คง/กระ/พัน/ชาตรี
หลายชีวิต การดำรงอยู่ช่างเป็นเรื่องเรียบง่าย นับแต่ผ่านครรภ์มารดาจวบจนวันสุดท้ายของลมหายใจ ชีวิตราวลาดปูด้วยกลีบบุปผาแห่งความราบรื่น แต่สำหรับบางชีวิต แม้ปณิธานตั้งต้นจะปรารถนาเพียงความสามัญธรรมดา มุ่งประกอบสัมมาอาชีพ เปิดรับความสุขตามครรลองการครองเรือนไปตามอัตภาพโดยไม่ทะเลาะเบาะแว้งกับใคร และสามารถยืนหยัดบนถนนแห่งความเป็นคนดีไปจนสุดทาง แต่ราวกับว่าพรง่าย ๆ ที่ร้องขอกลับได้รับการปฏิเสธโดยสิ้นเชิงจากชีวิตอย่างโหดร้าย ในนวนิยายเรื่อง คง/กระ/พัน/ชาตรี ของ ประชาคม ลุนาชัย “สถานการณ์ที่ไม่อาจขืนต้าน” ลากพาตัวละครทั้งสาม คือ คงธรรมหรือชาตรี กระ และพันรบ ระหกระเหินไปในเส้นทางที่มิอาจคาดเดา ไกลห่างลิบลับจากวิถีชีวิตในอุดมคติที่ตั้งไว้และใฝ่ฝันถึง จากบ้านสู่ป่า จากบกสู่ทะเล จากเมืองสู่ไร้เมือง จากการหยั่งลึกในรกรากสู่ความหวั่นไหวในวิถีแห่งผู้พเนจร “ความเป็นอื่น” จากการต้องเอาชีวิตรอดในอีกเส้นทางการเลือกของแต่ละตัวละคร นำพาผู้อ่านไปร่วมสัมผัสรูปแบบชีวิตที่แตกต่าง ห่างไกลการรับรู้ แต่ดำรงอยู่ร่วมสังคมเดียวกับเรา ในขณะที่ตัวละครเผชิญแรงบีบคั้นที่ชีวิตไล่ต้อนจนนำไปสู่การตั้งคำถาม และมองโลกด้วยสายตาฉงนฉงายและผิดแผกไปจากเดิม ผู้อ่านที่ร่วมรับรู้ชะตากรรมของตัวละครมาตั้งแต่ต้น ก็เข้าสู่กระบวนการตั้งคำถามและทบทวนเช่นกัน จุดจบและปลายทางของตัวละคร ทิ้งคำถามยาก ๆ ที่มิอาจตอบได้ทันที ไว้ให้ผู้อ่านได้ขบคิดว่า อะไรคือชีวิตที่ดี การเป็นเพียงคนดีและซื่อสัตย์ตามแบบฉบับเดิม ๆ เพียงพอแล้วหรือ ค่านิยมดีงามบางอย่างเช่น ความเป็นเพื่อนน้ำมิตรควรถนอมรักษาไว้อย่างไร ส่วนค่านิยมบางอย่างที่เคยเกื้อกูลการขัดเกลาความเป็นชายและตอกย้ำความหนักแน่นของสังคมนักเลง อย่างเช่นการรักศักดิ์ศรี และการไม่ยอมกัน ควรทบทวนและปรับเปลี่ยนหรือไม่ การไม่สู้คนซึ่งเคยเป็นสัญลักษณ์ของความขี้ขลาด ใจเสาะ ปกป้องครอบครัวไม่ได้นั้น สอดคล้องกับคุณค่าอารยะแบบใหม่ที่เน้นการหันหน้าเข้าหากันด้วยอหิงสา และสันติวิธี ใช่หรือไม่ และโลกเก่าซึ่งกำลังเปลี่ยนผ่านสู่โลกใหม่ที่แวดล้อมด้วยคุณค่าแบบใหม่จะผสานกันให้ลงตัวได้อย่างไร เหนืออื่นใด “สาร” ที่ผู้เขียนส่งผ่านชีวิตผันผวนของตัวละครทั้งหมด นำผู้อ่านไปสัมผัสกับความกรุณาในหัวใจและความตระหนักรู้ว่า “ความจำเป็นในชีวิตนั่นเอง ที่เป็นยิ่งกว่านักฆ่าอำมหิต เมื่อถูกบีบคั้นจนรั้งสติไม่อยู่ การตัดสินใจเพียงชั่ววูบอาจส่งผลต่อชีวิตที่เหลือทั้งหมด” คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “คง/กระ/พัน/ชาตรี” ของ ประชาคม ลุนาชัย เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557
ผีเสื้อที่บินข้ามบึง
“ผีเสื้อที่บินข้ามบึง” เป็นเรื่องราวของหญิงหม้ายที่ต้องปรับวิถีชีวิตใหม่หลังสูญเสียสามีที่รักไป ทั้งการจากเมืองหลวงกลับไปพำนักที่บ้านเกิด การพยายามปรับตัวให้เข้ากับแม่ผู้มีความคิดแตกต่าง การสร้างงานอาชีพใหม่ตามที่ใฝ่ฝัน และที่สำคัญ…การเผชิญกับความวูบไหวทางอารมณ์ที่เกือบจะดึงเธอให้เดินผิดทาง แต่ในที่สุดเธอก็สามารถก้าวข้ามความอ่อนแอทางจิตใจได้ แล้วเดินทางตามเส้นทางชีวิตที่เลือกแล้วต่อไป…เหมือนผีเสื้อที่สามารถบินข้ามบึง พะแพงเป็นม่ายสาววัยสามสิบที่ใช้ชีวิตเป็นแม่บ้านอยู่ที่คีรีวงนาน 8 ปี เมื่อสูญเสียสามีไปตลอดกาล เธอก็เหมือนผีเสื้อที่บินเคว้งคว้าง ต้องพยายามเรียกตัวตนของเธอกลับคืนมาใหม่หลังจากเธอเปลี่ยนวิถีชีวิต เปลี่ยนกระบวนความคิด เปลี่ยนทุกอย่างเพื่อหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งของคนที่รักที่สุด อย่างแรกคือการทำงานเพื่อเลี้ยงชีวิตตามลำพัง พะแพงย้ายขึ้นมาอยู่ในเมืองหลวง รับจ้างวาดภาพประกอบหนังสือ พิสูจน์อักษร และเป็นนักเขียน โชคดีที่พะแพงมีเพื่อนดี ๆ เธอจึงผ่านอุปสรรคนี้ไปได้ สิ่งต่อมาที่พิสูจน์ความแข็งแกร่งของพะแพง คือการต่อสู้กับสายตาของสังคมที่ประเมินความเป็นแม่ม่ายวัยสาว โดยเฉพาะสายตาจากเพศชาย ตัวพะแพงเองก็มีคำถามกับการเป็นแม่ม่ายในอุดมคติที่จงรักสามีไปชั่วกาลนาน หรือจะเริ่มต้นชีวิตใหม่ ซึ่งเธอมีคำตอบให้ตัวเองว่า แม้จะรักสามีมากเท่าใด แต่เธอสามารถมีรักใหม่ได้อีก และจะมีรักเมื่อพบรัก ไม่ใช่เพราะเหงา อ่อนแอ หรือต้องการที่พึ่ง เมื่อไม่ปิดกั้นตัวเอง พะแพงจึงมีผู้ชายที่มีบุคลิกแตกต่างกันอีกหลายคนเข้ามาในชีวิต ทั้งพี่เกรียงผู้อบอุ่น หมอก้องหนุ่มหล่อนิสัยดี คชาผู้มีเสน่ห์ชวนค้นหา และนกหนุ่มน้อยใสซื่อ ทุกคนล้วนเป็นบททดสอบอารมณ์วูบไหวของพะแพง อุรุดา โควินท์ นำเสนอ “ผีเสื้อที่บินข้ามบึง” ด้วยบันทึกประจำวันของพะแพง ทำให้ผู้อ่านรับรู้ความรู้สึกนึกคิดและอารมณ์ของพะแพงผู้เป็นตัวละครเอกได้ชัดเจน ผู้เขียนให้ภาพของพะแพงเป็นผู้หญิงที่มีบุคลิกภาพภายนอกดูเป็นหญิงสาวผู้มั่นใจในตัวเอง แต่ภายในอ่อนไหวล้ำลึก พะแพงต้องผ่านช่วงยากลำบากในชีวิต ทั้งความสูญเสีย การเจ็บไข้ได้ป่วย สัมพันธภาพของคนในครอบครัว และความเปราะบางทางอารมณ์ ในที่สุดเธอตัดสินใจกลับไปตั้งหลักที่บ้านเกิด เพื่อให้มีฐานที่มั่นคงอบอุ่น ก่อนชีวิตจะก้าวเดินต่อไปข้างหน้า นวนิยายชีวิตของพะแพงทิ้งค้างไว้ไม่มีบทจบโดยสมบูรณ์ว่าความฝันในการยึดอาชีพทำผ้าบาติกขายจะสำเร็จหรือไม่ และความรักครั้งใหม่ของเธอจะลงตัวและลงเอยกับหนุ่มรุ่นน้องได้จริงหรือเปล่า แต่นวนิยายเรื่องนี้ก็จบลงอย่างให้ผู้อ่านโล่งใจว่าในที่สุดผีเสื้อปีกบางก็บินข้ามบึงได้สำเร็จ คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “ผีเสื้อที่บินข้ามบึง” ของ อุรุดา โควินท์ เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557
จับต้นมาชนปลาย
นวนิยายเรื่อง “จับต้นมาชนปลาย” นำเสนอชีวิตของมนุษย์ที่ทับซ้อนข้องเกี่ยวกัน การกระทำทุกอย่างล้วนส่งผลกระเพื่อมไหวไปยังทุกชีวิตที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง สร้างเงื่อนปมให้แต่ละชีวิตโยงใยกันอย่างซับซ้อน สิ่งที่เรามักจะมองเห็นเป็นเพียงปลายของเหตุที่มาก่อนหน้านั้น และเมื่อสาวไปถึงต้น ก็จะพบว่าเป็นปลายของเหตุที่มาก่อนหน้านั้น อีกทีหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไป ปลายของเรื่องหนึ่งย่อมเป็นต้นของอีกเรื่องหนึ่ง ไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด เรื่องราวเริ่มต้นที่คู่รักสมัยวัยเรียนได้มาพบปะกันอย่างไม่นึกฝัน หลังจากต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปมีชีวิตครอบครัวจนลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาว การหวนมาพบกันครั้งนี้เป็นจุดเริ่มให้ทุกชีวิตในครอบครัวทั้งสองมาพัวพันกันจนยุ่งเหยิง เรื่องจบลง ณ สถานที่ตอนเริ่มต้นเรื่องหลังจากที่ตัวละครทั้งคู่ได้พานพบและบอบช้ำกับปัญหาต่าง ๆ จนทำให้เติบโตทางอารมณ์ นำไปสู่ความเข้าใจชีวิต เมื่อ “จับต้นมาชนปลาย” เรื่องราวทั้งหมดที่ผูกร้อยเข้าหากันได้ ผู้เขียนใช้เหตุบังเอิญผูกเรื่องราวได้อย่างแยบยล แต่ละเหตุการณ์เรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างสมเหตุสมผล เงื่อนปมชีวิตของตัวละครแต่ละตัวชวนให้ติดตามว่าตัวละครจะหาทางออกอย่างไร ความสับสนวุ่นวายต้องอาศัยสติเพื่อการใคร่ครวญ จัดการกับปัญหาบางปัญหา ปล่อยวางกับปัญหาบางปัญหา และท้ายที่สุด ทำความเข้าใจกับทุกข์ของผู้อื่นมากกว่าหมกมุ่นกับทุกข์ของตน รู้เท่าทันว่าแม้ปัญหาจะคลี่คลาย แต่ก็ยังมีปัญหาใหม่ที่กำลังก่อตัวอยู่เสมอ เราต้องพร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นทุกจังหวะย่างก้าวของชีวิต คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “จับต้นมาชนปลาย” ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557
กาหลมหรทึก
เป็นนวนิยายสืบสวนสอบสวนเรื่อง กาหลมหรทึก ของ ปราปต์ กล่าวถึงคดีฆาตกรรมซึ่งปรากฏรอยสักประหลาด 5 คำบนตัวผู้ตายเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วพระนครและย่านฝั่งธน สร้างความโกลาหลและสะเทือนขวัญประดุจการลั่นกลองใหญ่กลางกรุงแต่ครั้งโบราณเพื่อเตือนเหตุเภทภัย แผนฆาตกรรมที่ถูกประจงสร้างขึ้นอย่างซับซ้อน โดยประสาน ศาสตร์แห่งการวางแผนที่กำหนดวัน เวลาและสถานที่ไว้แน่นอน กับศิลป์แห่งความเข้าใจในโคลงกลบทโบราณอย่างลึกซึ้ง นำไปสู่การไขปริศนาของ “สาร” ที่ฆาตกรต้องการประกาศให้สังคมรับรู้ การดำเนินเองเป็นไปอย่างเข้มข้น น่าติดตาม และนำผู้อ่านเข้าสู่วังวนแห่งการตั้งคำถามโดยไม่รู้ตัวถึงสาเหตุแห่งการจูงใจอันโหดเหี้ยมของผู้วางแผนและฆาตกรผู้เขียนสามารถปลุกเร้าความสนใจของผู้อ่านให้ติดตามอย่างต่อเนื่อง ล่อหลอกให้ไขว้เขวกว่าผู้เขียนจะคลี่คลายปมอันคาดไม่ถึงในตอนจบ นวนิยายเรื่องนี้ยังสอดแทรกเกร็ดความรู้เชิงประวัติศาสตร์สังคมเกี่ยวกับสถานที่เกิดเหตุต่าง ๆ ท่ามกลางบรรยากาศของสงครามมหาเอเชียบูรพาได้อย่างกลมกลืน คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ กาหลมหรทึก ของ ปราปต์ เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยายปี 2558
หยาดน้ำค้างพันปี
