All Posts

Archives

  • Home
  • ชมัยภร แสงกระจ่าง

ส้มโอ น้าหมู หนูแมว

ผู้เขียนนำเรื่องชีวิตประจำวันในครอบครัวซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวมาเขียนได้ดี ให้ภาพชีวิตที่อบอุ่นน่ารัก แสดงความผูกพันระหว่างมนุษย์กับมนุษย์และมนุษย์กับสัตว์ ภาษาดี เป็นธรรมชาติ เหมาะแก่ผู้อ่านทั้งเด็กและผู้ใหญ่

ป้าจ๋า โก้ ติ๊ดตี่ น่ะจ้ะ

เป็นเรื่องในครอบครัวของเด็กกรุงเทพฯ และชนบทที่น่ารัก มีการเขียนจดหมายโต้ตอบ ถึงแม้ในปัจจุบันจะมีน้อยก็ตาม ได้เรียนรู้การใช้ชีวิต แม้จะเป็นเรื่องที่พบเห็นได้ทั่วไป แต่ผู้เขียนใช้ภาษาง่าย ๆ  เขียนได้มีเสน่ห์ ชวนให้ติดตาม สำนวนภาษาดี อ่านสบาย ๆ

กุหลาบในสวนเล็กๆ

ชมัยภร แสงกระจ่าง เขียนนวนิยายเรื่องนี้จากประวัติชีวิตและผลงานเขียนของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา”  นักคิดนักเขียนที่ได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลดีเด่น และรวมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส 100 ปีชาติกาลในปี 2548 ที่ผ่านมา ผลงานต่าง ๆ ของศรีบูรพาทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทความ งานแปล และอื่น ๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่า “อุดมการณ์” และ “คุณธรรมจริยธรรม” มีความหมาย ความสำคัญต่อการสร้างสังคมที่แสนงาม เพราะอุดมการณ์และคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งบ่งชี้ความเจริญทางจิตใจ จิตวิญญาณ และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุและเทคโนดลยีไม่อาจเทียบได้ ความเป็นกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” คือความกล้าท้าทายอำนาจอันไม่เป็นธรรม ทำให้ผลงานของ “ศรีบูรพา” ยิ่งใหญ่และไม่ล้าสมัย แต่เพราะเหตุที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านอ่อนแอลงไปทุกที คนรุ่นใหม่จึงไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวของบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย และไม่ได้รับรู้คุณค่าของหนังสือดี ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ชมัยภร แสงกระจ่าง จึงทำหน้าที่เชื่อมต่อช่องว่างนี้ โดยนำประวัติและงานเขียนของ “ศรีบูรพา” มาร้อยเรียงเข้ากรับเรื่องราวของสังคมสมัยใหม่ เพื่อเป็นการสานต่ออุดมการณ์ความคิดของ “ศรีบูรพา” และแนะนำให้นักอ่านรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของผลงานเขียนของนักคิดแห่งสังคมไทย ข้อจำกัดของการที่ต้องนำข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับบุคคลและผลงานมาสร้าง ทำให้นวนิยายเรื่องกุหลาบในสวนเล็ก ๆ มีข้อมบกพร่องทางวรรณศิลป์อยู่บ้าง แต่กระนั้นความตั้งใจอของผู้เขียนที่จะเชื่อมโยงความคิดของคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ ก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ นวนิยายเรื่องกุหลาบในสวนเล็ก ทั้งชี้นำและทั้งเชิญชวนให้นักอ่านอยากรู้จัก “ศรีบูรพา” และผลงานประพันธ์ของเขาให้มากขึ้นกว่าที่ได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้ นี่คือความสำเร็จของนวนิยายเรื่องกุหลาบในสวนเล็ก ๆ โดยแท้ ดังนั้น กุหลาบในสวนเล็ก ๆ ของชมัยภร แสงกระจ่าง จึงสมควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นหนังสือควรอ่านสำหรับนักเรียนและนักอ่านทั่วไป

สันติปรีดี

กลวิธีในการเดินเรื่องแบบนวนิยาย ทำให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบุคคลที่เป็นแบบอย่างของความกล้าหาญ เสียสละ และยึดมั่นในความถูกต้อง เช่น ปรีดี พนมยงค์ ดูมีเลือดเนื้อ เปี่ยมชีวิตชีวา และจับต้องได้ ผู้เขียนบรรจุพันธกิจในการแก้ไขการรับรู้ที่ไม่เป็นธรรม และคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับรัฐบุรุษท่านนี้ และนับเป็นการเติมชิ้นส่วนความเข้าใจประวัติศาสตร์ของรัฐสมัยใหม่หลัง พ.ศ. 2475

