หมาป่ากลางมหาสมุทร
ชื่อของประชาคม ลุนาชัย กับประสบการณ์ลูกเรือประมงมาคู่กัน นวนิยายเกี่ยวกับเรื่องลูกทะเล หลายเรื่องของเขาได้รับรางวัลทั้งจากการประกวดหนังสือดีเด่นของกระทรวงศึกษาธิการ และเซเว่นบุ๊คอวอร์ด จนนักอ่านหลายคนคิดว่า คลังลูกเรือประมงของเขาต้องหมดและไม่มีช่องว่างให้เขียนอีก แต่ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเขายังสร้างความแตกต่างได้ หมาป่ากลางมหาสมุทร เป็นนวนิยายที่ใช้ฉากและบรรยากาศของชีวิตลูกเรือประมงเป็นพื้นหลังเพื่อสะท้อนแก่นแท้ของเรื่องคือจิตใจส่วนลึกของความเป็นมนุษย์ ผู้เขียนใช้วิธีเล่าผ่านมุมมองของตัวละครเอกด้วยสรรพนามบุรุษที่หนึ่งเพื่อให้สามารถลงลึกถึงความเป็นมนุษย์ได้อย่างถึงที่สุด โดยให้เขาเป็นผู้เล่าเชิงวิเคราะห์ชีวิตของลูกเรือทุกคน นับแต่กัปตันไปจนกระทั่งลูกเรือตัวเล็ก ๆ อันเป็นชีวิตที่เต็มไปด้วยอุปสรรคทั้งจากสภาพทะเลและจากมนุษย์ด้วยกันเอง แต่ก็ยังสามารถดำเนินไปได้อย่างมีความหวัง หลังจากนั้นผู้เขียนได้พลิกเรื่องสะท้อนภาพของมนุษย์ที่มีจิตใจเป็นสัตว์ซึ่งเป็นฆาตกรฆ่าทุกคนบนเรือ มีตัวละครเอกรอดคนเดียว และเกิดสถานการณ์โชคล้อ (Irony) เมื่อตัวละครเอกและฆาตกรกระโดดหนีความตายมาเกาะอยู่บนแพเดียวกัน ภาวะนี้เอง ตัวละครเอกจึงแสดงความเป็นมนุษย์อย่างถึงที่สุดผ่านจิตใจภายใน ท่ามกลางความโหดร้ายของทะเลและการเอาตัวรอดทั้งจากทะเลและศัตรู เขาต้องต่อสู้กับความมีจิตเป็นมนุษย์กับความมีจิตเป็นสัตว์ร้ายระหว่างการเอาชีวิตรอด คล้ายเฒ่าผจญทะเลของเออร์เนสต์ เฮมิงเวย์ กับเศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึกของอาจินต์ ปัญจพรรค์ ไปพร้อมกัน และกลายเป็นหมาป่ากลางมหาสมุทรแบบประชาคม ลุนาชัย ได้อย่างทระนงองอาจ ท้ายสุด ผู้เขียนได้นำไปสู่การลงจบที่ดี อาจกล่าวได้ว่า เมื่อได้ค้นพบความเป็นหมาป่าในจิตใจมนุษย์แล้ว ผู้เขียนประสงค์จะให้รางวัลแก่ตัวละครโดยให้ทุกอย่างลงเอยอย่างงดงาม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ หมาป่ากลางมหาสมุทร ของ ประชาคม ลุนาชัย ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
บินไปเหนือสะพานข้ามดาว
“บินไปเหนือสะพานข้ามดาว” เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน ๑๒ เรื่อง ของ ประชาคม ลุนาชัย สะท้อนให้เห็นแง่มุมของความเป็นมนุษย์และภาพสังคมหลากหลาย นอกจากเรื่องที่มีกลิ่นอายแห่งท้องทะเลและชีวิตที่กร้านแดดฝนบนเรือประมงแล้ว ผู้เขียนยังนำบอกเล่าเรื่องราวและคิดค้นแง่มุมเนื้อหาสาระในแต่ละเรื่องให้ร่วมสมัยมากขึ้น ขณะเดียวกันก็นำเอาสัตว์ต่าง ๆ มาเป็นสัญลักษณ์สะท้อนให้เห็นชีวิตผู้คนและด้านมืดที่้เกิดขึ้นในยุคนี้ ทั้งยังแสดงทัศนะที่มีต่อเหตุการณ์ทางการเมือง ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความอยุติธรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น บางเรื่องได้ใช้แรงบันดาลใจจากวรรณกรรมที่มีชื่อเสียงของโลกมาต่อยอดความคิดเป็นเรื่องใหม่อีกด้วย ผู้เขียนมีความคิดที่ลุ่มลึกนำเสนอเรื่องราวด้วยกระบวนวิธีเรียบง่าย ผ่านภาษาประณีตงดงาม คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น “บินไปเหนือสะพานข้ามดาว” ของ ประชาคม ลุนาชัย ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
