เรื่องเล่าของคนบันทึกเรื่องเล่าที่นักเล่าเรื่องคนหนึ่งเล่าให้เขาฟัง
มีจุดเด่นอยู่ที่กลวิธีการเล่าเรื่องและแนวคิด ผู้เขียนสมมุติให้เรื่องสั้นทั้ง ๑๑ เรื่องเป็นคำบอกเล่าของชายผู้หนึ่งที่ตระเวนไปตามที่ต่างๆ ในกรุงเทพมหานครแล้วมีเรื่องมาเล่าให้ผู้เขียนฟัง เรื่องเล่าของเขาเป็นชีวิตที่หลากหลายของผู้คน เป็นแง่มุมที่ดูว่าเล็กน้อยแปลกพิสดาร แต่ก็สะท้อนชีวิตและโลกทัศน์ของคนกรุงที่บางครั้งไร้เหตุผลจนน่าขัน เช่นการที่คนเฝ้าหอพักเพียรเขียนประกาศห้ามสารพัดเรื่องอย่างไร้ผลและดูเหมือนไร้สาระนั้นสะท้อนภาพพฤติกรรมของผู้คนที่ไร้ระเบียบวินัยในสังคมที่เจริญอย่างเมืองกรุงได้เป็นอย่างดี เป็นต้น
เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือ จากไทรบุรี
เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรี เป็นนวนิยายสะท้อนเรื่องราวของผู้ถูกกดขี่ผ่านความทรงจำกระจัดกระจายของตัวละครชื่อเดฟั่น โดยที่เรื่องราวของพวกเขาไม่อาจเปล่งเสียงออกมาผ่านรูปแบบเรื่องเล่าธรรมดาหรือหน้าบันทึกทางประวัติศาสตร์ได้ ผู้เขียนเดินเรื่องด้วยกลวิธีสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ผสมผสานกับการใช้ตำนาน (Myth) อันเป็นแก่นแท้ของการจดจารประวัติศาสตร์ท้องถิ่นซึ่งเป็นประวัติศาสตร์จากคนใน บอกเล่าถึงจุดกำเนิดและการล่มสลายของชุมชนท้องถิ่นที่เกิดจาก โครงสร้างอำนาจที่ไร้ความเป็นธรรม ย้อนหลังไปตั้งแต่เมื่อแรกอพยพของตระกูลคนเฆี่ยนเสือที่รอนแรมจากไทรบุรีบริเวณชายฝั่งอันดามัน มาปักหลักบริเวณเทือกเขาบรรทัดบนผืนป่าอุดมสมบูรณ์ ซึ่งถูกเรียกขานตามสภาพดินฟ้าอากาศว่า “หมู่บ้านฝนแสนห่า” ความสงบสุขร่มเย็นของชุมชนเริ่มแปรเปลี่ยนไป เมื่อพายุจากอุดมการณ์ทางการเมืองที่ขัดแย่งจากภายนอก ส่งผลกระทบต่อชุมชนภายในอย่างลึกซึ้งและถอนรากถอนโคน ชาวบ้านถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ทั้งจริงและไม่จริง แดนเกิดของเดฟั่นกลายสภาพเป็น “หมู่บ้านกระสุนแสนห่า” ด้วยวิธีการปราบปรามจากทางการที่คร่าชีวิตผู้คนรอบตัวเดฟั่นให้ปลิดปลิวราวใบไม้ร่วง “เดฟั่นจำไม่ได้” วลีที่กล่าวซ้ำตลอดการเดินทางของเรื่องเล่า ๖๕ บท ตอกย้ำการสูญเสียชีวิต ตัวตน และความทรงจำของผู้ถูกกระทำ จนทำให้อดตั้งคำถามไม่ได้ว่า หรือ“ประวัติศาสตร์ที่เล่าไม่ได้ และไม่ได้เล่า” นี้ อาจเป็นเพราะผู้เล่าเองก็ไม่อยากจำ? คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ เดฟั่น เรื่องเล่าของตระกูลคนเฆี่ยนเสือจากไทรบุรีของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
ประเทศในเขาวงกต
กวีนิพนธ์ชุด “ประเทศในเขาวงกต” ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ แบ่งเนื้อหาเป็น ๔ ภาค ภาคแรก :ฟ้าค่ำนี้อาจสีเศร้า ภาคสอง : บนบรรทัดประวัติศาสตร์ ภาคสาม : ประวัติศาสตร์กำลังเดินทาง ภาคสี่ : ขอบฟ้าอนาคต ภาพรวมว่าด้วยสังคม การเมือง เหตุการณ์ความรุนแรง ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ ปัญหาเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ลักษณะเด่นอยู่ที่ความหนักแน่น เข้มข้นในเนื้อหาสาระ ใช้คำเท่าที่จำเป็น ทุกคำจึงมีความหมาย ทั้งที่ใช้คำธรรมดาสามัญ แต่เมื่อใช้อย่างถูกกาลเทศะ ทำให้ลงตัวงดงาม ทรงพลัง และเนื่องจากรวมบทกวีเล่มนี้ไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์ กวีอาศัยความจัดเจนทางภาษา จังหวะจะโคน จึงเห็นความโดดเด่นด้านชั้นเชิงวรรณศิลป์แจ่มชัด ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของ “ประเทศในเขาวงกต” คือความคิดที่แหลมคม อาจเรียกได้ว่าคมคำ คมความคิด และสำคัญสุด วรรณกรรมเล่มนี้มิใช่แค่รายงานสถานการณ์ หรือมิเพียงสะท้อนว่าทุกองคาพยพของประเทศกำลังตกอยู่ในเขาวงกต กวีได้พยายามเสนอทางออก ชี้ประวัติศาสตร์ให้ทบทวนบทเรียนเพื่อก้าวสู่เส้นทางใหม่ ๆ หลายช่วงฉายภาพและตอกย้ำให้เห็นปัญหา แล้วเปิดปลายให้ผู้อ่านนำไปขบคิดต่อ ขณะที่หลายชิ้นงานตั้งคำถามต่อสังคมแบบคมคายเป็นการกระตุกกระตุ้นให้ตื่นจากวังวนเดิม ๆ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลงานภายในเล่มหลายสำนวน เขียนขึ้นตามวาระต่าง ๆ แต่มีนัยกว้างออกไป ไม่จำกัดเฉพาะวาระพิเศษนั้น ๆ นี่คือเสน่ห์ และถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการด้านกวีนิพนธ์ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมบทกวี “ประเทศในเขาวงกต” ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
