เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 17
ให้ความหวังนำทางเรา
หนังสือเรื่อง “ให้ความหวังนำทางเรา” ของ “แพน พงศ์พนรัตน์” เล่าเรื่องการเดินทางของนักวิจัยไทยคนหนึ่ง ที่ตามติดไปในพื้นที่ประสบหายนะของญี่ปุ่น หลังเหตุการณ์สึนามิครั้งใหญ่ที่ทำให้โครงสร้างของสังคมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงไปแทบจะสิ้นเชิง ผู้เขียนไม่ได้มองผู้คนอย่างผิวเผิน ทว่าด้วยการสื่อสารภาษาญี่ปุ่นโดยตรง จึงพาผู้อ่านไปรับรู้อารมณ์ความรู้สึก การปรับตัว ความสะเทือนใจต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากโศกนาฏกรรมครั้งนั้น โดยผ่านลีลาภาษาที่เรียบง่ายแต่งดงามอย่างยิ่ง
จะไม่ทิ้งใครไว้บนเตียง
“จะไม่ทิ้งใครไว้บนเตียง” ของ “ปกาศิต แมนไทยสงค์” แม้เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับการดูแลผู้ป่วยซึ่งเป็นพี่สาวของผู้เขียน อันเป็นเรื่องในครอบครัว แต่การนำเสนออย่างมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านตระหนักถึงการ “ไม่ทิ้งใครไว้บนเตียง” ด้วยการให้กำลังใจ ดูแลเอาใจใส่ ทำให้ผู้ป่วยได้รับพลังใจจนอาการดีขึ้น จุดเด่นของหนังสือเรื่องนี้คือการเล่าความคิดของผู้เขียนด้วยภาษาสำนวนที่น่าประทับใจ สะท้อนความห่วงใยทั้งพี่สาวและแม่ เป็นแบบอย่างให้ผู้คนในสังคมตระหนักว่าการดูแลผู้ป่วยไม่ใช่หน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น แต่กำลังใจจากญาติพี่น้องและคนใกล้ชิดเป็นสิ่งสำคัญ กระทั่งกล่าวได้ว่าในบางกรณีเป็นเงื่อนไขชี้ขาดความเป็นความตายของผู้ป่วย ชื่อหนังสือ “จะไม่ทิ้งใครไว้บนเตียง” จึงเป็นทั้งปณิธานและข้อเตือนใจให้คนในสังคมไม่ทอดทิ้งผู้ป่วยหรือผู้อาวุโส ซึ่งเป็นประชากรหลักของสังคมผู้สูงวัย
My Chefs
แม้หนังสือเรื่องนี้จะตั้งประเด็น “อาหาร” เป็นแกนหลัก แต่ผู้เขียนเชื่อมโยงเรื่องราวไปสู่ความรู้อันหลากหลายทั้งประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงความทรงจำวัยเยาว์ที่เคยกินข้าวก้นบาตรพระในฐานะเด็กวัดได้อย่างน่าสนใจ หนังสือเล่มนี้พูดถึงอาหารพื้นบ้านจนกระทั่งอาหารบนภัตตาคารหรู ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ตามประสบการณ์ตรงของผู้เขียน จึงเกิดการเปรียบเทียบวัฒนธรรมอาหารไทยกับอาหารนานาชาติให้เห็นภาพความลุ่มลึกของอาหารได้อย่างชัดเจน ให้สาระความรู้ ความคิด ความสำนึกต่ออาหาร ลึกลงไปถึงระดับวัฒนธรรมอาหาร วัฒนธรรมการบริโภค ศิลปะการประกอบอาหาร กระบวนการเปลี่ยนแปลงของอาหาร ด้วยลีลาการเรียบเรียง โดยบรรยายด้วยภาษาสละสลวยงดงามราวงานวรรณกรรม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “My Chefs” ของ “อนุสรณ์ ติปยานนท์” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
มันนิซาไก คนป่าแห่งเขาบรรทัด
หนังสือเรื่องนี้แสดงการสำรวจทางมานุษยวิทยาอย่างนักวิชาการ แต่นำเสนออย่างสารคดี เป็น สารคดีสัญจรไปค้นหาคุณค่าของกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกหลงลืม และถูกมองว่าเป็นผู้ล้าหลัง อ่อนด้อยทางวัฒนธรรม แต่แท้ที่จริงแล้ว มันนิซาไกเป็นชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมอันเป็นอัตลักษณ์ของตนเอง โดยคำว่ามันนิก็แปลว่า “คน” นั่นเอง ผู้เขียนได้เข้าไปสัมผัส ศึกษา ค้นคว้า หาความเป็นจริง ถ่ายทอด ความคิด ความเชื่อ วัฒนธรรมดั้งเดิมออกมาให้สังคมคนเมืองรับรู้ได้อย่างน่าติดตาม สร้างความสะเทือนใจ เข้าใจ และเห็นอกเห็นใจไปพร้อมกัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “มันนิซาไก คนป่าแห่งเขาบรรทัด” ของ “บุหลัน รันตี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
หญิงร้าย
เป็นหนังสือที่ปรับปรุงจากวิทยานิพนธ์ แสดงถึงประวัติศาสตร์สังคมของผู้หญิงไทย ทั้งสตรีชนชั้นสูงและสามัญชน ที่ถูกกดทับ จำกัด ปิดบัง อยู่ใต้วัฒนธรรมชายเป็นใหญ่มายาวนาน ตั้งแต่ยุคต้นรัตนโกสินทร์มาจนถึงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.๒๔๗๕ หนังสือเล่มนี้ให้คุณค่าความรู้จากการทำวิจัยจริง จึงมีข้อมูลหนักแน่น แสดงให้เห็นการปะทะกันระหว่างโครงสร้างอำนาจเดิมกับกระแสความเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคสมัย นำเสนอให้ผู้อ่านเพลิดเพลินเห็นภาพชัดเจนราวกับได้อ่านนวนิยายประวัติศาสตร์เสมือนจริง นับเป็นตัวอย่างวิธีการดึงดูดให้คนรุ่นใหม่สนใจอ่านงานวิชาการด้วยเทคนิคการเขียนที่ทันสมัย แม้จะยังสามารถปรับปรุงวิธีวางโครงเรื่องและลีลาการเขียนให้อ่านราบรื่นกว่านี้ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “หญิงร้าย” ของ “วรธิภา สัตยานุศักดิ์กุล” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทสารคดี ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
Say Hi until Goodbye
“Say Hi until Goodbye” เป็นหนังสือการ์ตูนที่รวบรวมผลงานเรื่องสั้น ๆ จากเพจ Tum Ulit เล่าเรื่องด้วยภาพ มีภาษาอังกฤษประกอบ แต่ละเรื่องให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน มีทั้งประทับใจ อบอุ่น มีความสุข และเศร้า เน้นการใช้ภาพสื่อสารให้ผู้อ่านจินตนาการตามเรื่องราวเหล่านั้น การวาดภาพมีลักษณะทันสมัยเป็นสากล ตัวการ์ตูนมีลายเส้นเรียบง่าย สีสันสบายตา มีชีวิตชีวา การจัดองค์ประกอบและลำดับภาพดี คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “Say Hi until Goodbye” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓
PRESENTS FROM THE PRESENT
“PRESENTS FROM THE PRESENT” เป็นหนังสือแนวสร้างเสริมกำลังใจ มีเรื่องราวที่หลากหลาย ประกอบด้วยคำบรรยายสั้น ๆ นำเสนอมุมมองที่ดี และการทำให้ชีวิตมีความสุข เน้นการอยู่กับปัจจุบัน มีโอกาสรัก ให้อภัย มีความสุข สร้างสรรค์ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเอง และได้ลงมือทำสิ่งที่รักที่ชอบ เปรียบเสมือนของขวัญหลากหลาย สามารถสร้างให้เป็นได้จริงในปัจจุบัน ก่อนจะผ่านไปเป็นอดีต ภาพลายเส้นละเอียด สีสันสดใส ตัวการ์ตูนสวยงามมีเอกลักษณ์ ลำดับภาพและองค์ประกอบดูสบายตา มีความทันสมัย ผู้อ่านได้ใช้จินตนาการในการตีความ คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “PRESENTS FROM THE PRESENT” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓
Juice : Arrivals 3
“Juice : Arrivals 3” เรื่องราวในรั้วโรงเรียน ของ “ม่อน” กับ “ทิม” ที่มีทั้งความรัก ความผูกพัน ความขัดแย้ง และประสบการณ์ร่วมกัน ทั้งสองมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเสมอมา ถึงแม้ว่าระยะหนึ่งจะมีเหตุทำให้ทั้งสองคนต้องห่างเหินกันไปบ้าง แต่เมื่ออีกฝ่ายประสบปัญหาก็กลับมาช่วยเหลือกัน เนื้อเรื่องสะท้อนในชีวิตของวัยรุ่นยุคปัจจุบันที่มีปัญหาในเรื่องเพื่อน และความรัก ได้เป็นอย่างดี หนังสือ “Juice : Arrivals 3” มีลายเส้นทันสมัยและการให้สีสวยงาม มีมิติ แสดงบรรยากาศของฉาก สถานที่ และเอกลักษณ์ตัวละครได้ดี องค์ประกอบภาพ การลำดับภาพสามารถสื่ออารมณ์ และเล่าเรื่องได้อย่างลื่นไหลชวนติดตาม คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “Juice : Arrivals 3” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทการ์ตูน ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓
มรณเวชกรรม
“มรณเวชกรรม” เป็นหนังสือที่แนะนำพิเศษให้คนทั่วไปได้อ่าน หนังสือเล่มนี้เขียนเป็นนวนิยาย แต่ท้ายบทแต่ละบทจะมีข้อเขียนสั้น ๆ เชิงวิชาการเพื่อให้ความรู้ประกอบแก่ผู้อ่าน “มรณเวชกรรม” เป็น นวนิยายที่เล่าถึงการทำงานดูแลผู้ป่วยระยะท้าย ของคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรในภาควิชา มรณเวชศาสตร์ (Palliative Care) ซึ่งเป็นการดูแลแบบประคับประคองเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ให้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวที่เผชิญกับโรคร้ายที่ไม่อาจรักษาให้หายได้ เป็นการดูแลแบบองค์รวมเพื่อป้องกันและรักษาทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ นวนิยายเล่มนี้มีรสของความบันเทิงครบถ้วนทั้งความโศกเศร้า ความระทึกขวัญ ความตลกขบขัน ผู้อ่านจึงอ่านสนุกอ่านเพลินไปพร้อมกับได้ข้อคิดถึงการเตรียมตัวตายอย่างมีสติ ทั้งผู้ป่วยและผู้ใกล้ชิด
The Boy Who Never Grows เด็กไม่รู้จักโต (Hard Cover Edition)
มนุษย์ทุกคนย่อมเจริญเติบโตตามกาลเวลาจากทารกเป็นเด็ก จากเด็กเป็นหนุ่มสาว จากหนุ่มสาวเป็นผู้ใหญ่ และจากผู้ใหญ่เป็นคนชรา แต่มีนักเขียนนวนิยายที่ใช้นามแฝง เจนมานะ ไม่ยอมให้เด็กคนหนึ่งเจริญเติบโตตามปกติ ไว้ในนวนิยายเรื่อง “เด็กไม่รู้จักโต” นวนิยายเรื่องนี้ เล่าเรื่องเด็กชายที่ฟื้นจากความตายและมีลักษณะแปลกประหลาดมหัศจรรย์คือ ร่างกายหยุดการเจริญเติบโตและสูญเสียความทรงจำ เขาสงสัยในความผิดปกติของตัวเอง จึงทำให้ออกเดินทางครั้งใหญ่เพื่อตามหาความจริงตามร่องรอยของปริศนาที่ถูกทิ้งไว้ เขาได้พบกับผู้คน สิ่งของและเหตุการณ์มหัศจรรย์มากมาย ที่สำคัญคือ “ห้องสมุดแห่งสถานที่” และ “ห้องสมุดแห่งกาลเวลา” ซึ่งเป็นที่รวบรวมหนังสือชีวประวัติมนุษย์แต่ละคน จนในที่สุดเด็กชายก็ได้พบหนังสือปกดำที่นำเขาไปสู่ความจริง ผู้เขียนนำเสนอเรื่องราวแบบแฟนตาซี ซึ่งมีเรื่องมหัศจรรย์และเหนือจริง และเล่าเรื่องด้วยสำนวนภาษาที่สละสลวย เห็นภาพ ได้ยินเสียง ชวนให้ผู้อ่านได้ติดตามเรื่องราว โลดแล่นไปกับจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ นวนิยายเรื่องนี้มิใช่เรื่องเบาสมองสำหรับเด็ก แต่เป็นเรื่องหนักสมองสำหรับผู้ใหญ่ ผู้เขียนวิพากษ์ชีวิตมนุษย์ไว้อย่างแยบยล เช่น เรื่องมลพิษ ความไม่สนใจหนังสือแต่ให้ความสนใจกับอินเทอร์เน็ตแทน และการเลือกลืมเรื่องราวที่เจ็บปวด แม้นวนิยายเรื่องนี้ จะแสดงให้เห็นว่าความเป็นเด็กคือความใสสะอาดบริสุทธิ์และไร้เดียงสา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นที่หลบซ่อนและปฏิเสธความจริงอันโหดร้ายด้วย แต่แนวคิดสำคัญของ นวนิยายเรื่องนี้คือความกล้าที่จะเผชิญกับความจริงเพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้นวนิยายเรื่อง “เด็กไม่รู้จักโต” ของเจนมานะ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓
เลือดข้นคนจาง
