All Posts

Archives

  • Home
  • นักเขียนรุ่นเยาว์ "หมวดนวนิยายขนาดสั้น"

ผลิบานและหาญกล้า

ผลิบานและหาญกล้า เป็นเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตของไอดอลสาว ในช่วงเวลาที่เธอต้องไปเก็บตัวในสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อความปลอดภัย เหตุจากการแสดงความคิดเห็นในประเด็นที่ขัดแย้งกันในพื้นที่สาธารณะ สถานที่นั้นเธอได้พบกับผู้ดูแลสถานที่ ผู้พักอาศัยข้างห้องและบริเวณใกล้เคียง ผู้เขียนได้สอดแทรกเหตุการณ์ต่าง ๆ  ทั้งดีและร้าย นำเสนอด้วยภาษารุนแรงตามลักษณะของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในที่สุดก็คลี่คลายไปในทางดี ทำให้เธอได้รู้จักและเรียนรู้วิถีของคนเหล่านั้นมากขึ้น มีโอกาสช่วยเหลือกันและกันด้วยมิตรไมตรี จึงเปลี่ยนทัศนคติ พร้อมที่จะออกไปดำเนินชีวิตอย่างผลิบานและหาญกล้า ตามแบบของตนด้วยความมั่นใจ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้  ผลิบานและหาญกล้า ของ  จิรภัทร คงถนอมธรรม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยาย     ขนาดสั้น  ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗

หน้ากากยิ้มของสิงโต

“หน้ากากยิ้มของสิงโต”  เป็นเรื่องที่สะท้อนภาพจากจินตนาการ การดำเนินเรื่องใช้แนวสัญลักษณ์ แต่สร้างเรื่องให้เป็นแนวสมจริง โดยใช้กลวิธีสวมหน้ากากและให้ตัวละครผู้หญิงและผู้ชายสลับกันเล่าเรื่อง   “คุณอยากฟังเรื่องจริงหรือเรื่องที่ฉันอยากเล่า”  ผู้ประพันธ์นำนิทานมาเล่าไว้ ๓ เรื่อง เป็นนิทานที่ให้แง่คิดดี เสมือนเป็นตัวแทนความคิด ความรู้สึก ความปรารถนาของตัวละคร ผ่านเรื่องราวในนิทาน เรื่องสนุกได้เห็นจินตนาการ แนวคิด การใช้ชีวิตของวัยรุ่นที่มีสีสัน ตื่นเต้นเร้าใจ เป็นเรื่องอ่านสบาย ๆ บางเหตุการณ์ในเรื่องแสดงพฤติกรรมที่ไม่อาจคาดเดา ท้ายเรื่องทั้งสองได้เปิดเผยตัวตนและเรื่องราวที่เป็นเหตุผลให้สวมหน้ากาก ประเด็นสำคัญจากบทประพันธ์เรื่องนี้ คือ การเน้นย้ำให้ตระหนักว่า “บางครั้งรอยยิ้มอาจเป็นสัญลักษณ์ของความสุข แต่บางเวลามันอาจเป็นเพียงหน้ากากรูปแบบหนึ่ง” คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “หน้ากากยิ้มของสิงโต”  ของ “กนกศักดิ์  เรือนทอง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓  

