ประเทศของเราและเรื่องเล่าหลายๆ เรื่อง
ประเทศของเรา และเรื่องเล่าหลาย ๆ เรื่อง ของอภิชาติ จันทร์แดง เป็นรวมบทกวีที่นำเสนอเรื่องราวของสังคมไทยร่วมสมัยในมิติต่าง ๆ เช่น สื่อและข่าวสารที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตผู้คน สถานการณ์ความรุนแรงทั้งในเมืองหลวงและโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้ประพันธ์เล่าเรื่องราวของสังคมจากมุมมองของชีวิตผู้คนทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ชาวบ้าน และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ล้วนต้องตกอยู่ในภาวะแห่งความหวาดกลัวในทุกขณะของการใช้ชีวิตประจำวัน ความระทดท้อต่อชีวิตในท่ามกลางความรุนแรงและภยันตรายต่าง ๆ ในสังคมเพื่อให้ผู้อ่านเห็นใจและเข้าใจสภาพการณ์เหล่านั้นมากยิ่งขึ้น ด้านรูปแบบการประพันธ์ ผู้ประพันธ์ใช้กลอนสุภาพและกลอนเปล่าในการนำเสนอเรื่องเล่าต่าง ๆ จากหลากหลายมุมมองด้วยลีลาที่เรียบง่ายแต่กินใจ
มหาวิหารแห่งสุวรรณภูมิ
มหาวิหารแห่งสุวรรณภูมิ ของ บัญชา อ่อนดี เป็นผลงานที่นำเสนอสังคมไทยร่วมสมัย ซึ่งประกอบด้วยความหลากหลายแตกต่างทางวิถีชีวิต วัฒนธรรม ค่านิยม และความเชื่อ ท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมือง และความเปลี่ยนแปลงที่มุ่งไปสู่ “ความสุขสำเร็จรูป” ผู้เขียนเรียงร้อยภาพเหตุการณ์ โดยเฉพาะภาพวิถีชีวิตที่เรียบง่ายของผู้คนในแต่ละภูมิภาคได้อย่างมีพลังและมีชีวิตชีวา สามารถจัดวางจังหวะในการนำเสนอเนื้อหาได้สอดคล้องกลมกลืนอย่างมีเอกภาพ ไม่ต่างจากคีตนิพนธ์ที่มีความสอดประสานของท่วงทำนองได้อย่างลงตัว ผู้ประพันธ์สามารถนำเสนอเนื้อเรื่องได้อย่างมีโครงสร้างชัดเจน มีลำดับการนำเสนอเรื่องราวอย่างมีขั้นตอน โดยแบ่งเนื้อหาเป็น 3 ภาค ภาคแรก ที่เป็นมา นำเสนออดีตของสังคมไทย ภาคที่สอง ที่เป็นไป นำเสนอความเปลี่ยนแปลงด้านการปกครองตั้งแต่ พ.ศ.2475 เป็นต้นมา และภาคที่สาม ที่คงอยู่ คือ สภาพการณ์ทางการเมืองและสังคมไทยในปัจจุบัน ผู้ประพันธ์สามารถใช้สัญลักษณ์ “มหาวิหารแห่งสุวรรณภูมิ” และลีลาทางวรรณศิลป์ซึ่งแม้จะไม่ได้เอ่ยถึงสิ่งที่ต้องการจะสื่อโดยตรงแต่ใช้การพรรณนา ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสิ่งที่ต้องการนำเสนอได้อย่างมีประสิทธิภาพ การใช้ถ้อยคำมีความเรียบง่ายเป็นธรรมชาติไม่ประดิดประดอยจนเกินพอดี สอดคล้องกับแนวคิดสำคัญของเรื่อง
ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต
ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต ของ ไพวรินทร์ ขาวงาม เป็นรวมบทกวีที่นำเสนอภาพของสังคมอีสานในยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปทุกระดับ ทั้งระดับสังคมโดยรวมและระดับวิถีชีวิตของปัจเจกบุคคล นโยบายของภาครัฐที่ยังคนเป็นว่าอีสานเป็นดินแดนด้อยพัฒนาและแห้งแล้ง จึงนำเสนอนโยบายเปลี่ยนแปลงทุ่งกุลาร้องไห้เป็นอุตสาหกรรม เป็นดินแดนกาสิโนและสวนสนุกหรือให้เป็นที่นำขยะของเมืองมาทิ้ง ผู้ประพันธ์ให้ความสำคัญกับชาวนา ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ทำนาหล่อเลี้ยงผู้คนทั้งแผ่นดิน แต่วิถีชีวิตของชาวนาต้องยากลำบากและระทมขมขื่น สภาพท้องนาที่เคยอุดมและเป็นที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิตนั้น บัดนี้แปรเปลี่ยนจนแม่โพสพก็ไม่อาจสถิตอยู่ได้ ด้านวิถีชีวิต หนุ่มที่เคยมุ่งเข้าเมืองเพื่อคามหวังไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า มาบัดนี้ พิษของสังคมทุนนิยมและเศรษฐกิจฟองสบู่ ทำให้รัฐส่งเสริมนโยบายกลับสู่ชนบท แต่เมื่อกลับไปสภาพสังคมก็ไม่เหมือนเดิมเพราะนโยบายการ “พัฒนา” สังคมเกษตรกรรมของอีสานให้กลายเป็นสังคมอุตสาหกรรม ส่วนสาวอีสานยุคโลกาภิวัฒนามุ่งแต่งงานกับชาวต่างชาติเพื่อยกระดับฐานะของตนเองและครอบครัว หมู่บ้านและบ้านอีสานในวันนี้ ผู้ประพันธ์รู้สึกราวกับว่า “ไม่มีบ้านให้กลับ” ณ ที่ซึ่งแม่โพสพเคยสถิต ไม่เพียงให้ภาพสังคมอีสานที่แปรเปลี่ยนในภาพกว้าง แต่ยังคงเน้นการพรรณนาอารมณ์ความรู้สึกภายในของผู้คนที่รักในท้องถิ่นของตนแต่ต้องขื่นชมกับวิถีชีวิตที่แปรเปลี่ยนได้อย่างร้าวลึกสะเทือนอารมณ์ ในด้านศิลปะการประพันธ์ ด้วยลีลาที่ลื่นไหลและหลากหลาย บทกวีของไพวรินทร์มีเสน่ห์ของสีสันท้องถิ่น การผสมผสานท่วงทำนองของกลอนแบบฉบับกับรูปแบบฉันทลักษณ์ท้องถิ่น เช่น ผญาและภาษาถิ่นทำให้เกิดท่วงทำนองเฉพาะตนที่สามารถให้ภาพวิถีชีวิตจิตใจและอารมณ์ของผู้คนอีสานได้อย่างเรียบง่าย แต่คมคาย ลุ่มลึกและกินใจ
อุ้มลูกโอบโลก
อุ้มลูกโอบโลก ของ กอนกูย รวมบทกวีฉันทลักษณ์ที่มีเนื้อหาหลากหลายชวนอ่าน แบ่งเป็น 4 ภาค คือ หม่นเมืองสมัยไกลสมาน, คุ้งหนาวร้าวนานกาลครั้งหนึ่ง, กรุ่นดินกลิ่นฟางยังตราตรึง, โลกรำพึงฝากฝันนิรันดร เนื้อหาว่าด้วยสรรพชีวิต ความรัก ความหวัง ความฝัน การเมือง ธรรมชาติ ชีวิตชนบท วิถีคนเมือง และสิ่งรอบตัว ฯลฯ ซึ่งทุกอย่างล้วนเจตนาดีต่อโลก อยากเห็นความสงบร่มเย็นเกิดขึ้นบนโลกใบนี้
โลกแห่งรัก
โลกแห่งความรัก ของ กานติ ณ ศรัทธา เป็นกวีนิพนธ์ฉันทลักษณ์แนวขนบ แม้เนื้อหาจะว่าด้วยความรัก แต่ผู้ประพันธ์กล่าวถึงความรักหลายรูปแบบ ด้วยจังหวะลีลากลอนที่พลิ้วไหว จึงไม่ทำให้รู้สึกว่าน่าเบื่อ หลายชิ้นงานยังโยงไปถึงความรักเพื่อนมนุษย์ รักธรรมชาติ รักโลก ในขณะที่บางชิ้นก็แฝงด้วยสัจธรรม และปรัชญาชีวิตอย่างมีชั้นเชิง ผู้อ่านสามารถซึมซับได้โดยไม่รู้สึกว่าถูกยัดเยียดซึ่งถือเป็นเสน่ห์ของหนังสือเล่มนี้
หลงรูปจูบนาม
หลงรูปจูบนาม ของ พรชัย แสนยะมูล ‘กุดจี่’ เป็นบทกวีสั้น ๆ ที่เล่นกับ ฉันทลักษณ์ และสนุกกับการเล่นคำอย่างมีอารมณ์ขัน นำเสนอเนื้อหาทันยุคทันสมัยด้วยมุมมองและภาษาแปลกใหม่ตามกระแสนวัตกรรมการสื่อสาร โดยหยิบยกเรื่องราวใกล้ตัวซึ่งส่วนใหญ่ปรากฏในสังคมออนไลน์มาเป็นแกนหลัก เพื่อสะท้อนปัญหาสังคม การเมือง ปัญหาวัยรุ่น ปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยนำเสนอแบบเสียดสียั่วล้อและใช้สัญลักษณ์ ทำให้ผู้อ่านคิดตามได้ไม่ยาก