หลังเปิดพินัยกรรมไม่กี่วัน ทายาทคนโตของตระกูลจิระอนันต์ ก็ถูกฆาตกรรมอย่างมีเงื่อนงำ ด้วยน้ำมือของผู้ต้องสงสัยที่น่าจะเป็นใครคนใดคนหนึ่งในตระกูล ดูเผิน ๆ แล้ว โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นในนวนิยายแนวสืบสวน-สอบสวนเรื่อง “เลือดข้นคนจาง” ของ “ฤทัยวรรณ วงศ์สิรสวัสดิ์” ก็ไม่ต่างจากเรื่องราวที่พบเห็นได้ทั่วไปในครอบครัวนักธุรกิจชาวจีนผู้มั่งคั่ง ที่ความโลภและความริษยาระหว่างพี่น้องสายเลือดเดียวกัน นำไปสู่จุดจบที่อื้อฉาวดังปรากฏพาดหัวข่าวอยู่เนือง ๆ อย่างไรก็ตาม หากพิเคราะห์อย่างลึกซึ้ง ผ่านพื้นที่แต่ละบท ที่ผู้เขียนเปิดโอกาสให้แต่ละตัวละครสะท้อนมุมมอง และระบายความในใจออกมา สิ่งสำคัญยิ่งกว่าการเปิดเผยตัวฆาตกร คือการค้นพบว่า จารีตแห่งความเหลื่อมล้ำระหว่างชาย-หญิง ต่างหาก ที่เป็นผู้ร้ายตัวจริง ขนบธรรมเนียมซึ่งเปิดโอกาสให้เพศชายผูกขาดอำนาจ มอบอภิสิทธิ์ให้ผู้ชาย–โดยเฉพาะบุตรชาย/หลานชายคนโต สร้างความไม่เท่าเทียมกันอย่างยิ่งยวดระหว่างลูกชายและลูกสาว สิ่งเหล่านี้ถูกบ่มเพาะ ฝังราก ตอกย้ำด้วยพิธีกรรม และส่งผ่านให้คนรุ่นแล้วรุ่นเล่า กลายเป็นยาพิษที่ไหลเวียนอยู่ในระบบ กัดกร่อนสัมพันธภาพ ก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ แก่งแย่งแข่งขัน และทำให้ความรักและภราดรภาพระหว่างพี่น้องร่วมสายเลือดมิอาจเกิดขึ้นได้จริง “หากเรื่องเล่าที่ดี คือเรื่องเล่าที่ทำให้เชื่อขณะอ่าน และเปลี่ยนผู้อ่านเมื่อปิดหน้าสุดท้าย” นวนิยายเรื่องเลือดข้นคนจาง ถือว่าเป็นเรื่องเล่าที่ดียิ่งไปกว่านั้น เพราะสารอันทรงพลัง ที่สอดแทรกผ่านเหตุการณ์และเรื่องราวของตัวละคร ทำให้เมื่อปิดหน้าสุดท้าย ผู้อ่านกล้าฝันถึงการถือกำเนิดขึ้นของยุคใหม่ ยุคที่อคติและความเหลื่อมล้ำทางเพศถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ยุคที่เมล็ดพันธุ์แห่งความรักและความเท่าเทียม ได้รับการปลูกฝังและเบ่งบานในหัวใจของสมาชิกทั้งชายและหญิงโดยตั้งต้นจากพื้นที่ในครอบครัว ซึ่งเป็นหน่วยพื้นฐานสำคัญอันดับแรกของสังคม ด้วยกลวิธีในการประพันธ์ เนื้อหาสาระ และคุณค่าที่ปรากฏในนวนิยายเรื่องนี้ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “เลือดข้นคนจาง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓
ไต้ก๋ง
“ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด และส่วนใดของทะเล เขาจะต้องร่าเริง เปี่ยมด้วยพลังเหมือนเกลียวคลื่น…” นี่คือความคิดคำนึง และปณิธาณของ “กิ่ง” เด็กหนุ่มลูกเรือประมงที่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าในวันข้างหน้าของตน “ไต้ก๋ง” นวนิยายของ “ประชาคม ลุนาชัย” บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเผชิญความ ท้าทาย ชะตากรรมอันหนักหน่วง ดุจจะทดสอบความมั่นคงแห่งจิตใจอันมุ่งมั่นหาญกล้าของเขา จากลูกเรือสู่หน้าที่อันสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็น “ไต้ก๋ง” ผู้นำเรือลำที่โอ่อ่าพรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือประมงอันทันสมัย คืนวันผ่านไปปีแล้วปีเล่า ความรัก ความหวังที่สมหวังและผิดหวัง ความยากลำบากที่มิได้คาดฝัน ท่ามกลางท้องทะเลกว้าง บางครั้งเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์และเรื่องเล่าขานถึง “ไต๋กิ่ง” หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ผู้ประพันธ์สร้าง “กิ่ง” ให้มีชีวิตโลดแล่นไปตามบทบาทต่าง ๆ ของแต่ละช่วงวัยได้อย่างเข้มข้น ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตชาวประมง ลูกเรือที่มีทั้งด้านมืด และด้านสว่างที่เราอาจไม่เคยรู้แต่ทว่ามีอยู่จริง ธุรกิจประมงระหว่างนายทุนกับลูกเรือ ตลอดจนปัญหาระหว่างน่านน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยวรรณศิลป์อันคมคาย ลุ่มลึก ให้รายละเอียดในทุกจังหวะชีวิตของตัวละคร สามารถทำให้ผู้อ่านสะเทือนใจไปกับชะตากรรมของกิ่ง และสัมผัสได้ถึงบุคลิกอันโดดเด่นของเขา นั่นคือ ความซื่อตรง ความอดทน ความสุขุมและความเรียบง่ายในการดำรงชีวิต ที่สำคัญคือการ “ให้” แก่ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยกว่า นับเป็นความงดงามอย่างยิ่งของมนุษย์ ด้วยเนื้อหาที่มีคุณค่าและแสดงความหมายของชีวิต ตลอดจนการดำเนินเรื่องอย่างสอดคล้อง และภาษาวรรณศิลป์อันมีพลังส่งให้ทุกตัวละครแสดงอารมณ์ของปุถุชนอันมิอาจปฏิเสธได้และมีชีวิตชีวาดูราวกับเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้าผู้อ่าน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ไต้ก๋ง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓
ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ
“ ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ” ของ “บัญชา อ่อนดี” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๐ เรื่องที่สะท้อนความเข้าใจชีวิตผ่านปัญหาที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างคนกับคน คนกับความคิด และคนกับสิ่งแวดล้อม โดยขุดเอาปมเหง้าของปัญหาในชีวิตที่แตกต่างหลากหลายในสังคมมาเขียนได้อย่างลึกซึ้ง อาทิ เรื่องชาติพันธุ์ การรุกล้ำชีวิตของสัตว์และผลพวงของการกระทำ กลไกการทำงานของความเป็นแม่ มนุษย์กับอดีต เป็นการตั้งคำถามกับชีวิตด้วยลีลาการเขียนที่แยบยล ซับซ้อน และใช้ภาษาที่สอดคล้องกับเรื่องราว ให้ความรู้สึกกระทบใจ บางเรื่องมีอารมณ์ขัน มีชีวิตชีวา คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น “ไร้สัญชาติและตัวละครอื่น ๆ” ของ “บัญชา อ่อนดี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
