได้อย่างแนบเนียนแสดงถึงการอยู่ร่วมกันของคนต่างขั้นในสังคม ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน เอื้อประโยชน์ต่อกันในภาพรวม การสร้างตัวละครเน้นการรู้จักคุณค่าของตนเอง การบรรยายและการพรรณนาก่อให้เกิดจินตภาพที่ขัดเจนด้วยภาษาที่งดงามและสมบูรณ์ มีความโดดเด่นในด้านวรรณศิลป์
หมูบินได้
เป็นเรื่องของหมูที่เชื่อว่าจะบินได้ ถึงแม้เนื้อหาจะเป็นเรื่องยาก เพราะเน้นเรื่องปรัชญา แต่ผู้เขียนสามารถนำมาเขียนให้อ่านง่าย และอ่านได้ทุกวัย ภาพประกอบเป็นขาวดำที่สร้างจินตนาการได้มาก ภาพแต่ละภาพให้อารมณ์ร่วมแก่ ผู้อ่านและสัมพันธ์กับเนื้อเรื่อง การจัดรูปเล่มมีส่วนช่วยเสริมให้อ่านเรื่องได้ง่ายขึ้น มีหน้าว่างช่วยพักสายตา ทำให้ อ่านเรื่องได้รวดเดียวจบ มีการใช้ตัวอักษรขนาดต่าง ๆสอดคล้องกับอารมณ์และบรรยากาศ ของเรื่อง หมูบินได้ นับเป็นก้าวใหม่ที่ท้าทายในการจัดทำหนังสือสำหรับเด็กและเยาวชน สมบูรณ์ ทั้งเนื้อหา ภาพประกอบ และการจัดรูปเล่ม คณะกรรมการจึงพิจารณาเห็นสมควรให้ได้รับ รางวัลที่ ๑
ให้ความรักนำทาง
ผู้เขียนสามารถเขียนเรื่องสถานที่ธรรมดามาก ๆ ได้อย่างน่าอ่าน อ่านสนุก ใช้ภาษาสำนวนสละสลวย มีศิลปะในการร้อยเรียงเรื่องราว มีแก่น (Theme) ของเรื่อง มีเป้าหมายมีชั้นเชิงในการสอดแทรกข้อมูล ความรู้ทางกายภาพ ผสานกับข้อมูลทางจินตภาพ คืออารมณ์และความรู้สึกของผู้เขียนอย่างแนบเนียน ให้สาระ ความรู้ ความสนุกสนาน ตื่นเต้น ได้บรรยากาศ สอดแทรกแนวคิด ผู้เขียนเกิดมาเป็น (Born to be) จึงน่าจะเป็นแบบอย่างให้นักเขียนสารคดีต่อไปได้
มัทรานี
มัทรานี ของ ภูฉาน พันฉาย เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่เสนอมุมมองชีวิตที่หลากหลาย มุ่งแสดงปัญหาสังคมด้วยแนวคิดที่ลุ่มลึกและสร้างสรรค์ สื่อถึงความตั้งใจจริงของผู้เขียนที่จะให้วรรณกรรมมีบทบาทจรรโลงสังคม นอกจากนี้ ผู้เขียนยังมีกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ โดยให้ภาพและสีสันท้องถิ่นได้อย่างชัดเจน
ลับแลลายเมฆ
ลับแลลายเมฆ เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมที่ร่วมสมัย เพราะเราจะได้ยินได้ฟังและได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ทางสื่อมวลชนอยู่เสมอ นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงเด็กสาวแสนสวย มีชีวิตที่อบอุ่น งดงาม อยู่ในความคุ้มครองอย่างทะนุถนอมของคุณปู่คุณย่าผู้มั่งคั่ง เธอมีคนรักเป็นหนุมหล่อร่ำรวย ฉลาดและเป็นสุภาพบุรุษ ความเหมาะสมลงตัวทุกประการราวสวรรค์สรรสร้างน่าจะทำให้ชีวิตคู่หลังแต่งงานกันมีความสุขสมบูรณ์ แต่หากเป็นเช่นนั้นนวนิยายเรื่องนี้คงไร้สาระสำหรับผู้อ่าน ท้องฟ้าที่ใสกระจ่างในตอนแรก เริ่มมีเมฆหมอกมาบดบัด เช่นเดียวกับเด็กสาวผู้มีชีวิตงดงามราวกับล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าสมตามชื่อของเธอ เมื่อเธอย่างสู่วัยสาวเต็มตัว ก็ราวกับมีผู้เลื่อนฉากลับแลที่บดบัดความจริงแห่งชีวิตออกไป ความทรงจำเก่า ๆ เริ่มผุดพรายขึ้นมาเป็นระยะเมื่อได้เห็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึก เสียงกอไผ่เสียดสี อาวุธปืน แผงอกเปลือยเปล่า ภาพเลอะเลือน รูปเงาไร้ร้างก่อตัวทะมึนเหนือร่างเธอราวอสุรกาย รวมทั้งความรู้สึกหวาดกลัว ขยะแขยง และเกลียดชัด ที่พลุ่งขึ้นท่วมหัวใจ ทำให้เธอเกิดอาการกลัวอย่างรุนแรงจนแทบเสียสติ ร่างกายแข็งเกร็งไร้การควบคุม เธอเกิดอาการเช่นนี้ทุกครั้งที่กำลังจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนรัก อาการและความรู้สึกนี้เป็นเช่นเดียวกับฝันร้ายในวัยเยาว์ที่คุณปู่คุณย่าเฝ้าเยียวยาปลุกปลอบจนฝันร้ายนั้นห่างไป แต่อันที่จริง ฝันร้ายนั้นถูกกลบฝังให้ตกตะกอนอยู่ในจิตใจใต้สำนึก รอเวลาที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกวนให้ขุ่นขึ้นมา ในที่สุดในวันแต่งงานหญิงสาวพบว่าภาพเลอะเลือนที่เธอเห็น แต่ความรู้สึกกลัวจับใจที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ฝันร้าย หากแต่เป็นความจริงที่ถูกกลบฝังอยู่ในความทรงจำก่อนเก่า เธอเริ่มจำประสบการณ์เลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นกับตนเองได้ แต่ไม่ทั้งหมดและเมื่อติดตามสืบค้นต่อไปก่อพบความจริงที่โหดร้ายมากขึ้นที่เกิดขึ้นกับตัวเธอและครอบครัวของเธอ เรื่องราวของการล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวละครหลักเท่านั้น ตัวละครหญิงอีกหลายตัวในเรื่องประสบกับการละเมิดทางเพศในลักษณะต่าง ๆ กัน บ้างก็รอดพ้นการข่มขืนมาได้ แต่อับอายและเจ็บช้ำ บ้างก็ถูกข่มขืนแล้วฆ่า บ้างก็ฆ่าตัวตายในภายหลังเพราะความเปราะบางของวัยเยาว์ที่ไม่อาจต่อสู้กับโลกที่โหดร้ายได้ ตัวละครเอกซึมซับกับเรื่องราวของผู้หญิงเคราะห์ร้ายมากมายที่พึ่งพาการเยียวยาจากสมาคมที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ความอนุเคราะห์แก่เพื่อนเพศหญิงด้วยกัน เธอจึงพบหนทางแห่งการใช้ชีวิตของเธอให้มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคม ลับแลลายเมฆ เป็นทั้งนวนิยายเชิงจิตวิทยาและนวนิยายเชิงสังคม “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการบำบัดรักษาคนไข้ที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ด้วยการรื้อฟื้นความจำเพื่อให้คนไข้เผชิญหน้ากับความจริงในชีวิต ไม่ใช่หลบหนีหลีกเร้นจนกลายเป็นเก็บกดความเป็นจริงนั้นไว้ให้เป็นแผลกลัดหนองในใจไม่มีวันหาย การรักษาทางแพทย์ด้วยวิธีทางจิตวิทยาจึงทำให้คนเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขตามเดิม และเนื่องจากอาการกลัวความสัมพันธ์ทางเพศเกิดจากการที่ตัวละครถูกข่มขืนซ้ำซากในวัยเด็กทำให้นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอประเด็นทางสังคมถึงการกดขี่ทางเพศด้วย (Sexual Harassment) ไปจนถึงข่มขืน เรื่องค่านิยมของสังคมที่ยกย่องผู้ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศมาก ๆ แต่เหยียดหยามผู้หญิงที่พลาดพลั้ง เรื่องระบบสังคม กฎหมาย และสื่อมวลชนที่ซ้ำเติมผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศและที่สำคัญคือผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศมักจะลงโทษตนเองด้วยความคิดว่าตนไม่มีคุณค่าอะไรเหลืออีกแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้ชี้กลวิธีในการแก้ปัญหาสังคมโดยตรง แต่ได้กระตุ้นให้คิดว่าผู้ชายไทยควรได้รับการปลูกฝังให้เคารพคุณค่าของเพศหญิง ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็ควรได้รับการปลูกฝังให้รักตนเอง และสำนึกในคุณค่าของตนเองให้มากขึ้น นอกจากจุดเด่นในด้านเนื้อหาแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังมีลักษณะเด่นทางวรรณศิลป์ ผู้เขียนวางโครงเรื่องได้กระชับ แต่มีความซับซ้อน ชวนให้ผู้อ่านติดตามความจริงที่ผู้เขียนเปิดเผยเป็นระยะ ๆ จนคลี่คลายหมดในตอนจบเรื่อง เนื่องจากเป็นนวนิยายที่มีสาระทางการแพทย์และสังคม ผู้เขียนได้ค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการอย่างมาก แต่ผู้เขียนก็นำมาย่อให้เข้าใจง่ายและสามารถสอดสลับไปกับเนื้อเรื่องได้อย่างกลมกลืน ไม่ทำลายรสวรรณศิลป์ของความเป็นนวนิยาย ลับแลลายเมฆ จึงเป็นนวนิยายที่มีคุณค่าในมิติทางสังคมและมิติทางวรรณกรรมอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ลับแลลายเมฆ ของ “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” จึงสมควรได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด” ประเภคนวนิยาย ประจำปี 2559 นี้
KNOT
ผู้เขียนสามารถแต่งเรื่องและวาดการ์ตูนเรื่องนี้ในมิติที่ซับซ้อน เป็นเหตุการณ์ฝันซ้อนฝัน เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของสองพี่น้อง คือ อัษ ผู้เป็นพี่และน็อต (KNOT) ผู้เป็นน้อง น็อต ประสบอุบัติเหตุถูกรถชน เมื่อฟื้นขึ้นมาครั้งแรกก็พบพี่ชายคือ อัษ ซึ่งได้ดูแลและพาน็อตกลับบ้าน น็อตซึ่งไม่ชอบและเกลียดพี่ตัวเองมาตลอดเพราะรู้สึกและคิดไปเองว่าตัวเองด้อยกว่าพี่ทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องเรียน เล่นกีฬา หน้าตา พี่มักจะได้ของดีกว่าและได้รับคำชมและความรักจากผู้อื่นมากกว่า และเหตุการณ์ต่อมาทำให้น็อตทบทวนเหตุการณ์ต่าง ๆ ย้อนกลับไปในวันเกิดเหตุ ทำให้น็อตรู้ว่าพี่ชายที่เขาเคยด่าว่าเกลียดและขยะแขยงนั้น แท้จริงแล้วรักและห่วงน้องตัวเองมากและยอมเสียสละชีวิตตัวเอง เพื่อช่วยน้องให้พ้นจากอุบัติเหตุรถชนและน็อตก็ได้ฟื้นขึ้นมาจากความฝันอีกครั้งสู่เหตุการณ์จริงในปัจจุบัน และเสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ทิ้งท้ายข้อความอันลึกซึ้งในหน้าสุดท้ายของการ์ตูนเรื่องนี้ว่าอะไรบางอย่างที่อยู่ใกล้จนมองไม่เห็น อะไรบางอย่างที่ถ้าไม่แตกสลายก็จะไม่มีค่าเลย อะไรที่หายากกว่าเศษธุลีและหาง่ายกว่าผืนแผ่นดิน และเมื่อหาเจอ มันก็อาจจะถูกตัวเราเองเหยียบย่ำจนสูญหายไปเสียแล้วก็ได้
