เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 5
Global Warning (สัญญาณที่คุณลืม สัญญาที่โลกรอ)
เมื่อเราต้องเผชิญกับมหันตภัยโลกร้อน จึงเป็นหน้าที่ของชาวโลกรวมทั้งเยาวชนที่ต้องออกมารณรงค์ เพื่อปลูกจิตสำนึกของผู้คนบนโลกและผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันตระหนักและแก้ปัญหาอย่างจริงจัง หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ได้นำเสนอเรื่องราวสาระความรู้เกี่ยวกับสภาวะ “โลกร้อน” ทั้งสาเหตุและภัยที่คุกคามผ่านรูปแบบลายเส้นการ์ตูนที่สนุกสนาน มีการผสมผสานความรู้ในเชิงวิชาการและจินตนาการเป็นการ์ตูนที่จูงใจให้ตระหนักถึงภัยจากสภาวะ “โลกร้อน” และเรียกร้องให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ควบคุมและลดของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม หยุดการตัดไม้ทำลายป่า เลิกใช้สารเคมีที่ทำลายชั้นบรรยากาศ ลดและกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ฯลฯ ซึ่งจะเป็นวิธีที่จะฟื้นฟูธรรมชาติและโลกของเรา ผู้เขียนและทีมงานผู้จัดทำหนังสือการ์ตูนเล่มนี้ เน้นและย้ำให้มองและคิดอย่างจริงจังกับวิกฤตินี้ ดังข้อความท่อนหนึ่งซึ่งสรุปไว้ท้ายเล่มว่า “มนุษยชาติไม่เคยถูกกดดันให้ยื้อยุดกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่หนักหน่วงและน่ากลัวเช่นนี้มาก่อน ถ้าเราไม่ลงมือแก้ไขอย่างเร่งด่วนและทันท่วงทีเพื่อหยุดสภาวะโลกร้อน อาจทำให้เกิดความเสียหายที่ไม่สามารถย้อนกลับคืนได้ โลกของเรามีเพียงใบเดียว หากทุกสิ่งทุกอย่างสายเกินที่จะแก้ไข โลกของเราจะหายไป ถึงเวลาแล้วล่ะ ที่เราทุกคนจะร่วมมือกันเพื่อปกป้อง “โลกของเรา”
Doll
เนื้อหาเป็นแนว Fantasy ที่เป็นที่นิยมของวัยรุ่น โครงเรื่องแปลกให้แง่คิดดี การวาดเส้นและจัดภาพทันสมัยเนื้อหามีสาระ สร้างสรรค์สังคม ผู้วาดสร้างเรื่องเป็นตำนานของชายที่ชอบชิงหัวใจเด็กไม่ดีไปสะสมเป็นตุ๊กตา ตัวเอกของเรื่องชื่อ “เฮดจ์” เป็นเด็กที่อยู่คนเดียวเพราะพ่อแม่อยู่ต่างประเทศ จึงอยู่แบบ “ใช้ชีวิตเพื่อตัวเองไม่เคยคิดช่วยเหลือใคร ขวนขวายในสิ่งที่ตนเองอยากได้ก็เพียงพอ…ชีวิตใครคนนั้นก็ต้องดูแลเอง ทำไมต้องใส่ใจคนอื่นด้วยล่ะ” และเมื่อ “เฮดจ์” เฉยเมยไม่ใยดีต่อความเดือดร้อนของผู้อื่นซึ่งเกิดต่อหน้าต่อตา ทำให้ชายผู้ชอบสะสมตุ๊กตาตามตำนาน ปรากฏตัวขึ้นและชิงเอาความสามารถในการมองเห็นและได้ยินของ “เฮดจ์” ไปเพื่อเขาจะได้ไม่ต้องเห็นและได้ยินสิ่งที่เกิดตรงหน้าด้วยเหตุนี้ “เฮดจ์” ซึ่งมองไม่เห็นและไม่ได้ยินจึงกระทบกระทั่งกับคนรอบข้างจนถูกผลักล้มเกือบถูกรถชนดีที่ว่ามีสาวน้อยคนหนึ่งมาช่วยไว้ พร้อมเตือนสติว่าการช่วยเหลือคนโดยไม่ต้องรอให้ร้องขอเป็นสิ่งดี ๆ ของชีวิต ทำให้ชีวิตคุ้มค่า จากการเตือนสตินี้เองทำให้ “เฮดจ์” ได้สำนึกสามารถกลับมามองเห็นและได้ยินอีกครั้งหนึ่งและไม่ต้องตกไปเป็นตุ๊กตาของชายในตำนาน ซึ่งแท้ที่จริงแล้วสาวน้อยที่มาช่วย “เฮดจ์” และเตือนสติเขาก็คือ ตุ๊กตาของชายในตำนานผู้ชอบสะสมตุ๊กตานั่นเอง
อสุจิ : เวลาของวันพรุ่งนี้
ผู้เขียนสร้างโครงเรื่องได้ดี เนื้อหาลึกซึ้งกินใจสะท้อนสภาพสังคมในปัจจุบัน เล่าเรื่องด้วยภาพได้ตื่นเต้นสนุกและน่าประทับใจ มีการใช้มิติเวลาในเรื่องโน้มนำให้เกิดอารมณ์สะเทือนใจ ฝีมือการวาดภาพโดดเด่นกว่าผลงานอื่น ๆ เนื้อเรื่องโดยย่อเป็นชีวิตของ “อ๊อด” เด็กที่ถูกทิ้งที่กองขยะตั้งแต่แรกคลอดและมีหญิงชื่อ “วันนิภา” นำมาเลี้ยงและเติบโตขึ้นมาอย่าง “อ้างว้าง โดดเดี่ยว และสิ้นหวัง” มีปัญหาทะเลาะวิวาท ติดเกม และก้าวร้าว เมื่อถูกดุด่าตบตีก็รู้สึกว่า “ยัยวันนิภา” เลี้ยงตัวเองมาเพื่อรองมือรองตีน เมื่ออารมณ์ไม่ดีจากการเสียพนัน ถึงขั้นคิด “ฆ่า” ผู้ที่เลี้ยงตัวมา แต่เขามารู้ความจริงจากสมุดบันทึกของ “วันนิภา” และเสียงฝากข้อความทางโทรศัพท์ว่าที่จริงแล้ว “แม่วันนิภา” เลี้ยงตัวเขามาด้วยความรักและห่วงใยตลอดเวลา อดทนเลี้ยงดูแม้ชีวิตก็ยอมสละได้ “อ๊อด” ได้เกิดสำนึกจึงพา “วันนิภา” ที่กำลังป่วยหนักไปโรงพยาบาลระหว่างทางเกิดอุบัติเหตุรถชนกันทำให้ “อ๊อด” เสียชีวิต และเมื่อวิญญาณอยู่ในนรก “อ๊อด” ได้ขอกับพระยายมให้ตัวเองได้กลับมาทดแทนบุญคุณ “วันนิภา” ก่อน แม้ตัวเองจะต้องไปเกิดเป็นอสุจิอีกล้านชาติก็ตาม ซึ่งพระยายมก็อนุญาต “อ๊อด” จึงกลับมาพา “วันนิภา” ถึงโรงพยาบาล ปรากฏว่าต้องมีการเปลี่ยนถ่ายอวัยวะซึ่ง “อ๊อด” ก็ยอมสละตัวเอง ในช่วงท้าย ๆ เรื่องเป็นการนำเสนอภาพประทับใจและสะเทือนใจที่ “อ๊อด” ระลึกถึง “แม่วันนิภา” ก่อนที่เขาจะกลับไปเป็นอสุจิอีกครั้ง
เส้นสีของชีวิต
