ดินแดนบันไดงู
ดินแดนบันไดงู ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม เป็นรวมบทกวีที่แสดงให้เห็นถึงโลกอันซับซ้อน ที่มนุษย์พยายามสร้างเงื่อนไข แล้วดำเนินชีวิตตามนิยามความคิด เพื่อเดินทางไปยังโลกอันแสนไกล โดยคิดว่านี่คือการขับเคลื่อนความจริงท่ามกลางความซับซ้อนและยอกย้อนตลอดเวลา ผู้เขียนได้แบ่งบทกวีออกเป็น ๓ ภาค คือ ชิ้นส่วนของประเทศ พาเหรดซิมแปนซี และ ที่อยู่ของขอบฟ้า แต่ละภาคใช้ความเปรียบเหนือจริง ของจินตนาการ ประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ผ่านบทกวีฉันทลักษณ์ที่ร้อยเรียงสัมผัสกันทุกบท ในภาค “ชิ้นส่วนของประเทศ” บอกถึงการประกอบสร้างสังคมซึ่งเดินหน้าด้วยความรู้และความเชื่อ ถอยห่างจากรกรากเดิม เดินผ่านเขาวงกตที่สร้างขึ้น เป็นการสร้างบ้านแปงเมืองเข้าสู่กับดักในท้องงูที่กลืนกินผู้คนเข้าไปในกลไกแห่งงูกล ขบวนมนุษย์ที่เป็น “พาเหรดของซิมแปนซี” ในภาคต่อมา อันเป็นขบวนของมนุษย์ที่เชื่อมั่นในความรู้ มีโลกกว้างแห่งจินตนาการอยู่ในบ้านจริงอันคับแคบ โลกที่นับถือความรู้และตรรกะจึงมองเห็นขอบฟ้าเพียงที่ประจักษ์ จึงได้แต่บูชาสิ่งปลอมเหล่านั้น ในภาค “ที่อยู่ของขอบฟ้า” หากกระโจนออกจากภาพลวงอันปรากฏอยู่ในกระจก เพื่อเต้นรำกับสายลม เห็นสายฝนที่ตกลงมาเป็นเพลงเศร้า เห็นแดดเช้าพร่ำรักกับแมวดำ ฯลฯ อันเป็นเทคนิควิธี “เหนือจริง” เหล่านี้แล้ว จะพบว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ในดินแดนแห่งนี้เหมือนกำลังเล่มเกมบันไดงู เพื่อเดินทางไปพิสูจน์ที่อยู่ของขอบฟ้า ต่างล้วนมีโอกาสก้าวกระโดดลัดชั้นสูงขึ้นหรืออาจตกชั้นลงมาเริ่มใหม่ได้ตลอดเวลา ดินแดนบันไดงู งดงามด้วยองค์ประกอบทางวรรณศิลป์ และการสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการ ทำให้เกิดการตีความได้ลุ่มลึกหลากหลาย คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี ดินแดนบันไดงู ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
ประเทศในเขาวงกต
กวีนิพนธ์ชุด “ประเทศในเขาวงกต” ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ แบ่งเนื้อหาเป็น ๔ ภาค ภาคแรก :ฟ้าค่ำนี้อาจสีเศร้า ภาคสอง : บนบรรทัดประวัติศาสตร์ ภาคสาม : ประวัติศาสตร์กำลังเดินทาง ภาคสี่ : ขอบฟ้าอนาคต ภาพรวมว่าด้วยสังคม การเมือง เหตุการณ์ความรุนแรง ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ ปัญหาเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ลักษณะเด่นอยู่ที่ความหนักแน่น เข้มข้นในเนื้อหาสาระ ใช้คำเท่าที่จำเป็น ทุกคำจึงมีความหมาย ทั้งที่ใช้คำธรรมดาสามัญ แต่เมื่อใช้อย่างถูกกาลเทศะ ทำให้ลงตัวงดงาม ทรงพลัง และเนื่องจากรวมบทกวีเล่มนี้ไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์ กวีอาศัยความจัดเจนทางภาษา จังหวะจะโคน จึงเห็นความโดดเด่นด้านชั้นเชิงวรรณศิลป์แจ่มชัด ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของ “ประเทศในเขาวงกต” คือความคิดที่แหลมคม อาจเรียกได้ว่าคมคำ คมความคิด และสำคัญสุด วรรณกรรมเล่มนี้มิใช่แค่รายงานสถานการณ์ หรือมิเพียงสะท้อนว่าทุกองคาพยพของประเทศกำลังตกอยู่ในเขาวงกต กวีได้พยายามเสนอทางออก ชี้ประวัติศาสตร์ให้ทบทวนบทเรียนเพื่อก้าวสู่เส้นทางใหม่ ๆ หลายช่วงฉายภาพและตอกย้ำให้เห็นปัญหา แล้วเปิดปลายให้ผู้อ่านนำไปขบคิดต่อ ขณะที่หลายชิ้นงานตั้งคำถามต่อสังคมแบบคมคายเป็นการกระตุกกระตุ้นให้ตื่นจากวังวนเดิม ๆ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลงานภายในเล่มหลายสำนวน เขียนขึ้นตามวาระต่าง ๆ แต่มีนัยกว้างออกไป ไม่จำกัดเฉพาะวาระพิเศษนั้น ๆ นี่คือเสน่ห์ และถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการด้านกวีนิพนธ์ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมบทกวี “ประเทศในเขาวงกต” ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
หนทางและที่พักพิง พืชพันธุ์แห่งพุทธะในท้องทุ่ง มโนทัศน์กวีนิพนธ์
“หนทางและที่พักพิง” ของอังคาร จันทาทิพย์ ถือเป็น ‘พืชพันธุ์แห่งพุทธะในท้องทุ่งมโนทัศน์กวีนิพนธ์’ ดังที่นิยามไว้บนปก จริงอยู่…การเขียนเรื่องราวพุทธประวัติ ไม่ใช่เรื่องใหม่ ใคร ๆ เขาทำมานักต่อนักแล้ว ถึงกระนั้นการนำเรื่องเก่าโบราณกาลมาทำซ้ำแบบไม่ให้ซ้ำคนอื่นนับเป็นเรื่องยากและท้าทาย แต่กวีผู้นี้ทำได้ดีอย่างน่าชื่นชม โดยใช้ชั้นเชิงกวีมานำเสนอในมุมมองใหม่ ๆ อย่างมีวรรณศิลป์ และมีเสน่ห์ ที่สำคัญผู้เขียนมีความช่ำชองในจังหวะจะโคนของโคลง กลอน ทำให้ผู้อ่านได้อรรถรสและความรู้ควบคู่กันไป
หัวใจห้องที่ห้า
หัวใจห้องที่ห้าของ อังคาร จันทาทิพย์ รวมบทกวี 46 บทเรื่อง แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคแรก หัวใจห้องที่ห้า และภาคหลัง นิทานเดินทาง ในภาคแรก หัวใจห้องที่ห้าที่หมายถึง “ดวงใจใฝ่ฝันสันติสุข” ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องราวของสังคมไทยในมิติต่าง ๆ เริ่มจากอดีตจนเกิดความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันซึ่งดูจะเป็นวิวัฒนาการที่โลกและมนุษย์อาจไม่ได้ดีกว่าเดิมเพราะสังคมยังเต็มไปด้วยปัญหา ความขัดแย้งและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ และที่สำคัญคือคลื่นความขัดแย้งในสังคมที่ทำให้เกิดความแบ่งแยกแตกต่างของผู้คน ในภาคหลัง นิทานเดินทาง ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องเล่าและวิถีชีวิตของกลุ่มชนในบริบทต่าง ๆ ของสังคมไทย ทั้งตำนานแม่น้ำโขงในภาคอีสาน คนไร้บ้านในเมืองหลวง ชนกลุ่มน้อย เช่น มอญ กะเหรียงคอยาวและคนไร้สัญชาติโดยเชื่อมโยงเรื่องเล่าในอดีตกับวิถีชีวิตในปัจจุบันซึ่งล้วนระทมทุกข์และต้องต่อสู้ดิ้นรนในสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม นิทานเดินทางของผู้คนหลากหลายคือนิทานชีวิตที่ยังคงต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดชีวิต ด้านกลวิธีการประพันธ์ ใช้กลอนสุภาพเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้มีโคลงสี่สุภาพและกาพย์ฉบัง นำเสนอแนวคิดปัญหาสังคมในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้ผู้อ่านฉุกคิด โดยใช้เรื่องเล่าในอดีตเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในปัจจุบันได้อย่างมีนัยสำคัญ
ประเทศของท่าน บ้านของผม
รวมบทกวี “ประเทศของท่าน บ้านของผม” โดยพิเชฐ แสงทอง เป็นการบอกว่าชีวิตของบุคคลย่อมซ้อนทับกับการดำเนินไปของสังคม ความเป็นไป ชะตากรรม หรือความคาดหมายในครอบครัวหนึ่ง ย่อมประกอบขึ้นเป็นเนื้อหนังของสังคมประเทศที่ไม่ต่างกัน จากบ้านสู่ประเทศ จากประเทศสู่บ้าน เราต่างมุ่งหวังชีวิตที่ดีกว่า แต่ในความเป็นจริงความหวังทั้งหลายได้หล่นหายรายเรียงไม่อาจจะดินถึงได้ทั้งที่เห็นอยู่เบื้องหน้า “ประเทศของท่าน บ้านของผม” กล้าหาญที่จะบอกถึงสิ่งซึ่งผุกร่อน ล่มสลายในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ท้าทายกับยุคสมัยที่โลกหมุนไปข้างหน้า ท้าทายกับสิ่งที่เคยเป็นหมุดหมาย วีรกรรม อุดมคติ โดยผ่านการวิพากษ์จากรูปธรรมส่วนตนเองไปยังสังคมประเทศ เกิดการกระตุก ยั่วเย้า เพื่อให้เกิดการขบคิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้อย่างกว้างขวางตามทัศนะแห่งการตีความ ดังนั้นรวมบทกวี “ประเทศของท่าน บ้านของผม” โดยพิเชฐ แสงทอง จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
แผนพัฒนาความฉลาดของเมืองคนโง่
แผนพัฒนาความฉลาดของเมืองคนโง่ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น 24 เรื่องของอภิชาติ จันทร์แดง ที่ใช้รูปแบบของเรื่องสั้น-สั้น อย่างมีศิลปะและเปิดปลายให้ผู้อ่านขบคิดต่อ การถ่ายทอดความเป็นจริงที่หลากหลายในสังคมนั้นเต็มไปด้วยชั้นเชิงที่ซ่อนเงื่อน ให้ตีความได้หลายนัย ด้วยมุมมองที่น่าสนใจ ใช้ภาษาที่มีท่วงทำนองแปลกใหม่ สั้นกระชับแฝงไปด้วยความหมาย ผู้เขียนสร้างสรรค์เนื้อหาที่มีสาระผูกโยงทั้งด้านการเมือง สังคม ชีวิต ในลักษณะที่เป็นปัจเจก เน้นความรู้สึกของตัวละครโดยมิได้พิพากษา กระตุ้นให้คิดโดยไม่ได้ตั้งคำถามและไม่ต้องการคำตอบที่ชัดเจน แต่แสดงความสัมพันธ์ที่เชื่อมโยงร้อยรัดกันอย่างลึกซึ้งระหว่างวัตถุและจิตใจ เช่นเรื่อง “สนามเด็กเล่น” ที่ไม่ได้เป็นแค่สนามเด็กเล่น หรือ เรื่อง “ใครสักคนอยู่ตรงนั้น:ร่ม” ร่มอาจไม่ได้เป็นเพียงอุปกรณ์กันฝนเท่านั้น เรื่องสั้น 24 เรื่อง เป็นเสมือนกระจกที่สะท้อนสภาพสังคมในมุมต่าง ๆ เมื่อนำมาประกอบเข้าด้วยกันก็ทำให้เห็นภาพรวมความชำรุดของสังคม เป็นเรื่องสั้นชุดหนึ่งที่ท้าทายกับการตั้งคำถามเกี่ยวกับจิตสำนึกของคนในสังคมปัจจุบันได้เป็นอย่างดี รวมเรื่องสั้น แผนพัฒนาความฉลาดของคนเมืองคนโง่ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปี 2559