All Posts

Archives

  • Home
  • นักเขียนรุ่นเยาว์ “นิยายภาพ(การ์ตูน)”

Flower Shop

Flower shop ลายเส้นสวยงามใช้ได้ สัดส่วนการ์ตูนถูกต้อง เนื้อหาไม่หนักแน่น แต่ให้สาระ นำเสนอการให้โอกาสผู้ที่ทำผิดได้กลับเนื้อกลับตัว และสร้างประโยชน์ให้กับตัวเอง ดังนั้น Flower Shop ของ อรณิชา ชัยสิงหาญ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๐

Moon’s shadow

ผู้เขียนใช้จินตนาการนำความซาบซึ้งจากบทเพลงในวัยเยาว์ความประทับใจจากประสบการณ์ชีวิตจริงและความรู้ด้านวิทยาศาสตร์มาเป็นกลวิธีในการแต่งและวาดการ์ตูนเรื่องนี้ได้กลมกลืนดี เนื้อหาเป็นเรื่องราวความรักของหนุ่มสาวในลักษณะแอบรักคนที่เขามีคู่แล้ว ตัวเองได้แต่เฝ้าดูแลอยู่ห่าง ๆ เปรียบเหมือนดวงจันทร์ที่โคจรรอบโลก แต่ไม่เคยเข้าใกล้โลก สุดท้ายก็คือ เป็นผู้เสียสละ ลายเส้นการจัดวางภาพและเทคนิคพิเศษ (สกรีนโทน) ดูสวยงามลงตัว เนื้อหาโดยรวมอ่านเพลิน ๆ ดำเนินได้ลื่นไหล แต่ไม่โดดเด่นหรือกระทบอารมณ์ ฝีมือของผู้วาดจัดว่าดี แต่กรรมการเห็นว่าเป็นลักษณะการวาดที่ดาษดื่นตามท้องตลาดทั่ว ๆ ไป ไม่โดดเด่นและไม่ได้หลุดออกไปจากกรอบของการ์ตูนในแนวเดียวกัน พิจารณาฝีมือทั้ง 2 เล่มแล้วฝีมือจัดว่าใกล้เคียงกัน กรรมการให้คุณค่าของผลงานที่เนื้อหาและคุณค่าที่ให้สาระแก่ผู้อ่าน จึงพิจารณาตามผลที่ประกาศมา

365 ํ (ของขวัญ…ถึงวันพรุ่งนี้)

การ์ตูนเรื่อง “365 ํ (ของขวัญ…ถึงวันพรุ่งนี้)” เป็นการ์ตูนจินตนาการแนวชีววิทยาศาสตร์บอกเรื่องราวของโลกกว่าพันปีมาแล้ว ที่เด็กทุกคนที่ถูกปลุกขึ้นมาโดยออกมาจากไข่ จะถูกฝังไมโครชิพไว้ในสมองและจะได้รับแจกปฏิทินไว้นับถอยหลังชีวิตตน ซึ่งแต่ละคนจะได้รับคนละ 365 แผ่นเท่า ๆ กัน แต่ “เด็กสาว” ที่เป็นตัวเอกกลับได้ปฏิทินถึง 600 แผ่น ต่อมาปฎิทินของ “เด็กสาว” ถูกขโมย แต่มีเด็กหนุ่มมาช่วยเอาคืนมาได้ แต่ในขณะเดียวกันปฏิทินของเด็กหนุ่มก็ถูกขโมยจนเหลือนิดเดียว เด็กสาวจะแบ่งให้แต่เด็กหนุ่มกลับปฏิเสธ จนเด็กสาวแปลกใจ เด็กสาวได้ประสบพบเห็นอาชญากรรมปล้นปฏิทินจากหญิงชรา ทำให้หญิงชราต้องร้องขอจากเด็กสาว     แต่ก็ไม่ทันหญิงชราเสียชีวิตไปก่อน เพื่อนของเด็กสาวชื่อเตมิกาเสียชีวิตเนื่องจากปฏิทินหมด เพราะเธอต้องเอาปฏิทินไปขายในตลาดมืดเพื่อเลี้ยงดูน้อง ๆ 5 คน เนื่องจากแม่ทิ้งพวกเธอไป เด็กสาวสงสัยที่ว่าสังคมเท่าเทียมกันแต่ทำไมยังเกิดโศกนาฏกรรมมากมาย เด็กสาวไม่เข้าใจทำไมต้องมีการแก่งแย่งและเกิดความเจ็บปวด เมื่อเด็กสาวกลับบ้านพบว่าแม่ป่วยหนัก เมื่อพาไปโรงพยาบาลหมอบอกว่าแม่เธอเหลือปฏิทินเพียงแผ่นเดียว  เด็กสาวไม่เข้าใจทำไมปฏิทินของเธอมีมากกว่าใคร ๆ แต่ทำไมแม่ของเธอกลับมีน้อยเหลือเกิน เธอจะทำอย่างไร แล้วในที่สุดเธอก็ตัดสินใจแบ่งปฏิทินของเธอให้แม่ และเธอก็รู้ความจริงจากคุณหมอว่า ตอนที่เด็กหญิงเกิด สุขภาพเธอไม่ค่อยแข็งแรง แม่กลัวจะเสียเธอไป จึงมอบปฏิทินของตัวเองกว่าครึ่งให้เธอ เด็กหญิงซึ่งตอนนี้มีปฏิทินเท่า ๆ กับเพื่อน ๆ แม้จะมีอายุที่สั้นลงแต่ก็มีความสุขที่ได้ทำเพื่อผู้อื่น   เธอตระหนักว่าไม่มีความสุขไหน…จะสุขยิ่งกว่าการเฝ้ามองชีวิตตัวเอง แฝงอยู่ในความสุขของคนอื่นอีกแล้ว เนื้อหาประทับใจ ชวนซาบซึ้ง แต่รูปแบบการ์ตูนด้อยไปนิดหนึ่ง คณะกรรมการจึงพิจารณาให้หนังสือการ์ตูนเรื่อง “365 ํ  (ของขวัญ…ถึงวันพรุ่งนี้)”  ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2

