เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 11
A FLOWER
การเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นจินตนาการ บอกเล่าเรื่องราวของธรรมชาติที่สวยงาม ซึ่งได้ถูกทำลาย แม้จะได้รับการแก้ไขฟื้นฟูก็อาจไม่ทันกาล เนื้อหาของเรื่อง แนวจินตนาการแฟนตาซี ไม่มีตัวอักษรบรรยาย ให้ผู้อ่านสร้างอารมณ์คล้อยตามไปกับลายเส้นและภาพที่สวยงามพลิ้วไหว ฝีมือการวาดภาพ ลายเส้นมีความละเอียดสวยงาม องค์ประกอบภาพดี มีคุณค่า คณะกรรมการจึงเห็นควรให้นิยายภาพ (การ์ตูน) เรื่อง “A Flower” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน)
Future
การเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นเรื่องของเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่เดินทางไปสู่อนาคต เห็นปัญหาของเมืองที่ล่มสลายจากการที่ไม่ประหยัดพลังงาน เนื้อหาของเรื่อง แนวจินตนาการ ในโลกที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สนุกแฝงคุณค่าของการสร้างจิตสำนึกเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อม ฝีมือการวาดภาพ ลายเส้นน่ารัก ดูง่าย สนุก มีชีวิตชีวา คณะกรรมการจึงเห็นควรให้นิยายภาพ (การ์ตูน) เรื่อง “Future” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน)
Green Project
การเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นการ์ตูนสะท้อนปัญหาการจัดการสิ่งแวดล้อมในสถานศึกษาของนักศึกษาโดยคณะนักศึกษาที่มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ธรรมชาติ เนื้อหาของเรื่อง สมจริง ไม่เพ้อฝัน มีประโยชน์ ในแง่ของการสร้างจิตสำนึก กระตุ้นให้เกิดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัวซึ่งก็คือสถาบันของนักศึกษากลุ่มนี้ ฝีมือการวาดภาพ ลายเส้นและการจัดภาพสวยงาม ตัวละครออกแบบได้หลากหลายและมีชีวิตชีวา แสดงอารมณ์ได้ตามเนื้อหาของการ์ตูนอย่างดี ทำให้ผู้อ่านคล้อยตามไปกับเนื้อเรื่องได้ คณะกรรมการจึงเห็นควรให้นิยายภาพ (การ์ตูน) เรื่อง “Green Project” ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 11 ประจำปี 2557 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน)
เสียงจักจั่นในป่าสน
เป็นเรื่องราวชีวิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สะท้อนสภาพรักวัยเรียนที่ทำให้เกิดปัญหา “แม่วัยใส” ระหว่างณิชาและอรุษ ในขณะที่ฝ่ายชายไม่สามารถสานต่อความสัมพันธ์ต่อไปได้ด้วยข้อจำกัดทางครอบครัวและเศรษฐกิจ ฝ่ายหญิงเลือกที่จะรักษาชีวิตทีจะเกิดมา รดิศ รุ่นพี่ต่างคณะเป็นตัวละครที่ผ่านเข้ามาพร้อมกับปมปัญหาทางครอบครัวของแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าเพราะสูญเสียลูกสาว จนต้องกระโดดให้รถไฟทับ จึงคอยให้กำลังใจณิชาจนผ่านพ้นวิกฤติการณ์ของชีวิตช่วงนี้ไปได้ คณะกรรมการชื่นชมการเสนอประเด็นเหล่านี้ และเห็นว่าผู้แต่งนำเสนอในรูปแบบของนวนิยายขนาดสั้นได้อย่างน่าสนใจระดับหนึ่ง จึงขอมอบรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ให้แก่ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท แต่เนื่องจากในต้นฉบับยังมีความบกพร่องเกี่ยวกับสำนวนภาษาอยู่บ้าง จึงขอแนะนำให้ทำงานบรรณาธิการกิจก่อนพิมพ์รวมเล่มต่อไป
เรื่องมหัศจรรย์ธรรมดา ของสามัญชน
เป็นสารคดีที่เล่าเรื่องของ ‘คนธรรมดา’ ในสังคมไทยที่สร้างคุณค่าให้กับตัวเองและสังคมรอบข้างในหลากหลายแง่มุม ผู้เขียนทำงานหนักด้วยการเดินทางสัมภาษณ์ผู้คนเหล่านั้น แล้วนำชีวิต ความรู้ และภูมิปัญญาของผู้คนในเล่มมาเล่าโดยใช้ภาษาที่กระชับ กะทัดรัด สั้น ง่าย ทว่าเก็บใจความได้ครบถ้วน จึงแสดงให้เห็นความสามารถในทางภาษาของผู้เขียน ผู้คนที่ปรากฏในหนังสือเล่านี้ล้วนแล้วแต่มีชีวิตที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อผู้ที่ได้อ่าน
เมื่อแม่ตื่น
เป็นสารคดีชีวิตที่เรียบง่าย เล่าถึงการกลับไปใช้ชีวิตอยู่ที่บ้านเกิดกับพ่อและแม่ ทว่าผู้เขียนสามารถทำความเรียบง่ายธรรมดานั้นให้สะเทือนใจได้ด้วยการเล่าถึงความผูกพันระหว่างลูกกับพ่อแม่พี่น้องในครอบครัวเดียวกัน จึงชวนคิด ชวนตั้งคำถามถึงวิถีชีวิตของผู้คนทั่วไปในปัจจุบันที่ผู้เขียนเป็นเสมือนภาพตัวแทน วิธีเล่าเรื่องมีชั้นเชิง ผ่านความงดงามของภาษาที่มาจากความรู้สึกภายในโดยแท้
