สวนชีวิต
สวนชีวิต รวมกวีนิพนธ์ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เป็นงานฉันทลักษณ์ในรูปแบบกลอนแปดตลอดเล่ม จำนวนทั้งสิ้น ๓๘ สำนวน นำเสนอเรื่องราวได้อย่างมีเอกภาพ เนื้อหาโดยรวม กวีพูดถึงสวน ไม่ว่าจะเป็นสวนในบ้าน (ชานกรุง) สวนนอกบ้าน สวนบ้านนอก อันเป็นถิ่นเกิดของตัวละครผู้เล่าเรื่อง ซึ่งมีทั้งสวนเล็ก สวนใหญ่ สวนทะเล และสวนโลก แล้วหลอมรวมเป็น “สวนชีวิต” ตามชื่อหนังสือ ฉากต่าง ๆ นอกจากสวน ยังมีหนองคลองบึง สายน้ำความทรงจำในวัยเยาว์ เฉพาะอย่างยิ่งสำนวนที่ ๓๐ ชื่อ ‘ทุ่งชีวิต’ เป็นบทกวีขนาดยาว ๔๗ บท ที่เน้นไปทางท้องทุ่ง หัวไร่ปลายนา ภาพลงแขกปักดำทำนา เป็นภาพจำอันแสนงาม เสน่ห์อีกอย่างของหนังสือเล่มนี้คือ ความรักความผูกพัน คนในครอบครัว เครือญาติ และเพื่อนเก่าที่เล่นผจญภัยมาด้วยกันตอนเด็ก ๆ แม้ตัวละครผู้เล่าจะจากถิ่นฐานมาอยู่เมืองหลวงนานเพียงใดก็ไม่เคยลืมรากเหง้า ที่สำคัญกวีเชื่อมโยงธรรมชาติสู่ชีวิต เขียนสายลม แสงแดดได้เห็นภาพ มองต้นไม้ มด แมลง แล้วย้อนมองตนเอง ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าธรรมชาติสามารถเยียวยาจิตใจได้ และแฝงด้วยธรรมะ อ่านง่ายแต่งดงามได้พลังบวก
ท่ามกลางวิถีโลกพลิกผัน
ท่ามกลางวิถีโลกพลิกผัน รวมกวีนิพนธ์ของ วรวุฒิ ภักดีบุรุษ เป็นกลอนแปดจำนวน ๓๘ บท แบ่งเนื้อหาเป็น ๓ ภาค คือ ภาคแรก : วิถีของบ้านเก่า ภาคสอง : วิถีโลกพลิกผัน ภาคสาม : วิถีแห่งฝัน ณ ปัจจุบันขณะ ท่ามกลางวิถีโลกพลิกผัน เสนอสาระในภาพรวมกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลกซึ่งเกิดอยู่ตลอดเวลา โลกหมุนไปพร้อมความเจริญรุดหน้า ไม่ว่ามนุษย์จะหลับหรือตื่น แต่หากเป็นเพราะมนุษย์นั้นเองที่วิ่งแข่งกับโลกจนทำให้โลกพลิกผัน เกิดความผันผวนจนทิ้งคนบางคนไว้ข้างหลัง ติดกับค่ายกลของการเปลี่ยนแปลงจนหมดกำลังใจ ในท่ามกลางวิกฤตโลกเช่นนี้ กวีนิพนธ์ ท่ามกลางวิถีโลกพลิกผัน นำเสนอว่า มีแต่การกอดเกี่ยวไม่โดดเดี่ยวกันเท่านั้นที่จะเป็นทางรอดภายใต้เงาของแสงตะวันที่เป็นมูลเหตุในการหมุนของโลก ท่ามกลางวิถีโลกพลิกผัน นำเสนอในแบบนามธรรมพื้นฐาน เน้นการสื่อสารสำหรับคนทั่วไป จึงอ่านง่าย และมีความโดดเด่นในแง่กลอนตลาด ที่คนทั่วไปสามารถสัมผัสได้
จักรวาลในชานเรือน
จักรวาลในชานเรือน รวมกวีนิพนธ์ของ รังสิมันต์ จุลหริก เป็นหนังสือรวมบทกวีซึ่งแบ่งเนื้อหาออกเป็น ๔ ภาค โดยตั้งชื่อว่า ไป – มา – หา – สู่ บทกวีในแต่ละภาคต่างมีแนวคิดหลักร่วมกันคือ “ไป” คือการเดินทางไปในสังคมเมือง เพื่อหวนหาความสำคัญของบ้าน “มา” คือการกลับสู่ถิ่นที่อยู่เพื่อทำความเข้าใจตัวตน “หา” คือการพิจารณาหาความหมายของสิ่งที่เป็นไปในสังคม “สู่” คือการก้าวไปข้างหน้าเพื่อไปสู่จุดหมาย เนื้อหาทั้ง ๔ ตอนเรียงร้อยกันอย่างมีสัมพันธภาพ การประพันธ์มีความเรียบง่าย ใช้กลอนเป็นคำประพันธ์ดำเนินเรื่องทั้งหมดทำให้เกิดความต่อเนื่องสม่ำเสมอ แต่โดดเด่นด้วยการใช้ภาษาเล่าเรื่องทำให้เกิดจินตภาพแก่ผู้อ่าน ทั้งยังนำเสนอประเด็นในสังคมที่หลากหลายได้อย่างน่าสนใจ
บังฟ้าเบิกอบาย
บังฟ้าเบิกอบาย รวมกวีนิพนธ์ของ นายทิวา เป็นงานฉันทลักษณ์ในรูปแบบของกลอนสุภาพ แบ่งเป็นสองภาค ภาคแรก “ความจริงลวง” และภาคสอง “ความลวงจริง” ภาคแรก “ความจริงลวง” ถ่ายทอดเรื่องราวที่ได้พบเห็นและเป็นไปในสังคมปัจจุบัน เกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพเจ้า พระราหู อสุรกาย เวทมนต์คาถาและพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ในบท “สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของแม่บ้าน” “ราหูอมเรา” “มูเดินสายนอก” และ “มูเดินสายใน” ด้วยมุมมองและทัศนะที่หลากหลาย ภาคที่สอง “ความลวงจริง” มุ่งเน้นให้เข้าใจเห็นความเป็นมนุษย์ด้วยกัน พูดถึงความจริงที่อยู่คู่กับความลวงแต่มองไม่เห็น ด้วยท่วงทำนอง ลีลา อันเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของกวี ด้านกลวิธีการประพันธ์ กวีมีความเชี่ยวชาญในเรื่องของฉันทลักษณ์ การใช้ภาษา และการใช้สำนวนโวหารเชิงบรรยาย พรรณนา และเปรียบเทียบประชดประชันสอดแทรกด้วยอารมณ์ขัน เสนอประสบการณ์ร่วมไว้อย่างไร้ข้อจำกัด คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ บังฟ้าเบิกอบาย ของ นายทิวา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗
เรือนในรัก โลกในเรา