ดอกไม้ดอกสุดท้าย
ดอกไม้ดอกสุดท้าย ของ ศักดิ์สิริ มีสมสืบ รวมบทกวีจำนวน 100 บทเรื่อง ที่เคยตีพิมพ์เป็นประจำในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ตั้งแต่ พ.ศ. 2547-2551 เนื้อหาของบทกวีจึงสัมพันธ์กับเหตุการณ์สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งเหตุการณ์ทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม บุคคลและเรื่องราวที่เป็นข่าวในแต่ละสัปดาห์ เปรียบเป็นบันทึกทางสังคมที่ผสมผสานกับทัศนคติและมุมมองของกวีที่เฉียบคม เรื่องราวที่รุนแรงและหนักอึ้งจึงน่าอ่านด้วยลีลาการนำเสนอและความคมคายอย่างมีอารมณ์ขัน ผู้ประพันธ์แหวกขนบการเขียนกวีนิพนธ์ที่มักละเว้นการกล่าวถึงสิ่งสกปรกโดยนำเสนอเรื่องเหล่านั้นด้วยการเปรียบเทียบกับพฤติกรรมความเป็นไปของมนุษย์ ทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ที่แหลมคมแฝงน้ำเสียงเสียดสีและยั่วล้ออย่างมีสีสัน
หัวใจห้องที่ห้า
หัวใจห้องที่ห้าของ อังคาร จันทาทิพย์ รวมบทกวี 46 บทเรื่อง แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคแรก หัวใจห้องที่ห้า และภาคหลัง นิทานเดินทาง ในภาคแรก หัวใจห้องที่ห้าที่หมายถึง “ดวงใจใฝ่ฝันสันติสุข” ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องราวของสังคมไทยในมิติต่าง ๆ เริ่มจากอดีตจนเกิดความเปลี่ยนแปลงในยุคปัจจุบันซึ่งดูจะเป็นวิวัฒนาการที่โลกและมนุษย์อาจไม่ได้ดีกว่าเดิมเพราะสังคมยังเต็มไปด้วยปัญหา ความขัดแย้งและความรุนแรงในรูปแบบต่าง ๆ และที่สำคัญคือคลื่นความขัดแย้งในสังคมที่ทำให้เกิดความแบ่งแยกแตกต่างของผู้คน ในภาคหลัง นิทานเดินทาง ผู้ประพันธ์นำเสนอเรื่องเล่าและวิถีชีวิตของกลุ่มชนในบริบทต่าง ๆ ของสังคมไทย ทั้งตำนานแม่น้ำโขงในภาคอีสาน คนไร้บ้านในเมืองหลวง ชนกลุ่มน้อย เช่น มอญ กะเหรียงคอยาวและคนไร้สัญชาติโดยเชื่อมโยงเรื่องเล่าในอดีตกับวิถีชีวิตในปัจจุบันซึ่งล้วนระทมทุกข์และต้องต่อสู้ดิ้นรนในสังคมทุนนิยมและบริโภคนิยม นิทานเดินทางของผู้คนหลากหลายคือนิทานชีวิตที่ยังคงต้องดำเนินต่อไปจนกว่าจะสิ้นสุดชีวิต ด้านกลวิธีการประพันธ์ ใช้กลอนสุภาพเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนี้มีโคลงสี่สุภาพและกาพย์ฉบัง นำเสนอแนวคิดปัญหาสังคมในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เพื่อให้ผู้อ่านฉุกคิด โดยใช้เรื่องเล่าในอดีตเชื่อมโยงกับปัญหาสังคมในปัจจุบันได้อย่างมีนัยสำคัญ
บ้านในหมอก
