ไปโรงเรียน
ไปโรงเรียน ของ รังสิมันต์ จุลหริก เป็นผลงานกวีนิพนธ์นำเสนอในรูปแบบกลอนแปดที่ยึด ขนบค่อนข้างเคร่งครัด และมีความแม่นยำในเชิงฉันทลักษณ์พอสมควร ลักษณะเด่นของผลงานชุดนี้ คือผู้เขียนตั้งใจให้มีความเป็นเอกภาพทั้งรูปแบบเนื้อหา แม้แต่การวางลำดับชื่อเรื่องในแต่ละเรื่องก็จงใจเรียง เช่น เริ่มเปิดเรื่อง (เปิดหนังสือ) ด้วยบท เรื่องที่ 1 “รวมกันเป็น 1 : รั้ว ความรัก และนักเรียน” เรื่องที่ 2 “ชู 2 นิ้ว : ตัวแทนถ้อยคำ” เรื่องที่ 3 “ปราการทั้ง 3 ความฝัน ความลวง ความจริง : ผู้ค้นพบในความสงบนิ่ง” เป็นต้น ด้านเนื้อหา เป็นการเล่าผ่านความรู้สึก ความคิด มุมมองของเด็กนักเรียน ด้วยสำนวนภาษาที่งดงาม ปลุกปลอบใจ ทำให้ผู้อ่านเกิดแรงบันดาลใจสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ แก่ตนเองและสังคม ดังนั้น ผลงานชุดนี้เหมาะสำหรับเด็กและเยาวชน ดังนั้น รวมบทกวีไปโรงเรียน ของ รังสิมันต์ จุลหริก จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2559
กานท์เวลาของผู้คน
กานท์เวลาของผู้คน ผลงานการประพันธ์ของ กิตติ อัมพรมหา เป็นงานร้อยกรองที่ครบถ้วนด้วยองค์ประกอบของวรรณศิลป์ ประกอบด้วยฉันทลักษณ์เป็นกลอนแปดตลอดทั้งเรื่องเขียนได้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ มีความไพเราะของถ้อยคำที่นำเสนอ แต่มีข้อผิดพลาดบางแห่ง เช่น การใช้คำสัมผัสซ้ำระหว่างวรรคระหว่างบท เนื้อหาสาระได้แรงบันดาลใจจากข่าวสารและเหตุการณ์ที่ปรากฏในสังคม ตลอดทั้งเรื่องราวที่พบเห็นด้วยตนเอง เช่น ดอกฝันป่าเมือง สถานการณ์บนจอแผ่น ในมุมมองของหนู กำสรวลแผ่นดิน ก่อนสังคมสิ้นลมหายใจ การใช้ถ้อยคำถูกต้องงดงามด้วยรสคำและรสความในการอธิบายถ่ายทอดความคิดของตนเอง มีสาระในด้านความรู้ ความคิดอันเป็นสัมพันธภาพตามหัวข้อของเนื้อเรื่องที่กำหนด กวีโวหารเพื่อสร้างความไพเราะความประทับใจทำได้ดีในบางบทต้องให้ประสบการณ์ในการฝึกฝนเพาะบ่มต่อไป เพื่อสร้างความสนใจได้อย่างเหมาะสม และทำให้ผู้อ่านซาบซึ้งประทับใจ ด้านความคิดสร้างสรรค์ ผู้เขียนพยายามสะท้อนปัญหา ปรากฏการณ์ตามที่ได้พบเห็นหรือตามความเป็นจริงได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้น กานท์เวลาของผู้คน ของ กิตติ อัมพรมหา จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
ในชายคามาตุภูมิเรา
รวมบทกวี ในชายคามาตุภูมิเรา โดย ชาตรี อรุณพัด มีเนื้อหาสะท้อนภาพความอบอุ่น สายใยในอ้อมกอดแห่งธรรมชาติและชนบทที่ถึงแม้มีความขัดสน ขาดแคลนและปัญหาความสงบสุขในบางพื้นที่ แต่ก็เป็นต้นทุนแห่งความรู้สึกภายในให้เกิดความหวังและคะนึงหา นอกจากนี้ ในชายคามาตุภูมิเรา ยังเสนอการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เกิดจากแรงกระเพื่อมของการพัฒนา ขณะเดียวกันความเป็นสังคมชายขอบยังมีเรื่องราวของตนเองที่แนบชิดกับวิถีชีวิตและธรรมชาติ ซึ่งควรค่าแก่การจดจำ ทั้งยังเป็นที่หวัง และเป็นที่พักปลายทางอย่างอบอุ่นของชีวิต ดังนั้น ในชายคามาตุภูมิเรา ของ ชาตรี อรุณพัด จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561
