กุหลาบเมืองหนาว
เป็นนวนิยายรักโรแมนติกของผู้ที่เกิดและเติบโตในประเทศสหรัฐอเมริกา เนื้อเรื่อง และตัวละครที่อยู่ในวัยหนุ่มสาวซึ่งมีชีวิตโลดแล่น ให้ความบันเทิงและควาเพลิดเพลินให้แง่คิดเรื่องความดีงามและความกตัญญู
กลางทะเลลึก
เป็นนวนิยายชีวิตชาวประมง ซึ่งทำงานหนักและเผชิญภัยอันตรายกลางทะเลลึกตีแผ่ภาวะจิตใจของมนุษย์ที่เต็มไปด้วยกิเลสตัณหา เผยให้เห็นความชับซ้อนทางความคิดและอารมณ์ของตัวละคร ผู้ประพันธ์สามารถถ่ายทอดภาพและภาวะความขัดแย้งของตัวละครได้อย่างละเอียดและลุ่มลึก มีการหน่วงเรื่องอย่างน่าสนใจชวนติดตาม ใช้ภาษากระชับ เข้มข้น และสมจริง
บูรพา
เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์สมัยรัตนโกสินทร์ซึ่งตรงกับสมัยวิกตอเรียนขอเนื้อเรื่องและการสร้างตัวละครสมจริง มีชีวิตชีวา สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ สังคมและวัฒนธรรมในช่วงเวลาดังกล่าวสะท้อนปัญหาความรักและคตินิยมของคนต่างเชื้อชาติและชนชั้นสอดแทรกปรัชญาและการดำเนินชีวิตของสังคมที่ยึดมั่นในจารีต ภาษาที่ใช้สื่ออารมณ์และความรู้สึกของตัวละครได้ลึกซึ้งและแยบยล
เวียงแว่นฟ้า
เป็นนวนิยายที่นำข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของอาณาจักรล้านนามาปรุงแต่งเป็นนวนิยายที่มีกลิ่นอายของสังคมภาคเหนือได้อย่างละเมียดละไม การดำเนินเรื่องชวนให้ติดตามและสมจริง สอดแทรกวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของเจ้านายกับสามัญชนได้อย่างแนบเนียนแสดงถึงการอยู่ร่วมกันของคนต่างขั้นในสังคม ด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน เอื้อประโยชน์ต่อกันในภาพรวม การสร้างตัวละครเน้นการรู้จักคุณค่าของตนเอง การบรรยายและการพรรณนาก่อให้เกิดจินตภาพที่ขัดเจนด้วยภาษาที่งดงามและสมบูรณ์ มีความโดดเด่นในด้านวรรณศิลป์
กุหลาบในสวนเล็กๆ
ชมัยภร แสงกระจ่าง เขียนนวนิยายเรื่องนี้จากประวัติชีวิตและผลงานเขียนของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” นักคิดนักเขียนที่ได้รับยกย่องจากยูเนสโกให้เป็นบุคคลดีเด่น และรวมเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส 100 ปีชาติกาลในปี 2548 ที่ผ่านมา ผลงานต่าง ๆ ของศรีบูรพาทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทความ งานแปล และอื่น ๆ ล้วนแสดงให้เห็นว่า “อุดมการณ์” และ “คุณธรรมจริยธรรม” มีความหมาย ความสำคัญต่อการสร้างสังคมที่แสนงาม เพราะอุดมการณ์และคุณธรรมจริยธรรมเป็นสิ่งบ่งชี้ความเจริญทางจิตใจ จิตวิญญาณ และคุณค่าของความเป็นมนุษย์ ซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุและเทคโนดลยีไม่อาจเทียบได้ ความเป็นกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ “ศรีบูรพา” คือความกล้าท้าทายอำนาจอันไม่เป็นธรรม ทำให้ผลงานของ “ศรีบูรพา” ยิ่งใหญ่และไม่ล้าสมัย แต่เพราะเหตุที่สังคมไทยมีวัฒนธรรมการอ่านอ่อนแอลงไปทุกที คนรุ่นใหม่จึงไม่ได้เรียนรู้เรื่องราวของบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมไทย และไม่ได้รับรู้คุณค่าของหนังสือดี ๆ อีกเป็นจำนวนมาก ชมัยภร แสงกระจ่าง จึงทำหน้าที่เชื่อมต่อช่องว่างนี้ โดยนำประวัติและงานเขียนของ “ศรีบูรพา” มาร้อยเรียงเข้ากรับเรื่องราวของสังคมสมัยใหม่ เพื่อเป็นการสานต่ออุดมการณ์ความคิดของ “ศรีบูรพา” และแนะนำให้นักอ่านรุ่นใหม่เห็นคุณค่าของผลงานเขียนของนักคิดแห่งสังคมไทย ข้อจำกัดของการที่ต้องนำข้อมูลจำนวนมากเกี่ยวกับบุคคลและผลงานมาสร้าง ทำให้นวนิยายเรื่องกุหลาบในสวนเล็ก ๆ มีข้อมบกพร่องทางวรรณศิลป์อยู่บ้าง แต่กระนั้นความตั้งใจอของผู้เขียนที่จะเชื่อมโยงความคิดของคนรุ่นเก่ามาสู่คนรุ่นใหม่ ก็ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ นวนิยายเรื่องกุหลาบในสวนเล็ก ทั้งชี้นำและทั้งเชิญชวนให้นักอ่านอยากรู้จัก “ศรีบูรพา” และผลงานประพันธ์ของเขาให้มากขึ้นกว่าที่ได้อ่านจากหนังสือเล่มนี้ นี่คือความสำเร็จของนวนิยายเรื่องกุหลาบในสวนเล็ก ๆ โดยแท้ ดังนั้น กุหลาบในสวนเล็ก ๆ ของชมัยภร แสงกระจ่าง จึงสมควรได้รับการสนับสนุนให้เป็นหนังสือควรอ่านสำหรับนักเรียนและนักอ่านทั่วไป
ลับแลลายเมฆ
ลับแลลายเมฆ เป็นนวนิยายที่นำเสนอเรื่องผู้หญิงและเด็กถูกละเมิดทางเพศ ซึ่งเป็นประเด็นทางสังคมที่ร่วมสมัย เพราะเราจะได้ยินได้ฟังและได้อ่านเรื่องราวเหล่านี้ทางสื่อมวลชนอยู่เสมอ นวนิยายเรื่องนี้กล่าวถึงเด็กสาวแสนสวย มีชีวิตที่อบอุ่น งดงาม อยู่ในความคุ้มครองอย่างทะนุถนอมของคุณปู่คุณย่าผู้มั่งคั่ง เธอมีคนรักเป็นหนุมหล่อร่ำรวย ฉลาดและเป็นสุภาพบุรุษ ความเหมาะสมลงตัวทุกประการราวสวรรค์สรรสร้างน่าจะทำให้ชีวิตคู่หลังแต่งงานกันมีความสุขสมบูรณ์ แต่หากเป็นเช่นนั้นนวนิยายเรื่องนี้คงไร้สาระสำหรับผู้อ่าน ท้องฟ้าที่ใสกระจ่างในตอนแรก เริ่มมีเมฆหมอกมาบดบัด เช่นเดียวกับเด็กสาวผู้มีชีวิตงดงามราวกับล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าสมตามชื่อของเธอ เมื่อเธอย่างสู่วัยสาวเต็มตัว ก็ราวกับมีผู้เลื่อนฉากลับแลที่บดบัดความจริงแห่งชีวิตออกไป ความทรงจำเก่า ๆ เริ่มผุดพรายขึ้นมาเป็นระยะเมื่อได้เห็นสิ่งที่กระตุ้นความรู้สึก เสียงกอไผ่เสียดสี อาวุธปืน แผงอกเปลือยเปล่า ภาพเลอะเลือน รูปเงาไร้ร้างก่อตัวทะมึนเหนือร่างเธอราวอสุรกาย รวมทั้งความรู้สึกหวาดกลัว ขยะแขยง และเกลียดชัด ที่พลุ่งขึ้นท่วมหัวใจ ทำให้เธอเกิดอาการกลัวอย่างรุนแรงจนแทบเสียสติ ร่างกายแข็งเกร็งไร้การควบคุม เธอเกิดอาการเช่นนี้ทุกครั้งที่กำลังจะมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนรัก อาการและความรู้สึกนี้เป็นเช่นเดียวกับฝันร้ายในวัยเยาว์ที่คุณปู่คุณย่าเฝ้าเยียวยาปลุกปลอบจนฝันร้ายนั้นห่างไป แต่อันที่จริง ฝันร้ายนั้นถูกกลบฝังให้ตกตะกอนอยู่ในจิตใจใต้สำนึก รอเวลาที่จะมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดกวนให้ขุ่นขึ้นมา ในที่สุดในวันแต่งงานหญิงสาวพบว่าภาพเลอะเลือนที่เธอเห็น แต่ความรู้สึกกลัวจับใจที่เกิดขึ้น ไม่ใช่ฝันร้าย หากแต่เป็นความจริงที่ถูกกลบฝังอยู่ในความทรงจำก่อนเก่า เธอเริ่มจำประสบการณ์เลวร้ายซึ่งเกิดขึ้นกับตนเองได้ แต่ไม่ทั้งหมดและเมื่อติดตามสืบค้นต่อไปก่อพบความจริงที่โหดร้ายมากขึ้นที่เกิดขึ้นกับตัวเธอและครอบครัวของเธอ เรื่องราวของการล่วงละเมิดทางเพศไม่ได้เกิดขึ้นกับตัวละครหลักเท่านั้น ตัวละครหญิงอีกหลายตัวในเรื่องประสบกับการละเมิดทางเพศในลักษณะต่าง ๆ กัน บ้างก็รอดพ้นการข่มขืนมาได้ แต่อับอายและเจ็บช้ำ บ้างก็ถูกข่มขืนแล้วฆ่า บ้างก็ฆ่าตัวตายในภายหลังเพราะความเปราะบางของวัยเยาว์ที่ไม่อาจต่อสู้กับโลกที่โหดร้ายได้ ตัวละครเอกซึมซับกับเรื่องราวของผู้หญิงเคราะห์ร้ายมากมายที่พึ่งพาการเยียวยาจากสมาคมที่เป็นองค์กรเอกชนซึ่งตั้งขึ้นเพื่อให้ความอนุเคราะห์แก่เพื่อนเพศหญิงด้วยกัน เธอจึงพบหนทางแห่งการใช้ชีวิตของเธอให้มีคุณค่าต่อตนเอง ต่อเพื่อนมนุษย์ และต่อสังคม ลับแลลายเมฆ เป็นทั้งนวนิยายเชิงจิตวิทยาและนวนิยายเชิงสังคม “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” สอดแทรกความรู้เกี่ยวกับการบำบัดรักษาคนไข้ที่มีอาการป่วยทางจิตใจ ด้วยการรื้อฟื้นความจำเพื่อให้คนไข้เผชิญหน้ากับความจริงในชีวิต ไม่ใช่หลบหนีหลีกเร้นจนกลายเป็นเก็บกดความเป็นจริงนั้นไว้ให้เป็นแผลกลัดหนองในใจไม่มีวันหาย การรักษาทางแพทย์ด้วยวิธีทางจิตวิทยาจึงทำให้คนเหล่านั้นกลับมาใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติสุขตามเดิม และเนื่องจากอาการกลัวความสัมพันธ์ทางเพศเกิดจากการที่ตัวละครถูกข่มขืนซ้ำซากในวัยเด็กทำให้นวนิยายเรื่องนี้นำเสนอประเด็นทางสังคมถึงการกดขี่ทางเพศด้วย (Sexual Harassment) ไปจนถึงข่มขืน เรื่องค่านิยมของสังคมที่ยกย่องผู้ชายที่มีประสบการณ์ทางเพศมาก ๆ แต่เหยียดหยามผู้หญิงที่พลาดพลั้ง เรื่องระบบสังคม กฎหมาย และสื่อมวลชนที่ซ้ำเติมผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศและที่สำคัญคือผู้หญิงที่เป็นเหยื่อทางเพศมักจะลงโทษตนเองด้วยความคิดว่าตนไม่มีคุณค่าอะไรเหลืออีกแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ไม่ได้ชี้กลวิธีในการแก้ปัญหาสังคมโดยตรง แต่ได้กระตุ้นให้คิดว่าผู้ชายไทยควรได้รับการปลูกฝังให้เคารพคุณค่าของเพศหญิง ในขณะเดียวกันผู้หญิงก็ควรได้รับการปลูกฝังให้รักตนเอง และสำนึกในคุณค่าของตนเองให้มากขึ้น นอกจากจุดเด่นในด้านเนื้อหาแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ยังมีลักษณะเด่นทางวรรณศิลป์ ผู้เขียนวางโครงเรื่องได้กระชับ แต่มีความซับซ้อน ชวนให้ผู้อ่านติดตามความจริงที่ผู้เขียนเปิดเผยเป็นระยะ ๆ จนคลี่คลายหมดในตอนจบเรื่อง เนื่องจากเป็นนวนิยายที่มีสาระทางการแพทย์และสังคม ผู้เขียนได้ค้นคว้าข้อมูลทางวิชาการอย่างมาก แต่ผู้เขียนก็นำมาย่อให้เข้าใจง่ายและสามารถสอดสลับไปกับเนื้อเรื่องได้อย่างกลมกลืน ไม่ทำลายรสวรรณศิลป์ของความเป็นนวนิยาย ลับแลลายเมฆ จึงเป็นนวนิยายที่มีคุณค่าในมิติทางสังคมและมิติทางวรรณกรรมอย่างสมบูรณ์ ดังนั้น ลับแลลายเมฆ ของ “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” จึงสมควรได้รับรางวัลยอดเยี่ยม “เซเว่นบุ๊ค อวอร์ด” ประเภคนวนิยาย ประจำปี 2559 นี้
นาครเขษม
“นาครเกษม” ผลงานของ “คอยนุช” เป็นนวนิยายขนาดสั้นแนวเสียดสีที่เขียนในลักษณะเหนือจริงผู้เขียนเสียดสีสังคมโลกสมัยใหม่ที่เคลื่อนไปอย่างรวดเร็วและเร่งรีบจนทำให้มนุษย์ใช้ชีวิตอย่างร้อนรน เพียงแค่อายุ 40 ปี พลังชีวิตก็ถูกใช้ไปจนหมดสิ้นแล้ว ดังนั้น ทันทีที่อายุครบ 40 ปี คนเหล่านี้ก็กลายเป็นชาวนาครเกษมไปโดยอัตโนมัติ ชาวนาครเกษมมีบุคลิกแบบคนสูงวัยทั่วไป คือ หัวล้าน ผมหงอก สายตายาว อวัยวะหย่อนยานเหี่ยวย่น หูตึง ความจำไม่ดี เป็นต้น หลายคนมีความฝังใจกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นพิเศษ อย่างมาโนชผู้เชื่อมั่นในของเก่าที่ใช้การไม่ได้แล้ว วิชัยฝังใจกับผู้หญิงผมยาวไม่รู้จักชื่อและพบว่าอวัยวะเพศของตนไม่ทำงานหลังจากเก็บยางลบที่เขียนชื่อว่านภาและนาครเกษมได้ นภาพนักงานพิมพ์ดีดที่ทำงานจนลืมวันลืมคืน กว่าจะรู้ตัวฝ้าบนใบหน้าของเธอก็มีขนาดใหญ่เป็นรูปแผนที่แอฟริกาและเครื่องคอมพิวเตอร์ก็มาแทนที่พิมพ์ดีดของเธอที่ตัว ฟ หายไป เธออยู่ที่นาครเกษมโดยไม่พูดจาแม้แต่คำเดียว เอาแต่ตามหาตัว ฟ อย่างมุ่งมั่น อนันต์ซึ่งมีความฝันว่าอยากออกไปจากกรุงเทพฯ อยากมีบ้านหลังเล็ก ๆ ในชนบทแต่ก็ไม่เคยทำได้เลย และคนอื่น ๆ ทุกคนเป็นอดีตพนักงานบริษัทที่ถูกปลดออกจากงานด้วยเหตุผลว่าหมดอายุใช้งาน ในตอนท้ายเรื่องทุกคนได้ขึ้นชิงช้าสวรรค์ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนการกลับไปสู่ความสุขในวัยเด็กและพบคำตอบของปัญหาคาใจในชีวิตของแต่ละคน นิยายเรื่องนี้ไม่ได้สร้างตัวละครและเหตุการณ์ตามขนบของนวนิยายแบบสมจริง จึงมีความพิลึกพิลั่นเกินจริงอยู่มาก แต่พบว่าผู้เขียนตั้งใจเสนอแก่นความคิดเรื่องคุณค่าของมนุษย์ เพราะสังคมนิยมตีราคามนุษย์จากผลประโยชน์ที่เขาสร้างให้แก่บริษัท สังคมวัตถุนิยมทำให้พวก “เก่า ช้า ล้า แก่” คือ หัวเก่า เชื่องช้า ล้าสมัย แก่ ถูกคัดออกราวกับสิ่งของชำรุดหรือตกรุ่นแสดงว่าสังคมสมัยใหม่ตัดสินมนุษย์ที่ “มูลค่า” ไม่ใช่ “คุณค่า” นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเน้นว่าสังคมบริโภคนิยมผลักดันให้มนุษย์หัวปักหัวปำอยู่กับการทำงานจนลืมไปว่าความสุขที่แท้อยู่ใกล้ตัว จึงละเลยที่จะเติมความสุขให้กับตนเอง ทุกคนพบว่าถึงที่สุดแล้วคนเราไม่ได้ต้องการอะไรในชีวิตมากไปกว่าความสุขใจ นาครเกษมไม่ได้เป็นชื่อที่มีอยู่บนแผนที่กรุงเทพมหานครหรือแผนที่ประเทศไทย แต่ผู้อ่านก็รู้สึกได้ว่านาครเกษมมีจริงและอยู่ใกล้ ๆ ตัว หลายคนอาจจะรู้สึกว่าตนเป็นพลเมืองของนครแห่งนี้ไปแล้วด้วยซ้ำหรืออย่างน้อยที่สุด นาครเกษมก็ทำให้เราฉุกคิดถึงคุณค่าและความเป็นมนุษย์ท่ามกลางโลกสมัยใหม่
ในวารวัน
ในวารวัน ผลงานของปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่กำหนดกรอบเวลาตั้งแต่พุทธศักราช 2445 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพุทธศักราช 2486 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลกินระยะเวลารวม 4 แผ่นดิน หากแต่เป็น “สี่แผ่นดินฉบับบางปลาสร้อย” เพราะในวารวันเป็นเรื่องราวของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ชุมชนบางปลาสร้อย จังหวัดชลบุรี ที่ผู้เขียนเล่าผสานไปกับชีวประวัติของแม่วัน ตัวละครเอก ซึ่งเป็นศูนย์กลางของเรื่อง แม่วันเป็นตัวละครที่เป็นแบบฉบับของคนดีที่สมบูรณ์แบบ เพราะพูดดี คิดดี ทำดี ซื่อสัตย์ ขยัน มัธยัสถ์ อดทน ตลอดเวลาตั้งแต่เด็กจนเป็นผู้ใหญ่ ทั้ง ๆ ที่ชีวิตของแม่วันต้องเผิชญกับความทุกข์ยากทั้งทางกายและใจอย่างมากมายจากแม่เลี้ยงและพี่น้องต่างมารดา ซึ่งทั้งด่าว่าเสียดสี โกงสมบัติ ขโมยทอง ปองร้อยหมายข่มขืน จนถึงโพนทะนาให้เสียชื่อ แม่วันลูกกำพร้ากลับเป็นเหมือนเหล็กทนไฟ ยิ่งทุกข์ยิ่งแข็งแกร่ง สามารถเลี้ยงชีวิตตามลำพังหลังย่ายายตายด้วยการรับจ้างทำงานทุกอย่างโดยไม่รังเกียจ คุณความดีของแม่วันได้รับการตอบสนองในที่สุด ได้แต่งงานกับผู้ชายที่ดี สร้างฐานะได้มั่นคง สุดท้ายสามีเสียชีวิตไปก่อน แม่วันก็เป็นผู้หญิงเก่งที่สามารถดูแลลูก ๆ บริวารและกิจการอาชีพได้อย่างไม่บกพร่อง ส่วนแม่เลี้ยงและพี่น้องต่างมารถาทั้งของฝ่ายแม่วันและนายเทิดสามีต่างก็มีชีวิตตกต่ำ พินาศฉิบหายไปตามกรรม นวนิยายเรื่องนี้จึงมีแก่นเรื่องแสดงให้เห็นว่าทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว หรือคนดีย่อมตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้ การสร้างตัวละครเป็นคนดี คนชั่ว ชัดเจน ก็จัดเป็นตัวละครแบบฉบับเช่นเดียวกับแก่นเรื่อง แต่จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การสอดร้อยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้าไปในเนื้อหาเรื่องราวของตัวละครได้อย่างกลมกลืน ทั้งเรื่องประเพณี อาชีพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตำนานสถานที่ โบราณสถาน ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาต่าง ๆ เช่น การเสด็จประพาสบางปลาสร้อยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีพระบรมราชินีเสด็จประพาสเมืองชลบุรี เป็นต้น ในวารวันจึงบันทึกอดีตไว้ เป็นนวนิยายที่ให้อรรถรสและมีวรรณศิลป์
เขียนฝันด้วยชีวิต
เขียนฝันด้วยชีวิต ของประชาคม ลุนาชัย นำเสนอภาพชีวิตของชายที่มุ่งมั่นใฝ่ฝันจะเป็นนักเขียนอาชีพแต่การก้าวสู่เส้นทางน้ำหมึกนี้เต็มไปด้วยอุปสรรคขากหนามอันชวนให้ท้อทั้และถดถอย ยิ่งเขา-ผู้ซึ่งมีต้นทุนน้อย ทั้งโภคทรัพย์ ญาติ มิตร และการศึกษา อุปสรรคก็ยิ่งเพิ่มเป็นทวีคูณ ชีวิตระหกระเหินของเขาผ่านการทำมาหากินมากมายหลายอาชีพ ตั้งแต่เป็นเสมียนในสำนักงานจัดหางาน พนักงานเสิร์ฟ เด็กฝึกงานในโรงงานแบตเตอรี่ พนักงานแบกลังน้ำปลา คนทำลูกชิ้นและขายก๋วยเตี๋ยว คนดูแลนากุ้ง ลูกเรือหาปลาล่องทะเลลึก ไปจนกระทั่งเป็นยาม ในระหว่างการประกอบอาชีพเพื่อเลี้ยงชีวิต เขาก็เลี้ยงวิญญาณและความใฝ่ฝันด้วยการอ่านหนังสือจากห้องสมุด จากร้านหนังสือเช่า และจากการซื้อหาตามที่พอจะมีกิน ประสบการณ์จากการอ่านและประสบการณ์ชีวิตทั้งของตนเองและจากการเฝ้าสังเกตชีวิตของผู้อื่น ล้วนเป็นวัตถุดิบชั้นดีสำหรับเขียนหนังสือ ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่การตีแผ่ชีวิตที่ล้มลุกคลุกคลานครั้งแล้วครั้งเล่าอย่างไม่ปิดบัง แต่ในโชคมีเคราะห์และในเคราะห์ก็มีโชค ชีวิตมีสุขมีเศร้า มีปวดร้าว มีปิติ มีสูญสิ้นมีวาดหวัง เวียนไปให้เห็นสัจธรรม ดังนั้นแม้เขาจะท้อแท้แต่ไม่ท้อถอย การลุกขึ้นสู่ชีวิตอย่างไม่ย่อท้อต่อความทุกข์ที่รุมกระหน่ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าจึงกินใจผู้อ่านและขณะเดียวกันให้กำลังใจผู้ที่กำลังโต้คลื่นชีวิตให้ยืนหยัดต่อไป ผู้เขียนกล่าวไว้ว่า “ชีวิตมหัศจรรย์และทรงคุณค่ายิ่ง แม้จมลงในหุบเหวที่ลึกแค่ไหนเพียงใด ยังมีแรงตะกายกลับสู่เบื้องบน เปรอะเปื้อนความผิดพลาดกี่หนยังพยายามฟอกตัวเองให้กลับมาเริ่มต้นใหม่ ผ่านแรงกระทบกระแทกซ้ำแล้วซ้ำอีก ยังกลับมาหยัดยืนได้อีกครั้ง ลื่นล้มและตกจากที่สูงกี่ครา ประกายแสงของมันไม่ยอมหรี่ดับลงโดยง่าย” ผู้อ่านได้ประจักษ์ในความมหัศจรรย์และคุณค่าของชีวิตเฉกเช่นเดียวกันกับที่ผู้เขียนกล่าวไว้ นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์ที่กลวิธีการเขียน เพราะผู้เขียนคัดสรรบางช่วงตอนของชีวิตมาเล่าให้ผู้อ่านปะติดปะต่อกันเป็นเรื่องราวเอาเอง ราวกับจะบอกว่าชีวิตจริงยิ่งกว่านิยาย บทจบและบทเริ่มต่อเนื่องกันราวกับจะบอกเป็นนัยว่าการเขียนฝันด้วยชีวิตยังไม่มีบทจบ หากต้องดำเนินต่อไป เขียนฝันด้วยชีวิตเป็นนวนิยายอัตชีวประวัติที่สะท้อนให้เห็นว่าไม่ว่าจะเป็นความฝันของใคร ความฝันนั้นก็ยิ่งใหญ่และมีคุณค่า แต่สิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าคือชีวิตที่กอปรด้วยความมานะบากบั่นที่จะทำความฝันกลายเป็นจริง ยิ่งสำหรับนักเขียนด้วยแล้ว ความฝันไม่มีวันจบ ต้องเขียนฝันด้วยชีวิต และทั้งชีวิต
เล่นเงา
นวนิยายสะท้อนรากเหง้าของปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ที่เกิดจากความล่มสลายของสถาบันหลักในสังคม ไม่ว่าจะเป็นทหารกดขี่รังแกประชาชน ข้าราชการฉ้อฉลเอาเปรียบ พระสงฆ์ทุศีลที่มัวเมากับราคะ และครูที่ล่อลวงลูกศิษย์ และที่ลึกลงไปในพฤติกรรมของบุคคลเหล่านี้คือกิเลสตัณหาที่ไม่มีวันจบสิ้น จึงล่อลวงให้มนุษย์เห็นถูกเป็นผิด ผิดเป็นถูก ปัญหาจึงสั่งสมโดยไม่มีวันแก้ไข ผู้เขียนนำเสนอความเลวร้ายในชุมชนแห่งหนึ่ง ผ่านสายตาและการบอกเล่าของตัวละคร 2 ตัว หนึ่งคือ ไอ้เท่ง ตัวตลกในหนังตะลุง อีกหนึ่งคือลุงส่ง ชายขี้เมาขาพิการ ไอ้เท่งเป็นตัวตลกไร้ชีวิตที่มีเพียงเงาโลดเต้น เป็นเหมือนจิตวิญญาณที่ห่วงใยชาวบ้านชุมชน แต่ เมื่อเป็นเพียงเงา และตัวตลก คำบอกเล่าของไอ้เท่งจึงเหมือนนิยายโกหกที่ไม่มีใครเชื่อ เช่นเดียวกับลุงส่ง คนพิการขี้เมาที่ไม่มีใครเชื่อคำพูด ดังนั้นแม้เขาจะชี้ตัวเจ้าอาวาสทุศีลและครูใหญ่กระหายกามว่าเป็น “ผู้ร้าย” ในชุมชน แต่ทุกคนก็เห็นว่าเป็นเรื่องเหลวไหล การเลือกไอ้เท่งและลุงส่งเป็นผู้เล่าเรื่องจึงตอกย้ำการที่ผู้คนปฏิเสธที่จะเข้าถึงความจริง ความเลวร้ายจึงฝังรากลึกต่อไปตราบนานเท่านาน น่าเสียดายที่ผู้เขียนทิ้งตัวละครนี้ไปในตอนท้ายเรื่อง บทจบจึงไม่สวยงามเท่าที่ควร การเลือกใช้กลวิธีเหนือจริงเพื่อบอกกล่าวความจริงนับเป็นกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่โดดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้ นอกจากผู้เล่าเรื่อง การสร้างบรรยากาศ และเหตุการณ์อาเพศผิดธรรมชาติแล้ว การให้แม่เฒ่าเปาะเจ๊ะหอนทุกปีเมื่อถึงวันครบรอบการตายของลูกชาย ก็สร้างบรรยากาศลี้ลับชวนสยอง แต่เป็นกลวิธีที่แสดงให้เห็นว่าชาวบ้านได้ต่อสู้กับความอยุติธรรมด้วยวิธีอหิงสา เสียงหอนของยายเฒ่าเรียกร้องความชอบธรรมให้ลูกชายที่ถูกทหารพรากชีวิตอย่างโหดเหี้ยม เพราะทุกปีผู้คนก็จะหยิบยกเรื่องนี้มาพูดกันอีกครั้งและอีกครั้ง ความตายของผู้บริสุทธิ์จึงไม่เคยถูกลืม อย่างไรก็ตาม แม้นวนิยายเรื่องนี้จะแสดงความมืดดำของชีวิต ความเลวร้ายในจิตใจของผู้คน และความจริงที่เป็นเพียงเงาที่จับต้องไม่ได้ แต่ท้ายที่สุด ผู้เขียนก็ยังฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่ ที่จะกล้ากบฏต่ออำนาจและมายาคติที่ทำให้เกิดการแบ่งแยก เพื่อว่าในที่สุดแล้วเราจะมีสังคมใหม่ที่ดีกว่าเดิม นวนิยายเรื่องเล่นเงา ของจิรภัทร อังศุมาลี จึงสมควรรับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่น บุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551
สะพานแสงคำ
สะพานแสงคำเป็นนวนิยายรัก ซึ่งผู้เขียนนำเรื่องราวในอดีตช่วงที่รัฐต่าง ๆ แถบล้านนากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญ เมื่อลัทธิล่าอาณานิคมของชาติตะวันตกแผ่มาถึงพร้อม ๆ กับการขยายอิทธิพลของรัฐใหญ่อย่างสยาม มาโยงใยเข้ากับยุคปัจจุบันซึ่งผู้คนต่างก็ต้องต่อสู้ดิ้นรนเพื่อดำเนินชีวิตในโลกที่ลัทธิทุนนิยมและวัตถุนิยมกำลังครอบงำอยู่ โดยมี “สะพานแสงคำ” ในภาพเขียนภาพหนึ่งเป็นทางเชื่อม เมื่อใดที่เมษาริน ตัวละครเอกของเรื่องก้าวข้ามสะพานนั้น เธอก็ได้เดินทางย้อนเวลาไปกว่าร้อยปี ได้เข้าไปเป็นพยานร่วมรู้เห็นเส้นทางชีวิตของ “คำประพาฬ” หรือ “เจ้าเอื้อย” เจ้าหญิงแห่งรัฐล้านนา ตั้งแต่ยังเป็นเด็กหญิงตัวน้อยจนเติบใหญ่เป็นหญิงสาวผู้งามพร้อม และในขณะเดียวกันก็ได้ร่วมสัมผัสกับโลกรอบตัวของเจ้าหญิง ซึ่งมีทั้งความขัดแย้งทางการเมือง การช่วงชิงผลประโยชน์ ความรัก ความแค้น ความเกลียดชัง และการทรยศหักหลัง การเดินทางข้าม “สะพานแสงคำ” กลับไปสู่อดีตแต่ละครั้ง ไม่เพียงทำให้ “เมษาริน” (และผู้อ่าน)ได้รับรู้และระทึกใจไปกับชะตากรรมของเจ้าเอื้อยรวมทั้งเหตุการณ์บ้านเมืองของยุคนั้นเท่านั้น แต่ยังทำให้เธอมองผู้คนและภาวะการณ์ที่แวดล้อมตัวเธออยู่ในโลกปัจจุบันด้วยทัศนะที่แจ่มกระจ่างขึ้นเรื่อย ๆ จนนำไปสู่การเข้าใจ “ความจริงและความลวง” ในตอนสุดท้ายของเรื่อง ปิยะพร ศักดิ์เกษม ได้ค้นคว้าหาข้อมูลและใช้ความสามารถในเชิงวรรณศิลป์พรรณนาภาพเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์สมัยนั้นอย่างมีชีวิตชีวาและสมจริง ทั้งยังสอดรับกับเรื่องราวและตัวละครที่เธอจินตนาการขึ้นได้แนบเนียนลงตัว ทำให้สะพานแสงคำ เป็นนวนิยายรักข้ามภพข้ามเวลาที่มีเสน่ห์ชวนติดตาม สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551
ยิ่งฟ้ามหานที