รองเท้าโลหะ

“รองเท้าโลหะ” เป็นชีวิตของเด็กหนุ่มวัย ๑๕ ปีที่ประสบชะตากรรมพลิกชีวิตจากนักเรียนมัธยมศึกษา กลายเป็นลูกกำพร้าสูญเสียพ่อแม่ และขาทั้งสองข้างอย่างกะทันหันในคราวเดียวด้วยอุบัติเหตุรถยนต์  ต้องรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลนานเกือบปี  จึงแข็งแรงและก้าวพ้นความบอบช้ำทางจิตใจ มีความเข้มแข็งที่จะอยู่ในโลกแห่งความจริงในสภาพของผู้พิการใช้ขาเทียม  และดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปที่บ้านเดิมของตน เรื่องราวต่าง ๆ เป็นแบบสมจริงสลับจินตนาการของตัวละครและเรื่องในอดีตสลับกับปัจจุบัน  นำเสนอโดยการบรรยายของตัวละครเอก  การสนทนาและกิจกรรมระหว่างเขากับบุคคลต่าง ๆ โดยเฉพาะน้องชายในจินตนาการ  ที่เกิดจากอาการป่วยทางจิตซึ่งเป็นผลจากความกระทบกระเทือนจิตใจจากการตายของน้องชายผู้เป็นที่รัก  ตั้งแต่ก่อนที่เขาจะประสบอุบัติเหตุ ผู้ประพันธ์มีความสามารถในการสร้างโครงเรื่องที่หนักและซับซ้อนให้ชวนติดตาม  ด้วยการสร้างมุมมองของตัวละครเอกต่อชีวิตในเชิงบวก  และพฤติกรรมเชิงสร้างสรรค์เมื่อเขากลับมาอยู่บ้านในสภาพ                  ผู้พิการโดยมีน้าให้ความช่วยเหลือดูแล เช่น การให้กำลังใจเด็กในการแข่งกีฬา  การมอบรองเท้ากีฬาคู่พิเศษซึ่งเป็นสัญลักษณ์และเป็นจุดศูนย์กลางของเรื่อง  ที่ซื้อไว้ก่อนเกิดอุบัติเหตุแก่ญาติผู้น้อง และการให้ความช่วยเหลือผู้อื่นแม้ในเรื่องเล็กน้อย  ทำให้เข้าใจได้ว่าเขาได้ก้าวข้ามความสูญเสียมาสู่โลกแห่งความจริง และจะสามารถดำเนินชีวิตในสภาพที่เปลี่ยนแปลงไปได้อย่างมีความสุขตามอัตภาพ นอกจากนี้ผู้ประพันธ์บรรยายสิ่งต่าง ๆ ละเอียดชัดเจนจนมองเห็นภาพ  บทสนทนาเป็นธรรมชาติเหมาะสมกับตัวละคร  แทรกข้อคิด มีการเปรียบเทียบ และอารมณ์ขัน คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “รองเท้าโลหะ”  ของ “จิระพนธ์  ขันชารี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓

คล้ายว่าน่าน เพิ่งพ้นผ่านไม่นานนัก

เรื่องเล่าประสบการณ์การเดินทาง ผ่านตัวละครหลัก คือ  “ลูกชายวัยรุ่น” ที่แม่พาแยกจากพ่อ จากเหนือมาอยู่ใต้ตั้งแต่เล็ก แล้ววันหนึ่งลูกชายได้กลับมาหาพ่อที่น่าน ผู้ประพันธ์เขียนด้วยภาษาเรียบ ๆ เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา ตัวละครมีความคิด และทัศนคติในการมองชีวิตเชิงบวก ผ่านการใช้ชีวิตกับแม่ ครู เพื่อน และในวันที่มาเยือนพ่อ หลังจากที่ไม่ได้พบกันมานาน อ่านแล้วสัมผัสได้ถึงใจที่เคว้งคว้างของเด็ก ที่อยากให้ครอบครัวเป็นครอบครัว อยากให้พ่อแม่อยู่ด้วยกัน ในวันที่พ่อทิ้งไป ตอนวัยเด็กนั้นอาจจะเศร้า แต่ก็คิดได้ว่าถ้าอยู่ด้วยกันแล้วไม่สบายใจ การแยกกันอยู่ก็คงดีที่สุด เพราะไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม จะอยู่ หรือ แยก แม่ก็ยังเป็นแม่ พ่อก็ยังเป็นพ่อ แม้จะไม่ได้อยู่ด้วยกันมานานถึง ๑๗ ปี ในวันที่มาเจอกันนั้น ความจริงตรงหน้า คือ ร่างกายของพ่อเปลี่ยนไปตามวัย แต่ภาพของพ่อในใจลูก   ไม่เปลี่ยนไปเลย ยังคงแจ่มชัดเช่นเดิม เสน่ห์ของหนังสือนี้ คือผู้ประพันธ์ใช้แง่งามของแต่ละชีวิต เชื่อมโยงวัฒนธรรมต่างยุค  อยู่ร่วมสมัยด้วย ศิลปะ ดนตรี หนังสือ กวีนิพนธ์ และอาหาร ด้วยความเข้าใจ คณะกรรมการตัดสินจึงเห็นสมควรให้ “คล้ายว่าน่าน เพิ่งพ้นผ่านไม่นานนัก”  ของ “ปรัชวิชญ์  บุญยะวันตัง” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑  รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนวนิยายขนาดสั้น ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓  

คนที่เรารัก คนที่รักเรา

ผู้ประพันธ์มีความตั้งใจในการทำงาน การใช้ภาษาดี หากฝึกฝนบ่อยๆ สามารถพัฒนางานเขียนได้ต่อไปในอนาคต