เส้นสีของชีวิต ของ อนุวัฒน์ แก้วลอย เป็นกวีนิพนธ์สะท้อนเส้นทางชีวิตและความเข้าใจชีวิตของผู้เขียน แทบทั้งหมดแต่งเป็นกลอนสี่สุภาพจบในบท ยกเว้น 1 บท แต่งเป็นโคลง แบ่งออกเป็น 4 ภาคคือ รากเหง้าเมื่อเยาว์วัย จากฟืนไฟและเรี่ยวแรง วิถีที่เปลี่ยนแปลง และมีแสงธรรมเมื่อบั้นปลาย ผู้เขียนสะท้อนประสบการณ์ชีวิต และแสดงความเข้าใจชีวิตผ่านบทกวี แสดงให้เห็นความรัก และอารมณ์อันละเอียดอ่อนที่มีต่อผู้คนและสรรพสิ่งรอบข้าง มีความจริงใจ และพร้อมส่งกำลังใจให้คนรอบข้าง ผู้เขียนสามารถแต่งกลอนได้ตามขนบ มีสำนวนโวหารงดงาม
ฟื้นฝันบรรณพิภพ
ฟื้นฝันบรรณพิภพ ของ โกฏิดารา 2551 เป็นกวีนิพนธ์สะท้อนความเป็นไปในสังคม ผู้เขียนแต่งเป็นบทกวีจบในบท รวมกันหลายบท โดยแบ่งออกเป็น 5 ภาค คือ กังวลชาติ นิราศเดือน เตือนสมัย ใจรู้ทัน และฟื้นฝันบรรณพิภพ ผู้เขียนมุ่งเน้นเรื่องการสะท้อนปัญหาสังคม ทันสถานการณ์ ทันโลก สามารถแสดงทัศนะและอารมณ์ต่อต้าน หรือเสียดสีได้ดี ผู้เขียนสามารถเลือกสรรคำได้เหมาะงาม เล่นคำสำนวนได้ดีและมีการ “ละเล่น” โวหารให้ทันสมัยขึ้น โดยการนำคำสมัยใหม่หรือคำภาษาอังกฤษไปประยุกต์ใช้ในเชิงเสียดสี หรือสะท้อนสถานการณ์ทันสมัย
หญิงชรา
หญิงชรา ของกิติวัฒน์ ตันทะนันท์ เป็นรวมเรื่องสั้นจำนวน 9 เรื่อง ที่สะท้อนปัญหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของคนหนุ่มสมัยใหม่ ซึ่งเต็มไปด้วยความสับสน และต้องต่อสู้อย่างหนักกับการเรียนรู้จักตนเองและรู้จักผู้อื่นที่อยู่รายรอบ รวมทั้งพยายามทำความเข้าใจปัญหาสังคมที่ซับซ้อนด้วย ประเด็นที่ผู้เขียนทำได้ดีที่สุดเป็นเรื่องของพยายามทำความรู้จักและเข้าใจคนชรา ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของอดีตและรากเหง้าวัฒนธรรมของตนเอง ผู้เขียนเลือกใช้วิธีนำเสนอหลากหลาย ทั้งการเล่าเรื่องตรงไปตรงมา บางครั้งก็สร้างสัญลักษณ์ขึ้นมาอธิบาย แต่บางครั้งก็ใช้การเปรียบเทียบ และบางครั้งเสียดสีและเยาะหยันทั้งตัวเองและสังคม โดยใช้ความดิบ และอารมณ์ที่ยังไม่กลั่นกรองของคนหนุ่มเป็นตัวสื่อ
โลกของเธอมีเพียงเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม
เด็กหญิงปีใหม่ วัย 4-5 ขวบ ในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน แม่ซึ่งเลี้ยงลูกตามลำพัง ทุ่มเทเวลาให้กับลูก และดูแลอย่างทะนุถนอมเพื่อชดเชยที่ขาดพ่อ ปีใหม่จึงขาดเพื่อน ขาดการเรียนรู้โลกภายนอก ติดการดูโทรทัศน์ รู้จักสิ่งแวดล้อมและสัตว์ต่าง ๆ จากโทรทัศน์ วันหนึ่งเมื่อแม่ติดประชุม และไม่อยากฝากปีใหม่ไว้ที่บ้านตายาย เพราะปีใหม่มักจะถูกเพื่อน ๆ ล้อเรื่องไม่มีพ่อ จนบางครั้งเกิดทะเลาะกันตามประสาเด็ก น้าชายจึงต้องรับหน้าที่พี่เลี้ยงชั่วคราว น้าชายและเพื่อนหญิงของเขาพาปีใหม่ไปเที่ยวสวนสัตว์ และสวนสาธารณะ ทำให้เธอได้พบกับโลกของความเป็นจริง สัตว์จริง ๆ ซึ่งไม่เคยมีโอกาสเห็น ได้เล่นขี่จักรยานตามประสาเด็ก น้าชายเข้าใจปัญหาและความต้องการของหลานสาว แต่แม่ของปีใหม่รักลูกและพยายามปกป้องลูกมากเกินไป จนทำให้ลูกขาดความสุข ในที่สุดแม่ของปีใหม่ เริ่มสังเกตลูกเข้าใจความต้องการของลูก ทำให้ปีใหม่มีความสุขและร่าเริง ตามประสาเด็กมากขึ้น ผู้ประพันธ์ ได้ผูกเรื่องราวขึ้นจากชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ที่เด็กต้องประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก และการเลี้ยงลูกอย่างทะนุถนอมเกินไปในสังคมไทย มีการนำเสนอเรื่องราวเรียบง่าย ได้สาระด้วยสำนวนภาษาสละสลวย
องคุลิมาล
หนังสือการ์ตูนเล่มนี้เป็นการนำเรื่องราวบางช่วงตอนของพระพุทธประวัติ ที่เกี่ยวกับพระอรหันต์สาวกของพระพุทธเจ้า คือ องคุลิมาล มานำเสนอเป็นนิยายภาพ เป็นการ์ตูนพุทธศาสนาที่ให้ความรู้ความสนุกสนาน และให้ตระหนักถึงคุณค่าของพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนผ่านลายเส้นการ์ตูนที่สวยงาม และคงความมีเอกลักษณ์แบบไทย ๆ มีความประณีตละเอียด น่าประทับใจ การนำเรื่องขององคุลิมาล พระอรหันต์มานำเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าชีวิตนั้นไม่มีคำว่าสายเกินไปสำหรับการกลับเนื้อกลับตัวเป็นคนดี ละเลิกกระทำความชั่ว แม้ว่าในทางวิชาการจะถือว่าการนำเสนอพระพุทธประวัติอาจจะดูคลุมเครือไม่ชัดเจน แต่ในเชิงของศิลปะแล้วถือว่าน่าจะสนับสนุนให้มีการนำเรื่องราวดี ๆ มีคุณค่าทางสังคมและศาสนามาถ่ายทอดเป็นการ์ตูนที่เป็นเอกลักษณ์ไทยเพื่อให้เป็นที่แพร่หลายและดำรงเอาไว้สืบไป
ต.ตุ่น ตุ๊ต๊ะผจญภัย เล่ม 1