ปัญหาเกี่ยวกับผู้สูงอายุนับเป็นปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งที่เกิดในสังคมที่วิทยาการด้านสาธารณสุขมีความเจริญก้าวหน้าอย่างสูง คนอายุยืนขึ้นทำให้ผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และในขณะเดียวกันสังคมมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครอบครัว ครอบครัวมีลักษณะเป็นครอบครัวเดี่ยวมากยิ่งขึ้น ลูกแต่งงานแล้วแยกย้ายจากครอบครัวของพ่อแม่ออกไปสร้างครอบครัวใหม่ของตนเอง ทำให้การดูแลพ่อแม่ผู้สูงอายุท้าทายสำนึกความคิดและการตัดสินของผู้เป็นลูก นวนิยายเรื่องยิ่งฟ้ามหานที ของกนกวลี พจนปกรณ์ นำเสนอปัญหาเหล่านี้ไว้อย่างเข้มข้นผ่านเรื่องราวของครอบครัวหนึ่งที่มีแม่เป็นอัมพาตครึ่งซีกเพราะเส้นโลหิตในสมองแตก กำไลแก้วลูกสาวคนสุดท้องซึ่งยังเป็นโสดเป็นผู้ดูแลแม่เพราะพี่น้องคนอื่นต่างมีภาระเรื่องครอบครัวของตน ครอบครัวนี้ไม่มีปัญหาด้านการเงินที่ต้องใช้ในการดูแลรักษาพยาบาลแม่ผู้เจ็บป่วย เพราะพี่ ๆ มีฐานะมั่งคั่งจึงยินดีรับภาระค่าใช้จ่ายทุกอย่างซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก แต่ทิ้งภาระการพยาบาลดูแลเป็นของน้องสาว กำไลแก้วมีงานทำในบริษัทต่างชาติแห่งหนึ่ง และกำลังตกหลุมรักชายคนหนึ่งอย่างจริงจัง การดูแลแม่ซึ่งเจ็บป่วยทางกายยังไม่หนักหนาเท่ากับการดูแลจิตใจที่เปราะบาง เพราะร่างกายที่เจ็บป่วยพลอยทำให้จิตใจของนางอุบลป่วยไข้ไปด้วย นอกจากควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกายไม่ได้แล้ว นางยังควบคุมอารมณ์ตนเองไม่ได้ และเรียกร้องให้กำไลแก้วอยู่ใกล้ชิดตลอดเวลา กำไลแก้วจึงอยู่ในภาวะถูกกดดันจากแม่ จากคนรัก และจากความเข้มงวดของเจ้าของบริษัท ดังนั้น โครงการพาแม่ไปอยู่ที่สถานพยาบาลที่พี่ ๆ เคยนำเสนอจึงถูกรื้อฟื้นมาทบทวนกันใหม่อีกครั้ง และในที่สุดลูก ๆ ทุกคนเห็นพ้องว่าการที่แม่อยู่ในสถานพยาบาลเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน เพราะแม่จะได้รับการดูแลจากแพทย์และพยาบาลตลอดเวลา ส่วนลูก ๆ จะได้ดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างอิสระ แต่หลังจากนั้นกำไลแก้วก็พบว่าเป็นการตัดสินใจที่ผิด นวนิยายเรื่องนี้แสดงความขัดแย้งในใจของตัวละครผู้เป็นแม่และผู้เป็นลูกโดยเฉพาะกำไลแก้วที่เป็นตัวเอกของเรื่องจนทำให้ผู้อ่านสะเทือนอารมณ์อย่างยิ่ง ความรักของแม่ที่ไม่อยากให้ลูกลำบากกายลำบากใจ และความรู้สึกผิดในใจของลูกที่ไม่ทุ่มเทเสียสละอย่างเต็มที่เพื่อแสดงความรักและความกตัญญูต่อแม่ เชือดเฉือนใจผู้อ่านให้แทบน้ำตารินไปพร้อมกับตัวละคร ผู้เขียนใช้ภาพเปรียบเทียบครอบครัว 2 ครอบครัวที่มีปัญหาการดูแลคนในครอบครัวที่เป็นอัมพาตเหมือนกัน ครอบครัวของอมาตย์ดูแลพี่ชายที่เป็นอัมพาตด้วยความรักความเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต ทุกคนดีใจที่มีโอกาสมอบความรักให้คนที่ตนรักได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องเสียใจหรือเสียดายภายหลัง ส่วนครอบครัวของกำไลแก้วให้แม่ไปอยู่สถานพยาบาลที่เลือกเฟ้นอย่างดี แต่เมื่อกำไลแก้วรับรู้และมองเห็นสายใยแห่งความรักที่อวลอุ่นอยู่ในบ้านของอมาตย์ก็ทำให้กำไลแก้วมีกำลังใจ และมองเห็นหนทางคลี่คลายปัญหาของตนเพื่อที่จะได้ดูแลแม่อย่างใกล้ชิดที่บ้านตลอดไป ยิ่งฟ้ามหานทีเป็นนวนิยายสะท้อนสังคมที่เสนอให้เห็นว่าแม้การส่งบุพการีผู้ชราและเจ็บป่วยไปอยู่สถานพยาบาลจะเป็นทางเลือกหนึ่งที่สะดวกสำหรับคนในสังคมไทยปัจจุบัน แต่น่าจะเป็นเพียงทางเลือกสุดท้าย เพราะแท้ที่จริงแล้วผู้เป็นลูกยังมีทางออกที่งดงามอยู่ ขอเพียงแต่ยึดมั่นในความรักต่อพ่อแม่ ยอมเสียสละความสุขส่วนตนเพราะเป็นโอกาสสุดท้ายแล้วที่จะได้ตอบแทนความรักอันยิ่งใหญ่ของบุพการี ด้วยคุณค่าด้านเนื้อหา ความคิด และกลวิธีทางวรรณศิลป์ นวนิยายเรื่องยิ่งฟ้ามหานที จึงได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2551
มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ
‘มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ’ ของ ‘สีฟ้า’ เป็นนวนิยายที่สะท้อนภาพเมืองไทยในยุคปัจจุบัน ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม วิถีชีวิต ความเชื่อ ตลอดจนคตินิยม ของผู้คนทั้งในเมืองและชนบท ทั้งผู้ที่ทำหน้าที่ในการปกครองท้องถิ่นหรือประเทศชาติกับราษฎรที่อยู่ภายใต้การปกครองดังกล่าว ‘มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ’ เป็นนวนิยายแนวอุดมคติซึ่งให้ข้อคิดและมุมมองอันทรงคุณค่า ขณะเดียวกันก็เป็นกำลังใจแก่ผู้ที่เสียสละผลประโยชน์และความสุขส่วนตนเพื่อธำรงไว้ซึ่งอุดมการณ์และความถูกต้อง รวมทั้งย้ำเตือนให้ตระหนักว่าจิตของมนุษย์นั้น แม้จะเป็นคนที่ใกล้ชิดหรือสนิทสนมกันเพียงไรก็ยังยากจะหยั่งถึง
ร้านหัวมุม
นวนิยายเรื่องนี้ เป็นเรื่องราวของผู้หญิงสาวที่ดำเนินธุรกิจร้านขายเบเกอรี่เล็ก ๆ ซึ่งต้องต่อสู้กับการแข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่ ด้วยความมุ่งมั่นทำให้เธอฝ่าฟันอุปสรรคทางธุรกิจไปได้ นอกจากนี้ ยังเป็นนวนิยายอ่านสนุก ด้วยเรื่องราวความรักของตัวละครเอก ผู้ประพันธ์มีความสามารถในการใช้ภาษาที่ละเมียดละไม มีอารมณ์ขัน สามารถทำให้ผู้อ่านเพลิดเพลินไปได้ตลอดทั้งเรื่อง
นวัต-กรรม 4.0
นวัต-กรรม 4.0 เป็นนวนิยายสะท้อนภาพสังคมสมัยใหม่ที่วิทยาการและเทคโนโลยีล้ำยุคเข้ามามีบทบาทกำหนดวิถีการดำเนินชีวิตของคนในสังคม ข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์รวมทั้งอุปกรณ์ประกอบที่ช่วยให้การค้นหาข้อมูลข่าวสาร การติดต่อสื่อสาร และการแสวงหาความบันเทิงหลากหลายรูปแบบเป็นไปได้อย่างง่ายดายและกว้างขวาง โทรศัพท์มือถือที่มีคุณสมบัติและหน้าที่การใช้งานเท่าเทียมกับคอมพิวเตอร์เครื่องเล็ก ๆ เครื่องหาตำแหน่งที่ตั้งด้วยดาวเทียมหรือจีพีเอส แม้กระทั่งความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่ไม่เพียงสามารถรักษาโรคภัยต่าง ๆ แต่ยังสามารถเปลี่ยนแปลงเพศของมนุษย์ได้อีกด้วย สิ่งเหล่านี้ ในด้านหนึ่งย่อมช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่เข้าถึงได้สะดวกสบายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลให้คนต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตของตนไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ชัยกร หาญไฟฟ้า นำชีวิตของคนที่เชื่อและใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีดังกล่าวมาสนองความต้องการและแก้ปัญหาในชีวิตของตนในรูปแบบต่าง ๆ มาผูกเป็นเรื่องราว โดยเริ่มจากภาพที่ดูกระจัดกระจาย แล้วค่อย ๆ เลื่อนเข้ามาสัมพันธ์กัน คล้ายกับการต่อภาพจิ๊กซอว์ จนนำไปสู่จุดสุดท้ายของเรื่อง ทำให้ผู้อ่านได้ภาพที่สมบูรณ์ของนวนิยายเรื่องนี้ในที่สุด ผู้เขียนใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านประสบการณ์และความคิดของตัวละครหลักที่ต่างก็มีแนวทางการดำเนินชีวิต ปมปัญหา และวิธีแก้ปัญหาต่างกันไป ตัวละครทุกตัว รวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล้วนเป็นคนและเรื่องธรรมดาสามัญที่เราอาจพบเจอได้เสมอในสังคมปัจจุบัน แต่เมื่อนำมาเรียงร้อยอยู่ในรูปนวนิยาย ชัยกร หาญไฟฟ้าก็ทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงแง่มุมและหลุมพรางบางประการของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้า นวัต-กรรม 4.0 จึงไม่เป็นเพียงนวนิยายที่อ่านสนุกเท่านั้น แต่ยังทำให้เราฉุกคิดและตั้งคำถามกับหลายสิ่งหลายอย่างที่เราประสบอยู่ทุกวันนี้ด้วย
ตะวันเบิกฟ้า
