กรองและค้นหา

เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 19

เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 19

คนจรดาบ

ภัยร้ายคืบคลานกรุงศรีอยุธยา ๗ ขุนเวียงนาครบาลออกตามล่าอ้ายดำท่าแพรและพรรคพวก ที่ต้องสงสัยว่าลอบสังหารเจ้าพระยาอรรคมหาเสนาบดี ทว่าการตามสืบกลับผิดแผน ๗ ขุนเวียงฯ ถูกลวงฆ่า ความลับถูกพราง และกรุงศรีอยุธยาอาจใกล้ถึงกาลอวสาน คนจรดาบ วรรณกรรมนักเลงดาบ นวนิยายที่ผสมผสานการเล่าเรื่องแบบพงศาวดาร เข้ากับนวนิยายกำลังภายใน เข้มข้นด้วยปมเรื่องสลับซับซ้อน ซึ่งใช้เวลาขัดเกลากว่า ๓๐ ปีโดยวิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง ผู้กำกับภาพยนตร์และนักเขียนมากฝีมือที่ฝากผลงานไว้มากมาย

แสงหนึ่งคือรุ้งงาม

“แสงหนึ่งคือรุ่งงาม” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๕ เรื่อง ในแนวดิสโทเปียนานาฮาระ ฮิเดยูกิ ผู้ประพันธ์สร้างเรื่องโดยจินตนาการถึงโลกอนาคตที่หม่นมัว หดหู่ตัวละครแต่ละเรื่องฉายภาพของมนุษย์ที่ไม่ระบุสัญชาติ พื้นที่ และพร่าเลือนเพศสถานะเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ เผชิญหน้ากับยุคเข็ญอย่างอาจหาญดิ้นรนปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด หากยังพยายามคงอุดมการณ์และศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ท่ามกลางความเลวร้ายที่เหมือนจะสิ้นหวัง เรื่องสั้นเหล่านี้สะท้อนภาพของมนุษย์ที่ไม่ยอมจำนน หล่อเลี้ยงชีวิตด้วยความหวังเพียงน้อยนิด แม้ในด้านภาษาจะมีความไม่ราบรื่นอยู่บ้าง แต่ในส่วนเนื้อหา ผู้ประพันธ์วางโครงเรื่องจากวิกฤตนานาที่เปลี่ยนโลกนี้ได้อย่างสมเหตุสมผล ฝากคำถามให้ขบคิดว่าวิกฤตนั้นจะนำพามนุษยชาติไปในทิศทางใด และมนุษย์จะพยุงความเอื้ออาทรที่มีต่อกันได้มากน้อยเพียงใด คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “แสงหนึ่งคือรุ่งงาม” ของ นานาฮาระ ฮิเดยูกิได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์หมวดรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

เราอาจกลัวและเพรียกถามทางกลับบ้าน

เราอาจกลัวและเพรียกถามทางกลับบ้าน รวมกวีนิพนธ์ของ ณรงค์ชัย แสงอัคคีเป็นงานกวีนิพนธ์ใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ เป็นหลัก มีบทกวีวัจนะและกลอนเพลงพื้นบ้านแทรกอยู่เล็กน้อย แบ่งเนื้อหาสาระในเล่มเป็น ๒ ภาค ภาคที่ ๑ เราจากบ้านนานไกลเพื่อใกล้ฝัน เป็นการบอกเล่าเรื่องของชีวิตที่จากบ้านเกิดเมืองนอน มาต่อสู้กับวิถีสังคมเมืองกรุงที่ตนเองไม่คุ้นเคย ต้องเรียนรู้และปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ดังความตอนหนึ่งเขียนไว้ว่า “ฉันคือผู้โดยสารผ่านวังวน                                 กระเสือกกระสนทนข้ามฝ่าความหนาว หนาวทรงจำทิ่มแทงใต้แสงดาว                         หนาวตะวันเคยผ่าวหนาวน้ำตา” เรื่องราวประสบการณ์ที่ผ่านพบ ประเมินภาพรวมออกมาคืออยากกลับบ้านมีโวหารงดงาม มีศิลปะและเชิงชั้นวรรณศิลป์ ภาคที่ ๒ เพื่อฝ่าฟันทางเก่ากลับเข้าบ้าน กล่าวถึงเรื่องราวสิ่งที่ได้พบเห็น และบทสรุปว่า “เราจากบ้านนานไกลเพื่อใกล้ฝัน                       และฝ่าฟันทางเก่ากลับเข้าบ้าน มากราบรูป ธูปหนึ่งดอก บอกวิญญาณ                ว่าวันนี้ลูกหลานกลับบ้านแล้ว” ในส่วนนี้กวีทำได้อย่างมีเชิงชั้นวรรณศิลป์ ทั้งด้านฉันทลักษณ์ถูกต้องตามกฎเกณฑ์เนื้อหาสาระเหมาะสมกลมกลืน การใช้ถ้อยคำได้รสคำ รสความ รวมบทกวี เราอาจกลัวและเพรียกถามทางกลับบ้าน กวีเสนอแนวคิดและเป้าหมายชัดเจน ภาษาเรียบง่ายเป็นรสแห่งถ้อยคำที่นำมาร้อยกรองให้เกิดความรู้สึกและจินตภาพได้ เนื้อหาสาระมีสัมพันธภาพตามหัวข้อที่กำหนด คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ เราอาจกลัวและเพรียกถามทางกลับบ้าน ผลงานของ ณรงค์ชัย แสงอัคคี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

ละไว้ในฐานที่คิดถึง

ละไว้ในฐานที่คิดถึง ของ แทนชีวา เป็นกวีนิพนธ์ ใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก มุ่งเน้นการถกแถลง “สาระแห่งชีวิต” เป็นเนื้อหาแห่งบทกวี โดยใช้ภาษาที่เรียบง่าย มีความฝัน ของคนหนุ่มสาว การเรียนรู้ประสบการณ์ด้วยตนเองและสังคมที่ผ่านมา เพื่อตั้งคำถาม และให้ คำตอบบางประการ การสร้างประเด็นความคิด เปิดโอกาสให้ผู้อ่านแทรกเข้าไปอยู่ในบทกวีได้ด้วยท่าที ของกวีเป็นดั่งการสนทนาถึงการใช้ชีวิตในโลกสมัยใหม่ที่ยังมีคำตอบไม่แจ่มชัด ต่างจากรุ่น บรรพบุรุษ ซึ่งมีชีวิตชัดเจนนับตั้งแต่ออกจากระบบการศึกษา ละไว้ในฐานที่คิดถึง จึงเป็นการคิดใคร่ครวญ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางจิตใจ ในการ แสวงหาความหมายของชีวิต ในขณะถูกกระแสโลกสมัยใหม่เหวี่ยงแต่ละคนออกไปคนละทิศ ละทาง แต่ความรักความผูกพัน ความฝัน และความดี อันรวมเป็น “ความคิดถึง” จะยังคง ส่งทอดและเป็นกำลังใจแก่กัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ละไว้ในฐานที่คิดถึง ของ แทนชีวา ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

WORLD WAR TOOLS สงครามโลกในสิ่งของ

เลือกแง่มุมในการนำเสนอประวัติศาสตร์สงครามโลกได้ชวนติดตาม โดยการเลือกสรรสิ่งของหรือสิ่งละอันพันละน้อยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกมานำเสนอ เช่น ชาวญี่ปุ่นมอบเครื่องรางอะไรให้ทหารกล้าของพวกเขา รัฐบาลอังกฤษเหมาชาดำทั่วยุโรปส่งเป็นขวัญและกำลังใจให้ทหารในแนวหน้า และประเด็นอื่น ๆอีกมาก นับเป็นการจับประเด็นที่ชาญฉลาดและไม่เหมือนใคร

NOSE NOTE บันทึกเรื่องกลิ่นจากปลายจมูก ฝนตกข้างบ้าน ถึงจักรวาลอันไกลโพ้น

นำเสนอเรื่อง ‘กลิ่น’ อันเป็นเรื่องที่มีผู้เขียนถึงน้อย โดยใช้ลีลาภาษาที่อ่าน เพลิดเพลิน สนุกสนาน ชวนติดตาม ให้ข้อมูลสารพัดกลิ่นที่ผู้อ่านอาจนึกไม่ถึง ตั้งแต่ กลิ่นบนเครื่องบิน กลิ่นอียิปต์โบราณ ไปจนกระทั่งกลิ่นความกลัว กลิ่นอวกาศ กลิ่นห้วง จักรวาล และอื่น ๆ

ส่องลายคราม สืบหาจีนกรุงศรีฯ

เป็นงานเขียนที่เพลิดเพลิน อ่านสนุก แต่ให้ความรู้เชิงลึกในด้านประวัติศาสตร์ที่เล่าผ่านเครื่องกระเบื้องลายครามอันเป็นของสะสมของผู้เขียน ผู้อ่านจึงได้เห็นถึงประวัติศาสตร์ชีวิตในราชสำนักและผู้คนในแผ่นดินจีนและกรุงศรีอยุธยา ทั้งทางเศรษฐกิจการค้า สังคม การเมือง ผ่านภาพถ่ายสวยงามของเครื่องลายครามอันเป็นพยานวัตถุ

รักก่อนกำเนิด เกิดก่อนกำหนด

เด็กที่คลอดก่อนกำหนด มีชื่อเรียกเฉพาะว่า ‘เด็กพรีมี่’ หนังสือเล่มนี้เปิดโลกของเด็กพรีมี่ให้ผู้อ่านได้รู้จัก ผ่านชีวิตจริงของ ‘ลินลา’ เด็กพรีมี่ที่สร้างพลังใจให้แม่ หมอและผู้คนรอบข้างมีความหวัง มีกำลังใจ แล้วส่งต่อกำลังใจนั้นมาถึงผู้อ่านด้วย

๒๔๗๕ ราษฎรพลิกแผ่นดิน

จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้คือข้อมูลที่ผู้เขียนเพียรค้นคว้าจากเอกสารต่าง ๆ รวมถึงหนังสืองานศพจำนวนมาก แล้วนำมาร้อยเรียงเป็นเรื่องราวเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของหน้าประวัติศาสตร์สังคมและการเมืองไทย ขณะเดียวกันก็ฉายให้ผู้อ่านได้เห็นภาพชีวิตของผู้ร่วมก่อการที่มีอุดมคติและท่วงทำนองชีวิตอันหลากหลาย ไม่แห้งแล้ง เห็นถึงความมีเลือดเนื้อ อำนาจ และความเปลี่ยนแปรของสัจธรรม เป็นสารคดีเชิงประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่เก็บรายละเอียดต่าง ๆ มานำเสนออย่างได้อรรถรสและมีวรรณศิลป์ชวนอ่าน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ ๒๔๗๕ ราษฎรพลิกแผ่นดิน ของ นริศจรัสจรรยาวงศ์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดีประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

มนุษย์ซึมเศร้ากับเรื่องเล่าสีขาวดำ

หนังสือเล่มนี้กลั่นมาจากประสบการณ์ตรงของผู้เขียนที่เป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงประสบการณ์ของเพื่อนฝูงและคนรู้จักที่อยู่รายรอบ เป็นการนำเสนอถึงพลังของการต่อสู้การยอมรับตนเอง และวิธีนำพาตัวเองและผู้อื่นออกมาจากสภาวะซึมเศร้านั้นโดยใช้วิธีการหลากหลาย ทั้งวิธีการทางการแพทย์ และการปรับเปลี่ยนชีวิต จุดเด่นของหนังสือเล่มนี้ยังอยู่ที่ภาษาและลีลาการเล่าเรื่องที่มีวรรณศิลป์ สวยงาม และมีเสน่ห์ สามารถบรรยายถึง ความทุกข์ทรมานและที่มาที่ไปของการเป็นโรคซึมเศร้าของตนเองได้อย่างชวนติดตามและจบลงอย่างมีความหวัง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ มนุษย์ซึมเศร้ากับเรื่องเล่าสีขาวดำ ของ กิตติศักดิ์คงคา (นายพินต้า) ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดีประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

