All Posts

Archives

  • Home
  • สารคดี (สารคดีเชิงประวัติศาสตร์ไทย)

กบฏกรุงศรีอยุธยา

กรุงศรีอยุธยาเป็นอาณาจักรใหญ่ที่มีอำนาจยาวนานถึง 417 ปี แต่กรุงศรีอยุธยามิได้มีแต่ด้านที่รุ่งเรืองเฟื่องฟู หนังสือสารคดีเล่มนี้มุ่งนำเสนอประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยา ในมุมมองของความขัดแย้งแตกแยก จนทำให้เกิดกรณี “กบฏ” ถึง 24 ครั้ง ใน 34 รัชกาล 5 ราชวงศ์แห่งกรุงศรีอยุธยา แม้จะเป็นงานค้นคว้าข้อมูลจากเอกสารมากกว่าการลงพื้นที่ แต่ผู้เขียนมีศิลปะในการกลั่นกรองข้อมูลมานำเสนออย่างน่าสนใจ ใช้ภาษาสำนวนเรียบง่าย ชวนติดตาม ชวนอ่านเอาเรื่องและอ่านเอาอรรถรส เพราะสาระของหนังสือไม่ใช่แค่เรื่องราวจากเอกสารชั้นต้นและชั้นรอง แต่ยังทำให้ผู้อ่านมองเห็นภาพกว้างของปัญหาความแตกแยกในสมัยกรุงศรีอยุธยา เป็นบทเรียนให้เราตระหนักว่า ศึกภายใน  อันเนื่องจากสามัคคีเภทของคนในชาตินั้น นำหายนะมาสู่ปิตุภูมิของเรา เสียยิ่งกว่าศึกภายนอกมากมายนัก

ย่านเก่าในกรุงเทพฯ (เล่ม 1)

สารคดีประวัติศาสตร์ชุมชนเกาะรัตนโกสินทร์ จากการค้นคว้าเอกสารและการลงพื้นที่ ทำให้เป็นข้อเขียนเชิงสารคดีที่ชวนอ่าน ด้วยการร้อยเรียงเรื่องราวอย่างมีศิลปะ ชวนติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ แม้กลิ่นอายของงานเขียนอาจไม่เป็นสารคดีประวัติศาสตร์เต็มรูปแบบเสียทีเดียว และมีลักษณะคล้ายหนังสือ       “นำเที่ยว” แต่ผู้เขียนสอดแทรกข้อมูลเชิงประวัติศาสตร์ลงไปอย่างเหมาะสม ที่สำคัญคือเป็นข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่จริง และเป็นข้อมูลที่น่าสนใจของย่านเก่าแก่ในกรุงเทพฯ ที่ฟังชื่อแล้วรู้สึกคุ้นเคย แต่น้อยคนจะรู้ประวัติความเป็นมา ไล่เรียงตั้งแต่ย่านเก่ากลางเมืองหลวงอย่าง เสาชิงช้า ถนนดินสอ สี่แยกคอกวัว บางลำพู นางเลิ้ง ฯลฯ ไปจนถึงย่านชานเมือง อย่างบ้านปูน บ้านญวน บ้านครัว ทุ่งบางเขน ฯลฯ ซึ่งนอกจากจะสะท้อนให้เห็นสภาพสังคมที่แปรเปลี่ยนแล้ว หนังสือเล่มนี้ยังมีบทบาทกระตุ้นจิตสำนึกคนรุ่นใหม่ให้ภาคภูมิใจในภูมิปัญญาพื้นบ้าน วัฒนธรรมท้องถิ่นตน แล้วช่วยกันสืบสานด้านที่ดีงามให้ดำรงอยู่อย่างงดงามและสร้างสรรค์

หนังกวาง ไม้ฝาง ช้าง ของป่า การค้าอยุธยา สมัยพุทธ ศตวรรษที่ 22-23

ความรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจการค้าเป็นปัจจัยเกื้อหนุนความยิ่งใหญ่ ของกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นทั้งอาณาจักรที่เรืองอำนาจ และยังเป็นเมืองท่านานาชาติที่มั่งคั่งในภูมิภาคอุษาคเนย์ (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) แต่สินค้าส่งออกของกรุงศรีอยุธยาคืออะไร ลักษณะการค้าขายในสมัยนั้นเป็นเช่นไร หนังสือเล่มนี้มุ่งนำเสนอกรุงศรีอยุธยาในฐานะเมืองท่าที่สัมพันธ์กับระบบการค้านานาชาติ และวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของผู้คนต่างชนชั้นในสังคมสยามที่มีระบบเศรษฐกิจการค้าเป็นสิ่งเชื่อมประสาน แม้จุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้จะเป็นงานวิชาการ แต่ผู้เขียนเรียบเรียงใหม่เป็นภาษาง่าย ๆ ได้อย่างน่าสนใจ และเปิดเผยข้อมูลประวัติศาสตร์การค้าสมัยกรุงศรีอยุธยาที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน ข้อมูลที่บรรจุในหนังสือเล่มนี้ จึงมีคุณค่าอันควรแนะนำให้มีการอ่านในวงกว้าง