ตะวันเบิกฟ้า บทประพันธ์ของปิยะพร ศักดิ์เกษม เป็นเรื่องราวของชีวิตในครอบครัวใหญ่ที่ฉายภาพของสังคมไทยในช่วง พ.ศ. 2498 ถึงราว พ.ศ.2506 อันเป็นช่วงเหตุการณ์ที่สังคมไทยเพิ่งผ่านพ้นสงครามโลกครั้งที่สองมา ความผันผวนของเหตุการณ์ในสังคมไทยขณะนั้นได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของคนไทยโดยส่วนรวม แต่ทว่าครอบครัวใหญ่ซึ่งมีประมุขของครอบครัวเป็นคนเด็ดขาด เรียบง่าย วางชีวิตของทุกคนในครอบครัวให้ดำรงอยู่ได้ด้วยระเบียบของศีลธรรมจรรยา อีกทั้งยังแก้ไขปัญหาของครอบครัวอย่างใช้สติปัญญา จึงประคับประคองให้ชีวิตของทุกคนในครอบครัวดำเนินไปด้วยความผาสุก แต่กระนั้นผู้ประพันธ์ก็ชี้ให้เห็นว่าคนในครอบครัวเดียวกัน ก็มิได้มีความคิดและแนวทางในการดำเนินชีวิตในทางเดียวกัน ผู้ประพันธ์ได้สร้างตัวละครที่เป็นคู่เปรียบเทียบอันแสดงให้เห็นถึงฝ่ายที่ใช้ชีวิตอย่างเรียบง่ายและมีสติ กับอีกฝ่ายที่ดำเนินชีวิตอยู่ในความลุ่มหลง ปล่อยให้โมหะและโทสะเข้าครอบงำ จนกระทั่งต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด นวนิยายเรื่องตะวันเบิกฟ้า จึงเป็นนวนิยายที่ชี้ให้เห็นถึงปรัชญาการดำเนินชีวิตในทางที่ถูกที่ควร และเป็นนวนิยายที่แสดงให้เห็นว่าชีวิตมนุษย์ล้วนตกอยู่ภายใต้เงื่อนไขของครอบครัว ความรัก สังคม เครือญาติ และแม้กระทั่งจิตใจตนเอง ปัจจัยเหล่านี้ทำให้มนุษย์ตกอยู่ภายใต้ชะตากรรมบางอย่าง มนุษย์จึงจะต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติและมีปัญญา จุดเด่นของนวนิยายเรื่องนี้คือกลการประพันธ์ซึ่งเสนอให้เห็นถึงวิธีการเล่าเรื่องที่ค่อย ๆ เปิดเผยบุคลิกลักษณะของตัวละครให้ผู้อ่านได้ทราบและติดตาม โดยการใช้ลีลาภาษาที่เปี่ยมไปด้วยวรรณศิลป์ เป็นภาษาเก็บละเอียดทำให้ผู้อ่านเห็นภาพตามที่ผู้ประพันธ์ต้องการสื่อออกมา และยังนำเรื่องราวในอดีตอันเป็นรายละเอียดของฉากในเรื่องมาสอดแทรกไว้ได้อย่างเหมาะเจาะลงตัว นวนิยายเรื่องตะวันเบิกฟ้า จึงเป็นนวนิยายที่มีแง่งามทั้งทางด้านวรรณศิลป์ เป็นนวนิยายที่เสนอให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับชีวิตอันจะเป็นแบบอย่างให้แก่ผู้อ่านได้ และยังเป็นนวนิยายที่มีคุณค่าในฐานะบันทึกประวัติศาสตร์สังคมได้อย่างมีชีวิตชีวาอีกด้วย
ลับแล, แก่งคอย
ลับแล,แก่งคอย นวนิยายของอุทิศ เหมะมูล เป็นเรื่องราวของเด็กหนุ่มวัยรุ่นที่พยายามขัดขืนกรอบชีวิตตามแนวทางเข้มงวดที่พ่อกำหนดให้ การหมกมุ่นอยู่กับความสูญเสียและความผิดหวังในชีวิตทำให้ตัวละครสร้างโลกจินตนาการเพื่อลวงตัวเองและลวงคนอื่น เขามีความสุขกับโลกลวงที่ทำให้สามารถกล่าวโทษคนอื่นได้สะใจ ทั้งพ่อผู้มีอัตตาสูง และแม่ผู้อ่อนแอ รวมทั้งแฝงตัวเป็นคนอื่นเพื่อปฏิเสธความเลวร้ายต่าง ๆ ที่ตนเองกระทำ ชีวิตอันสับสนของตัวละครคลี่คลายลงได้ก็ด้วยการมีสติ คือ ความรู้ตัว และปัญญา คือ ความรู้ทั่ว ทำให้ได้คิดอย่างมีเหตุมีผล ไม่งมงาย เพื่อยืนหยัดและยืนยันตัวตนแท้จริง นวนิยายเรื่องนี้ใช้กลวิธีการเล่าเรื่องสลับตัดฉากไปมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน และจงใจให้รายละเอียดของเรื่องราวต่าง ๆ มาก เหมือนกับจะแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับบุคคลหนึ่งมีผลสะเทือนถึงคนอื่น ๆ และสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตมีผลสะท้อนถึงปัจจุบัน แม้ผู้เขียนจะเล่าเรื่องผ่านมุมมองของตัวละครเอก ซึ่งน่าจะทำให้ผู้อ่านคล้อยตามความคิดของตัวละครนั้น แต่ในขณะเดียวกันผู้เขียนมีชั้นเชิงความสามารถที่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจพฤติกรรมและอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครอื่น ๆ ในแง่มุมที่แตกต่างไป ตัวละครในเรื่องจึงมีมิติลึกและซับซ้อนเช่นเดียวกับมนุษย์จริง การแสดงให้เห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือเรื่องใดเรื่องหนึ่งมีหลายมุมมองยังมีแทรกอยู่อีกหลายเรื่องหลายเหตุการณ์ รวมทั้งการที่ตัวละครผ่านพ้นวิกฤติชีวิตมาได้ แต่จะด้วยจิตบำบัด ความเชื่อไสยศาสตร์ หรือหลักธรรมทางพุทธศาสนาก็แล้วแต่จะมองจากมุมของใคร นอกจากนี้ ในระหว่างเรื่องเล่าของตัวละครเอก นวนิยายเรื่องนี้ยังบอกเล่าถึงความเคลื่อนไหวของสังคมไทยรวมทั้งความไม่เที่ยงแท้แน่นอนของสรรพสิ่ง และความเปราะบางของความสัมพันธ์ของมนุษย์ ที่อาจแตกหักลงง่าย ๆ เพียงเพราะยึดมั่นอยู่ในความคิดและวิถีทางของตนเอง นวนิยายเรื่องนี้มีเสน่ห์ทางวรรณศิลป์ที่การสร้างความคลุมเครือให้แก่ตัวละครและเหตุการณ์อยู่ตลอดทั้งเรื่อง กล่าวได้ว่าผู้เขียนจงใจเล่นกับความจริงและความลวง เพื่อแสดงให้เราเห็นว่าเมื่อสกัด สิ่งลวงต่าง ๆ ในชีวิตออกไปแล้ว ความจริงของชีวิตคือความงดงาม เฉกเช่นประติมากรที่สกัดส่วนเกินบนแท่งหินอ่อน เพื่อให้ได้รูปแกะสลักที่งดงามที่สุด
บุพเพสันนิวาส
บุพเพสันนิวาส เป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเหตุการณ์ในยุคอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ผู้แต่งนำเสนอเรื่องราวที่เกิดขึ้นในสมัยดังกล่าวผ่านพฤติกรรม มุมมอง และความรู้สึกนึกคิดของตัวละครเอกซึ่งเป็นคนในปัจจุบันสมัยที่ข้ามภพไปมีชีวิตอยู่ในโบราณสมัย ทำให้เห็นความแตกต่างกัน ในด้านสังคมและวัฒนธรรมอันเนื่องด้วยเงื่อนไขแห่งกาลเวลา ลักษณะเนื้อหาของนวนิยายเรื่องนี้จึงน่าสนใจ ชวนอ่านชวนติดตาม ความเด่นของนวนิยายเรื่องบุพเพสันนิวาสอยู่ที่ผู้แต่งได้พยายามศึกษาค้นคว้าหลักฐานทางประวัติศาสตร์และสังคม นำมาเป็นข้อมูลหลักผสมผสานกับจินตนาการของตน แล้วสร้างสรรค์องค์ประกอบต่างๆ ขึ้นสื่อแสดงเรื่องราว ภาพ และบรรยากาศของสังคมในยุคอยุธยาได้อย่างสอดคล้องกลมกลืน ด้วยการใช้สำนวนภาษาที่สมสมัย ด้วยลีลาที่มีชีวิตชีวาและมีอารมณ์ขันทำให้อ่านได้สนุกสนานเพลิดเพลิน จึงนับได้ว่าบุพเพสันนิวาสเป็นนวนิยายย้อนยุคที่ทรงคุณค่าเรื่องหนึ่งในปัจจุบัน
ธนูสายฟ้า
ธนูสายฟ้า เป็นผลงานประพันธ์ของมาลา คำจันทร์ นวนิยายเรื่องนี้ได้นำพาผู้อ่านกลับไปสู่โลกของนิทานพื้นบ้านในอดีต แม้ผู้ประพันธ์จะใช้รูปแบบการนำเสนอแบบนวนิยายสมัยใหม่ แต่กลการประพันธ์ของนวนิยายเรื่องนี้สืบขนบการแต่งเรื่องแบบนิทานอย่างชัดเจน ดังจะเห็นว่าผู้ประพันธ์ได้สร้างเนื้อหาให้เวียนวนอยู่ในโลกของจินตนาการมากกว่าความสมจริง มีการสร้างตัวละครแบบวีรบุรุษ การใช้อนุภาคของนิทานพื้นบ้าน เช่น การซ่อนตัวของตัวละคร การติดตามหาของวิเศษ การพบและพลัดพราก การสร้างฉากมหัศจรรย์ การสร้างตัวละครอมนุษย์ ฯลฯ ผู้ประพันธ์ได้สร้างสรรค์จินตนาการแปลกๆ ใหม่ๆ โดยนำมาผสานกับคติชนของล้านนาและการที่ผู้ประพันธ์ใช้ภาษาถิ่นล้านนาสอดแทรกอยู่ตลอดเรื่อง ทั้งในด้านคำศัพท์และความเปรียบ ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ มีความโดดเด่นด้านการแสดงสีสันของท้องถิ่นอีกด้วย ธนูสายฟ้า จึงนับเป็นตัวอย่างของงานวรรณกรรมที่ “เล่น” และ “ล้อ” กับขนบการประพันธ์ในอดีตและทำให้ประจักษ์ว่าในโลกสมัยใหม่ นิทานยังมีบทบาทในด้านการสร้างจินตนาการและความบันเทิงให้แก่คนในสังคม
เสือเพลินกรง
เสือเพลินกรง บทประพันธ์ของผาด พาสิกรณ์ นักเขียนหน้าใหม่ในวงวรรณกรรม แต่หากบอกว่าชื่อจริงของเขาคือ วิษณุฉัตร วิเศษสุวรรณภูมิ คงไม่แปลกใจนักว่าเขาเป็น “ลูกไม้ที่หล่นไม่ไกลต้น” เสือเพลินกรง เป็นนวนิยายเรื่องแรกของผาด พาสิกรณ์ ลงพิมพ์เป็นตอน ๆ ในนิตยสารรายปักษ์เป็นเวลา 2 ปีกว่า จึงนำมารวมเล่มเป็นหนังสือหนา 734 หน้า นวนิยายเรื่องนี้บอกเล่าเรื่องราวของกลุ่มสหาย 6 คน ที่หัวหกก้นขวิดด้วยกันในโรงเรียนประจำมาตั้งแต่เรียนชั้นประถม ต่อมาสองคนถูกแยกกลุ่มส่งตัวไปเรียนในต่างประเทศเมื่อจบชั้นมัธยมสามเพราะความ “เฮี้ยวเกินพิกัด” จนโรงเรียนต้องเชิญออก หนุ่มห้าวกลุ่มนี้ ต่างคนต่างเติบโตมีวิถีชีวิตและอาชีพการงานของตน มูลเหตุที่ดึงให้ผองเพื่อนทั้ง 6 คนกลับมาร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างใกล้ชิดอีกครั้งเริ่มจากเพื่อนคนหนึ่งต้องรับหน้าที่ดูแลลูกสาวของเพื่อนอีกคนหนึ่งที่ฝากฝังไว้ก่อนทำตัวหายสาบสูญไปจากสังคมตัวละคร ผู้เล่าเรื่องจึงต้องวุ่นวายกับการทำหน้าที่ “พ่อ” ให้เด็กสาววัยรุ่นไปพร้อมกับการผจญกับปัญหากลยุทธ์ทางธุรกิจในบริษัทโฆษณาที่ตนทำอยู่ การสืบหาข่าวคราวของเพื่อนผู้ทำตัวสาบสูญ การหวนคิดย้อนคืนกลับไปสู่อดีตเยาว์วัยอันโลดโผนของตนและผองเพื่อน และการตัดสินใจกำหนดเส้นทางชีวิตในอนาคตของตน นวนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง สร้างความบันเทิงแก่ผู้อ่านด้วยอารมณ์ที่คละเคล้ากันระหว่างความซาบซึ้งใจในมิตรภาพของผองเพื่อนผู้เกื้อกูลกันอย่างไม่มีข้อจำกัด และความหวานซึ้งของความรักต่างวัยที่ค่อยๆ กระชับระยะห่างจนใกล้ชิดด้วยการเปิดใจและเข้าใจ นอกจากนี้ยังเจือความเข้มทางอารมณ์ด้วยการเผยข้อมูลเล่ห์เหลี่ยมกลยุทธ์ของการโฆษณาที่เอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคล่อหลอกเด็กและเยาวชนให้หมกมุ่นอยู่กับรสนิยมและค่านิยมที่ไม่ถูกต้อง อีกทั้งยังระทึกใจกับการคลี่คลายเรื่องราวของเพื่อนผู้สาบสูญที่บรรดาเพื่อน ๆ ช่วยกันแกะรอยจากหลักฐานต่าง ๆ ที่ทิ้งไว้อย่าง แยบยล สาระและบันเทิงของนวนิยายเรื่องนี้ถูก “ปรุงรส” ด้วยกลวิธีทางวรรณศิลป์ที่นวลเนียนด้วยการสร้างตัวละครมีชีวิตชีวามีบุคลิกเฉพาะตัว เวลาในเรื่องที่ตัดสลับไปมาระหว่างอดีตและปัจจุบันบทสนทนาที่ใกล้เคียงคำพูดที่ใช้ในชีวิตจริงเหมาะสมกับกาลเทศะและบุคลิกของตัวละคร การแทรกทัศนะวิพากษ์วิจารณ์สังคม อย่างแหลมคมชวนคิด การแฝงอารมณ์ขันในถ้อยคำสำนวนที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ และการสร้างลีลาภาษาเฉพาะตัวที่โดดเด่นจนเป็นอัตลักษณ์ ซึ่งสะท้อนพรสวรรค์ความเป็นนักเขียนอย่างชัดเจนทั้ง ๆ ที่เป็นผลงานเขียนเรื่องแรก แม้นวนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง จะเป็นเรื่องราวของคนกลุ่มเล็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง แต่ก็ชวนให้ผู้อ่านคิดไกลไปว่าเราทั้งผองต่างเพลิดเพลินอยู่ในกรอบกรงของสังคม จนอาจลืมคิดไปว่าการใช้ชีวิตอย่างมีอิสระเสรีนั้นเป็นอย่างไร ดังนั้นเพียงแค่เราใจกล้าพอที่จะทลายกรอบกรงนั้น เราก็จะได้ลิ้มรสความหวานหอมของอิสรภาพแห่งชีวิต ด้วยคุณค่าโดดเด่นทางด้านเนื้อหา ความคิด ภาษาและกลวิธีทางวรรณศิลป์ นวนิยายเรื่อง เสือเพลินกรง จึงได้รับการตัดสินให้ได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2553
บุษบาเร่ฝัน
ความทุกข์ที่กัดกร่อนใจมนุษย์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันคือความอิจฉา มนุษย์ส่วนใหญ่ม้กไม่พอใจในสิ่งที่ตนเองมีและเป็น “ร่มแก้ว” นำเสนอความคิดนี้ผ่านหญิงสาวคนหนึ่งที่ไม่มีอะไรโดดเด่นไม่ว่าหน้าตา การเรียน ความสามารถในการทำงาน เธอกลืนหายไปในหมู่ผู้คน เธอมักคิดเปรียบเทียบตนเองกับคนอื่นอยู่เนือง ๆ และเฝ้าฝันแต่เพียงว่าเธอจะเป็นเช่นนั้นบ้างเพราะเธอรู้ตัวดีว่าไม่อาจปรับบุคลิก เปลี่ยนนิสัย รื้อภูมิหลัง หยิบฉวยพรสวรรค์ของใครมาเป็นของตนเองได้ นอกเสียจากว่าปาฏิหาริย์จะบังเกิด เหมือนชะตากรรมเล่นตลก สิ่งสมมติในใจเธอกลับเป็นจริง เธอสวมชีวิตของคนอื่นที่เอาเข้าจริง ๆ แล้วก็ไม่ได้หรูเลิศวิไลดังในความฝัน ทุกชีวิตล้วนมีปัญหา มีความลับที่ซ่อนเร้นมีทุกข์ที่แบกไว้ซึ่งผู้อื่นไม่เคยล่วงรู้ ในร่างของคนอื่น เธอได้มองตัวเองและเห็นชีวิตที่ผ่านมาซึ่งอาภัพและอับโชค ว่าช่างดีเสียยิ่งกว่าชีวิตของคนอื่นที่เธอเคยอิจฉา เธอเคยมองข้ากระทั่งความรักความปรารถนาดีของผู้คนที่รายร้อม เฝ้าครุ่นคิดแค้นเคืองโชคชะตา แต่แล้วในที่สุดโชคชะตาก็กลั่นแกล้งเธอ “ร่มแก้ว” สามารถนำเสนอชีวิตของผู้หญิงสี่คนสี่แบบได้อย่างมีมิติ ทุกคนมีทุกข์ที่ต้องทน มีฝันที่ต้องก้าว มีความรักที่อยากครอบครอง “สลับร้างสร้างเรื่อง” ไม่ใช่กลวิธีใหม่ แต่ “ร่มแก้ว” สามารถใช้กลวิธีนี้ดำเนินเรื่องอย่างน่าติดตาม และคนอ่านเอาใจช่วยให้ปาฏิหาริย์บังเกิดแม้จวนเจียนจะหมดหวัง ราวกับแฝงนัยว่าการเป็นคนอื่นที่ไม่ใช่ตัวเราเป็นเรื่องยาก แต่การหวนกลับมาเป็นตัวเราที่เปลี่ยนไปเป็นคนอื่นแล้วแสนลำเค็ญเสียยิ่งกว่า สารของเรื่องนี้ชวนให้ฉุกคิดย้อนทบทวนมองหาความสามารถที่ไม่เคยรู้ตัวว่ามี ให้ภูมิใจในตัวเอง รักในสิ่งที่มี เห็นคุณค่าในสิ่งที่เป็น เพราะนั่นคือพรอันประเสริฐยิ่งที่มนุษย์พึงมอบให้แก่ตนเอง คณะกรรมการตัดสินประเภทนวนิยาย รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี พ.ศ. 2554 ลงมติให้นวนิยายเรื่องบุษบาเร่ฝันได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
โลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า
ศิริวร แก้วกาญจน์ สร้างสรรค์นวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้า โดยนำเสนอประเด็นเนื้อหาในระดับมหาภาค นั่นคือการทำล้างเผ่าพันธุ์ที่ผู้มีอำนาจกระทำต่อชนกลุ่มน้อย การต่อสู้กับอำนาจเผด็จการทหารเพื่อสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตย และอำนาจทุนนิยมที่ฉกฉวยประโยชน์ทุกวิธีแม้กระทั่งจุดไฟสงคราม เรื่องราวของกระเหรี่ยงอพยพหนีทหารพม่าที่ปล้น ฆ่า ข่มขืน บ้านเรือนถูกเผา ครอบครัวกระเจิดกระเจิงพลัดพราก และเรื่องราวของนักศึกษาพม่าที่หลบหนีลี้ภัยจากการกวาดล้างของรัฐบาลทหารมาใช้ชีวิตในค่ายอพยพและเมืองเล็กบริเวณตะเข็บชายแดนไทย-พม่า รวมทั้งเรื่องราวชองประชาชนพม่าที่ถูกกดขี่รังแกต้องหลบซ่อนในป่าเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศของตนเอง ถูกถ่ายทอดในนวนิยายชื่อยาวนี้ด้วยเทคนิควิธีต่าง ๆ ได้แก่ การเล่าเรื่องตัดสลับไปมาที่ทำให้เวลาเลื่อนไหลอยู่ระหว่างอดีตกับปัจจุบัน การใช้ภาพเหนือจริง การแทรกตำนานและนิทานพื้นบ้าน เรื่องราวของคนชายขอบ นัยเปรียบเทียบระหว่างความทุกข์เศร้าส่วนตัวกับความทุกข์เศร้าของมนุษยชาติ และการใช้รูปแบบของนวนิยายที่แทรกด้วยบันทึกส่วนตัวของตัวละครผู้เล่าเรื่อง ซึ่งเป็นการสร้างเรื่องเล่าคู่ขนาน 2 เรื่อง เพื่อทำลายนิยามของนวนิยายตามขนบเดิม กลวิธีทางวรรณศิลป์ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ทำให้นวนิยายเรื่องนี้เป็นวรรณกรรมสร้างสรรค์ที่มีลักษณะของคตินิยมหลังสมัยใหม่ (post-modernism) อันเป็นพัฒนาการของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย ความโดดเด่นของนวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสสตร์ความเศร้าอยู่ที่การสร้างบรรยากาศของความเศร้าที่กัดกินใจของผู้อ่าน แววตาหม่นมัว ใบหน้าโศกหมอง น้ำตาที่ต้องกักกั้นกันไว้ในอกเพื่อไม่ให้ความเศร้าแพร่ออกไปสู่ผู้อื่นเหมือนโรคระบาด ความหวาดกลัว หวั่นระแวง ที่เกาะกุมใจจนแทบไม่อาจควบคุมสติ ลมหายใจแห่งความหม่นหมอง มืดมน มัวซัว สลดหดหู่ ไร้ความหวัง ระบาดอยู่แทบทุกบรรทัด ผู้อ่านจึงได้ซึมซับความรู้สึกสูญเสียของคนที่ถูกปล้นชิงทรัพย์สิน และความเป็นคน และเศร้าสร้อยไปกับความเจ็บปวดของคนพลัดถิ่นที่มี่แผ่นดินใต้ฝ่าเท้าให้เหยียบยืน นวนิยายเรื่องนี้บอกเราว่า ยิ่งโลกก้าวรุดไปข้างหน้า มนุษย์ก็ยิ่งถอยห่างจากความรัก ความดีงาม ความเข้าใจเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกันซึ่งเคยหลักรากอยู่ในจารีตวัฒนธรรมเก่าแก่มากยิ่งขึ้น นวนิยายเรื่องโลกประหลาดในประวัติศาสตร์ความเศร้าจึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2554
น้ำเล่นไฟ