แท้ธารมิอาจกั้น
กวีนิพนธ์คัดสรรแท้ธารมิอาจกั้น ของ นนทพัทธ์ หิรัญเรือง แบ่งเป็น 3 ภาค คือ คลื่นเกลียว เชี่ยวกรากและฟากธงสันติธรรม ในภาคคลื่นเกลียว นำเสนอเรื่องราวจากประสบการณ์การเป็นครูตั้งแต่เป็นครูฝึกสอน โดยให้ความสำคัญกับอาชีพที่มีหน้าที่อบรมบ่มเพาะเด็ก อีกทั้งยังวิพากษ์วิจารณ์ทัศนคติเชิงลบที่ครูมองว่าศิษย์ “โง่เหมือนควาย” ในบท “ถึงครูผู้ต้อนควาย” นอกจากนี้ยังเน้นถึงความสำคัญของพ่อแม่ที่ต้องดูแลเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด ในภาค “เชี่ยวกราก” นำเสนอเรื่องราวความเป็นไปในสังคม เช่น เรื่องราวของชาวนาที่เป็นนักอ่านแม้ว่าจะเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจ ความรุนแรงทางภาคใต้ที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตรวมทั้งครู ในภาค “ฟากธงสันติธรรม” นำเสนอแนวคิดเรื่องสันติสุข การยอมรับความแตกต่างทางชาติพันธุ์และการใช้วิจารณญาณในการเข้าใจชีวิตและโลก เน้นย้ำความสำคัญของการมีปณิธานในชีวิตแม้ว่าจะมีปัญหาและอุปสรรค หากมุ่งมั่นแล้ว คงไม่มีสายธารใดจะมาขวางกั้นได้ ด้านศิลปะการประพันธ์ ส่วนใหญ่ใช้กลอนสุภาพ และยังใช้โคลงสี่สุภาพและกาพย์ยานี ความ โดดเด่นของรวมบทกวีเรื่องนี้คือการนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจและการวิพากษ์ปัญหาสังคมและทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง บางบทสามารถสื่อเรื่องราวได้อย่างสะเทือนอารมณ์ เช่น บท “ระยะห่างบนโต๊ะกินข้าวของแม่” เป็นต้น ดังนั้น แท้ธารมิอาจกั้น ของ นนทพัทธ์ หิรัญเรือง จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561
โลกประจำตัว
โลกประจำตัว ผลงานการประพันธ์ของ รัฐ ปัญเจียง ประกอบด้วยฉันทลักษณ์เป็นกลอนแปดตลอดทั้งเรื่อง โดยแบ่งเนื้อหาสาระออกเป็น 13 หัวเรื่อง ความยาว 128 บท นับเป็นงานร้อยกรองที่ครบถ้วนด้วยองค์ประกอบของวรรณศิลป์ ฉันทลักษณ์ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด มีความไพเราะสละสลวย ถ้อยคำที่นำเสนอถูกต้องเหมาะสมตามหลักภาษาไทย ถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดได้อย่างมีสุนทรียภาพ ให้อารมณ์และความรู้สึก ด้านเนื้อหาสาระเป็นแรงบันดาลใจจากสภาพสังคมทั่วไปในยุคปัจจุบัน บูรณาการเข้ากับความรู้สึกนึกคิดจากประสบการณ์ของตนเอง ตั้งชื่อหัวเรื่องได้อย่างมีเสน่ห์น่าสนใจ เช่น หนังสือหนักเป็นนักหนา อย่าเกลียดสีของฟ้าเมื่อฟ้าค่ำ ก่อนหัวใจกลายเป็นหิน กระจกกั้นโลก อาณาจักรของแม่ เป็นต้น ผู้เขียนพยายามสะท้อนปรากฏการณ์ในชีวิต นำเสนอความคิดใหม่ที่เป็นของตนเองได้อย่างน่าสนใจ นับเป็นงานกวีนิพนธ์ที่น่าอ่านในระดับเยาวชนเป็นอย่างยิ่ง คณะกรรมการจึงเห็นสมควรให้ โลกประจำตัว ของ รัฐ ปัญเจียง ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561