อาม่าบนคอนโด

วรรณกรรมสำหรับเยาวชนเรื่อง “อาม่าบนคอนโด” นำเสนอชีวิตของกลุ่มคนในสังคมเมืองหลวงที่พักอาศัยในคอนโด เป็นเรื่องราวของผู้คนหลายวัย หลายสถานภาพ เรื่องต่าง ๆ นำเสนอผ่านตัวละครสำคัญสองตัว คือ “โชค” หนุ่มวัยรุ่นนักเรียนมัธยมที่พักอยู่กับพี่สาวผู้เอื้ออารี และ “อาม่า” หญิงจีนสูงวัย แกร่งกล้า มากประสบการณ์ ที่พักอาศัยอยู่ตามลำพัง หนังสือเรื่องนี้มีการดำเนินเรื่องกระชับ ให้รายละเอียดต่าง ๆ ชัดเจน สะท้อนภาพสังคมปัจจุบันที่เร่งรีบ มีการแข่งขันสูง และเทคโนโลยีออนไลน์มีบทบาทสำคัญต่อชีวิตของคนรุ่นใหม่อย่างมาก  คนในสังคมให้ความสำคัญกับตนเอง ไม่ค่อยสนใจผู้อื่น และอาจมีอคติต่อผู้ที่แตกต่าง ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้คนที่มีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อ ใส่ใจและช่วยเหลือผู้อื่นที่ประสบปัญหาหรือมีความทุกข์ หนังสือเรื่องนี้จึงมีคุณค่าเป็นวรรณกรรมสะท้อนสังคม ที่นำเสนอพฤติกรรม ความคิด และปัญหาของคนในสังคม พร้อมทั้งชี้แนะแนวทางอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างอย่างมีความสุข นอกจากนี้ยังให้ความสนุกสนาน เพลิดเพลิน ผ่านพฤติกรรม และบทสนทนาของตัวละคร พร้อมทั้งสอดแทรกข้อคิดได้อย่างเป็นธรรมชาติอีกด้วย ด้วยกลวิธีการประพันธ์ที่แบ่งเรื่องเป็นตอนสั้น ๆ ใช้สำนวนภาษาที่เป็นธรรมชาติ สอดแทรกข้อคิดและอารมณ์ขัน ทำให้ผู้อ่านได้รับทั้งสาระและความบันเทิง หนังสือเรื่อง “อาม่า  บนคอนโด”  จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทวรรณกรรมสำหรับเยาวชนอายุ 12-25 ปี  

จับต้นมาชนปลาย

นวนิยายเรื่อง “จับต้นมาชนปลาย” นำเสนอชีวิตของมนุษย์ที่ทับซ้อนข้องเกี่ยวกัน          การกระทำทุกอย่างล้วนส่งผลกระเพื่อมไหวไปยังทุกชีวิตที่มาเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันไม่ทางใด           ก็ทางหนึ่ง สร้างเงื่อนปมให้แต่ละชีวิตโยงใยกันอย่างซับซ้อน  สิ่งที่เรามักจะมองเห็นเป็นเพียงปลายของเหตุที่มาก่อนหน้านั้น  และเมื่อสาวไปถึงต้น ก็จะพบว่าเป็นปลายของเหตุที่มาก่อนหน้านั้น         อีกทีหนึ่ง จนอาจกล่าวได้ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีที่มาที่ไป  ปลายของเรื่องหนึ่งย่อมเป็นต้นของอีกเรื่องหนึ่ง  ไม่มีจุดเริ่มต้นและสิ้นสุด เรื่องราวเริ่มต้นที่คู่รักสมัยวัยเรียนได้มาพบปะกันอย่างไม่นึกฝัน หลังจากต่างฝ่ายต่างแยกย้ายกันไปมีชีวิตครอบครัวจนลูกโตเป็นหนุ่มเป็นสาว การหวนมาพบกันครั้งนี้เป็นจุดเริ่มให้ทุกชีวิตในครอบครัวทั้งสองมาพัวพันกันจนยุ่งเหยิง เรื่องจบลง ณ สถานที่ตอนเริ่มต้นเรื่องหลังจากที่ตัวละครทั้งคู่ได้พานพบและบอบช้ำกับปัญหาต่าง ๆ จนทำให้เติบโตทางอารมณ์ นำไปสู่ความเข้าใจชีวิต  เมื่อ “จับต้นมาชนปลาย” เรื่องราวทั้งหมดที่ผูกร้อยเข้าหากันได้ ผู้เขียนใช้เหตุบังเอิญผูกเรื่องราวได้อย่างแยบยล  แต่ละเหตุการณ์เรียงร้อยเข้าด้วยกันอย่างสมเหตุสมผล  เงื่อนปมชีวิตของตัวละครแต่ละตัวชวนให้ติดตามว่าตัวละครจะหาทางออกอย่างไร  ความสับสนวุ่นวายต้องอาศัยสติเพื่อการใคร่ครวญ  จัดการกับปัญหาบางปัญหา  ปล่อยวางกับปัญหาบางปัญหา  และท้ายที่สุด ทำความเข้าใจกับทุกข์ของผู้อื่นมากกว่าหมกมุ่นกับทุกข์ของตน  รู้เท่าทันว่าแม้ปัญหาจะคลี่คลาย แต่ก็ยังมีปัญหาใหม่ที่กำลังก่อตัวอยู่เสมอ  เราต้องพร้อมรับมือกับปัญหาที่เกิดขึ้นทุกจังหวะย่างก้าวของชีวิต คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้  “จับต้นมาชนปลาย” ของ ชมัยภร  แสงกระจ่าง เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557