จะไปให้ไกลทำไมกัน
เป็นสารคดีบันทึกการเดินทางของนักมานุษยวิทยาและนักสังคมวิทยาที่เปี่ยมไปด้วยอารมณ์ความรู้สึก ทว่าไม่ได้นำเอาการเดินทางและสิ่งที่พบเห็นเป็นเป้าหมายของการเล่าเรื่อง เป้าหมายของการเดินทางในหนังสือเล่มนี้อยู่ภายใน คือการเข้าใจความหมายของชีวิตของผู้เขียน โดยใช้ภาษาที่งดงาม ผสานไปกับความรู้ ข้อสังเกตที่ละเอียดอ่อน และข้อมูลสนับสนุนที่ประกอบเข้ากันอย่างลงตัว
แกะรอยแผ่นดินไหว ลมหายใจแห่งรอยเลื่อน
เป็นสารคดีเชิงความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหว ที่ผู้เขียนนำความรู้เชิงวิชาการมาดัดแปลงให้เข้าใจง่าย มีสีสัน สนุก โดยบอกเล่าผ่านการทำงานของนักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในด้านแผ่นดินไหวตัวจริง สารคดีเล่มนี้เก็บข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง ตั้งแต่แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นจนกระทั่งถึงแผ่นดินไหวตามจังหวัดต่าง ๆ ในประเทศไทย โดยผ่านทั้งการสัมภาษณ์และการให้ข้อมูล ภาษาสำนวนที่ใช้เรียบง่ายแต่แฝงความตื่นเต้น จึงเป็นสารคดีให้ความรู้เกี่ยวกับแผ่นดินไหวที่น่าอ่าน
เมื่อวัยเด็ก
เป็นสารคดีบันทึกความทรงจำในวัยเยาว์ เปี่ยมไปด้วยคุณสมบัติของนักเขียนสารคดี ไม่ว่าจะเป็นความช่างสังเกต ใส่ใจในการเก็บรายละเอียด รวมถึงการบันทึกรายละเอียดเหล่านั้น อันมีทั้งความรู้ ความทรงจำ ภาพถ่าย และวัตถุดิบอื่น ๆ อย่างเป็นระบบ นับเป็นตัวอย่างของการทำงานงานสารคดีที่ดี แม้เนื้อหาจะเป็นความทรงจำส่วนบุคคล ทว่าหนักแน่นด้วยสีสันของเรื่องราวในยุคสมัยที่ผู้เขียนอยู่ในวัยเด็ก ทำให้เหตุการณ์มากมายในสังคมไทยไม่สูญหายไปในประวัติศาสตร์
ผมทำงานให้พี่สืบ
เป็นสารคดีบันทึกประสบการณ์จริงของนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ลงพื้นที่ในป่า และนำเรื่องราวมาถ่ายทอดได้อย่างมีชีวิตชีวา มีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดพลังแห่งความเสียสละเพื่อส่วนรวม นำเสนอถึงสำนึกเคารพธรรมชาติ ความงดงามของการมีชีวิตอยู่เพื่อผู้อื่น และสะท้อนปัญหาสิ่งแวดล้อมโดยเต็มเปี่ยมด้วยข้อมูลความรู้และอารมณ์ความรู้สึก ผ่านการใช้ภาษาสำนวนที่เรียบง่าย งดงาม สื่อตรง ๆ จากความจริงใจในการทำงาน จึงทำให้ผู้อ่านรู้สึกซาบซึ้งไปตามความรู้สึกของผู้เขียน กับความปรารถนาจะให้โลกใบนี้เป็นโลกที่น่าอยู่สำหรับทุกผู้คนและสรรพชีวิต
พุทธโคดม: บทวิเคราะห์เชิงรัฐศาสตร์ว่าด้วยพุทธประวัติในบริบททางเศรษฐกิจ การเมืองและวัฒนธรรมอินเดียสมัยพุทธกาล
เป็นหนังสือที่เปิดมิติใหม่แห่งการศึกษาพุทธประวัติ โดยใช้วิธีพิจารณาบริบททางประวัติศาสตร์ และสภาวะแวดล้อมทางสังคมของอินเดียในยุคพุทธกาล ผ่านการวิเคราะห์ในมุมมองต่าง ๆ ทั้งเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมสมัยพุทธกาล ผ่านเหตุและผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ อันจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจศาสนาพุทธและพุทธประวัติอย่างมีเหตุผล ผู้เขียนตั้งใจแสดงถึงมนุษยภาวะอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธเจ้า โดยมีพื้นฐานมาจากงานวิจัย จึงมีการค้นคว้าและข้ออ้างอิงที่น่าเชื่อถือ นำเสนอแนวคิดที่ท้าทายความเชื่อเดิมหลายประการ ทั้งยังใช้ภาษาสำนวนที่สละสลวย เข้าใจง่าย ถือเป็นหนึ่งในความตั้งใจที่จะให้สังคมไทยได้ศึกษาแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาโดยข้ามกรอบที่ฟังตามกันมาไปสู่กรอบแห่งวิจารณญาณ
ม้อนน้อยที่รัก
เป็นเรื่องราวของเด็กสาวชาวอีสานชื่อ “ปอยไหม” เธอเติบโตในครอบครัวชาวนาที่อบอุ่น “ปอยไหม” เป็นเด็กดี เรียนเก่ง ช่วยพ่อแม่ทำงานด้วยความขยันขันแข็ง หน้าที่หลักของเธอคือการเลี้ยงตัวไหม เธอเลี้ยงไหมดูแลไหมด้วยความรักและเอาใจใส่ พร้อมกับเรียนรู้เรื่องราวของตัวไหมแต่ละช่วงวัย วันเวลาผ่านไป “ปอยไหม” ค่อย ๆ เรียนรู้และเติบโตไปกับงานเลี้ยงไหมที่ตนรักอย่างมีความสุข ความรักเอาใจใส่คนในครอบครัว ความขยันหมั่นเพียร ความอดทน และการใช้เงินอย่างรู้คุณค่า พฤติกรรมดังกล่าวของ “ปอยไหม” เป็นแบบอย่างที่ดียิ่งสำหรับเยาวชน