พระจันทร์ที่ไม่เคย โดนเหยียบ
ผู้แต่งเรื่อง นำเรื่องราวธรรมดา ๆ ของประสบการณ์วัยเด็ก และตอนเป็นนักศึกษานำมาร้อยเรียงเป็นภาพเล่าเรื่องเชื่อมโยงกับปัจจุบันได้ลื่นไหลมีเสน่ห์ ให้แง่คิดเชิงปรัชญา มีการสอดแทรกวัฒนธรรม เหตุการณ์ปัจจุบัน มีลูกเล่นแพรวพราวทุกตอน อ่านแล้วสนุกมีความสุข อ่านจบแล้วรู้สึกอบอุ่นซาบซึ้งใจ ทำให้เกิดความรักในครอบครัวโดยเฉพาะกับผู้เป็นแม่มากขึ้นและรักชุมชน ยิ่งขึ้นไปอีก อารมณ์ขันและมีทัศนคติที่ดีของผู้แต่ง ทำให้เรายินดีที่มีบุคลากรทางวิชาชีพหมอ ท่านนี้อยู่รับใช้ชุมชนและแวดวงนักเขียนการ์ตูน เนื้อเรื่องที่ดี ประกอบกับฝีมือการเขียนที่สวยงามอ่านง่าย เนื้อหามีประโยชน์ทั้งต่อผู้อ่านทุกเพศทุกวัยและทุกอาชีพ คณะกรรมการจึงพิจารณาว่ามีคุณค่าที่จะได้รับรางวัลชนะเลิศ
ผมมีความลับครับแม่
เป็นเรื่องจินตนาการที่เกี่ยวกับความผูกพันระหว่างแม่กับลูก ชื่อเรื่องมีเสน่ห์ชวนให้ติดตาม โครงเรื่องแปลกใหม่ กลวิธีการแต่งทันสมัย มีการบอกเล่าลักษณะตัวละครให้ความรู้แก่ผู้อ่านอย่างแยบยล มีอารมณ์ขัน เนื้อหาสะท้อนสังคม ส่งเสริมจินตนาการความรัก ความเข้าใจของคนในสังคมให้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
นาฏกรรมเมืองหรรษา
นาฏกรรมเมืองหรรษาเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 10 เรื่อง ซึ่งสะท้อนภาพชีวิตของคนเมืองหลวงที่สับสนวุ่นวาย เช่น การสนับสนุนและการต่อต้านอดีตนักการเมือง การใช้สิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้ง การตกเป็นทาสของสื่อเทคโนโลยีสมัยใหม่ การติดสินบนตำรวจจราจร ฯลฯ ผู้ประพันธ์นำเสนอชีวิตของคนเมืองได้อย่างหลากหลายและมีสีสัน ด้วยมุมมองที่มีเอกลักษณ์ โดยใช้กลวิธีการประพันธ์เรื่องสั้นแบบหักมุมอย่างมีอารมณ์ขันเชิงเสียดสีและขมขื่นทำให้ผู้อ่านเกิดความหรรษา ผู้ประพันธ์ชี้ให้เห็นว่าความดีงามและความยุติธรรมกำลังเลือนหายไปเพราะผู้คนเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน จึงเรียกร้องให้คนที่เห็นปัญหาลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่างเพื่อยับยั้งพฤติการณ์อันเลวร้าย มิใช่เพียงแต่เฝ้ามองหรือพร่ำบ่นอยู่อย่างเดียว
เดินสู่อิสรภาพ
เป็นสารคดีนำเสนอประสบการณ์จริงจากาการเดินทางด้วยการ “เดินเท้า” เพื่อแสวงหาสัจธรรมของชีวิต ด้วยภาษาสำนวนเรียบง่าย จริงใจ กลั่นกรองออกมาจากส่วนลึกสะท้อนให้เห็นด้านที่งดงามที่มีอยู่ในจิตใจมนุษย์ทุกคน ที่ผู้เขียนไปพบโดยไม่มีผลประโยชน์ไปแลกเปลี่ยน สามารถวิเคราะห์จิตวิทยาของบุคคลประเภทต่าง ๆ ได้ละเอียดสุขุม ก่อให้เกิดคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ จุดประกายความคิดและเพิ่มพลังใจให้ผู้อ่านตระหนักว่า “โลกนี้ยังมีความเมตตา”
เขียนฝันด้วยชีวิต
เขียนฝันด้วยชีวิต ของประชาคม ลุนาชัย นำเสนอภาพชีวิตของชายที่มุ่งมั่นใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนอาชีพแต่การก้าวสู่เส้นทางน้ำหมึกนี้เต็มไปด้วยอุปสรรคขากหนามอันชวนให้ท้อทั้และถดถอย ยิ่งเขา-ผู้ซึ่งมีต้นทุนน้อย ทั้งโภคทรัพย์ ญาติ มิตร และการศึกษา อุปสรรคก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ ชีวิตระหกระเหินของเขาผ่านการทำมาหากินมากมายหลายอาชีพ ตั้งแต่เป็นเสมียนในสำนักงานจัดหางาน พนักงานเสิร์ฟ เด็กฝึกงานในโรงงานแบตเตอรี่ พนักงานแบกลังน้ำปลา คนทำลูกชิ้นและขายก๋วยเตี๋ยว คนดูแลนากุ้ง ลูกเรือหาปลาล่องทะเลลึก ไปจนกระทั่งเป็นยาม ในระหว่างการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีวิต เขาก็เลี้ยงวิญญาณและความใฝ่ฝันด้วยการอ่านหนังสือจากห้องสมุด จากร้านหนังสือเช่า และจากการซื้อหาตามที่พอจะมีกิน ประสบการณ์จากการอ่านและประสบการณ์ชีวิตทั้งของตนเองและจากการเฝ้าสังเกตชีวิตของผู้อื่น ล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับเขียนหนังสือ ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การตีแผ่ชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่ปิดบัง แต่ในโชคมีเคราะห์และในเคราะห์ก็มีโชค ชีวิตมีสุขมีเศร้า มีปวดร้าว มีปิติ มีสูญสิ้นมีวาดหวัง เวียนไปให้เห็นสัจธรรม ดังนั้นแม้เขาจะท้อแท้แต่ไม่ท้อถอย การลุกขึ้นสู่ชีวิตอย่างไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ที่รุมกระหน่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงกินใจผู้อ่านและขณะเดียวกันให้กำลังใจผู้ที่กำลังโต้คลื่นชีวิตให้ยืนหยัดต่อไป ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “ชีวิตมหัศจรรย์และทรงคุณค่ายิ่ง แม้จมลงในหุบเหวที่ลึกแค่ไหนเพียงใด ยังมีแรงตะกายกลับสู่เบื้องบน เปรอะเปื้อนความผิดพลาดกี่หนยังพยายามฟอกตัวเองให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ ผ่านแรงกระทบกระแทกซ้ำแล้วซ้ำอีก ยังกลับมาหยัดยืนได้อีกครั้ง ลื่นล้มและตกจากที่สูงกี่ครา ประกายแสงของมันไม่ยอมหรี่ดับลงโดยง่าย” ผู้อ่านได้ประจักษ์ในความมหัศจรรย์และคุณค่าของชีวิตเฉกเช่นเดียวกันกับที่ผู้เขียนกล่าวไว้ นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์ที่กลวิธีการเขียน เพราะผู้เขียนคัดสรรบางช่วงตอนของชีวิตมาเล่าให้ผู้อ่านปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราวเอาเอง ราวกับจะบอกว่าชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย บทจบและบทเริ่มต่อเนื่องกันราวกับจะบอกเป็นนัยว่าการเขียนฝันด้วยชีวิตยังไม่มีบทจบ หากต้องดำเนินต่อไป เขียนฝันด้วยชีวิตเป็นนวนิยายอัตชีวประวัติที่สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นความฝันของใคร ความฝันนั้นก็ยิ่งใหญ่และมีคุณค่า แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคือชีวิตที่กอปรด้วยความมานะบากบั่นที่จะทำความฝันกลายเป็นจริง ยิ่งสำหรับนักเขียนด้วยแล้ว ความฝันไม่มีวันจบ ต้องเขียนฝันด้วยชีวิต และทั้งชีวิต
อสุจิ : เวลาของวันพรุ่งนี้
ผู้เขียนสร้างโครงเรื่องได้ดี เนื้อหาลึกซึ้งกินใจสะท้อนสภาพสังคมในปัจจุบัน เล่าเรื่องด้วยภาพได้ตื่นเต้นสนุกและน่าประทับใจ มีการใช้มิติเวลาในเรื่องโน้มนำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ฝีมือการวาดภาพโดดเด่นกว่าผลงานอื่น ๆ เนื้อเรื่องโดยย่อเป็นชีวิตของ “อ๊อด” เด็กที่ถูกทิ้งที่กองขยะตั้งแต่แรกคลอดและมีหญิงชื่อ “วันนิภา” นำมาเลี้ยงและเติบโตขึ้นมาอย่าง “อ้างว้าง โดดเดี่ยว และสิ้นหวัง” มีปัญหาทะเลาะวิวาท ติดเกม และก้าวร้าว เมื่อถูกดุด่าตบตีก็รู้สึกว่า “ยัยวันนิภา” เลี้ยงตัวเองมาเพื่อรองมือรองตีน เมื่ออารมณ์ไม่ดีจากการเสียพนัน ถึงขั้นคิด “ฆ่า” ผู้ที่เลี้ยงตัวมา แต่เขามารู้ความจริงจากสมุดบันทึกของ “วันนิภา” และเสียงฝากข้อความทางโทรศัพท์ว่าที่จริงแล้ว “แม่วันนิภา” เลี้ยงตัวเขามาด้วยความรักและห่วงใยตลอดเวลา อดทนเลี้ยงดูแม้ชีวิตก็ยอมสละได้ “อ๊อด” ได้เกิดสำนึกจึงพา “วันนิภา” ที่กำลังป่วยหนักไปโรงพยาบาลระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุรถชนกันทำให้ “อ๊อด” เสียชีวิต และเมื่อวิญญาณอยู่ในนรก “อ๊อด” ได้ขอกับพระยายมให้ตัวเองได้กลับมาทดแทนบุญคุณ “วันนิภา” ก่อน แม้ตัวเองจะต้องไปเกิดเป็นอสุจิอีกล้านชาติก็ตาม ซึ่งพระยายมก็อนุญาต “อ๊อด” จึงกลับมาพา “วันนิภา” ถึงโรงพยาบาล ปรากฏว่าต้องมีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะซึ่ง “อ๊อด” ก็ยอมสละตัวเอง ในช่วงท้าย ๆ เรื่องเป็นการนำเสนอภาพประทับใจและสะเทือนใจที่ “อ๊อด” ระลึกถึง “แม่วันนิภา” ก่อนที่เขาจะกลับไปเป็นอสุจิอีกครั้ง
ฟื้นฝันบรรณพิภพ