อายุขัยของมนุษย์นั้นน้อยนิดนักเมื่อเทียบกับการคงอยู่ของจักรวาล อาจเปรียบได้กับหยาดน้ำค้างที่พร้อมจะระเหยหายไปตามกาลเวลา หากเมื่อมองชีวิตผ่านความทุกข์อันใหญ่หลวงที่กำลังเผชิญอยู่ย่อมยากที่ใครจะคิดเช่นนั้นได้ 22 ปีที่นางสายน้ำ นานขวัญใจ ตกอยู่ในสถานะของผู้ต้องหาคดีปลอมแปลงสมบัติของแผ่นดิน แม้จะเชื่อในความสุจริตของตน แต่ไม่มั่นใจกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงชั้นผู้ว่าคดี เพราะฉะนั้นยามที่ต้องขึ้นศาลครั้งแล้วครั้งเล่า เธออยู่ในภาวะที่ถูกกดดันต่อเนื่อง กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดียืดเยื้อยาวนานจนเธอไม่รู้ว่าจะจบลงที่ใด ชมัยภร แสงกระจ่าง ฉายภาพชีวิตของตัวละครที่เคราะห์กรรมถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ฉุดรั้งชีวิตให้ดำดิ่งสู่ห้วงลึกลงทุกที จนเวลาล่วงไป เธอจึงได้คิดแล้วพินิจความทุกข์ รับธรรมะเข้ามาประคองใจ ปลดเปลื้องด้วยการเปิดใจตามดูรู้เท่าทันจิตของตน จนตระหนักได้ว่าความทุกข์ที่มาจาก “คนอื่น” นั้น แท้ที่จริงแม้จะเริ่มจากเหตุปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ แต่ทุกข์นั้นก็ยังดำรงอยู่เพราะใจกักเก็บหล่อเลี้ยงมันไว้ นอกจากการเล่าเรื่องแบบสัจนิยมแล้ว นวนิยายเรื่อง หยาดน้ำค้างพันปี ยังแสดงสัญญะที่ตัวละครหลบเลี้ยงและปฏิเสธความทุกข์ด้วยการปักจิตปักใจกับการปักผ้าระบายแรงกดดันที่กำลังเผชิญผ่านลายปักสีสันเศร้าหมองที่สะท้อนถึงความสิ้นหวัง ภาวะไร้อำนาจและความปรารถนาในอิสรภาพ กองผ้าที่ปักสูงเพียงใดทุกข์ก็ท่วมใจเพียงนั้น จนไม่มีวันออกจากทุกข์ได้ ตราบใดที่ไม่ “ตื่น” จากทุกข์ “สิ่งใดที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ดีที่สุดสำหรับเรา” คือประโยคสำคัญที่ผู้เขียนส่งสารมายังผู้อ่านให้เปิดใจเรียนรู้ชีวิตจากทุกข์ของตนเอง วิกฤตชีวิตคือโอกาสสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นชีวิต รู้จักกับ “ใจ” ของตน จิตที่ฝึกแล้วย่อมไม่พาชีวิตให้ทอดเวลาแห่งทุกข์ยืดยาวเป็นหยาดน้ำค้างพันปีได้ อย่างไรก็ตามผู้อ่านอาจเห็นว่าประโยคนี้เป็นเพียงประโยคปลอบใจ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของนางสายน้ำ แต่เป็นสิ่งที่เธอไม่ได้เลือก หรือเลือกไม่ได้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ หยาดน้ำค้างพันปี ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายประจำปี 2558
พลิ้วไปในพรายเวลา
เราทุกคนคงมีช่วงเวลาหนึ่งในชีวิตที่ฝังใจไม่รู้ลืม โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเวลาแห่งความรัก แม้ว่าจะผ่านพ้นมาด้วยความสุขปนเศร้า หรือหฤหรรษ์ปนเจ็บแปลบ แต่เมื่อใดที่หวนย้อนกลับไปรำลึกถึง เราก็คงอยากจะอ้อยอิ่งละเลียดโมงยามนั้นให้ดื่มด่ำซ้ำอีกครา นั่นจึงเป็นที่มาของนวนิยายเรื่อง พลิ้วไปในพรายเวลา ของผาด พาสิกรณ์ ผู้รังสรรค์เรื่องราวนิยายรักของหญิงสาวที่มีอารมณ์ผูกพันกับชายสองคน คนหนึ่งเป็นชายหนุ่มที่ผ่านพบในอดีตช่วงสั้น ช่วงเวลาที่บังเอิญมาพาดทับกันนั้น มีอิสรภาพของหัวใจเป็นตัวเร้าและความถูกชะตาเป็นตัวเร่ง แต่แล้วหนุ่มใหญ่ก็ต้องพรากจากกันด้วยความไม่พร้อมทั้งฝ่ายเธอและฝ่ายเขา ส่วนอีกคนหนึ่งเป็นชายที่เธอรู้สึกคุ้นเคยเหมือนเป็นเงาของอดีต สำหรับเธอ-หนุ่มน้อยเป็นเหมือนช่วงเวลาที่ขโมยมาจากอดีต สำหรับเขา-เธอเป็นเหมือนกลิ่นเงาจาง ๆ ของอดีตที่มาเติมเต็มช่องว่างของปัจจุบัน ในที่สุดเธอได้ทราบว่าเขาเป็นลูกชายของคนรักคนแรกที่หวนกลับมาพบกันอีกครั้ง เธอจะตัดสินใจเลือกใคร “เลือกพ่อ ลูกเจ็บ เลือกลูก เธอก็ตัดใจจากพ่อไม่ได้” เธอมีทางเลือกที่สาม แต่ดูเหมือนว่าพระพรหมจะไม่ปล่อยให้เธอเลือกเส้นทางนั้นได้ง่าย ๆ พลิ้วไปในพรายเวลา ดำเนินเรื่องด้วยความประจวบเหมาะตั้งแต่ต้นจนจบ แต่กลับมีความเป็นไปได้ตามบริบทของท้องเรื่อง ความบังเอิญอันหาที่มาไม่ได้ถูกโยนให้เป็นความรับผิดชอบของพระพรหมที่ขีดเส้นชีวิตไว้ให้มนุษย์ตัวจ้อย และคอยเฝ้าดูด้วยความหรรษา ตัวละครทุกตัวในนวนิยายเรื่องนี้มีมิติสมจริง บทสนทนามีชีวิตชีวา ลีลาตัวอารมณ์ของตัวละครมีจังหวะหนักเบา รุกรับถอยหลบตามที่ใจและสมองผลัดกันสั่งการทำให้นวนิยายเรื่องนี้มีความวูบไหวพลิกพลิ้วให้ต้องติดตามตลอดเวลา ผู้เขียนแบ่งเรื่องนี้ออกเป็น 4 ภาคเพื่อตามเก็บรายละเอียดไม่เผลอไผลทิ้งค้าง สิ่งที่กล่าวถึงในตอนต้นเรื่องถูกคลี่คลายในตอนท้ายเรื่องอย่างไม่ตกหล่น บทบรรยายและบทพรรณนาด้วยภาษาภาพพจน์ของผู้เขียนพาผู้อ่านพลิ้วไปในท้องสมุทรของตัวอักษร ที่มีแสง สี เสียง กลิ่น รส อันช่วยกันสร้างจินตนาการและจินตนาการบรรเจิดแก่ผู้อ่าน ส่วนตอนจบ ผู้เขียนก็ทิ้งค้างไว้ให้อารมณ์และความคิดของผู้อ่านทำงานต่อบ้าง…อย่างน้อยก็ถกเถียงกันพอหอมปากหอมคอว่า มาราดา-ตัวเอกของเรื่องจะตัดสินใจใหม่หรือไม่ ชีวิตรักของมาราดาลงเอยแบบใดหรือนักเขียนจงใจหยุดเรื่องไว้ตรงนี้ เพราะเขียนได้เพียงต้นชีวิตและกลางชีวิต ส่วนปลายชีวิตนั้นเป็นลิขิตของพระพรหม พลิ้วไปในพรายเวลา เป็นเรื่องเลาถึงอารมณ์มนุษย์ช่วงที่หวามไหวในความรักกับคนที่ใช่ แล้วเก็บฝังไว้ในความทรงจำไม่รู้ลืม ไม่ว่าความรักนั้นจะลงตัวและลงเอยหรือไม่ นวนิยายเรื่องนี้จึงจับใจ จับอารมณ์ จับความรู้สึกของผู้อ่านให้ร่วม “พลิ้วไปในพรายเวลา” ที่ฝังอยู่ในใจของแต่ละคน คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ พลิ้วไปในพรายเวลา ของผาด พาสิกรณ์ เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายประจำปี 2558
รักในรอยบาป
รักในรอยบาป นำเสนอความ “แตกสลาย” อันเป็นชะตากรรมร่วมกันของตัวละคร ภายใต้เงื้อมเงาของ เงาจันทร์ แผลแรกจากประสบการณ์ผลักหลายชีวิตเข้าสู่วังวนแห่งทุกข์ที่ยากจะพบทางออก ชีวิตของตัวละครดุจดังแก้วที่แตกหักจากการเฆี่ยนตีของผู้เขียนซึ่งมิได้ปรารถนาจะ “ซ่อม” สู่ความบริบูรณ์ การอ่านนิยายเล่มนี้ คือการตอบรับคำเชิญให้ก้าวเข้าสู่มุมหม่นของโชคชะตา ซึ่งแท้จริงคือจุดอับ ที่ผู้เขียนขับต้อนตัวละครให้ “จนมุม“ อย่างศิโรราบอยู่ก่อนแล้ว ผู้อ่านมิอาจร่วมคิด ร่วมหวัง ร่วมฝัน ถึงทางออกอันสว่างไสวใด ๆ ได้เลย ทำได้แค่เพียงยอมจำนนต่อบาดแผลของตัวละคร โดยมอบตัวเองเป็นผู้เฝ้าดูการเดินทางสู่ความอับปางในชีวิต อภิสิทธิ์ในฐานะของพยานคือ การที่ผู้อ่านได้ประจักษ์ถึงสุนทรียภาพที่ซุกซ่อนอยู่ในความร้าวรานของสรรพสิ่ง ในความวิปริตของตัวละครมีความวิจิตรอย่างยิ่งยวด มีความงามแตกเส้นสายออกมาจากการมองโลกที่บิดเบี้ยว คลื่นอารมณ์ยามดำดิ่งก่อระลอกเป็นความแปรผันอันซับซ้อน ความดี-ความชั่วคือการสร้างภาพเชิงศิลปะ สิ่งสามัญที่ถูกมองข้ามฉับพลันกลับมีสีสันเจิดจ้าน่าพิศวง ความแปร่งปร่ากลับเร้าความปรารถนาให้ใคร่ลิ้มลอง “ทิพยรส” อันจะเกิดขึ้นกับจิตที่ผิดปกติเท่านั้น การเตลิดไปดื่มด่ำกับภาวะ “หลุดลอย” ของเหล่าตัวละครเพียงชั่วครู่ กลายเป็นประสบการณ์น่าตื่นใจของผู้อ่าน …ที่สุดแล้ว เราคงไม่จำเป็นต้อง “ซ่อม” แก้วที่แตกหัก เพราะอาจทำให้พลาดการได้ยลแถบรุ้งงาม …ที่สุดแล้ว การเป็นผู้พินิจ อาจทำให้พบความวิจิตรในเสี้ยวชีวิตที่แตกสลาย ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ นวนิยายเรื่อง รักในรอยบาป ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในปีพุทธศักราช 2559
ข้ามสมุทร
ข้ามสมุทร ของ วิษณุ เครืองาม เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ นำเสนอเรื่องราวชายหนุ่มนาม พจน์ ใน พ.ศ. 2542 หรือ ค.ศ. 2000 นักเรียนไทยในปารีส ที่เดินทางข้ามเวลา ข้ามทวีป ข้ามชาติภพไปยังกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2228 ตรงกับรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กลายเป็น แสน ผู้มีโอกาสปฏิบัติหน้าที่ในฐานะล่ามติดตามคณะราชทูตของออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) ที่เชิญพระราชสาส์นเจริญสัมพันธไมตรีไปทูลเกล้าฯ ถวายพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส รอนแรมไปถึงหกเดือน และเดินทางกลับมากรุงศรีอยุธยาที่ช่วงรอยต่อระหว่างรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชกับสมเด็จพระเพทราชา ที่เข้มข้นด้วยวิกฤตการเมืองภายในและความตึงเครียดของการเมืองภายนอก ท้ายที่สุด พจน์ ก็ได้เดินทางกลับมาจุดเดิม เวลาเดิม และได้ค้นหาเติมเต็มสิ่งที่ใคร่รู้ที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเอาไว้ ความหนา 925 หน้า 30 บท ของนวนิยายเรื่องนี้อัดแน่นไปด้วยข้อมูลที่ผู้เขียนค้นคว้ามาอย่างละเอียดลออ ทั้งข้อมูลจากฟากของฝรั่งเศสและข้อมูลจากฟากพงศาวดารไทยเท่าที่จะมีจารึกไว้ ผู้เขียนได้ใช้จินตนาการรังสรรค์ประวัติศาสตร์ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งในรูปแบบของนวนิยาย ผู้อ่านจะพลอยได้รับความรู้ด้านกุศโลบายทางการทูตและการเมืองที่ชิงไหวชิงพริบเพื่อรักษาผลประโยชน์และเกียรติภูมิของประเทศชาตินอกเหนือไปจากเพลิดเพลินไปกับอรรถรสของนวนิยายที่ดำเนินเรื่องโดย พจน์ หรือ แสน ผู้เดินทางข้ามสมุทร อันกินความถึง ข้ามเวลา ข้ามทวีป และข้ามชาติภพ พร้อมกับเกิดความตระหนักถึงภูมิปัญญาของแผ่นดิน และสำนึกรู้คุณของบรรพบุรุษที่รักแผ่นดินเกิด ซึ่งเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองเป็นสำคัญ นับได้ว่านวนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่อง ข้ามสมุทร ได้ทำหน้าที่อย่างภาคภูมิในการผนวกสาระข้อมูลเข้ากับจินตนาการของผู้เขียนได้อย่างกลมกลืน คณะกรรมการพิจารณาตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊ค อวอร์ด ประเภทนวนิยายจึงมีมติให้นวนิยายเรื่อง ข้ามสมุทร ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในปีพุทธศักราช 2559
