All Posts

Archives

  • Home
  • สารคดี (สารคดีภูมิปัญญา)

ห้าวันที่ฉันตื่น

เป็นเรื่องเล่าถึงประสบการณ์ของผู้เขียนที่มีโอกาสเข้าร่วมงานภาวนากับพระภิกษุ ติช นัท ฮันห์ และคณะอีก 80 รูป จากหมู่บ้านพลัม  ประเทศฝรั่งเศสที่เดินทางมาเผยแพร่ที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นเวลา 5 วัน เป็นการนำการเจริญสติมาฝึกปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ทำให้เข้าถึงธรรมด้วยความตื่นตา ตื่นเต้น และตื่นรู้ จากการที่พระธรรมแห่งเถรวาทพบกับพระธรรมแห่งมหายาน ในที่สุดผู้ปฏิบัติได้สัมผัสร่วมกันถึงความสุขเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ผู้เขียนนำเสนอภูมิปัญญาในการแสวงหาความสุข โดยไม่เบียดเบียนผู้อื่นตามหลักธรรมทางพุทธศาสนา ผ่านคำสอนของท่านติช นัท ฮันห์ เนื้อหามีประโยชน์ จุดประกายความคิดเชิงสร้างสรรค์แต่เนื่องจากมีสัดส่วนของการเป็นข้อเขียนเชิงบันทึกความทรงจำ  จึงมีความโดดเด่นด้อยกว่าสารคดีภูมิปัญญาโดยตรง

แนวทางสู่ความสุข

ผู้เขียนนำเสนอภูมิปัญญาในการแสวงหาความสุขให้ชีวิตในโลกยุคใหม่ ที่มีความสลับซับซ้อน เร่งรีบร้อนรน จากประสบการณ์ชีวิตที่กลั่นกรองอย่างดี  ใช้จิตวิทยาอธิบายธรรมะ เปิดทางให้พระธรรมสามารถช่วยแก้ทุกข์ได้อย่างมีเหตุผลตามนัยวิทยาศาสตร์ มีภาพประกอบอย่างเหมาะสม จนตกผลึกเป็นภูมิปัญญาให้คนรุ่นหลังเรียนรู้ ช่วยให้เด็กวัยรุ่นรู้จักหลักการ วิธีการ และจุดหมายในชีวิต เพื่อก้าวไปในทิศทางที่ดีงาม ผู้เขียนใช้นิทานและเรื่องเล่าจากชีวิตจริง เป็นจุดสนใจ นำไปสู่บทเรียนชีวิต ทำให้อ่านเข้าใจง่าย เข้าถึงผู้อ่านทุกเพศวัย ช่วยจุดประกายความคิด และพัฒนาจิตสำนึกเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างมีพลัง ให้สติปัญญา แนวคิด แนวทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต  ด้วยวรรณศิลป์ที่อ่านง่าย กระชับ เกิดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆจุดประกายปัญญาให้มองโลกกว้างในแง่ดี มีความหวัง ไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค

แสงใต้ในมรสุม

ขณะที่จังหวัดชายแดนใต้ของประเทศไทยมีแต่ข่าวการใช้ความรุนแรงและการสร้างสถานการณ์ร้าย แต่สารคดีเล่มได้สะท้อนให้เห็นความจริง ความดีงาม และความหวังของสังคมในพื้นที่ อันจะเป็นแสงใต้นำไปสู่ความสงบสุขได้ ผู้เขียนนำเสนอภูมิปัญญาชาวบ้านในจังหวัดชายแดนใต้ ด้วยกลวิธีเชิงเรื่องสั้นโดยใช้ภาษาสำนวนสละสลวย ชวนอ่าน ทรงคุณค่าเชิงวรรณศิลป์ เป็นเรื่องที่ใช้ความพยายามในการเก็บข้อมูลโดยละเอียด ผ่านการทำงานในพื้นที่จริงเนื้อหามีประโยชน์ในการสร้างความเข้าใจในวิถีชีวิต จิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกของกลุ่มชนที่ถูกมองว่ามีปัญหา  อันนำไปสู่แนวทางสมานฉันท์ของชนในชาติ อย่างไรก็ตามพิจารณาองค์รวมของหนังสือแล้ว เห็นว่ามีสัดส่วนของสารคดีชีวิต และศิลปวัฒนธรรม มาปะปน เช่น ชุมชนคนปีนเขา, ชักพระโคกโพธิ์,  ล่าบรูดา ฯลฯ ทำให้มีความโดดเด่นน้อยลง เมื่อเทียบกับหนังสือที่เป็นสารคดีภูมิปัญญาโดยตรง

