เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 7
เสือเพลินกรง
เสือเพลินกรง บทประพันธ์ของผาด พาสิกรณ์ นักเขียนหน้าใหม่ในวงวรรณกรรม แต่หากบอกว่าชื่อจริงของเขาคือ วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ คงไม่แปลกใจนักว่าเขาเป็น “ลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น” เสือเพลินกรง เป็นนวนิยายเรื่องแรกของผาด พาสิกรณ์ ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายปักษ์เป็นเวลา 2 ปีกว่า จึงนำมารวมเล่มเป็นหนังสือหนา 734 หน้า นวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มสหาย 6 คน ที่หัวหกก้นขวิดด้วยกันในโรงเรียนประจำมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม ต่อมาสองคนถูกแยกกลุ่มส่งตัวไปเรียนในต่างประเทศเมื่อจบชั้นมัธยมสามเพราะความ “เฮี้ยวเกินพิกัด” จนโรงเรียนต้องเชิญออก หนุ่มห้าวกลุ่มนี้ ต่างคนต่างเติบโตมีวิถีชีวิตและอาชีพการงานของตน มูลเหตุที่ดึงให้ผองเพื่อนทั้ง 6 คนกลับมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างใกล้ชิดอีกครั้งเริ่มจากเพื่อนคนหนึ่งต้องรับหน้าที่ดูแลลูกสาวของเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ฝากฝังไว้ก่อนทำตัวหายสาบสูญไปจากสังคมตัวละคร ผู้เล่าเรื่องจึงต้องวุ่นวายกับการทำหน้าที่ “พ่อ” ให้เด็กสาววัยรุ่นไปพร้อมกับการผจญกับปัญหากลยุทธ์ทางธุรกิจในบริษัทโฆษณาที่ตนทำอยู่ การสืบหาข่าวคราวของเพื่อนผู้ทำตัวสาบสูญ การหวนคิดย้อนคืนกลับไปสู่อดีตเยาว์วัยอันโลดโผนของตนและผองเพื่อน และการตัดสินใจกำหนดเส้นทางชีวิตในอนาคตของตน นวนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง สร้างความบันเทิงแก่ผู้อ่านด้วยอารมณ์ที่คละเคล้ากันระหว่างความซาบซึ้งใจในมิตรภาพของผองเพื่อนผู้เกื้อกูลกันอย่างไม่มีข้อจำกัด และความหวานซึ้งของความรักต่างวัยที่ค่อยๆ กระชับระยะห่างจนใกล้ชิดด้วยการเปิดใจและเข้าใจ นอกจากนี้ยังเจือความเข้มทางอารมณ์ด้วยการเผยข้อมูลเล่ห์เหลี่ยมกลยุทธ์ของการโฆษณาที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคล่อหลอกเด็กและเยาวชนให้หมกมุ่นอยู่กับรสนิยมและค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังระทึกใจกับการคลี่คลายเรื่องราวของเพื่อนผู้สาบสูญที่บรรดาเพื่อน ๆ ช่วยกันแกะรอยจากหลักฐานต่าง ๆ ที่ทิ้งไว้อย่าง แยบยล สาระและบันเทิงของนวนิยายเรื่องนี้ถูก “ปรุงรส” ด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่นวลเนียนด้วยการสร้างตัวละครมีชีวิตชีวามีบุคลิกเฉพาะตัว เวลาในเรื่องที่ตัดสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันบทสนทนาที่ใกล้เคียงคำพูดที่ใช้ในชีวิตจริงเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคลิกของตัวละคร การแทรกทัศนะวิพากษ์วิจารณ์สังคม อย่างแหลมคมชวนคิด การแฝงอารมณ์ขันในถ้อยคำสำนวนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ และการสร้างลีลาภาษาเฉพาะตัวที่โดดเด่นจนเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งสะท้อนพรสวรรค์ความเป็นนักเขียนอย่างชัดเจนทั้ง ๆ ที่เป็นผลงานเขียนเรื่องแรก แม้นวนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง จะเป็นเรื่องราวของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง แต่ก็ชวนให้ผู้อ่านคิดไกลไปว่าเราทั้งผองต่างเพลิดเพลินอยู่ในกรอบกรงของสังคม จนอาจลืมคิดไปว่าการใช้ชีวิตอย่างมีอิสระเสรีนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นเพียงแค่เราใจกล้าพอที่จะทลายกรอบกรงนั้น เราก็จะได้ลิ้มรสความหวานหอมของอิสรภาพแห่งชีวิต ด้วยคุณค่าโดดเด่นทางด้านเนื้อหา ความคิด ภาษาและกลวิธีทางวรรณศิลป์ นวนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง จึงได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2553