๒๔ ชั่วโมง
“๒๔ ชั่วโมง” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๔ เรื่อง ของ “แพรพลอย วนัช” ที่ถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิต และสัมพันธภาพของคนในสังคม ซึ่งดำเนินไปในแต่ละวัน ผ่านเรื่องราวของตัวละครหลากหลายสถานะ หลากหลายแง่มุม หลากหลายเรื่อง และหลากหลายรส ผู้เขียนสะท้อนปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างสมจริง บางเรื่องท้าทายความคิด บางเรื่องสร้างแรงสะเทือนใจ บางเรื่องเป็นอุทาหรณ์ให้เข้าใจโลกและชีวิต ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ชั้นเชิงในการนำเสนอเนื้อหาได้อย่างสร้างสรรค์และน่าสนใจ มีการใช้สัญลักษณ์ มีความเปรียบที่แปลกใหม่ ใช้ภาษาเล่าเรื่องที่เป็นธรรมชาติ ทำให้ผู้อ่านได้สัมผัสเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในครอบครัวและสังคมอย่างลึกซึ้ง คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น “๒๔ ชั่วโมง” ของ “แพรพลอย วนัช” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่น ๆ
“เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติอื่น ๆ” ของ “กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๙ เรื่องที่ถ่ายทอดเรื่องราว ปัญหา และอารมณ์ความรู้สึกของคนที่ต่อสู้ดิ้นรนอยู่ในสังคมสมัยใหม่ได้อย่างลุ่มลึกและมีพลัง แต่ละเรื่องเปิดเปลือยความรู้สึกนึกคิดที่ซ่อนเร้นของตัวละคร ทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ทั้งความหม่นมัวและความดีงามที่ซ้อนทับซับซ้อนอยู่ในจิตใจของคนเหล่านั้น ความโดดเด่นของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือการสะท้อนเรื่องราวและปัญหาหลากหลายแง่มุมของผู้หญิงในสังคมปัจจุบัน เน้นย้ำให้เห็นถึงความมีตัวตน มีอารมณ์ มีความคิด และวิธีจัดการกับปัญหาในแบบของตนเอง ผู้เขียนใช้กลวิธีเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย ตรงไปตรงมา มีรายละเอียดที่สมจริง ทำให้ผู้อ่านเห็นภาพและมีอารมณ์ร่วม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น “เรื่องราวในหนึ่งวันกับเหตุการณ์ไม่ปกติ อื่น ๆ” ของ “กฤติศิลป์ ศักดิ์ศิริ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
หน้ากากยิ้มของสิงโต
“หน้ากากยิ้มของสิงโต” เป็นเรื่องที่สะท้อนภาพจากจินตนาการ การดำเนินเรื่องใช้แนวสัญลักษณ์ แต่สร้างเรื่องให้เป็นแนวสมจริง โดยใช้กลวิธีสวมหน้ากากและให้ตัวละครผู้หญิงและผู้ชายสลับกันเล่าเรื่อง “คุณอยากฟังเรื่องจริงหรือเรื่องที่ฉันอยากเล่า” ผู้ประพันธ์นำนิทานมาเล่าไว้ ๓ เรื่อง เป็นนิทานที่ให้แง่คิดดี เสมือนเป็นตัวแทนความคิด ความรู้สึก ความปรารถนาของตัวละคร ผ่านเรื่องราวในนิทาน เรื่องสนุกได้เห็นจินตนาการ แนวคิด การใช้ชีวิตของวัยรุ่นที่มีสีสัน ตื่นเต้นเร้าใจ เป็นเรื่องอ่านสบาย ๆ บางเหตุการณ์ในเรื่องแสดงพฤติกรรมที่ไม่อาจคาดเดา ท้ายเรื่องทั้งสองได้เปิดเผยตัวตนและเรื่องราวที่เป็นเหตุผลให้สวมหน้ากาก ประเด็นสำคัญจากบทประพันธ์เรื่องนี้ คือ การเน้นย้ำให้ตระหนักว่า “บางครั้งรอยยิ้มอาจเป็นสัญลักษณ์ของความสุข แต่บางเวลามันอาจเป็นเพียงหน้ากากรูปแบบหนึ่ง” คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “หน้ากากยิ้มของสิงโต” ของ “กนกศักดิ์ เรือนทอง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
รองเท้าโลหะ
“รองเท้าโลหะ” เป็นชีวิตของเด็กหนุ่มวัย ๑๕ ปีที่ประสบชะตากรรมพลิกชีวิตจากนักเรียนมัธยมศึกษา กลายเป็นลูกกำพร้าสูญเสียพ่อแม่ และขาทั้งสองข้างอย่างกะทันหันในคราวเดียวด้วยอุบัติเหตุรถยนต์ ต้องรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนานเกือบปี จึงแข็งแรงและก้าวพ้นความบอบช้ำทางจิตใจ มีความเข้มแข็งที่จะอยู่ในโลกแห่งความจริงในสภาพของผู้พิการใช้ขาเทียม และดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปที่บ้านเดิมของตน เรื่องราวต่าง ๆ เป็นแบบสมจริงสลับจินตนาการของตัวละครและเรื่องในอดีตสลับกับปัจจุบัน นำเสนอโดยการบรรยายของตัวละครเอก การสนทนาและกิจกรรมระหว่างเขากับบุคคลต่าง ๆ โดยเฉพาะน้องชายในจินตนาการ ที่เกิดจากอาการป่วยทางจิตซึ่งเป็นผลจากความกระทบกระเทือนจิตใจจากการตายของน้องชายผู้เป็นที่รัก ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะประสบอุบัติเหตุ ผู้ประพันธ์มีความสามารถในการสร้างโครงเรื่องที่หนักและซับซ้อนให้ชวนติดตาม ด้วยการสร้างมุมมองของตัวละครเอกต่อชีวิตในเชิงบวก และพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์เมื่อเขากลับมาอยู่บ้านในสภาพ ผู้พิการโดยมีน้าให้ความช่วยเหลือดูแล เช่น การให้กำลังใจเด็กในการแข่งกีฬา การมอบรองเท้ากีฬาคู่พิเศษซึ่งเป็นสัญลักษณ์และเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง ที่ซื้อไว้ก่อนเกิดอุบัติเหตุแก่ญาติผู้น้อง และการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแม้ในเรื่องเล็กน้อย ทำให้เข้าใจได้ว่าเขาได้ก้าวข้ามความสูญเสียมาสู่โลกแห่งความจริง และจะสามารถดำเนินชีวิตในสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ นอกจากนี้ผู้ประพันธ์บรรยายสิ่งต่าง ๆ ละเอียดชัดเจนจนมองเห็นภาพ บทสนทนาเป็นธรรมชาติเหมาะสมกับตัวละคร แทรกข้อคิด มีการเปรียบเทียบ และอารมณ์ขัน คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “รองเท้าโลหะ” ของ “จิระพนธ์ ขันชารี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