ยังมีหวัง

เนื่องจากผู้เขียนมีอายุเยาว์กว่าทุกคนที่ส่งหนังสือเข้าประกวด สำนวนในการเขียนดี รู้จักเอาสิ่งเล็กๆ น้อยๆ มาเขียนเป็นเรื่องราว มีแววจะเป็นนักเขียนที่ดี เขียนเรื่องยังไม่เสมอต้นเสมอปลาย ยังไม่รู้จักใช้บทเจรจา ให้พยายามเขียนอีก ให้เขียนในเรื่องที่มีประสบการณ์ตรง เช่น สิ่งที่ได้ไปพบหรืออ่านมา เรียนรู้ลักษณะคำประพันธ์ อ่านเรื่องที่ชนะการประกวดเพื่อที่จะได้ทราบถึงวิธีการเขียน

ผู้พิทักษ์กาลเวลา

ใช้ตัวละครวัยเดียวกับวัยรุ่น สื่อความหมายให้ผู้อ่านในวัยนี้ได้ มีแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ เน้นความสัมพันธ์ของครอบครัว สอนให้คนรู้จักทำงานทำงานให้มีคุณค่า สะกดคำผิด ได้ความคิดจากเรื่องอื่น ในการเขียนเรื่องต่อไปผู้เขียนควรเขียนเลขหน้าด้วย ถ้าจะจัดพิมพ์ควรมีบรรณาธิการกิจและในเนื้อเรื่องควรมีภาพประกอบ

ชุมนุมผมไม่ธรรมดานะ

เป็นเรื่องที่มีฉากเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ซึ่งทำให้อ่านเข้าใจง่าย เป็นเรื่องเกี่ยวกับด้านวิทยาศาสตร์และการอนุรักษ์ธรรมชาติ ซึ่งผู้เขียนสื่อความหมายได้ดีในหมู่วัยรุ่น ภาษาที่ใช้เรียบง่ายแต่มีความหมาย จงใจยัดเยียดบทความ ความรู้มากเกินไป ใส่บทความทางวิชาการเป็นบทๆ ผู้เขียนยังไม่มีการวางแผนที่ดีในการประพันธ์ สร้างตัวละครมาหลายตัวแต่ลืมใช้ ภาพประกอบในเรื่องเป็นเพียงภาพร่าง ถ้าจัดพิมพ์ควรทำภาพให้สมบูรณ์ ถ้าจะจัดพิมพ์ควรมีบรรณาการกิจและในเนื้อเรื่องควรมีภาพประกอบ

Immortal Crystal อมตะลูกแก้วแค้น

มีความคิดสร้างสรรค์ เขียนถูกต้องตามหลักการประพันธ์ เนื้อเรื่องสนุก ชวนติดตาม ลำดับเรื่องยังวกวน ภาษาที่ใช้บางตอนฟุมเฟือย ชื่อเฉพาะภาษาอังกฤษในเรื่องน่าจะเขียนเป็นคำไทย ชื่อเกาะน่าจะใช้ภาษาไทย จะลึกลับกว่า ถ้าจะจัดพิมพ์ควรมีบรรณาธิการกิจ และในเนื้อเรื่องควรมีภาพประกอบ

เส้นเลือดสีขาว

เป็นเรื่องที่เขียนจากประสบการณ์จริงอย่างสมเหตุสมผล มีข้อคิด และอารมณ์ขัน ภาษาที่ใช้ชวนติดตามและให้กำลังใจกับผู้อ่านได้อย่างดี