เรือนในรัก โลกในเรา รวมกวีนิพนธ์ของ พัฒนะ ปฐมพงศ์ แบ่งกลุ่มเนื้อหาในเล่มออกเป็น ๓ ภาค ประกอบด้วย ภาคที่ ๑ สายใยรักถักทอ “พ่อกับลูก” ถ่ายทอดความรู้สึกอันละเอียดอ่อนที่มีต่อลูกสาวและครอบครัว งดงามในความหมายแห่งสายใยรักและหนักแน่นด้วยอารมณ์อันคมเข้ม ภาคที่ ๒ ผูกพันในวิถีแห่งชีวิต บอกเล่าเรื่องราวในสังคม และสถานการณ์บ้านเมืองด้วยความอาทรห่วงใย เสนอรายละเอียดชวนพินิจผ่านชะตากรรมของคนตัวเล็กตัวน้อยที่ดิ้นรนอยู่ในสังคมปัจจุบันผ่านมุมมองเฉพาะตน และ ภาคที่ ๓ พินิจโลกทรรศน์สัจธรรม กวีเฝ้ามองความเป็นไปในธรรมชาติ ค้นหาปรัชญาชีวิต พร้อมไตร่ตรองมองตนเพื่อข้ามพ้นความทุกข์ ก่อนได้ข้อสรุปในท้ายที่สุดว่าท่ามกลางสภาพปัญหาสังคมปัจจุบัน ครอบครัวที่อบอุ่นด้วยความรักและความเข้าใจ ย่อมยังความสุขให้เกิดขึ้นได้ “รักเจ้าคือแรงผลักดัน ได้หอมแก้มขวัญ ร้อยพันภาพงามยามเยาว์ กรุ่นกลิ่นรักหอมห้อมเหย้า แม้โลกโศกเศร้า เรือนหอมกล่อมเราเจ้าเอย” (เรือนหอมเจ้าเอย : หน้า ๑๙๘) ด้านกลวิธีการประพันธ์ เรือนในรัก โลกในเรา มีลีลาภาษางดงาม นำเสนอมุมมองหลากหลาย หนักแน่นด้วยความหมายที่กลั่นกรองผ่านถ้อยคำ หลายบทหลายวรรคสำแดงฝีมือสื่อความรู้สึกชวนประทับใจไม่น้อย คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ เรือนในรัก โลกในเรา ของ พัฒนะ ปฐมพงศ์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗
อีกฟากด้านกระดานหก
อีกฟากด้านกระดานหก รวมกวีนิพนธ์ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ จำนวน ๕๖ สำนวน ใช้ฉันทลักษณ์รูปแบบกลอนเป็นหลัก และกลอนเพลงพื้นบ้าน รวมทั้งกาพย์ฉบังบางบท ความโดดเด่นของกวีนิพนธ์เรื่องนี้อยู่ที่ชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์มีความเชี่ยวชาญในการผสมผสานท่วงทำนองหลากหลาย ทั้งลีลาเพลงพื้นบ้านให้เข้ากับเนื้อหาและการใช้ถ้อยคำเข้าใจง่าย ลีลาสนุกสนานแม้จะนำเสนอเรื่องราวที่เป็นปัญหาให้ฉุกคิด ในขณะเดียวกันก็ชำนาญในการนำเสนอเนื้อหาเชิงธรรมะและศัพท์ทางศาสนาที่เป็นประเด็นคำถามเชิงปรัชญา บทกวีแต่ละบทจะมีกลวิธีการเล่าเรื่องแตกต่างกัน เช่น การเล่าเรื่องที่เป็นการตั้งคำถามแบบบทสนทนาเพื่อสื่อแนวคิดสำคัญแบบปุจฉา-วิสัชนา การนำเสนอเป็นเรื่องเล่าที่มีโครงเรื่อง ตัวละครและบทสนทนาง่าย ๆ แต่สื่อแนวคิดที่ลุ่มลึก แสดงถึงชั้นเชิงและความเชี่ยวชาญของผู้ประพันธ์ในการร้อยเรียงบทกวีที่มีเรื่องเล่าหลากหลาย เพื่อสื่อแนวคิดหลักของเล่มว่าหากเราคิดถึงความคิดที่ “อยู่อีกฟากกระดานหก” ซึ่งแตกต่างจากที่เราเคยเชื่อหรือคุ้นชินจะเป็นเช่นไร ด้านเนื้อหานำเสนอประเด็นปัญหาทั้งระดับประเทศและระดับโลก ความขัดแย้งและปัญหาของสังคมและการเมืองไทย โดยนำเสนอเป็นเรื่องเล่าที่ชวนติดตาม เช่น ในบท “ทางลม ผู้วางดอกไม้จันทน์” ซึ่งนำเสนอบทสนทนาทิศทางทางการเมืองและการขอคะแนนเสียงแม้ในงานศพ สงครามและความขัดแย้งในหลากหลายภูมิภาคของโลก เช่น ในบท “ดวงตาที่สาม เหนือลุ่มชลนากาฬทวีป” ที่นำเสนอว่ามนุษย์ยังคงเข่นฆ่ากันมิรู้จบสิ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากจะเสนอปัญหาระดับมหภาค ความโดดเด่นอีกประการหนึ่งคือผู้ประพันธ์นำรูปธรรมจากธรรมชาติเพื่อเสนอเนื้อหาที่หนักแน่นในเชิงมนุษยธรรม เช่น บทสนทนาของแม่ที่สอนให้ลูกปลูกผักในสวนเพื่อจะได้แบ่งปันให้เพื่อนบ้านซึ่งเป็นผู้อพยพ ในบท “แสงไฟในกระท่อม สุขแซมในเดียงสาราตรี” หรือในบท “บ้านในเวลา รังนกมิเคยกุมขังลูกนก” และบท “ทางสองแพร่ง ทางที่ใครไม่เลือก” เป็นต้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ อีกฟากด้านกระดานหก ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๗
ซ้อนซับกับโลกทึมเศร้า
ซ้อน ซับ กับ โลก ทึม เศร้า กวีนิพนธ์ของ บัญชา อ่อนดี เป็นบทกวีที่มีเนื้อหาเข้มข้น ด้วยนำเสนอภาพวิกฤตการณ์ร่วมสมัยที่เกิดขึ้นทั่วโลก เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า สงครามในประเทศยูเครน ความอดอยาก และผู้ลี้ภัยสงคราม ทั้งสะท้อนภาพคอร์รัปชัน และตั้งคำถามถึงจริยธรรมของนักการเมืองในประเทศ ผ่านลีลาการใช้คำที่กระชับ หนักแน่น มีการเลือกใช้คำทับศัพท์ร่วมสมัยซึ่งทำให้ผู้อ่านเกิดความรู้สึกร่วมและมีอรรถรสมากขึ้น “ซ้อน ซับ กับ โลก ทึม เศร้า” กล่าวถึงปัญหาที่ทับซ้อนอยู่บนพื้นที่ต่าง ๆ บนโลก ผู้เขียนเล่นคำว่า “โลกทึมเศร้า” และ “โรคซึมเศร้า” เพื่อสะท้อนปัญหาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองที่เกิดขึ้น และเป็น “ราก” ของความทุกข์ทนหม่นเศร้าของผู้คนในปัจจุบัน นอกจากการกล่าวถึงปัญหาอย่างหลากหลายและตรงไปตรงมา กวีนิพนธ์เรื่องนี้ เด่นด้วยการใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนเก้าในแต่ละวรรคที่ประกอบด้วยกลบท ทำให้เกิดจังหวะการอ่านที่สม่ำเสมอตลอดเรื่อง และสร้างอารมณ์ที่ต่อเนื่องให้กับผู้อ่านได้เป็นอย่างดี
การเวกครวญ
การเวกครวญ กวีนิพนธ์ของ พันดา ธรรมดา เป็นรวมบทกวีที่แต่งด้วยคำประพันธ์ที่ผู้แต่งเรียกว่า “กลอนด้น” หมายถึงกลอนที่ใช้ในการขับโนราหรือการเล่นหนังตะลุง เป็นกลอนแปดที่ไม่ได้เคร่งครัดจังหวะและสัมผัสในแบบสุนทรภู่ เนื้อหานำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตในบ้านเกิดท้องถิ่นใต้ ศิลปะการแสดงโนรา ชีวิตในครอบครัว วิถีชิวิตพื้นถิ่น ประเพณีที่มีพุทธศาสนาเป็นแนวทางและการอยู่ร่วมกับธรรมชาติรวมทั้งบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่นใต้ในสังคมร่วมสมัย ด้านศิลปะการประพันธ์มีความโดดเด่นด้วยการประสานศิลป์ ใช้ท่วงทำนองของศิลปะการแสดงโนรามานำเสนอในรูปแบบกวีนิพนธ์อย่างมีชั้นเชิงทางศิลปะ การใช้ภาพพจน์เปรียบเทียบท่วงทำนองของเนื้อหาแต่ละตอนเหมือนเสียงขับขานและลีลาของนกที่มีในพื้นถิ่น โดยตั้งชื่อแต่ละภาคว่า การเวกครวญ กาเหว่าหวน วิมานสาลิกาและน้ำตานกเปล้า ใช้ท่วงทำนองการเล่าเรื่องเหมือนการขับขานโนรา แสดงถึงศักยภาพในการผสมผสานขนบการแสดงพื้นบ้านกับเรื่องเล่าในท้องถิ่นได้อย่างมีวรรณศิลป์ แสดงให้เห็นภูมิธรรมแห่งพื้นถิ่นด้วยความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลยกย่องการสืบสานขนบวรรณศิลป์ท้องถิ่น ให้ พันดา ธรรมดา ผู้ประพันธ์ การเวกครวญ เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยความวิริยะอุตสาหะในการสืบสานภาษาและขนบวรรณศิลป์พื้นถิ่นของไทย