คล้ายว่าน่าน เพิ่งพ้นผ่านไม่นานนัก
เรื่องเล่าประสบการณ์การเดินทาง ผ่านตัวละครหลัก คือ “ลูกชายวัยรุ่น” ที่แม่พาแยกจากพ่อ จากเหนือมาอยู่ใต้ตั้งแต่เล็ก แล้ววันหนึ่งลูกชายได้กลับมาหาพ่อที่น่าน ผู้ประพันธ์เขียนด้วยภาษาเรียบ ๆ เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ตัวละครมีความคิด และทัศนคติในการมองชีวิตเชิงบวก ผ่านการใช้ชีวิตกับแม่ ครู เพื่อน และในวันที่มาเยือนพ่อ หลังจากที่ไม่ได้พบกันมานาน อ่านแล้วสัมผัสได้ถึงใจที่เคว้งคว้างของเด็ก ที่อยากให้ครอบครัวเป็นครอบครัว อยากให้พ่อแม่อยู่ด้วยกัน ในวันที่พ่อทิ้งไป ตอนวัยเด็กนั้นอาจจะเศร้า แต่ก็คิดได้ว่าถ้าอยู่ด้วยกันแล้วไม่สบายใจ การแยกกันอยู่ก็คงดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะอยู่ หรือ แยก แม่ก็ยังเป็นแม่ พ่อก็ยังเป็นพ่อ แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันมานานถึง ๑๗ ปี ในวันที่มาเจอกันนั้น ความจริงตรงหน้า คือ ร่างกายของพ่อเปลี่ยนไปตามวัย แต่ภาพของพ่อในใจลูก ไม่เปลี่ยนไปเลย ยังคงแจ่มชัดเช่นเดิม เสน่ห์ของหนังสือนี้ คือผู้ประพันธ์ใช้แง่งามของแต่ละชีวิต เชื่อมโยงวัฒนธรรมต่างยุค อยู่ร่วมสมัยด้วย ศิลปะ ดนตรี หนังสือ กวีนิพนธ์ และอาหาร ด้วยความเข้าใจ คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “คล้ายว่าน่าน เพิ่งพ้นผ่านไม่นานนัก” ของ “ปรัชวิชญ์ บุญยะวันตัง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ฮัก ฮีต ฮอย ลูกชาวนาอีสาน
หนังสือเรื่องนี้เป็นบันเทิงคดี บันทึกชีวิตชาวนาอีสานซึ่งเรียบเรียงจากประสบการณ์วัยเด็กระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๕ – พ.ศ. ๒๕๓๐ ของ “บักหำ” ลูกชายคนเล็กในครอบครัวชาวนาที่อบอุ่น มีพ่อแม่และพี่สาวคอยดูแลสั่งสอน และเป็นแบบอย่างที่ดี เนื้อเรื่องเล่าถึง บุคคล สถานที่ เหตุการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ ตามวิถีชีวิตของชาวนาอีสานในแต่ละฤดูกาลในรอบปี กล่าวถึงชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ชีวิต และการเล่นสนุกของเด็ก ๆ การดิ้นรนทำงานของชาวนาอีสานในสภาพสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัว นอกจากนี้ยังให้ความรู้เกี่ยวกับท้องถิ่น ในด้านการตั้งถิ่นฐาน ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม ธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา ความเชื่อ และคติชีวิตของชาวอีสาน ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องโดยแบ่งเป็น ๙๐ ตอน แต่ละตอนมีชื่อที่สะท้อนเนื้อหา มีสารบัญ และมีบท “ที่มาของเรื่องเล่า” ท้ายเล่ม อธิบายคำสำคัญของหนังสือ เช่น ทางเกวียน หมู่บ้าน เล้าข้าว คอกควาย ลานบ้าน โคกและป่า ทุ่งนา จารีต ฮีต คอง สำนวนภาษาที่ใช้มี ๒ ลักษณะคือ ภาษาไทยมาตรฐาน ใช้ในการบรรยายสิ่งต่าง ๆ และภาษาถิ่น ใช้ในบทสนทนาระหว่างตัวละคร ซึ่งการใช้ภาษาถิ่นแม้ว่าจะสร้างความสมจริงและให้ความรู้ด้านภาษา แต่ก็ทำให้ผู้อ่านที่ไม่คุ้นเคยกับภาษาอีสานยากที่จะเข้าใจเนื้อความได้ครบถ้วน อย่างไรก็ตามด้วยเนื้อเรื่องที่สนุกสนาน สาระที่น่าสนใจ และแตกต่างจากหนังสือแนวชนบทอีสานเรื่องอื่น ๆ ทำให้หนังสือเรื่อง “ฮัก ฮีต ฮอย ลูกชาวนาอีสาน” เป็นหนังสือที่มีคุณค่าและน่าอ่านเรื่องหนึ่ง
อโศก…ฟ้าพลิกดิน
“อโศก…ฟ้าพลิกดิน” เป็นหนังสือที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนา โดยนำประวัติของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ผู้เผยแผ่ธรรมะให้แก่พระญาติ ข้าราชการ ไปจนถึงประชาชนทั่วไป ผู้เขียนทำการค้นคว้า ให้เห็นถึงจุดเด่นของศาสนาพุทธที่ทำให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเปลี่ยนความคิดและทรงปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน อีกทั้งทรงเป็นตัวอย่างอันดีในการดำเนินพระชนม์ชีพ ตามหลักศาสนาพุทธทำให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ และศรัทธาในพระศาสนา ทรงแสดงให้เห็นถึงความเหมือน ความแตกต่างและการประนีประนอมกันระหว่างศาสนาพราหมณ์ ศาสนาฮินดู และศาสนาพุทธที่อยู่ร่วมกันได้จนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนนำเสนอเนื้อหาเป็นเรื่อง ๆ สั้น ๆ ทำให้อ่านเข้าใจง่าย สอดแทรกสาระความรู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในเนื้อหาและในคำอธิบายเพิ่มเติม แต่ละตอนมีตัวละครเป็นผู้ดำเนินเรื่อง มีบทสนทนา ภาพประกอบงดงาม ทำให้หนังสือน่าอ่านยิ่งขึ้น
หมอยาน้อย