โลกของเธอมีเพียงเสียงหัวเราะและรอยยิ้ม

เด็กหญิงปีใหม่ วัย 4-5 ขวบ ในครอบครัวที่พ่อแม่แยกทางกัน แม่ซึ่งเลี้ยงลูกตามลำพัง ทุ่มเทเวลาให้กับลูก และดูแลอย่างทะนุถนอมเพื่อชดเชยที่ขาดพ่อ  ปีใหม่จึงขาดเพื่อน ขาดการเรียนรู้โลกภายนอก  ติดการดูโทรทัศน์  รู้จักสิ่งแวดล้อมและสัตว์ต่าง ๆ จากโทรทัศน์  วันหนึ่งเมื่อแม่ติดประชุม  และไม่อยากฝากปีใหม่ไว้ที่บ้านตายาย    เพราะปีใหม่มักจะถูกเพื่อน ๆ ล้อเรื่องไม่มีพ่อ จนบางครั้งเกิดทะเลาะกันตามประสาเด็ก น้าชายจึงต้องรับหน้าที่พี่เลี้ยงชั่วคราว  น้าชายและเพื่อนหญิงของเขาพาปีใหม่ไปเที่ยวสวนสัตว์ และสวนสาธารณะ  ทำให้เธอได้พบกับโลกของความเป็นจริง   สัตว์จริง ๆ     ซึ่งไม่เคยมีโอกาสเห็น ได้เล่นขี่จักรยานตามประสาเด็ก  น้าชายเข้าใจปัญหาและความต้องการของหลานสาว  แต่แม่ของปีใหม่รักลูกและพยายามปกป้องลูกมากเกินไป  จนทำให้ลูกขาดความสุข ในที่สุดแม่ของปีใหม่ เริ่มสังเกตลูกเข้าใจความต้องการของลูก ทำให้ปีใหม่มีความสุขและร่าเริง ตามประสาเด็กมากขึ้น   ผู้ประพันธ์ ได้ผูกเรื่องราวขึ้นจากชีวิตของผู้คนในปัจจุบัน ที่เด็กต้องประสบปัญหาครอบครัวแตกแยก  และการเลี้ยงลูกอย่างทะนุถนอมเกินไปในสังคมไทย มีการนำเสนอเรื่องราวเรียบง่าย  ได้สาระด้วยสำนวนภาษาสละสลวย

เมืองเล็กเมืองนี้

  เป็นเรื่องสะท้อนชีวิตวัยรุ่นและสังคม ผ่านเหตุการณ์ทะเลาะวิวาท ซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บ ความน่าสนใจของเรื่องนี้คือการที่ผู้แต่งนำเสนอเรื่องผ่านเรื่องราวของผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ 5 คน ได้แก่ “เล็ก” เด็กชายวัยรุ่นกำพร้าพ่อลูกแม่ค้าข้าวแกง นักเรียนมัธยม มีเพื่อนชื่อกร  “นิด” แม่ผู้ต่อสู้ชีวิตที่รักและห่วงใยลูก  “กร” นักเรียนมัธยมเพื่อนของเล็กค่อนข้างเกเร  แต่รักพ่อมากจนกล้าต่อสู้กับผู้ที่ทำร้ายพ่อ  “ครูลินดา” ครูของเล็กและกร  ผู้ประสบเหตุวิวาทและแจ้งตำรวจ   และ “ ดาบเพชร” ตำรวจผู้ระงับเหตุวิวาท การใช้กลวิธีใหม่นำเสนอเรื่องราวเช่นนี้ แม้จะยังไม่สมบูรณ์ แต่ก็ชวนติดตาม และสามารถสะท้อนแนวคิดเกี่ยวกับวัยรุ่นในสังคมได้

กลิ่นหอมแห่งท้องทุ่ง

เป็นเรื่องเล่าชีวิตของ “หนอม” ชายผู้เกิดและใช้ชีวิตวัยเยาว์ในชนบทแวดล้อมด้วยทุ่งนา ฝูงควาย   และธรรมชาติอันบริสุทธิ์งดงาม   รวมทั้งเรื่องราวอันรื่นรมย์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในท้องทุ่งนั้น  ผู้แต่งสามารถนำเสนอเรื่องเหล่านี้ได้อย่างสดใส ชัดเจน สอดแทรกแนวคิดเชิงอนุรักษ์วิถีชีวิตอันเรียบง่าย มีความรัก ความเมตตา และความเอื้อเฟื้อระหว่างคนและคนกับสัตว์โดยเฉพาะ “ควาย” อย่างแนบเนียนทำให้ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงความงาม   เสียง  และกลิ่นหอมแห่งท้องทุ่งเกิดความรู้สึกร่วมในเนื้อเรื่องและแนวคิดของผู้แต่ง