นวนิยายเรื่องน้ำเล่นไฟของกฤษณา อโศกสิน นำเสนอคุณค่าของอาชีพเกษตรกรรม ผ่านเรื่องราวของครอบครัวเกษตรกรหัวก้าวหน้าไปพร้อมกับครอบครัวเศรษฐีเจ้าของตลาดสดสมัยใหม่ ทั้งสองครอบครัวมีลักษณะที่เหมือนกันคือประกอบอาชีพด้วยจิตใจมุ่งมั่น ขยันขันแข็ง อดทน และดำรงตนด้วยความซื่อสัตย์ อดออม ประกอบกับใช้สติปัญญาความรู้ที่สืบทอดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมของบรรพบุรุษ และนำแนวพระราชดำริเรื่องเกษตรทฤษฎีใหม่และหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการทำมาหาเลี้ยงชีพและดำรงตน ให้พอดี พอประมาณ และพอใจ อันสร้างความสุขแก่บุคคลและสังคมอย่างยั่งยืน เส้นทางของเกษตรกรผู้ผลิตสินค้าคุณภาพ ปลอดสารพิษ ที่ใส่ความรักความอาทรลงในทุกพืชผลและพื้นดิน รับผิดชอบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อม จึงมาบรรจบกับนายทุนเจ้าของตลาดผู้มีเจตนารมณ์ในการจำหน่ายสินค้าดี สร้างเสริมคุณภาพชีวิตแก่ผู้บริโภค พร้อมกับดำเนินธุรกิจของตนให้เป็นตลาดสดครบวงจรที่สะอาด สะดวก ปลอดภัย เป็นธรรม และเป็นมิตรทั้งผู้ขายและผู้ซื้อ นายทุนและเกษตรกรดูเหมือนจะเป็นคู่ตรงข้าม โดยฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เอาเปรียบ อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้เสียเปรียบ แต่ในนวนิยายเรื่องนี้ ผู้ประพันธ์แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่แลดูเหมือนอยู่คนละขั้ว คนละฝ่าย อาจจะไม่ใช่สิ่งที่แย้งกัน หากแต่อาจจะเป็นสิ่งที่เสริมให้อีกฝ่ายหนึ่งโดดเด่นขึ้นเมื่อความสัมพันธ์นั้นเดินไปตามธรรมะ ตามธรรมชาติ น้ำเป็นสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับไฟ หากแต่แสงเจิดจ้าของไฟที่ส่องกระทบน้ำทำให้เกิดประกายระยิบระยับ คลื่นน้ำและแสงไฟจึงเล่นล้อกันไปมาเป็นภาพงดงามจับใจ ดังข้อความที่ผู้ประพันธ์บรรยายไว้ว่า “เมื่อยามลมพันมาพาเอาระลอกน้ำในนากุ้งแล่นละลิ่วพลิ้วตามกัน ครั้นกระทบแสงอาทิตย์อันกราดกล้า ก็ยิ่งสะท้อนประกายพาให้น้ำระยิบระยับจับนัยน์ตามจำเริญใจ” ดังนั้น นวนิยายเรื่องน้ำเล่นไฟจึงเสนอให้เห็นว่านายทุนเกษตรกรต่างต้องพึ่งพาเกื้อกูลส่งเสริมซึ่งกันและกัน อันเป็นการดำเนินเศรษฐกิจแบบสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมคุณภาพของชีวิต คุณภาพของสังคม คุณภาพของประเทศชาติ และคุณภาพของประชาคมโลกในที่สุดถึงแม้ว่านวนิยายเรื่องนี้จะนำเสนอประเด็นทางสังคมที่หนักหน่วง แต่ผู้ประพันธ์ก็มิได้ละเลยเสน่ห์ของนวนิยายที่ชวนอ่านด้วยการสร้างปมขัดแย้งในครอบครัว ปมขัดแย้งในใจของตัวละคร และความไม่ลงรอยกันของตัวละครคู่เอก ซึ่งในที่สุดก็คลี่คลายลงด้วยดี เพราะมีความรักและอุดมคติไปในทิศทางเดียวกัน ด้วยเหตุที่นวนิยายเรื่องน้ำเล่นไฟมีความโดดเด่นในด้านเนื้อหาแนวคิดที่สร้างสรรค์ การสร้างตัวละครที่มีชีวิตชีวา การนำเสนอรสอารมณ์ที่บันเทิงใจ ภาษาและกลศิลป์ที่เนียนงามด้วยฝีมือของผู้ประพันธ์ที่ได้รับการเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ คณะกรรมการจึงมีมติให้นวนิยายเรื่องนี้ได้รับรางวัลชนะเลศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประจำปี 2554
ในอ้อมกอดกาลี
นวนิยายเรื่องนี้แสดงความร่วมสมัยด้วยการสะท้อนภาพสังคมไทยในปัจจุบันที่ทุกจุดและทุกส่วนกำลังจ่อสู่ปัญหา ผู้เขียนสร้างตัวละครชุดหนึ่งขึ้นมาเป็นตัวแทนของบุคคลในกลุ่มปัญหาเหล่านั้น อันได้แก่ วัยรุ่นที่สถาบันครอบครัวล่มสลาย นายทุนผู้ล้มเหลวในธุรกิจและชีวิต ข้าราชการตกอยู่ในร่างแหอันยุ่งเหยิงของการใช้อำนาจ และชาวบ้านผู้งมงายและยากแค้นอยู่กับการหาเช้ากินค่ำ ตัวละครเหล่านี้ต่างถูกครอบงำด้วยกลไกอำนาจรัฐ อำนาจทุนนิยมและอำนาจธรรมชาติ ราวกับถูกโอบล้อมไว้ด้วยอ้อมกอดกาลี ทางแก้ทางเดียวที่ผู้เขียนเห็น แต่สิ้นหวังเสียแล้วในเรื่องนี้ก็คือ ความรักที่มนุษย์พึงมีต่อกัน ความโดดเด่นของเรื่องนี้ไม่เพียงแต่อยู่ที่ความเข้มข้นของเนื้อหาความจริงอันน่าตระหนกตกใจ แต่ยังอยู่ที่กลวิธีของนวนิยายคล้ายสืบสวนสอบสวนแต่กลับปิดฉากด้วยปรากฏการณ์ธรรมชาติได้อย่างสมจริงและสะท้านใจ
ในรูปเงา
นวนิยายเล่มบางเรื่องในรูปเงา ของ เงาจันทร์ ผูกเรื่องจากปมของความรักและความแค้นอันเป็นกิเลสสำคัญที่สามารถเปลี่ยนแปลงชีวิตมนุษย์จากหน้ามือเป็นหลังมือ นวนิยายเรื่องนี้ใช้โครงเรื่องตามขนบที่นิยมกันแบบหนึ่ง คือ โครงเรื่องรักสามเส้า ซึ่งมี 2 วงเหลื่อมซ้อนกัน วงแรกคือความรักของพร้อม พลิ้ว และเจ้าดอกรุงรัง ซึ่งเป็นวัวที่พร้อมซื้อมาให้พลิ้วเลี้ยงตั้งแต่ยังเล็ก แต่เขาเคยเขียนตีมันอย่างรุนแรงเพื่อระบายความเจ็บแค้นในใจ เจ้าดอกรุงรังจึงอาฆาตแค้นพร้อมไม่รู้เลิกรา พลิ้วจึงมีทั้งความรักและความแค้นให้เจ้าวัวเลี้ยงของตนไปพร้อม ๆ กัน รักสามเส้าวงที่สองคือความรักของพร้อม พลิ้ว และว่าน พลิ้วรักว่าน แต่ว่านรักพร้อม ส่วนพร้อมก็รักลูกชายของตนจึงยอมเก็บงำความลับเร้นเอาไว้ เมื่อพลิ้วล่วงรู้โศกนาฏกรรมจึงเกิดขึ้น เจ้าดอกรุงรังและว่านจึงพรากพร้อมและพลิ้วให้จากกันชั่วนิรันดร์กาล นวนิยายเรื่องนี้เป็นงานวรรณศิลป์ที่นำเสนอเรื่องเสน่หาอารมณ์อันเป็นธรรมชาติของสรรพสัตว์ นอกจากความรักความใคร่ของมนุษย์แล้ว ฉากของวัวหนุ่มกับวัวสาวที่กำลังติดสัด จริตของวัวสาวที่เย้ายวนวัวหนุ่มที่มันหมายปอง วัวสาวใจเสรีที่เลือกวัวหนุ่มแปลกหน้ามากกว่าวัวหนุ่มในฝูง ฉากหึงหวงของเหล่าวัวหนุ่มกลัดมันที่กลุ้มรุมทำร้ายวัวต่างถิ่นที่ได้ใจวัวสาวไปครอง ฉากอันน่าตื่นเต้นระทึกใจเหล่านี้ล้วนเป็นภาพสะท้อนของพฤติกรรมมนุษย์อย่างแยบคาย ดังนั้น เหล่าวัวในท้องทุ่ง โดยเฉพาะเจ้าดอกรุงรัง จึงไม่ใช่เป็นเพียงสัตว์เลี้ยงประกอบฉากทุ่งนา หากแต่เป็นเงาสะท้อนกลับไปกลับมาระหว่างธรรมชาติสัตว์กับธรรมชาติมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากจบของเรื่อง การชำระแค้นตามสัญชาตญาณของสัตว์ที่ถูกทำร้ายจนบาดเจ็บสาหัส กับการคุมแค้นของมนุษย์จนสามารถปล่อยให้ความตายเกิดขึ้นต่อหน้าต่อหน้าโดยไม่แยแส กลมกลืนรวมเป็นเนื้อเดียวกันจนไม่มีอะไรแตกต่าง ไม่ว่าคนหรือสัตว์ล้วนมีความดิบ เถื่อน ของสัญชาตญาณมืด ซึ่งหากขาดการควบคุมเสียแล้ว มนุษย์ผู้ประเสริฐก็ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉาน เพียงวาบเดียวของโทสะจริต ก็สามารถทำลายความรักและบุคคลที่รักได้หมดสิ้น นวนิยายเรื่องนี้จึงเป็นโศกนาฏกรรมที่บีบหัวใจผู้อ่านไม่แพ้นวนิยายรักคลาสสิกในอดีต ความรัก ความแค้น ความสวยงาม ความโหดร้าย ความนุ่มนวล ความดิบเถื่อน ต่างสอดร้อยกันไปมาอยู่ในพฤติกรรม ในอารมณ์ของมนุษย์และสัตว์ ในสีสันของต้นไม้ ดอกไม้ ของฝูงแมงปอริมคลองอันร่มรื่น ในรูปเงาที่เต้นไหวอยู่บนรั้วขัดแตะ เป็นองค์ประกอบที่จัดวางไว้ลงตัว ไม่ขาดไม่เกิน และหนุนส่งให้เรื่องราวในนวนิยายดำเนินไปอย่างมีพลังอารมณ์เข้มข้น ในรูปเงา เป็นนวนิยายที่สามารถตรึงผู้อ่านไว้กับตัวหนังสือตั้งแต่หน้าแรกไปจนหน้าสุดท้าย ระหว่างที่อ่านจะรู้สึกว่าเส้นประสาทกล้ามเนื้อขมวดเขม็งบิดเกลียวอยู่ข้างใน ใจเต้นระทึกตึกตัก บางครั้งรู้สึกเหมือนลืมหายใจ จนต้องระบายลมหายใจเฮือกใหญ่ที่กลั้นไว้อย่างไม่รู้ตัวเมื่อปิดหน้าหนังสือลง
โถงสีเทา