ต้นมะกอกหลานยาย
“ต้นมะกอกหลานยาย” เป็นเรื่องของเด็กหญิงนักเรียนชั้นประถมต้น นำเสนอความคิดและประสบการณ์ของ “ชะเอม” เด็กฉลาด ช่างคิด ทั้งด้านที่มีความสุข สนุกสนาน “ชะเอม” อยู่ที่บ้านชานเมืองกับพ่อแม่และยาย ใกล้บ้านชะเอมมีต้นมะกอกใหญ่ที่ยายปลูกไว้ริมคลอง เมื่อลูกมะกอกแก่จัดยายจะเก็บไปทำมะกอกเชื่อมให้ “ชะเอม” นำไปขายให้เพื่อน ๆ ที่โรงเรียนและให้เธอเก็บสะสมเงินไว้เอง ผ่านไปหลายวันมะกอกเชื่อมเริ่มขายไม่หมด “ชะเอม” ไม่มีความสุขที่ต้องขายจึงแก้ปัญหาด้วยการเอามะกอกเชื่อมที่เหลือไปทิ้งแล้วหลอกยายว่าขายได้ เมื่อความจริงเปิดเผย ยายหยุดทำมะกอกเชื่อม แต่ทั้งยายและชะเอมเสียใจมาก ต่อมา “ชะเอม” ได้รับเลือกเป็นตัวแทนของโรงเรียนไปแข่งคณิตศาสตร์และชนะได้รับคำชมเชย และเธอเริ่มตระหนักว่าทักษะการคิดเลขของตนส่วนหนึ่งเกิดจากการฝึกคิดเงินในการขายมะกอกเชื่อมของยาย แล้ววันหนึ่งเมื่อ “ชะเอม” กลับจากโรงเรียนก็พบว่ายายตัดต้นมะกอกทิ้งเสียแล้ว “ชะเอม” เป็นเด็กดีและช่างคิดจึงเข้าใจถึงความรักที่ยายมีต่อเธอ และจะปลูกมะกอกต้นใหม่ให้ยายในที่เดิม หนังสือเรื่อง “ต้นมะกอกหลานยาย” เป็นเรื่องประสบการณ์ชีวิตของเด็กหญิงคนหนึ่งในครอบครัวธรรมดาครอบครัวหนึ่ง สะท้อนถึงความรัก การดูแลเด็กในครอบครัวและปัญหาการสื่อสารระหว่างผู้ใหญ่กับเด็ก โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่พูดหรือแสดงความรักต่อเด็กอย่างชัดเจน แต่ยอมสละสิ่งที่ตนรักเพื่อให้เด็กมีความสุข ดังที่ยายของ “ชะเอม” ตัดต้นมะกอกทิ้ง ซึ่งอาจจะเป็นความรุนแรง ที่ทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันจนเป็นปัญหาช่องว่างระหว่างวัยได้
อาม่าบนคอนโด
วรรณกรรมสำหรับเยาวชนเรื่อง “อาม่าบนคอนโด” นำเสนอชีวิตของกลุ่มคนในสังคมเมืองหลวงที่พักอาศัยในคอนโด เป็นเรื่องราวของผู้คนหลายวัย หลายสถานภาพ เรื่องต่าง ๆ นำเสนอผ่านตัวละครสำคัญสองตัว คือ “โชค” หนุ่มวัยรุ่นนักเรียนมัธยมที่พักอยู่กับพี่สาวผู้เอื้ออารี และ “อาม่า” หญิงจีนสูงวัย แกร่งกล้า มากประสบการณ์ ที่พักอาศัยอยู่ตามลำพัง หนังสือเรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องกระชับ ให้รายละเอียดต่าง ๆ ชัดเจน สะท้อนภาพสังคมปัจจุบันที่เร่งรีบ มีการแข่งขันสูง และเทคโนโลยีออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างมาก คนในสังคมให้ความสำคัญกับตนเอง ไม่ค่อยสนใจผู้อื่น และอาจมีอคติต่อผู้ที่แตกต่าง ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนที่มีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อ ใส่ใจและช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบปัญหาหรือมีความทุกข์ หนังสือเรื่องนี้จึงมีคุณค่าเป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคม ที่นำเสนอพฤติกรรม ความคิด และปัญหาของคนในสังคม พร้อมทั้งชี้แนะแนวทางอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ผ่านพฤติกรรม และบทสนทนาของตัวละคร พร้อมทั้งสอดแทรกข้อคิดได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย ด้วยกลวิธีการประพันธ์ที่แบ่งเรื่องเป็นตอนสั้น ๆ ใช้สำนวนภาษาที่เป็นธรรมชาติ สอดแทรกข้อคิดและอารมณ์ขัน ทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งสาระและความบันเทิง หนังสือเรื่อง “อาม่า บนคอนโด” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชนอายุ 12-25 ปี
เกาะที่มีความสุขที่สุดในโลก
เป็นเรื่องของชาวเกาะแอมบริม เกาะเล็ก ๆ ของประเทศวานูอาตู หมู่เกาะในมหาสมุทร แปซิฟิกใต้ เนื้อเรื่องเสนอลักษณะภูมิประเทศ ธรรมชาติ วิถีชีวิต ขนบธรรมเนียม ความเชื่อและพิธีกรรมของผู้คนในท้องถิ่น ผ่านการเล่าเรื่องของ “ยาโน” หลานชายของ “บูบู” หัวหน้าหมู่บ้าน ผู้ประพันธ์บรรยายฉากสถานที่และเหตุการณ์ต่าง ๆ อย่างชัดเจน ตัวละครเป็นธรรมชาติ มีพฤติกรรมที่สมจริง เป็นเหตุเป็นผล บทสนทนาระหว่างตัวละครเอกสอดแทรกภูมิปัญญา ความคิดลึกซึ้งของ “บูบู” หัวหน้าหมู่บ้าน ซึ่งชาวบ้านนับถือและเชื่อว่ามีพลังอำนาจลึกลับ แม้ไม่อาจพิสูจน์ได้ด้วยการมองเห็น แต่หมายถึงจิตศรัทธา สิ่งที่ “ยาโน่” มองเห็นจากการกระทำของตาก็คือการเป็นหัวหน้าไม่ใช่การที่มีอำนาจเหนือคนอื่น แต่เป็นคนรับใช้ที่ทำงานหนักกว่าคนอื่น พฤติกรรมความเป็นผู้นำของตัวละครปรากฏชัดเจนเมื่อเกิดเหตุการณ์ภูเขาไฟประทุ ด้วยพลังศรัทธา ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ โดยเป็นผู้รับและผู้ให้ “ยาโน่” ยอมเสียสละของมีค่าที่สุดในชีวิตคือ เขี้ยวหมูซึ่ง “บูบู” มอบให้เป็นสัญลักษณ์ว่าอาจจะได้สืบทอดตำแหน่งหัวหน้าหมู่บ้านในอนาคต เพื่อบูชาเทพเจ้าแห่งภูเขาไฟ ตามความเชื่อว่า จะช่วยชาวเกาะให้อยู่รอดปลอดภัย เรื่องจบลงอย่างงดงาม “ยาโน่” ได้ค้นพบว่า ความสุขของเขาไม่ได้อยู่ที่การจะได้เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน แต่อยู่ที่ความอบอุ่นในครอบครัว มิตรภาพระหว่างเพื่อน และความอยู่ดีกินดีของคนในหมู่บ้าน นั่นคือความสุขที่แท้จริง
วัฏจักรไร้สำนึก
“วัฏจักรไร้สำนึก” ของ “ปองวุฒิ รุจิระชาคร” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นที่ถ่ายทอดความเป็นไปในสังคมสู่ผู้อ่านผ่านโครงเรื่องที่จินตนาการขึ้นอย่างแยบยล และสมจริง แม้บางเรื่องจะใช้ฉากของโลกอนาคต ดินแดนอื่นที่มิใช่ประเทศไทย หรือมีเหตุการณ์เหนือจริง แต่ก็มิได้ทิ้งหลักเหตุผล นอกจากนี้ผู้เขียนยังมีศิลปะในการเล่าเรื่องที่ชวนติดตามและแฝงอารณ์ขัน ทำให้แต่ละเรื่องเป็นเรื่องสั้นที่อ่านสนุก เรื่องราวและประเด็นที่ผู้เขียนนำมาเสนอมีหลากหลาย แต่ทั้งหมดก็มีความสอดคล้อง กลมกลืนในแง่ที่เป็นภาพสะท้อนของโลกปัจจุบันที่แม้จะเต็มไปด้วยการแก่งแย่งแข่งขัน เอารัดเอาเปรียบ หลอกลวงกันและกัน แต่ก็ยังมีความรัก ความเอื้อเฟื้อ ความเชื่อในคุณค่าของเสรีภาพ และศรัทธาในความดีงามสอดแทรกอยู่ด้วย หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “วัฏจักรไร้สำนึก” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
โปรดอยู่ในความดัดจริต
“โปรดอยู่ในความดัดจริต” ของ “พึงเนตร อติแพทย์” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน 9 เรื่อง ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องราวชีวิตของคนในสังคม ทั้งแนวจินตนาการ และแนวสมจริง สะท้อนภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง ค่านิยมต่าง ๆ และความขัดแย้งทางด้านความคิด โดยให้ตัวละครสลับกันเล่าเรื่อง ใช้สำนวนภาษาที่ทันสมัยอย่างมีวรรณศิลป์ ชวนติดตาม รวมเรื่องสั้นชุดนี้ นอกจากจะอ่านเพื่อความบันเทิงแล้ว ยังช่วยให้เข้าใจชีวิตความเป็นอยู่อันหลากหลายของผู้คนในยุคปัจจุบันด้วย หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “โปรดอยู่ในความดัดจริต” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
กล้องเก่า
“กล้องเก่า” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นของ “ธาร ยุทธชัยบดินทร์” ชื่อเรื่อง “กล้องเก่า” หมายถึงภาพในอดีตที่ถูกบันทึกอยู่ในกล้องโบราณ โดยนัยสื่อว่า ช่วงชีวิตของคนเราที่เปลี่ยนผ่านจนล่วงเข้าสู่วัยชรานั้น ย่อมจะมีภาพอดีตที่ประทับใจไม่แง่มุมใดก็มุมหนึ่ง บางภาพพร่าเลือนไปตามกาลเวลา แต่บางภาพยังคงกระจ่างชัด มีชีวิตชีวา ยามใดที่นำภาพเก่า ๆ มาดูก็หวนระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วยอารมณ์และความรู้สึกอันหลากหลาย ทั้งทุกข์ สุข เศร้า และชุ่มชื่นใจ ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงเราจะต้องอยู่กับปัจจุบัน ชีวิตจะต้องดำเนินไป มิใช่จ่อมจมอยู่กับเรื่องราวหรือเหตุการณ์ในอดีต เรื่องสั้นเรื่องแรกที่ชื่อ “กล้องเก่า” เป็นเสมือนตัวแทนสื่อแนวคิดหลักของหนังสือ จึงมีความเป็นเอกภาพ ทุกเรื่องอ่านเข้าใจง่าย แต่กินใจด้วยการใช้ภาษาที่เป็นธรรมชาติ ชวนอ่านชวนติดตาม หนังสือรวมเรื่องสั้นเรื่อง “กล้องเก่า” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
ครอบครัวหัวแห้ว