หลังบ้านคณะราษฏร

แม้เรื่องราวของการปฏิวัติ ๒๔๗๕ และคณะราษฎร จะมีผู้เขียนถึงมาแล้วเป็นจำนวนมาก แต่หนังสือเล่มนี้เลือกบันทึกถึงประวัติศาสตร์ช่วงนั้นในแง่มุมใหม่ที่ไม่เคยมีผู้เขียนมาก่อน นั่นคือแง่มุมของ ‘ผู้หญิง’ ที่เรียกได้ว่าเป็น ‘หลังบ้าน’ ของคณะราษฎรผู้อ่านจึงได้รับรู้ถึงส่วนเสี้ยวแห่งประวัติศาสตร์ที่อาจขาดหายไปในบันทึกอย่างเป็นทางการต่าง ๆ บทบาทคณะราษฎรที่เป็นผู้ชายมักจะมองเห็นได้ง่าย เนื่องจากอยู่หน้าฉาก การเมือง แต่บทบาทผู้หญิงที่ถูกเก็บซ่อนอยู่หลังฉากก็สำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน ผู้เขียนเก็บข้อมูลได้ละเอียดลออ และมีวิธีเล่าเรื่อง รวมถึงลีลาภาษาที่ชวนติดตาม สนุกเพลิดเพลินและได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ในช่วงเวลาสำคัญของประเทศไปด้วยพร้อมกัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ หลังบ้านคณะราษฎร ของ ชานันท์ ยอดหงษ์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

เจ้าหนูผู้พิทักษ์แห่งเกาะลิบง

“เจ้าหนูผู้พิทักษ์แห่งเกาะลิบง” เป็นเรื่องราวของเด็กหญิงอันดาสาวน้อยชั้นประถมศึกษาปีที่ ๕ เมื่อครั้งไปเยี่ยมเยียนคุณตาคุณยายที่เกาะลิบง จ.ตรัง ระหว่างนั้นได้ไปท่องเที่ยวชมสถานที่สวยงามทางธรรมชาติ ได้ความรู้เกี่ยวกับพืชทะเล สัตว์ทะเลหลากหลายชนิด เช่น ปูเสฉวน เต่าตนุ เต่ามะเฟือง หอยติบ หอยชักตีน โดยเฉพาะพะยูนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เป็นสัตว์ป่าสงวนเพียงชนิดเดียวที่เป็นสัตว์น้ำ อาศัยอยู่ในทะเลเขต อบอุ่นที่ถูกทำร้ายและลักลอบล่า รวมถึงเรื่องการผจญภัยของอันดาและเพื่อน ๆ ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีช่วยสืบหากลุ่มคนร้าย ผู้เขียน เขียนเรื่องสนุก ชวนติดตาม อ่านแล้วอยากเดินทางไปเที่ยว เพราะให้ความรู้ ความบันเทิงทั้งเรื่องของสถานที่ท่องเที่ยวทางทะเล และสัตว์ทะเลนานาชนิดสอดคล้องกับการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “เจ้าหนูผู้พิทักษ์แห่งเกาะลิบง” ของ กิติศักดิ์ศรีแก้วบวร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

ด.ช.ตุ้ม

“ด.ช.ตุ้ม” เป็นเรื่องเล่าประสบการณ์ชีวิตของเด็กชายเชื้อสายจีนในครอบครัวใหญ่ในชนบทแถบนครนายก ที่จากบ้านมาพักอาศัยที่บ้านญาติในกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาระดับประถมศึกษาในโรงเรียนเอกชน ผูิแต่งนำเสนอเนื้อหาหลากหลาย สนุกสนานและมีสาระผ่านการบอกเล่าของเด็กชายตุ้ม ในรูปแบบเรื่องสั้นรวม ๔๕ เรื่อง ซึ่งจัดเป็น ๔ กลุ่มตามพัฒนาการของตัวละครตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ถึง ๔ เสมือนเป็นตัวแทนสะท้อนอารมณ์ความคิดของเด็กที่ห่างไกลบ้านและครอบครัวที่อบอุ่น มีความสุข ความเศร้า ความใสซื่อ และซุกซนตามวัยแต่มีความรับผิดชอบต่อตนเองและการเรียน เนื้อหาของหนังสือ ‘ด.ช.ตุ้ม’ แม้จะเป็นเรื่องย้อนยุคเพื่อความสนุกสนานเพลิดเพลินแต่มีสาระและข้อคิดที่เป็นประโยชน์ แม้แต่เรื่องที่เป็น ‘ความสนุกร้าย’ ด้วยความซุกซนและขาดประสบการณ์ของเด็ก ผู้แต่งก็ได้แสดงความรู้สึกผิดของตัวละครและชี้แนวทางที่เหมาะสมไว้ การบรรยายเกี่ยวกับครอบครัวให้สาระเรื่องวิถีชีวิตชาวจีนในสมัยก่อน ที่มีความขยันอดทน และประหยัด เพื่อสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว มีความรัก ความเอื้อเฟื้อ ช่วยเหลือดูแลกันในครอบครัวและระหว่างญาติพี่น้อง นอกจากนี้ยังได้รู้ถึงธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ในชนบท สภาพแวดล้อม และสังคมของท้องถิ่นที่ตัวละครเติบโตมาทั้งในชนบทและในกรุงเทพฯซึ่งเปลี่ยนแปลงไปในปีจจุบัน หนังสือ ‘ด.ช.ตุ้ม’ มีเนื้อหาแตกต่างจากวรรณกรรมเยาวชนส่วนใหญ่ ให้ทั้งความสนุกสนาน เพลิดเพลิน สาระ ความรู้ และข้อคิดที่เป็นประโยชน์สำหรับเยาวชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้การจัดรูปเล่มมีความประณีต ตัวอักษรอ่านง่าย ชัดเจน มีภาพประกอบเป็นภาพวาดสวยงาม ให้อารมณ์และ สอดคล้องกับเนื้อเรื่องแต่ละตอน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ด.ช.ตุ้ม” ของ สุรศักดิ์ กฤษณมิษ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