เพลงรักนิวตริโน
เพลงรักนิวตริโน เป็นนวนิยายที่มีเนื้อหาสื่อสารเรื่องความรัก โดยผู้เขียนมุ่งสะท้อนว่าความรักเป็นเสมือนอนุภาคนิวตริโนที่มีมวลเล็กที่สุดยากจะจับต้องได้แต่มีพลังอำนาจในการทะลุทะลวงสูงสุดจนบางครั้งหัวใจของมนุษย์ก็ตรวจจับไม่ทัน แม้ผู้เขียนแสดงความคิดดังกล่าวได้ชัดเจนไม่ทั้งหมด แต่ด้วยองค์ประกอบอื่น ๆ อันได้แก่ การใช้เรื่องราวในเสี้ยวประวัติศาสตร์การเมืองฮ่องกง การสร้างตัวละครหญิงบุคลิกโดดเด่นที่ได้แรงบันดาลใจจากดาราหญิงในอดีตของจีน การบรรยายฉากและบรรยากาศของฮ่องกง กลวิธีทางวรรณศิลป์สัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ซึ่งทำให้เหตุการณ์เหนือความเป็นจริงเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงได้ และการเล่าเรื่องที่ฉับไวและทรงพลังผ่านภาษาอันมีเสน่ห์ ทำให้นวนิยายเรื่องนี้น่าสนใจตั้งแต่ต้นจนจบ คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยาย จึงมีมติให้เพลงรักนิวตริโน ของอนุสรณ์ ติปยานนท์ สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2560
พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ
ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเรื่องเล่าร่วมกันถึงความเป็นมาของพลเมืองในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ นวนิยายของ วีรพร นิติประภาเป็นภาพจำลองกระบวนการสร้างความทรงจำร่วมกันหรือประดิษฐกรรมที่รับรู้ในนาม “ประวัติศาสตร์” ในบริบทของรัฐไทย ผู้เขียนสร้างครอบครัวคนจีนอพยพครอบครัวหนึ่ง-ตั้งต้นที่ตาทวดตง ให้มีชีวิตขนานไปกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยท่ามกลางความผันผวนของการเปลี่ยนขั้วอำนาจและอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่อวลอยู่ในบรรยากาศก่อนและหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ชะตากรรมของสมาชิกในครอบครัวเล็ก ๆ ซึ่งที่สุดแล้วได้รับการจดจำและกลายเป็นเรื่องเล่าผ่านตัวละครหลักคือ ยายศรีหนูดาว และ แมวตัวหนึ่งมีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งยวดกับเรื่องเล่าระดับ มหภาค ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความทรงจำในลักษณะกระท่อนกระแท่น เว้าแหว่ง คลุมเครือ ไม่ปะติดปะต่อ สลับไปสลับมา และพร่าเลือนจนราวกับพรมแดนระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ความจริงกับสิ่งสมมุติ การหลับฝันและการตื่น การจำได้และการลบลืม ไม่อาจแยกออกจากกันได้ตลอดกาล และในพื้นที่เช่นนี้เอง บางตัวละครไร้ที่ยืน ถูกกีดกันออกไปจากเรื่องเล่าให้กลายเป็นเพียงเงาสะท้อนของภูตพราย เป็นบุคคลสูญหาย ตกหล่น พลัดหลง และถูกขังลืมในซอกหลืบของเวลา ในขณะนำพาผู้อ่านเดินทางไปพร้อมกับตัวละครและเหตุการณ์ด้วยกลวิธีการประพันธ์แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ผ่านภาษาที่มีลักษณะเฉพาะตัว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนซ่อนไว้อย่างแยบยล คือความปรารถนาให้ผู้อ่านหยุดคิดและตั้งคำถามกับ “เรื่องเล่า” ที่อยู่รอบตัว เพราะที่สุดแล้ว ความทรงจำของอดีตที่รับรู้ในนามประวัติศาสตร์ /เรื่องเล่า/หรือตำนาน แท้จริงคืออำนาจของผู้เล่าว่าเลือกจะเล่า เลือกจะลบ หรือเลือกจะลืม ดังนั้น พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ของ วีรพร นิติประภา จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2560
กระจกขอบทอง