แว้งที่รัก

เรื่องราววันวานของเด็กไทยพุทธท่ามกลางผองเพื่อนมุสลิมในอำเภอแว้ง จังหวัดนราธิวาส แม้จะนำเสนอในรูปแบบ “วรรณกรรมเยาวชน” แต่มีเนื้อหาสาระเข้าข่ายงานสารคดีสะท้อนประวัติศาสตร์ชุมชนท้องถิ่น บอกเล่าการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข สันติ ความผูกพันระหว่างเพื่อนมนุษย์ โดยไม่มีปัญหาเรื่องความเชื่อทางศาสนามาเป็นอุปสรรคขัดขวาง ให้ความเพลิดเพลินในการอ่าน   ด้วยลีลาการเขียนคล้ายงานของนักเขียนเชิงสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา แต่นำมาเล่าใหม่ในรูปแบบผ่อนคลายคล้ายเรื่องแต่ง (พบได้ในงานของนักเขียนต่างประเทศหลายคน เช่น Annie Proulx หรือ Laura Engles Wilder) นับว่าหนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวของคนไทยในจังหวัดชายแดนใต้ ได้อย่างมีอรรถรส ชวนติดตาม จุดประกายความคิด และพัฒนาจิตสำนึกเชิงสมานฉันท์ ซึ่งมีความสำคัญยิ่งในสภาพสังคมไทยปัจจุบัน

ฉันรักกรุงเทพฯ ตอนสู่กรุงเทพ เมืองเก่า

สารคดีชีวิตอิงประวัติศาสตร์ชุมชนเกาะรัตนโกสินทร์ อันเกิดจากความอยากรู้อยากเห็นของผู้เขียน นำไปสู่การศึกษาค้นคว้าเอกสาร และลงสำรวจพื้นที่จริง  มานำเสนอด้วยภาษาสำนวนที่อ่านง่าย ได้อรรถรสเหมือนติดตามผู้เขียนลงไปในชุมชนนั้นด้วย เนื้อหาสาระโดยรวมสะท้อนให้ผู้อ่านตระหนักว่าสังคมไทยประกอบด้วยชาติพันธุ์อันหลากหลาย แม้กระทั่งในกรุงเทพมหานคร หนังสือให้รายละเอียดประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ผ่านชีวิตบุคคล แม่น้ำลำคลอง สถาปัตยกรรม ฯลฯ ในยุคสมัยที่น่าจะ “ขาดตอน” ทางประวัติศาสตร์ คือยุคราว 50-60 ปีก่อน ซึ่งยังไม่ถือว่าเก่ามากจนนักประวัติศาสตร์สนใจ แต่ก็ไม่ใหม่มากจนร่วมสมัย การบันทึกและค้นคว้าของผู้เขียนจึงนับว่ามีประโยชน์อย่างสูง ทั้งการให้รายละเอียดในเชิงวิชาการ และความเพลินเพลินในการอ่าน อันจะมีบทบาทจุดประกายความคิดให้ผู้อ่าน โดยเฉพาะอนุชนรุ่นหลังหันมาสนใจศึกษาเรียนรู้รากเหง้าของตนเอง

กระเบื้องถ้วยกะลาแตก

หนังสือเล่มนี้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับตระกูลของผู้เขียน คือตระกูล “พิศาลบุตร” ทว่าต้นตระกูลนี้เป็นผู้นำเครื่องลายครามเข้ามาขายในกรุงสยาม และเป็นผู้ทรงอิทธิพลในวงการค้าสำเภาสมัยรัชกาลที่ 4 เรื่องของตระกูลหนึ่งจึงกลายเป็นสารคดีสะท้อนประวัติศาสตร์การค้าสำเภา และประวัติความสัมพันธ์จีนกับกรุงสยาม สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้เป็นอย่างดี โดยใช้กลวิธีเล่าผ่านเครื่องลายครามอย่างมีศิลปะ ชวนอ่านด้วยภาษาสำนวนและชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ทั้งยังมีกระบวนการเก็บและค้นคว้าข้อมูลที่น่าเชื่อถือ อ่านแล้วจุดประกายความคิด และพัฒนาสำนึกเชิงสร้างสรรค์ แม้หัวข้อที่นำเสนอเกี่ยวกับเครื่องลายคราม ดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กของนักสะสมของโบราณ แต่ผู้เขียนกลับสะท้อนภาพประวัติศาสตร์ใหญ่ของสังคมไทยที่เกี่ยวพันกับประเทศอื่น ๆ เช่น จีน ยุโรป ที่เกี่ยวข้องกับเครื่องลายครามในอดีตได้อย่างเพลิดเพลิน สนุกสนาน และยังจัดทำภาพประกอบอย่างพิถีพิถัน หาดูได้ยาก ทำให้เป็นหนังสือสารคดีที่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์เล่มหนึ่ง