บ้านที่กลับไม่ได้

บ้านที่กลับไม่ได้ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นเชิงมานุษยวิทยาจำนวน ๙ เรื่อง ของบุญเลิศ วิเศษปรีชา ผู้แต่งเล่าเรื่องของผู้คนต่างเพศต่างวัย ต่างเชื้อชาติ แต่มาใช้ชีวิตเป็นคนไร้บ้านกลางกรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ตัวละครในรวมเรื่องสั้นเล่มนี้ มีปํญหาชีวิตที่ทำให้ ต้องมากินมานอนริมถนน สวนสาธารณะ ชายคาตึกแถว ฯลฯ อาศัยอาหารบางมื้อจากโบสถ์และบางแห่งอนุญาตให้คนไร้บ้านซักผ้าได้ในวันอาทิตย์ ทำให้คนไร้บ้านได้มาพบปะกัน ผู้แต่งใช้ภาษาที่เรียบง่ายและมีชีวิตชีวาในการบรรยายฉาก บทสนทนาและพฤติกรรมของตัวละคร อย่างสมจริง สามารถสื่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละครได้อย่างชัดเจน เรื่องราวที่อยู่ในเรื่องสั้นชุดนี้เป็นเรื่องจริงที่ผู้แต่งได้สัมผัสมาด้วยตนเอง แทนที่ผู้แต่งจะเขียนเป็นสารคดีที่มุ่งให้ความรู้ทั่ว ๆ ไป กลับเลือกที่จะใช้รูปแบบเรื่องสั้น ทำให้ผู้อ่านซึมซาบประทับใจกับเรื่องที่เล่าได้เป็นอย่างดี คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น บ้านที่กลับไม่ได้ ของ บุญเลิศวิเศษปรีชา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้นประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

Family Comes First ด้วยรักและผุพัง

Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ของ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๑ เรื่อง ที่มีทิศทางไปในแนวเดียวกัน คือ เล่าเรื่องของคนไทยเชื้อสายจีนและครอบครัวจีนที่อยู่ในสังคมไทย ผู้แต่งสะท้อนลักษณะทางวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และความคิด ของสังคมแบบจีนได้อย่างเด่นชัดและกระทบใจ ทั้งเปิดเปลือยปัญหาที่แฝงฝังอยู่โดยเฉพาะพลังอำนาจที่กดทับของประเพณีและวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น ภาระหน้าที่ต่อครอบครัวหรือวงศ์ตระกูล การให้ความสำคัญแก่ลูกชายละเลยลูกสาว การต้องเก็บงำความคิดความต้องการ และตัวตนที่แท้จริง โดยแสดงผ่านตัวละครที่มีความแตกต่าง ทั้งในด้านวัยสถานะทางสังคม วุฒิภาวะ และเพศสภาพ ผู้แต่งบรรยายปูพื้นเรื่องอย่างละเอียดและแจ่มชัด ด้วยภาษาที่เรียบง่ายแต่สื่อความหมายได้ลุ่มลึก บางเรื่องใช้สัญลักษณ์ บางเรื่องเหนือจริง นำผู้อ่านไปสู้ประเด็นความขัดแย้ง และการต่อต้านของตัวละคร ที่เกิดและเติบโตอยู่ในกรอบของครอบครัว แต่ในขณะเดียวกันก็ถูกหล่อหลอมจากสังคมใหญ่ที่เป็นสากล อย่างไรก็ดี แม้เรื่องราวของเรื่องสั้นชุดนี้จะเป็นเรื่องของคนเชื้อสายจีน แต่ปัญหาและการดิ้นรนให้หลุดพ้นจากปัญหาเหล่านี้ก็เป็นเรื่องธรรมดาสามัญของมนุษย์ที่มีอยู่ในทุกสังคม ทุกยุคสมัย คณะกรรมการตัดสินจึงมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง ของ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง

สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง ของ รมณ กมลนาวิน เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๒ เรื่อง สะท้อนภาพภาวะความเป็นมนุษย์ซึ่งเต็มไปด้วยความหม่นหมองมุ่งเน้นที่ชีวิตของคนชายขอบ คนต่างด้าว คนยากไร้ ครอบครัว และความทุกข์ของมนุษยชาติ ผ่านเรื่องเล่าด้วยภาษาที่ทรงพลัง สื่อภาพและอารมณ์ความรู้สึก แสดงให้เห็นถึงความรุนแรงแตกร้าวในสังคม อาทิ ปัญหาด้านจิตวิทยาภายในครอบครัว เรื่องชนชาวเขาซึ่งเป็นปัญหาทางชาติพันธุ์ เรื่องแรงงานต่างด้าวในสังคมไทย เป็นต้น ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่โครงเรื่องซึ่งมีความซับซ่อนมีหลายมิติ บางเรื่องยอกย้อน แล้วค่อย ๆ คลี่คลายเรื่องไปในตัวเอง ผู้แต่งเล่าเรื่องอย่างมีชั้นเชิง ด้วยภาษาที่งดงามและลุ่มลึก ฉายภาพความเป็นปัจเจกบุคคลที่เต็มไปด้วยริ้วรอยแห่งความเศร้า อย่างไรก็ดี แม้เรื่องสั้นชุดนี้จะแสดงให้เห็นถึงความทุกข์นานัปการของมนุษย์ แต่ผู้เขียนก็ตรึงผู้อ่าน ให้ติดตามและมีอารมณ์ร่วมกับชะตากรรมของตัวละคร และในขณะเดียวกันก็สัมผัสถึง“ท่วงทำนองแห่งความหวัง” ที่ผู้เขียนต้องการสะกิดเตือน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น สเปโร โซนาตา ท่วงทำนองแห่งความหวัง ของ รมณ กมลนาวิน ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