ผู้วาดการ์ตูนเล่มนี้มีฝีมือดีมากทั้งด้านการสร้างตัวการ์ตูน สร้างฉาก ให้สี และจัดรูปเล่ม จินตนาการสร้างเรื่องได้สนุกสนานดูตื่นเต้นได้ทุกหน้าทุกตอน และยังให้สาระประโยชน์อีกด้วย เป็นหนังสือที่อ่านได้ทุกเพศทุกวัยโดยเฉพาะเยาวชน เพราะรูปแบบที่สวยงาม เนื้อหาที่ไม่มีพิษภัย ทั้งยังสามารถเป็นต้นแบบให้ผู้สนใจวาดการ์ตูน ยึดถือเป็นตัวอย่างการทำงานได้ การ์ตูนเล่มนี้ เป็นเรื่องราวของครอบครัวตัวตุ่น พ่อแม่และลูกอีก 2 ตัว เรื่องที่เด่นของเล่มนี้คือเรื่องแรก เป็นตอนที่ พ่อตุ่นและลูกอีก 2 ตัวไปขุดหาอาหารที่ใต้ดินจนได้พบแตงโมลูกมหึมา จึงนำมาเป็นอาหาร และยังมีเหลือ ลูกตุ่นที่ชื่อตาลได้นำไปแบ่งให้ช้างที่หิวโหยที่อยู่บนดิน จนแตงโมเหลือน้อย แต่พ่อแม่ก็ไม่ดุว่ากลับชมลูกว่ารู้จักแบ่งปัน เมื่อเวลาผ่านไปขณะที่ครอบครัวตุ่นกำลังผจญกับการขาดแคลนอาหาร ก็ได้พบว่าบนดินเหนือบ้านตัวตุ่นมีแตงโมขึ้นงอกงามเต็มไปหมด ก็เนื่องมาจากเจ้าช้างที่หิวโหยได้ถ่ายมูลที่เต็มไปด้วยเมล็ดแตงโมไว้นั่นเอง พ่อตุ่นจึงบอกลูกว่านี่แหละเป็นผลจากการรู้จักการให้ของลูก
Nine Lives
หนังสือการ์ตูนเล่มนี้ นำเสนอในรูปแบบที่เรียกว่า “กราฟฟิค โนเวล” คือการเล่าเรื่องด้วยภาพการ์ตูนที่วิจิตร มีข้อความบรรยายที่ชวนอ่าน ลายเส้นการ์ตูนพร้อมภาพประกอบทั้งเล่มสวยงาม การจัดรูปเล่มมีเสน่ห์และรูปแบบทันสมัย กลมกลืนกับกลิ่นไอแบบนิทานเอเชีย อันเป็นวัตถุประสงค์ของเจ้าของผลงาน ผู้วาดเล่าเรื่องเป็นตอน ๆ ผ่านตัวละครที่เป็นแมวหลายตัวหลายชีวิต และมีการเชื่อมโยงบางช่วงตอนให้มาสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันจนทำให้ดูเหมือนทั้งหมดเป็นตอนที่ต่อเนื่องกัน ผู้วาดนำเสนอ “ปรัชญาชีวิต” ออกมาผ่านความสามารถในทางศิลปะวาดภาพและการ์ตูน ค่อย ๆ บรรจงเล่าเรื่องไปทีละภาพทีละหน้าเหมือนลีลาของเสียงดนตรี ทำให้เกิดมิติของเวลาที่ทอดออกไปดึงให้ผู้อ่านปล่อยอารมณ์ไปตามภาพและเนื้อหาของหนังสือ ในเล่มจะเต็มไปด้วยคำเปรียบเทียบ ข้อคิด ปรัชญาซึ่งผู้วาดได้ศึกษาและนำมาถ่ายทอดผ่านลีลาของภาพและตัวอักษรที่ค่อนข้างละเอียดและทำให้ เกิดจินตนาการ เช่น “เจ้าแมวดำเกลียดการสัมผัสน้ำเย็นเช่นนี้เป็นที่สุด แต่เมื่อคิดว่านี่จะเป็นความทรมานครั้งสุดท้ายและมันกำลังจะได้จากโลกนี้ไปอย่างสงบ มันจึงไม่ลังเลและก้าวลงทะเลไปอย่างช้า ๆ ทีละก้าว ทีละก้าว” จากตอนอ่าวจันทร์เสี้ยว หรือ “ เหมือนดอกไม้สวรรค์… หัวใจข้าเต้นแรงเหลือเกิน ข้าได้ตระหนักว่า ช่วงเวลาอันยาวนานนับพันปีที่ข้ามีชีวิตโดยปราศจากหัวใจและไม่รู้จักความรักนั้น ช่างไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาสั้นๆ ที่ข้าได้เรียนรู้ว่าความสุขของการได้รักใครสักคนนั้น… เป็นเช่นไร” จากคำกล่าวของปิศาจตอบเจ้าแมวสีเทาจากตอน ตลอดกาล หนังสือ “NINE LIVE” นี้ แม้จะมีเนื้อหาและรูปภาพโดยรวมดูหนักแน่นและจริงจัง แต่เมื่อได้อ่านแล้วกลับรู้สึกเพลิดเพลินและเบาอารมณ์
มิตรภาพสองฝั่งโขง
เป็นเรื่องราวของความผูกพันระหว่างเด็กชายกลุ่มหนึ่ง ที่จังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือริมฝั่งแม่น้ำโขงซึ่งเติบโตมาด้วยกัน เด็ก ๆ กลุ่มนี้มีหลายเชื้อชาติ ทั้งไทย ญวน จีน ลาว แม้มีความขัดแย้งกันบ้าง แต่ทุกคนก็รัก และสามัคคีกันโดยมีกีฬาฟุตบอลเป็นสื่อกลาง เมื่อทีมฟุตบอลของพวกเขามีความสามารถมากขึ้น จึงมีการจัดแข่งขันฟุตบอลเพื่อเชื่อมความสามัคคีระหว่างเยาวชนไทย-ลาว ขึ้น ในการแข่งขันจึงมีทั้งความขัดแย้งด้วยความรักเชื้อชาติ และความต้องการเอาชนะ แต่สุดท้ายด้วยความตระหนักใน “มิตรภาพ” และความยึดมั่นในสิ่งเดียวกัน ทั้งสองฝ่ายจึงปรองดองกันได้ ผู้ประพันธ์ ผูกเรื่องราวขึ้นได้อย่างสมจริงตามธรรมชาติของวัยรุ่นที่ชื่นชอบการเล่นฟุตบอล และสามารถนำเสนอกติกาการเล่นสอดแทรกไปในเนื้อเรื่องอย่างกลมกลืน ด้วยภาษาที่สละสลวยสอดคล้องกับเนื้อเรื่องและตัวละคร ตลอดจนสร้างอารมณ์ของเด็ก ๆ ผู้เล่นกีฬาได้อย่างสมจริง
บันทึกสี่เท้า จากหัวใจผู้ไร้บ้าน
เป็นเรื่องราวของลูกสุนัข ชื่อ ซีเปีย ที่คนงานก่อสร้างนำมาเลี้ยง แต่เมื่อย้ายบ้านก็ทิ้งมันไว้ มันจึงเฝ้าคอย และรู้ว่าถูกทิ้ง จึงต้องผจญภัยไปตามลำพัง จนกระทั่งได้พบกับสุนัขใจดีที่ช่วยเหลือให้พ้นอันตรายจากสุนัขจรจัด และได้ไปอาศัยอยู่กับบ้านคนใจดี ที่รับเลี้ยงสุนัขไว้หลายตัว และรักสัตว์เลี้ยงเหมือนลูก ซีเปีย ได้รับการดูแลอย่างดี และมันก็ทำตัวให้มีประโยชน์ และช่วยเหลือสุนัขของเพื่อนบ้านที่ถูกขโมยไป มันคิดฝันว่าจะเป็นสุนัขตำรวจ ซีเปียสามารถช่วยเหลือสุนัขเหล่านั้นได้สำเร็จ แม้จะบาดเจ็บสาหัส แต่ก็รอดชีวิตมาได้ จึงชนะใจทุกคนแม้แต่เพื่อนบ้านที่เคยไม่ชอบมัน ผู้ประพันธ์ สามารถบอกเล่าเรื่องราว และความรู้สึกของสัตว์เลี้ยงที่ถูกทอดทิ้งได้ดี ภาษาราบรื่น สละสลวย และเหมาะกับสถานการณ์ในเรื่อง มีอารมณ์คล้อยตามในขณะอ่าน แสดงให้เห็นถึงความรัก ความเมตตาของคนที่มีต่อสัตว์เลี้ยง ภาพประกอบสวยงาม ตรงตามเนื้อหา และสื่ออารมณ์ของตัวละครได้ดี
ด้วยปีก…และถั่วพู