บ้านในหมอก ของ สุขุมพจน์ คำสุขุม เป็นรวมบทกวี 39 บทเรื่อง แบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาคแรก บ้านในหมอก นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของแผ่นดินถิ่นเกิดที่มีประวัติความเป็นมายาวนานตั้งแต่อดีต เปรียบเสมือนกองเกวียนโบราณที่บรรพบุรุษได้ลงหลักปักฐานในผืนแผ่นดิน วิถีชีวิตชนบทในสมัยที่ดินยังดำ น้ำยังชุ่ม โลกสมัยใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคของเทคโนโลยี ทุนนิยมและบริโภคนิยมทำให้วิถีชีวิตคนชนบทเปลี่ยนแปลงด้วยเมฆหมอกของความศิวิไลซ์อันเป็นมายาคติทำให้ชาวชนบทอพยพมาศึกษาเล่าเรียนบ้าง ทำงานบ้าง ด้วยสำคัญผิดว่าคือความสุขแบบใหม่ จากกองเกวียนโบราณจึงกลายเป็นกองเกวียนจักรกลยนตรกรรม แท้จริงชีวิตในเมืองซึ่งเต็มไปด้วยตึกระฟ้าไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า ผู้ประพันธ์นำเสนอรูปธรรมของชีวิตชาวอีสานไม่ว่าจะเป็นเด็กสาวหรือคนขับแท็กซี่ที่มีวิถีชีวิตยากลำบากและจบชีวิตลงเพราะความพลาดหวัง ความยากแค้นและอาชญกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมทางเพศ ในภาคหลัง หมอกในบ้าน ผู้ประพันธ์นำเสนอปัญหาในสังคมไทยที่เปรียบเสมือนเมฆหมอกทั้งในระดับครอบครัวและระดับสังคม ในระดับครอบครัวความห่างเหินเพราะห่างไกลกันของคนในครอบครัว ชาวชนบทต้องเข้ามาทำงานในเมือง การพูดคุยไถ่ถามทางโทรศัพท์ดูเหมือนจะเป็นวิธีการเดียวในการแสดงความรักและความห่วงใยระหว่างกันในระดับสังคม ความรุนแรงทางภาคใต้ที่คร่าชีวิตหนุ่มชนบทหนุ่มอีสานบางคนต้องไปเป็นทหารที่ภาคใต้และต้องจบชีวิตลง กลับบ้านด้วยร่างที่ไร้วิญญาณหมอกควันในสังคมอีกประการหนึ่งคือ ความขัดแย้งของผู้คนในสังคมที่แบ่งแยกแตกต่างทางความคิดกลายเป็น “บาดแผลของชาติ” ที่ผู้ประพันธ์ เรียกร้องให้ละทิ้งเงื่อนไขดังกล่าวเพื่อความสงบสุขในสังคม ด้านศิลปะการประพันธ์ ผู้ประพันธ์ใช้กลอนสุภาพเป็นส่วนใหญ่ มีกลวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจด้วยการนำเสนอเนื้อหาเป็น 2 ภาค มีการนำเสนอเรื่องราวและปัญหารวมทั้งเสนอทัศนะและการแก้ปัญหารวมทั้งเสนอทัศนะด้วยการใช้หมอกเป็นภาพพจน์เปรียบเทียบซึ่งมีความหมายหลายนัย ด้านการเล่าเรื่องใช้การเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้น ยกรูปธรรมของชีวิตปัจเจกบุคคลแทนการเสนอแนวคิดอย่างตรงไปตรงมา รวมทั้งใช้ภาษาพูดและบทสนทนาดำเนินเรื่องทำให้สามารถนำเสนอเรื่องราวที่ดูจะหนักด้วยสาระและแนวคิดได้น่าอ่าน ชวนคิดและชวนติดตาม
คำนึงถึงบ้าน ขณะฝันในเมือง
คำนึงถึงบ้าน ขณะฝันในเมือง ของโขงรัก คำไพโรจน์ เป็นบทกวีที่สะท้อนความละเอียดอ่อนของผู้เขียนในการมองโลกและความเชื่อมโยงของชีวิต โดยเฉพาะภาพชนบทที่เต็มไปด้วยความสุขสงบตามอัตภาพของผู้ที่รู้จักการกินอยู่อย่างพอเพียงไม่ว่าในเรือกสวนไร่นาก็สามารถบันดาลความสุขได้อย่างที่ปรากฏในบทกวีชื่อ “ในสวนสนุก” ที่แม้แต่ความแหลมคมและแข็งกระด้างของรั้วลวดหนามยังต้องพ่ายแพ้แก่ธรรมชาติอันอ่อนโยน เมื่อ “เธอจะพบมะระพยายามบีบนวดลวดหนามให้ใจเย็น” ขณะที่เนื้อหาในภาคสอง “เมืองเคลื่อนไหว” ก็ให้ภาพการเปลี่ยนแปลงของเมืองผ่านสายตาอนาทรของผู้เขียนด้วยความ “คำนึงถึงบ้าน ขณะฝันในเมือง” ได้อย่างชวนสะทกสะท้อนใจ