วินาทีไร้น้ำหนัก

วินาทีไร้น้ำหนัก เป็นนวนิยายสะท้อนภาพชีวิตหลากหลายอาชีพในเมืองหลวงอันวุ่นวายสับสน มีคนขับรถตู้ สถาปนิก นักเรียน นักศึกษา นักเขียน แคชเชียร์สาวซูเปอร์มาร์เก็ต พนักงานเสิร์ฟร้านอาหาร หญิงชราขายน้ำที่วินรถตู้และสุนัขจรจัด ชีวิตเหล่านี้ ต่างประสบชะตากรรมหรือเกี่ยวข้องในอุบัติเหตุรถชนกันบนทางด่วนในเย็นวันศุกร์ที่ฝนตกหนักผู้เขียนเล่าเรื่องผ่านเสี้ยววินาทีที่ผู้ประสบอุบัติเหตุแต่ละคนระลึกย้อนถึงเรื่องราวของตัวละครของตัวเองความทรงจำความฝันและจินตนาการ แม้ตัวละครล้วนมีชีวิตที่ยากลำบากแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่พวกเขามีร่วมกันคือ การมุ่งไปสู่ความสำเร็จในชีวิต ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้มีสองประการ ประการแรกผู้เขียนสามารถเล่าเรื่องและบรรยายสภาพจิตใจ ความนึกคิด อารมณ์ของตัวละครได้อย่างมีรายละเอียดผสมผสานมิติ ด้านฟิสิกส์ เคมีและปรัชญาเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน ทำให้เรื่องราวชวนติดตาม ประการที่สอง ผู้เขียนสามารถชี้ให้เห็นถึงความหมายและคุณค่าของชีวิตที่ดำรงอยู่แม้ในคนเล็ก ๆ ซึ่งสังคมเคยพบ แต่ไม่เคยมองเห็น หรือให้ความสำคัญ และเราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าสิ่งเหล่านั้นมีอยู่จริง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ วินาทีไร้น้ำหนัก ของ วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือ จากไทรบุรี

เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี เป็นนวนิยายสะท้อนเรื่องราวของผู้ถูกกดขี่ผ่านความทรงจำกระจัดกระจายของตัวละครชื่อเดฟั่น โดยที่เรื่องราวของพวกเขาไม่อาจเปล่งเสียงออกมาผ่านรูปแบบเรื่องเล่าธรรมดาหรือหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ ผู้เขียนเดินเรื่องด้วยกลวิธีสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ผสมผสานกับการใช้ตำนาน (Myth) อันเป็นแก่นแท้ของการจดจารประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเป็นประวัติศาสตร์จากคนใน บอกเล่าถึงจุดกำเนิดและการล่มสลายของชุมชนท้องถิ่นที่เกิดจาก โครงสร้างอำนาจที่ไร้ความเป็นธรรม ย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อแรกอพยพของตระกูลคนเฆี่ยนเสือที่รอนแรมจากไทรบุรีบริเวณชายฝั่งอันดามัน มาปักหลักบริเวณเทือกเขาบรรทัดบนผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถูกเรียกขานตามสภาพดินฟ้าอากาศว่า “หมู่บ้านฝนแสนห่า” ความสงบสุขร่มเย็นของชุมชนเริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อพายุจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย่งจากภายนอก ส่งผลกระทบต่อชุมชนภายในอย่างลึกซึ้งและถอนรากถอนโคน ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งจริงและไม่จริง แดนเกิดของเดฟั่นกลายสภาพเป็น “หมู่บ้านกระสุนแสนห่า” ด้วยวิธีการปราบปรามจากทางการที่คร่าชีวิตผู้คนรอบตัวเดฟั่นให้ปลิดปลิวราวใบไม้ร่วง “เดฟั่นจำไม่ได้” วลีที่กล่าวซ้ำตลอดการเดินทางของเรื่องเล่า ๖๕ บท ตอกย้ำการสูญเสียชีวิต ตัวตน และความทรงจำของผู้ถูกกระทำ จนทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือ“ประวัติศาสตร์ที่เล่าไม่ได้ และไม่ได้เล่า” นี้ อาจเป็นเพราะผู้เล่าเองก็ไม่อยากจำ? คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรีของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู

รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู สะท้อนเรื่องราวความทุกข์ทรมานและความเจ็บปวดของผู้คนในสงครามมหาเอเซียบูรพา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้แพ้สงครามคือทหารญี่ปุ่น เน้นเนื้อหาการสร้างทางรถไฟจากไทยไปพม่า ซึ่งมีสถานีสุดท้ายอยู่ที่พญาตองซู ในเขตพม่า เรื่องนี้มีลักษณะเป็นเชิงสาระนิยาย เน้นข้อเท็จจริงและใช้จินตนาการซ้อนไปตามความจำเป็น เพื่อสร้างความสะเทือนใจ ส่วนที่เป็นข้อเท็จจริงเป็นข้อมูลบุคคลและสถานที่จริงในประวัติศาสตร์ ส่วนที่เป็นจินตนาการเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ของผู้เขียน ซึ่งเล่าผ่านตัวละครไทยและญี่ปุ่นที่เป็นประหนึ่งนักสำรวจประวัติศาสตร์ โดยในแต่ละจุดที่ตัวละครทั้งสองไปถึงจะมีข้อมูลเรี่องเล่าจากชาวบ้านซ้อนขึ้นมาเป็นเรื่อง ๆ เหมือนภาพศิลปะปะติดปะต่อ หรือ “Collage” ทำให้รู้ว่าท้องถิ่น ห่างไกลความเจริญ (แม้ในปัจจุบัน) ในสมัยสงคราม คือดินแดนแห่งความทุกข์ทรมาน ของมนุษย์ทั้งสองฝ่าย และทำให้รู้ว่า ความเจ็บปวดรวดร้าวของมนุษยชาตินั้นถ่ายทอดสู้กันได้แม้ว่าพวกเขาจะตายไปแล้ว นอกจากข้อเท็จจริงอันชวนตระหนกแล้ว ผู้เขียนยังสร้างความสะเทือนใจด้วยความฝัน การซ้อนภาพปัจจุบันเข้ากับอดีต การหลอกหลอนของภาวะจิต จนเป็นเรื่องกึ่งนิมิตฝันมาสอดร้อยเรื่อง ผสานเข้ากับภาษาที่เปี่ยมไปด้วยภาพจินตนาการ การปะติดปะต่อข้อมูลสงครามที่มนุษยชาติไม่อยากเอ่ยถึงจึงเป็นเหมือนการเปิดบาดแผลในอดีตให้คนปัจจุบันได้ร่วมเจ็บปวดด้วย จนอาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นนวนิยายที่ควรแก่การรับรู้ เรียนรู้ และเป็นตัวอย่างในการไม่ทำซ้ำ และในขณะเดียวกันก็นับได้ว่าเป็นรูปแบบใหม่ของการเขียนในอนาคต ที่ต้องการ “ข้อเท็จจริง” ที่ชัดเจนมากกว่า “จินตนาการ” คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รถไฟเที่ยวสุดท้ายจากพญาตองซู ของสุมาตร ภูลายยาว ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