การเล่าเรื่องด้วยภาพ เป็นการ์ตูนสะท้อนปัญหา ภาวะ “ครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว” ซึ่งเกิดขึ้นมากในสังคมไทยปัจจุบัน เนื้อหาของเรื่อง บอกเล่าเรื่องราวจากปัญหาครอบครัว ในรูปแบบสนุกสนานและมองโลกในแง่ดี สามารถสื่อให้เห็นว่าปัญหาทุกอย่างย่อมมีทางออก และจะต้อง ผ่านไปได้โดยใช้ความรักความเข้าใจ และสติปัญญา ฝีมือวาดภาพ ลายเส้นเรียบง่าย การออกแบบ สร้างสรรค์มีบุคลิกเฉพาะตัว ตัวละครให้ความรู้สึกอบอุ่นมีอารมณ์ขัน คุณค่า เป็นหนังสือส่งเสริมสถาบันครอบครัว มีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาและยกระดับคุณภาพสังคม คณะกรรมการจึงเห็นควรให้นิยายภาพ (การ์ตูน) เรื่อง “ครอบครัวหัวแห้ว” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประจำปี 2557
CAFFE’ ROSA ถ้วยนี้ต้องเติม
การเล่าเรื่องด้วยภาพ เล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูน ทำให้ผู้อ่านเสมือนเป็นส่วนหนึ่งในร้านกาแฟนั้น สามารถสร้างบรรยากาศ ประหนึ่งได้สัมผัสกลิ่นหอมของกาแฟ เนื้อหาของเรื่อง ให้ความรู้เกี่ยวกับชนิดของกาแฟและการชงกาแฟชนิดต่าง ๆ นำเสนอเรื่องธรรมดาให้เกิดความสนุกชวนติดตาม สร้างบทได้ดี มีเป้าหมายให้รับรู้ธุรกิจร้านกาแฟปัจจุบัน โดยกล่าวถึงรายละเอียดและองค์ประกอบการดำเนินธุรกิจว่าควรมีความรอบรู้และศิลปะในอาชีพนั้น ๆ ฝีมือวาดภาพ ออกแบบได้เหมาะสม สวยงาม เรียบง่ายและสมจริง คุณค่า เป็นการเสริมสร้างทัศนะคติที่ดีต่ออาชีพและผู้คนในสังคม ความเอื้ออาทร มิตรภาพ และความรัก คณะกรรมการจึงเห็นควรให้นิยายภาพ (การ์ตูน) เรื่อง Caffe’ Rosa ถ้วยนี้ต้องเติม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประจำปี 2557
MY MANIA 3
คำนิยม การเล่าเรื่องด้วยภาพ มีความสัมพันธ์กลมกลืนกับเนื้อเรื่อง มีการแสดงภาพเชิงสัญลักษณ์ให้ผู้อ่านได้ใช้จินตนาการติดตามเรื่องและปมปริศนา เนื้อหาของเรื่อง วางโครงเรื่องแสดงให้เห็นด้านมืดของปุถุชน เรื่องราวสะท้อนปัญหาสังคมปัจจุบัน การเขียนภาพและเรื่อง สะท้อนออกมาในแนวเหนือจริง เพื่อให้เรื่องน่าสนใจ ตื่นเต้น ชวนติดตาม อาจดูรุนแรงก้าวร้าวไปบ้าง แต่ก็สอดคล้องกับเนื้อหา ซึ่งแฝงสาระให้คิดถึงความจริงบางสิ่งบางอย่างที่ซ่อนเร้นในตัวตนของคน เมื่อใดที่เปิดเผยธาตุแท้ออกมา ก็จะเห็นกิเลสดิบ ๆชัดเจน ฝีมือวาดภาพ มีคุณภาพครบถ้วน สามารถบอกเล่าอุปนิสัยจิตใจของตัวละครจากบุคลิกลักษณะภายนอก กล้ากำหนดมุมภาพ ลักษณะภาพอย่างอิสระ คุณค่า สะท้อนปัญหาที่สังคมมักจะมองข้าม กระตุ้นให้เห็นความสำคัญของการอยู่ร่วมกันในสังคม มีความลึกซึ้งเชิงปรัชญา คณะกรรมการจึงเห็นควรให้นิยายภาพ (การ์ตูน) เรื่อง MY MANIA 3 (รวมเรื่องสั้นจิตหลุด) ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประจำปี 2557
ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
“ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของ วีรพร นิติประภา เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงชีวิตของเด็กหญิงและเด็กชายกำพร้า 3 คนคือ ชาลิกา ชารียา และปราณ ใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างอบอุ่นที่บ้านสวนริมแม่น้ำนครชัยศรี ครั้นโตขึ้นเป็นหนุ่มสาวก็แยกย้ายมาใช้ชีวิตของตนเองในกรุงเทพมหานครสลับกับบ้านเกิดเป็นครั้งคราว ชีวิตช่วงนี้พวกเขาต้องประสบกับปัญหาเรื่องความรักและความขัดแย้งทางอารมณ์ ชีวิตจึงมีแต่ความอ้างว้าง ขมขื่น โดดเดี่ยว เดียวดาย จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ตัวละครอื่น ๆ ที่คนทั้งสามเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยล้วนแต่ประสบกับชาตะกรรมชีวิตที่เลวร้ายหรือ “ถูกชีวิตทรยศ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าธนิตผู้หลงใหลคลั่งไคล้ผ้าโบราณ ธนานักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นทีผู้สร้างภาพให้ตนเองดูเป็นชายที่มีเสน่ห์ ภัทรนักดนตรีร็อค และนวลหญิงที่มีสามีสามคนพร้อมกัน เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มข้นทางอารมณ์ของตัวละครที่เกิดจากกลวิธีการประพันธ์ที่ผสมผสานแนวสัจนิยมและจินตนิยายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน การเสพสุนทรียะอย่างวิจิตรของตัวละคร ผ่านสีสันของสวนดอกไม้ อวลไปด้วยเสียงไพเราะของดนตรีคลาสสิค ความงดงามของผ้าโบราณ และรสชาติอาหารที่ชวนลิ้มลอง ส่งผลให้ตัวละครเสพชีวิตอย่างสุดโต่งด้วยรสอารมณ์มากกว่าคำนึงถึงตรรกะของเหตุและผล ผู้เขียนสามารถพรรณนาความรู้สึกทุกภาวะอารมณ์ของตัวละครได้อย่างลุ่มลึก