“หมอยาน้อย” เป็นเรื่องราวของเด็กชายคนหนึ่งซึ่งเติบโตมาในสังคมชนบทแถบชานเมืองพัทลุง ผู้ประพันธ์ได้สอดแทรกสภาพภูมิประเทศ สถานที่สำคัญ วัฒนธรรม ประเพณี ตลอดจนชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในท้องถิ่นไว้ในฉาก และเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่ดำเนินไปตามท้องเรื่องอย่างผสมกลมกลืน เปิดเรื่องโดยปรมินทร์ตัวเอกของเรื่องกำลังจะเข้ารับรางวัลนักวิจัยไทยผู้มีผลงานโดดเด่น เป็นที่น่าภาคภูมิใจ จนทำให้เขานึกย้อนภาพความทรงจำ นึกถึงพ่อแม่ญาติพี่น้อง ครู และเพื่อน ๆ ในโรงเรียน ประกอบเรื่องราวต่าง ๆ ที่มีส่วนทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต ผู้อ่านได้รู้จักแหล่งเรียนรู้อันมีคุณค่า ได้ความรู้เรื่องคุณประโยชน์ของพืชสมุนไพรไทยหลากชนิด ได้ข้อคิดในการปฏิบัติตน มีความมุ่งมั่นพากเพียร การใฝ่หาความรู้ตลอดชีวิต
เรื่องเล่าของพลอยดาว
“เรื่องเล่าของพลอยดาว” เป็นเรื่องชีวิตครอบครัว ของเด็กหญิงอายุ ๑๑ ปีซึ่งมีพ่อเป็นครูดอยในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต้องเดินทางไปสอนที่โรงเรียนห่างไกลจากบ้านในเมือง เด็กหญิงพลอยดาวต้องเดินทางเพียงลำพังไปเยี่ยมพ่อที่บ้านพักของโรงเรียนในวันหยุดสุดสัปดาห์ เพราะแม่ต้องดูแลกิจการร้านหนังสือ เมื่ออยู่กับพ่อ พลอยดาวได้เรียนรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ได้ส่องกล้องดูดาว เป็นประสบการณ์ตรง เพิ่มเติมจากสิ่งที่ได้รู้จากหนังสือที่แม่ซึ่งเป็นนักเขียนแนะนำให้อ่าน การเดินทางไปเยี่ยมพ่อของพลอยดาว ทำให้ผู้อ่านได้รู้จักปางอุ๋ง สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของแม่ฮ่องสอน และหมู่บ้านรักไทย ทำให้เกิดการเปรียบเทียบระหว่างภูเขากับทะเลเมื่อครอบครัวได้ไปเที่ยวทะเลที่ชลบุรีซึ่งเป็นบ้านเกิดของแม่ พลอยดาวจึงรู้ว่าเธอชอบภูเขามากกว่าทะเล เรื่องนี้ผู้อ่านจะได้สัมผัสชีวิตครอบครัวที่มีความสงบสุข มีความเข้าใจและเอื้ออาทรต่อกัน แม้บางครั้งจะมีความคิดที่แตกต่างกันบ้าง คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “เรื่องเล่าของพลอยดาว” ของ “อัชฌาฐิณี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชนประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
โลกของมดแดงกับแตงกวา (เอยด้วย!) ตอน ความลับใต้ผืนทราย
“โลกของมดแดงกับแตงกวา (เอยด้วย!) ตอน ความลับใต้ผืนทราย” เป็นวรรณกรรมเยาวชน ที่ผู้เขียนนำเสนอเรื่องเป็นตอนสั้น ๆ ชวนให้อ่านและติดตาม ตัวละครเอก มดแดงกับแตงกวาและเอย สามสหาย พร้อมครอบครัวเดินทางไปที่ภูเก็ต ระหว่างพักที่ภูเก็ตได้ท่องเที่ยวและทำกิจกรรมต่าง ๆ เรื่องตื่นเต้น น่าสนใจ คือ การวางไข่ของเต่าทะเล ซึ่งมีปัญหาเต่าไม่ขึ้นมาวางไข่หลายปี การพบไข่เต่าเป็นเรื่องที่แตงกวาสัญญาว่าจะต้องรักษาไว้เป็นความลับ ผู้เขียนนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ให้ผู้อ่านเกิดความตระหนัก เพื่อช่วยกันรักษาท้องทะเลให้สะอาดและปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล วิธีนำเสนอเรื่องเป็นแนวสมจริง เรียบง่าย ชวนติดตาม มีความรักในครอบครัว มีน้ำใจไมตรีต่อเพื่อน ตัวละครมีชีวิตชีวา เนื้อหาสอดแทรกความรู้ คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “โลกของมดแดงกับแตงกวา (เอยด้วย!) ตอน ความลับใต้ผืนทราย” ของ “งามพรรณ เวชชาชีวะ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ลูกไม้กลายพันธุ์
“ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น” เป็นคำพังเพยที่สะท้อนค่านิยมว่า ลูกมักจะมีวิถีชีวิตหรือพฤติกรรมที่ไม่ต่างจากพ่อแม่ ความเชื่อนี้เป็นเหมือนดาบสองคม ถ้าพ่อแม่ดี ก็จะเชิดชูให้ลูกดีด้วย แต่ในทางกลับกัน ถ้าพ่อแม่ทำผิดพลาด อคติที่เกิดแก่ลูกคือตราบาปว่า “ไม่มีวันดีไปได้” “ลูกไม้กลายพันธุ์” ของ “จันทรา รัศมีทอง” ได้นำเสนอเรื่องราวของเตชิต ลูกชายคนโตของครอบครัวผู้มีฐานะที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ถูกส่งมาอยู่กับปู่ที่สวนในจังหวัดจันทบุรี หลังจากที่ความจริงเปิดเผยว่าพ่อแม่ของเขาไม่ใช่ผู้ให้กำเนิดที่แท้จริง เขาต้องเก็บความขื่นขม ปรับตัวในสภาพแวดล้อมและกิจวัตรที่ปู่เป็นผู้กำหนด ต้องปรับตัวให้เข้ากับเพื่อนใหม่ในโรงเรียนชนบท ซึ่งมีทั้งลูกผู้มีอิทธิพล ลูกชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เขมรและชอง เขาเลือกที่จะผดุงความยุติธรรมให้แก่เพื่อนที่ถูกเหยียดหยามและถูกรังแก จากความเป็นศัตรู มิตรภาพค่อย ๆ บ่มเพาะจากกิจกรรมในโรงเรียนและการกีฬา เด็ก ๆ ได้เรียนรู้การแบ่งปัน เผื่อแผ่ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม และการให้อภัย ในที่สุดบ้านสวนก็ได้เปลี่ยนเตชิตเป็นคนใหม่ ที่เป็น “ลูกไม้กลายพันธุ์” ตามหนทางที่เขาเลือกจะเป็น “จันทรา รัศมีทอง” ดำเนินเรื่องด้วยสำนวนภาษาสละสลวย ผ่านมุมมองของเตชิต ทำให้ผู้อ่านได้รับรู้ความคับแค้น ขมขื่น กดดันจากครอบครัวที่ผลักไสเขาออกไป และเอาใจช่วยให้เตชิต มุมานะ ต่อสู้เอาชนะคำสบประมาทต่าง ๆ ด้วยจิตสำนึกใฝ่ดีที่ผู้เขียนเชื่อว่ามีอยู่ในมนุษย์ทุกคน สายเลือดไม่สำคัญเท่ากับทางเดินชีวิตที่เรากำหนดเองอันเป็นแนวคิดสำคัญของเรื่อง คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “ลูกไม้กลายพันธุ์” ของ “จันทรา รัศมีทอง” ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชน ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ดวงตาหิ่งห้อย