ด้วยปีก…และถั่วพู เป็นเรื่องของ “พู่กัน” เด็กหญิงวัย 4-5 ขวบ ในครอบครัวที่พรั่งพร้อมด้วย พ่อ แม่ และญาติผู้ใหญ่ในชนบทภาคใต้ ซึ่งแวดล้อมด้วยธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ และสดชื่นงดงาม ทำให้เด็กหญิงผู้ที่มีชีวิตที่อบอุ่น เป็นสุขและมีพัฒนาการที่ดีทั้งทางร่างกายและอารมณ์ ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น น่ารักด้วยสำนวนภาษาที่สละสลวย เป็นธรรมชาติ ชวนติดตาม สอดแทรกสาระ และความรู้สึกที่เกี่ยวข้องได้อย่างแนบเนียน ทั้งในเรื่องการอบรมดูแลเด็ก สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ พืชพันธุ์ไม้และสัตว์ ทั้งยังเสนอภาพชีวิตของคนในท้องถิ่น ซึ่งแม้มีความแตกต่างทางศาสนาและวัฒนธรรม แต่ก็ยังอยู่ร่วมกันอย่างเป็นมิตรและมีความสุขได้
อัลฟ่า โอเมก้า ไล่ล่าหาความตาย
อัลฟ่า โอเมก้า ไล่ล่าหาความตายเป็นเรื่องสั้นแนววิทยาศาสตร์ ซึ่งเสนอคำตอบที่มนุษย์เคยตั้งคำถามและพยายามดิ้นรนค้นคว้ามานานแสนนานว่าทำไมมนุษย์จึงตาย และจะทำอย่างไรมนุษย์จึงเอาชนะความตายจนมีชีวิตที่เป็นอมตะได้ นี่คือความฝันและความจริงที่เกิดขึ้นในโลกทุกวันนี้ โดยมนุษย์พยายามแสงหากรรมวิธีต่าง ๆ เช่น การทำธนาคารอสุจิ การแช่แข็งศพ การสร้างสเต็มเซลล์ การโคลนนิ่ง ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่มีจุดมุ่งหมายที่จะเอาชนะความตาย เพื่อความเป็นอมตะ ในความเป็นจริง มนุษย์ไม่อาจฝืนธรรมชาติได้ แม้เนื้อหาของเรื่องสั้นชุดนี้จะเป็นแนววิทยาศาสตร์ แต่ถ้าพิจารณาสาระที่ผู้แต่งสื่อออกมาก็จะสามารถตีความในเชิงพุทธปรัชญาได้ ว่าความตายของมนุษย์ คือการหลุดพ้นจากทุกสิ่ง และเป็นการบรรลุสูงสุดนั่นเอง
เราหลงลืมอะไรบางอย่าง
เราหลงลืมอะไรบางอย่างเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ที่สะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตผู้คนในสังคมไทยปัจจุบันที่กำลัง “หลงลืมอะไรบางอย่าง” อันเป็นแก่นสารของชีวิต ทั้งในระดับบุคคล เช่น นักศึกษาที่ใฝ่ฝันจะเป็นนักปฏิวัติ แต่กลับแพ้ตนเองในเรื่องนักปฏิวัติในระดับชุมชน เช่น นักการเมืองท้องถิ่นที่ไร้อุดมการณ์ในเรื่องราวแสงแห่งศรัทธา และในระดับสังคม เช่น อดีตผู้นำวีรชนผู้มีวิถีชีวิตแปลกแยกจากครอบครัวและสังคมในเรื่องฟ้าเดียวกัน ผู้แต่งให้แง่คิดแก่ผู้อ่านว่า วิถีชีวิตแบบใหม่ตามกระแสสังคมโลกที่กำลังรุกล้ำเข้ามาทำให้ค่านิยมที่ดีงามของวิถีชีวิตดั้งเดิมสูญหายไปอย่างน่าเสียดาย และทิ้งท้ายให้ใคร่ครวญว่าทำอย่างไรวิถีชีวิตทั้งสองแบบจึงจะพัฒนาได้อย่างสันติและกลมกลืน หนังสือรวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นงานเขียนที่รังสรรค์ขึ้นเพื่อจรรโลงชีวิตและสังคมไทยร่วมสมัยอย่างมีวรรณศิลป์
หมู่บ้านแอโรบิก
หมู่บ้านแอโรบิกเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่มีความน่าสนใจทั้งรูปแบบและเนื้อหา ซึ่งสะท้อนถึงผลกระทบจากกระแสวัตถุนิยมและค่านิยมผิด ๆ ที่รุกรานวิถีชีวิตของชาวชนบทในรูปแบบต่าง ๆ จะเห็นว่าไม่เพียงแต่ชาวบ้านและเยาวชนเท่านั้น แม้กระทั่งบุคคลในวงการศาสนา การศึกษา และการเมือง ก็ทำให้ศีลธรรม จริยธรรมถูกสั่นคลอนอย่างน่าสลดใจ แม้ปัญหาเหล่านี้อาจพบเห็นได้ทั่วไปในสังคม แต่ผู้เขียนก็นำเสนอด้วยชั้นเชิงของเรื่องสั้นที่เข้าใจง่ายแต่งดงาม กระตุกเตือนให้ทุกฝ่ายต้องตั้งหลักทบทวนเพื่อดึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่แท้จริงกลับคืนมา
อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง
อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ที่สะท้อนภาพสังคมไทยว่ายังอยู่ในช่วงเวลาแห่งการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นสังคมที่สมบูรณ์ในอนาคต ผู้แต่งเน้นให้เห็นปัญหาขณะ “ก่อสร้าง” ว่าเต็มไปด้วยอุปสรรคนานัปการ ต้องอาศัยระยะเวลา สติปัญญา พลังความคิดและจิตสำนึกของสมาชิกในสังคม ผู้แต่งนำเสนอเนื้อหาอันหลากหลาย ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดาที่เห็นและเป็นอยู่ แต่มักถูกมองผ่านเลยอย่างไม่ใส่ใจอย่างจริงจัง โดยนำมาเสนอด้วยกลวิธีอันแตกต่าง เช่น การเล่าเรื่องแบบใช้เหตุการณ์คู่ขนาน การเล่าเรื่องแบบใช้นิทานเปรียบเทียบ การใช้สัญลักษณ์ ฯลฯ ที่น่าสนใจคือผู้แต่งแสดงถึงความสามารถในด้านการใช้ภาษาได้อย่างมีวรรณศิลป์ รู้จักพลิกแพลงการใช้ถ้อยคำอย่างมีนัยยะ เด่นด้วยโวหารเสียดสี ประชดประชันแต่แฝงไว้ด้วยอารมณ์ขัน ทำให้เรื่องมีสีสัน มีชีวิตชีวาน่าอ่าน ชวนติดตาม
เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่น
เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่นเป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่สะท้อนปัญหาอันหลากหลายของสังคมเมือง ทั้งปัญหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ ครอบครัว การศึกษา วิกฤตทางจิตใจและทางปัญญาของคนในสังคม ผู้แต่งเสนอให้เห็นว่าปัญหาดังกล่าวเกิดจากการพัฒนาประเทศไปสู่ความทันสมัย และเกิดจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งมีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของผู้คนในสังคมไทย ปัญหาที่รุมเร้าผูกโยงอย่างต่อเนื่องเป็นลูกโซ่นี้ส่งผลในด้านลบต่อเด็กและเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคต ผู้แต่งนำเสนอเนื้อหาได้อย่างเข้มข้นผ่านการใช้นิทานเปรียบเทียบ และการใช้สัญลักษณ์ ก่อให้เกิดเอกภาพด้านเนื้อหาและกลวิธีการประพันธ์ ความหฤหรรษ์จากการอ่านหนังสือเล่มนี้ได้จากการอ่านสองระดับ คือ ระดับการอ่านในฐานะที่เป็นนิทานสมัยใหม่ และระดับที่ต้องตีความสารอันซับซ้อนและลุ่มลึก แต่ไม่ว่าจะอ่านในระดับใดก็ตาม เด็กทารกแห่งเมืองหมองหม่นก็เป็นวรรณกรรมที่มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งด้านเนื้อหาและรูปแบบการประพันธ์
ห้าวันที่ฉันตื่น
เป็นเรื่องเล่าถึงประสบการณ์ของผู้เขียนที่มีโอกาสเข้าร่วมงานภาวนากับพระภิกษุ ติช นัท ฮันห์ และคณะอีก 80 รูป จากหมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศสที่เดินทางมาเผยแพร่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 5 วัน เป็นการนำการเจริญสติมาฝึกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำให้เข้าถึงธรรมด้วยความตื่นตา ตื่นเต้น และตื่นรู้ จากการที่พระธรรมแห่งเถรวาทพบกับพระธรรมแห่งมหายาน ในที่สุดผู้ปฏิบัติได้สัมผัสร่วมกันถึงความสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้เขียนนำเสนอภูมิปัญญาในการแสวงหาความสุข โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา ผ่านคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ เนื้อหามีประโยชน์ จุดประกายความคิดเชิงสร้างสรรค์แต่เนื่องจากมีสัดส่วนของการเป็นข้อเขียนเชิงบันทึกความทรงจำ จึงมีความโดดเด่นด้อยกว่าสารคดีภูมิปัญญาโดยตรง
แนวทางสู่ความสุข
ผู้เขียนนำเสนอภูมิปัญญาในการแสวงหาความสุขให้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ที่มีความสลับซับซ้อน เร่งรีบร้อนรน จากประสบการณ์ชีวิตที่กลั่นกรองอย่างดี ใช้จิตวิทยาอธิบายธรรมะ เปิดทางให้พระธรรมสามารถช่วยแก้ทุกข์ได้อย่างมีเหตุผลตามนัยวิทยาศาสตร์ มีภาพประกอบอย่างเหมาะสม จนตกผลึกเป็นภูมิปัญญาให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ ช่วยให้เด็กวัยรุ่นรู้จักหลักการ วิธีการ และจุดหมายในชีวิต เพื่อก้าวไปในทิศทางที่ดีงาม ผู้เขียนใช้นิทานและเรื่องเล่าจากชีวิตจริง เป็นจุดสนใจ นำไปสู่บทเรียนชีวิต ทำให้อ่านเข้าใจง่าย เข้าถึงผู้อ่านทุกเพศวัย ช่วยจุดประกายความคิด และพัฒนาจิตสำนึกเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างมีพลัง ให้สติปัญญา แนวคิด แนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต ด้วยวรรณศิลป์ที่อ่านง่าย กระชับ เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆจุดประกายปัญญาให้มองโลกกว้างในแง่ดี มีความหวัง ไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค
แสงใต้ในมรสุม
ขณะที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยมีแต่ข่าวการใช้ความรุนแรงและการสร้างสถานการณ์ร้าย แต่สารคดีเล่มได้สะท้อนให้เห็นความจริง ความดีงาม และความหวังของสังคมในพื้นที่ อันจะเป็นแสงใต้นำไปสู่ความสงบสุขได้ ผู้เขียนนำเสนอภูมิปัญญาชาวบ้านในจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยกลวิธีเชิงเรื่องสั้นโดยใช้ภาษาสำนวนสละสลวย ชวนอ่าน ทรงคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ เป็นเรื่องที่ใช้ความพยายามในการเก็บข้อมูลโดยละเอียด ผ่านการทำงานในพื้นที่จริงเนื้อหามีประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิต จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของกลุ่มชนที่ถูกมองว่ามีปัญหา อันนำไปสู่แนวทางสมานฉันท์ของชนในชาติ อย่างไรก็ตามพิจารณาองค์รวมของหนังสือแล้ว เห็นว่ามีสัดส่วนของสารคดีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม มาปะปน เช่น ชุมชนคนปีนเขา, ชักพระโคกโพธิ์, ล่าบรูดา ฯลฯ ทำให้มีความโดดเด่นน้อยลง เมื่อเทียบกับหนังสือที่เป็นสารคดีภูมิปัญญาโดยตรง
ชีวิตพอเพียง หมอเกษม วัฒนชัย