หากเปรียบชาตกรรมเป็นสีขาว ซึ่งหมายถึงจุดเริ่มต้นอันสว่างไสวของการเกิดและมรณกรรมเป็น สีดำ ซึ่งหมายถึง การดับวูบของแสงแห่งชีวิตไปสู่ความมืดมนอนธกาลของเขตแดนแห่งการไม่หวนคืน สีเทาที่อยู่ระหว่างภาวะแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ คงได้แก่ ความเจ็บไข้จากโรคาพยาธิและการเสื่อมไปของสังขาร ภายใน “โถงสีเทา” ซึ่งเป็นฉากหลักของนวนิยายชื่อเรื่องเดียวกันนี้ ผู้เขียนคือ “เข็มพลอย” ได้นำขั้วตรงข้ามหลายขั้ว ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสีดำ-สีขาวมาเผชิญหน้ากัน บางครั้งนำมาผสมผสานกันจนเป็นสีเทา หลายครั้งได้สลายขั้วตรงกันข้ามนั้นและคลี่คลายไปสู่ความเข้าใจร่วมกัน ผู้เขียนได้หยิบยื่นพื้นที่อันเท่าเทียมกันให้แก่ตัวละครหลัก 2 กลุ่มคือแพทย์และผู้ป่วยได้เปล่งเสียงของตนออกมา ผู้ป่วยโรคมะเร็งต้องต่อสู้ระหว่างความเป็น-ความตาย การรอดชีวิต-การพ่ายแพ้ต่อโรคร้าย รวมถึงชะตากรรมในเงื้อมมือญาติหรือคนในครอบครัวที่เลือกจะดูแลผู้ป่วยด้วยความเข้าใจหรือปล่อยไปตามยถากรรม ส่วนแพทย์เอง-ได้เผชิญหน้ากับหลายประเด็นที่เป็นกรณีวิพากษ์อันเผ็ดร้อนในสังคม เป็นต้นว่า จรรยาบรรณของแพทย์ การแปรเปลี่ยนอาชีพอันทรงเกียรติไปในเชิงพาณิชย์ การที่คนไข้หรือญาติคนไข้ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย หรือการร้องเรียนเนื่องจากการรักษาบกพร่อง จุดเด่นจุดด้อยของโรงพยาบาลรัฐ และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งครอบคลุมถึงการบริหารจัดการระบบสาธารณะสุขโดยรวม-มุมมองด้านลบต่อสถาบันการรักษาพยาบาล ได้รับการทำให้สมดุลผ่านทัศนะและภาพการทำงานของแพทย์กลุ่มหนึ่งที่ยังคงรักษาอุดมคติในการอุทิศตนให้แก่การผดุงชีวิตมนุษย์ ผู้อ่านได้เห็นภาพและเกิดความเข้าใจในการทำงานและสภาพจิตใจของคนทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างดี ท่ามกลางการชักเย่อระหว่างความเป็นและความตายในห้องโถงสีเทาอันเคร่งเครียด ผู้แต่งบรรเทาความหดหู่ของผู้อ่านด้วยการสอดแทรกสุนทรียะทางดนตรีเติมแต้มไปในฉากต่าง ๆ เพื่อให้เห็นว่าในท่ามกลางความเศร้าหมองเป็นทุกข์ของผู้ป่วยไข้และเหล่าญาติ ยังมีมิตรอารีผู้ให้กำลังใจด้วยเสียงดนตรี และด้วยการช่วยเหลือให้คำแนะนำ นอกจากนี้ ผู้เขียนไม่บกพร่องในการนำเสนอความเป็นนิยายที่ชวนติดตาม ผ่านความรักของหนุ่มสาวสองคู่ซึ่งมีปัญหาหนักที่ต้องตัดสินใจเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดสำหรับการครองชีวิตคู่ อันทำให้ โถงสีเทา เป็นนวนิยายที่มีสมดุลระหว่างการนำเสนอความจริงของชีวิตและสังคมกับความเป็นนวนิยายที่อ่านแล้วรื่นรมย์ใจ
เรื่องเล่าในโลกลวงตา
เรื่องเล่าในโลกลวงตา ของพิเชษฐ์ศักดิ์ โพธิ์พยัคฆ์ เป็นนวนิยายอธิบายสภาวะในจิตใจของมนุษย์อย่างประณีตและละเอียดลออ ผ่านเรื่องเล่าของชายผู้หนึ่งที่คนรักถูกงูกัดตาย ผู้เขียนสามารถสะท้อนภาวะทางอารมณ์ได้ตั้งแต่สุดโศกเศร้าอาดูร เสียดาย ไปจนกระทั่งถึงบ้าคลั่งเคียดแค้นแสนสาหัส และพัฒนาความแค้นนั้นไปสู่ความแกร่งกล้าทางกายและทางใจอันนำไปสู่จุดสูงสุดของการเรียนรู้ ความเป็นมายาและอนิจจังซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนพลิกผันนำไปสู่ความเข้าใจชีวิตอันจริงแท้ และสงบลงได้ในที่สุด แม้เป็นนวนิยายขนาดสั้น ตัวละครน้อยแต่เนื้อสารลึกซึ้ง ภาษางดงามทำให้เกิดจินตภาพ
รุสนี
มนตรี ศรียงค์ ได้ประมวลเอาความรู้สึกจากปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงอันยืดเยื้อในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มาสร้างสรรค์เป็นนวนิยายเรื่อง รุสนี ผู้เขียนเล่าเรื่องสะเทือนอารมณ์ฯผ่าน รุสนี และ เยาะยาห์ ชาวไทยมุสลิมจากการเป็นผู้เฝ้ามอง จนเป็นผู้ถูกกระทำเสียเอง แม้ย้ายออกนอกพื้นที่ความขัดแย้งทางการเมือง แต่ก็ยังพบกับปัญหาสังคมอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากไทยมุสลิมหรือไทยพุทธ ปัญหาก็ไม่อาจคลี่คลายลงได้ ความเกลียดชังบ่มเพาะมาจากความหวาดระแวง และความหวาดระแวงส่งผลให้เกิดความเกลียดชังหนักยิ่งขึ้นไปอีก ความเกลียดชังยังนำไปสู่ความรุนแรง และความรุนแรงก็ยิ่งทำให้ความเกลียดชังกันมากขึ้น วงจรอุบาทว์นี้ทับซ้อนจนยากจะแยกออกจากกันได้ สันติจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง มนตรี ศรียงค์ สามารถนำเสนอให้ผู้อ่านสะเทือนอารมณ์ไปกับชะตากรรมของตัวละครโดยมิได้พิพากษาหรือมีทีท่าโน้มเอียงไปข้างใดข้างหนึ่ง และทิ้งสารอันหนักหน่วงไว้ให้ผู้อ่านคิดต่อ
เสือล่องวารี
เสือล่องวารี นวนิยายของอุเทน วงศ์จันดา นำเสนอเรื่องราวของการดูแลรักษาป่าไม้ของชุมชน เน้นการพึ่งพาเอื้อเฟื้อกัน การมีส่วนร่วม การเคารพธรรมชาติ การดูแลสิ่งแวดล้อม การต่อต้านกระแสทุนนิยมและบริโภคนิยมซึ่งทำลายทั้งธรรมชาติ คุณภาพชีวิตและวัฒนธรรม ผู้เขียนใช้กลวิธีให้แต่ละบทมีผู้เล่าเรื่องต่างกันไป เรื่องจากผีนางตะเคียนทอง หลวงพ่อ ผู้ใหญ่บ้าน คนขุดเรือ คนพายเรือ คนปลูกต้นไม้ ทำให้ผู้อ่านรับรู้เรื่องราวชีวิตของผู้เล่าเรื่องและเรื่องราวของชุมชนไปพร้อมกัน นวนิยายเรื่องนี้มีแนวเรื่องแบบสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) แสดงสีสันท้องถิ่นด้วยตำนาน ความเชื่อ สิ่งลี้ลับ และให้บรรยากาศของความเป็นไทยที่มีความเชื่อในสิ่งเหนือธรรมชาติไปพร้อมกับศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระและผีจึงเป็นพลังหลอมรวมจิตใจของชาวบ้าน และเมื่อผนึกกำลังกับผู้นำชุมนที่มุ่งมั่นทำดี จึงเป็นไตรภาคที่พัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็ง ผู้เขียนแสดงให้เห็นว่าความศรัทธาสามารถเปลี่ยนสิ่งที่ไม่น่าเป็นไปได้ให้เป็นไปได้ ดังนั้น การปลูกป่าเพื่อคืนกลับความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติให้แก่ผืนโลก แม้จะเป็นเรื่องยาก แต่ก็สามารถทำให้สำเร็จได้
ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต
“ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของ วีรพร นิติประภา เป็นนวนิยายที่กล่าวถึงชีวิตของเด็กหญิงและเด็กชายกำพร้า 3 คนคือ ชาลิกา ชารียา และปราณ ใช้ชีวิตในวัยเด็กอย่างอบอุ่นที่บ้านสวนริมแม่น้ำนครชัยศรี ครั้นโตขึ้นเป็นหนุ่มสาวก็แยกย้ายมาใช้ชีวิตของตนเองในกรุงเทพมหานครสลับกับบ้านเกิดเป็นครั้งคราว ชีวิตช่วงนี้พวกเขาต้องประสบกับปัญหาเรื่องความรักและความขัดแย้งทางอารมณ์ ชีวิตจึงมีแต่ความอ้างว้าง ขมขื่น โดดเดี่ยว เดียวดาย จวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต ตัวละครอื่น ๆ ที่คนทั้งสามเกี่ยวข้องสัมพันธ์ด้วยล้วนแต่ประสบกับชาตะกรรมชีวิตที่เลวร้ายหรือ “ถูกชีวิตทรยศ” ทั้งสิ้น ไม่ว่าธนิตผู้หลงใหลคลั่งไคล้ผ้าโบราณ ธนานักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย นทีผู้สร้างภาพให้ตนเองดูเป็นชายที่มีเสน่ห์ ภัทรนักดนตรีร็อค และนวลหญิงที่มีสามีสามคนพร้อมกัน เสน่ห์ของนวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่ความเข้มข้นทางอารมณ์ของตัวละครที่เกิดจากกลวิธีการประพันธ์ที่ผสมผสานแนวสัจนิยมและจินตนิยายเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน การเสพสุนทรียะอย่างวิจิตรของตัวละคร ผ่านสีสันของสวนดอกไม้ อวลไปด้วยเสียงไพเราะของดนตรีคลาสสิค ความงดงามของผ้าโบราณ และรสชาติอาหารที่ชวนลิ้มลอง ส่งผลให้ตัวละครเสพชีวิตอย่างสุดโต่งด้วยรสอารมณ์มากกว่าคำนึงถึงตรรกะของเหตุและผล ผู้เขียนสามารถพรรณนาความรู้สึกทุกภาวะอารมณ์ของตัวละครได้อย่างลุ่มลึก ตัวอักษรบีบคั้นกดดันอารมณ์ผู้อ่านร่วมไปกับตัวละครทุกบททุกตอน นวนิยายเรื่องนี้เป็นบันเทิงคดีร่วมสมัยของไทยที่แหวกขนบ มุ่งสะท้อน “มลพิษของความรัก” ผู้เขียนวิพากษ์วิจารณ์ปมปัญหาความรักได้อย่างลึกซึ้งแยบยล โดยชี้ให้เห็นอีกด้านหนึ่งของความรักว่าคือมายาคติที่มนุษย์ลุ่มหลงและมัวเมา มายาคติแห่งรักสร้างความซาบซึ้งตรึงใจและความเจ็บปวดรวดร้าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า กระนั้นผู้คนก็ยังคงดิ้นรนโหยหาความรักอยู่ดี แม้บางครั้งมิอาจพานพบรักแท้ได้ในชีวิตจริง ดุจเดียวกับ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ที่หาทางออกไม่พบ คณะกรรมการรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ดประเภทนวนิยายจึงมีมติให้ “ไส้เดือนตาบอดในเขาวงกต” ของ วีรพร นิติประภา เป็นนวนิยายที่สมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ประเภทนวนิยาย ประจำปี 2557