เรื่องจริงจริง ในโลกลวงลวง
รวมบทกวี “เรื่องจริงจริง ในโลกลวงลวง” ของ วรภ วรภา เป็นรวมบทกวีที่มีเนื้อหาหลากหลาย จัดแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ “ในฤดูผลิบาน” และ “ผู้คนบนเฟซบุ๊ก” บทกวีในกลุ่ม “ในฤดูผลิบาน” นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้คนในสังคมที่ต้องต่อสู้ชีวิตในบริบทและท่วงทำนองที่หลากหลายแตกต่าง ผ่านทั้งช่วงเวลาผลิบานและอุปสรรคปัญหาที่ต้องเผชิญ ประหนึ่งเป็น “นักรบชีวิต” บทกวีมีทั้งขนาดสั้นและบทกวีชุดซึ่งเป็นเรื่องเล่าขนาดยาวของชีวิตในช่วงเติบโตและพลิกผัน เช่น บทกวีชุด “พราวพริ้งแห่งหญิงสาว” และชุด “ตรุษ” ซึ่งแสดงความยึดมั่นในประเพณีแม้ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ภาพชีวิตหลากหลายมิติทั้งในครอบครัว สังคมไทยและสังคมโลกทำให้บทกวีมีความหลากหลายทางอารมณ์ทั้งสดใสในวัยดรุณ เข้มข้นในยามวิกฤต รวมทั้งชั้นเชิงกลอนและการเล่นคำ เช่นเรื่องเล่าในครอบครัวชุด “สามีปฏิวัติ” นำเสนอด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน สร้างอารมณ์ขัน โดยใช้วลีและถ้อยคำร่วมสมัย เรื่องเล่าเหตุการณ์ในสังคมภาคใต้ ในชุด “บันทึกถึงเทพา” และสถานการณ์ความขัดแย้งในโลก ในชุด “ยังอาเพศนะปาเลสไตน์” เป็นต้น บทกวีในกลุ่ม “ผู้คนในเฟซบุ๊ก” นำเสนอชีวิตของผู้คนในสังคมโลกเสมือนที่ทั้งให้ภาพความเป็นไปและวิพากษ์ความหมายในเบื้องลึกของตัวตนผู้คนในโลกออนไลน์ ลีลากลอนล้อเล่นกับภาษาที่ใช้คมคาย สนุกสนาน ลักษณะเด่นของบทกวีของ วรภ วรภา คือการผสานขนบวรรณศิลป์แบบเดิมกับความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล ทั้งภาษา และการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ โดยให้ความหมายระดับลึกของปรากฏการณ์เหล่านั้น แม้ตระหนักว่าชีวิตล้วนมีอุปสรรคและปัญหาแต่ก็ยังคงมีความหวังและกำลังใจให้สู้ชีวิตต่อไป เพียงเจ้ารู้พอใจในจุดหนึ่ง เพียงเจ้าซึ้งสมดุลแห่งคุณค่า เพียงเจ้าเห็นแจ้งชัดในปรัชญา ใดหมายว่าพอเพียง…ก็เพียงพอ “เพียงเจ้ารู้พอเพียง-ก็เพียงพอ” คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี “เรื่องจริงจริงในโลกลวงลวง” ของ วรภ วรภา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
ไต้ก๋ง
“ไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งใด และส่วนใดของทะเล เขาจะต้องร่าเริง เปี่ยมด้วยพลังเหมือนเกลียวคลื่น…” นี่คือความคิดคำนึง และปณิธาณของ “กิ่ง” เด็กหนุ่มลูกเรือประมงที่ฝันถึงชีวิตที่ดีกว่าในวันข้างหน้าของตน “ไต้ก๋ง” นวนิยายของ “ประชาคม ลุนาชัย” บอกเล่าเรื่องราวของเด็กหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งเผชิญความ ท้าทาย ชะตากรรมอันหนักหน่วง ดุจจะทดสอบความมั่นคงแห่งจิตใจอันมุ่งมั่นหาญกล้าของเขา จากลูกเรือสู่หน้าที่อันสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้เป็น “ไต้ก๋ง” ผู้นำเรือลำที่โอ่อ่าพรั่งพร้อมด้วยเครื่องมือประมงอันทันสมัย คืนวันผ่านไปปีแล้วปีเล่า ความรัก ความหวังที่สมหวังและผิดหวัง ความยากลำบากที่มิได้คาดฝัน ท่ามกลางท้องทะเลกว้าง บางครั้งเกือบจะเอาชีวิตไม่รอด สิ่งเหล่านี้คือประสบการณ์และเรื่องเล่าขานถึง “ไต๋กิ่ง” หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่มีชีวิต ผู้ประพันธ์สร้าง “กิ่ง” ให้มีชีวิตโลดแล่นไปตามบทบาทต่าง ๆ ของแต่ละช่วงวัยได้อย่างเข้มข้น ให้รายละเอียดเกี่ยวกับชีวิตชาวประมง ลูกเรือที่มีทั้งด้านมืด และด้านสว่างที่เราอาจไม่เคยรู้แต่ทว่ามีอยู่จริง ธุรกิจประมงระหว่างนายทุนกับลูกเรือ ตลอดจนปัญหาระหว่างน่านน้ำกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยวรรณศิลป์อันคมคาย ลุ่มลึก ให้รายละเอียดในทุกจังหวะชีวิตของตัวละคร สามารถทำให้ผู้อ่านสะเทือนใจไปกับชะตากรรมของกิ่ง และสัมผัสได้ถึงบุคลิกอันโดดเด่นของเขา นั่นคือ ความซื่อตรง ความอดทน ความสุขุมและความเรียบง่ายในการดำรงชีวิต ที่สำคัญคือการ “ให้” แก่ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเฉพาะผู้ที่ด้อยกว่า นับเป็นความงดงามอย่างยิ่งของมนุษย์ ด้วยเนื้อหาที่มีคุณค่าและแสดงความหมายของชีวิต ตลอดจนการดำเนินเรื่องอย่างสอดคล้อง และภาษาวรรณศิลป์อันมีพลังส่งให้ทุกตัวละครแสดงอารมณ์ของปุถุชนอันมิอาจปฏิเสธได้และมีชีวิตชีวาดูราวกับเคลื่อนไหวอยู่ตรงหน้าผู้อ่าน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ไต้ก๋ง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๓
วายัง อมฤต
นวนิยายเรื่อง วายัง อมฤต ของ อนุสรณ์ ติปยานนท์ เปิดเรื่องให้นายไฮน์ริช เบิล ชาวเยอรมัน นักแปลและล่าม 8 ภาษาผู้มีชื่อเสียง ได้รับการติดต่อจาก “กรมพระฯ” เจ้านายชั้นสูงของสยามที่ลี้ภัยการเมืองไปประทับอยู่ที่ชวา เพื่อให้แปลบันทึกความทรงจำที่ยังทรงเขียนไม่จบเกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 จากนั้นผู้เขียนก็พาผู้อ่านทะลุทะลวงเข้าไปในเหตุการณ์การต่อสู้ของกลุ่มกองโจรใต้ดินของชวาซึ่งมีบุหลันหรือบุหรงและศรี อรพินโท เป็นผู้นำที่มีอุดมการณ์ในการต่อต้านและขับไล่กองทัพญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองชวาในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพาและพร้อมกันนั้นก็พยายามปลดแอกจากอำนาจของชาวดัชท์ ผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเดิมไปด้วย