ไม่ขอรับเกียรติยศใดๆ ทั้งสิ้น

เป็นหนังสือบอกเล่าชีวิตที่ยืนนานถึงกว่า 95 ปี ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ที่ได้ประสบรู้เห็น รู้สึก และผจญกรรมต่อเนื่องยาวนาน อันเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความซื่อสัตย์ ความรู้ ความสามารถ ความอดทน และความเสียสละ เพื่อบ้านเมืองของท่านผู้หญิง ที่สมควรได้รับความเคารพนับถือและยกย่องของอนุชนไทยรุ่นหลังเป็นอย่างมาก ที่สำคัญคือยังสะท้อนแนวคิดเรื่องความเท่าเทียมกันระหว่างมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ ความรักชาติ รักอธิปไตย และการต่อสู้เพื่อความถูกต้องดีงาม ผู้เขียนใช้เวลาทั้งชีวิตเล่าเรื่องตัวเองที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์การเมืองในช่วงเวลานั้นได้อย่างน่าสนใจ ตื่นเต้น และมีชีวิตชีวา เหนือสิ่งอื่นใดเป็นการเปิดเผยข้อเท็จจริงที่เป็นบทเรียนทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้เขียนได้สัมผัสด้วยตนเอง ยากที่คนอื่นจะได้มีโอกาสเจอ จึงแม้ว่าจะเป็นหนังสือประวัติส่วนบุคคล แต่เป็นบุคคลที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยหนึ่ง อัตชีวิตประวัติของท่านผู้หญิงจึงสะท้อนภาพการเมืองไทยได้อย่างน่าสนใจ โดยใช้ภาษาสำนวนที่กระชับ เรียบง่าย ตรงไปตรงมา อันเป็นความงดงามทางวรรณศิลป์อย่างหนึ่งที่ชวนให้อ่านตั้งแต่ต้นจนจบ นับเป็นบันทึกที่มีค่าเชิงประวัติศาสตร์อย่างหาอะไรมาแทนได้ยาก

ตามรอยนเรศวรมหาราช จากเวียงจันทน์สู่เวียงแหง นอกกรอบประวัติศาสตร์ชาตินิยม

เป็นหนังสือสารคดีเชิงประวัติศาสตร์ที่เสนอแนวคิดใหม่ด้วยวิธีการศึกษาค้นคว้าใหม่ ทำให้ได้มาตรฐานทางวิชาการประวัติศาสตร์อันทันสมัยระดับสากล ซึ่งกว้างขวางและลึกซึ้งกว่าประวัติศาสตร์แบบที่ต้องการให้รักชาติอย่างคับแคบ ก่อให้เกิดความตื่นตัวในการศึกษาประวัติศาสตร์ในฐานะที่เป็นศาสตร์แขนงหนึ่งของ “วิทยาศาสตร์สังคม” ไม่ใช่ในฐานะตำนาน หรือเครื่องมือเสริมส่ง “ชาตินิยม” เท่านั้น แม้จะเป็นสารคดีอิงพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์พระองค์เดียว คือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่สามารถสะท้อนประวัติศาสตร์ไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา และความสัมพันธ์กับอาณาจักรรอบข้างได้เป็นอย่างดี โดยมีกระบวนการค้นคว้าข้อมูลทั้งจากเอกสารชั้นต้นจากการสัมภาษณ์บุคคล และจากการลงพื้นที่จริงในประเทศไทยและสหภาพพม่า มานำเสนอด้วยภาษาสำนวนชวนอ่าน เข้าใจง่าย มีลีลาการร้อยเรียงเชิงวรรณศิลป์ มีการอ้างอิงหลักฐานจูงใจให้น่าเชื่อถืออย่างเหมาะควรกับสารคดี ไม่มากจนกลายเป็นหนังสือตำราที่น่าสนใจสำหรับนักวิชาการเท่านั้น ทั้งยังมีการศึกษาสภาพภูมิศาสตร์ ณ สถานที่จริงในประวัติศาสตร์มาอ้างอิงให้หนักแน่นยิ่งขึ้น การเป็นสารคดีที่นำเสนอแนวคิดใหม่ในเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้ผู้อ่านที่ไม่มีพื้นฐานมาก่อน อาจต้องทำความเข้าใจ และอ่านหนังสือเล่มอื่น ๆ เพิ่มเติม ซึ่งสารคดีเล่มนี้ก็ทำหน้าที่แนะนำหนังสือที่ควรอ่านประกอบด้วยอย่างรอบด้าน  ก่อให้เกิดบรรยากาศการศึกษาประวัติศาสตร์ใหม่ในเชิงสร้างสรรค์