ตัวอักษรบีบคั้นกดดันอารมณ์ผู้อ่านร่วมไปกับตัวละครทุกบททุกตอน นวนิยายเรื่องนี้เป็นบันเทิงคดีร่วมสมัยของไทยที่แหวกขนบ มุ่งสะท้อน “มลพิษของความรัก” ผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ปมปัญหาความรักได้อย่างลึกซึ้งแยบยล โดยชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความรักว่าคือมายาคติที่มนุษย์ลุ่มหลงและมัวเมา มายาคติแห่งรักสร้างความซาบซึ้งตรึงใจและความเจ็บปวดรวดร้าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระนั้นผู้คนก็ยังคงดิ้นรนโหยหาความรักอยู่ดี แม้บางครั้งมิอาจพานพบรักแท้ได้ในชีวิตจริง ดุจเดียวกับ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ที่หาทางออกไม่พบ คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของ วีรพร นิติประภา เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557
คง/กระ/พัน/ชาตรี
หลายชีวิต การดำรงอยู่ช่างเป็นเรื่องเรียบง่าย นับแต่ผ่านครรภ์มารดาจวบจนวันสุดท้ายของลมหายใจ ชีวิตราวลาดปูด้วยกลีบบุปผาแห่งความราบรื่น แต่สำหรับบางชีวิต แม้ปณิธานตั้งต้นจะปรารถนาเพียงความสามัญธรรมดา มุ่งประกอบสัมมาอาชีพ เปิดรับความสุขตามครรลองการครองเรือนไปตามอัตภาพโดยไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร และสามารถยืนหยัดบนถนนแห่งความเป็นคนดีไปจนสุดทาง แต่ราวกับว่าพรง่าย ๆ ที่ร้องขอกลับได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิงจากชีวิตอย่างโหดร้าย ในนวนิยายเรื่อง คง/กระ/พัน/ชาตรี ของ ประชาคม ลุนาชัย “สถานการณ์ที่ไม่อาจขืนต้าน” ลากพาตัวละครทั้งสาม คือ คงธรรมหรือชาตรี กระ และพันรบ ระหกระเหินไปในเส้นทางที่มิอาจคาดเดา ไกลห่างลิบลับจากวิถีชีวิตในอุดมคติที่ตั้งไว้และใฝ่ฝันถึง จากบ้านสู่ป่า จากบกสู่ทะเล จากเมืองสู่ไร้เมือง จากการหยั่งลึกในรกรากสู่ความหวั่นไหวในวิถีแห่งผู้พเนจร “ความเป็นอื่น” จากการต้องเอาชีวิตรอดในอีกเส้นทางการเลือกของแต่ละตัวละคร นำพาผู้อ่านไปร่วมสัมผัสรูปแบบชีวิตที่แตกต่าง ห่างไกลการรับรู้ แต่ดำรงอยู่ร่วมสังคมเดียวกับเรา ในขณะที่ตัวละครเผชิญแรงบีบคั้นที่ชีวิตไล่ต้อนจนนำไปสู่การตั้งคำถาม และมองโลกด้วยสายตาฉงนฉงายและผิดแผกไปจากเดิม ผู้อ่านที่ร่วมรับรู้ชะตากรรมของตัวละครมาตั้งแต่ต้น ก็เข้าสู่กระบวนการตั้งคำถามและทบทวนเช่นกัน จุดจบและปลายทางของตัวละคร ทิ้งคำถามยาก ๆ ที่มิอาจตอบได้ทันที ไว้ให้ผู้อ่านได้ขบคิดว่า อะไรคือชีวิตที่ดี การเป็นเพียงคนดีและซื่อสัตย์ตามแบบฉบับเดิม ๆ เพียงพอแล้วหรือ ค่านิยมดีงามบางอย่างเช่น ความเป็นเพื่อนน้ำมิตรควรถนอมรักษาไว้อย่างไร ส่วนค่านิยมบางอย่างที่เคยเกื้อกูลการขัดเกลาความเป็นชายและตอกย้ำความหนักแน่นของสังคมนักเลง อย่างเช่นการรักศักดิ์ศรี และการไม่ยอมกัน ควรทบทวนและปรับเปลี่ยนหรือไม่ การไม่สู้คนซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของความขี้ขลาด ใจเสาะ ปกป้องครอบครัวไม่ได้นั้น สอดคล้องกับคุณค่าอารยะแบบใหม่ที่เน้นการหันหน้าเข้าหากันด้วยอหิงสา และสันติวิธี ใช่หรือไม่ และโลกเก่าซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ที่แวดล้อมด้วยคุณค่าแบบใหม่จะผสานกันให้ลงตัวได้อย่างไร เหนืออื่นใด “สาร” ที่ผู้เขียนส่งผ่านชีวิตผันผวนของตัวละครทั้งหมด นำผู้อ่านไปสัมผัสกับความกรุณาในหัวใจและความตระหนักรู้ว่า “ความจำเป็นในชีวิตนั่นเอง ที่เป็นยิ่งกว่านักฆ่าอำมหิต เมื่อถูกบีบคั้นจนรั้งสติไม่อยู่ การตัดสินใจเพียงชั่ววูบอาจส่งผลต่อชีวิตที่เหลือทั้งหมด” คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “คง/กระ/พัน/ชาตรี” ของ ประชาคม ลุนาชัย เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557
ผีเสื้อที่บินข้ามบึง