ฟื้นฝันบรรณพิภพ ของ โกฏิดารา 2551 เป็นกวีนิพนธ์สะท้อนความเป็นไปในสังคม ผู้เขียนแต่งเป็นบทกวีจบในบท รวมกันหลายบท โดยแบ่งออกเป็น 5 ภาค คือ กังวลชาติ นิราศเดือน เตือนสมัย ใจรู้ทัน และฟื้นฝันบรรณพิภพ ผู้เขียนมุ่งเน้นเรื่องการสะท้อนปัญหาสังคม ทันสถานการณ์ ทันโลก สามารถแสดงทัศนะและอารมณ์ต่อต้าน หรือเสียดสีได้ดี ผู้เขียนสามารถเลือกสรรคำได้เหมาะงาม เล่นคำสำนวนได้ดีและมีการ “ละเล่น” โวหารให้ทันสมัยขึ้น โดยการนำคำสมัยใหม่หรือคำภาษาอังกฤษไปประยุกต์ใช้ในเชิงเสียดสี หรือสะท้อนสถานการณ์ทันสมัย
โลกของเธอมีเพียงเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม
เด็กหญิงปีใหม่ วัย 4-5 ขวบ ในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน แม่ซึ่งเลี้ยงลูกตามลำพัง ทุ่มเทเวลาให้กับลูก และดูแลอย่างทะนุถนอมเพื่อชดเชยที่ขาดพ่อ ปีใหม่จึงขาดเพื่อน ขาดการเรียนรู้โลกภายนอก ติดการดูโทรทัศน์ รู้จักสิ่งแวดล้อมและสัตว์ต่าง ๆ จากโทรทัศน์ วันหนึ่งเมื่อแม่ติดประชุม และไม่อยากฝากปีใหม่ไว้ที่บ้านตายาย เพราะปีใหม่มักจะถูกเพื่อน ๆ ล้อเรื่องไม่มีพ่อ จนบางครั้งเกิดทะเลาะกันตามประสาเด็ก น้าชายจึงต้องรับหน้าที่พี่เลี้ยงชั่วคราว น้าชายและเพื่อนหญิงของเขาพาปีใหม่ไปเที่ยวสวนสัตว์ และสวนสาธารณะ ทำให้เธอได้พบกับโลกของความเป็นจริง สัตว์จริง ๆ ซึ่งไม่เคยมีโอกาสเห็น ได้เล่นขี่จักรยานตามประสาเด็ก น้าชายเข้าใจปัญหาและความต้องการของหลานสาว แต่แม่ของปีใหม่รักลูกและพยายามปกป้องลูกมากเกินไป จนทำให้ลูกขาดความสุข ในที่สุดแม่ของปีใหม่ เริ่มสังเกตลูกเข้าใจความต้องการของลูก ทำให้ปีใหม่มีความสุขและร่าเริง ตามประสาเด็กมากขึ้น ผู้ประพันธ์ ได้ผูกเรื่องราวขึ้นจากชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ที่เด็กต้องประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก และการเลี้ยงลูกอย่างทะนุถนอมเกินไปในสังคมไทย มีการนำเสนอเรื่องราวเรียบง่าย ได้สาระด้วยสำนวนภาษาสละสลวย
Nine Lives
หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ นำเสนอในรูปแบบที่เรียกว่า “กราฟฟิค โนเวล” คือการเล่าเรื่องด้วยภาพการ์ตูนที่วิจิตร มีข้อความบรรยายที่ชวนอ่าน ลายเส้นการ์ตูนพร้อมภาพประกอบทั้งเล่มสวยงาม การจัดรูปเล่มมีเสน่ห์และรูปแบบทันสมัย กลมกลืนกับกลิ่นไอแบบนิทานเอเชีย อันเป็นวัตถุประสงค์ของเจ้าของผลงาน ผู้วาดเล่าเรื่องเป็นตอน ๆ ผ่านตัวละครที่เป็นแมวหลายตัวหลายชีวิต และมีการเชื่อมโยงบางช่วงตอนให้มาสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันจนทำให้ดูเหมือนทั้งหมดเป็นตอนที่ต่อเนื่องกัน ผู้วาดนำเสนอ “ปรัชญาชีวิต” ออกมาผ่านความสามารถในทางศิลปะวาดภาพและการ์ตูน ค่อย ๆ บรรจงเล่าเรื่องไปทีละภาพทีละหน้าเหมือนลีลาของเสียงดนตรี ทำให้เกิดมิติของเวลาที่ทอดออกไปดึงให้ผู้อ่านปล่อยอารมณ์ไปตามภาพและเนื้อหาของหนังสือ ในเล่มจะเต็มไปด้วยคำเปรียบเทียบ ข้อคิด ปรัชญาซึ่งผู้วาดได้ศึกษาและนำมาถ่ายทอดผ่านลีลาของภาพและตัวอักษรที่ค่อนข้างละเอียดและทำให้ เกิดจินตนาการ เช่น “เจ้าแมวดำเกลียดการสัมผัสน้ำเย็นเช่นนี้เป็นที่สุด แต่เมื่อคิดว่านี่จะเป็นความทรมานครั้งสุดท้ายและมันกำลังจะได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ มันจึงไม่ลังเลและก้าวลงทะเลไปอย่างช้า ๆ ทีละก้าว ทีละก้าว” จากตอนอ่าวจันทร์เสี้ยว หรือ “ เหมือนดอกไม้สวรรค์… หัวใจข้าเต้นแรงเหลือเกิน ข้าได้ตระหนักว่า ช่วงเวลาอันยาวนานนับพันปีที่ข้ามีชีวิตโดยปราศจากหัวใจและไม่รู้จักความรักนั้น ช่างไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาสั้นๆ ที่ข้าได้เรียนรู้ว่าความสุขของการได้รักใครสักคนนั้น… เป็นเช่นไร” จากคำกล่าวของปิศาจตอบเจ้าแมวสีเทาจากตอน ตลอดกาล หนังสือ “NINE LIVE” นี้ แม้จะมีเนื้อหาและรูปภาพโดยรวมดูหนักแน่นและจริงจัง แต่เมื่อได้อ่านแล้วกลับรู้สึกเพลิดเพลินและเบาอารมณ์
เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่น
เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่นเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนปัญหาอันหลากหลายของสังคมเมือง ทั้งปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ ครอบครัว การศึกษา วิกฤตทางจิตใจและทางปัญญาของคนในสังคม ผู้แต่งเสนอให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย และเกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทย ปัญหาที่รุมเร้าผูกโยงอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่นี้ส่งผลในด้านลบต่อเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ผู้แต่งนำเสนอเนื้อหาได้อย่างเข้มข้นผ่านการใช้นิทานเปรียบเทียบ และการใช้สัญลักษณ์ ก่อให้เกิดเอกภาพด้านเนื้อหาและกลวิธีการประพันธ์ ความหฤหรรษ์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ได้จากการอ่านสองระดับ คือ ระดับการอ่านในฐานะที่เป็นนิทานสมัยใหม่ และระดับที่ต้องตีความสารอันซับซ้อนและลุ่มลึก แต่ไม่ว่าจะอ่านในระดับใดก็ตาม เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่นก็เป็นวรรณกรรมที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบการประพันธ์
ซ่อนไว้ในสิม : ก-อ ในชีวิตอีสาน
เป็นหนังสือภาพวาดบนผนังโบสถ์ที่แสดงให้เห็นสภาพชีวิตของชาวอีสานในอดีตที่นับวันก็จะค่อยๆ เลือนลางไป เป็นฝีมือช่างวาดพื้นบ้าน แม้จะไม่ประณีตแต่ก็แสดงถึงความบริสุทธิ์จริงใจ เป็นการอนุรักษ์ความดีงามในอดีตของอีสาน ผู้เขียนสามารถรวบรวมภูมิปัญญาของชาวบ้านภาคอีสานได้อย่างน่าอ่านเป็นข้อมูลที่ต้องอาศัยการค้นคว้าอย่างละเอียดและยาวนาน แสดงให้เห็นการทำงานอย่างจริงจังโดยใช้เวลาทุ่มเทในพื้นที่จริง เทคนิคการเรียงลำดับเรื่องจากอักษร ก-อ ทำให้หนังสือน่าสนใจ นับเป็นวิธีการนำเสนอภูมิปัญญาผ่านศาสนสถาน คือ สิมและโบสถ์ ได้อย่างยอดเยี่ยมและรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาด้านอาชีพทำกิน ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ดนตรี การละเล่น การศาสนา โดยใช้ฮูปแต้ม หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นหลักฐานยืนยันความชาญฉลาดของบรรพบุรุษชาวอีสานอย่างทรงพลัง โดยไม่เพียงแต่อธิบายความหมายและความเป็นมาของรูปสำคัญแต่ละรูป ทว่ายังบรรยายให้เห็นภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ข้างหลังภาพด้วย เช่น รูปรางรินองค์ประกอบสำคัญในพิธี “กองฮด” ซึ่งเป็นกลวิธีควบคุมพระสงฆ์ให้หมั่นเพียรเรียนรู้พระธรรมวินัย หรือรูปการลงข่วง นอกจากเป็นกลอุบายเลือกคู่แล้ว ยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมการดนตรีด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสิมก็คือภูมิปัญญาของชาวอีสานนั่นเอง
ยิ่งฟ้ามหานที
ปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุนับเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่เกิดในสังคมที่วิทยาการด้านสาธารณสุขมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสูง คนอายุยืนขึ้นทำให้ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ลูกแต่งงานแล้วแยกย้ายจากครอบครัวของพ่อแม่ออกไปสร้างครอบครัวใหม่ของตนเอง ทำให้การดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุท้าทายสำนึกความคิดและการตัดสินของผู้เป็นลูก นวนิยายเรื่องยิ่งฟ้ามหานที ของกนกวลี พจนปกรณ์ นำเสนอปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างเข้มข้นผ่านเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่มีแม่เป็นอัมพาตครึ่งซีกเพราะเส้นโลหิตในสมองแตก กำไลแก้วลูกสาวคนสุดท้องซึ่งยังเป็นโสดเป็นผู้ดูแลแม่เพราะพี่น้องคนอื่นต่างมีภาระเรื่องครอบครัวของตน ครอบครัวนี้ไม่มีปัญหาด้านการเงินที่ต้องใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลแม่ผู้เจ็บป่วย เพราะพี่ ๆ มีฐานะมั่งคั่งจึงยินดีรับภาระค่าใช้จ่ายทุกอย่างซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก แต่ทิ้งภาระการพยาบาลดูแลเป็นของน้องสาว กำไลแก้วมีงานทำในบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง และกำลังตกหลุมรักชายคนหนึ่งอย่างจริงจัง การดูแลแม่ซึ่งเจ็บป่วยทางกายยังไม่หนักหนาเท่ากับการดูแลจิตใจที่เปราะบาง เพราะร่างกายที่เจ็บป่วยพลอยทำให้จิตใจของนางอุบลป่วยไข้ไปด้วย นอกจากควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่ได้แล้ว นางยังควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ และเรียกร้องให้กำไลแก้วอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา กำไลแก้วจึงอยู่ในภาวะถูกกดดันจากแม่ จากคนรัก และจากความเข้มงวดของเจ้าของบริษัท ดังนั้น โครงการพาแม่ไปอยู่ที่สถานพยาบาลที่พี่ ๆ เคยนำเสนอจึงถูกรื้อฟื้นมาทบทวนกันใหม่อีกครั้ง และในที่สุดลูก ๆ ทุกคนเห็นพ้องว่าการที่แม่อยู่ในสถานพยาบาลเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะแม่จะได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลตลอดเวลา ส่วนลูก ๆ จะได้ดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระ แต่หลังจากนั้นกำไลแก้วก็พบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด นวนิยายเรื่องนี้แสดงความขัดแย้งในใจของตัวละครผู้เป็นแม่และผู้เป็นลูกโดยเฉพาะกำไลแก้วที่เป็นตัวเอกของเรื่องจนทำให้ผู้อ่านสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่ง ความรักของแม่ที่ไม่อยากให้ลูกลำบากกายลำบากใจ และความรู้สึกผิดในใจของลูกที่ไม่ทุ่มเทเสียสละอย่างเต็มที่เพื่อแสดงความรักและความกตัญญูต่อแม่ เชือดเฉือนใจผู้อ่านให้แทบน้ำตารินไปพร้อมกับตัวละคร ผู้เขียนใช้ภาพเปรียบเทียบครอบครัว 2 ครอบครัวที่มีปัญหาการดูแลคนในครอบครัวที่เป็นอัมพาตเหมือนกัน ครอบครัวของอมาตย์ดูแลพี่ชายที่เป็นอัมพาตด้วยความรักความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต ทุกคนดีใจที่มีโอกาสมอบความรักให้คนที่ตนรักได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียใจหรือเสียดายภายหลัง ส่วนครอบครัวของกำไลแก้วให้แม่ไปอยู่สถานพยาบาลที่เลือกเฟ้นอย่างดี แต่เมื่อกำไลแก้วรับรู้และมองเห็นสายใยแห่งความรักที่อวลอุ่นอยู่ในบ้านของอมาตย์ก็ทำให้กำไลแก้วมีกำลังใจ และมองเห็นหนทางคลี่คลายปัญหาของตนเพื่อที่จะได้ดูแลแม่อย่างใกล้ชิดที่บ้านตลอดไป ยิ่งฟ้ามหานทีเป็นนวนิยายสะท้อนสังคมที่เสนอให้เห็นว่าแม้การส่งบุพการีผู้ชราและเจ็บป่วยไปอยู่สถานพยาบาลจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวกสำหรับคนในสังคมไทยปัจจุบัน แต่น่าจะเป็นเพียงทางเลือกสุดท้าย เพราะแท้ที่จริงแล้วผู้เป็นลูกยังมีทางออกที่งดงามอยู่ ขอเพียงแต่ยึดมั่นในความรักต่อพ่อแม่ ยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพราะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะได้ตอบแทนความรักอันยิ่งใหญ่ของบุพการี ด้วยคุณค่าด้านเนื้อหา ความคิด และกลวิธีทางวรรณศิลป์ นวนิยายเรื่องยิ่งฟ้ามหานที จึงได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551
ลมมลายู
“ลมมลายู” ของวิสุทธิ์ ขาวเนียม เป็นผลงานรวมกวีที่เขียนถึงเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดทั้งเล่ม โดยเรียงร้อยต่อกันตั้งแต่บทที่ 1-45 แม้เรื่องราวจะไม่เรียงตามลักษณะการเดินเรื่อง เปรียบเสมือนผ้าหลากสีอยู่ปาเต๊ะผืนเดียวกัน โดยรวมแล้วมีเอกภาพ มีความสด โดดเด่น และหนักแน่นในเนื้อหา เพราะสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอเป็นเรื่องปัจจุบันที่สะท้อนสถานการณ์ในแง่มุมต่าง ๆ อย่างเห็นภาพชัด ทำให้ผู้อ่านมองเห็นปัญหา ซึ่งอาจนำไปสู่การขบคิด ทบทวน และช่วยกันแก้ปัญหา ด้านรูปแบบการนำเสนอ ผู้เขียนใช้กลอนสุภาพเป็นหลัก โดยสลับกับกาพย์ฉบัง 16 เป็นระยะ จึงทำให้น่าอ่าน ยิ่งลีลาในเชิงกวีที่ลื่นไหล สัมผัสนอกสัมผัสในอย่างได้จังหวะ ยิ่งทำให้ได้รสวรรณศิลป์ “ต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาสื่อ ในหลากสิ่งยึดถือโลกคือบ้าน หลังเดียวและหลังสุดท้ายกลางสายธาร อุกกาบาตเดือดพล่านเอกภพ ไม่ต้องแค้น ไม่ต้องฆ่า ไร้อาวุธ ไม่ต้องขุดดินนุ่มเป็นหลุมศพ ไม่คร่ารักเรืองรอง ไม่ต้องรบ ศานติภาพสุขสงบย่อมนิรันดร์”
แม้ฟ้าหม่นแผ่นดินมืด
เป็นรวมบทกวีหลากหลายฉันทลักษณ์ สะท้อนโลกทัศน์และอารมณ์สะเทือนใจที่กวีมีต่อสังคมและการเมืองไทย กวีสามารถเลือกสรรคำได้ดี สร้างภาพได้งดงาม และสร้างสำนวนโวหารได้ไพเราะกินใจ
เมืองอันตราย