เป็นสารคดีอัตชีวประวัติของเด็กจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดีในชนบท แต่มีความมานะอดทน ขยันหมั่นเพียรจนเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงและก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงถึงขั้นองคมนตรี หนังสือแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการอบรมสั่งสอนในบ้านว่าเป็นรากฐานสำคัญของสังคม เช่น ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ ความรักความสามัคคีในครอบครัว หนังสือแสดงถึงอุดมการณ์ของโรงเรียนที่กำหนดให้คุณธรรมนำความรู้ เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาอุปนิสัยที่ดีงาม ทำให้ชีวิตที่มีความหมาย ผู้เขียนใช้ความสามารถรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด แล้วนำมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ เนื้อหาสาระมีความสำคัญต่อเยาวชนของชาติ สำนวนโวหารมีลีลาให้ชวนอ่าน นำเสนอภูมิปัญญาในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่หลงติดวัตถุ ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ จุดประกายความคิด และพัฒนาสำนึกเชิงสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม แต่ทั้งนี้เป็นงานเขียนที่มีสัดส่วนของ สารคดีชีวิต (อัตชีวประวัติ) มากกว่าส่วนที่เป็นภูมิปัญญา จึงทำให้ความโดดเด่นด้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือที่เป็นสารคดีภูมิปัญญาโดยตรง
ต้นไม้ใต้โลก
นำเสนอภูมิปัญญาการปกป้องคุ้มครองสภาพแวดล้อมโลกอย่างแยบยลและทันสมัย สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่าน นำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เช่น การรีไซเคิลจักรยาน , การลดมลพิษจากหมากฝรั่ง , การแยกขยะ ฯลฯ แม้ผู้เขียนจะรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง แต่ก็นำมาร้อยเรียงด้วยภาษาสำนวนที่เรียบง่าย และมีลีลาเชิงวรรณศิลป์ ทำให้เรื่องน่าสนใจ ชวนอ่าน และถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องสั้น ๆ หลายเรื่องมารวมกัน แต่ทุกเรื่องล้วนเป็นภูมิปัญญาการปกป้องโลก หนังสือจึงมีเอกภาพ มีแก่นเรื่องชัดเจน เป็นงานเขียนที่จุดประกายความคิด พัฒนาสำนึกเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างดีเยี่ยม เป็นงานสารคดีเชิงวิทยาศาสตร์ที่ควรสนับสนุน เพราะหาคนเขียนได้ยากมาก
ซ่อนไว้ในสิม : ก-อ ในชีวิตอีสาน
เป็นหนังสือภาพวาดบนผนังโบสถ์ที่แสดงให้เห็นสภาพชีวิตของชาวอีสานในอดีตที่นับวันก็จะค่อยๆ เลือนลางไป เป็นฝีมือช่างวาดพื้นบ้าน แม้จะไม่ประณีตแต่ก็แสดงถึงความบริสุทธิ์จริงใจ เป็นการอนุรักษ์ความดีงามในอดีตของอีสาน ผู้เขียนสามารถรวบรวมภูมิปัญญาของชาวบ้านภาคอีสานได้อย่างน่าอ่านเป็นข้อมูลที่ต้องอาศัยการค้นคว้าอย่างละเอียดและยาวนาน แสดงให้เห็นการทำงานอย่างจริงจังโดยใช้เวลาทุ่มเทในพื้นที่จริง เทคนิคการเรียงลำดับเรื่องจากอักษร ก-อ ทำให้หนังสือน่าสนใจ นับเป็นวิธีการนำเสนอภูมิปัญญาผ่านศาสนสถาน คือ สิมและโบสถ์ ได้อย่างยอดเยี่ยมและรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาด้านอาชีพทำกิน ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ดนตรี การละเล่น การศาสนา โดยใช้ฮูปแต้ม หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นหลักฐานยืนยันความชาญฉลาดของบรรพบุรุษชาวอีสานอย่างทรงพลัง โดยไม่เพียงแต่อธิบายความหมายและความเป็นมาของรูปสำคัญแต่ละรูป ทว่ายังบรรยายให้เห็นภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ข้างหลังภาพด้วย เช่น รูปรางรินองค์ประกอบสำคัญในพิธี “กองฮด” ซึ่งเป็นกลวิธีควบคุมพระสงฆ์ให้หมั่นเพียรเรียนรู้พระธรรมวินัย หรือรูปการลงข่วง นอกจากเป็นกลอุบายเลือกคู่แล้ว ยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมการดนตรีด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสิมก็คือภูมิปัญญาของชาวอีสานนั่นเอง
เล่นเงา
นวนิยายสะท้อนรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่เกิดจากความล่มสลายของสถาบันหลักในสังคม ไม่ว่าจะเป็นทหารกดขี่รังแกประชาชน ข้าราชการฉ้อฉลเอาเปรียบ พระสงฆ์ทุศีลที่มัวเมากับราคะ และครูที่ล่อลวงลูกศิษย์ และที่ลึกลงไปในพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้คือกิเลสตัณหาที่ไม่มีวันจบสิ้น จึงล่อลวงให้มนุษย์เห็นถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก ปัญหาจึงสั่งสมโดยไม่มีวันแก้ไข ผู้เขียนนำเสนอความเลวร้ายในชุมชนแห่งหนึ่ง ผ่านสายตาและการบอกเล่าของตัวละคร 2 ตัว หนึ่งคือ ไอ้เท่ง ตัวตลกในหนังตะลุง อีกหนึ่งคือลุงส่ง ชายขี้เมาขาพิการ ไอ้เท่งเป็นตัวตลกไร้ชีวิตที่มีเพียงเงาโลดเต้น เป็นเหมือนจิตวิญญาณที่ห่วงใยชาวบ้านชุมชน แต่ เมื่อเป็นเพียงเงา และตัวตลก คำบอกเล่าของไอ้เท่งจึงเหมือนนิยายโกหกที่ไม่มีใครเชื่อ เช่นเดียวกับลุงส่ง คนพิการขี้เมาที่ไม่มีใครเชื่อคำพูด ดังนั้นแม้เขาจะชี้ตัวเจ้าอาวาสทุศีลและครูใหญ่กระหายกามว่าเป็น “ผู้ร้าย” ในชุมชน แต่ทุกคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล การเลือกไอ้เท่งและลุงส่งเป็นผู้เล่าเรื่องจึงตอกย้ำการที่ผู้คนปฏิเสธที่จะเข้าถึงความจริง ความเลวร้ายจึงฝังรากลึกต่อไปตราบนานเท่านาน น่าเสียดายที่ผู้เขียนทิ้งตัวละครนี้ไปในตอนท้ายเรื่อง บทจบจึงไม่สวยงามเท่าที่ควร