All Posts

Archives

  • Home
  • กร ศิริวัฒโณ

คำถามของความเป็นมนุษย์

รวมบทกวี “คำถามของความเป็นมนุษย์” ของ กร ศิริวัฒโณ แบ่งเนื้อหาสาระออกเป็น    สามส่วน ประหนึ่งจะตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ในภาคอดีตที่ผ่านผัน  ปัจจุบันที่เป็นอยู่           และมุ่งไปสู่อนาคตกาล โดยในภาค “หวนกาลผ่านเลย” ผู้เขียนเปิดภาพปูพื้นให้เห็น                 ความหลากหลายในตลาดเช้า ภาพชีวิตในชุมชนท้องถิ่น และการน้อมนำธรรมชาติมาพินิจพิจารณาในแง่มุมปรัชญานานาประเด็น ก่อนจบด้วยการถวิลถึงความรักของแม่ และทบทวนถึงรักแท้ของคู่สมรสในวัยชราเมื่อกาลเวลาผ่านเลย ในภาค “เนากาลผ่านวัน” สะท้อนภาพชีวิตในสังคมปัจจุบัน ผู้เขียนตั้งคำถามถึงประเด็นการอ่าน การเขียน และสถานภาพของนักเขียนในสังคมที่เริ่มมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงสัมพันธภาพของผู้คนในสังคมออนไลน์ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ทาง Facebook เพื่อไตร่ตรองมองตนบนความเป็นจริง และในภาค “สู่กาลผ่านใจ” เป็นการตั้งคำถามด้วยความห่วงใยในความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน ที่เกิดภาวะบิดเบี้ยวของข้อเท็จจริงในข้อมูลข่าวสาร อันจะนำไปสู่สภาพสังคมชวนเคลือบแคลงในอนาคต บางชิ้นงานได้สะท้อนอารมณ์ท้อแท้ไม่แน่ใจกับความเป็นไปในชีวิต ก่อนปลุกปลอบให้โบยบินไปสู่ความหวังเบื้องบนฟ้าไกลในบทจบ ด้านศิลปะการประพันธ์ แม้ว่าจะมีข้อด้อยทางฉันทลักษณ์อยู่บ้าง แต่ผู้เขียนก็ใช้ภาษาเรียบง่ายได้อย่างมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์พอสมควร เพื่อส่งสารตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์หลากหลายแง่มุม โดยไม่ต้องปรุงแต่งจนเกินพอดี สารของผู้เขียนจึงสามารถกระทบใจผู้อ่านให้แตกประเด็นคำถามและค้นหาคำตอบได้ตามประสบการณ์ของแต่ละคน สอดคล้องกับชื่อหนังสือ  “คำถามของความเป็นมนุษย์” ในท้ายที่สุด รวมบทกวี “คำถามของความเป็นมนุษย์” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

คนในนิทาน

เบื้องหลังนิทานซึ่งทำหน้าที่สร้างความบันเทิงให้ผู้คนในสังคม บ่อยครั้งมักมาจากชีวิตจริงของบุคคลที่มีเลือดเนื้อ คนในนิทาน ของ กร ศิริวัฒโณ คือนวนิยายย้อนยุคสังคมเกษตรกรรมแบบจารีตประเพณี (Peasant Society) ที่ผู้เขียนจงใจแตะต้องและตั้งคำถามต่อประเด็นเรื่องเพศอันล่อแหลม ดำฤษณาคือแรงขับเคลื่อนของสรรพสัตว์ หากแต่การตอบสนองความปรารถนาดังกล่าวในสังคมมนุษย์มักอยู่ภายใต้กรอบของกฎกติกา การเบี่ยงเบนจาก “รีตรอย” นำไปสู่การประณามหยามหยันตีตราว่าวิปริตวิตถาร ปมความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างพ่อตากับลูกเขยในเรื่องเล่าขำขันฉบับนี้เบื้องหลังคือเรื่องราวขมขื่นของผู้เพลี่ยงพล้ำต่อการสนองตัณหาซ่อนเร้นในหนทางที่สังคมไม่ยอมรับ ทางออกและการคลี่คลายดำเนินผ่านฉากชีวิตในชนบทที่สอดแทรกความรู้เรื่องการทำมาหากิน ภูมิปัญญาท้องถิ่น  และกลวิธีในการประสานตำนานและเกร็ดเรื่องเล่าเข้าเป็นส่วนหนึ่งอย่าง แยบยล นอกเหนือจากคุณค่าเชิงนวนิยายแล้ว  คนในนิทานยังทำหน้าที่เป็นบทบันทึกทางสังคมที่มีคุณค่าเชิงประวัติศาสตร์และมานุษยวิทยาอีกโสดหนึ่งด้วย คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนวนิยาย ประจำปีพุทธศักราช 2561