การลุกไหม้ของ ความมืด
การลุกไหม้ของความมืด เป็นรวมบทกวีที่เนื้อหาส่วนใหญ่กล่าวถึงเรื่องราววิกฤตของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ของเรา อันเป็นปัญหาฉกาจฉกรรจ์ที่ยังดำเนินอยู่จนวันนี้ กวีได้สะท้อนถึงเรื่องราวความสูญเสียของทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน รวมถึงผู้เคราะห์ร้ายผู้บริสุทธิ์ และผู้ถูกกระทำให้กลายเป็นเหยื่อของสถานการณ์เลวร้ายนั้น ด้วยอารมณ์และความรู้สึกลึกซึ้งสะเทือนใจ เรียกร้องต่อมโนธรรมสำนึกของเพื่อนร่วมแผ่นดินให้ได้ร่วมรับรู้ถึงความแตกร้าวทางมนุษยธรรมอันเป็นเรื่องที่ร้าวลึกกว่าความแตกต่างและแตกแยกทางมนุษยชาติตามปรากฏการณ์ที่เรารับรู้จากข่าวสารเพียงเท่านั้น ต่อสถานการณ์เลวร้ายเช่นนี้เรายังจะเมินเฉยต่อเคราะห์กรรมของเพื่อนร่วมแผ่นดินอยู่ได้อย่างไรหรือ นี่คือคำถามที่อยู่ใน “การลุกไหมของความมืด” ของศิริวร แก้วกาญจน์
โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า
ศิริวร แก้วกาญจน์ สร้างสรรค์นวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า โดยนำเสนอประเด็นเนื้อหาในระดับมหาภาค นั่นคือการทำล้างเผ่าพันธุ์ที่ผู้มีอำนาจกระทำต่อชนกลุ่มน้อย การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารเพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย และอำนาจทุนนิยมที่ฉกฉวยประโยชน์ทุกวิธีแม้กระทั่งจุดไฟสงคราม เรื่องราวของกระเหรี่ยงอพยพหนีทหารพม่าที่ปล้น ฆ่า ข่มขืน บ้านเรือนถูกเผา ครอบครัวกระเจิดกระเจิงพลัดพราก และเรื่องราวของนักศึกษาพม่าที่หลบหนีลี้ภัยจากการกวาดล้างของรัฐบาลทหารมาใช้ชีวิตในค่ายอพยพและเมืองเล็กบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า รวมทั้งเรื่องราวชองประชาชนพม่าที่ถูกกดขี่รังแกต้องหลบซ่อนในป่าเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศของตนเอง ถูกถ่ายทอดในนวนิยายชื่อยาวนี้ด้วยเทคนิควิธีต่าง ๆ ได้แก่ การเล่าเรื่องตัดสลับไปมาที่ทำให้เวลาเลื่อนไหลอยู่ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน การใช้ภาพเหนือจริง การแทรกตำนานและนิทานพื้นบ้าน เรื่องราวของคนชายขอบ นัยเปรียบเทียบระหว่างความทุกข์เศร้าส่วนตัวกับความทุกข์เศร้าของมนุษยชาติ และการใช้รูปแบบของนวนิยายที่แทรกด้วยบันทึกส่วนตัวของตัวละครผู้เล่าเรื่อง ซึ่งเป็นการสร้างเรื่องเล่าคู่ขนาน 2 เรื่อง เพื่อทำลายนิยามของนวนิยายตามขนบเดิม กลวิธีทางวรรณศิลป์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่มีลักษณะของคตินิยมหลังสมัยใหม่ (post-modernism) อันเป็นพัฒนาการของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสสตร์ความเศร้าอยู่ที่การสร้างบรรยากาศของความเศร้าที่กัดกินใจของผู้อ่าน แววตาหม่นมัว ใบหน้าโศกหมอง น้ำตาที่ต้องกักกั้นกันไว้ในอกเพื่อไม่ให้ความเศร้าแพร่ออกไปสู่ผู้อื่นเหมือนโรคระบาด ความหวาดกลัว หวั่นระแวง ที่เกาะกุมใจจนแทบไม่อาจควบคุมสติ ลมหายใจแห่งความหม่นหมอง มืดมน มัวซัว สลดหดหู่ ไร้ความหวัง ระบาดอยู่แทบทุกบรรทัด ผู้อ่านจึงได้ซึมซับความรู้สึกสูญเสียของคนที่ถูกปล้นชิงทรัพย์สิน และความเป็นคน และเศร้าสร้อยไปกับความเจ็บปวดของคนพลัดถิ่นที่มี่แผ่นดินใต้ฝ่าเท้าให้เหยียบยืน นวนิยายเรื่องนี้บอกเราว่า ยิ่งโลกก้าวรุดไปข้างหน้า มนุษย์ก็ยิ่งถอยห่างจากความรัก ความดีงาม ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันซึ่งเคยหลักรากอยู่ในจารีตวัฒนธรรมเก่าแก่มากยิ่งขึ้น นวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้าจึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2554