มิปรารถนาเป็นอื่น
มิปรารถนาเป็นอื่น รวมกวีนิพนธ์ของ กวิสรา ม่วงงาม แบ่งกลุ่มเนื้อหาในเล่มออกเป็น ๔ ภาค ประกอบด้วย “ภาคแรก ดิน” “ภาคสอง น้ำ” “ภาคสาม ลม” และ “ภาคสี่ ไฟ” ใช้ท่วงทำนองการเล่าเรื่องแบบ Ballad จากชีวิตประจำวันของกวีผ่านวิถีของชาวสวนผู้เปี่ยมสุข สุขเพราะการค้นพบว่าวิถีกวีและการเป็นชาวสวนล้วนเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน การดูแลต้นไม้และสัตว์เลี้ยงแม้จะเป็นงานหนักแต่ก็ช่วยกล่อมเกลาจิตใจให้รับรู้ถึงความละเอียดอ่อนของชีวิตไม่ผิดกับการเขียนบทกวี ผ่านวิถีการทำงานที่อบร่ำด้วยความรักเมื่อได้ประจักษ์ถึงความทุกข์ที่ไม่จีรังยั่งยืน กวีเขียนถึงบรรดาสัตว์เลี้ยงของครอบครัวได้อย่างมีชีวิตชีวา โดยเฉพาะเจ้าลูกม้าขี้อ้อนที่ชื่อ “บัวหลาด” ท่ามกลางบรรยากาศแมกไม้นานาพรรณของบ้านสวน กวียังย้อนความทรงจำถึงช่วงวัยเยาว์อย่างเข้าใจชีวิต เพื่อให้ผู้อ่านร่วมซึมซับประสบการณ์ในอดีตเทียบทาบกับความตระหนักรู้ในปัจจุบัน นับเป็นบทกวีที่เปี่ยมด้วยความหวังและกำลังใจอย่างมีนัยสำคัญ ด้านกลวิธีการประพันธ์ มิปรารถนาเป็นอื่น เป็นงานสร้างสรรค์ที่มีลีลาภาษาเรียบง่ายแต่หนักแน่นด้วยความหมายที่กวีกลั่นออกมาจากใจ ผ่านการกรองคำตามลีลาเฉพาะตนที่ไม่ได้เดินตามขนบวรรณศิลป์ไปทุกวรรค แต่มิปรารถนาเป็นอื่น จึงอาจเป็นได้ทั้งข้อด้อยและข้อเด่นในขณะเดียวกัน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี มิปรารถนาเป็นอื่น ของ กวิสรา ม่วงงาม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
ดินแดนบันไดงู
ดินแดนบันไดงู ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม เป็นรวมบทกวีที่แสดงให้เห็นถึงโลกอันซับซ้อน ที่มนุษย์พยายามสร้างเงื่อนไข แล้วดำเนินชีวิตตามนิยามความคิด เพื่อเดินทางไปยังโลกอันแสนไกล โดยคิดว่านี่คือการขับเคลื่อนความจริงท่ามกลางความซับซ้อนและยอกย้อนตลอดเวลา ผู้เขียนได้แบ่งบทกวีออกเป็น ๓ ภาค คือ ชิ้นส่วนของประเทศ พาเหรดซิมแปนซี และ ที่อยู่ของขอบฟ้า แต่ละภาคใช้ความเปรียบเหนือจริง ของจินตนาการ ประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ผ่านบทกวีฉันทลักษณ์ที่ร้อยเรียงสัมผัสกันทุกบท ในภาค “ชิ้นส่วนของประเทศ” บอกถึงการประกอบสร้างสังคมซึ่งเดินหน้าด้วยความรู้และความเชื่อ ถอยห่างจากรกรากเดิม เดินผ่านเขาวงกตที่สร้างขึ้น เป็นการสร้างบ้านแปงเมืองเข้าสู่กับดักในท้องงูที่กลืนกินผู้คนเข้าไปในกลไกแห่งงูกล ขบวนมนุษย์ที่เป็น “พาเหรดของซิมแปนซี” ในภาคต่อมา อันเป็นขบวนของมนุษย์ที่เชื่อมั่นในความรู้ มีโลกกว้างแห่งจินตนาการอยู่ในบ้านจริงอันคับแคบ โลกที่นับถือความรู้และตรรกะจึงมองเห็นขอบฟ้าเพียงที่ประจักษ์ จึงได้แต่บูชาสิ่งปลอมเหล่านั้น ในภาค “ที่อยู่ของขอบฟ้า” หากกระโจนออกจากภาพลวงอันปรากฏอยู่ในกระจก เพื่อเต้นรำกับสายลม เห็นสายฝนที่ตกลงมาเป็นเพลงเศร้า เห็นแดดเช้าพร่ำรักกับแมวดำ ฯลฯ อันเป็นเทคนิควิธี “เหนือจริง” เหล่านี้แล้ว จะพบว่าแท้จริงแล้วมนุษย์ในดินแดนแห่งนี้เหมือนกำลังเล่มเกมบันไดงู เพื่อเดินทางไปพิสูจน์ที่อยู่ของขอบฟ้า ต่างล้วนมีโอกาสก้าวกระโดดลัดชั้นสูงขึ้นหรืออาจตกชั้นลงมาเริ่มใหม่ได้ตลอดเวลา ดินแดนบันไดงู งดงามด้วยองค์ประกอบทางวรรณศิลป์ และการสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการ ทำให้เกิดการตีความได้ลุ่มลึกหลากหลาย คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี ดินแดนบันไดงู ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม
เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม รวมบทกวีของ นิตา มาศิริ แบ่งเนื้อหาสาระเป็น ๖ ตอน ได้แก่ มือที่จับดินสอเขียนกอไก่ มนุษย์คือสัตว์ทดลองของพระเจ้า เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม ดูสิดวงใจของใครหนอ สนิมบนขวานและบ้านของเรา และสายธารที่ท้นหลั่งกำลังใจ โดยภาพรวมของทุกตอน เนื้อหาสาระง่ายงาม มีศิลปะในการใช้ภาษา เป็นเรื่องราวการผ่านพบปรากฏการณ์ทางสังคมและธรรมชาติ ทำให้เกิดความรู้สึกและเห็นภาพได้กระจ่างชัด เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม เป็นกวีนิพนธ์ที่มีคุณค่าและเชิงชั้นทางวรรณศิลป์ รูปแบบฉันทลักษณ์ใช้กลอนแปดเป็นหลัก แทรกด้วยกาพย์ยานี โดดเด่นด้วยกวีโวหาร เลือกสรรคำและภาพพจน์มาใช้อย่างเหมาะสม มีความคิดสร้างสรรค์ สร้างอารมณ์สะเทือนใจ เช่น ฉันกับเรือใบในมหานคร หน้ากากสีทอง