อะฮ๊อย

หนังสือการ์ตูนเรื่อง “อะฮ๊อย”  เป็นหนังสือที่จัดทำภายใต้โครงการ สื่อสร้างสรรค์สำหรับเยาวชนของ สสส. จากฝีมือการวาดและประพันธ์โดยวงศกร จิรากูลสวัสดิ์ และ อรอุมา ปานมุนี เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มที่ชื่อ  “แป๋ง”  ซึ่งเคยเป็นเด็กที่มีรูปร่างอ้วน เพราะมีพฤติกรรมการกินที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเวลานอนก็กรนดังอีกด้วย จนวันหนึ่ง แป๋งได้พบกับสาวน้อยชื่อ อ้อมใจ อย่างปาฏิหาริย์ เพราะอุบัติเหตุ และเกิดเขม่นกับ บัวลอย ซึ่งอ้างว่าเป็นแฟนของอ้อมใจ และคอยด่าว่ากลั่นแกล้งกีดกันแป๋งจากอ้อมใจ แป๋งซึ่งชอบอ้อมใจก็พยายามทำตัวใกล้ชิด และเลียนแบบกิจกรรมที่อ้อมใจชอบ ซึ่งก็คือเสียงเพลง และดนตรี แต่ก็ไม่วายเผชิญหน้ากับบัวลอยซึ่งดูถูกแป๋งว่าอ้วนแล้วยังเจียมตัว และเกิดการท้าทายงัดข้อแข่งกัน ถ้าใครแพ้ต้องเลิกคุยกับอ้อมใจ ซึ่งแป๋งก็แพ้ และข้องใจว่าตัวเองตัวใหญ่กว่า แต่ทำไมถึงสู้แรงบัวลอยซึ่งตัวเล็กกว่าไม่ได้ จึงมีความคิดที่จะลดความอ้วนโดยไม่ใช้ยา โดยเกิดแรงบันดาลใจจาก “ความพ่ายแพ้ มักทำให้ผู้แพ้เรียนรู้ และหาวิธีที่จะทำให้ตนเองแข็งแรงขึ้น” โดยจริงจังกับการดูแลตัวเอง และควบคุมการกินอาหาร ตลอดจนขยันหมั่นเพียรในการออกกำลังกายทุกครั้งที่มีเวลาว่าง และทำอย่างตั้งใจที่สุด  โดยมีคำขวัญว่า “ถ้าเราตั้งใจ ทำไมเราจะทำไม่ได้”  เพียงเวลา 3 เดือน แป๋งก็ความสามารถลดความอ้วนลงมาได้ และแข็งแรงขึ้นจนสามารถเอาชนะบัวลอยได้ คณะกรรมการพิจารณารางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ในหมวดวรรณกรรมเยาวชนส่วนนิยายภาพ หรือการ์ตูน คัดเลือกหนังสือการ์ตูนเรื่อง “อะฮ๊อย” ให้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1

