All Posts

Archives

  • Home
  • กวีนิพนธ์

ในรังนอนของหนอนตัวหนึ่ง

ในรังนอนของหนอนตัวหนึ่ง ประกอบด้วยเนื้อหาสาระอันเป็นเรื่องราวความทรงจำในวัยเด็ก เปรียบได้กับการเดินทาง แล้วพบพานสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว   การเคลื่อนไหวของหลายชีวิตนำประสบการณ์ที่พบผ่านมาบันทึกเป็นบทกวี  เสมือนเป็นสมุดเล่มใหญ่  ฉันทลักษณ์ที่ใช้เป็นกลอนแปดตลอดทั้งเรื่อง แบ่งเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่ สวนดอกไม้ในดวงตา ภาพชีวิต เราก็ต่างตกเป็นผู้ต้องหา สิ่งมีชีวิตในโรงงาน ในรังนอนของหนอนตัวหนึ่ง และบทส่งท้าย ลีลาโดดเด่นในบางบท เช่น กล่อมดาว จงผลิบาน โดยไร้ใครบังคับ  เพลงบ้านนา  เป็นต้น

นิราศนรกานต์และเรื่องอื่น ๆ

นิราศนรกานต์และเรื่องอื่น ๆ เป็นรวมบทกวี   ที่นำตำนานรักแม่นาคพระโขนงมาเล่าในรูปแบบนิราศด้วยมุมมองใหม่ มีความร่วมสมัย ใช้เส้นทางโดยสารรถไฟฟ้าจากสถานีแพรกษา ในจังหวัดสมุทรปราการ มายังสถานีพระโขนงซึ่งเป็นต้นเรื่องของตำนาน ในชื่อ “นิราศพระโขนง” กับการล่องเรือตามขนบนิราศโบราณผ่านเส้นทางปัจจุบัน เพื่อย้อนรำลึกถึงอดีตความรักข้ามภพภูมิใน “นิราศนรกานต์” ด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ที่ชวนอ่านชวนติดตาม เนื้อหาในเล่มนอกจากนิราศขนาดสั้น 2 เรื่องหลักดังกล่าวแล้ว            ยังประกอบไปด้วยบทกวีสั้น ๆ อีก 6 สำนวน

กลางทะเลขี้ผึ้ง

กลางทะเลขี้ผึ้ง ของ ธาร ธรรมโฆษณ์ เป็นกวีนิพนธ์ที่เขียนขึ้นจากประสบการณ์ชีวิตในวัยเยาว์     มีกลิ่นอายของท้องถิ่น คติชนวิทยา ผนวกเข้ากับปรัชญาทางพระพุทธศาสนาที่ผู้เขียนเคยใช้ชีวิต                        ใต้ร่มกาสาวพัสตร์ โดยใช้ฉันทลักษณ์กลอนสุภาพ โคลง และเพลงกล่อมเด็กภาคใต้ เป็นเอกลักษณ์ที่มีเสน่ห์  สอดแทรกแนวคิดเกี่ยวกับความเป็นไปของสภาพสังคม วิถีชีวิตความเป็นอยู่ โดยผู้เขียนมีความเพียรพยายามเน้นให้เข้าถึงสัจธรรม แม้ชีวิตจะเหมือนการเดินทางกลางทะเลขี้ผึ้ง ให้มีพลังแหวกว่ายไปถึงแก่นแห่งหลักธรรม

ฤดูใจ

หนังสือกวีนิพนธ์ชุด ฤดูใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เป็นผลงานที่กวีใช้ต้นทุนชีวิตและวัฒนธรรมในฐานะ “เด็กชนบท” จาก “ภาคอีสาน” เป็นแกนกลางในการดำเนินเรื่องคู่ขนานไปกับเหตุการณ์ปัจจุบัน โดยเล่าเรื่องผ่านธรรมชาติที่แฝงด้วยปรัชญา ชวนให้ระลึกถึงวัยเยาว์ในท้องทุ่งที่มีความสุขตามประสา “คนบ้านนอก” กวีค่อย ๆ เผยภาพวัยเยาว์ที่สะท้อนให้เห็นการหาอยู่หากิน รับผิดชอบช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน เช่น การหาบน้ำจากบ่อมาใช้ในบ้าน  การหาปลา   การแหย่ไข่มดแดง ฯลฯ รวมทั้งภาพความสนุกสนานใน          วัยเยาว์ผ่านวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่น  เช่น การจุดบั้งไฟ การแห่นางแมวขอฝน และภาพความสุขจากเทศกาล “งานวัด” กวีใช้ธรรมชาติแวดล้อมสอนใจให้ตระหนักในความสงบร่มเย็น ไม่เร่งร้อนวิ่งตามกระแสโลกจนสูญเสียความสมดุลในชีวิต สัจธรรมจากธรรมชาติบอกเตือนให้เราต้องดูแล รักษาธรรมชาติเหมือนกับการดูแล “ฤดูใจ” ของตน ให้หมุนวนไปอย่างสมดุลและงดงาม กวีตระหนักว่าท้องทุ่งคือห้องเรียน   มีธรรมชาติเป็นครู       ผู้ยิ่งใหญ่ผู้สอนวิถีชีวิตที่ลึกซึ้งให้แก่เรา ด้านกลวิธีการประพันธ์ กวีสามารถใช้ภาษาได้อย่างสอดคล้องกับเนื้อสารที่ต้องการสื่อ คือความเรียบง่ายที่งดงาม รวมทั้งใช้วิธีย้อนภาพความทรงจำในวัยเยาว์เทียบทาบกับประสบการณ์ชีวิตในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความตระหนักในความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่วนเวียนเป็นครูอยู่ใน  “ฤดูใจ” ไม่รู้จบ ดังนั้น หนังสือกวีนิพนธ์ชุด ฤดูใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศ    อันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์  ประจำปีพุทธศักราช 2562