ปรากฏการณ์แห่งช่วงวัย
ปรากฏการณ์แห่งช่วงวัย ของ การียา ยูโซ๊ะ รวมบทกวีจำนวน 18 สำนวน นำเสนอเรื่องราววิถีชีวิตของพลเมืองชายขอบในดินแดนสามจังหวัดภาคใต้ผ่านเสียงของเยาวชนในพื้นที่ ประสบการณ์วัยเด็กที่ต้องเผชิญความรุนแรง โรงเรียนถูกเผา ความหวาดระแวงที่ผู้ใหญ่ห่วงใยลูกหลานว่าจะถูกชักจูงให้ใช้ความรุนแรง การทุจริตงบประมาณการพัฒนาของเจ้าหน้าที่บางคนทำให้การพัฒนากลายเป็นผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม การที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นแพะ แม้จะต้องวนเวียนอยู่กับบรรยากาศความรุนแรง ชีวิตเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แต่ผู้แต่งก็ยังสื่อผ่านเสียงของเด็กน้อยในพื้นที่ว่ายังคงมีความหวังว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นได้ ด้านศิลปะการประพันธ์ใช้กลอนสุภาพเป็นส่วนใหญ่ บางสำนวนมีลีลาการใช้คำที่คมคาย เข้มข้น กระชับชวนอ่าน “เช่นไรก็เช่นนั้น เช่นที่ว่ากันอย่างนั้นแหละ เช่นชี้แพะบอกแพะก็เป็นแพะ เช่นนั้นอย่าเยอะแยะเป็นแกะไป” ดังนั้น ปรากฏการณ์แห่งช่วงวัย ของ การียา ยูโซ๊ะ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2562
กลับบ้านเรานะ Back Home
ต้นฉบับชุด กลับบ้านเรานะ Back Home ของ แสนภูมิ กล้าอยู่ เป็นงานรวมบทกวีฉันทลักษณ์รูปแบบกลอนแปด ผู้เขียนมีความสามารถในเชิงฉันทลักษณ์พอสมควรในฐานะกวีระดับเยาวชน ส่วนภาษาหรือคำ-สำนวนที่นำมาเรียงร้อยบางจุดอาจมีสะดุดบ้าง แต่ก็ถือว่าบกพร่องน้อยมาก ด้านเนื้อหา ผู้เขียนได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกโหยหาชีวิตวัยเด็กชนบททุกมิติที่พึงมี ทั้งทุกข์ สนุกสนาน ซุกซนตามวัย เมื่อย้อนทวนความทรงจำจึงอยู่ในภาวะ ‘คิดถึงบ้าน’ คิดถึงความผูกพันในครอบครัว คิดถึงงานวัดและพระที่คอยกล่อมเกลาจิตใจ คิดถึงบรรยากาศหลากหลายในโรงเรียนตอนเริ่มหัดเขียนอ่าน บทกวีแสดงให้เห็นถึงความรักความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณ และยังแสดงให้เห็นว่าวัยเด็กมีโลกจินตนาการ บริสุทธิ์กว้างไกล ต่างจากชีวิตวัยหนุ่มในเมือง ยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ… “…ยุคนี้เทคโนโลยีคลี่ขยาย สื่อสารผ่านเครือข่ายไร้ปัญหา คนไกลใกล้ชิดสนิทตา คนใกล้ไกลกว่าสนิทใจ…” “กลับบ้านเรานะ” มีความหมายหลายนัย เช่น หากกำลังพำนักอยู่เมืองใหญ่ก็ส่งใจไปบ้าน ไม่ก็ตัดสินใจกลับไปอยู่บ้านจริง ๆ หรือบางคราวพาตัวเองกลับไปเยี่ยมบ้านอย่างน้อยก็ช่วงเทศกาลสำคัญ ๆ เช่นงาน ‘บุญเดือนสิบ’ ของภาคใต้… “…เทศกาลงานเดือนสิบกระซิบว่า อย่าลืมวันเวลากลับมาบ้าน ปู่ย่าตายายได้ชื่นบาน ในกุศลผลทานลูกหลานทำ…” ดังนั้น รวมบทกวี กลับบ้านเรานะ Back Home ของ แสนภูมิ กล้าอยู่ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2562
