เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ครั้งที่ 10
บัว 4 เหล่า เรา 4 คน
ผู้เขียนสามารถนำหลักธรรมบางข้อมาปรับเป็นนิยายภาพได้อย่างคมคาย ดำเนินเรื่องได้กลมกลืนกับเป้าหมาย ลายเส้นสวยงามตัวละครมีเอกลักษณ์
สู่ทางแห่งความฝัน On The way dream
เป็นหนังสือที่นำเสนอข้อคิดปรัชญาได้ดี ชัดเจน มีเนื้อหาสาระดี ลายเส้นสวยงามสะอาดตาอ่านงาน มีกลวิธีดำเนินให้ชวนติดตามและนำผู้อ่านให้ติดตาม
โนนสวรรค์
เป็นเรื่องราวสะท้อนชีวิตชาวอีสานที่ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด ย้ายที่ทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้าทั้งครอบครัว ทิ้งให้ลูกอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้อง อ้ายหย้าวเฮือน กับหมูหล้า สองพี่น้องชาวอีสานแห่งหมู่บ้านโนนสวรรค์ก็เช่นกัน พ่อแม่ย้ายที่ทำงานไปเรื่อย เพื่อพ่อกับแม่ต้องแยกทางกัน พ่อกลับมาสร้างบ้านไว้โดยหวังว่าจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันสามคนพ่อลูก ทั้งสองเฝ้ารอคอยการกลับมาของพ่อ แต่พ่อไม่มีเวลาแม้จะกลับมาเยี่ยมเยียนลูก ในขณะที่แม่พร้อมที่จะรับลูกไปอยู่ด้วย หมูหล้าจึงตัดสินใจไปอยู่กับแม่ ส่วนอ้ายหย้าวเฮือนเฝ้ารอคอยการกลับมาของพ่ออย่างมีความหวัง นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพของสังคมชนบทไทยในยุคปัจจุบัน เมื่อไม่สามารถสร้างงานในท้องถิ่นเองได้ ก็ต้องออกไปหางานทำต่างถิ่นเพื่อส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว ลูกหลานจึงมีปัญหาขาดความอบอุ่น ปัญหาเหล่านี้นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในสังคมไทย ก่อให้เกิดปัญหาตามมีอีกมากมาย
กานท์เอ๋ย กานเมือง
รวมบนกวี กานท์เอ๋ย กานเมือง ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นบทร้อยกรองหรือบทกวีที่ว่าด้วย ‘การเมือง’ รวมไปถึงสังคมยุคปัจจุบันอันฟอนเฟะและน่าห่วง ซึ่งผู้เขียนกำลังจะสื่อถึงผู้อ่านอย่างนั้น บทกวีทั้งหมดที่นำเสนอ ผู้เขียนมีความพยายามในแง่ความหลากหลากทั้งรูปแบบของร้อยกรองและกลวิธีเล่าเรื่อง ด้านเนื้อหาก็ได้หยิบยกเอาปัญหาของสังคม การเมือง นักการเมือง มาพูดถึงในลักษณะวิเคราะห์วิจารณ์อย่างพินิจพิเคราะห์ ด้วยอารมณ์เสียดสีประชดประชันแบบแสบ ๆ คัน ๆ ได้ค่อนข้างแหลมคมพอสมควร ด้านฉันทลักษณ์ แม้ว่ามีความอ่อนด้อยอยู่บ้าง แต่ก็หวังว่าผู้เขียนซึ่งยังอยู่ในระดับเยาวชน คงจะมีพัฒนาการดีขึ้นตามลำดับและก้าวไกลไปมากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ถึงจะมีจุดบกพร่องดังกล่าว แต่โดยภาพรวมแล้วบทกวีชุดนี้ก็อยู่ในข่ายที่ควรส่งเสริมและเพิ่มกำลังใจ คณะกรรมการจึงมีมติให้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
อีสานบ้านเฮา
ผู้เขียนลงพื้นที่เก็บข้อมูลเป็นระบบหนักแน่นอย่างนักวิชาการ แต่นำเสนอด้วยภาษาชวนติดตามแบบ “ผู้ใหญ่อ่านได้ เด็กอ่านดี” ภาพแผ่นดินและผู้คนแห่งอีสาน ปรากฎผ่านมุมมองที่ไม่เคยได้รับการบันทึกมาก่อน เป็นหนังสือชวนอ่าน ที่จะนำไปสู่ความเข้าใจบ้านเกิดเมืองนอนของตน
สันติปรีดี