ขณะเดินทางใน

กวีนิพนธ์ชุด ขณะเดินทางใน ของ วัฒนา ธรรมกูร เป็นงานฉันทลักษณ์ที่สร้างสรรค์ในรูปแบบกาพย์ยานี 11 ตลอดทั้งเล่ม โดยแบ่งเป็น 3 บรรพ ตามลำดับดังนี้ บรรพ 1 คราเริ่มต้น บรรพ 2 ด้นทางตัน บรรพ 3 ผ่านพ้นไป ซึ่งเป็นคำคล้องจองเช่นเดียวกับตัวบทที่สัมผัสรับเชื่อมร้อยต่อเนื่องกันไปทุกบทตั้งแต่ต้นจนจบรวมทั้งสิ้น 232 บท เนื้อหาหรือความงาม “ขณะเดินทางใน” สะท้อนภาวะการเข้าถึงธรรม การสำรวจใจตน ค่อย ๆ ปล่อยวาง ไม่ยึดติด แล้วถ่ายทอดความสงบงามออกสู่ภายนอกผ่านบทกวี ผู้เขียนสามารถนำหลักธรรมคำสอนซึ่งคนทั่วไปอาจเข้าถึงยากมาย่อยมาต่อยอดด้วยการสกัดเป็นภาษาง่าย ๆ จนผู้อ่านเห็นเป็นเรื่องใกล้ตัว กลมกลืนกับวิถีชีวิต เพราะบทกวีมีความเป็นธรรมชาติ อ่านแล้วรู้สึกผ่อนคลาย เบาสบาย ขณะเดียวกันก็ทำให้เกิดพลังบวก เกิดแรงบันดาลใจ มีกำลังใจที่จะทำสิ่งดี ๆ ต่อตนเองและสังคม ความโดดเด่นอีกอย่างหนึ่งอยู่ตรงที่กวีเลือกคำง่าย ๆ มาใช้ แต่เล่นคำสัมผัสอักษรอย่างเป็นเอกภาพกลมกลืนกับเนื้อหา จึงทำให้มีพลังทางวรรณศิลป์ มีเสน่ห์ อ่านแล้วรู้สึกอิ่มเอิบ อีกทั้งสอดคล้องและเหมาะกับสังคมปัจจุบันที่มีความเชี่ยวกรากสับสนวุ่นวายแทบทุกมิติ “กี่ครั้งกี่เคว้งคว้าง         กี่เส้นทางกี่คำถาม         กี่หนาวกี่ร้อนนาม          กี่นิยามกี่หยัดยืน ล้วนต้องใช้สติ             ไตร่และตรองให้รู้ตื่น      จึงคล้อยวันและคืน       ชื่นกมลสืบเนื่องมา” และ “ไม่ถือก็ไม่ทุกข์             ไม่ฟื้นปลุกก็ว่างเปล่า     เวลาคล้อยทุเลา           ใช่ไหมเล่าผ่านล่วงเลย” ดังนั้น หนังสือรวมบทกวี ขณะเดินทางใน ของ วัฒนา ธรรมกูร จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2562

ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ

รวมบทกวี ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ กวีนิพนธ์ “จากฉัน…ผู้ไร้ดวงตา”  ของ  รินศรัทธา                     กาญจนวตี  เป็นรวมบทกวีจำนวน 71 สำนวน ที่นำเสนอเรื่องราวประสบการณ์และความรู้สึก นึก คิดของหญิงสาวซึ่งต้องสูญเสียการมองเห็นกับความพยายามปรับตนเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่กับความขาดพร่องด้วยศักดิ์ศรีและความมานะอดทน  เธอจึงมีโลกใหม่ที่มองเห็นด้วยใจสู่ตัวตนใหม่  ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจทั้งของตัวเธอเองและผู้ทุกข์ยากอื่น ๆ ในสังคม เนื้อหาแบ่งเป็น  4 ตอน คือ ตอนที่หนึ่ง โลกอีกดวงของผู้ไร้ดวงตา  เมื่อต้องเผชิญกับสภาวะไร้การเห็น การเขียนบทกวีเป็นพื้นที่ของการแสดงออกถึงประสบการณ์การเรียนรู้และเยียวยาตนเองทั้งสภาวะปัจจุบันและเรื่องราวในอดีตด้วยความเข้มแข็ง แม้สิ่งที่ขาดพร่อง หากเข้าใจและรู้จักที่จะ “มอง” อีกด้านหนึ่ง  ก็กลายเป็นความเปี่ยมล้นด้วยคุณค่าและความรู้สึก เช่น ในบท “กราบแม่ในวันพ่อ” “เคยหวั่นไหววันที่ไม่มีพ่อ                     เพื่อนรุมล้อจนต้องแอบร้องไห้                     หยาดน้ำตาหนึ่งหยดรดหัวใจ                พ่อของหนูอยู่ไหน…อยู่ไหนกัน… ในที่สุดเธอได้ตระหนักว่า           “ก้มกราบแม่ในวันที่ไม่มีพ่อ                  น้ำตาคลอแม่จูบแล้วลูบหัว                     หญิงคนหนึ่งรับผิดชอบทั้งครอบครัว        รักของแม่คือรั้วล้อมหัวใจ                     วันนี้ลูกยึดถือ…แม่คือพ่อ                     พร้อมเดินต่อเพื่อมีชีวิตใหม่                     รักของแม่ประเสริฐเทิดทูนไว้                 เป็นหลักชัยเชิดชู…กราบบูชา” ตอนที่สอง ประจักษ์ค่าชีวิต (แม้มิดแสง) การเขียนบทกวีเป็นพื้นที่ใหม่ที่เธอเห็นไม่เพียงแต่คุณค่าตัวตนของเธอเองแต่ยังเห็นอกเห็นใจผู้ยากไร้อื่น ๆ เช่น คนยากคนจน ผู้ใช้แรงงาน แรงงานข้ามชาติแม้กระทั่งสุนัขจร ตอนที่สาม รู้สึก ความรัก ความเปลี่ยนแปลง  เช่นเดียวกับหญิงสาวทั่วไป อารมณ์ความรู้สึกด้านความรัก การจากพราก ความสูญเสียและเรื่องราวในอดีต ตอนที่สี่ ปัญญากระจ่างแจ้งด้วยความคิด ทบทวนการเรียนรู้จากมหาวิทยาลัยซึ่งในชีวิตจริงในสังคมอาจต้องมาเริ่มเรียนรู้ใหม่และใคร่ครวญวิถีทางที่จะมุ่งเดินต่อไปในชีวิตโดยย้ำว่าในท่ามกลางสังคมที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วนั้นทุกขณะต้องอย่าลืม “พินิจใจ” “จึงต้องใช้ใจนำสัมผัสรู้                      เปิดประตูบานหนึ่งซึ่งถูกปิด           แบ่งเวลาชั่วขณะวันละนิด                   เพื่อเพ่งพิศการบานออก…ของดอกไม้”                 ด้านศิลปะการประพันธ์  ผู้แต่งใช้กลอนสุภาพที่มีลีลาราบรื่น สัมผัสคล้องจอง ใช้คำง่าย สื่อความและอารมณ์ความรู้สึกได้ชัดเจน มีวรรคทองที่คมคายให้แง่คิด  ดำเนินเรื่องราวได้กระชับ งดงามด้วยจินตภาพและอารมณ์สะเทือนใจ ที่ไม่เพียงมีคุณค่า น่าอ่าน แต่ยังให้กำลังใจผู้ที่ขาดพร่องอื่น ๆ หากมองจากอีกด้านหนึ่ง  ทุกคนก็ยังคงมีความหวังและไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคในชีวิตเช่นเธอ “โลกของฉันมืดยิ่งกว่าหลับตาสนิท         แต่ดวงจิตฉันสว่างกระจ่างอยู่                     และทุกวันฉันใช้หัวใจดู                       ยังต้องสู้และพร้อมไม่ยอมแพ้” ดังนั้น รวมบทกวี ทุกขณะกระจ่างชัดสัมผัสใจ ของ รินศรัทธา  กาญจนวตี จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 256