นอกจากสงครามในเอเชีย ผู้เขียนพาผู้อ่านเข้าร่วมรู้บางเสี้ยวของสงครามกลางเมืองสเปนที่ฝ่ายกบฏร่วมรบต่อต้านพวกฟาสซิสต์ของนายพลฟรังโก ผู้นำสเปนซึ่งมีท่านฟูเร่อร์แห่งเยอรมนีหนุนหลัง ผู้เขียนแสดงการหักเหลี่ยมซ้อนกลและความโหดเหี้ยมผิดมนุษย์ของสายลับเยอรมันซึ่งเป็นหนอนบ่อนไส้ในกองทหารอาสา อันทำให้เปิดโฉมหน้าของไฮน์ริช เบิล ว่าที่แท้คือ ฟรังซัวร์ อูแบง ซึ่งเป็น ผู้รับทอดอุดมการณ์และตัวตนของไฮน์ริช เบิล หลังเขาถูกสังหารโดยกองทหารนาซี จากสงครามกลางเมืองในสเปนผู้เขียนนำผู้อ่านกลับเข้าสู่สงครามกลางเมืองในชวา ไฮน์ริช เบิลคนใหม่ยินดีเข้าร่วมงานต่อต้านญี่ปุ่น และขับเคี่ยวกับพันตรี ทารุ ซามาโมโต้ เคียงบ่าเคียงไหล่กับบุหลันและศรี อรพินโท เหตุเพราะเขาหลงรักบุหรง และต่อมาเขาได้รับรู้ความจริงหลังเธอถูกสังหารว่า บุหรงคือคนเดียวกับบุหลันซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทุนให้ กลุ่มกบฏและตัวเธอเองก็เป็นนักรบผู้ห้าวหาญในกองทัพใต้ดินของชวา ความพ่ายแพ้และการสูญเสียหญิงที่ตนรักทำให้ไฮน์ริช เบิล หมดไฟชีวิต เขาเผาข้าวของที่เตือนใจให้นึกถึงดินแดนชวา รวมทั้งบันทึกความทรงจำของกรมพระฯ ที่ยังแปลไม่เสร็จนั้นด้วย อนุสรณ์ ติปยานนท์ ใช้ภาพซ้ำของการกบฏไม่ว่าจะเกิดในสยาม ชวา สเปนและญี่ปุ่น สื่อให้เห็นประวัติศาสตร์แห่งความขัดแย้งของคนสองฝ่ายต่างอุดมการณ์ที่ดำรงอยู่ทุกแห่งทุกเวลา ความคลุมเครือ ความเหนือจริง ความลึกลับ สัญลักษณ์ อาการกึ่งจริงกึ่งฝัน และเรื่องเล่าลวง ๆ ที่ปรากฏอยู่ในตัวเรื่อง ย้ำให้ตระหนักถึงความลวงที่เป็นเงาหลอกล่ออยู่เบื้องหน้าความจริง เช่นเดียวกับการเชิดหนังที่ผู้ชมมองเห็นแต่เงาดำโลดแล่นอยู่บนฉากขาวซึ่งบดบังตัวหนังและคนเชิดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลัง วายัง อมฤตซึ่งเป็นชื่อของ นวนิยายเรื่องนี้ หมายถึงโลกแห่งอุดมคติ โลกที่อาจจะดูเลื่อนลอยเหมือนเงาดำของหนังวายัง กุลิต แต่มีความจริงที่สัมผัสได้อยู่ในนั้น นั่นคือ อุดมการณ์อันแข็งแกร่ง อุดมคติที่ตกผลึก และความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แม้ว่าเรื่องราวของนักปฏิวัติแห่งชวา ไม่ว่าจะเป็นปีเตอร์ เอเวอร์เดล อามีร์ ฮาริฟุดดิน บุหลันหรืออดิรัต ฮาฟิช และศรี อรพินโท จะกลายเป็นเพียงเงาในฉากประวัติศาสตร์การเมือง แต่อุดมคติในการเปลี่ยนสังคมให้ดีกว่าเดิมยังคงดำรงอยู่เสมอและส่งทอดต่อมาไม่ขาดสาย ฉะนั้น วายัง อมฤต โลกแห่งอุดมคติ จึงมีอยู่ในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางการเมืองของอีกหลายประเทศ ด้วยคุณค่าสาระของเรื่อง การประกอบสร้างนวนิยายด้วยศิลปะการประพันธ์ที่มีชั้นเชิงและการ เรียงร้อยด้วยถ้อยภาษาที่สอดคล้องกับตัวบท ทำให้นวนิยายเรื่อง วายัง อมฤต มีความโดดเด่นยิ่ง คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2562