หยาดน้ำค้างพันปี

อายุขัยของมนุษย์นั้นน้อยนิดนักเมื่อเทียบกับการคงอยู่ของจักรวาล อาจเปรียบได้กับหยาดน้ำค้างที่พร้อมจะระเหยหายไปตามกาลเวลา หากเมื่อมองชีวิตผ่านความทุกข์อันใหญ่หลวงที่กำลังเผชิญอยู่ย่อมยากที่ใครจะคิดเช่นนั้นได้ 22 ปีที่นางสายน้ำ นานขวัญใจ ตกอยู่ในสถานะของผู้ต้องหาคดีปลอมแปลงสมบัติของแผ่นดิน แม้จะเชื่อในความสุจริตของตน แต่ไม่มั่นใจกระบวนการยุติธรรมตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนจนถึงชั้นผู้ว่าคดี เพราะฉะนั้นยามที่ต้องขึ้นศาลครั้งแล้วครั้งเล่า เธออยู่ในภาวะที่ถูกกดดันต่อเนื่อง กระบวนการแสวงหาข้อเท็จจริงในคดียืดเยื้อยาวนานจนเธอไม่รู้ว่าจะจบลงที่ใด ชมัยภร แสงกระจ่าง ฉายภาพชีวิตของตัวละครที่เคราะห์กรรมถาโถมเข้ามาอย่างไม่ทันตั้งตัว ฉุดรั้งชีวิตให้ดำดิ่งสู่ห้วงลึกลงทุกที จนเวลาล่วงไป เธอจึงได้คิดแล้วพินิจความทุกข์ รับธรรมะเข้ามาประคองใจ ปลดเปลื้องด้วยการเปิดใจตามดูรู้เท่าทันจิตของตน จนตระหนักได้ว่าความทุกข์ที่มาจาก “คนอื่น” นั้น แท้ที่จริงแม้จะเริ่มจากเหตุปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ แต่ทุกข์นั้นก็ยังดำรงอยู่เพราะใจกักเก็บหล่อเลี้ยงมันไว้ นอกจากการเล่าเรื่องแบบสัจนิยมแล้ว นวนิยายเรื่อง หยาดน้ำค้างพันปี ยังแสดงสัญญะที่ตัวละครหลบเลี้ยงและปฏิเสธความทุกข์ด้วยการปักจิตปักใจกับการปักผ้าระบายแรงกดดันที่กำลังเผชิญผ่านลายปักสีสันเศร้าหมองที่สะท้อนถึงความสิ้นหวัง ภาวะไร้อำนาจและความปรารถนาในอิสรภาพ กองผ้าที่ปักสูงเพียงใดทุกข์ก็ท่วมใจเพียงนั้น จนไม่มีวันออกจากทุกข์ได้ ตราบใดที่ไม่ “ตื่น” จากทุกข์ “สิ่งใดที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ดีที่สุดสำหรับเรา” คือประโยคสำคัญที่ผู้เขียนส่งสารมายังผู้อ่านให้เปิดใจเรียนรู้ชีวิตจากทุกข์ของตนเอง วิกฤตชีวิตคือโอกาสสำคัญที่จะทำให้เราเข้าใจความเป็นชีวิต รู้จักกับ “ใจ” ของตน จิตที่ฝึกแล้วย่อมไม่พาชีวิตให้ทอดเวลาแห่งทุกข์ยืดยาวเป็นหยาดน้ำค้างพันปีได้ อย่างไรก็ตามผู้อ่านอาจเห็นว่าประโยคนี้เป็นเพียงประโยคปลอบใจ สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับชีวิตของนางสายน้ำ แต่เป็นสิ่งที่เธอไม่ได้เลือก หรือเลือกไม่ได้ คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ หยาดน้ำค้างพันปี ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลชนะเลิศประเภทนวนิยายประจำปี 2558