พงศาวดารพิภพ
“พงศาวดารพิภพ” ของ ธีรภัทร เจริญสุข เป็นผลงานที่พิสูจน์ให้เห็นฝีมือของคนเขียนบทกวีรุ่นใหม่ ที่สามารถสืบทอดขนบการประพันธ์ที่มีท่วงทำนองแบบโบราณได้เป็นอย่างดี ผู้เขียนสามารถใช้ฉันทลักษณ์ได้หลากหลายรูปแบบ นำเสนอเนื้อหาที่มีกลิ่นอายของวรรณคดีมรดกได้อย่างน่าชื่นชม เมื่อพิจารณาจากความลื่นไหลของภาษาผสานกับเนื้อหาที่มีฉากและตัวละครชวนให้ติดตาม “พงศาวดารพิภพ” จึงนับเป็นผลงานที่มีอรรถรสและความรื่นรมย์อีกเล่มหนึ่ง
บ้านประชาธิปไตย
“บ้านประชาธิปไตย” ของ วิชัย โถสุวรรณจินดา ผลงานสะท้อนสังคม-การเมือง ของนักกลอนอาวุโส มากด้วยประสบการณ์ ผู้ย้อนวันเวลากลับมาสร้างสรรค์ผลงานครั้งใหม่ ความคมคายในกลวิธีการประพันธ์จึงยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด หากลับคมทางภาษาอีกระยะหนึ่ง ความเป็นมือกลอนรุ่นเก่าจะเปล่งประกายเจิดจ้าจนต้องจับตามองยิ่ “บ้านประชาธิปไตย” ของ วิชัย โถสุวรรณจินดา ผลงานสะท้อนสังคม-การเมือง ของนักกลอนอาวุโส มากด้วยประสบการณ์ ผู้ย้อนวันเวลากลับมาสร้างสรรค์ผลงานครั้งใหม่ ความคมคายในกลวิธีการประพันธ์จึงยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด หากลับคมทางภาษาอีกระยะหนึ่ง ความเป็นมือกลอนรุ่นเก่าจะเปล่งประกายเจิดจ้าจนต้องจับตามองยิ่งกว่านี้ เมื่อพิจารณาในด้านเนื้อหาแล้ว “บ้านประชาธิปไตย” นับว่าเป็นผลงานที่มีสาระชวนให้ครุ่นคิดได้ไม่น้อย งกว่านี้ เมื่อพิจารณาในด้านเนื้อหาแล้ว “บ้านประชาธิปไตย” นับว่าเป็นผลงานที่มีสาระชวนให้ครุ่นคิดได้ไม่น้อย
ทอรักถักโลก
“ทอรักถักโลก” ของ วรภ วรภา แสดงให้เห็นเชิงกลอนที่ช่ำชอง พลิกพลิ้วลีลาภาษาได้อย่างน่าตื่นใจ ผู้เขียนได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงทางสังคมผ่านเรื่องราววิถีชีวิตของผู้คนทั้งในอดีตและปัจจุบันได้อย่างชวนคิด สามารถเล่นกับภาษาสมัยใหม่ที่เป็นผลผลิตของยุค “ไซเบอร์” ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในทางกลับกันการพลิกพลิ้วกับลีลาภาษาจนเกินพอดีในบางจุด อาจทำให้พลังของ “สาร” ที่ต้องการจะสื่อกับผู้อ่านเกิดการพร่าเลือนไปได้ แต่โดยรวมนับว่าเป็นงานที่แสดงให้เห็นศักยภาพทางภาษาของผู้เขียนได้เป็นอย่างดี
ทิวทัศน์ของความคิดถึง
รวมบทกวี ทิวทัศน์ของความคิดถึง ของ โกสินทร์ ขาวงาม ผู้ประพันธ์เรียกผลงานเรื่องนี้ว่า เป็น “แสงเงาของจิตรกร สีสันของจินตกวี” ผู้ประพันธ์ผสานกลวิธีทางจิตรกรรมกับการนำเสนอทางวรรณศิลป์เนื้อหาเป็นวิถีชีวิตในชนบทของครอบครัวที่อบอุ่นความสัมพันธ์ของพ่อกับลูกและสรรพสิ่งรอบตัว ด้านกลวิธีการประพันธ์ใช้กลอนแปดที่มีลีลาลื่นไหลไพเราะและมีลักษณะเฉพาะตน ผู้ประพันธ์เล่นกับภาษาทั้งเสียงและการใช้คำ บางตอนจงใจใช้ภาษาอังกฤษ บางครั้งใช้ลีลาการเล่าเรื่องแบบบทสนทนา
เหมือนหนึ่งมนุษย์มีเลือด คนละสี