“ผีเสื้อที่บินข้ามบึง” เป็นเรื่องราวของหญิงหม้ายที่ต้องปรับวิถีชีวิตใหม่หลังสูญเสียสามีที่รักไป ทั้งการจากเมืองหลวงกลับไปพำนักที่บ้านเกิด การพยายามปรับตัวให้เข้ากับแม่ผู้มีความคิดแตกต่าง การสร้างงานอาชีพใหม่ตามที่ใฝ่ฝัน และที่สำคัญ…การเผชิญกับความวูบไหวทางอารมณ์ที่เกือบจะดึงเธอให้เดินผิดทาง แต่ในที่สุดเธอก็สามารถก้าวข้ามความอ่อนแอทางจิตใจได้ แล้วเดินทางตามเส้นทางชีวิตที่เลือกแล้วต่อไป…เหมือนผีเสื้อที่สามารถบินข้ามบึง พะแพงเป็นม่ายสาววัยสามสิบที่ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านอยู่ที่คีรีวงนาน 8 ปี เมื่อสูญเสียสามีไปตลอดกาล เธอก็เหมือนผีเสื้อที่บินเคว้งคว้าง ต้องพยายามเรียกตัวตนของเธอกลับคืนมาใหม่หลังจากเธอเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนกระบวนความคิด เปลี่ยนทุกอย่างเพื่อหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคนที่รักที่สุด อย่างแรกคือการทำงานเพื่อเลี้ยงชีวิตตามลำพัง พะแพงย้ายขึ้นมาอยู่ในเมืองหลวง รับจ้างวาดภาพประกอบหนังสือ พิสูจน์อักษร และเป็นนักเขียน โชคดีที่พะแพงมีเพื่อนดี ๆ เธอจึงผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ สิ่งต่อมาที่พิสูจน์ความแข็งแกร่งของพะแพง คือการต่อสู้กับสายตาของสังคมที่ประเมินความเป็นแม่ม่ายวัยสาว โดยเฉพาะสายตาจากเพศชาย ตัวพะแพงเองก็มีคำถามกับการเป็นแม่ม่ายในอุดมคติที่จงรักสามีไปชั่วกาลนาน หรือจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งเธอมีคำตอบให้ตัวเองว่า แม้จะรักสามีมากเท่าใด แต่เธอสามารถมีรักใหม่ได้อีก และจะมีรักเมื่อพบรัก ไม่ใช่เพราะเหงา อ่อนแอ หรือต้องการที่พึ่ง เมื่อไม่ปิดกั้นตัวเอง พะแพงจึงมีผู้ชายที่มีบุคลิกแตกต่างกันอีกหลายคนเข้ามาในชีวิต ทั้งพี่เกรียงผู้อบอุ่น หมอก้องหนุ่มหล่อนิสัยดี คชาผู้มีเสน่ห์ชวนค้นหา และนกหนุ่มน้อยใสซื่อ ทุกคนล้วนเป็นบททดสอบอารมณ์วูบไหวของพะแพง อุรุดา โควินท์ นำเสนอ “ผีเสื้อที่บินข้ามบึง” ด้วยบันทึกประจำวันของพะแพง ทำให้ผู้อ่านรับรู้ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของพะแพงผู้เป็นตัวละครเอกได้ชัดเจน ผู้เขียนให้ภาพของพะแพงเป็นผู้หญิงที่มีบุคลิกภาพภายนอกดูเป็นหญิงสาวผู้มั่นใจในตัวเอง แต่ภายในอ่อนไหวล้ำลึก พะแพงต้องผ่านช่วงยากลำบากในชีวิต ทั้งความสูญเสีย การเจ็บไข้ได้ป่วย สัมพันธภาพของคนในครอบครัว และความเปราะบางทางอารมณ์ ในที่สุดเธอตัดสินใจกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิด เพื่อให้มีฐานที่มั่นคงอบอุ่น ก่อนชีวิตจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า นวนิยายชีวิตของพะแพงทิ้งค้างไว้ไม่มีบทจบโดยสมบูรณ์ว่าความฝันในการยึดอาชีพทำผ้าบาติกขายจะสำเร็จหรือไม่ และความรักครั้งใหม่ของเธอจะลงตัวและลงเอยกับหนุ่มรุ่นน้องได้จริงหรือเปล่า แต่นวนิยายเรื่องนี้ก็จบลงอย่างให้ผู้อ่านโล่งใจว่าในที่สุดผีเสื้อปีกบางก็บินข้ามบึงได้สำเร็จ คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “ผีเสื้อที่บินข้ามบึง” ของ อุรุดา โควินท์ เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557
จับต้นมาชนปลาย
นวนิยายเรื่อง “จับต้นมาชนปลาย” นำเสนอชีวิตของมนุษย์ที่ทับซ้อนข้องเกี่ยวกัน การกระทำทุกอย่างล้วนส่งผลกระเพื่อมไหวไปยังทุกชีวิตที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง สร้างเงื่อนปมให้แต่ละชีวิตโยงใยกันอย่างซับซ้อน สิ่งที่เรามักจะมองเห็นเป็นเพียงปลายของเหตุที่มาก่อนหน้านั้น และเมื่อสาวไปถึงต้น ก็จะพบว่าเป็นปลายของเหตุที่มาก่อนหน้านั้น อีกทีหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไป ปลายของเรื่องหนึ่งย่อมเป็นต้นของอีกเรื่องหนึ่ง ไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด เรื่องราวเริ่มต้นที่คู่รักสมัยวัยเรียนได้มาพบปะกันอย่างไม่นึกฝัน หลังจากต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปมีชีวิตครอบครัวจนลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาว การหวนมาพบกันครั้งนี้เป็นจุดเริ่มให้ทุกชีวิตในครอบครัวทั้งสองมาพัวพันกันจนยุ่งเหยิง เรื่องจบลง ณ สถานที่ตอนเริ่มต้นเรื่องหลังจากที่ตัวละครทั้งคู่ได้พานพบและบอบช้ำกับปัญหาต่าง ๆ จนทำให้เติบโตทางอารมณ์ นำไปสู่ความเข้าใจชีวิต เมื่อ “จับต้นมาชนปลาย” เรื่องราวทั้งหมดที่ผูกร้อยเข้าหากันได้ ผู้เขียนใช้เหตุบังเอิญผูกเรื่องราวได้อย่างแยบยล แต่ละเหตุการณ์เรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างสมเหตุสมผล เงื่อนปมชีวิตของตัวละครแต่ละตัวชวนให้ติดตามว่าตัวละครจะหาทางออกอย่างไร ความสับสนวุ่นวายต้องอาศัยสติเพื่อการใคร่ครวญ จัดการกับปัญหาบางปัญหา ปล่อยวางกับปัญหาบางปัญหา และท้ายที่สุด ทำความเข้าใจกับทุกข์ของผู้อื่นมากกว่าหมกมุ่นกับทุกข์ของตน รู้เท่าทันว่าแม้ปัญหาจะคลี่คลาย แต่ก็ยังมีปัญหาใหม่ที่กำลังก่อตัวอยู่เสมอ เราต้องพร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นทุกจังหวะย่างก้าวของชีวิต คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “จับต้นมาชนปลาย” ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557