กลวิธีในการเดินเรื่องแบบนวนิยาย ทำให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบุคคลที่เป็นแบบอย่างของความกล้าหาญ เสียสละ และยึดมั่นในความถูกต้อง เช่น ปรีดี พนมยงค์ ดูมีเลือดเนื้อ เปี่ยมชีวิตชีวา และจับต้องได้ ผู้เขียนบรรจุพันธกิจในการแก้ไขการรับรู้ที่ไม่เป็นธรรม และคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับรัฐบุรุษท่านนี้ และนับเป็นการเติมชิ้นส่วนความเข้าใจประวัติศาสตร์ของรัฐสมัยใหม่หลัง พ.ศ. 2475
โลก(ไม่)ลืม คน(ไม่)สำคัญ
สามัญชนหลายคน ถูกลืมและมองข้าม ทั้ง ๆ ที่การสร้างสรรค์ของพวกเขาหรือเธอส่งผลกระทบอย่างลึกซึ้งต่อโลกที่เราดำรงอยู่ในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้พาเราไปพบบุคคลที่มีค่าควรแก่การจดจำ แต่ไฟแห่งการรับรู้ “ส่องไปไม่ถึง”
ของเก่าเรา (ไม่) ลืม
เรื่องเล่าอย่าง “ไม่เป็นหลักเป็นฐาน” นี้ แท้จริงคือหลักฐานชั้นดี ให้เห็นถึงอดีตแห่งการสัญจรในวิถีการคมนาคมของคนไทย นับแต่รถราง รถ รถไฟ ถนน เรือ และลำคลอง ก่อนเมืองจะกลายเป็นมหานครเฉกเช่นปัจจุบัน
คำสารภาพสุดท้าย ก่อนเข้าห้องประหาร
เป็นสารคดีจากปลายปากกา “คนใน” คือตัวนักโทษเอง โค้งสุดท้ายของชีวิตในฐานะผู้ต้องขังรอการประหาร ปลุกความฝันที่อยากเป็นนักเขียนมาเนิ่นนานให้โลดเต้นขึ้นจนสามารถขั้นพลังสร้างสรรค์เท่าที่จะพยายามศึกษาและฝึกฝนได้ ถอดประสบการณ์ตรงจากด้านมือของชีวิตเพื่อให้บทเรียนที่เป็นแง่คิดล้ำค่าทั้งด้านบวกและด้านลบกับผู้อ่าน ทั้งนี้ เพื่อให้รู้เท่าทันความเลวและแคล้วคลาดจากกับดักที่จะนำชีวิตมุ่งสู่ทางตันแห่งความหายนะ
คำจีนสยาม
ผ่าน 580 คน ซึ่งเป็นลูกผสมระหว่างการดำรงอยู่ร่วมกันของคนไทยกับคนจีน บริบทของสังคม-วัฒนธรรมอันเปี่ยมพลวัตรก็ปรากฏอยู่ตรงหน้า คำที่ผู้เขียนรวบรวมและเพียงค้นคว้าอย่างรอบด้านนี้ ทำหน้าที่คล้ายกระจกส่องให้เห็นการปะทะสังสรรค์และส่งอิทธิพลของวัฒนธรรมจีนต่อวัฒนธรรมไทย นำไปสู่ความเข้าใจสังคมและเพื่อนร่วมสังคมอย่างถ่องแท้มากขึ้น และด้วยลีลาเฉพาะตัวของผู้เขียน สารคดีเล่มนี้จึงมีกลิ่นอายของความเป็นงานวิชาการที่เปี่ยมด้วยวรรณศิลป์ มีสำนวนโวหารที่น่าอ่าน และสร้างความเพลิดเพลินในการติดตาม
อินเดีย จาริกด้านใน เล่ม 1-3
เป็นงานเขียนเชิงสารคดีชั้นเยี่ยม ประสานมิติทางจิตวิญญาณในการเดินทางเข้าไปยังส่วนลึกของจิตใจ ขนานกับการจาริกไปยังสถานที่ต่าง ๆ ภายนอก ความจัดเจนในการบรรยายที่นำเสนอในรูปจดหมายและความงามละเมียดละไมของภาษา พาผู้อ่านก้าวย่างไปพร้อมผู้เขียนจนคล้ายไปประสบภาพ แสง กลิ่น และเสียง ด้วยตนเอง เนื้อหาเปี่ยมคุณภาพ บรรจุไปด้วยข้อมูลทั้งลึกและกว้าง ให้ความรู้หลากหลายทั้งด้านประวัติศาสตร์ ปรัชญา โบราณคดีและวัฒนธรรมที่ลุ่มลึกของอนุทวีป มุมมองและความเข้าใจที่ตกผลึกต่อสิ่งต่าง ๆ ที่ผู้เขียน สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่านเขม้นมองและตั้งคำถามเกี่ยวกับการเดินทางของตนเอง รวมทั้งส่ง “สาร” แห่งการค้นพบที่สำคัญยิ่ง ซึ่งก็คือการค้นพบตัวเอง การไม่ยึดมั่นในอัตตา เพื่อบรรลุถึงความเป็นมนุษย์ที่แท้
สุ(ข)นัขคอนโด