วันนี้คือวันตายของเจ้า! HAVE A GOOD DIE

“วันนี้คือวันตายของเจ้า! HAVE A GOOD DIE” เป็นการ์ตูนตลกร้าย เนื้อหาในแต่ละหน้าพาตัวละครไปพบจุดจบคือความตาย หรือบาดเจ็บสาหัสภายใน ๔ ช่อง ความตายของตัวละครเกิดจากการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน เช่น การกินอาหาร การใช้ชีวิตคู่ การทำงาน เทคโนโลยี ความเชื่อ เป็นต้น ซึ่งแต่ละมุกตลกน่าประทับใจ สะกิดใจให้ผู้อ่านหวนคิดถึงสิ่งนั้น ๆ ที่เราเคยชินจนมองผ่านไป ช่วงท้ายเล่าประสบการณ์ทางอารมณ์และความรู้สึกที่มีต่อความตายของผู้เขียนอย่างลึกซึ้ง เก็บรายละเอียดได้ดี เป็นที่มาของการเขียนการ์ตูนเรื่องน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “วันนี้คือวันตายของเจ้า! HAVE A GOOD DIE” โดย PPONG ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูนประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๕

วิ่ง…สู่ชีวิตใหม่

“วิ่ง…สู้ชีวิตใหม่” เป็นหนังสือการ์ตูนดัดแปลงจากหนังสือแนะนำการวิ่งเพื่อสุขภาพที่ได้รับความนิยมอันดับ ๑ ในหลายสิบปีที่ผ่านมา โดย ศาสตราจารย์นายแพทย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ได้สร้างแรงบันดาลใจ เปลี่ยนแปลงชีวิตคนมาแล้วหลายล้านคนในด้านเสริมสร้างสุขภาพด้วยการวิ่ง และนำมาผลิตเป็นหนังสือการ์ตูนให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้อ่าน “วิ่ง…สู่ชีวิตใหม่” เป็นเรื่องราวของครอบครัวตัวกลม ๔ ชีวิตพ่อแม่ลูก ลูกสาวตัวอ้วนตัวละครที่ดำเนินเรื่องในครอบครัวและสังคมรอบข้าง ความอ้วนเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาของเธอ ครั้นเธอได้อ่านหนังสือ “วิ่ง…สู้ชีวิตใหม่” ทำให้ความคิดของเด็กหญิง และครอบครัวเปลี่ยนไป เป็นแรงบันดาลใจให้ทุกคนหันมาออกกำลังกายดูแลตนเองจนสามารถเป็นต้นแบบให้กับคนอื่นในชุมชน การออกแบบตัวละครสมบูรณ์แบบ ดำเนินเรื่องอย่างสมเหตุสมผล ค่อย ๆดึงข้อมูลวิชาการออกมาให้ความรู้เป็นระยะ ๆ โดยใช้เทคนิคการวาดภาพแยกโทนสีเพื่อแสดงความแตกต่างของข้อมูลวิชาการกับเนื้อหา ได้ทั้งความสนุกและความรู้เรื่องวิ่งเพื่อสุขภาพ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “วิ่ง…สู้ชีวิตใหม่” โดย เรืองศักดิ์ ดวงพลาและ THE DUANG ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูนประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

Whale Hunters (นักล่าวาฬ)

“WHALE HUNTERS (นักล่าวาฬ)” เป็นหนังสือการ์ตูนในรูปแบบ Graphic Novel ถ่ายทอดผ่าน ๔ เรื่องเล่าจากท้องทะเลที่เคยปรากฏในรูปแบบของเรื่องสั้น กวี และบทเพลง จากผลงานของผู้เขียน เป็นภาพวาดลายเส้น “คุณยังไม่ตายใช่ไหม…” เป็นคีย์เวิร์ดสำคัญของทุกเรื่องในหนังสือเรื่องนี้ เนื้อหาเปรียบเทียบเชิงปรัชญาชีวิตในการต่อสู้ทางความคิดของตนเอง ผ่านเรื่องราว ของนักล่าวาฬจากเรื่อง Whale Hunter ตลอดจนความไม่แน่นอนของสัมพันธภาพ ผ่านความรักของหญิงสาวกับคนเฝ้าประภาคารจากเรื่อง LIGHT HOUSE และเรื่อง FLOAT ถ่ายทอดเรื่องราวของแพที่อยากเป็นอิสระ กับชายเฝ้าประภาคาร ส่วนเรื่อง KIMARZ เป็นเรื่องส่งเสริมการเข้าใจตนเอง สังคม ครอบครัว การต่อสู้ชีวิต การต่อสู้กับการยึดติด ในตัวตน และความอยู่รอดของสังคม เผ่าพันธุ์ ที่มาของแรงบันดาลใจ ผู้เขียนต้องการระลึกถึงลูกชาย ที่ต้องการเป็นนักวาดการ์ตูน แต่ไม่มีโอกาสนั้น จึงถ่ายทอดเรื่องราวผ่านนักล่าวาฬ สัญลักษณ์ของความสำเร็จ และ ชื่อเสียงในสังคม “Whale Hunters (นักล่าวาฬ)” สะท้อนเสรีภาพทางความคิดของผู้อ่าน ในมุมมองต่อชีวิต ที่แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของผู้อ่าน การออกแบบภาพขาวจัดดำจัด จัดองค์ประกอบภาพหลายมุมมอง เข้ากับเรื่องราว ได้ดีหนังสือเล่มนี้เหมาะกับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “Whale Hunters (นักลาวาฬ)” ของ จเด็จ กำจรเดช ได้รางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๕

ดอย ฟ้า นา เเม่

“ดอย ฟ้า นา แม่” กวีนิพนธ์ของ “วิลักษณ์ ศรีป่าซาง” เนื้อหาเข้มข้นด้วย บรรยากาศเมืองเหนือ อันประกอบไปด้วยความเป็น “คนเมือง” ที่ยัง “อู้กำเมือง” ด้วยความ ภูมิใจ เปี่ยมด้วยบรรยากาศ แสง สี เสียง ประเพณี ที่ชวนสะเทือนไหวในอารมณ์ด้วยคม คำแห่งคำเมืองที่ปรากฏอยู่ในเนื้อสาร กวีสามารถเก็บบรรยากาศ “ล่วงสมัย” มาสอดใส่ ในเนื้อถ้อยสอดร้อยไปกับบรรยากาศ “ร่วมสมัย” ได้อย่างกลมกลืน กอปรด้วยอลังการ แห่งพลังภูมิปัญญาภาษาถิ่น และรูปแบบฉันทลักษณ์อันหลากหลาย แสดงให้เห็นความช่ำชอง ในการใช้คำอย่างมีชั้นเชิง เหมาะงามตามรูปแบบฉันทลักษณ์ที่เลือกใช้ในแต่ละช่วง โดยเฉพาะ ฉันทลักษณ์ประเภทโคลง กวีอวดฝีมือช่างสลักคำได้อย่างงดงาม อลังการ แสดงให้เห็นภูมิธรรมแห่งพื้นถิ่น ด้วยความภูมิใจในรากเหง้าของตน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลยกย่องการสืบสานขนบวรรณศิลป์ท้องถิ่น ให้ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้ประพันธ์ “ดอย ฟ้า นา แม่” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่อง ชมเชยความวิริยะอุตสาหะในการสืบสานภาษาและขนบวรรณศิลป์พื้นถิ่นของไทย

ดวงตากวี

กวีนิพนธ์ชุด ดวงตากวี ของ รินศรัทธา กาญจนวตี เป็นงานฉันทลักษณ์สร้างสรรค์ ในรูปแบบกลอนสุภาพ เนื้อหาแบ่งเป็นสามภาค ภาคแรก ‘โลกภายใน : มองลึกเข้าไปในใจนั้น’ ภาคสอง ‘โลกภายนอก : มองออกไป ในความจริง ในความฝัน’ และ ภาคสาม ‘โลกของเรา : เธอบอกฉัน ฉันบอกเธอ’ ภาคแรก ‘โลกภายใน : มองลึกเข้าไปในใจนั้น’ กวีชี้ให้เห็นถึงคุณค่าหนังสือ ความ มหัศจรรย์ของการอ่านและพลังของบทกวี อีกด้านหนึ่งกวีได้กล่าวถึงการเขียนจากมุมของ ผู้บกพร่องทางสายตา แต่เขียนขึ้นจากความรู้สึก สัมผัสด้วยใจ… “บทกวีคือดวงตาข้าพเจ้า                               เส้น แสง เงา โค้ง ขอบ ประกอบสร้าง ภาพ เสียง คำ ทุกบทกำหนดวาง                   ลึก ไกล กว้าง เกินกว่าสายตามอง” ขณะเดียวกันกวีพาผู้อ่านย้อนรำลึกความทรงจำในวัยเยาว์อันบริสุทธิ์และเปี่ยมด้วยจินตนาการ ทำให้เราเห็นภาพเหล่านั้นแจ่มชัด ตลอดจนกล่าวถึงความรักที่แม้ว่าถ่ายทอดด้วยลีลากลอน แต่ค่อนข้างเข้าถึงอารมณ์ สัมผัสได้ถึงความรู้สึกและความงามทางวรรณศิลป์ได้ไม่ยาก… “หยาดน้ำค้างหยดค้างบนยอดหญ้า               หยาดน้ำตาหยดต้องทั้งสองแก้ม หากแม้นดาวส่องจับแสงวับแวม                     คงแต่งแต้มภาพเลือนได้เหมือนใจ” ภาคสอง ‘โลกภายนอก : มองออกไป ในความจริง ในความฝัน’ ว่าด้วย ความเป็นไปของสังคม อุดมการณ์ การเมือง สงคราม ความมีน้ำใจ ความยิ่งใหญ่และ ความงามของธรรมชาติ รวมถึงบุคคลต้นแบบ เช่น นักคิด นักเขียน นักต่อสู้ นักอนุรักษ์ กวีสามารถสื่อออกมาได้ ประทับใจและสะเทือนใจ แม้บางสำนวนดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่มีมิติทางสังคมทับซ้อนอยู่เสมอ ภาคสาม ‘โลกของเรา : เธอบอกฉัน ฉันบอกเธอ’ ว่าด้วยความหวัง กำลังใจ รักศรัทธาต่อสิ่งต่าง ๆ ตลอดถึงคุณค่าความงามมวลพฤกษา ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกัน มีมุมมองต่างกัน แต่ควรมองต่างอย่างมีศิลปะ ในด้านรูปแบบ กวีมีความช่ำชองในเชิงฉันทลักษณ์ เมื่อรวมกับเสน่ห์ในการใช้ สำนวนโวหาร มีจินตนาการและอารมณกวีที่ประณีต ทำใหเห็นความงามของ “ดวงตากวี” คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี “ดวงตากวี” ของ รินศรัทธา กาญจนวตี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๕