“ดวงตาหิ่งห้อย” ของ “ปริม” เป็นหนังสือในโครงการ “วิธีสมุดบันทึก” ที่ส่งเสริมให้เยาวชนเขียนบันทึกทุกวัน ผู้เขียนซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุเพียง ๑๒ ปี เลือกใช้รูปแบบคำประพันธ์ประเภทโคลงในการจดบันทึกประจำวันโดยแต่งโคลงวันละ ๒ บททุกวัน นอกจากโคลงสี่สุภาพแล้ว บางวันใช้โคลงกลบท ได้แก่ กลบทบุษบงแย้มผกา กลบทจาตุรทิศ โคลงกระทู้ และโคลงโบราณมหาสินธุมาลี แสดงถึงความรักในการประพันธ์และความเพียรในการสืบสานรูปแบบคำประพันธ์โบราณของเยาวชนซึ่งหาได้ยากในปัจจุบัน ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ “เด็กหญิงศุภาพิชญ์ พรอำนวยผล” ผู้ประพันธ์ “ดวงตาหิ่งห้อย” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยในการเป็นเยาวชนต้นแบบการสืบสานขนบวรรณศิลป์ของไทย
ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต
ต้นฉบับรวมบทกวี “ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต” ของ “นนทพัทธ์ หิรัญเรือง” เป็นงานฉันทลักษณ์หลากรูปแบบ อย่างเช่น กลอนแปด กลอนหก กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ โดยผู้เขียนได้แบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรกตั้งชื่อ ‘ชีวิตในพรุ่งนี้’ ส่วนช่วงหลัง ‘พรุ่งนี้ในชีวิต’ ซึ่งเล่นคำสลับกันอย่างลงตัว แม้ว่างานชุดนี้เขียนขึ้นต่างกรรมต่างวาระ แต่เมื่อนำมารวมกันถือว่าเข้าชุดในความหมายของ ‘พรุ่งนี้’ ที่ทำให้ผู้อ่านมีความหวัง และเมื่อชีวิตมีความหวัง กำลังใจก็ตามมา ด้านรูปแบบแม้บางสำนวนอาจไม่สมบูรณ์ในฉันทลักษณ์ แต่ด้านเนื้อหาและลีลาวรรณศิลป์ถือว่ามีความโดดเด่น เรื่องราวส่วนใหญ่ผู้เขียนมักหยิบเอาประสบการณ์รอบ ๆ ตัวมาถ่ายทอด อาทิ จากการอ่านหนังสือวรรณกรรม ดังตัวอย่าง… “แสนล้านเล่มไหลหลามข้ามสะพาน โดยบรรทุกจิตวิญญาณแต่โพ้นเหย้า ถ่ายทอดบรรทัดส่งบันทึกสำนึกเนา ผลัดกันเล่าเปลี่ยนกันรักในวรรควลี” หรือประสบการณ์จากการเป็นครูบรรจุใหม่… “เช้าแรกหลังเลิกแถวหน้าเสาธง บางพะวงวับสลายฉายยิ้มปรี่ ”รีบขึ้นสอนเถอะครูขาอย่าช้าที’ ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต” ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รวมบทกวี “ฟังสิเสียงพรุ่งนี้เพรียกชีวิต” ของ “นนทพัทธ์ หิรัญเรือง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ต้นไม้ทุกต้นเคยเป็นต้นกล้า
“ต้นไม้ทุกต้นเคยเป็นต้นกล้า” กวีนิพนธ์ ของ “ณรงค์ชัย แสงอัคคี” ที่ตัวชื่อบทบ่งบอกถึงมิติความคิดต่ออนาคต เหมือนแม้ว่าวันนี้อาจจะมีปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ อยู่ แต่สังคมในอนาคตจะเป็นสังคมที่มีความแข็งแรง ประกอบด้วยเนื้อหา ๓ ภาค คือ ภาคที่ ๑ เพาะพันธุ์ ภาคที่ ๒ เติบต้น และ ภาคที่ ๓ โรยรา ภาคที่ ๑ เพาะพันธุ์ ได้แสดงให้เห็นภาวะแห่งการเริ่มต้นของชีวิต ชีวิตเป็นดั่งนาฬิกาที่เดินหน้าไปตามเวลา เพื่อเรียนรู้สู้กับอุปสรรคที่เหมือนแสงเริงแรงแห่งตะวัน ภาคที่ ๒ เติบต้น ผู้เขียนใช้ความคิด จินตนาการ เพื่อเรียนรู้โลกอย่างมั่นคง เรียนรู้ด้วยการเป็นผู้ให้ไปพร้อมกับการเติบโต ไม่เร่งร้อนรีบเร่งไปสู่จุดหมาย จนลืมรายละเอียดของชีวิต ภาคที่ ๓ โรยรา เป็นภาคที่ใช้สายตาประมวลภาพชีวิต ที่อาจต้องเผชิญกับอุปสรรค แต่ขอให้มีหัวใจจะฝ่าไป แม้แท้แล้วจะเจอกับคำตอบในชีวิตหรือไม่ก็ตาม “ต้นไม้ทุกต้นเคยเป็นต้นกล้า” เป็นบทกวีแห่งความคิดหวัง ด้วยประสบการณ์ของผู้เขียนในระดับเยาวชน จึงมีความหวั่นหวาด แต่เต็มไปด้วยกำลังใจ แม้เป้าหมายไม่อาจบอกได้ชัดว่าคือสิ่งใด แต่ความรู้สึกแบบกวีย่อมสัมผัสได้ว่าสิ่งนั้นเป็นอันเดียวกับชีวิตจริงที่เราต้องเผชิญหน้า จึงต้องใช้จิตใจอันเติบโตและแข็งแรงเพื่อพบกับความจริงแห่งชีวิต ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ต้นไม้ทุกต้นเคยเป็นต้นกล้า” ผลงานของ “ณรงค์ชัย แสงอัคคี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวด กวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน
“เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน” รวมกวีนิพนธ์ของ “กิตติ อัมพรมหา” เป็นงานกวีนิพนธ์ใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ จำนวน ๒๐ สำนวน แบ่งเนื้อหาสาระในเล่มเป็น ๓ ภาค ภาค ๑ ลมหายใจของเรา เป็นการบอกเล่าเรื่องของชีวิตที่เคลื่อนไหวไปกับบริบทรอบข้าง “ขณะเราขณะโลกนั้นเคลื่อนไหว ยังคงเดินทางไกลไปเบื้องหน้า ในอ้อมกอดเนิ่นนานของกาลเวลา โอบเราไว้ตลอดมาตลอดไป” สิ่งที่ผู้เขียนได้พบเห็นมีวิถีเกี่ยวข้องปฏิสัมพันธ์กับพัฒนาการของชีวิต ความฝัน ความหวัง ความรัก ความศรัทธาและความอบอุ่น ระลึกรับรู้และเห็นคุณค่า “ลมหายใจเข้าออกบอกระยะ ทุกขณะชีวิตที่เคลื่อนไหว เลือดเนื้อชีวิตและจิตใจ มีค่ายิ่งกว่าสิ่งใดในโลกนี้” ภาค ๒ ใต้แสงเงายุคสมัย เรื่องราวการเจริญเติบโตของตนเองกับพัฒนาการในยุคนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ในส่วนนี้ผู้เขียนทำได้อย่างมีเชิงชั้นวรรณศิลป์ ทั้งด้านฉันทลักษณ์ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เนื้อหาสาระเหมาะสมกลมกลืน การใช้ถ้อยคำได้รสคำ รสความ เช่น บทอาขยานกล่อมโลก : ยุคสมาร์ทโฟน การหายตัวไปของม้าก้านกล้วย ในรังนอนของหนอนสายพันธุ์ใหม่ และวันที่ตุ๊กตาไขลานหยุดไขลาน ภาค ๓ ในนิยามโลกความจริง เป็นความรู้สึกนึกคิดของผู้เขียน กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของสังคมโลกความเป็นไปของยุคสมัย “โลกยังคงเร่งรุดไม่หยุดนิ่ง คือนิยามความจริงแห่งยุคสมัย สรรพสิ่งที่เห็นที่เป็นไป หลากล้วนลมหายใจในสังคม” ผู้เขียนยังครุ่นคิดถึงสภาพสังคมเก่าจึงใช้กลอนเพลงพื้นบ้านนำเสนอ “วัดเอ๋ยวัดโบสถ์ ปลูกข้าวโพดสาลี คืนความสุขให้คนในชาติ เหมือนน้ำท่วมปากนานหลายปี โอ้เจ้าดอกเทคโนโลยี แผ่นดินนี้ยังทุกข์ทน” หรือบทขอจันทร์ “จันทร์เอ๋ยจันทร์เจ้า ไม่ขอแล้วข้าว ไม่เอาแล้วแกง ขอสุขคืนสู่ ทุกหนทุกแห่ง สิ่งร้ายแอบแฝง พ่ายแพ้ความดี” และมีหลายตอนที่แสดงให้เห็นว่าผู้เขียนยอมรับความเปลี่ยนแปลงและเปลี่ยนไป รวมบทกวี “เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน” ด้วยเชิงชั้นฉันทลักษณ์ที่ถูกต้องแม่นยำ แนวคิดที่มีขอบข่ายเป้าหมายชัดเจน กอปรด้วยความไพเราะของเสียงและความหมาย อันเกิดจากความประณีตในการใช้ภาษาเป็นรสแห่งถ้อยคำที่นำมาร้อยกรองให้เกิดความรู้สึกและจินตภาพได้อย่างดี ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “เรากำลังติดอยู่ในบ่วงแร้วปัจจุบัน” ผลงานของ “กิตติ อัมพรมหา” ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน
หนังสือกวีนิพนธ์ชุด “บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน” ของ “นิตา มาศิริ” เป็นงานฉันทลักษณ์ที่สร้างสรรค์ในรูปแบบกลอนแปด ผู้เขียนได้แยกย่อยเนื้อหาเป็น ๖ ภาค ดังนี้ หากจะเรียกเธอว่าความรัก, แว่วเสียงนกที่จรจากรัง, ไม่มีเสียงเพลงในคืนอิเล็กโทนถูกเผาไฟ, เหลือความรักบ้างไหมแผ่นดินนั้น, บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน และ คิดถึงครึ่งชีวิต ตามลำดับ กวีนิพนธ์เล่มนี้โดดเด่นที่เนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งแสดงออกถึงความรักความผูกพัน รำลึกถึงคืนวันเก่า ๆ หอมกลิ่นอดีตในวัยเด็ก ตลอดจนเรื่องราวปัจจุบัน รวมทั้งการพลัดพราก อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ผู้เขียนได้ฉายภาพ ‘พื้นที่-ทุ่ง-ทาง’ บรรยากาศในชุมชนและ ‘บ้าน’ มาเป็นฉากเดินเรื่อง โดยมีความรักความผูกพันต่อ ‘พ่อ-แม่’ เป็นองค์ประกอบสำคัญ… “หากจะเรียกสิ่งนั้นว่าความรัก ที่พาเรามารู้จักและพบหน้า แก้วกาแฟมื้อเช้า ข้าว ผัก ปลา ที่มิเคยตีราคา ค่าหัวใจ” และบางบทในชิ้นงาน ‘เธออยู่บนชิงช้าสวรรค์’ ซึ่งสูญเสียพ่อ… “โลกหมุนเร็วเกินไปไหมเธอว่า? ชิงช้าที่มาชิง-ยิ่งหม่นหมอง ราวโลกเงียบนิ่งงัน-ฝันตระกอง กอดเปลวไฟสีทองที่ลามเลีย ฝุ่นเถ้าแหละเท่ารักที่รวมไว้ ทั้งคือลมหายใจผู้สูญเสีย เคยโอบอุ้มพะเน้าพะนอเคยคลอเคลีย อิงไออุ่นวนเวี่ยลงเรี่ยวาง” ส่วนเครื่องมือที่ใช้สื่อสาร แม้ว่าบางสำนวนอาจยังไม่สมบูรณ์ด้านฉันทลักษณ์ แต่โดยภาพรวมถือว่าเป็นหนังสือที่มีพลัง (กวี) มีภาษาง่าย ๆ แต่งดงามอีกเล่มหนึ่ง ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้กวีนิพนธ์ชุด “บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน” ของ “นิตา มาศิริ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป
หนังสือกวีนิพนธ์ “ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป” ของ “สุธีร์ พุ่มกุมาร” ผลงานร้อยกรองจำนวน ๗๘ สำนวน รวม ๔๗๓ บท ประกอบด้วยฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก มีโคลงสุภาพ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ กลอนเพลงพื้นบ้านแทรกอยู่จำนวนหนึ่ง ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการใช้ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อให้ได้บรรยากาศตามเนื้อหาสาระ โดยใช้ฉันทลักษณ์ได้ครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด มีความไพเราะของถ้อยคำที่นำเสนอ เช่น คนปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะของหมู่บ้านจัดสรร การเดินข้ามทางม้าลายของหญิงชรา ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป กิงก่องแก้ว : ร้อยเกี่ยวเหนี่ยวฝัน ด้วยมือของฉันและมือของเธอ เนื้อหาและรูปแบบเหมาะสมกลมกลืน กระชับรัดกุม มีสาระในด้านความรู้ ความคิด ชัดเจน ใจความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การใช้ถ้อยคำถูกต้องตามหลักภาษาไทย ทั้งในด้านการสะกดคำ และการสื่อความหมาย มีความเหมาะสมกับเนื้อหา ใช้คำให้อารมณ์และความรู้สึก มีความสมบูรณ์ กวีโวหารสร้างความประทับใจ ทำให้เกิดจินตนาการด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น อุปมาอุปไมย ใช้สัญลักษณ์ เร้าอารมณ์ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ มีความหมายลึกซึ้ง สามารถดึงดูดความสนใจได้ ทำให้ผู้อ่านซาบซึ้ง ด้านความคิดสร้างสรรค์ มีศิลปะในการนำเสนอความคิดริเริ่มอย่างมีคุณค่า มีเหตุมีผล มีวิสัยทัศน์ และความคิดใหม่ ๆ ที่เป็นของตนเองได้ดีพอสมควร ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป” ของ “สุธีร์ พุ่มกุมาร” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