ชีวิตพอเพียง หมอเกษม วัฒนชัย

เป็นสารคดีอัตชีวประวัติของเด็กจากครอบครัวที่ฐานะไม่ดีในชนบท แต่มีความมานะอดทน ขยันหมั่นเพียรจนเป็นแพทย์ที่มีชื่อเสียงและก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ระดับสูงถึงขั้นองคมนตรี หนังสือแสดงให้เห็นถึงคุณค่าของการอบรมสั่งสอนในบ้านว่าเป็นรากฐานสำคัญของสังคม เช่น ความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ  ความรักความสามัคคีในครอบครัว หนังสือแสดงถึงอุดมการณ์ของโรงเรียนที่กำหนดให้คุณธรรมนำความรู้ เป็นการศึกษาเพื่อพัฒนาอุปนิสัยที่ดีงาม ทำให้ชีวิตที่มีความหมาย ผู้เขียนใช้ความสามารถรวบรวมข้อมูลอย่างละเอียด แล้วนำมาเรียบเรียงอย่างเป็นระบบระเบียบ เนื้อหาสาระมีความสำคัญต่อเยาวชนของชาติ สำนวนโวหารมีลีลาให้ชวนอ่าน นำเสนอภูมิปัญญาในการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข โดยไม่หลงติดวัตถุ ไม่เบียดเบียนเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ จุดประกายความคิด และพัฒนาสำนึกเชิงสร้างสรรค์ชีวิตและสังคม แต่ทั้งนี้เป็นงานเขียนที่มีสัดส่วนของ สารคดีชีวิต (อัตชีวประวัติ) มากกว่าส่วนที่เป็นภูมิปัญญา จึงทำให้ความโดดเด่นด้อยลง เมื่อเปรียบเทียบกับหนังสือที่เป็นสารคดีภูมิปัญญาโดยตรง

ต้นไม้ใต้โลก

นำเสนอภูมิปัญญาการปกป้องคุ้มครองสภาพแวดล้อมโลกอย่างแยบยลและทันสมัย สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้อ่าน นำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน เช่น     การรีไซเคิลจักรยาน , การลดมลพิษจากหมากฝรั่ง , การแยกขยะ ฯลฯ แม้ผู้เขียนจะรวบรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง แต่ก็นำมาร้อยเรียงด้วยภาษาสำนวนที่เรียบง่าย และมีลีลาเชิงวรรณศิลป์ ทำให้เรื่องน่าสนใจ ชวนอ่าน และถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องสั้น ๆ หลายเรื่องมารวมกัน แต่ทุกเรื่องล้วนเป็นภูมิปัญญาการปกป้องโลก หนังสือจึงมีเอกภาพ มีแก่นเรื่องชัดเจน เป็นงานเขียนที่จุดประกายความคิด พัฒนาสำนึกเชิงสร้างสรรค์ได้อย่างดีเยี่ยม เป็นงานสารคดีเชิงวิทยาศาสตร์ที่ควรสนับสนุน เพราะหาคนเขียนได้ยากมาก

ซ่อนไว้ในสิม : ก-อ ในชีวิตอีสาน

เป็นหนังสือภาพวาดบนผนังโบสถ์ที่แสดงให้เห็นสภาพชีวิตของชาวอีสานในอดีตที่นับวันก็จะค่อยๆ เลือนลางไป เป็นฝีมือช่างวาดพื้นบ้าน แม้จะไม่ประณีตแต่ก็แสดงถึงความบริสุทธิ์จริงใจ เป็นการอนุรักษ์ความดีงามในอดีตของอีสาน ผู้เขียนสามารถรวบรวมภูมิปัญญาของชาวบ้านภาคอีสานได้อย่างน่าอ่านเป็นข้อมูลที่ต้องอาศัยการค้นคว้าอย่างละเอียดและยาวนาน แสดงให้เห็นการทำงานอย่างจริงจังโดยใช้เวลาทุ่มเทในพื้นที่จริง  เทคนิคการเรียงลำดับเรื่องจากอักษร ก-อ ทำให้หนังสือน่าสนใจ นับเป็นวิธีการนำเสนอภูมิปัญญาผ่านศาสนสถาน คือ สิมและโบสถ์ ได้อย่างยอดเยี่ยมและรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นภูมิปัญญาด้านอาชีพทำกิน ศิลปวัฒนธรรมประเพณี ดนตรี การละเล่น การศาสนา โดยใช้ฮูปแต้ม หรือภาพจิตรกรรมฝาผนัง เป็นหลักฐานยืนยันความชาญฉลาดของบรรพบุรุษชาวอีสานอย่างทรงพลัง โดยไม่เพียงแต่อธิบายความหมายและความเป็นมาของรูปสำคัญแต่ละรูป ทว่ายังบรรยายให้เห็นภูมิปัญญาที่ซ่อนอยู่ข้างหลังภาพด้วย เช่น รูปรางรินองค์ประกอบสำคัญในพิธี “กองฮด” ซึ่งเป็นกลวิธีควบคุมพระสงฆ์ให้หมั่นเพียรเรียนรู้พระธรรมวินัย  หรือรูปการลงข่วง นอกจากเป็นกลอุบายเลือกคู่แล้ว ยังก่อให้เกิดวัฒนธรรมการดนตรีด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ซ่อนอยู่ในสิมก็คือภูมิปัญญาของชาวอีสานนั่นเอง