กระจกขอบทอง เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องราวชีวิตของตระกูลช่างทำทองในช่วงรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 7 จากรุ่นสู่รุ่น ที่โลดแล่นตามเส้นทางที่บรรพบุรุษได้วางไว้ส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งลิขิตวิถีชีวิตตนเองโดยไม่ยอมแพ้ความทุกข์หรือท้อถอยต่อโชคชะตา กฤษณา อโศกสิน ได้แสดงสัญญะผ่าน “กระจก” ให้ตัวละครเอกเข้าใจและตระหนักรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาแต่ละช่วงชีวิตทีละมิติ ดังนี้ มิติแรก ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อมองกระจก สิ่งที่สะท้อนออกมาคือเงาของตัวตนที่ประกอบด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของบรรพบุรุษ มิติที่สอง เงาสะท้อนย่อมมีทั้งความงามและความบกพร่อง ทำให้แยกแยะได้ว่าควรจะเก็บอะไรไว้ หรือทิ้งอะไรไป ความเข้าใจนี้ทำให้เห็นปุถุชนวิสัยของบรรพบุรุษที่มีทั้งดีและร้าย มิติที่สาม การสั่งสมเกียรติยศและคุณงามความดีของบรรพบุรุษเปรียบเสมือนขอบทองของกระจกกระจกอาจหมองไปตามกาลเวลา จึงต้องหมั่นเพียรเช็ดถูรอยด่างดำที่กระจกและปิดทองที่ขอบเพื่อส่งมอบกระจกขอบทองเป็นสมบัติให้ลูกหลานรักษาสืบไป นอกจากสะท้อนความหมายของการดำเนินชีวิตอย่างเข้าใจและยอมรับข้อบกพร่องต่าง ๆ แล้ว ยังแสดงให้เห็นความองอาจและเด็ดเดี่ยวของมนุษย์ที่ใช้คุณธรรมกำกับนำพาชีวิตไปสู่ทิศทางที่ดีได้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยาย จึงมีมติให้ กระจกขอบทอง ของ กฤษณา อโศกสิน สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2560
คนในนิทาน
เบื้องหลังนิทานซึ่งทำหน้าที่สร้างความบันเทิงให้ผู้คนในสังคม บ่อยครั้งมักมาจากชีวิตจริงของบุคคลที่มีเลือดเนื้อ คนในนิทาน ของ กร ศิริวัฒโณ คือนวนิยายย้อนยุคสังคมเกษตรกรรมแบบจารีตประเพณี (Peasant Society) ที่ผู้เขียนจงใจแตะต้องและตั้งคำถามต่อประเด็นเรื่องเพศอันล่อแหลม ดำฤษณาคือแรงขับเคลื่อนของสรรพสัตว์ หากแต่การตอบสนองความปรารถนาดังกล่าวในสังคมมนุษย์มักอยู่ภายใต้กรอบของกฎกติกา การเบี่ยงเบนจาก “รีตรอย” นำไปสู่การประณามหยามหยันตีตราว่าวิปริตวิตถาร ปมความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพ่อตากับลูกเขยในเรื่องเล่าขำขันฉบับนี้เบื้องหลังคือเรื่องราวขมขื่นของผู้เพลี่ยงพล้ำต่อการสนองตัณหาซ่อนเร้นในหนทางที่สังคมไม่ยอมรับ ทางออกและการคลี่คลายดำเนินผ่านฉากชีวิตในชนบทที่สอดแทรกความรู้เรื่องการทำมาหากิน ภูมิปัญญาท้องถิ่น และกลวิธีในการประสานตำนานและเกร็ดเรื่องเล่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งอย่าง แยบยล นอกเหนือจากคุณค่าเชิงนวนิยายแล้ว คนในนิทานยังทำหน้าที่เป็นบทบันทึกทางสังคมที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาอีกโสดหนึ่งด้วย คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2561
นี่คือสิ่งสำคัญ
นี่คือสิ่งสำคัญ เป็นนวนิยายตลกร้ายเสียดสีทุนนิยมสมัยใหม่ ภานุมาศ ทองธนากุล ชี้ให้เห็นทุนนิยมแบบผูกขาด ทุนนิยมแบบขายตรง และทุนนิยมข้ามชาติ ระบบทุนนิยมเข้าครอบงำชีวิตมนุษย์ทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภค อุปโภค หรือแม้แต่สุขภาพ ผู้เขียนพาผู้อ่านไปพบกับ “วินัย” มนุษย์เงินเดือนผู้มีชีวิตอย่างซังกะตาย แต่แล้ววันหนึ่งเหตุการณ์เหลือเชื่อแสนมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นกับเขาทีละเรื่อง ๆ แต่ละเรื่องล้วนนำไปสู่จุดที่วินัยอาจถึงทางตัน ท้ายที่สุดเขาก็กลับพลิกผันจนสามารถอยู่กับสังคมทุนนิยมได้ จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การผูกเรื่องที่ซ่อนทฤษฎีสมคบคิด (Conspiracy Theory) ไว้เบื้องหลังและยั่วล้อสังคมบริโภคด้วยจินตนาการอันน่าทึ่ง ไปจนถึงลีลาการใช้ภาษาที่เจือไปด้วย อารมณ์ขัน และกระตุ้นให้คิดไปพร้อม ๆ กัน ตั้งแต่ชื่อเรื่องที่จงใจใช้คำพ้องเสียง “นี่คือสิ่งสำคัญ” เล่นความหมายให้พลิกผันจาก “หนี้คือสิ่งสำคัญ” การตั้งชื่อตัวละครและสถานที่ต่าง ๆ ให้ล้อกับชื่อที่ปรากฏในสังคม ตลอดจนการเสียดเย้ยสังคมอย่างสนุกสนาน ทั้งหมดนำไปสู่คำตอบว่าความสุขที่แท้จริงของชีวิตอยู่ที่การรู้เท่าทันระบบทุนนิยม คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2561
ในกับดักและกลางวงล้อม
เมื่อเอ่ยถึงเรื่องเล่าชีวิตของคนจับปลาในท้องทะเลลึก นักอ่านก็จะนึกถึงชื่อ ประชาคม ลุนาชัย ผู้เขียนนวนิยายฝั่งแสงจันทร์ คนข้ามฝัน กลางทะเลลึก เที่ยวเรือสุดท้าย นวนิยายเรื่อง ในกับดักและกลางวงล้อม แสดงฝีมือและประสบการณ์อันตกผลึกแล้วของผู้เขียน ชีวิตลูกเรือจับปลากลางทะเลใน นวนิยายเรื่องนี้ฉีกแนวไปจากเรื่องเดิม ๆ เพราะตัวละครกว่าครึ่งบนเรือหาปลาลำนี้เป็นผู้บกพร่องทางร่างกาย ทั้งตาบอดข้างเดียว ตาเหล่ ขาขาด นิ้วขาด แขนคด นอกจากนี้แทบทุกคนไม่มีประสบการณ์ในการเดินเรือจับปลากลางมหาสมุทรมาก่อน ไม่เว้นแม้แต่ไต้ก๋งที่กว่าจะเรียนรู้สัญญาณโซน่าช่วยหาฝูงปลาก็สาวอวนได้ท่อนไม้มาเสียหลายครั้ง และจุมโพ่ที่ทำอาหารไม่เป็นแต่อยากได้งาน ตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกโดดเด่นชัดเจน