นาฏกรรมจำนรรจ์

หนังสือกวีนิพนธ์ นาฏกรรมจำนรรจ์ ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ รวมผลงานร้อยกรอง ประกอบด้วยฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก สลับด้วยกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์หัวเดียว กวีมีประสบการณ์ในการใช้ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี แม่นยำ ชัดเจน มีลีลาน่าสนใจ เนื้อหาสาระอ่านแล้วได้ข้อคิด แฝงด้วยปรัชญาชีวิต เช่น “ก็ดูเถิดดูโลก                                   กี่สับโขกสะทกทึ้ง กี่มือที่ยื้อดึง                                      มิได้ดวงแก้วลดา กี่พลิกแผ่นดินผลาญ                       ประหัตประหารและโหยหา กี่ตื่นกี่ลืมตา                                     แล้วนิทราในทุกข์ระทม” กวีสามารถใช้ฉันทลักษณ์ได้หลากหลายรูปแบบ มีสัมผัสเชื่อมร้อยกระชับรัดกุมระหว่าง บทตลอดทั้งเล่ม มีความไพเราะ นำเสนอแนวคิดในลักษณะกระแสสำนึกเพื่อแสวงหา สาระของชีวิต โดยใช้กวีวัจนะเป็นสื่อ ด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์มีการใช้ภาพพจน์ การประดิษฐ์คำขึ้นใช้ใหม่ด้วยศิลปะการนำเสนอที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี นาฏกรรมจำนรรจ์ ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕

จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้

รวมบทกวี จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ กวีนิพนธ์จากบทสนทนาแห่งชีวิต ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ มีความโดดเด่นด้วยวรรณศิลป์ที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึก สะเทือนอารมณ์ ความเรียบง่ายของทั้งรูปแบบที่ใช้กลอนสุภาพ ภาษาที่เข้าใจง่ายรวมทั้ง ภาษาในบทสนทนา สื่อภาพและเรื่องเล่าของชีวิตผู้คนในสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ด้วยลีลาที่เฉียบคมและบาดลึก ผู้ประพันธ์ ให้ความสำคัญกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในหลากหลายมิติ ทั้งใน ครอบครัวที่ฐานะดี ด้วยความรักและความห่วงใยของพ่อแม่ที่กลับกลายเป็นการไม่เปิด โอกาสให้เด็กได้เลือกเอง ในขณะที่เด็กในครอบครัวผู้ยากไร้กลับไม่มีทางเลือกสำหรับเด็ก การใช้เรื่องราวของเด็กในรายการทีวีเพื่อเพิ่มยอดผู้ชม เรื่องของเด็กหลังห้องที่ครูอาจไม่ได้ ใส่ใจ และเรื่องของเยาวชนจากต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตในเมืองหลวง จนต้องเลือกหาทางออกอันน่าสลดใจ การนำเสนอภาพชีวิตจากหลากหลายมุมในสังคม ประกอบเสียงสนทนาในลีลาและท่วงทำนองกระชับ หนักแน่น ทำให้บทกวีนำเสนอปัญหา ความทุกข์ยากที่หลากหลายอย่างมีพลัง ในขณะเดียวกันก็สื่อแนวคิดเข้มข้นของความเหลื่อมล้ำ ในสังคมได้อย่างคมคาย เนื้อหาของรวมบทกวี ประกอบด้วย ๔ ภาค คือ ภาคหนึ่ง Pandemic: ยุคสมัย แห่งการแพร่พันธุ์ภาคสอง Romanticize: เราทำให้ทุกอย่างโรแมนติก ภาคสาม จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ และภาคสี่ ไปสู่อ้อมกอดอันเป็นนิรันดร์ ด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์สามารถใช้กลอนสุภาพเล่าเรื่องได้อย่าง หลากหลายลีลาและอารมณ์ นำเสนอปัญหาสังคมร่วมสมัยยุคโรคระบาดด้วยท่วงทำนอง เสียดสีอย่างเฉียบคมและขันขื่น เช่น มี “โรคชักหน้าไม่ถึงหลัง”                            “โรคไร้ความหวังวางจำหน่าย” แถม “โรคซึมเศร้า ซังกะตาย”                       “คนละครึ่ง” ซื้อขายได้คล่องตัว “โรค เรา ไม่เท่ากัน” แพร่พันธุ์ง่าย                  จุดส่งเสริมการขายกระจายทั่ว “โรคเหลื่อมล้ำระยะสุดท้าย” ขายถูกชัวร์      “โรคเฉยชากับความชั่ว” ขายทั่วไป… ทั้งนี้ แม้ผู้ประพันธ์จะนำเสนอปัญหาเลวร้ายที่หลากหลายในสังคมร่วมสมัย แต่ก็ไม่ได้ เคียดแค้นชิงชังและสิ้นหวัง ด้วยน้ำเสียงของแม่ เธอยังคงเห่กล่อมลูกน้อยให้มีความหวัง แม้จะตระหนักว่าโลกที่ลูกน้อยจะเติบโตไปจะพบความโหดร้ายเพียงไร “ลูกเอ๋ย…เช่นนี้แหละชีวิต                                 เจ้าอย่าพร่ำพินิจเพียงบาดแผล ศิโรราบซ้ำซ้ำ-ความอ่อนแอ                              ลั่นกุญแจคุมขังความหวังใด เจ้าจงยืมหัวใจวัยทารก                                      มาเต้นในหัวอกที่หมกไหม้ ยืมแววตาวัยเยาว์อันวาวไว                               “ชอบ” อาจหลับใหลอยู่ใน “ชัง” ด้วยคุณลักษณะโดดเด่นด้วยวรรณศิลป์ที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกและเฉียบคมดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการจึงมีมติให้หนังสือรวมบทกวี จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๕