เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 5
รอยนฤมิต
“รอยนฤมิต” ของอชันตะ มีแนวคิดเกี่ยวกับชีวิต สังคม โลก ความรัก มีความจัดเจนในการใช้ภาษา เสมือนมีคลังแห่งถ้อยคำ สามารถนำมาเรียงร้อยรับใช้เนื้อหาได้อย่างลงตัว แม้ว่าในบางบทดูเหมือนผู้เขียนจงใจ ‘เล่นคำ’ เล่นสัมผัสอักษร จนเนื้อหาอ่อนพลังไปบ้าง แต่ก็ถือว่าเป็นบทกวีสวยงาม เนื้อหาโดยรวมเป็นผลงานที่มีคุณค่า มีความคิดลึกซึ้ง โดยผู้เขียนมีความปรารถนาอันแรงกล้าอยากให้เพื่อนมนุษย์มีความหวัง มีกำลังใจ และดำเนินชีวิตอย่างสันติสุข “เราอาจพ่ายถูกพรากไปจากฝัน คืนและวันเร่ไปไร้แหล่งหลัก เหนื่อยและร้อนอ่อนล้าว้าเหว่นัก แต่ความรักในใจไม่เคยล้า ทางจะไกลเท่าไกลแค่ใจคิด จิตกับจิตติดตามข้ามเขตหล้า ฟ้าจะห่างเท่าห่างระหว่างฟ้า แต่ด้วยรักด้วยศรัทธาจะฝ่าทาง”
ระเบียงตะวัน
“ระเบียงตะวัน” ของสุขุมพจน์ คำสุขุม โดยภาพรวมผู้เขียนเสนอเรื่องราวอดีต ที่เป็น ‘ร่องรอยการพบ-พรากของชีวิต’ อ่านแล้วทำให้หวนระลึกถึงบรรยากาศเก่า ๆ ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์มนต์ขลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมชนบท ซึ่งบรรยากาศเหล่านั้นแม้แต่ในยุคปัจจุบันก็ยังคงอยู่ เนื้อหาค่อนข้างหลากหลาย ทั้งเรื่องราวชีวิตผู้คน สังคม รวมถึงฉายภาพสะท้อนปัญหาต่าง ๆ โดยผู้เขียนไม่สรุปว่าต้องทำอย่างนั้น ต้องทำอย่างนี้ ปล่อยให้ผู้อ่านได้คิดเอง นี่คือเสน่ห์ และเสน่ห์อีกอย่างในงานเล่มนี้ คือ มีอารมณ์ขัน ในส่วนของเชิงชั้นทางวรรณศิลป์ ถือว่าชั้นเชิงดี มีความชัดเจน แม่นยำในฉันทลักษณ์ “นัยน์ตาใสซื่อสื่อสัมผัส แจ่มชัดเป็นมิตรไร้ปริศนา ถ้อยคำชาวบ้านไร้มารยา ดวงหน้าดวงใจมิไกลกัน แลกเปลี่ยนความรัก แลกผักหญ้า ปูปลากุ้งหอยมาก-น้อยนั่น ราคาสูงต่ำไม่สำคัญ หมู่บ้านผูกพันแบ่งปันกิน” หรือ… “พวกผู้แทนเชื่อไม่ได้ มึงไม่รู้ มึงเชื่อกูอีวันทา มึงอย่าขำ มันแจกเงินแจกทองมึงต้องจำ รับแล้วทำเออออ ป้อยอมัน”
ลมมลายู
“ลมมลายู” ของวิสุทธิ์ ขาวเนียม เป็นผลงานรวมกวีที่เขียนถึงเหตุการณ์ไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดทั้งเล่ม โดยเรียงร้อยต่อกันตั้งแต่บทที่ 1-45 แม้เรื่องราวจะไม่เรียงตามลักษณะการเดินเรื่อง เปรียบเสมือนผ้าหลากสีอยู่ปาเต๊ะผืนเดียวกัน โดยรวมแล้วมีเอกภาพ มีความสด โดดเด่น และหนักแน่นในเนื้อหา เพราะสิ่งที่ผู้เขียนนำเสนอเป็นเรื่องปัจจุบันที่สะท้อนสถานการณ์ในแง่มุมต่าง ๆ อย่างเห็นภาพชัด ทำให้ผู้อ่านมองเห็นปัญหา ซึ่งอาจนำไปสู่การขบคิด ทบทวน และช่วยกันแก้ปัญหา ด้านรูปแบบการนำเสนอ ผู้เขียนใช้กลอนสุภาพเป็นหลัก โดยสลับกับกาพย์ฉบัง 16 เป็นระยะ จึงทำให้น่าอ่าน ยิ่งลีลาในเชิงกวีที่ลื่นไหล สัมผัสนอกสัมผัสในอย่างได้จังหวะ ยิ่งทำให้ได้รสวรรณศิลป์ “ต่างเชื้อชาติ ศาสนา ภาษาสื่อ ในหลากสิ่งยึดถือโลกคือบ้าน หลังเดียวและหลังสุดท้ายกลางสายธาร อุกกาบาตเดือดพล่านเอกภพ ไม่ต้องแค้น ไม่ต้องฆ่า ไร้อาวุธ ไม่ต้องขุดดินนุ่มเป็นหลุมศพ ไม่คร่ารักเรืองรอง ไม่ต้องรบ ศานติภาพสุขสงบย่อมนิรันดร์”