หนังสือเล่มนี้เป็นเรื่องราวของนักเขียนที่ “หวาดผวากับวิกฤติวัยกลางคน” ซึ่งผู้เล่าเรียกว่า “พ่อ” ในสไตล์การเขียนแนว I STORY เรื่องราวเริ่มจากการที่เขาไปซื้อลูกสุนัขพันธุ์ปั๊กจากตลาด อ.ต.ก. มาเลี้ยงในคอนโดมิเนียม โดยมิได้ศึกษาให้ดีว่าสุนัขพันธุ์นี้ขี้เหงาและติดคนเลี้ยง ไม่เหมาะสำหรับหรับการเลี้ยงไว้ในพื้นที่แคบ ๆ เช่น คอนโดฯ โดยทิ้งไว้ตามลำพัง ในตอนกลางวันเมื่อต้องออกไปทำงาน ทำให้ต้องไปหาซื้อสุนัขมาเลี้ยงเป็นเพื่อนอีกตัวหนึ่งเป็นสุนัขพันธุ์เฟรนช์บูลด๊อก ตั้งแต่นั้นมาชีวิตของ “พ่อ” และหลานชายซึ่งเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่อาศัยอยู่ด้วยกันก็ต้องวุ่นวายกับการดูแลความเป็นอยู่ตั้งแต่การกินถึงการฝึกให้ขับถ่ายอย่างมีวินัยของสัตว์เลี้ยงทั้งสองตัวนี้ แต่เขาก็มีความสุขดี แม้จะต้องเป็นทุกข์บ้างบางครั้งเมื่อสัตว์เลี้ยงแสนรักเจ็บไข้ได้ป่วย เรื่องราวคลี่คลายให้คนอ่านได้รับรู้ว่า “ผม” คือ ลูกสุนัขพันธุ์บีเกิลที่เขาเคยเลี้ยงและตายไปเมื่อสามปีก่อนหน้านี้ ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงชีวิตสมัยใหม่ของคนในเมืองใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในคอนโดฯ ซึ่งมีพื้นที่จำกัด รวมทั้งปฏิสัมพันธ์ของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีเมื่อมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อนเพราะผู้คนที่ต่างคนต่างอยู่เริ่มมีเรื่องของสัตว์เลี้ยงเป็นหัวข้อสนทนา คณะกรรมการตัดสินจึงมีความเห็นว่าหนังสือเล่มนี้สมควรเป็น “หนังสือแนะนำ”
พี่มือใหม่
หนังสือเรื่อง “พี่มือใหม่” เป็นเรื่องราวของเด็กผู้หญิงอายุประมาณ 3 ขวบ ซึ่งกำลังจะมีน้องคนแรก เธอเป็นลูกคนเดียวของพ่อแม่มาจนถึงวันหนึ่งที่ยายบอกว่ามีข่าวดี เกี่ยวกับน้องที่พึ่งเกิดใหม่ และสั่งว่าเธอต้อง “รักน้อง” ตัวเล็กๆ ของเธอ เธอเริ่มรู้สึกสับสนว่า “หนูยังไม่เคยเห็นน้อง ไม่เคยรู้จักน้อง แล้วหนูจะรักหรือไม่รักน้องได้อย่างไร” เมื่อพ่อกับแม่พาน้องกลับมาที่บ้าน ความสับสนในใจของเธอก็มีมากขึ้น เพราะเมื่อเธอเข้าไปใกล้น้อง พ่อแม่ก็หาว่า “กวนน้อง” หรือ “แกล้งน้อง” เธอไม่เข้าใจว่า “ทำไมผู้ใหญ่ชอบสั่งให้เด็กๆ ทำโน่น ทำนี่” และ “ทำไมต้องดุ” เวลาที่เธออยากเห็นน้องใกล้ๆ เธอไม่อยากมีน้องคนนี้เลย แต่เมื่อเธอและน้องค่อยๆ เติบโตขึ้น เธอก็สรุปกับตัวเองว่า “ดีเหมือนกันที่ได้เป็นพี่” หนังสือเล่มนี้ทำให้เราเข้าใจความคิดของเด็กในวัยที่กำลังต้องการความรักและความเข้าใจของพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่อยู่ใกล้ตัว เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ทำให้คนอ่านที่เป็นผู้ใหญ่ตระหนักได้ว่าควรเอาใจใส่ “พี่มือใหม่” พร้อมๆ กับน้องที่เพิ่งเกิดใหม่ด้วยเช่นกัน และควรบอกเล่าเรื่อง “น้อง” ล่วงหน้านานพอสมควร เพื่อเตรียมความพร้อมให้ “พี่” สำนวนภาษาที่น่ารัก แสดงให้เห็นถึงความคิดคำนึงที่ไร้เดียงสาของเด็กๆ ทำให้คณะกรรมการตัดสินมีความเห็นว่าหนังสือเล่มนี้สมควรเป็น “หนังสือแนะนำ”
ลูกยางกลางห้วย
จ้อยเด็กชายชาวใต้ เติบโตมาท่ามกลางสวนยางพารา ลำห้วยน้ำใส และป่าที่อุดมสมบูรณ์ จ้อยซุกซน สนุกสนานตามประสาเด็ก มีความสุขอยู่กับเพื่อน ๆ และญาติมิตรในหมู่บ้านที่แสนอบอุ่น จ้อยรักและผูกพันกับญาติมิตร เพื่อนบ้าน ป่าเขา และลำห้วย ด้วยร่างกายไม่แข็งแรง จึงช่วยงานสวยยางได้ไม่ดีเท่าพี่ชายและน้องชาย แตผลการเรียนดีเป็นที่ชื่นชมของครู แม่จึงส่งเสริมให้ไปเรียนต่อชั้นมัธยมฯ ในเมือง จ้อยจึงต้องตัดสินใจเลือกอนาคตของตนเองว่า จะอยู่บ้านเป็นลูกยางอยู่กลางห้วยต่อไป หรือจะไปเรียนต่อในเมือง ดั่งลูกยางที่ล่องลอยออกไปเติบโตในที่ที่เหมาะสม ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวประสบการณ์ของตนเองในสมัยเด็ก โดยบอกเล่าเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติ ความเป็นอยู่ของผู้คนชาวสวนยางพารา และชาวเหมืองแร่ผ่านความรู้สึกนึกคิด และวิถีชีวิตของจ้อย หนังสือเล่มนี้จึงให้ทั้งความรู้ ข้อคิด และความเพลิดเพลินแก่ผู้อ่านอย่างเหมาะสม
