All Posts

Archives

  • Home
  • วีรพร นิติประภา

โปรดโอบกอดมนุษย์ลูก

คำถามที่ว่า เราควรเลี้ยงลูกอย่างไร เป็นคำถามที่เกิดขึ้นทุกยุคทุกสมัย หนังสือเล่มนี้เป็นคำแนะนำจากแม่คนหนึ่งถึงแม่และผู้ปกครองคนอื่น ๆ ในยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป เราต้องยอมรับว่า ห้วงเวลานี้คือห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านขนานใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ ทุกสิ่งเปลี่ยนไป การเลี้ยงลูกก็เปลี่ยนไปด้วย ผู้เขียนเล่าประสบการณ์ของตัวเองและของคนอื่น ๆ ที่ได้พบเห็นด้วยภาษาที่งดงามและมีมุมมองที่แปลกใหม่แต่ลุ่มลึก  

ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต

        “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของ วีรพร  นิติประภา  เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงชีวิตของเด็กหญิงและเด็กชายกำพร้า 3 คนคือ  ชาลิกา  ชารียา  และปราณ  ใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างอบอุ่นที่บ้านสวนริมแม่น้ำนครชัยศรี  ครั้นโตขึ้นเป็นหนุ่มสาวก็แยกย้ายมาใช้ชีวิตของตนเองในกรุงเทพมหานครสลับกับบ้านเกิดเป็นครั้งคราว  ชีวิตช่วงนี้พวกเขาต้องประสบกับปัญหาเรื่องความรักและความขัดแย้งทางอารมณ์  ชีวิตจึงมีแต่ความอ้างว้าง ขมขื่น  โดดเดี่ยว  เดียวดาย  จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต    ตัวละครอื่น ๆ ที่คนทั้งสามเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยล้วนแต่ประสบกับชาตะกรรมชีวิตที่เลวร้ายหรือ “ถูกชีวิตทรยศ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าธนิตผู้หลงใหลคลั่งไคล้ผ้าโบราณ ธนานักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย   นทีผู้สร้างภาพให้ตนเองดูเป็นชายที่มีเสน่ห์ ภัทรนักดนตรีร็อค  และนวลหญิงที่มีสามีสามคนพร้อมกัน เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มข้นทางอารมณ์ของตัวละครที่เกิดจากกลวิธีการประพันธ์ที่ผสมผสานแนวสัจนิยมและจินตนิยายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน การเสพสุนทรียะอย่างวิจิตรของตัวละคร ผ่านสีสันของสวนดอกไม้  อวลไปด้วยเสียงไพเราะของดนตรีคลาสสิค ความงดงามของผ้าโบราณ และรสชาติอาหารที่ชวนลิ้มลอง ส่งผลให้ตัวละครเสพชีวิตอย่างสุดโต่งด้วยรสอารมณ์มากกว่าคำนึงถึงตรรกะของเหตุและผล ผู้เขียนสามารถพรรณนาความรู้สึกทุกภาวะอารมณ์ของตัวละครได้อย่างลุ่มลึก ตัวอักษรบีบคั้นกดดันอารมณ์ผู้อ่านร่วมไปกับตัวละครทุกบททุกตอน นวนิยายเรื่องนี้เป็นบันเทิงคดีร่วมสมัยของไทยที่แหวกขนบ มุ่งสะท้อน “มลพิษของความรัก” ผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ปมปัญหาความรักได้อย่างลึกซึ้งแยบยล  โดยชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความรักว่าคือมายาคติที่มนุษย์ลุ่มหลงและมัวเมา  มายาคติแห่งรักสร้างความซาบซึ้งตรึงใจและความเจ็บปวดรวดร้าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า  กระนั้นผู้คนก็ยังคงดิ้นรนโหยหาความรักอยู่ดี  แม้บางครั้งมิอาจพานพบรักแท้ได้ในชีวิตจริง  ดุจเดียวกับ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ที่หาทางออกไม่พบ คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต”  ของ วีรพร นิติประภา เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557

พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ

ประวัติศาสตร์คือสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นเรื่องเล่าร่วมกันถึงความเป็นมาของพลเมืองในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ นวนิยายของ วีรพร นิติประภาเป็นภาพจำลองกระบวนการสร้างความทรงจำร่วมกันหรือประดิษฐกรรมที่รับรู้ในนาม “ประวัติศาสตร์” ในบริบทของรัฐไทย ผู้เขียนสร้างครอบครัวคนจีนอพยพครอบครัวหนึ่ง-ตั้งต้นที่ตาทวดตง ให้มีชีวิตขนานไปกับเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ไทยท่ามกลางความผันผวนของการเปลี่ยนขั้วอำนาจและอุดมการณ์ทางการเมืองทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่อวลอยู่ในบรรยากาศก่อนและหลังการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง  ชะตากรรมของสมาชิกในครอบครัวเล็ก ๆ ซึ่งที่สุดแล้วได้รับการจดจำและกลายเป็นเรื่องเล่าผ่านตัวละครหลักคือ ยายศรีหนูดาว และ แมวตัวหนึ่งมีความคล้ายคลึงกันอย่างยิ่งยวดกับเรื่องเล่าระดับ                  มหภาค ซึ่งเป็นกระบวนการสร้างความทรงจำในลักษณะกระท่อนกระแท่น เว้าแหว่ง คลุมเครือ ไม่ปะติดปะต่อ สลับไปสลับมา และพร่าเลือนจนราวกับพรมแดนระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ความจริงกับสิ่งสมมุติ การหลับฝันและการตื่น การจำได้และการลบลืม ไม่อาจแยกออกจากกันได้ตลอดกาล และในพื้นที่เช่นนี้เอง บางตัวละครไร้ที่ยืน ถูกกีดกันออกไปจากเรื่องเล่าให้กลายเป็นเพียงเงาสะท้อนของภูตพราย เป็นบุคคลสูญหาย ตกหล่น พลัดหลง และถูกขังลืมในซอกหลืบของเวลา ในขณะนำพาผู้อ่านเดินทางไปพร้อมกับตัวละครและเหตุการณ์ด้วยกลวิธีการประพันธ์แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) ผ่านภาษาที่มีลักษณะเฉพาะตัว สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนซ่อนไว้อย่างแยบยล คือความปรารถนาให้ผู้อ่านหยุดคิดและตั้งคำถามกับ “เรื่องเล่า” ที่อยู่รอบตัว เพราะที่สุดแล้ว ความทรงจำของอดีตที่รับรู้ในนามประวัติศาสตร์ /เรื่องเล่า/หรือตำนาน แท้จริงคืออำนาจของผู้เล่าว่าเลือกจะเล่า เลือกจะลบ หรือเลือกจะลืม ดังนั้น พุทธศักราชอัสดงกับทรงจำของทรงจำของแมวกุหลาบดำ ของ วีรพร  นิติประภา  จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2560