รวมกวีนิพนธ์ เหมือนหนึ่งมนุษย์มีเลือดคนละสี ของ ธาร ธรรมโฆษณ์ นำเสนอเรื่องราวของมนุษยโลกที่มีความขัดแย้งเข่นฆ่ากันนำไปสู่สงครามด้วยมายาคติที่เห็นว่าเป็นวีรกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทยร่วมสมัยที่มีทั้งความขัดแย้งทางการเมืองและความรุนแรงในภาคใต้ เนื้อหาแบ่งเป็นสองตอนคือ เหมือนหนึ่งมนุษย์และมีเลือดคนละสี ด้านกลวิธีการประพันธ์ รวมบทกวีเรื่องนี้มีความโดดเด่นที่นำรูปแบบกวีนิพนธ์พื้นบ้านคือเพลงกล่อมเด็กของภาคใต้มาเรียงร้อยเพื่อนำเสนอเรื่องราวที่สืบเนื่องสัมพันธ์กัน ในแต่ละบทจะยกเพลงกล่อมเด็กพื้นบ้านขึ้นต้นและตามด้วยบทกลอนที่เชื่อมโยงเนื้อหาในเพลงกล่อมเด็กมาสู่เหตุการณ์ในสังคมไทยร่วมสมัยและจบบทด้วยการให้แง่คิด ทัศนะที่ เฉียบคม เป็นกลวิธีการประพันธ์ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะที่สามารถสืบสานมรดกวัฒนธรรม ทางวรรณศิลป์ที่เป็นมุขปาฐะมาถ่ายทอดประยุกต์ เนื้อหาให้เล่าเรื่องร่วมสมัยและยังให้ทางออกของความขัดแย้งต่าง ๆ ด้วยแนวคิดทางพุทธศาสนาโดยการลงจบด้วยบท “แผ่เมตตา”
มรสุมประเทศนี้ยังยาวนาน
มรสุมประเทศนี้ยังยาวนาน รวมบทกวีร่วมสมัย: ท่ามกลางมรสุมที่พัดผ่านคาบสมุทรโบราณ ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม นำเสนอภาพของสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งในดินแดนภาคใต้ทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรมและการเมือง ความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบที่ทำให้สังคมและทุกชีวิตเป็นทุกข์และป่วยไข้ รวมบทกวีแบ่งการนำเสนอเป็นสี่กลุ่ม คือ มรสุมยาวนาน ห้วงมนตราในรูปการณ์แห่งรหัสนัย เพรียกมาจากบาดแผลและดอกไม้ในดวงตาจบลงด้วยบท “รำพึงจากพลเมืองของประเทศสงคราม” ด้านกลวิธีการประพันธ์ผู้ประพันธ์มีความพิถีพิถันในการนำเสนอเรื่องราวของสังคมไทยในท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและขัดแย้งด้วยการเปรียบเทียบเชิงอุปมาอย่างซับซ้อน กวีนิพนธ์แต่ละบทจึงมีเนื้อหาและศิลปะ ในการถ่ายทอดที่มีลีลาเฉพาะบทชวนให้ติดตามค้นหาความหมาย มีความโดดเด่นในการหยิบยกภาพธรรมชาติและภาพเล็กๆที่คนทั่วไปอาจไม่ได้ให้ความสำคัญมาเปรียบเทียบกับแนวคิดเกี่ยวกับมนุษย์และเหตุการณ์ในสังคม เช่น โลมากำสรวล แม่นกนางแอ่นชรา แมวเปรียวจับผีเสื้อ และ ในเสียงบีบบิเปลือกถั่วลิสง เป็นต้น รวมบทกวีเล่มนี้จึงมีความหลากหลายด้านกลวิธีการนำเสนออย่างมีวรรณศิลป์
ในความไหวนิ่งงัน
รวมบทกวีบันทึกปัจจุบันสมัย ในความไหวนิ่งงัน ของ “นายทิวา” เป็นกวีนิพนธ์ผู้ประพันธ์บันทึกเหตุการณ์ของสังคมไทยร่วมสมัยที่มีความขัดแย้งทางการเมือง นักการเมืองการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย แบ่งสีแบ่งกลุ่มตามความคิดความเชื่อทางการเมือง ทำให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองจนเกิดความรุนแรง สังคมกลายเป็นสังคมแห่งความเกลียดชังซึ่งไม่เกิดผลดีทั้งต่อประชาชนเองและสังคมไทยโดยรวมท้ายที่สุด ไม่มีผู้ใดชนะ สิ่งที่ทุกฝ่ายควรจะต้องชนะก็คือการปล่อยวางอคติ ความโกรธเกลียด “แท้ที่ต้องเอาชนะคืออะไร อคติชนิดไหนใช้เหตุผล ชนะโกรธเกลียดกลัวชนะตน ปล่อยวางจึงหลุดพ้นชนะแท้” ด้านกลวิธีการประพันธ์ ผู้ประพันธ์ใช้กลอนแปดถ่ายทอดเรื่องราวในสังคมไทยผ่านทัศนะและมุมมองของตน ด้วยลีลาที่เข้มข้น มีพลัง กระชับ ตรงไปตรงมา รวมบทกวีเรื่องนี้เปรียบเสมือนเสียงจากมโนสำนึกของกวีต่อความขัดแย้งในสังคมไทยร่วมสมัย