แต่กี้ แต่ก่อน
แต่กี้ แต่ก่อน เป็นเรื่องราวของพิม ลูกสาวชาวสวนริมคลองลุ่มแม่น้ำบางปะกง ชีวิตผูกพันอยู่กับลำคลองและสวน ตั้งแต่วัยเด็กได้รับการอบรมให้ปฏิบัติตนอยู่ในกรอบที่ดีงาม ได้รับการฝึกหัด ขัดเกลา ให้ทำงานเป็น รู้จักช่วยงานพ่อแม่ ขยัน และอดทน ชีวิตวัยเด็กซุกซนแก่นแก้วตามประสาเด็ก เมื่อเรียนจบ ม.6 ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ พิมเสียใจแต่ก็เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องช่วยงานทางบ้าน แต่ไม่อยากทำให้พ่อแม่ไม่สบายใจจึงไม่คัดค้านการตัดสินใจของพ่อแม่ แต่ด้วยมีนิสัยรักการอ่านพิมอ่านหนังสืออย่างสม่ำเสมอแม้ไม่ได้เรียนแล้ว เมื่อเติบโตมีครอบครัวใช้ชีวิตคู่กับเริ่มอย่างเรียบง่าย หาเลี้ยงครอบครัวด้วยการทำสวน เลี้ยงไก่ ทำขนมขาย ฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ ไม่เคยย่อท้อ พยามยามสร้างวิกฤตเป็นโอกาสเสมอ นำความรู้จากการอ่านมาประยุกต์ใช้กับอาชีพได้อย่างเหมาะสม ด้วยความขยันหมั่นเพียร ชีวิตครอบครัวของพิมจึงอยู่อย่างพอเพียง ไม่ขัดสน และด้วยจิตใจที่ดีงาม ความกตัญญูของพิมต่อบุพการี ส่งผลให้ลูก ๆ มีความกตัญญูต่อพิมเช่นกัน ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตชาวสวนริมคลองในอดีตเมื่อสมัย 50 ปีก่อนได้อย่างละเอียดชัดเจน ผู้อ่านได้รับรู้เรื่องราววิถีชาวสวน จนรู้สึกเสียดายบรรยากาศเก่า ๆ ที่ไม่อาจหวนคืนมาได้ดั่งเช่นในอดีต “พิม” ตัวเอกของเรื่องแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็ง อดทน สู้ชีวิต เป็นแบบอย่างของการใช้ชีวิตที่ดีงาม น่ายกย่องชื่นชม
เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม
เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม โดย นทธี ศศิวิมล เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 8 เรื่อง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงมุมมองต่าง ๆ เกี่ยวกับผู้หญิงในมิติหน้าที่ที่แตกต่างกัน สภาพสังคมและความเป็นไปของชีวิต ผ่านบทบาทของตัวละครในฉากเล็ก ๆ แคบ ๆ และธรรมดา แต่ภาพที่ปรากฏกลับมีแง่มุมที่น่าสนใจและชวนให้ขบคิด ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวต่าง ๆ ได้ชวนอ่าน ชวนติดตาม ด้วยสำนวนที่ละเมียดละไม บางเรื่องให้ความสะเทือนใจสูง โดดเด่นในด้านอารมณ์และความรู้สึก เช่น เรื่อง “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” เรื่องสั้นในหนังสือเล่มนี้มีโครงเรื่องที่หลากหลาย ผู้เขียนใช้ศิลปะในการเล่าเรื่องที่ต่างกัน ซึ่งนำผู้อ่านไปสัมผัสความรัก ความชัง ความทุกข์ ความสุข ความเจ็บปวด และการดิ้นรนเพื่อจะมีชีวิตอยู่ของตัวละครอย่างลึกซึ้ง รวมเรื่องสั้น “เต้นรำไปบนท่อนแขนอ่อนนุ่ม” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี 2556
ออกไปข้างใน