นิทานดวงดาวและข่าวคราวของสงคราม เป็นต้น ด้วยการใช้จินตนาการ พร้อมถ้อยคำอย่างมีชั้นเชิง ผสมผสานความสุข ความเศร้าไว้ด้วยกันอย่างลงตัว แต่น่าค้นหาข้อความจริงที่ผู้เขียนซ่อนไว้ ดังตัวอย่างจาก เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม “บนดาวดวงเดียวกัน สัมพันธภาพ เคยไหมทาบทอแสงฉายแรงหวัง ไปบนผืนแผ่นดินถิ่นหยัดยัง ท่ามกลางความเกลียดชังที่ฝังใจ ดาวดวงที่ฉันอยู่ …ท้นรู้สึก ว่าลึกลึก คืนวันฉันหวั่นไหว โอบกอดความปวดร้าวมายาวไกล ณ แดนดินยากไร้…และไกลจันทร์…” หรือในบท โลกวันใหม่ ที่ว่า “ดาวจะอยู่อย่างไรหากไร้ฟ้า ผู้โอบอุ้มชีวาแห่งสมัย หนอ, นิทานดวงดาวอันยาวไกล บอกว่าโลกวันใหม่ – ไม่เหมือนเดิม” คณะกรรมการจึงมีมติให้รวมบทกวี เราอยู่บนดาวดวงเดียวกันไหม ของ นิตา มาศิริ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๖
ดอย ฟ้า นา เเม่
“ดอย ฟ้า นา แม่” กวีนิพนธ์ของ “วิลักษณ์ ศรีป่าซาง” เนื้อหาเข้มข้นด้วย บรรยากาศเมืองเหนือ อันประกอบไปด้วยความเป็น “คนเมือง” ที่ยัง “อู้กำเมือง” ด้วยความ ภูมิใจ เปี่ยมด้วยบรรยากาศ แสง สี เสียง ประเพณี ที่ชวนสะเทือนไหวในอารมณ์ด้วยคม คำแห่งคำเมืองที่ปรากฏอยู่ในเนื้อสาร กวีสามารถเก็บบรรยากาศ “ล่วงสมัย” มาสอดใส่ ในเนื้อถ้อยสอดร้อยไปกับบรรยากาศ “ร่วมสมัย” ได้อย่างกลมกลืน กอปรด้วยอลังการ แห่งพลังภูมิปัญญาภาษาถิ่น และรูปแบบฉันทลักษณ์อันหลากหลาย แสดงให้เห็นความช่ำชอง ในการใช้คำอย่างมีชั้นเชิง เหมาะงามตามรูปแบบฉันทลักษณ์ที่เลือกใช้ในแต่ละช่วง โดยเฉพาะ ฉันทลักษณ์ประเภทโคลง กวีอวดฝีมือช่างสลักคำได้อย่างงดงาม อลังการ แสดงให้เห็นภูมิธรรมแห่งพื้นถิ่น ด้วยความภูมิใจในรากเหง้าของตน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลยกย่องการสืบสานขนบวรรณศิลป์ท้องถิ่น ให้ วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้ประพันธ์ “ดอย ฟ้า นา แม่” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่อง ชมเชยความวิริยะอุตสาหะในการสืบสานภาษาและขนบวรรณศิลป์พื้นถิ่นของไทย
ดวงตากวี
กวีนิพนธ์ชุด ดวงตากวี ของ รินศรัทธา กาญจนวตี เป็นงานฉันทลักษณ์สร้างสรรค์ ในรูปแบบกลอนสุภาพ เนื้อหาแบ่งเป็นสามภาค ภาคแรก ‘โลกภายใน : มองลึกเข้าไปในใจนั้น’ ภาคสอง ‘โลกภายนอก : มองออกไป ในความจริง ในความฝัน’ และ ภาคสาม ‘โลกของเรา : เธอบอกฉัน ฉันบอกเธอ’ ภาคแรก ‘โลกภายใน : มองลึกเข้าไปในใจนั้น’ กวีชี้ให้เห็นถึงคุณค่าหนังสือ ความ มหัศจรรย์ของการอ่านและพลังของบทกวี อีกด้านหนึ่งกวีได้กล่าวถึงการเขียนจากมุมของ ผู้บกพร่องทางสายตา แต่เขียนขึ้นจากความรู้สึก สัมผัสด้วยใจ… “บทกวีคือดวงตาข้าพเจ้า เส้น แสง เงา โค้ง ขอบ ประกอบสร้าง ภาพ เสียง คำ ทุกบทกำหนดวาง ลึก ไกล กว้าง เกินกว่าสายตามอง” ขณะเดียวกันกวีพาผู้อ่านย้อนรำลึกความทรงจำในวัยเยาว์อันบริสุทธิ์และเปี่ยมด้วยจินตนาการ ทำให้เราเห็นภาพเหล่านั้นแจ่มชัด ตลอดจนกล่าวถึงความรักที่แม้ว่าถ่ายทอดด้วยลีลากลอน แต่ค่อนข้างเข้าถึงอารมณ์ สัมผัสได้ถึงความรู้สึกและความงามทางวรรณศิลป์ได้ไม่ยาก… “หยาดน้ำค้างหยดค้างบนยอดหญ้า หยาดน้ำตาหยดต้องทั้งสองแก้ม หากแม้นดาวส่องจับแสงวับแวม คงแต่งแต้มภาพเลือนได้เหมือนใจ” ภาคสอง ‘โลกภายนอก : มองออกไป ในความจริง ในความฝัน’ ว่าด้วย ความเป็นไปของสังคม อุดมการณ์ การเมือง สงคราม ความมีน้ำใจ ความยิ่งใหญ่และ ความงามของธรรมชาติ รวมถึงบุคคลต้นแบบ เช่น นักคิด นักเขียน นักต่อสู้ นักอนุรักษ์ กวีสามารถสื่อออกมาได้ ประทับใจและสะเทือนใจ แม้บางสำนวนดูเหมือนเป็นเรื่องส่วนตัว แต่มีมิติทางสังคมทับซ้อนอยู่เสมอ ภาคสาม ‘โลกของเรา : เธอบอกฉัน ฉันบอกเธอ’ ว่าด้วยความหวัง กำลังใจ รักศรัทธาต่อสิ่งต่าง ๆ ตลอดถึงคุณค่าความงามมวลพฤกษา ความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ ทั้งยังชี้ให้เห็นว่ามนุษย์ใช้ชีวิตร่วมกัน มีมุมมองต่างกัน แต่ควรมองต่างอย่างมีศิลปะ ในด้านรูปแบบ กวีมีความช่ำชองในเชิงฉันทลักษณ์ เมื่อรวมกับเสน่ห์ในการใช้ สำนวนโวหาร มีจินตนาการและอารมณกวีที่ประณีต ทำใหเห็นความงามของ “ดวงตากวี” คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี “ดวงตากวี” ของ รินศรัทธา กาญจนวตี ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๕
นาฏกรรมจำนรรจ์
หนังสือกวีนิพนธ์ นาฏกรรมจำนรรจ์ ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ รวมผลงานร้อยกรอง ประกอบด้วยฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก สลับด้วยกาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ และกาพย์หัวเดียว กวีมีประสบการณ์ในการใช้ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี แม่นยำ ชัดเจน มีลีลาน่าสนใจ เนื้อหาสาระอ่านแล้วได้ข้อคิด แฝงด้วยปรัชญาชีวิต เช่น “ก็ดูเถิดดูโลก กี่สับโขกสะทกทึ้ง กี่มือที่ยื้อดึง มิได้ดวงแก้วลดา กี่พลิกแผ่นดินผลาญ ประหัตประหารและโหยหา กี่ตื่นกี่ลืมตา แล้วนิทราในทุกข์ระทม” กวีสามารถใช้ฉันทลักษณ์ได้หลากหลายรูปแบบ มีสัมผัสเชื่อมร้อยกระชับรัดกุมระหว่าง บทตลอดทั้งเล่ม มีความไพเราะ นำเสนอแนวคิดในลักษณะกระแสสำนึกเพื่อแสวงหา สาระของชีวิต โดยใช้กวีวัจนะเป็นสื่อ ด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์มีการใช้ภาพพจน์ การประดิษฐ์คำขึ้นใช้ใหม่ด้วยศิลปะการนำเสนอที่มีอัตลักษณ์เฉพาะตน คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี นาฏกรรมจำนรรจ์ ของ ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๕
จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้
รวมบทกวี จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ กวีนิพนธ์จากบทสนทนาแห่งชีวิต ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ มีความโดดเด่นด้วยวรรณศิลป์ที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึก สะเทือนอารมณ์ ความเรียบง่ายของทั้งรูปแบบที่ใช้กลอนสุภาพ ภาษาที่เข้าใจง่ายรวมทั้ง ภาษาในบทสนทนา สื่อภาพและเรื่องเล่าของชีวิตผู้คนในสังคมร่วมสมัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดของโควิด-๑๙ ด้วยลีลาที่เฉียบคมและบาดลึก ผู้ประพันธ์ ให้ความสำคัญกับปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ในหลากหลายมิติ ทั้งใน ครอบครัวที่ฐานะดี ด้วยความรักและความห่วงใยของพ่อแม่ที่กลับกลายเป็นการไม่เปิด โอกาสให้เด็กได้เลือกเอง ในขณะที่เด็กในครอบครัวผู้ยากไร้กลับไม่มีทางเลือกสำหรับเด็ก การใช้เรื่องราวของเด็กในรายการทีวีเพื่อเพิ่มยอดผู้ชม เรื่องของเด็กหลังห้องที่ครูอาจไม่ได้ ใส่ใจ และเรื่องของเยาวชนจากต่างจังหวัดที่ประสบปัญหาในการใช้ชีวิตในเมืองหลวง จนต้องเลือกหาทางออกอันน่าสลดใจ การนำเสนอภาพชีวิตจากหลากหลายมุมในสังคม ประกอบเสียงสนทนาในลีลาและท่วงทำนองกระชับ หนักแน่น ทำให้บทกวีนำเสนอปัญหา ความทุกข์ยากที่หลากหลายอย่างมีพลัง ในขณะเดียวกันก็สื่อแนวคิดเข้มข้นของความเหลื่อมล้ำ ในสังคมได้อย่างคมคาย เนื้อหาของรวมบทกวี ประกอบด้วย ๔ ภาค คือ ภาคหนึ่ง Pandemic: ยุคสมัย แห่งการแพร่พันธุ์ภาคสอง Romanticize: เราทำให้ทุกอย่างโรแมนติก ภาคสาม จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ และภาคสี่ ไปสู่อ้อมกอดอันเป็นนิรันดร์ ด้านกลวิธีทางวรรณศิลป์ ผู้ประพันธ์สามารถใช้กลอนสุภาพเล่าเรื่องได้อย่าง หลากหลายลีลาและอารมณ์ นำเสนอปัญหาสังคมร่วมสมัยยุคโรคระบาดด้วยท่วงทำนอง เสียดสีอย่างเฉียบคมและขันขื่น เช่น มี “โรคชักหน้าไม่ถึงหลัง” “โรคไร้ความหวังวางจำหน่าย” แถม “โรคซึมเศร้า ซังกะตาย” “คนละครึ่ง” ซื้อขายได้คล่องตัว “โรค เรา ไม่เท่ากัน” แพร่พันธุ์ง่าย จุดส่งเสริมการขายกระจายทั่ว “โรคเหลื่อมล้ำระยะสุดท้าย” ขายถูกชัวร์ “โรคเฉยชากับความชั่ว” ขายทั่วไป… ทั้งนี้ แม้ผู้ประพันธ์จะนำเสนอปัญหาเลวร้ายที่หลากหลายในสังคมร่วมสมัย แต่ก็ไม่ได้ เคียดแค้นชิงชังและสิ้นหวัง ด้วยน้ำเสียงของแม่ เธอยังคงเห่กล่อมลูกน้อยให้มีความหวัง แม้จะตระหนักว่าโลกที่ลูกน้อยจะเติบโตไปจะพบความโหดร้ายเพียงไร “ลูกเอ๋ย…เช่นนี้แหละชีวิต เจ้าอย่าพร่ำพินิจเพียงบาดแผล ศิโรราบซ้ำซ้ำ-ความอ่อนแอ ลั่นกุญแจคุมขังความหวังใด เจ้าจงยืมหัวใจวัยทารก มาเต้นในหัวอกที่หมกไหม้ ยืมแววตาวัยเยาว์อันวาวไว “ชอบ” อาจหลับใหลอยู่ใน “ชัง” ด้วยคุณลักษณะโดดเด่นด้วยวรรณศิลป์ที่เรียบง่ายแต่ลุ่มลึกและเฉียบคมดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการจึงมีมติให้หนังสือรวมบทกวี จนกว่าโลกจะโอบกอดเราเอาไว้ ของ ปาลิตา ผลประดับเพ็ชร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปี พุทธศักราช ๒๕๖๕
ฮ่วงเฮ้า
กวีนิพนธ์เรื่อง “ฮ่วงเฮ้า” ผู้ประพันธ์เรียกผลงานชุดนี้ว่าเป็น “คันธชาตินิพนธ์ภาษาไทยถิ่นอีสาน” ของ คำเมือง ราวะรินทร์ เป็นรวมบทกวีที่ประพันธ์ด้วยภาษาไทยถิ่นอีสาน ตามขนบวรรณศิลป์ดั้งเดิมของวัฒนธรรมไทยอีสาน นำเสนอภาพวิถีชีวิต ประเพณีและวัฒนธรรมของชาวไทยพื้นถิ่นที่ผูกพันกับธรรมชาติ ด้วยลีลาทางวรรณศิลป์ โดยนำคำต่าง ๆ มาเรียงร้อยตามลำดับอักษร พร้อมอธิบายศัพท์อย่างละเอียด นอกจากนี้ ยังจดจารกวีนิพนธ์นี้ด้วยอักษรธรรมแบบอีสาน ทำให้ผู้อ่านได้เรียนรู้วัฒนธรรม วิถีชีวิต พร้อม ๆ ไปกับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาถิ่น ฉันทลักษณ์โบราณที่นับวันจะถูกลืมและสูญหายไป จึงกล่าวได้ว่าผู้ประพันธ์มีความวิริยะอุตสาหะและปณิธานแรงกล้าในการสืบสานมรดกวัฒนธรรมทางหนังสือที่กำลังจะสูญหายไป คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติมอบรางวัลเสริมสร้างกำลังใจให้ คำเมือง ราวะรินทร์ ผู้ประพันธ์ “ฮ่วงเฮ้า” เพื่อสนับสนุน ให้กำลังใจและยกย่องชมเชยความวิริยะอุตสาหะในการสืบสานภาษาและขนบ วรรณศิลป์พื้นถิ่นของไทย
หัวใจป่า