การเลือกใช้กลวิธีเหนือจริงเพื่อบอกกล่าวความจริงนับเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่โดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้ นอกจากผู้เล่าเรื่อง การสร้างบรรยากาศ และเหตุการณ์อาเพศผิดธรรมชาติแล้ว การให้แม่เฒ่าเปาะเจ๊ะหอนทุกปีเมื่อถึงวันครบรอบการตายของลูกชาย ก็สร้างบรรยากาศลี้ลับชวนสยอง แต่เป็นกลวิธีที่แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านได้ต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยวิธีอหิงสา เสียงหอนของยายเฒ่าเรียกร้องความชอบธรรมให้ลูกชายที่ถูกทหารพรากชีวิตอย่างโหดเหี้ยม เพราะทุกปีผู้คนก็จะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดกันอีกครั้งและอีกครั้ง ความตายของผู้บริสุทธิ์จึงไม่เคยถูกลืม อย่างไรก็ตาม แม้นวนิยายเรื่องนี้จะแสดงความมืดดำของชีวิต ความเลวร้ายในจิตใจของผู้คน และความจริงที่เป็นเพียงเงาที่จับต้องไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด ผู้เขียนก็ยังฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ ที่จะกล้ากบฏต่ออำนาจและมายาคติที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก เพื่อว่าในที่สุดแล้วเราจะมีสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม นวนิยายเรื่องเล่นเงา ของจิรภัทร อังศุมาลี จึงสมควรรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่น บุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551
สะพานแสงคำ
สะพานแสงคำเป็นนวนิยายรัก ซึ่งผู้เขียนนำเรื่องราวในอดีตช่วงที่รัฐต่าง ๆ แถบล้านนากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ เมื่อลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกแผ่มาถึงพร้อม ๆ กับการขยายอิทธิพลของรัฐใหญ่อย่างสยาม มาโยงใยเข้ากับยุคปัจจุบันซึ่งผู้คนต่างก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อดำเนินชีวิตในโลกที่ลัทธิทุนนิยมและวัตถุนิยมกำลังครอบงำอยู่ โดยมี “สะพานแสงคำ” ในภาพเขียนภาพหนึ่งเป็นทางเชื่อม เมื่อใดที่เมษาริน ตัวละครเอกของเรื่องก้าวข้ามสะพานนั้น เธอก็ได้เดินทางย้อนเวลาไปกว่าร้อยปี ได้เข้าไปเป็นพยานร่วมรู้เห็นเส้นทางชีวิตของ “คำประพาฬ” หรือ “เจ้าเอื้อย” เจ้าหญิงแห่งรัฐล้านนา ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อยจนเติบใหญ่เป็นหญิงสาวผู้งามพร้อม และในขณะเดียวกันก็ได้ร่วมสัมผัสกับโลกรอบตัวของเจ้าหญิง ซึ่งมีทั้งความขัดแย้งทางการเมือง การช่วงชิงผลประโยชน์ ความรัก ความแค้น ความเกลียดชัง และการทรยศหักหลัง การเดินทางข้าม “สะพานแสงคำ” กลับไปสู่อดีตแต่ละครั้ง ไม่เพียงทำให้ “เมษาริน” (และผู้อ่าน)ได้รับรู้และระทึกใจไปกับชะตากรรมของเจ้าเอื้อยรวมทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองของยุคนั้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เธอมองผู้คนและภาวะการณ์ที่แวดล้อมตัวเธออยู่ในโลกปัจจุบันด้วยทัศนะที่แจ่มกระจ่างขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การเข้าใจ “ความจริงและความลวง” ในตอนสุดท้ายของเรื่อง ปิยะพร ศักดิ์เกษม ได้ค้นคว้าหาข้อมูลและใช้ความสามารถในเชิงวรรณศิลป์พรรณนาภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยนั้นอย่างมีชีวิตชีวาและสมจริง ทั้งยังสอดรับกับเรื่องราวและตัวละครที่เธอจินตนาการขึ้นได้แนบเนียนลงตัว ทำให้สะพานแสงคำ เป็นนวนิยายรักข้ามภพข้ามเวลาที่มีเสน่ห์ชวนติดตาม สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551
ยิ่งฟ้ามหานที
ปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุนับเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่เกิดในสังคมที่วิทยาการด้านสาธารณสุขมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสูง คนอายุยืนขึ้นทำให้ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ลูกแต่งงานแล้วแยกย้ายจากครอบครัวของพ่อแม่ออกไปสร้างครอบครัวใหม่ของตนเอง ทำให้การดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุท้าทายสำนึกความคิดและการตัดสินของผู้เป็นลูก นวนิยายเรื่องยิ่งฟ้ามหานที ของกนกวลี พจนปกรณ์ นำเสนอปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างเข้มข้นผ่านเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่มีแม่เป็นอัมพาตครึ่งซีกเพราะเส้นโลหิตในสมองแตก กำไลแก้วลูกสาวคนสุดท้องซึ่งยังเป็นโสดเป็นผู้ดูแลแม่เพราะพี่น้องคนอื่นต่างมีภาระเรื่องครอบครัวของตน ครอบครัวนี้ไม่มีปัญหาด้านการเงินที่ต้องใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลแม่ผู้เจ็บป่วย เพราะพี่ ๆ มีฐานะมั่งคั่งจึงยินดีรับภาระค่าใช้จ่ายทุกอย่างซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก แต่ทิ้งภาระการพยาบาลดูแลเป็นของน้องสาว