ออกไปข้างใน โดยนฆ ปักษนาวิน เป็นรวมเรื่องสั้นจากทั้งหมด 10 เรื่อง ที่ประกอบด้วยความหลากหลายทั้งตัวเรื่อง สถานที่ และเทคนิคการเล่าเรื่อง มีความทับซ้อนชวนให้ตีความได้หลายนัย ผ่านการเล่าเรื่องด้วยมุมมองที่แปลกใหม่ รวมทั้งการสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีสาระผูกโยงทั้งด้านประวัติศาสตร์ การเมือง สังคม ชีวิต และภาวะภายในของปัจเจกบุคคล โดยไม่หวังตั้งคำถามและไม่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน แต่ให้สัมผัสได้ด้วยความคิดคำนึง เรื่องราวบางเรื่องอาจเป็นอดีตที่สังคมรับทราบ เช่น เหตุการณ์เดือนตุลาคม 2516-2519 แต่ผู้เขียนใช้การบอกเล่าด้วยมุมมองที่แตกต่าง ด้วยศิลปะและวรรณศิลป์ผ่านมิติเวลาที่ทับซ้อน ซึ่งเป็นเสน่ห์ในภาพรวมของหนังสือเล่มนี้ อนึ่ง ผู้เขียนได้ฉายภาพมุมกว้างเพื่อมองภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์แสดงให้เห็นความโดดเดี่ยวท่ามกลางสังคมพลุกพล่าน เห็นอุดมคติท่ามกลางความไร้สาระ เห็นความเชื่อที่โยงใยอยู่ ลึก ๆ เบื้องหลัง เห็นความมืดบอดเมื่อค้นหาเข้าไปด้านลึกภายในและในการค้นหาทางออกนั้น พบว่าแท้จริงแล้วคือการเดินผ่านไปสู่ความซับซ้อนที่อยู่ภายใน รวมเรื่องสั้น “ออกไปข้างใน” จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลเซเวนบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี 2556
D DAY
นิยายภาพเรื่องนี้เป็นเรื่องราวที่แสดงแนวทางของสังคมวัยรุ่น ความคิด ความเชื่อ และพฤติกรรมบางแง่มุมของหนุ่มสาวในยุคปัจจุบัน ซึ่งผู้เขียนนิยายภาพต้องการให้ผู้ผ่านได้ใช้วิจารณญาณในการอ่าน ฝีมือการสร้างสรรค์ด้านภาพมีความทันสมัย ฉีกแนวไปสู่รูปแบบการแสวงหาที่โดดเด่น การสร้างบุคลิกของตัวละครได้เด่นชัดตรงกับอุปนิสัยของแต่ละคน
บุญโฮม ฅนป่วง
โครงเรื่องโดยรวมดี เป็นการแสดงพฤติกรรมของตัวละครชุดเดียวกัน บอกเล่าเรื่องราวเป็นตอน ๆ โดยแต่ละตอนเป็นเหตุการณ์สนุกสนานเฮฮา และแสดงความซื่อปนเซ่อของตัวละครเอก (บุญโฮม) ผู้เขียนสามารถนำภาษาอีสานพื้นบ้านมาผสมผสานได้อย่างสนุกสนาน ขณะเดียวกันได้แสดงบุคลิก อุปนิสัย และวัฒนธรรมพื้นบ้านโดยรวมของชาวชนบทที่มีอาชีพทำนา ฝีมือการวาดภาพสวยงามทั้งลายเส้นและอารมณ์ของตัวละคร และบุคลิกของตัวละครแต่ละตัวมีเอกลักษณ์แสดงความเป็นไทยชัดเจน การดำเนินภาพต่อเนื่องเป็นธรรมชาติชวนติดตาม
เส้นทางนักรบ
หนังสือนิยายภาพชุดนี้ (10 เล่ม) เป็นผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้นจากอัตตชีวิตประวัติของพระพรหมมังคลาจารย์ (ปัญญานันทภิกขุ) โดย ศักดา วิมลจันทร์ นิยายภาพชุดนี้มีการดำเนินเรื่องที่สนุกสนานชวนติดตาม บทรัดกุมชัดเจน มีการสร้างตัวละครมีประกอบเสริมเรื่องได้สมเหตุสมผล ทั้งมีส่วนขับเน้นให้แก่น ของเรื่องมีความชัดเจน ฝีมือการวาดภาพได้มาตรฐาน และมีอัตลักษณ์เฉพาะตัวที่มีความเป็นไปไทย การดำเนินเรื่องด้วยภาพทำได้อย่างต่อเนื่องคมคาย แสดงอารมณ์ของตัวละครได้อย่างสอดคล้องกับเหตุการณ์แต่ละช่วงได้ดีพอสมควร ภาพรวมของนิยายภาพชุดนี้แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนชนบทภาคใต้ในช่วงเวลาประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา โดยแทรกความรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมพื้นบ้านเกี่ยวกับขนบธรรมเนียมประเพณี การละเล่น อาหารการกิน โดยเฉพาะนิยายภาพเรื่องนี้สามารถสื่อให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงวิถีแห่งพระพุทธศาสนา คุณธรรม และจริยธรรม