หนังสือกวีนิพนธ์ “หัวใจป่า” ของ พล พิมพ์โพธิ์ เป็นผลงานรวมบทกวีนิพนธ์ใช้คำประพันธ์ ประเภทกลอนสุภาพเป็นหลัก มีกาพย์ยานีแทรกเล็กน้อย แบ่งเป็น ๓ ตอนด้วยกัน คือ ตอนที่ ๑ ป่าไม้ ประกอบด้วยผลงาน ๑๔ สำนวน พูดถึงเรื่องราวธรรมชาติของแมกไม้มวลดิน น้ำและป่า สวนดอกไม้ ชีวิตสัมพันธ์ของบ้าน คน และป่าไม้ “คนอยู่อิงอาศัยเพราะได้ป่า สัตว์นานาก็พึ่งพิงอิงอาศัย ป่าคือบ้านทุกชีวิตทุกจิตใจ หมู่บ้านใหญ่รวมร่วมผูกพัน ใครอยู่ป่าคือเจ้าถิ่นดินแดนป่า ต้องพิทักษ์ต้องรักษาต้องสร้างสรรค์ เสือไก่หมีชะนีค่างไม่ต่างกัน คือเจ้าบ้านทั้งนั้นของป่านี้” สำนวนโวหารเรียบง่าย ไพเราะงดงาม ตอนที่ ๒ ป่าเมืองประกอบด้วยผลงาน ๙ สำนวน กล่าวถึงชีวิตที่สัมพันธ์อยู่ในชุมชนเมือง “หากจะลองไถ่ถามสนามหญ้า จะแบ่งมาก็ไม่เหลือสักเนื้อที่ ข้อจำกัดข้อเก่าที่เรามี จึงถูกตีกรอบกฎกำหนดชัด แต่ในกรอบขอบคั่นอันคับแคบ ดูเหมือนแทบย่ำแย่เพราะแออัด กำแพงรั้วหลังโรงเรียนติดรั้ววัด ยังพอจัดพื้นที่สีเขียวเติม” ฉันทลักษณ์ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ เนื้อหาสาระเหมาะสมกลมกลืน การใช้ถ้อยคำได้อรรถรสชัดเจน มีบทเด่น เช่น เงินทองของแม่ อาณาจักรแห่งลมหายใจ เป็นต้น ตอนที่ ๓ ป่าใจ ประกอบด้วยผลงาน ๑๕ สำนวน เป็นการบอกเล่าจิตสำนึกภายในของกวี “ปลูกต้นจิตสำนึกให้ลึกสุด เริ่มต้นที่จิตมนุษย์ใช่ใครอื่น เพื่อให้พอต่อหวังอย่างยั่งยืน ก่อนขมขื่นเกาะกินแผ่นดินใจ เอาน้ำใจน้ำรินแผ่นดินชุ่ม ความอาทรปกคลุมต้นกล้าใหม่ รานเหยียดหยัดต้นทะยานแผ่ ก้านใบ แย้มดอกไม้ช่อผลบนลานรัก” มีอีกหลายบทกลอนที่อ่านแล้วทำให้รู้สึกได้ว่า “โลกเรานั้นมีสีทอง คืออาทิตย์ฉายส่องจากห้องสวรรค์ ปลุกชีวิตให้ฟื้นตื่นชีวัน จุดไฟฝันทอประกายสายลมบน” สามารถใช้รสคำรสความได้อย่างเหมาะสมพอสมควร คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “หัวใจป่า” ผลงานของ พล พิมพ์โพธิ์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
เรื่องจริงจริง ในโลกลวงลวง
รวมบทกวี “เรื่องจริงจริง ในโลกลวงลวง” ของ วรภ วรภา เป็นรวมบทกวีที่มีเนื้อหาหลากหลาย จัดแบ่งเป็น ๒ กลุ่ม คือ “ในฤดูผลิบาน” และ “ผู้คนบนเฟซบุ๊ก” บทกวีในกลุ่ม “ในฤดูผลิบาน” นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของผู้คนในสังคมที่ต้องต่อสู้ชีวิตในบริบทและท่วงทำนองที่หลากหลายแตกต่าง ผ่านทั้งช่วงเวลาผลิบานและอุปสรรคปัญหาที่ต้องเผชิญ ประหนึ่งเป็น “นักรบชีวิต” บทกวีมีทั้งขนาดสั้นและบทกวีชุดซึ่งเป็นเรื่องเล่าขนาดยาวของชีวิตในช่วงเติบโตและพลิกผัน เช่น บทกวีชุด “พราวพริ้งแห่งหญิงสาว” และชุด “ตรุษ” ซึ่งแสดงความยึดมั่นในประเพณีแม้ต้องเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ ภาพชีวิตหลากหลายมิติทั้งในครอบครัว สังคมไทยและสังคมโลกทำให้บทกวีมีความหลากหลายทางอารมณ์ทั้งสดใสในวัยดรุณ เข้มข้นในยามวิกฤต รวมทั้งชั้นเชิงกลอนและการเล่นคำ เช่นเรื่องเล่าในครอบครัวชุด “สามีปฏิวัติ” นำเสนอด้วยท่วงทำนองสนุกสนาน สร้างอารมณ์ขัน โดยใช้วลีและถ้อยคำร่วมสมัย เรื่องเล่าเหตุการณ์ในสังคมภาคใต้ ในชุด “บันทึกถึงเทพา” และสถานการณ์ความขัดแย้งในโลก ในชุด “ยังอาเพศนะปาเลสไตน์” เป็นต้น บทกวีในกลุ่ม “ผู้คนในเฟซบุ๊ก” นำเสนอชีวิตของผู้คนในสังคมโลกเสมือนที่ทั้งให้ภาพความเป็นไปและวิพากษ์ความหมายในเบื้องลึกของตัวตนผู้คนในโลกออนไลน์ ลีลากลอนล้อเล่นกับภาษาที่ใช้คมคาย สนุกสนาน ลักษณะเด่นของบทกวีของ วรภ วรภา คือการผสานขนบวรรณศิลป์แบบเดิมกับความเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล ทั้งภาษา และการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์ โดยให้ความหมายระดับลึกของปรากฏการณ์เหล่านั้น แม้ตระหนักว่าชีวิตล้วนมีอุปสรรคและปัญหาแต่ก็ยังคงมีความหวังและกำลังใจให้สู้ชีวิตต่อไป เพียงเจ้ารู้พอใจในจุดหนึ่ง เพียงเจ้าซึ้งสมดุลแห่งคุณค่า เพียงเจ้าเห็นแจ้งชัดในปรัชญา ใดหมายว่าพอเพียง…ก็เพียงพอ “เพียงเจ้ารู้พอเพียง-ก็เพียงพอ” คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้รวมบทกวี “เรื่องจริงจริงในโลกลวงลวง” ของ วรภ วรภา ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
ประเทศในเขาวงกต
กวีนิพนธ์ชุด “ประเทศในเขาวงกต” ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ แบ่งเนื้อหาเป็น ๔ ภาค ภาคแรก :ฟ้าค่ำนี้อาจสีเศร้า ภาคสอง : บนบรรทัดประวัติศาสตร์ ภาคสาม : ประวัติศาสตร์กำลังเดินทาง ภาคสี่ : ขอบฟ้าอนาคต ภาพรวมว่าด้วยสังคม การเมือง เหตุการณ์ความรุนแรง ปัญหาความขัดแย้งทางความคิด ความเชื่อ ปัญหาเหลื่อมล้ำ ฯลฯ ลักษณะเด่นอยู่ที่ความหนักแน่น เข้มข้นในเนื้อหาสาระ ใช้คำเท่าที่จำเป็น ทุกคำจึงมีความหมาย ทั้งที่ใช้คำธรรมดาสามัญ แต่เมื่อใช้อย่างถูกกาลเทศะ ทำให้ลงตัวงดงาม ทรงพลัง และเนื่องจากรวมบทกวีเล่มนี้ไม่เคร่งครัดฉันทลักษณ์ กวีอาศัยความจัดเจนทางภาษา จังหวะจะโคน จึงเห็นความโดดเด่นด้านชั้นเชิงวรรณศิลป์แจ่มชัด ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งของ “ประเทศในเขาวงกต” คือความคิดที่แหลมคม อาจเรียกได้ว่าคมคำ คมความคิด และสำคัญสุด วรรณกรรมเล่มนี้มิใช่แค่รายงานสถานการณ์ หรือมิเพียงสะท้อนว่าทุกองคาพยพของประเทศกำลังตกอยู่ในเขาวงกต กวีได้พยายามเสนอทางออก ชี้ประวัติศาสตร์ให้ทบทวนบทเรียนเพื่อก้าวสู่เส้นทางใหม่ ๆ หลายช่วงฉายภาพและตอกย้ำให้เห็นปัญหา แล้วเปิดปลายให้ผู้อ่านนำไปขบคิดต่อ ขณะที่หลายชิ้นงานตั้งคำถามต่อสังคมแบบคมคายเป็นการกระตุกกระตุ้นให้ตื่นจากวังวนเดิม ๆ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผลงานภายในเล่มหลายสำนวน เขียนขึ้นตามวาระต่าง ๆ แต่มีนัยกว้างออกไป ไม่จำกัดเฉพาะวาระพิเศษนั้น ๆ นี่คือเสน่ห์ และถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของพัฒนาการด้านกวีนิพนธ์ คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือรวมบทกวี “ประเทศในเขาวงกต” ของ ศิริวร แก้วกาญจน์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๖๔
บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน
หนังสือกวีนิพนธ์ชุด “บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน” ของ “นิตา มาศิริ” เป็นงานฉันทลักษณ์ที่สร้างสรรค์ในรูปแบบกลอนแปด ผู้เขียนได้แยกย่อยเนื้อหาเป็น ๖ ภาค ดังนี้ หากจะเรียกเธอว่าความรัก, แว่วเสียงนกที่จรจากรัง, ไม่มีเสียงเพลงในคืนอิเล็กโทนถูกเผาไฟ, เหลือความรักบ้างไหมแผ่นดินนั้น, บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน และ คิดถึงครึ่งชีวิต ตามลำดับ กวีนิพนธ์เล่มนี้โดดเด่นที่เนื้อหาและอารมณ์ความรู้สึก ซึ่งแสดงออกถึงความรักความผูกพัน รำลึกถึงคืนวันเก่า ๆ หอมกลิ่นอดีตในวัยเด็ก ตลอดจนเรื่องราวปัจจุบัน รวมทั้งการพลัดพราก อารมณ์ความรู้สึกเหล่านี้ผู้เขียนได้ฉายภาพ ‘พื้นที่-ทุ่ง-ทาง’ บรรยากาศในชุมชนและ ‘บ้าน’ มาเป็นฉากเดินเรื่อง โดยมีความรักความผูกพันต่อ ‘พ่อ-แม่’ เป็นองค์ประกอบสำคัญ… “หากจะเรียกสิ่งนั้นว่าความรัก ที่พาเรามารู้จักและพบหน้า แก้วกาแฟมื้อเช้า ข้าว ผัก ปลา ที่มิเคยตีราคา ค่าหัวใจ” และบางบทในชิ้นงาน ‘เธออยู่บนชิงช้าสวรรค์’ ซึ่งสูญเสียพ่อ… “โลกหมุนเร็วเกินไปไหมเธอว่า? ชิงช้าที่มาชิง-ยิ่งหม่นหมอง ราวโลกเงียบนิ่งงัน-ฝันตระกอง กอดเปลวไฟสีทองที่ลามเลีย ฝุ่นเถ้าแหละเท่ารักที่รวมไว้ ทั้งคือลมหายใจผู้สูญเสีย เคยโอบอุ้มพะเน้าพะนอเคยคลอเคลีย อิงไออุ่นวนเวี่ยลงเรี่ยวาง” ส่วนเครื่องมือที่ใช้สื่อสาร แม้ว่าบางสำนวนอาจยังไม่สมบูรณ์ด้านฉันทลักษณ์ แต่โดยภาพรวมถือว่าเป็นหนังสือที่มีพลัง (กวี) มีภาษาง่าย ๆ แต่งดงามอีกเล่มหนึ่ง ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้กวีนิพนธ์ชุด “บางใครอาจลืมทางกลับบ้าน” ของ “นิตา มาศิริ” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป
หนังสือกวีนิพนธ์ “ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป” ของ “สุธีร์ พุ่มกุมาร” ผลงานร้อยกรองจำนวน ๗๘ สำนวน รวม ๔๗๓ บท ประกอบด้วยฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก มีโคลงสุภาพ กาพย์ยานี ๑๑ กาพย์ฉบัง ๑๖ กลอนเพลงพื้นบ้านแทรกอยู่จำนวนหนึ่ง ผู้เขียนมีประสบการณ์ในการใช้ฉันทลักษณ์เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อให้ได้บรรยากาศตามเนื้อหาสาระ โดยใช้ฉันทลักษณ์ได้ครบถ้วนตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด มีความไพเราะของถ้อยคำที่นำเสนอ เช่น คนปลูกต้นไม้ในสวนสาธารณะของหมู่บ้านจัดสรร การเดินข้ามทางม้าลายของหญิงชรา ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป กิงก่องแก้ว : ร้อยเกี่ยวเหนี่ยวฝัน ด้วยมือของฉันและมือของเธอ เนื้อหาและรูปแบบเหมาะสมกลมกลืน กระชับรัดกุม มีสาระในด้านความรู้ ความคิด ชัดเจน ใจความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การใช้ถ้อยคำถูกต้องตามหลักภาษาไทย ทั้งในด้านการสะกดคำ และการสื่อความหมาย มีความเหมาะสมกับเนื้อหา ใช้คำให้อารมณ์และความรู้สึก มีความสมบูรณ์ กวีโวหารสร้างความประทับใจ ทำให้เกิดจินตนาการด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น อุปมาอุปไมย ใช้สัญลักษณ์ เร้าอารมณ์ด้วยถ้อยคำที่ไพเราะ มีความหมายลึกซึ้ง สามารถดึงดูดความสนใจได้ ทำให้ผู้อ่านซาบซึ้ง ด้านความคิดสร้างสรรค์ มีศิลปะในการนำเสนอความคิดริเริ่มอย่างมีคุณค่า มีเหตุมีผล มีวิสัยทัศน์ และความคิดใหม่ ๆ ที่เป็นของตนเองได้ดีพอสมควร ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ “ซากโบราณมีอยู่ทั่วไป” ของ “สุธีร์ พุ่มกุมาร” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๒ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
Hi! So-Cial ไฮโซ…เชียล