เก็บรักไว้ที่ปลายรุ้ง
ต้นฉบับรวมบทกวี เก็บรักไว้ที่ปลายรุ้ง ของ กิตติ อัมพรมหา เนื้อหาโดยรวมแสดงถึงพลังความมุ่งมั่นของวัยหนุ่มสาวผู้เปี่ยมด้วยจินตนาการ และความใฝ่ฝันถึงโลกอันงดงามในอุดมคติ น้ำเสียงที่สื่อผ่านเนื้อหาเป็นไปด้วยท่วงทำนองของนักฝัน ผู้มองโลกในแง่มุมที่สวยงาม มีความอบอุ่นอ่อนหวาน เต็มไปด้วยความหวังและพลังใจ ทั้งให้กำลังใจแก่ตนและคนอื่นให้ตระหนักในคุณค่าของตัวเอง พร้อมที่จะก้าวไปสู่สังคมด้วยอุดมการณ์อันงดงาม โดยเลือกใช้รูปแบบฉันทลักษณ์กลอนสุภาพเป็นหลัก มีกาพย์ยานี 11 และกาพย์ฉบัง 16 ในบางสำนวน กลวิธีการประพันธ์ ผู้เขียนสามารถใช้ภาษาได้เหมาะสมสอดคล้องกับอารมณ์ของเนื้อเรื่อง ถูกต้องตามรูปแบบฉันทลักษณ์ ดังนั้น เก็บรักไว้ที่ปลายรุ้ง ของ กิตติ อัมพรมหา จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2562
แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน
แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน รวมบทกวีของ วิศิษฐ์ ปรียานนท์ เป็นบทกวีปลุกเร้าพลังแห่งการแสวงหาภายในให้โลดแล่นออกมาผจญภัย เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางเยี่ยงเสรีชน แม้ยังไม่มีคำตอบว่าหนทางข้างหน้าจะสำเร็จหรือล้มเหลว แต่แฝงนัยแห่งความเชื่อมั่นลึก ๆ ว่าโลกภายนอกนั้นกว้างใหญ่กว่าโลกภายใน เนื้อหาในเล่มแบ่งออกเป็น 22 ภาค ภาคแรก : ระหว่างทาง เป็นการเล่าถึงชีวิตผู้คนรายรอบ ผู้เกิดมาด้วยเท้าเปลือยเปล่า ต่างเดินทางไปยังเส้นขอบฟ้าไกล เคลื่อนย้ายไปท่ามกลางฤดูกาลและธรรมชาติที่เปลี่ยนผัน ด้วยหวังว่าชีวิตจะงอกงามเมื่อปลิวออกจากบ้านไปยังดินแดนอื่น ก่อนปีกหักกลับมาพร้อมเท้าเปลือยเปล่าเช่นเดิม กลับสู่การโอบกอดของบ้านเกิด ทั้งหมดนั้นเป็นภาพจำระหว่างทาง ภาคหลัง : บนสะพาน เป็นชีวิตผจญภัยของกวี ที่กำหนดตนเองไปอยู่ ณ ชายขอบเขตแดนประเทศ กักขังตนเองอยู่ในดินแดนที่ซึ่งปิดขังขุนเขาให้เป็นแม่น้ำ เพื่อท่องไปข้างนอกและข้างใน การผจญภัยในครั้งนี้พบว่าเสรีภาพ ความเสมอภาคแห่งชนชั้นและชาติพันธุ์ หรือแม้แต่แสงสว่าง กลับเป็นสิ่งปลอมแปลง สายน้ำที่แยกคน 2 พวกออกจากกัน จึงต้องสร้างสะพานเพื่อทอดวาง เชื่อมร้อยผู้คนให้ไปมาหาสู่ หลากหลายรอยเท้าจึงปรากฏขึ้น ณ ดินแดนแห่งนั้น “แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน” ชี้ให้เห็นว่ามนุษย์เกิดมาล้วนแตกต่าง แต่กลับต้องถูกกำหนดมาตรฐาน กีดกั้น แบ่งแยก ปกครอง เหมือนเป็นหุ่นเชิด ทั้งที่มนุษย์ควรมี “ความแตกต่างอย่างเท่าเทียม” กัน ดังนั้น แม่น้ำต่างหากสร้างสะพาน โดย วิศิษฐ์ ปรียานนท์ จึงสมควรได้รางวัลชนะเลิศ รางวัล เซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทรางวัลนักเขียนรุ่นเยาว์ หมวดกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2562