เรื่องเล่าในโลกลวงตา
เรื่องเล่าในโลกลวงตา ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ เป็นนวนิยายอธิบายสภาวะในจิตใจของมนุษย์อย่างประณีตและละเอียดลออ ผ่านเรื่องเล่าของชายผู้หนึ่งที่คนรักถูกงูกัดตาย ผู้เขียนสามารถสะท้อนภาวะทางอารมณ์ได้ตั้งแต่สุดโศกเศร้าอาดูร เสียดาย ไปจนกระทั่งถึงบ้าคลั่งเคียดแค้นแสนสาหัส และพัฒนาความแค้นนั้นไปสู่ความแกร่งกล้าทางกายและทางใจอันนำไปสู่จุดสูงสุดของการเรียนรู้ ความเป็นมายาและอนิจจังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนพลิกผันนำไปสู่ความเข้าใจชีวิตอันจริงแท้ และสงบลงได้ในที่สุด แม้เป็นนวนิยายขนาดสั้น ตัวละครน้อยแต่เนื้อสารลึกซึ้ง ภาษางดงามทำให้เกิดจินตภาพ
รุสนี
มนตรี ศรียงค์ ได้ประมวลเอาความรู้สึกจากปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงอันยืดเยื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาสร้างสรรค์เป็นนวนิยายเรื่อง รุสนี ผู้เขียนเล่าเรื่องสะเทือนอารมณ์ฯผ่าน รุสนี และ เยาะยาห์ ชาวไทยมุสลิมจากการเป็นผู้เฝ้ามอง จนเป็นผู้ถูกกระทำเสียเอง แม้ย้ายออกนอกพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่ก็ยังพบกับปัญหาสังคมอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากไทยมุสลิมหรือไทยพุทธ ปัญหาก็ไม่อาจคลี่คลายลงได้ ความเกลียดชังบ่มเพาะมาจากความหวาดระแวง และความหวาดระแวงส่งผลให้เกิดความเกลียดชังหนักยิ่งขึ้นไปอีก ความเกลียดชังยังนำไปสู่ความรุนแรง และความรุนแรงก็ยิ่งทำให้ความเกลียดชังกันมากขึ้น วงจรอุบาทว์นี้ทับซ้อนจนยากจะแยกออกจากกันได้ สันติจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง มนตรี ศรียงค์ สามารถนำเสนอให้ผู้อ่านสะเทือนอารมณ์ไปกับชะตากรรมของตัวละครโดยมิได้พิพากษาหรือมีทีท่าโน้มเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง และทิ้งสารอันหนักหน่วงไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อ
เสือล่องวารี
เสือล่องวารี นวนิยายของอุเทน วงศ์จันดา นำเสนอเรื่องราวของการดูแลรักษาป่าไม้ของชุมชน เน้นการพึ่งพาเอื้อเฟื้อกัน การมีส่วนร่วม การเคารพธรรมชาติ การดูแลสิ่งแวดล้อม การต่อต้านกระแสทุนนิยมและบริโภคนิยมซึ่งทำลายทั้งธรรมชาติ คุณภาพชีวิตและวัฒนธรรม ผู้เขียนใช้กลวิธีให้แต่ละบทมีผู้เล่าเรื่องต่างกันไป เรื่องจากผีนางตะเคียนทอง หลวงพ่อ ผู้ใหญ่บ้าน คนขุดเรือ คนพายเรือ คนปลูกต้นไม้ ทำให้ผู้อ่านรับรู้เรื่องราวชีวิตของผู้เล่าเรื่องและเรื่องราวของชุมชนไปพร้อมกัน นวนิยายเรื่องนี้มีแนวเรื่องแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) แสดงสีสันท้องถิ่นด้วยตำนาน ความเชื่อ สิ่งลี้ลับ และให้บรรยากาศของความเป็นไทยที่มีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติไปพร้อมกับศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระและผีจึงเป็นพลังหลอมรวมจิตใจของชาวบ้าน และเมื่อผนึกกำลังกับผู้นำชุมนที่มุ่งมั่นทำดี จึงเป็นไตรภาคที่พัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าความศรัทธาสามารถเปลี่ยนสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เป็นไปได้ ดังนั้น การปลูกป่าเพื่อคืนกลับความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้แก่ผืนโลก แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็สามารถทำให้สำเร็จได้
