บ้านในหมอก
บ้านในหมอก ของ สุขุมพจน์ คำสุขุม เป็นรวมบทกวี 39 บทเรื่อง แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคแรก บ้านในหมอก นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของแผ่นดินถิ่นเกิดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่อดีต เปรียบเสมือนกองเกวียนโบราณที่บรรพบุรุษได้ลงหลักปักฐานในผืนแผ่นดิน วิถีชีวิตชนบทในสมัยที่ดินยังดำ น้ำยังชุ่ม โลกสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของเทคโนโลยี ทุนนิยมและบริโภคนิยมทำให้วิถีชีวิตคนชนบทเปลี่ยนแปลงด้วยเมฆหมอกของความศิวิไลซ์อันเป็นมายาคติทำให้ชาวชนบทอพยพมาศึกษาเล่าเรียนบ้าง ทำงานบ้าง ด้วยสำคัญผิดว่าคือความสุขแบบใหม่ จากกองเกวียนโบราณจึงกลายเป็นกองเกวียนจักรกลยนตรกรรม แท้จริงชีวิตในเมืองซึ่งเต็มไปด้วยตึกระฟ้าไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ผู้ประพันธ์นำเสนอรูปธรรมของชีวิตชาวอีสานไม่ว่าจะเป็นเด็กสาวหรือคนขับแท็กซี่ที่มีวิถีชีวิตยากลำบากและจบชีวิตลงเพราะความพลาดหวัง ความยากแค้นและอาชญกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมทางเพศ ในภาคหลัง หมอกในบ้าน ผู้ประพันธ์นำเสนอปัญหาในสังคมไทยที่เปรียบเสมือนเมฆหมอกทั้งในระดับครอบครัวและระดับสังคม ในระดับครอบครัวความห่างเหินเพราะห่างไกลกันของคนในครอบครัว ชาวชนบทต้องเข้ามาทำงานในเมือง การพูดคุยไถ่ถามทางโทรศัพท์ดูเหมือนจะเป็นวิธีการเดียวในการแสดงความรักและความห่วงใยระหว่างกันในระดับสังคม ความรุนแรงทางภาคใต้ที่คร่าชีวิตหนุ่มชนบทหนุ่มอีสานบางคนต้องไปเป็นทหารที่ภาคใต้และต้องจบชีวิตลง กลับบ้านด้วยร่างที่ไร้วิญญาณหมอกควันในสังคมอีกประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งของผู้คนในสังคมที่แบ่งแยกแตกต่างทางความคิดกลายเป็น “บาดแผลของชาติ” ที่ผู้ประพันธ์ เรียกร้องให้ละทิ้งเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อความสงบสุขในสังคม ด้านศิลปะการประพันธ์ ผู้ประพันธ์ใช้กลอนสุภาพเป็นส่วนใหญ่ มีกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจด้วยการนำเสนอเนื้อหาเป็น 2 ภาค มีการนำเสนอเรื่องราวและปัญหารวมทั้งเสนอทัศนะและการแก้ปัญหารวมทั้งเสนอทัศนะด้วยการใช้หมอกเป็นภาพพจน์เปรียบเทียบซึ่งมีความหมายหลายนัย ด้านการเล่าเรื่องใช้การเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้น ยกรูปธรรมของชีวิตปัจเจกบุคคลแทนการเสนอแนวคิดอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งใช้ภาษาพูดและบทสนทนาดำเนินเรื่องทำให้สามารถนำเสนอเรื่องราวที่ดูจะหนักด้วยสาระและแนวคิดได้น่าอ่าน ชวนคิดและชวนติดตาม
รากของเรา เงาของโลก
รวมบทกวี รากของเรา เงาของโลก ของสุขุมพจน์ คำสุขุม ประกอบไปด้วย บทกวีจำนวน 40 บท เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรก “รากของเรา” และภาคสอง “เงาของโลก” ภาคแรก “รากของเรา” ผู้ประพันธ์นำเสนอวิถีชีวิตพื้นถิ่นบ้านเกิดภาคอีสาน ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดในครอบครัวและบรรพบุรุษ ที่แม้จะต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต แต่มีความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งยังคงเป็นความสุขในความทรงจำ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันของไททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไทอีสาน ไทลาวและเผ่าไทในดินแดนอื่น ๆ วิถีชีวิตชาวนาในชนบทอีสานแม้จะต้องเผชิญอุปสรรคนานาประการ แต่การต่อสู้ชีวิตก็เป็นแนวทางที่บรรพบุรุษและหัวหน้าครอบครัวปลูกฝังให้ลูกหลานสืบต่อกันมาดุจรากเหง้าของเผ่าพันธุ์ที่หยั่งลึกท่ามกลางวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นสุขด้วยอาหารพื้นถิ่นอีสาน เช่น ปลาแดก และข้าวจี่ ซึ่งผูกร้อยสายสัมพันธ์ของผู้คนร่วมแผ่นดินถิ่นเกิด ภาคที่สอง “เงาของโลก” ผู้ประพันธ์นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เข้าสู่โลกาภิวัฒน์ สื่อร่วมสมัย เช่น เฟสบุ๊ค อินเทอร์เน็ต เปลี่ยนวิถีของคนไทย ซึ่งดูเหมือนใกล้ชิดแต่ไกลห่างทางความรู้สึกและความเข้าใจ ช่องว่างในสังคมเมืองที่มีผู้ที่เสพสุขอย่างล้นเหลือ รวมถึงผู้พิการที่เข้ามาขอทานเพื่อหาเลี้ยงชีวิต การอพยพเข้ามาอยู่เมืองหลวงของชาวอีสานจึงมิได้นำมาซึ่งความสุข แต่กลับเป็นพิษภัย “กรุงเทพฯ เป็นกรุงท่วม อาบทุกข์อ่วมนครอัน- สูงเด่นเป็นสวรรค์ จะซบหน้าลึกบาดาล” ผู้ประพันธ์ยังเสนอไว้ในบท “ความสุขมวลรวมฉบับสามัญชน” ว่าความสุขที่แท้จริง คือ ชีวิตที่เรียบง่าย พอมีพอกินในชนบท ความเอื้ออาทรเจือจานซึ่งกันและกัน การรู้จักอยู่และรู้จักประมาณตน ในทัศนะของผู้ประพันธ์ จี.ดี.พี จึงหมายถึง “จึงดีพอ” สำหรับชนชั้นสามัญชน
นัยน์ตาฤดูกาล
รวมบทกวี นัยน์ตาฤดูกาล ของ โขงรัก คำไพโรจน์ ประพันธ์ด้วยกลอนสุภาพ บันทึกเรื่องราวธรรมชาติและชีวิตที่กวีเฝ้ามองผ่าน “นัยน์ตา” ที่มิได้มองเห็นเพียงรูปธรรมภายนอกของสรรพสิ่ง หากยังเพ่งมองไปถึงนามธรรมหรือแง่คิดจากภาพที่มองเห็นเหล่านั้น จดจารเรื่องราวและความรู้สึก นึก คิดของกวีเป็นบทกวีที่เล่าเรื่องราวหลากหลายแตกต่างของผู้คนแต่ละอาชีพ ทั้งในชนบทและเมือง ด้วยน้ำเสียง ลีลาทางวรรณศิลป์ที่เรียบง่าย ทั้งอ่อนหวาน โศกเศร้า ขันขื่น สนุกสนาน สร้างอารมณ์ขันและรอยยิ้มให้ผู้อ่าน เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค คือภาคแรก สัจธรรมของธรรมชาติ นำเสนอธรรมชาติที่หลากหลายตามพื้นที่และฤดูกาล ภาพธรรมชาติในชนบทที่เปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของผู้คนและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่เพ่งพินิจจาก “นัยน์ตา” ซึ่งเห็นทั้งโลกภายนอกและโลกภายในของกวีเอง ภาคหลัง ศาสตร์และศิลป์แห่งชีวิต นำเสนอวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลายแตกต่าง โดยนำเสนอเรื่องเล่าที่มีโครงเรื่อง ตัวละคร การดำเนินเรื่องชวนติดตามและโดดเด่นด้วยการเล่นคำ เล่นความ ผ่านมุมมองด้วยผัสสารมณ์ แห่งรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัสผ่าน “นัยน์ตา” เฉพาะตนของกวี “แต่ละช่วงเวลาพาสัมผัส ชีวทัศน์ โลกทัศน์ วนผลัดเปลี่ยน ตามกาละขณะจ้องมองหมุนเวียน เปิดใจเรียนรู้ผ่านการเดินทาง” ด้านศิลปะการประพันธ์ ลีลากลอนลื่นไหล เรียงร้อยด้วยสัมผัสตามขนบทางวรรณศิลป์ ใช้การเล่นคำ เล่นความ หลายเรื่องใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้น ทำให้เนื้อเรื่องชวนติดตามและนำเสนอแง่คิดที่น่าสนใจ ดังนั้น รวมบทกวีนัยน์ตาแห่งฤดูกาล ของ โขงรัก คำไพโรจน์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561