และมีพัฒนาการที่เกิดจากประสบการณ์ชีวิต เห็นชัดว่าผู้เขียนพยายามถอยห่างจากเรื่อง จนแทบไม่ปรากฏเงาร่างของผู้เขียน แต่มุ่งนำเสนอเรื่องราวของนักสู้ชีวิตเหล่านี้อย่างสมจริง ไม่มีใครเป็นพระเอก ทุกคนล้วนเป็นตัวเอกที่ช่วยกันขับเคลื่อนนาวากลางสมุทรให้พวกเขาประสบความสำเร็จในอาชีพและบรรลุความฝัน ยาเสพติด การพนัน และผู้หญิงบนฝั่ง เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของลูกเรือประมง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นกับดักที่ทำลายอนาคตและความใฝ่ฝัน ฝูงปลาที่ตกอยู่ในวงล้อมของอวนไม่ต่างจากพวกเขาที่ตกอยู่ในวงล้อมและกับดักของงานหนักและการเสี่ยงกับโชคชะตา แต่พวกเขาก็ฝ่าฟันมาได้ด้วยแรงกายเท่าที่มี แรงใจที่เข้มแข็ง และการล่มหัวจมท้ายด้วยกัน ที่สำคัญคือรได้เรียนรู้ว่าการสู้ชีวิตให้พ้นกับดักและวงล้อมไปสู่อิสรภาพและเป็นนายตนเองนั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ดังที่ไต้ก๋งกล่าวในท้ายสุดว่า “ที่จะล้อมปลาให้อยู่หมัด ไม่ใช่เพียงแค่เรือหรืออวน หากยังรวมถึงสติปัญญา ความสามารถ ประสบการณ์ และภูมิรู้ทั้งหมดทั้งมวล…” แม้เรือหาปลาจะเทียบฝั่งแล้ว แต่นาวาชีวิตของแต่ละคนยังโลดแล่นฝ่าคลื่นลมในมหาสมุทรชีวิตตามทิศทางของตนต่อไป ด้วยความโดดเด่นด้านเนื้อหาสาระ ข้อคิด และชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ คณะกรรมการจึงมีมติให้ในกับดักและกลางวงล้อม ของ ประชาคม ลุนาชัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2561
ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน
นวนิยายเรื่อง ไม่มีเธออยู่ข้าง โลกนี้ก็กว้างเกิน ของ ปะการังคืองานเขียนว่าด้วยความรัก นิยามแห่งรักจากหนังสือเล่มนี้แม้ดูราวกับว่าจะมีความรักของหนุ่มสาวเป็นแกนขับเคลื่อน หากก็ข้ามพ้นไปจากเขตแดนของคนสองคน เหตุการณ์ในเมืองสมมุติที่ดูจะมีศูนย์กลางอยู่ภายในครอบครัวเล็ก ๆ และวนเวียนอยู่ในแวดวงตัวละครเพียงหยิบมือกลับบอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับมลฑลแห่งชีวิตอันไพศาล ภายใต้การดำเนินเรื่องที่เรียบง่าย คล้ายท่วงทำนองงดงามของบทกวี แฝงไว้ด้วย ข้อคิด วิธีมองโลก มุมมองต่อปัญหา และอุดมคติในการอยู่ร่วมกันที่ลึกซึ้ง แกนกลางของนวนิยายเรื่องนี้คือการยอมรับแก่นแท้อันเป็นพื้นฐานว่าชีวิตจำต้องมี “กันและกัน” และในชีวันสถาน (Biosphere) แห่งการอยู่ร่วมกันนี้ ทุกชีวะ(Beings) ต่างมีความสำคัญ และล้วนมีตำแหน่งแห่งที่ พึงได้รับโอกาส การเยียวยา และการเริ่มต้นใหม่ และด้วยการสร้างพื้นที่แห่งรักที่โอบรับทุกสรรพชีวิตนี้เองที่มนุษยชาติจะสามารถบรรลุถึงความฝันร่วมกันนี้ได้ สารแห่งรักได้รับการเกื้อกูลและแสดงออกผ่านทางเลือกของตัวละคร แม้จะมีห้วงเวลาแห่งความขัดแย้งชิงชังที่อาจนำไปสู่การโต้ตอบหรือการเลือกที่ต่างออกไป แต่ท้ายที่สุดแล้ววีรบุรุษและวีรสตรีของ นวนิยายเรื่องนี้คือคนธรรมดาสามัญที่ทำในสิ่งที่ถูกต้องและเลือกรักเป็นคำตอบสุดท้าย คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2562
วายัง อมฤต
นวนิยายเรื่อง วายัง อมฤต ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ เปิดเรื่องให้นายไฮน์ริช เบิล ชาวเยอรมัน นักแปลและล่าม 8 ภาษาผู้มีชื่อเสียง ได้รับการติดต่อจาก “กรมพระฯ” เจ้านายชั้นสูงของสยามที่ลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่ชวา เพื่อให้แปลบันทึกความทรงจำที่ยังทรงเขียนไม่จบเกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากนั้นผู้เขียนก็พาผู้อ่านทะลุทะลวงเข้าไปในเหตุการณ์การต่อสู้ของกลุ่มกองโจรใต้ดินของชวาซึ่งมีบุหลันหรือบุหรงและศรี อรพินโท เป็นผู้นำที่มีอุดมการณ์ในการต่อต้านและขับไล่กองทัพญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองชวาในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาและพร้อมกันนั้นก็พยายามปลดแอกจากอำนาจของชาวดัชท์ ผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเดิมไปด้วย นอกจากสงครามในเอเชีย ผู้เขียนพาผู้อ่านเข้าร่วมรู้บางเสี้ยวของสงครามกลางเมืองสเปนที่ฝ่ายกบฏร่วมรบต่อต้านพวกฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโก ผู้นำสเปนซึ่งมีท่านฟูเร่อร์แห่งเยอรมนีหนุนหลัง ผู้เขียนแสดงการหักเหลี่ยมซ้อนกลและความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ของสายลับเยอรมันซึ่งเป็นหนอนบ่อนไส้ในกองทหารอาสา อันทำให้เปิดโฉมหน้าของไฮน์ริช เบิล ว่าที่แท้คือ ฟรังซัวร์ อูแบง ซึ่งเป็น