เทวดากับยาจก

เรื่องของเทวดาวรินทร ผู้ทำหน้าที่เป็นเทวดาอารักษ์ กับนายศรัทธา วิริยะ ผู้ที่แสนดี แต่ยากจน ชีวิตของเขาประสบแต่ความโชคร้าย และถูกเอาเปรียบเอาเปรียบโดยตลอด เขามีความสุขที่เห็นคนอื่นมีความสุข ยึดมั่นอยู่กับการะทำแต่ความดี พอใจที่ได้ช่วยเหลือผู้อื่นทุกโอกาสเท่าที่จะทำได้ เทวดาวรินทรที่ อยากให้คนดีอย่างนายศรัทธาได้รับผลตอบแทนที่ดีบ้าง จึงเพียรพยายามหาทางช่วยเหลือนายศรัทธาทุกวิถีทาง เทวดาวรินทรต้องไปพบเทวดาตามกระทรวงต่าง ๆ บนสวรรค์ เช่น กระทรวงชะตากรรมมนุษย์ กระทรวงมั่งคั่ง กรมโอกาส กรมลาภ เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะไม่สามารถช่วยเหลือนายศรัทธาได้แล้ว ยังส่งผลกระทบมาถึงตัวเทวดาวรินทรอีกด้วย เรื่องดำเนินไปอย่างน่าติดตาม และคลี่คลายในที่สุด คือ ตัวละครเอกทั้งสองได้รับผลแห่งการทำความดี เทวดากับยาจก เป็นหนังสือที่ส่งเสริมการทำความดีโดยไม่หวังผลตอบแทน การช่วยเหลือเกื้อกูลในสังคม ชี้ให้เห็นความสุขที่เกิดจากใจ การมองโลกในแง่ดีเกิดความเชื่อมั่นว่าการทำดีจะส่งผลดีต่อผู้กระทำอย่างแน่นอน

โนนสวรรค์

เป็นเรื่องราวสะท้อนชีวิตชาวอีสานที่ต้องออกไปทำงานต่างจังหวัด ย้ายที่ทำงานไปเรื่อย ๆ ไม่ได้อยู่กันพร้อมหน้าทั้งครอบครัว ทิ้งให้ลูกอยู่กับปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติพี่น้อง อ้ายหย้าวเฮือน กับหมูหล้า สองพี่น้องชาวอีสานแห่งหมู่บ้านโนนสวรรค์ก็เช่นกัน พ่อแม่ย้ายที่ทำงานไปเรื่อย เพื่อพ่อกับแม่ต้องแยกทางกัน พ่อกลับมาสร้างบ้านไว้โดยหวังว่าจะได้กลับมาอยู่ร่วมกันสามคนพ่อลูก ทั้งสองเฝ้ารอคอยการกลับมาของพ่อ แต่พ่อไม่มีเวลาแม้จะกลับมาเยี่ยมเยียนลูก ในขณะที่แม่พร้อมที่จะรับลูกไปอยู่ด้วย หมูหล้าจึงตัดสินใจไปอยู่กับแม่ ส่วนอ้ายหย้าวเฮือนเฝ้ารอคอยการกลับมาของพ่ออย่างมีความหวัง นวนิยายเรื่องนี้สะท้อนภาพของสังคมชนบทไทยในยุคปัจจุบัน เมื่อไม่สามารถสร้างงานในท้องถิ่นเองได้ ก็ต้องออกไปหางานทำต่างถิ่นเพื่อส่งเสียเลี้ยงดูครอบครัว ลูกหลานจึงมีปัญหาขาดความอบอุ่น ปัญหาเหล่านี้นับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณในสังคมไทย ก่อให้เกิดปัญหาตามมีอีกมากมาย

เสียงจักจั่นในป่าสน

เป็นเรื่องราวชีวิตนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย สะท้อนสภาพรักวัยเรียนที่ทำให้เกิดปัญหา “แม่วัยใส” ระหว่างณิชาและอรุษ ในขณะที่ฝ่ายชายไม่สามารถสานต่อความสัมพันธ์ต่อไปได้ด้วยข้อจำกัดทางครอบครัวและเศรษฐกิจ ฝ่ายหญิงเลือกที่จะรักษาชีวิตทีจะเกิดมา รดิศ รุ่นพี่ต่างคณะเป็นตัวละครที่ผ่านเข้ามาพร้อมกับปมปัญหาทางครอบครัวของแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าเพราะสูญเสียลูกสาว จนต้องกระโดดให้รถไฟทับ จึงคอยให้กำลังใจณิชาจนผ่านพ้นวิกฤติการณ์ของชีวิตช่วงนี้ไปได้ คณะกรรมการชื่นชมการเสนอประเด็นเหล่านี้ และเห็นว่าผู้แต่งนำเสนอในรูปแบบของนวนิยายขนาดสั้นได้อย่างน่าสนใจระดับหนึ่ง จึงขอมอบรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ให้แก่ จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุท  แต่เนื่องจากในต้นฉบับยังมีความบกพร่องเกี่ยวกับสำนวนภาษาอยู่บ้าง จึงขอแนะนำให้ทำงานบรรณาธิการกิจก่อนพิมพ์รวมเล่มต่อไป