เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 4
ที่เกิดเหตุ
ผู้เขียนเข้าไปเก็บข้อมูลในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในพื้นที่เสี่ยงภัยด้วยตัวเองเป็นเวลานาน 1 ปีเต็ม ถือเป็นการเก็บข้อมูลงานสารคดีที่ต้องอุทิศตัวมาก ความโดดเด่นสำหรับหนังสือเล่มนี้คือ การมุ่งถ่ายทอดชีวิตของผู้คนในแง่มุมที่ลึกซึ้ง พร้อมกับกลวิธีการเขียนที่มีวรรณศิลป์สะเทือนใจ และผู้เขียนยังแสดงความสามารถเล่ารายละเอียดปลีกย่อยอย่างระทึกใจ น่าอ่านและชวนติดตาม จึงสร้างความเข้าใจในระดับลึกซึ้งต่อปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นอย่างดี
เดินสู่อิสรภาพ
เป็นสารคดีนำเสนอประสบการณ์จริงจากาการเดินทางด้วยการ “เดินเท้า” เพื่อแสวงหาสัจธรรมของชีวิต ด้วยภาษาสำนวนเรียบง่าย จริงใจ กลั่นกรองออกมาจากส่วนลึกสะท้อนให้เห็นด้านที่งดงามที่มีอยู่ในจิตใจมนุษย์ทุกคน ที่ผู้เขียนไปพบโดยไม่มีผลประโยชน์ไปแลกเปลี่ยน สามารถวิเคราะห์จิตวิทยาของบุคคลประเภทต่าง ๆ ได้ละเอียดสุขุม ก่อให้เกิดคุณค่าทางจิตใจและคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ จุดประกายความคิดและเพิ่มพลังใจให้ผู้อ่านตระหนักว่า “โลกนี้ยังมีความเมตตา”
นาครเขษม
“นาครเกษม” ผลงานของ “คอยนุช” เป็นนวนิยายขนาดสั้นแนวเสียดสีที่เขียนในลักษณะเหนือจริงผู้เขียนเสียดสีสังคมโลกสมัยใหม่ที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและเร่งรีบจนทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างร้อนรน เพียงแค่อายุ 40 ปี พลังชีวิตก็ถูกใช้ไปจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น ทันทีที่อายุครบ 40 ปี คนเหล่านี้ก็กลายเป็นชาวนาครเกษมไปโดยอัตโนมัติ ชาวนาครเกษมมีบุคลิกแบบคนสูงวัยทั่วไป คือ หัวล้าน ผมหงอก สายตายาว อวัยวะหย่อนยานเหี่ยวย่น หูตึง ความจำไม่ดี เป็นต้น หลายคนมีความฝังใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างมาโนชผู้เชื่อมั่นในของเก่าที่ใช้การไม่ได้แล้ว วิชัยฝังใจกับผู้หญิงผมยาวไม่รู้จักชื่อและพบว่าอวัยวะเพศของตนไม่ทำงานหลังจากเก็บยางลบที่เขียนชื่อว่านภาและนาครเกษมได้ นภาพนักงานพิมพ์ดีดที่ทำงานจนลืมวันลืมคืน กว่าจะรู้ตัวฝ้าบนใบหน้าของเธอก็มีขนาดใหญ่เป็นรูปแผนที่แอฟริกาและเครื่องคอมพิวเตอร์ก็มาแทนที่พิมพ์ดีดของเธอที่ตัว ฟ หายไป เธออยู่ที่นาครเกษมโดยไม่พูดจาแม้แต่คำเดียว เอาแต่ตามหาตัว ฟ อย่างมุ่งมั่น อนันต์ซึ่งมีความฝันว่าอยากออกไปจากกรุงเทพฯ อยากมีบ้านหลังเล็ก ๆ ในชนบทแต่ก็ไม่เคยทำได้เลย และคนอื่น ๆ ทุกคนเป็นอดีตพนักงานบริษัทที่ถูกปลดออกจากงานด้วยเหตุผลว่าหมดอายุใช้งาน ในตอนท้ายเรื่องทุกคนได้ขึ้นชิงช้าสวรรค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการกลับไปสู่ความสุขในวัยเด็กและพบคำตอบของปัญหาคาใจในชีวิตของแต่ละคน นิยายเรื่องนี้ไม่ได้สร้างตัวละครและเหตุการณ์ตามขนบของนวนิยายแบบสมจริง จึงมีความพิลึกพิลั่นเกินจริงอยู่มาก แต่พบว่าผู้เขียนตั้งใจเสนอแก่นความคิดเรื่องคุณค่าของมนุษย์ เพราะสังคมนิยมตีราคามนุษย์จากผลประโยชน์ที่เขาสร้างให้แก่บริษัท สังคมวัตถุนิยมทำให้พวก “เก่า ช้า ล้า แก่” คือ หัวเก่า เชื่องช้า ล้าสมัย