กำไลแก้วมีงานทำในบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง และกำลังตกหลุมรักชายคนหนึ่งอย่างจริงจัง การดูแลแม่ซึ่งเจ็บป่วยทางกายยังไม่หนักหนาเท่ากับการดูแลจิตใจที่เปราะบาง เพราะร่างกายที่เจ็บป่วยพลอยทำให้จิตใจของนางอุบลป่วยไข้ไปด้วย นอกจากควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่ได้แล้ว นางยังควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ และเรียกร้องให้กำไลแก้วอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา กำไลแก้วจึงอยู่ในภาวะถูกกดดันจากแม่ จากคนรัก และจากความเข้มงวดของเจ้าของบริษัท ดังนั้น โครงการพาแม่ไปอยู่ที่สถานพยาบาลที่พี่ ๆ เคยนำเสนอจึงถูกรื้อฟื้นมาทบทวนกันใหม่อีกครั้ง และในที่สุดลูก ๆ ทุกคนเห็นพ้องว่าการที่แม่อยู่ในสถานพยาบาลเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะแม่จะได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลตลอดเวลา ส่วนลูก ๆ จะได้ดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระ แต่หลังจากนั้นกำไลแก้วก็พบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด นวนิยายเรื่องนี้แสดงความขัดแย้งในใจของตัวละครผู้เป็นแม่และผู้เป็นลูกโดยเฉพาะกำไลแก้วที่เป็นตัวเอกของเรื่องจนทำให้ผู้อ่านสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่ง ความรักของแม่ที่ไม่อยากให้ลูกลำบากกายลำบากใจ และความรู้สึกผิดในใจของลูกที่ไม่ทุ่มเทเสียสละอย่างเต็มที่เพื่อแสดงความรักและความกตัญญูต่อแม่ เชือดเฉือนใจผู้อ่านให้แทบน้ำตารินไปพร้อมกับตัวละคร ผู้เขียนใช้ภาพเปรียบเทียบครอบครัว 2 ครอบครัวที่มีปัญหาการดูแลคนในครอบครัวที่เป็นอัมพาตเหมือนกัน ครอบครัวของอมาตย์ดูแลพี่ชายที่เป็นอัมพาตด้วยความรักความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต ทุกคนดีใจที่มีโอกาสมอบความรักให้คนที่ตนรักได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียใจหรือเสียดายภายหลัง ส่วนครอบครัวของกำไลแก้วให้แม่ไปอยู่สถานพยาบาลที่เลือกเฟ้นอย่างดี แต่เมื่อกำไลแก้วรับรู้และมองเห็นสายใยแห่งความรักที่อวลอุ่นอยู่ในบ้านของอมาตย์ก็ทำให้กำไลแก้วมีกำลังใจ และมองเห็นหนทางคลี่คลายปัญหาของตนเพื่อที่จะได้ดูแลแม่อย่างใกล้ชิดที่บ้านตลอดไป ยิ่งฟ้ามหานทีเป็นนวนิยายสะท้อนสังคมที่เสนอให้เห็นว่าแม้การส่งบุพการีผู้ชราและเจ็บป่วยไปอยู่สถานพยาบาลจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวกสำหรับคนในสังคมไทยปัจจุบัน แต่น่าจะเป็นเพียงทางเลือกสุดท้าย เพราะแท้ที่จริงแล้วผู้เป็นลูกยังมีทางออกที่งดงามอยู่ ขอเพียงแต่ยึดมั่นในความรักต่อพ่อแม่ ยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพราะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะได้ตอบแทนความรักอันยิ่งใหญ่ของบุพการี ด้วยคุณค่าด้านเนื้อหา ความคิด และกลวิธีทางวรรณศิลป์ นวนิยายเรื่องยิ่งฟ้ามหานที จึงได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551
นรกของเรา ?
“นรกของเรา?” ของนายทิวา เป็นผลงานรวมบันทึกแห่งยุคสมัยที่ว่าด้วยสถานการณ์การเมือง เนื้อหาจึงค่อนข้างสด ทันสมัย ทำให้ผู้อ่านมีอารมณ์ร่วม รู้สึกคล้อยตาม ด้านความคิดและมุมมองก็ท้าทายดี มีความแหลมคมพอสมควร การที่สื่อออกมาได้ขนาดนี้ แสดงว่าผู้เขียนอยู่กับข้อมูลและติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิด ส่วนรูปแบบในการนำเสนอ นายทิวาเลือกใช้โคลง กลอน ตามความเหมาะสมของแต่ละประเด็นเนื้อหา ตรงนี้ถือว่าสามารถนำรูปแบบมารับใช้เนื้อหาได้อย่างลงตัว
ดวงดาวที่มีชื่อว่าเด็กเด็ก
“ดวงดาวที่มีชื่อว่าเด็กเด็ก” ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เป็นบทกวีที่น่ารัก งดงาม ผู้เขียนได้พูดถึงความบริสุทธิ์ ซื่อ ใส ไร้เดียงสาของเด็ก-ลูกน้อย ซึ่งดูผิวเผินเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัวในครอบครัวเล็ก ๆ แต่นัยยะที่ซ่อนและแทรกไว้ มีความหมายกว้างใหญ่ถึงระดับสังคมโลก โดยผู้เขียนพยามจะบอกเราว่า ความบริสุทธิ์ดุจผ้าขาวของเด็ก สามารถหยุดการฆ่าฟัน สร้างสันติได้ ดังตัวอย่าง… “ยิ้มของเด็กเหมือนเหมือนกันสันติผุด บริสุทธิ์ไม่กลิ้งกลอกไม่หลอกหลอน มิตรภาพอาบยิ้มนั้นนิรันดร สงครามอาจใจอ่อนตอนเจ้ายิ้ม”
ค่ำคืนที่โลกยังโศกเศร้า
“ค่ำคืนที่โลกยังโศกเศร้า” ของ “กอนกูย” เนื้อหาค่อนข้างหลากหลาย ครอบคลุมถึงเรื่องราวชีวิต สังคม การเมือง ฯลฯ โดยสื่อสารผ่านอารมณ์กวี เป็นอารมณ์ที่โศกเศร้าหดหู่ในชะตากรรม คล้ายจะตั้งคำถามให้ช่วยกันตรองว่า มนุษย์ทำไมต้องทำร้ายทำลายล้างกัน ซึ่งผู้เขียนได้วิงวอน ร้องขอ และมีอารมณ์ตัดพ้อในคราวเดียวกัน ด้านสำนวนภาษาและลีลากลอนของ “กอนกูย” ถือว่าน่าจับตา ภาษาสวย จังหวะจะโคนใช้ได้ดี เห็นแววกวี