All Posts

Archives

  • Home
  • เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์

ชีวิตสำมะหาอันใด

“ชีวิตสำมะหาอันใด” ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นหนังสือรวมเรื่องสั้นจำนวน ๑๔ เรื่องได้แก่ โมงยามของวัยเยาว์, นายบังเอิญ, สะพานข้ามแม่น้ำ, ค่ายและคุก, นครรุกขชาติ.เรื่องเล่าของคนขายเหล้า, สายเลือด, ประตู, เพียงชั่วขณะหนึ่ง, ภูเขา, พฤศจิกายน, เรื่องเล่าสายน้ำและความตาย, บุรุษไปรษณีย์ผู้หลงลืมเลขที่บ้านของตน และค่ำคืน   มทัศจรรย์                                                                                          ภาพชีวิตของมนุษย์ในเรื่องสั้นดังกล่าว จำแนกตามแนวคิดได้สามภาพใหญ่ ๆคือความไร้เหตุผลของชีวิต, ความแตกต่างระหว่างสังคมเมืองกับขนบท และการต่อสู้ของมโนธรรมกับสัญชาตญาณทางเพศ ภาพชีวิตภาพแรกสะท้อนทัศนะของผู้เขียนว่าชีวิตมนุษย์ ซึ่งเป็น ความบังเอิญทั้งสิ้นนั้นเหลือเชื่อยิ่งกว่านิยายภาพชีวิตภาพ ต่อมาผู้เขียนซี้ให้ตระหนักถึงคุณค่าธรรมชาติชีวิต เรียบง่ายซึ่งน่าพึงปรารถนากว่าความสับสนวุ่นวาย การแก่งแย่งชิงดีขิงเด่นของผู้คนในสังคมเมือง ส่วนภาพชีวิตภาพสุดท้ายผู้เขียนเห็นว่า คุณธรรมทำให้มนุษย์สุขใจ กว่ากามารมณ์                                                                                    เรื่องสั้นของเรวัตร์พันธุ์ พิพัฒน์ ชุดนี้คือผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่ชิ้นหนึ่งของวงวรรณกรรมไทยร่วมสมัย เพราะผู้เขียนได้ใช้อักษรศิลป์สะท้อนและวิพากษ์วิจารณ์ชีวิตของคนไทยและสังคมไทยร่วมสมัยอันสับสน วุ่นวาย สามารถเสริมสร้างสุนทรียภาพ รวมทั้งความเข้าใจชีวิตและโลกให้กับผู้อ่านได้โดยแท้

แม่น้ำเดียวกัน

แม่น้ำเดียวกัน ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ รวมบทกวีจำนวน 80 บท แบ่งเป็น 3 ภาค คือ ภาคหนึ่ง โลกใบอื่น ภาคสอง พื้นที่จริงแท้ และภาคสาม แม่น้ำเดียวกัน ผู้ประพันธ์เฝ้ามองและตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในดินแดนภาคใต้ที่นำมาซึ่งความทุกข์ ความสูญเสียเศร้าโศกของมนุษย์ด้วยกันเอง แท้จริงมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกชาติศาสนามาจากแม่น้ำสายเดียวกันอันดุจเป็นมารดรของมนุษยชาติซึ่งก็คือ “บุตรธิดามารดาเดียว” มนุษย์ควรลืมความขัดแย้งในอดีตซึ่งเป็น “คอกกำแพงกั้นแบ่งมนุษย์” และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ผู้ประพันธ์เน้นคุณค่าของความรักในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างแม่กับลูกที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ โลกทัศน์มนุษยนิยมของผู้ประพันธ์ยังครอบคลุมไปถึงสัตว์ร่วมโลกซึ่งอาจให้อุทาหรณ์ที่มนุษย์ได้เรียนรู้และมีสำนึกเชิงจริยธรรม ด้านศิลปะการประพันธ์เด่นด้านการใช้ภาพพจน์ประเภทอุปลักษณ์และอุปมาการเปรียบเทียบระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายในใจของมนุษย์ รวมบทกวีเล่มนี้จึงมีคุณค่าด้านจิตวิญญาณและการสร้างสำนึกเชิงจริยธรรมด้วยการสร้างสรรค์เชิงวรรณศิลป์

แม่น้ำที่สาบสูญ

แม่น้ำที่สาบสูญ ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นหนังสือรวมบทกวีบอกเล่าเรื่องราวของอารมณ์และความรู้สึก ที่กวีมีต่อชีวิตและสถานที่ที่ได้เข้าไปสัมผัสสัมพันธ์ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 หมวดหมู่ โดยเริ่มจาก “มาจากดิน” กวีหวนคำนึงถึงรกรากที่จากมาด้วยอาวรณ์ ส่องสะท้อนความหลังครั้งเยาว์วัยด้วยหัวใจอันเต็มตื้น กวีพาผู้อ่านท่องไปยังโลกภายในของผู้เขียนผ่านกาละและเทศะอันหลากหลาย ก่อนจบลงตรง “คืนสู่ดิน” ด้วยการกลับไปสู่เรื่องราวของเด็กช่างฝันในท้องทุ่งจินตนาการ ผู้ท่องเทียวอยู่กับโลกด้านในผ่านฤดูกาลของชีวิตอันสัมพันธ์กับฤดูกาลภายนอก  แม่น้ำที่สาบสูญ แสดงให้เห็นถึงเนื้อแท้ของความสุขอันเกิดจากวิถีเกษตรกรรมที่มีรกรากเดียวกันทั้งโลก ก่อนจะเกิดพรมแดนแผนที่และพรมแดนชีวิตเช่นปัจจุบัน ยิ่งกวีออกเดินทางกวีก็ยิ่งค้นพบว่าตัวเองสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งจนเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งบทกวี ชีวิต และความฝันบรรพกาล ในด้านของภาษา เรวัตร์สามารถใช้ภาษาเพื่อสื่อความรู้สึกให้ผู้อ่านต้องจมดิ่งอยู่ในมนตราของอารมณ์อันคมเข้ม ทั้งหม่นมัวและสดใส ตามแต่กาละและเทศะที่ต้องการจะสื่อสารมายังผู้อ่านได้อย่างมีพลังสะเทือนอารมณ์ กระทบความรู้สึกไม่น้อย แม้ว่าจะปรากฏความซ้ำซ้อนทางเนื้อหาอารมณ์ในหลายบทหลายตอนก็ตาม รวมบทกวี แม่น้ำที่สาบสูญ ของ เรวัตร์  พันธุ์พิพัฒน์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2