คำนึงถึงบ้าน ขณะฝันในเมือง
คำนึงถึงบ้าน ขณะฝันในเมือง ของโขงรัก คำไพโรจน์ เป็นบทกวีที่สะท้อนความละเอียดอ่อนของผู้เขียนในการมองโลกและความเชื่อมโยงของชีวิต โดยเฉพาะภาพชนบทที่เต็มไปด้วยความสุขสงบตามอัตภาพของผู้ที่รู้จักการกินอยู่อย่างพอเพียงไม่ว่าในเรือกสวนไร่นาก็สามารถบันดาลความสุขได้อย่างที่ปรากฏในบทกวีชื่อ “ในสวนสนุก” ที่แม้แต่ความแหลมคมและแข็งกระด้างของรั้วลวดหนามยังต้องพ่ายแพ้แก่ธรรมชาติอันอ่อนโยน เมื่อ “เธอจะพบมะระพยายามบีบนวดลวดหนามให้ใจเย็น” ขณะที่เนื้อหาในภาคสอง “เมืองเคลื่อนไหว” ก็ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงของเมืองผ่านสายตาอนาทรของผู้เขียนด้วยความ “คำนึงถึงบ้าน ขณะฝันในเมือง” ได้อย่างชวนสะทกสะท้อนใจ
ฟันเฟืองมนุษย์
ฟันเฟืองมนุษย์ ของฐกฤต ตั้งฐานตระกูล เป็นบทกวีที่ผู้เขียนอาศัยความถนัดจากทักษะงานอาชีพช่างซ่อมรถของตนมาเป็นมุมมองในการพินิจพิจารณาชีวิตที่หลากหลาย โดยเฉพาะชีวิตในสังคมคนกลางคืนอย่าง “เมืองพัทยา” สถานที่ที่ผู้เขียนอาศัยเปิดอู่ซ่อมรถอยู่ นับเป็นความแปลกใหม่ของลีลาการครุ่นคิดพินิจนึกผ่านสายตา “ช่างซ่อมรถ” ที่เพียรพยายามกระทำหน้าที่ “ช่างสลักคำ” ด้วยความรักในบทกวี
วาดเท้าเพื่อก้าววาง
วาดเท้าเพื่อก้าววาง ของกอนกูย เป็นบทกวีว่าด้วยสัมพันธภาพอันอบอุ่นระหว่างผู้เขียนกับสรรพสิ่งชีวิตรอบข้าง ทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตรายรอบตัว และชีวิตในสังคมที่ผู้เขียนได้ผ่านพบและมีปฏิสัมพันธ์ ผ่านห้วงเวลาที่หลากหลาย ทั้งเช้า สาย บ่าย ค่ำ เป็นลำนำกวีที่ให้ความรู้สึกละมุนละไมเหมือนสายลมแห่งความหวังดีที่คอยพัดวีให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน สมดังเจตนารมณ์ของผู้เขียน
โลกใบเล็ก
โลกใบเล็ก ของพลัง เพียงพิรุฬห์ รวมบทกวีนิพนธ์ ตามรูปแบบฉันทลักษณ์โคลง กาพย์ กลอน ร่ายสุภาพ และกลอนเปล่าที่เน้นเนื้อหาสาระ จังหวะคำ กวีโวหารเรียบง่าย ในภาพรวมของรูปแบบฉันทลักษณ์ส่วนใหญ่ถูกต้อง แม่นยำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยในเรื่องการใช้คำและสัมผัสในบางแห่ง แต่โดยภาพรวมมีความไพเราะเหมาะความ การถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของผู้ประพันธ์ สร้างอารมณ์สุนทรีย์ได้อย่างมีวรรณศิลป์ เนื้อหาสาระเป็นความฝันที่สะท้อนออกมาจากการเฝ้ามองปรากฎการณ์สังคม อดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต โดยหลอมรวมประสบการณ์ ความคิด ความเปลี่ยนแปลงเพื่อสื่อความหมายที่ชัดเจนได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนผู้ประพันธ์มีศิลปะในการเสนอแนวความคิดริเริ่มได้อย่างมีคุณค่าทางวรรณศิลป์และคุณค่าด้านสังคม มีวิสัยทัศน์ในการประเมินคุณค่าของสิ่งที่ได้พบเห็นอย่างสมเหตุสมผลและนำเสนอด้วยความคิดใหม่ผ่านโลกใบเล็กของตนเองเป็นองค์ประกอบที่มีความงดงามทั้งรูปแบบ เนื้อหา และการสื่อความผ่านงานวรรณกรรม
แม่น้ำเดียวกัน