ผู้รับทอดอุดมการณ์และตัวตนของไฮน์ริช เบิล หลังเขาถูกสังหารโดยกองทหารนาซี จากสงครามกลางเมืองในสเปนผู้เขียนนำผู้อ่านกลับเข้าสู่สงครามกลางเมืองในชวา ไฮน์ริช เบิลคนใหม่ยินดีเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น และขับเคี่ยวกับพันตรี ทารุ ซามาโมโต้ เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุหลันและศรี อรพินโท เหตุเพราะเขาหลงรักบุหรง และต่อมาเขาได้รับรู้ความจริงหลังเธอถูกสังหารว่า บุหรงคือคนเดียวกับบุหลันซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทุนให้ กลุ่มกบฏและตัวเธอเองก็เป็นนักรบผู้ห้าวหาญในกองทัพใต้ดินของชวา ความพ่ายแพ้และการสูญเสียหญิงที่ตนรักทำให้ไฮน์ริช เบิล หมดไฟชีวิต เขาเผาข้าวของที่เตือนใจให้นึกถึงดินแดนชวา รวมทั้งบันทึกความทรงจำของกรมพระฯ ที่ยังแปลไม่เสร็จนั้นด้วย อนุสรณ์ ติปยานนท์ ใช้ภาพซ้ำของการกบฏไม่ว่าจะเกิดในสยาม ชวา สเปนและญี่ปุ่น สื่อให้เห็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งของคนสองฝ่ายต่างอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ทุกแห่งทุกเวลา ความคลุมเครือ ความเหนือจริง ความลึกลับ สัญลักษณ์ อาการกึ่งจริงกึ่งฝัน และเรื่องเล่าลวง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวเรื่อง ย้ำให้ตระหนักถึงความลวงที่เป็นเงาหลอกล่ออยู่เบื้องหน้าความจริง เช่นเดียวกับการเชิดหนังที่ผู้ชมมองเห็นแต่เงาดำโลดแล่นอยู่บนฉากขาวซึ่งบดบังตัวหนังและคนเชิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง วายัง อมฤตซึ่งเป็นชื่อของ นวนิยายเรื่องนี้ หมายถึงโลกแห่งอุดมคติ โลกที่อาจจะดูเลื่อนลอยเหมือนเงาดำของหนังวายัง กุลิต แต่มีความจริงที่สัมผัสได้อยู่ในนั้น นั่นคือ อุดมการณ์อันแข็งแกร่ง อุดมคติที่ตกผลึก และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แม้ว่าเรื่องราวของนักปฏิวัติแห่งชวา ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ เอเวอร์เดล อามีร์ ฮาริฟุดดิน บุหลันหรืออดิรัต ฮาฟิช และศรี อรพินโท จะกลายเป็นเพียงเงาในฉากประวัติศาสตร์การเมือง แต่อุดมคติในการเปลี่ยนสังคมให้ดีกว่าเดิมยังคงดำรงอยู่เสมอและส่งทอดต่อมาไม่ขาดสาย ฉะนั้น วายัง อมฤต โลกแห่งอุดมคติ จึงมีอยู่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของอีกหลายประเทศ ด้วยคุณค่าสาระของเรื่อง การประกอบสร้างนวนิยายด้วยศิลปะการประพันธ์ที่มีชั้นเชิงและการ เรียงร้อยด้วยถ้อยภาษาที่สอดคล้องกับตัวบท ทำให้นวนิยายเรื่อง วายัง อมฤต มีความโดดเด่นยิ่ง คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2562
ใต้ฝุ่น
ระเบิดกลางเมืองมุมไบในปี 2011 ทำให้ เมย์ มิลเล่อร์ นักเขียนคอลัมน์ลูกครึ่งไทย-อังกฤษ “ตื่น” ขึ้นอีกครั้งบนแผ่นดินอัฟกานิสถาน ย้อนกาลกลับไปเกือบสี่ทศวรรษ ในช่วงเวลาแห่งอารยะ สันติภาพ กุหลาบ และบทกวี ก่อนที่ประเทศนี้จะถูกบดขยี้จากเพลิงสงคราม นวนิยายเรื่องใต้ฝุ่น ของ โกลาบ จัน พาผู้อ่านไปสัมผัสอัฟกานิสถานด้วยสายตาของเมย์ ในร่างใหม่นาม มัรยัม ภายใต้กระบวนการปรับตัวเพื่ออยู่รอดของตัวละคร ผู้เขียนได้สอดแทรกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ สังคม-วัฒนธรรม การเมือง ภาษา ค่านิยม และวิถีชีวิตประจำวันไว้อย่างแนบเนียน เมื่อกอปรกับภาษาอันสละสลวย อรรถรสชวนติดตาม และความสะเทือนใจแบบนวนิยายแล้วก็ทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นส่วนผสมอันลงตัวระหว่างข้อเท็จจริงเชิงสารคดีกับจินตนาการ ยิ่งไปกว่านั้น ชะตากรรมของตัวละครในภาวะสงครามยังเชื้อเชิญให้ผู้อ่านได้ใคร่ครวญถึงบทบาทของสตรีในฐานะภรรยาและมารดา บุรุษในฐานะหัวหน้าครอบครัวและผู้ปกป้อง รวมถึงอุดมการณ์ในเรื่องความภักดีและหน้าที่ต่อแผ่นดิน อะไรคือทางออกของความรักชาติและการเสียสละที่พรากคู่รักออกจากกัน จนทำให้สตรีต้องเป็นม่าย และเด็ก ๆ กลายเป็นกำพร้า หรือการธำรงปณิธานดังกล่าวจำต้องแลกมาด้วยการสังเวยชีวิตส่วนตัวและครอบครัว การเดินทางผ่านตัวอักษร นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้ร่วมเป็นประจักษ์พยานในเคราะห์กรรมของเพื่อนมนุษย์และตระหนักถึงความโชคดีของการมีชีวิตอยู่ในประเทศที่ไม่ถูกภัยสงครามแผ้วพานแล้ว ยังนำไปสู่การค้นพบร่วมกันว่าภาย “ใต้ฝุ่น” และซากปรักหักพังจากสงคราม สิ่งมีค่าสูงสุดคือความรักและความหวังที่มอบโอกาสให้ชีวิตได้หยัดยืนและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภท นวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2562