หนังสือกวีนิพนธ์ชุด “Hi! So-Cial ไฮโซ…เชียล” ของ “ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย” เขียนเป็นกลอนแปดโดยวิธีการร้อยสัมผัสต่อเนื่องกัน ตั้งแต่เรื่องแรกจนถึงเรื่องสุดท้าย จำนวน ๔๐ สำนวน นำเสนอประเด็นการเปรียบเทียบสังคมออนไลน์ซึ่งมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของคนร่วมสมัยกับวิถีไทยในอดีต ผู้เขียนสะท้อนให้เห็นว่าแม้สังคมจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่แก่นแท้ของพฤติกรรมมนุษย์ก็ยังคงเดิม “Hi! So-Cial ไฮโซ…เชียล” บอกเล่าเรื่องราวที่คนในสังคมรับรู้กันอยู่แล้ว แต่ด้วยมุมมองแปลกใหม่แฝงไว้ด้วยน้ำเสียงที่มองโลกในแง่งาม ก็ทำให้เรื่องราวธรรมดาสามัญกลายเป็นเรื่องชวนคิดอย่างมีนัยสำคัญ ด้านกลวิธีการประพันธ์ “ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย” มีความสามารถในการใช้ภาษาประกอบสร้างเป็นบทกวีที่มีลักษณะเรียบง่ายแต่งดงาม มีลูกเล่นทางความคิดที่สอดร้อยเข้ามาในเนื้อหาอย่างมีจังหวะจะโคน ทำให้เกิดความคมคายในเนื้อสารที่ต้องการสื่อ อย่างไรก็ตามการเลือกวิธีร้อยสัมผัสระหว่างบทตลอดเล่ม แม้จะมีข้อเด่นที่ผู้เขียนได้แสดงฝีมือในเชิงร้อยกรองขนาดยาวให้ปรากฏ แต่วิธีการดังกล่าวก็อาจสร้างข้อจำกัดให้ผู้เขียนไม่สามารถถ่ายทอดความคิด ความรู้สึกอันเข้มข้น ผ่านคำและความได้อย่างราบรื่นสม่ำเสมอตลอดเล่มเช่นกัน ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้หนังสือกวีนิพนธ์ชุด “Hi! So-Cial ไฮโซ…เชียล” ของ “ขวัญข้าว ขวัญเรียมเอย” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
สองฝั่งแม่น้ำเก่า
“สองฝั่งแม่น้ำเก่า” รูปรอยของคืนวันบนผืนดินและแผ่นน้ำโบราณ ของ “ลอง จ้องรวี” เป็นรวมบทกวี ประกอบด้วยสองบรรพ์คือ บรรพ์ ๑ บ้านที่เราเกิด และบรรพ์ ๒ แผ่นดินที่เราฝัน ผู้เขียนนำเสนอความทรงจำของชีวิตวัยเยาว์ที่มีความสุขในชนบทบ้านเกิด วิถีชีวิตเรียบง่ายและความรักจากครอบครัวหล่อหลอมให้รักและตระหนักในคุณค่าของผืนดินบ้านเกิด “บ้านของอดีตยังติดตรึง ในความคะนึงคิดถึงหนัก เป็นบ้านงดงามด้วยความรัก รู้จัก “การให้” น้ำใจงาม” ความเปลี่ยนแปลงของวิถีสมัยใหม่เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงและ “บ้านหลังเก่า” มีอยู่เพียงในความทรงจำ กระนั้นก็ยังคงทรงคุณค่าทางจิตใจและเป็นที่สร้างแรงบันดาลใจ สร้างไฟฝันให้ต่อสู้ชีวิตใน “โลกที่ไม่มีอะไรง่าย อย่าอายที่จะแพ้” “การแพ้ก็แค่คัดและตัดสิน ใช่สูญสิ้นดิ้นดับอย่าสับสน แพ้ก็แค่เห็นธรรมใช่จำนน ยอมเพื่อยลและยินจิตวิญญาณ การพ่ายแพ้แค่เป็นศิลปะ ชัยชนะแค่คำเพรียกใช้เรียกขาน อุปโลกน์โลกในรูปอุปาทาน มิใช่การชี้วัดที่ชัดเจน” ด้านศิลปะการประพันธ์ ใช้กลอนแปดด้วยลีลาและภาษาที่เรียบง่าย สื่อความ สร้างจินตภาพและอารมณ์ บางบทยังใช้ความเปรียบที่มีลักษณะเฉพาะตน เช่นในบท “แม่เป็นนวัตกรรมมานานแล้ว” “เป็นคอมพิวเตอร์เสมอมา ลูกจะค้นหาอะไรก็ได้ ความจำคำตอบคำปลอบใจ มีให้ลูกค้นทุกคนเอย” ดังนั้น คณะกรรมการตัดสินจึงมีมติให้ รวมบทกวี “สองฝั่งแม่น้ำเก่า” ของ “ลอง จ้องรวี” ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ ๑ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำพุทธศักราช ๒๕๖๓
ภาษาแห่งความรู้สึก
ผู้ประพันธ์เชียนกวีนิพนธ์ได้ดี มีความคิดสร้างสรรค์ เลือกใช้ภาษาและถ้อยคำได้ดีเหมาะสม แต่ยังมีข้อผิดพลาดของลักษณะคำประพันธ์อยู่เล็กน้อย
ในคืนมีฝัน ในวันมีไฟ
บทกวีมีความหลากหลาย ทั้งกลอน กพย์ยานี และกาพย์ฉบัง ด้านฉันทลักษณ์ ผู้เขียนรู้ฉันทลักษณ์ดี ดูจากการเขียนตัดคำในกลอนวรรคแรกของกลอนบางบทบางตอน ที่สามารถส่งสัมผัสบังคับไปวรรคต่อไปได้อย่างลงตัว ด้านวรรณศิลป์ ใช้คำง่ย ไม่ต้องแปล ไม่ต้องตีความ ถ้อยคำกระชับ และหลายตอนดูเหมือนพยายามเล่นกลอักษรด้วย ผู้เขียนไม่ได้เขียนกลอนแต่ละวรรคให้จำนวนคำและจังหวะลงตัวอย่างกลอนสุนทรภู่ หากแต่ปล่อยการใช้จำนวนคำตามอารมณ์ ผู้อ่านจึงต้องกำหนดจังหวะเอาเอง ซึ่งเป็นความตื่นเต้นผสมกับความกระโดกกระเดกไปอีกแบบต่างจากฉันทลักษณ์กลอนที่ราบเรียบตามแบบลีลากลอนสุนทรภู่ เนื้อหา เป็นความรักความโหยหาแบบตามวัยกับโลกทัศน์ ตามมุมมองของผู้เขียนที่ยังไม่มีคำตอบ ด้วยการทิ้งภาระไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อ มีข้อน่าสังเกตว่ากลอนหลายชิ้นที่ผู้เขียนดูเหมือนยังไม่พอใจ หรือยังไม่จุใจในกลอนจบวรรดสุดท้าย จึงแต่งกลอนสองวรรคท้ายสำรอง ทำให้รู้สึกถึงความไม่มั่นใจของผู้เขียน ในการเขียนบทกวี ขอให้ผู้เขียนมีความมั่นใจ และกล้าตัดสินใจที่จะเขียนผลการตัดสิน
หมอกฝัน ม่านฟ้า ห่าฝน
เป็นหนังสือรวมกวีนิพนธ์หลายปีต่อเนื่อง อาจมีข้อผิดพลาดด้านฉันทลักษณ์และสัมผัสผิดบ้าง แต่ไม่ถือว่าฉกรรจ์ สำนวนโวหารสร้างสรรค์ มีระดับคุณภาพ การสรรคำใช้พลิ้วกลมกลืน ใช้ถ้อยคำฉันทลักษณ์ ความหมายต่างๆ ลงตัว มีความเป็นหมวดหมู่ ความมีมิติ ของกวีมองได้กว้าง ไกล ลึก ข้อที่น่าชมเชยคือ เขียนในลีลาฉบับที่หายาก โดยรวมแล้วผลงานเหนือกว่าชิ้นอื่น
เสียงที่ไม่เคยเปลี่ยน
เป็นกวีนิพนธ์ที่เขียนได้ไพเราะงดงามอ่อนหวาน ให้จินตภาพมีทั้งกาพย์และกลอนให้เนื้อหาสาระด้านวัฒนธรรม แนวคิดเน้นความเป็นไทย
รูปลักษณ์แห่งคืนวัน
เป็นกวีนิพนธ์ที่มีฉันทลักษณ์ถูกต้องมีความคิดสร้างสรรค์เชิงอนุรักษ์เน้นแนวคิดเชิงวัฒนธรรมและหลักศาสนา
ระบำใบหญ้า
เป็นกวีนิพนธ์ที่มีความสุนทรียภาพ ไพเราะ พรรณนาได้สมจริง ให้ข้อคิดคำคมนำเสนอทั้งกลอน กาพย์ยานี ฉบัง ฝีมือจัดจ้าน แต่ละมุมมองเรื่องการเมืองยังไม่แหลมคม
นาฬิกาทราย
เป็นกวีนิพนธ์ที่ค่อนข้างเรียบง่าย แต่ให้ภาพงดงามตลอดทั้งเล่ม สำน แสดงสัจธรรม ให้ข้อคิด ฉันทลักษณ์มีทั้งกลอน โคลงสี่สุภาพ กาพย์สุรางคนางค์