แก่ ถูกคัดออกราวกับสิ่งของชำรุดหรือตกรุ่นแสดงว่าสังคมสมัยใหม่ตัดสินมนุษย์ที่ “มูลค่า” ไม่ใช่ “คุณค่า” นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเน้นว่าสังคมบริโภคนิยมผลักดันให้มนุษย์หัวปักหัวปำอยู่กับการทำงานจนลืมไปว่าความสุขที่แท้อยู่ใกล้ตัว จึงละเลยที่จะเติมความสุขให้กับตนเอง ทุกคนพบว่าถึงที่สุดแล้วคนเราไม่ได้ต้องการอะไรในชีวิตมากไปกว่าความสุขใจ นาครเกษมไม่ได้เป็นชื่อที่มีอยู่บนแผนที่กรุงเทพมหานครหรือแผนที่ประเทศไทย แต่ผู้อ่านก็รู้สึกได้ว่านาครเกษมมีจริงและอยู่ใกล้ ๆ ตัว หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองของนครแห่งนี้ไปแล้วด้วยซ้ำหรืออย่างน้อยที่สุด นาครเกษมก็ทำให้เราฉุกคิดถึงคุณค่าและความเป็นมนุษย์ท่ามกลางโลกสมัยใหม่
ในวารวัน
ในวารวัน ผลงานของปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่กำหนดกรอบเวลาตั้งแต่พุทธศักราช 2445 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพุทธศักราช 2486 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกินระยะเวลารวม 4 แผ่นดิน หากแต่เป็น “สี่แผ่นดินฉบับบางปลาสร้อย” เพราะในวารวันเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุมชนบางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี ที่ผู้เขียนเล่าผสานไปกับชีวประวัติของแม่วัน ตัวละครเอก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่อง แม่วันเป็นตัวละครที่เป็นแบบฉบับของคนดีที่สมบูรณ์แบบ เพราะพูดดี คิดดี ทำดี ซื่อสัตย์ ขยัน มัธยัสถ์ อดทน ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ชีวิตของแม่วันต้องเผิชญกับความทุกข์ยากทั้งทางกายและใจอย่างมากมายจากแม่เลี้ยงและพี่น้องต่างมารดา ซึ่งทั้งด่าว่าเสียดสี โกงสมบัติ ขโมยทอง ปองร้อยหมายข่มขืน จนถึงโพนทะนาให้เสียชื่อ แม่วันลูกกำพร้ากลับเป็นเหมือนเหล็กทนไฟ ยิ่งทุกข์ยิ่งแข็งแกร่ง สามารถเลี้ยงชีวิตตามลำพังหลังย่ายายตายด้วยการรับจ้างทำงานทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ คุณความดีของแม่วันได้รับการตอบสนองในที่สุด ได้แต่งงานกับผู้ชายที่ดี สร้างฐานะได้มั่นคง สุดท้ายสามีเสียชีวิตไปก่อน แม่วันก็เป็นผู้หญิงเก่งที่สามารถดูแลลูก ๆ บริวารและกิจการอาชีพได้อย่างไม่บกพร่อง ส่วนแม่เลี้ยงและพี่น้องต่างมารถาทั้งของฝ่ายแม่วันและนายเทิดสามีต่างก็มีชีวิตตกต่ำ พินาศฉิบหายไปตามกรรม นวนิยายเรื่องนี้จึงมีแก่นเรื่องแสดงให้เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือคนดีย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ การสร้างตัวละครเป็นคนดี คนชั่ว ชัดเจน ก็จัดเป็นตัวละครแบบฉบับเช่นเดียวกับแก่นเรื่อง แต่จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การสอดร้อยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้าไปในเนื้อหาเรื่องราวของตัวละครได้อย่างกลมกลืน ทั้งเรื่องประเพณี อาชีพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำนานสถานที่ โบราณสถาน ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น การเสด็จประพาสบางปลาสร้อยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีเสด็จประพาสเมืองชลบุรี เป็นต้น ในวารวันจึงบันทึกอดีตไว้ เป็นนวนิยายที่ให้อรรถรสและมีวรรณศิลป์
