เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือ จากไทรบุรี
เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี เป็นนวนิยายสะท้อนเรื่องราวของผู้ถูกกดขี่ผ่านความทรงจำกระจัดกระจายของตัวละครชื่อเดฟั่น โดยที่เรื่องราวของพวกเขาไม่อาจเปล่งเสียงออกมาผ่านรูปแบบเรื่องเล่าธรรมดาหรือหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ ผู้เขียนเดินเรื่องด้วยกลวิธีสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ผสมผสานกับการใช้ตำนาน (Myth) อันเป็นแก่นแท้ของการจดจารประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเป็นประวัติศาสตร์จากคนใน บอกเล่าถึงจุดกำเนิดและการล่มสลายของชุมชนท้องถิ่นที่เกิดจาก โครงสร้างอำนาจที่ไร้ความเป็นธรรม ย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อแรกอพยพของตระกูลคนเฆี่ยนเสือที่รอนแรมจากไทรบุรีบริเวณชายฝั่งอันดามัน มาปักหลักบริเวณเทือกเขาบรรทัดบนผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถูกเรียกขานตามสภาพดินฟ้าอากาศว่า “หมู่บ้านฝนแสนห่า” ความสงบสุขร่มเย็นของชุมชนเริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อพายุจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย่งจากภายนอก ส่งผลกระทบต่อชุมชนภายในอย่างลึกซึ้งและถอนรากถอนโคน ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งจริงและไม่จริง แดนเกิดของเดฟั่นกลายสภาพเป็น “หมู่บ้านกระสุนแสนห่า” ด้วยวิธีการปราบปรามจากทางการที่คร่าชีวิตผู้คนรอบตัวเดฟั่นให้ปลิดปลิวราวใบไม้ร่วง “เดฟั่นจำไม่ได้” วลีที่กล่าวซ้ำตลอดการเดินทางของเรื่องเล่า ๖๕ บท ตอกย้ำการสูญเสียชีวิต ตัวตน และความทรงจำของผู้ถูกกระทำ จนทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือ“ประวัติศาสตร์ที่เล่าไม่ได้ และไม่ได้เล่า” นี้ อาจเป็นเพราะผู้เล่าเองก็ไม่อยากจำ? คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรีของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
นาฏกรรมจำนรรจ์
หนังสือกวีนิพนธ์ นาฏกรรมจำนรรจ์ ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ รวมผลงานร้อยกรอง ประกอบด้วยฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก สลับด้วยกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์หัวเดียว กวีมีประสบการณ์ในการใช้ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี แม่นยำ ชัดเจน มีลีลาน่าสนใจ เนื้อหาสาระอ่านแล้วได้ข้อคิด แฝงด้วยปรัชญาชีวิต เช่น “ก็ดูเถิดดูโลก กี่สับโขกสะทกทึ้ง กี่มือที่ยื้อดึง มิได้ดวงแก้วลดา กี่พลิกแผ่นดินผลาญ ประหัตประหารและโหยหา กี่ตื่นกี่ลืมตา แล้วนิทราในทุกข์ระทม” กวีสามารถใช้ฉันทลักษณ์ได้หลากหลายรูปแบบ มีสัมผัสเชื่อมร้อยกระชับรัดกุมระหว่าง บทตลอดทั้งเล่ม มีความไพเราะ นำเสนอแนวคิดในลักษณะกระแสสำนึกเพื่อแสวงหา สาระของชีวิต โดยใช้กวีวัจนะเป็นสื่อ ด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์มีการใช้ภาพพจน์ การประดิษฐ์คำขึ้นใช้ใหม่ด้วยศิลปะการนำเสนอที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี นาฏกรรมจำนรรจ์ ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ
“คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” ของ จเด็จ กำจรเดช เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้น ๑๑ เรื่อง มุ่งสะท้อนภาพวิถีและชีวิตชาวบ้าน เน้นหนักในพื้นที่ภาคใต้ โดยชี้ให้เห็นภาพชีวิตแบบเดิมที่เต็มไปด้วยป่าเขาลำเนาไพร สิงสาราสัตว์ และการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย กับชีวิตที่ถูกเทคโนโลยีสมัยใหม่รุกล้ำตามความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ โดยตั้งต้นด้วยเรื่องเล็ก ๆ แต่เกี่ยวพันหรือยึดโยงไปสู่เรื่องใหญ่ หรือเรื่องหลักของประเทศหรือแม้กระทั่งเรื่องของโลก บางครั้งแสดงความรู้ด้านตำนาน ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณกรรม ฯลฯ มากจนอาจกล่าวได้ว่า แหวกขนบของเรื่องสั้น ผู้เขียนมีวิธีการนำเสนอเรื่องเล่าที่แปลกใหม่แตกต่าง ทำให้ซับซ้อนขึ้นด้วยวิธีเล่าสลับไปสลับมาทั้งย้อนไปในอดีตและก้าวไปในอนาคต และไม่ใช่ครั้งเดียวในแทบทุกเรื่อง รวมทั้งการเล่นกับโลกภายในที่เต็มไปด้วยจินตนาการจนแยกไม่ออกจากโลกภายนอก และอาศัยความเหลื่อมกันของสองโลกนี้เป็นตัวทำให้เกิดความคลุมเครือได้อย่างงดงามและกระแทกใจ เป็นเรื่องสั้นที่มีความเป็นสมัยใหม่ มีเสน่ห์ สมยุคสมสมัย คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมเรื่องสั้น “คืนปีเสือและเรื่องเล่าของสัตว์อื่น ๆ” ของ จเด็จ กำจรเดช ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรวมเรื่องสั้น ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล
รวมบทกวี พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม แบ่งการนำเสนอเนื้อหาออกเป็น 3 ภาค ประกอบด้วยภาคแรก “หลับฝันอยู่ในกระเพาะนกกระจาบ” กวีย้อนภาพชีวิตของผู้คนพื้นถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีชีวิตชีวา ผ่านยามเช้าอันชุ่มเย็นด้วยสายฝนจากอิทธิพลของมรสุมเขตร้อนเหนือคาบสมุทรมลายู อบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้พื้นบ้านนานาพรรณ ผ่านชีวทัศน์อันอ่อนโยนของกวีผู้ศรัทธาในวิถีแห่งเกษตรกรรมที่ให้เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในธรรมชาติรอบตัว ก่อนนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงในภาคสอง “พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล” บอกเล่าสถานการณ์ความรุนแรงทางภาคใต้ที่สร้างความหวาดระแวงในใจของผู้คน เกิดสภาวะ “เมธีหลงทาง” เมื่อชุดความคิดและวาทกรรมกระแสหลักไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนของปรากฏการณ์ทางสังคมไทยได้ กวีแสดงภูมิรู้ทางคติชนวิทยาโดยเฉพาะวิถีชีวิตชาวบ้านภาคใต้ได้อย่างมีสีสันชวนขบคิด กวีเห็นว่าไม่มีเวทมนตร์จากพ่อมดตนใดที่จะเสกสร้างสังคมหม่นมัวได้เท่าจิตใจของผู้คน และในภาคสุดท้าย “จำนวนที่เหลือของนกฝูงหนึ่ง” เหมือนจะสื่อเป็นนัยถึงผู้คนที่ผ่านการพลัดหลงจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภาคที่สองมาแล้ว และยังต้องประสบชะตากรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่มีส่วนร่วมอยู่ในประวัติศาสตร์แต่กลับถูกเพิกเฉยไร้ความสำคัญไม่ต่างจาก “เศษเสี้ยวของก้อนหินพันปี” ขณะที่โลกเสมือนในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ไม่ต่างจากเวทมนตร์ยุคใหม่ที่ทำให้เราหลงใหลได้ปลื้มจนลืมรากเหง้าของตน ในด้านการใช้ภาษา กวีสามารถใช้โวหารกวีที่เฉียบคมลึกซึ้งหลากหลายรูปแบบ ชวนขบคิดตีความตามประสบการณ์ของผู้อ่าน อาทิ เปรียบเทียบเรื่องการยึดกุมอำนาจและการต้องตกเป็นเบี้ยล่างของประชาชนผ่านบทกวี “ในลำไส้วัวหนุ่ม” ซึ่งโดดเด่นในการใช้โวหารกวีที่แปลกต่างจากขนบอันคุ้นชิน ดังนั้น รวมบทกวี พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
ระหว่างทางกลับบ้าน
รวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์ นำเสนอความคิดเรื่องบ้านในหลากหลายมิติทั้งบ้านของผู้ประพันธ์เอง และบ้านของผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายชนชั้นในสังคมไทยและสังคมโลก อาทิ บ้านของแรงงานอพยพข้ามชาติ บ้านของชาวโรฮิงญา บ้านของผู้ลี้ภัยสงคราม บ้านจึงมีความหมายมากกว่าสถานที่เกิดและที่พำนักอาศัยแต่บ้านเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ ความรัก ความผูกพันและความสุขของสมาชิกในครอบครัว ทุกชีวิตล้วนโหยหาและปรารถนาที่จะกลับบ้านซึ่งเป็น “ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ ที่ไม่นับ เล็กหรือใหญ่ ที่ให้อยู่ ที่ชีวิต จิตวิญญาณ อวลซ่านอณู ที่ทุกข์สุข ทุกฤดู อยู่ในนั้น” ด้านศิลปะการประพันธ์ใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพซึ่งมีลีลาและท่วงทำนองเรียบง่ายแต่มีความโดดเด่นในการเปรียบเทียบ โดยให้รูปธรรมของส่วนต่าง ๆ ซึ่งประกอบสร้างเป็นตัวบ้าน สื่อความหมายในเชิงนามธรรมของประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกและจิตวิญญาณของคำว่า “บ้าน” ได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้น รวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์ จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2560