Flowers Hunter

FLOWERS HUNTER  ฝีมือการวาดภาพพอใช้  การลำดับภาพดูสับสน เนื้อเรื่องดีมีจินตนาการสมวัย โครงเรื่องสร้างสรรค์ได้ลึก เล่าถึงนักเก็บดอกไม้ไปเก็บดอกไม้ซึ่งมีทั้งดอกไม้สดใส และดอกไม้มืดมน  เพื่อนำไปเปลี่ยนเป็นอาภรณ์วิเศษที่เนินเขาเวทมนตร์  อาภรณ์วิเศษจะสวยงามหรือหมองหม่นไม่ได้ขึ้นกับดอกไม้สดใสหรือมืดมน แต่ขึ้นอยู่กับความคิดที่มีต่อดอกไม้ เรื่องให้แง่คิดว่า “จงยอมรับความมืดมน แต่อย่ายอมแพ้” จงเปลี่ยนความมืดมนในตัวให้กลายเป็นความเข้มแข็ง ดังนั้น FLOWERS HUNTER  ของ ปัทมพร ชัยศุภกิจสินธ์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน)  ประจำปีพุทธศักราช 2559

MY TIME

MY TIME  ฝีมือการวาดพอใช้ได้ มีการจัดองค์ประกอบภาพที่ดูสะอาดตา ลำดับภาพได้อย่างน่าตื่นเต้นสนใจ   การเขียนบทเนื้อหาได้กระชับ วางโครงเรื่องง่าย ๆ เด็กคนหนึ่งที่คุณแม่เลี้ยงเดี่ยวเพราะพ่อเสียชีวิต วันหนึ่งเกิดอุบัติเหตุเกิดรถชนสลบทั้งคู่ เด็กรู้สึกตัวก่อน พร้อมกับความทรงจำอดีตที่ผ่านมาปรากฏเป็นลำดับ เป็นความรักของแม่อันยิ่งใหญ่ และความดื้อรั้นตามวัยของตัวเอง กระทั่งสุดท้ายด้วยความโกรธของตัวเองทำให้แม่และตนเองถูกรถยนต์ชน เด็กสำนึกผิดขณะแม่สูญเสียความทรงจำ โครงเรื่องและเป้าหมายของเรื่องสร้างความสะเทือนอารมณ์ได้พอสมควร เขียนบทกระชับ ดังนั้น MY TIME  ของ อรณิชา  ชัยสิงหาญ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน)  ประจำปีพุทธศักราช 2559

BELIEF

BELIEF เนื้อหาแปลกน่าสนใจ สนุก เป็นเรื่องของไก่ที่ต้องการหนีจากการถูกฆ่าเพื่อเป็นอาหารคนไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า แต่สุดท้ายก็ประสบชะตากรรมต้องกลายเป็นอาหารของหมาป่า ลายเส้นสนุกสนานแบบวัยรุ่น แต่ดูสบายตา แต่ต้องใช้เวลาในการพัฒนาฝีมือต่อไป ดังนั้น BELIEF ของ ปัทมพร  ชัยศุภกิจสินธ์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัล     เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน) ประจำปีพุทธศักราช 2560

ไม่อยากเก็บคุณไว้ในตู้เย็นตลอดไป

ไม่อยากเก็บคุณไว้ในตู้เย็นตลอดไป เป็นหนังสือการ์ตูนที่มีภาพวาด มีสไตล์สวยงามเป็นสากล เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทอดความนึกคิดของผู้หญิงคนหนึ่ง บอกเล่าอารมณ์ความสุขในวัยเด็ก ซึ่งมีความประทับใจและไม่เคยลืมผ่านตุ๊กตาหิมะ เมื่อเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ เธอต้องปรับตัวให้เข้ากับ สังคมการงาน และความรู้สึกของตัวเอง สิ่งแวดล้อมและผู้คนใหม่ ๆ ทำให้เธอต้องถามและตอบคำถามของตัวเอง คอยเตือนและสร้างกำลังใจให้ตนเอง เป็นหนังสือการ์ตูนที่สร้างสรรค์ให้เกิดกำลังใจในการพัฒนาจิตและอารมณ์ ให้รู้จักตนเอง และตระหนักถึงความสุข ความฝันแต่ละช่วงวัย ดังนัน ไม่อยากเก็บคุณไว้ในตู้เย็นตลอดไป ของ Noetta จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดนิยายภาพ (การ์ตูน) ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๑