นิธาร
รวมบทกวีชุด “นิธาร” ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล มีลีลาเฉพาะตัว กล่าวคือ ‘คิดนอกกรอบ’ ในด้านเนื้อหา กล้านำเสนอไม่ซ้ำใคร มีมุมมองใหม่ ๆ ‘ภายใต้กรอบ’ ฉันทลักษณ์ (ที่ผ่อนคลาย) ซึ่งผสมผสานกันระหว่างรูปแบบเก่า (นิทาน) ประยุกต์กับการเล่าเรื่องแบบใหม่ได้ลงตัว เรื่องราวที่นำเสนอหลากหลายประเด็น เป็นต้นว่า โลก ชีวิต ธรรมชาติ สังคม การเมือง ฯลฯ โดยใช้ชั้นเชิงวรรณศิลป์ซึ่งมีทั้งความเปรียบ และสัญลักษณ์ แม้บางเรื่องจะสื่อสารตรง ๆ แต่ยังคงมีเสน่ห์การยั่วล้อและเสียดสี ผู้เขียนชี้ให้เห็นหายนะของความไม่พอดีของมนุษย์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งได้ฉายภาพให้เห็นถึงโลกสวยงามด้วยความรัก สันติภาพ เสรีภาพ และอิสรภาพ อย่างมีชั้นเชิงในการนำเสนอพอสมควร เสน่ห์อีกอย่างก็คือ เมื่อผู้เขียนพูดถึงสิ่งใด เช่น หอยทาก ผีเสื้อ นก ต้นไม้ ก็มิได้หมายความจำเพาะแต่สิ่งนั้น หากแต่ซ่อนนัยไว้เสมอ และหลายเรื่องที่ตั้งเป็นปุจฉาหรือยกสิ่งใดมากล่าวอ้าง ก็สามารถอธิบายเหตุผลรองรับได้อย่างสมเหตุสมผล ในท่ามกลางโลกปัจจุบันสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ คือ ให้ตั้งหลักทบทวนชีวิต แล้วก้าวเดินอย่างมีสติ เพื่อปรับความสมดุล อย่างไรก็ตาม ความไม่เคร่งครัดในรูปแบบการนำเสนอมีส่วนทำให้ “คำ” และ“ความหมาย” พร่าเลือนไปบ้าง หากแต่ผู้เขียนเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องคล้าย ‘นิทาน’ บวกกับ ‘ลูกเล่น’ เฉพาะตัว จึงทำให้เรื่องหนัก ๆ กลายเป็นความผ่อนคลายและร่วมสมัย รวมบทกวี “นิธาร” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
คำถามของความเป็นมนุษย์
รวมบทกวี “คำถามของความเป็นมนุษย์” ของ กร ศิริวัฒโณ แบ่งเนื้อหาสาระออกเป็น สามส่วน ประหนึ่งจะตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ในภาคอดีตที่ผ่านผัน ปัจจุบันที่เป็นอยู่ และมุ่งไปสู่อนาคตกาล โดยในภาค “หวนกาลผ่านเลย” ผู้เขียนเปิดภาพปูพื้นให้เห็น ความหลากหลายในตลาดเช้า ภาพชีวิตในชุมชนท้องถิ่น และการน้อมนำธรรมชาติมาพินิจพิจารณาในแง่มุมปรัชญานานาประเด็น ก่อนจบด้วยการถวิลถึงความรักของแม่ และทบทวนถึงรักแท้ของคู่สมรสในวัยชราเมื่อกาลเวลาผ่านเลย ในภาค “เนากาลผ่านวัน” สะท้อนภาพชีวิตในสังคมปัจจุบัน ผู้เขียนตั้งคำถามถึงประเด็นการอ่าน การเขียน และสถานภาพของนักเขียนในสังคมที่เริ่มมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงสัมพันธภาพของผู้คนในสังคมออนไลน์ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ทาง Facebook เพื่อไตร่ตรองมองตนบนความเป็นจริง และในภาค “สู่กาลผ่านใจ” เป็นการตั้งคำถามด้วยความห่วงใยในความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน ที่เกิดภาวะบิดเบี้ยวของข้อเท็จจริงในข้อมูลข่าวสาร อันจะนำไปสู่สภาพสังคมชวนเคลือบแคลงในอนาคต บางชิ้นงานได้สะท้อนอารมณ์ท้อแท้ไม่แน่ใจกับความเป็นไปในชีวิต ก่อนปลุกปลอบให้โบยบินไปสู่ความหวังเบื้องบนฟ้าไกลในบทจบ ด้านศิลปะการประพันธ์ แม้ว่าจะมีข้อด้อยทางฉันทลักษณ์อยู่บ้าง แต่ผู้เขียนก็ใช้ภาษาเรียบง่ายได้อย่างมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์พอสมควร เพื่อส่งสารตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์หลากหลายแง่มุม โดยไม่ต้องปรุงแต่งจนเกินพอดี สารของผู้เขียนจึงสามารถกระทบใจผู้อ่านให้แตกประเด็นคำถามและค้นหาคำตอบได้ตามประสบการณ์ของแต่ละคน สอดคล้องกับชื่อหนังสือ “คำถามของความเป็นมนุษย์” ในท้ายที่สุด รวมบทกวี “คำถามของความเป็นมนุษย์” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1