แม่น้ำเดียวกัน ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ รวมบทกวีจำนวน 80 บท แบ่งเป็น 3 ภาค คือ ภาคหนึ่ง โลกใบอื่น ภาคสอง พื้นที่จริงแท้ และภาคสาม แม่น้ำเดียวกัน ผู้ประพันธ์เฝ้ามองและตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในดินแดนภาคใต้ที่นำมาซึ่งความทุกข์ ความสูญเสียเศร้าโศกของมนุษย์ด้วยกันเอง แท้จริงมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกชาติศาสนามาจากแม่น้ำสายเดียวกันอันดุจเป็นมารดรของมนุษยชาติซึ่งก็คือ “บุตรธิดามารดาเดียว” มนุษย์ควรลืมความขัดแย้งในอดีตซึ่งเป็น “คอกกำแพงกั้นแบ่งมนุษย์” และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ผู้ประพันธ์เน้นคุณค่าของความรักในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างแม่กับลูกที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ โลกทัศน์มนุษยนิยมของผู้ประพันธ์ยังครอบคลุมไปถึงสัตว์ร่วมโลกซึ่งอาจให้อุทาหรณ์ที่มนุษย์ได้เรียนรู้และมีสำนึกเชิงจริยธรรม ด้านศิลปะการประพันธ์เด่นด้านการใช้ภาพพจน์ประเภทอุปลักษณ์และอุปมาการเปรียบเทียบระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายในใจของมนุษย์ รวมบทกวีเล่มนี้จึงมีคุณค่าด้านจิตวิญญาณและการสร้างสำนึกเชิงจริยธรรมด้วยการสร้างสรรค์เชิงวรรณศิลป์
รากของเรา เงาของโลก
รวมบทกวี รากของเรา เงาของโลก ของสุขุมพจน์ คำสุขุม ประกอบไปด้วย บทกวีจำนวน 40 บท เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรก “รากของเรา” และภาคสอง “เงาของโลก” ภาคแรก “รากของเรา” ผู้ประพันธ์นำเสนอวิถีชีวิตพื้นถิ่นบ้านเกิดภาคอีสาน ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดในครอบครัวและบรรพบุรุษ ที่แม้จะต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต แต่มีความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งยังคงเป็นความสุขในความทรงจำ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันของไททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไทอีสาน ไทลาวและเผ่าไทในดินแดนอื่น ๆ วิถีชีวิตชาวนาในชนบทอีสานแม้จะต้องเผชิญอุปสรรคนานาประการ แต่การต่อสู้ชีวิตก็เป็นแนวทางที่บรรพบุรุษและหัวหน้าครอบครัวปลูกฝังให้ลูกหลานสืบต่อกันมาดุจรากเหง้าของเผ่าพันธุ์ที่หยั่งลึกท่ามกลางวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นสุขด้วยอาหารพื้นถิ่นอีสาน เช่น ปลาแดก และข้าวจี่ ซึ่งผูกร้อยสายสัมพันธ์ของผู้คนร่วมแผ่นดินถิ่นเกิด ภาคที่สอง “เงาของโลก” ผู้ประพันธ์นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เข้าสู่โลกาภิวัฒน์ สื่อร่วมสมัย เช่น เฟสบุ๊ค อินเทอร์เน็ต เปลี่ยนวิถีของคนไทย ซึ่งดูเหมือนใกล้ชิดแต่ไกลห่างทางความรู้สึกและความเข้าใจ ช่องว่างในสังคมเมืองที่มีผู้ที่เสพสุขอย่างล้นเหลือ รวมถึงผู้พิการที่เข้ามาขอทานเพื่อหาเลี้ยงชีวิต การอพยพเข้ามาอยู่เมืองหลวงของชาวอีสานจึงมิได้นำมาซึ่งความสุข แต่กลับเป็นพิษภัย “กรุงเทพฯ เป็นกรุงท่วม อาบทุกข์อ่วมนครอัน- สูงเด่นเป็นสวรรค์ จะซบหน้าลึกบาดาล” ผู้ประพันธ์ยังเสนอไว้ในบท “ความสุขมวลรวมฉบับสามัญชน” ว่าความสุขที่แท้จริง คือ ชีวิตที่เรียบง่าย พอมีพอกินในชนบท ความเอื้ออาทรเจือจานซึ่งกันและกัน การรู้จักอยู่และรู้จักประมาณตน ในทัศนะของผู้ประพันธ์ จี.ดี.พี จึงหมายถึง “จึงดีพอ” สำหรับชนชั้นสามัญชน