เขียนฝันด้วยชีวิต
เขียนฝันด้วยชีวิต ของประชาคม ลุนาชัย นำเสนอภาพชีวิตของชายที่มุ่งมั่นใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนอาชีพแต่การก้าวสู่เส้นทางน้ำหมึกนี้เต็มไปด้วยอุปสรรคขากหนามอันชวนให้ท้อทั้และถดถอย ยิ่งเขา-ผู้ซึ่งมีต้นทุนน้อย ทั้งโภคทรัพย์ ญาติ มิตร และการศึกษา อุปสรรคก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ ชีวิตระหกระเหินของเขาผ่านการทำมาหากินมากมายหลายอาชีพ ตั้งแต่เป็นเสมียนในสำนักงานจัดหางาน พนักงานเสิร์ฟ เด็กฝึกงานในโรงงานแบตเตอรี่ พนักงานแบกลังน้ำปลา คนทำลูกชิ้นและขายก๋วยเตี๋ยว คนดูแลนากุ้ง ลูกเรือหาปลาล่องทะเลลึก ไปจนกระทั่งเป็นยาม ในระหว่างการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีวิต เขาก็เลี้ยงวิญญาณและความใฝ่ฝันด้วยการอ่านหนังสือจากห้องสมุด จากร้านหนังสือเช่า และจากการซื้อหาตามที่พอจะมีกิน ประสบการณ์จากการอ่านและประสบการณ์ชีวิตทั้งของตนเองและจากการเฝ้าสังเกตชีวิตของผู้อื่น ล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับเขียนหนังสือ ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การตีแผ่ชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่ปิดบัง แต่ในโชคมีเคราะห์และในเคราะห์ก็มีโชค ชีวิตมีสุขมีเศร้า มีปวดร้าว มีปิติ มีสูญสิ้นมีวาดหวัง เวียนไปให้เห็นสัจธรรม ดังนั้นแม้เขาจะท้อแท้แต่ไม่ท้อถอย การลุกขึ้นสู่ชีวิตอย่างไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ที่รุมกระหน่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงกินใจผู้อ่านและขณะเดียวกันให้กำลังใจผู้ที่กำลังโต้คลื่นชีวิตให้ยืนหยัดต่อไป ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “ชีวิตมหัศจรรย์และทรงคุณค่ายิ่ง แม้จมลงในหุบเหวที่ลึกแค่ไหนเพียงใด ยังมีแรงตะกายกลับสู่เบื้องบน เปรอะเปื้อนความผิดพลาดกี่หนยังพยายามฟอกตัวเองให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ ผ่านแรงกระทบกระแทกซ้ำแล้วซ้ำอีก ยังกลับมาหยัดยืนได้อีกครั้ง ลื่นล้มและตกจากที่สูงกี่ครา ประกายแสงของมันไม่ยอมหรี่ดับลงโดยง่าย” ผู้อ่านได้ประจักษ์ในความมหัศจรรย์และคุณค่าของชีวิตเฉกเช่นเดียวกันกับที่ผู้เขียนกล่าวไว้ นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์ที่กลวิธีการเขียน เพราะผู้เขียนคัดสรรบางช่วงตอนของชีวิตมาเล่าให้ผู้อ่านปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราวเอาเอง ราวกับจะบอกว่าชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย บทจบและบทเริ่มต่อเนื่องกันราวกับจะบอกเป็นนัยว่าการเขียนฝันด้วยชีวิตยังไม่มีบทจบ หากต้องดำเนินต่อไป เขียนฝันด้วยชีวิตเป็นนวนิยายอัตชีวประวัติที่สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นความฝันของใคร ความฝันนั้นก็ยิ่งใหญ่และมีคุณค่า แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคือชีวิตที่กอปรด้วยความมานะบากบั่นที่จะทำความฝันกลายเป็นจริง ยิ่งสำหรับนักเขียนด้วยแล้ว ความฝันไม่มีวันจบ ต้องเขียนฝันด้วยชีวิต และทั้งชีวิต