เรื่องสั้นเมืองอันตรายเป็นรวมเรื่องสั้น 9 เรื่อง แต่ละเรื่องมีเนื้อหาเกี่ยวกับแง่มุมชีวิตและพฤติกรรมมนุษย์ที่แตกต่างกันไป ผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านภาษาเรียบง่าย มีกลวิธีการนำเสนอกระจ่างชัด อ่านแล้วได้อารมณ์ตามต้องการ บางเรื่องมีอารมณ์ขันแกมขื่นผสมผสานด้วย
บันทึกสี่เท้าจากหัวใจผู้ไร้บ้าน (ฉบับการ์ตูน)
หนังสือนิยายภาพเรื่อง “บันทึกสี่เท้าจากหัวใจผู้ไร้บ้าน” นั้นมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ จากการสร้างสรรค์ผลงานที่เต็มไปด้วยจินตนาการ การสร้างตัวละครจากบทประพันธ์ได้เหมาะสม เล่าเรื่องด้วยภาพได้อย่างลื่นไหลสนุกสนานเร้าใจ การจัดภาพ วางองค์ประกอบและลงสีได้สวยงาม เป็นนิยายภาพที่สร้างบรรยากาศและอารมณ์ได้หลากหลาย เนื้อเรื่องแสดงให้ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราวอีกมุมหนึ่งของสังคม คือสังคมของคนและสุนัขและสังคมของสุนัขกับสุนัขด้วยกัน เนื้อเรื่องจะเล่าถึงความผันผวนของเหตุการณ์จากสภาวะจิตของคนและสุนัข ในเรื่องสะท้อนปัญหาสังคมในปัจจุบัน ที่คนทำกับสุนัขและคนด้วยกัน ซึ่งมีทั้งแง่โหดร้ายและแง่ความเอื้ออาทร ความรัก และคุณธรรม ระหว่างคนกับคนและคนกับสุนัข เนื้อเรื่องของนิยายภาพเล่มนี้ ผู้ประพันธ์ซึ่งเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจและให้หัวใจกับสุนัขที่เป็น “หมาไร้บ้าน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคมอยู่ในเวลานี้ ผู้ประพันธ์ได้สมมุติให้เรื่องนี้เป็นบันบันทึกประสบการณ์ชีวิตของสุนัขที่ชื่อ “ซีเปีย” ที่ครั้งหนึ่งได้พลัดพรากจากแม่และถูกคนเลี้ยงทอดทิ้งให้กลายเป็น “หมาไร้บ้าน” ต้องผจญกับความยากลำบากในเบื้องต้นของชีวิต แม้ชีวิตช่วงหลังจะมีผู้อุปการะเลี้ยงดู แต่ซีเปียก็ต้องผจญภัยกับปัญหาทั้งจากคนและสุนัขรอบๆ ตัวของมันเป็นเรื่องราวที่สนุกสนาน แนวผจญภัย โลดโผนบวกกับเรื่องชีวิตเศร้าเคล้าน้ำตา อ่านแล้วเพลิดเพลินให้ความรู้สึกและแง่คิด ในบางช่วงบางตอนการกระทำของคนก็ส่งผลกระทบต่อชีวิตของสุนัขและในทางกลับกันพฤติกรรมและการกระทำของสุนัขก็มีผลเปลี่ยนแปลงชีวิตคนได้เช่นกัน หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้อ่านทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะเยาวชนเป็นการปลูกจิตสำนึกในด้านการมีเมตตา และรับผิดชอบต่อชีวิตสัตว์และส่งผลต่อชีวิตคนในสังคมด้วย คณะกรรมการลงมติเอกฉันท์ให้หนังสือเรื่อง “บันทึกสี่เท้าจากหัวใจผู้ไร้บ้าน” ได้รับรางวัลชนะเลิศในปีนี้
ตามรอยนเรศวรมหาราช จากเวียงจันทน์สู่เวียงแหง นอกกรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยม
เป็นหนังสือสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ที่เสนอแนวคิดใหม่ด้วยวิธีการศึกษาค้นคว้าใหม่ ทำให้ได้มาตรฐานทางวิชาการประวัติศาสตร์อันทันสมัยระดับสากล ซึ่งกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าประวัติศาสตร์แบบที่ต้องการให้รักชาติอย่างคับแคบ ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของ “วิทยาศาสตร์สังคม” ไม่ใช่ในฐานะตำนาน หรือเครื่องมือเสริมส่ง “ชาตินิยม” เท่านั้น แม้จะเป็นสารคดีอิงพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่สามารถสะท้อนประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และความสัมพันธ์กับอาณาจักรรอบข้างได้เป็นอย่างดี โดยมีกระบวนการค้นคว้าข้อมูลทั้งจากเอกสารชั้นต้นจากการสัมภาษณ์บุคคล และจากการลงพื้นที่จริงในประเทศไทยและสหภาพพม่า มานำเสนอด้วยภาษาสำนวนชวนอ่าน เข้าใจง่าย มีลีลาการร้อยเรียงเชิงวรรณศิลป์ มีการอ้างอิงหลักฐานจูงใจให้น่าเชื่อถืออย่างเหมาะควรกับสารคดี ไม่มากจนกลายเป็นหนังสือตำราที่น่าสนใจสำหรับนักวิชาการเท่านั้น ทั้งยังมีการศึกษาสภาพภูมิศาสตร์ ณ สถานที่จริงในประวัติศาสตร์มาอ้างอิงให้หนักแน่นยิ่งขึ้น การเป็นสารคดีที่นำเสนอแนวคิดใหม่ในเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน อาจต้องทำความเข้าใจ และอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งสารคดีเล่มนี้ก็ทำหน้าที่แนะนำหนังสือที่ควรอ่านประกอบด้วยอย่างรอบด้าน ก่อให้เกิดบรรยากาศการศึกษาประวัติศาสตร์ใหม่ในเชิงสร้างสรรค์