ฟันเฟืองมนุษย์
ฟันเฟืองมนุษย์ ของฐกฤต ตั้งฐานตระกูล เป็นบทกวีที่ผู้เขียนอาศัยความถนัดจากทักษะงานอาชีพช่างซ่อมรถของตนมาเป็นมุมมองในการพินิจพิจารณาชีวิตที่หลากหลาย โดยเฉพาะชีวิตในสังคมคนกลางคืนอย่าง “เมืองพัทยา” สถานที่ที่ผู้เขียนอาศัยเปิดอู่ซ่อมรถอยู่ นับเป็นความแปลกใหม่ของลีลาการครุ่นคิดพินิจนึกผ่านสายตา “ช่างซ่อมรถ” ที่เพียรพยายามกระทำหน้าที่ “ช่างสลักคำ” ด้วยความรักในบทกวี
วาดเท้าเพื่อก้าววาง
วาดเท้าเพื่อก้าววาง ของกอนกูย เป็นบทกวีว่าด้วยสัมพันธภาพอันอบอุ่นระหว่างผู้เขียนกับสรรพสิ่งชีวิตรอบข้าง ทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตรายรอบตัว และชีวิตในสังคมที่ผู้เขียนได้ผ่านพบและมีปฏิสัมพันธ์ ผ่านห้วงเวลาที่หลากหลาย ทั้งเช้า สาย บ่าย ค่ำ เป็นลำนำกวีที่ให้ความรู้สึกละมุนละไมเหมือนสายลมแห่งความหวังดีที่คอยพัดวีให้กำลังใจแก่ผู้อ่าน สมดังเจตนารมณ์ของผู้เขียน
โลกใบเล็ก
โลกใบเล็ก ของพลัง เพียงพิรุฬห์ รวมบทกวีนิพนธ์ ตามรูปแบบฉันทลักษณ์โคลง กาพย์ กลอน ร่ายสุภาพ และกลอนเปล่าที่เน้นเนื้อหาสาระ จังหวะคำ กวีโวหารเรียบง่าย ในภาพรวมของรูปแบบฉันทลักษณ์ส่วนใหญ่ถูกต้อง แม่นยำตามกฎเกณฑ์ที่กำหนด แม้ว่าจะมีข้อผิดพลาดเล็กน้อยในเรื่องการใช้คำและสัมผัสในบางแห่ง แต่โดยภาพรวมมีความไพเราะเหมาะความ การถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้สึกนึกคิดและจินตนาการของผู้ประพันธ์ สร้างอารมณ์สุนทรีย์ได้อย่างมีวรรณศิลป์ เนื้อหาสาระเป็นความฝันที่สะท้อนออกมาจากการเฝ้ามองปรากฎการณ์สังคม อดีต ปัจจุบัน สู่อนาคต โดยหลอมรวมประสบการณ์ ความคิด ความเปลี่ยนแปลงเพื่อสื่อความหมายที่ชัดเจนได้อย่างเหมาะสมกลมกลืนผู้ประพันธ์มีศิลปะในการเสนอแนวความคิดริเริ่มได้อย่างมีคุณค่าทางวรรณศิลป์และคุณค่าด้านสังคม มีวิสัยทัศน์ในการประเมินคุณค่าของสิ่งที่ได้พบเห็นอย่างสมเหตุสมผลและนำเสนอด้วยความคิดใหม่ผ่านโลกใบเล็กของตนเองเป็นองค์ประกอบที่มีความงดงามทั้งรูปแบบ เนื้อหา และการสื่อความผ่านงานวรรณกรรม
แม่น้ำเดียวกัน
แม่น้ำเดียวกัน ของเรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ รวมบทกวีจำนวน 80 บท แบ่งเป็น 3 ภาค คือ ภาคหนึ่ง โลกใบอื่น ภาคสอง พื้นที่จริงแท้ และภาคสาม แม่น้ำเดียวกัน ผู้ประพันธ์เฝ้ามองและตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ในสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงในดินแดนภาคใต้ที่นำมาซึ่งความทุกข์ ความสูญเสียเศร้าโศกของมนุษย์ด้วยกันเอง แท้จริงมนุษย์ทุกเผ่าพันธุ์ ทุกชาติศาสนามาจากแม่น้ำสายเดียวกันอันดุจเป็นมารดรของมนุษยชาติซึ่งก็คือ “บุตรธิดามารดาเดียว” มนุษย์ควรลืมความขัดแย้งในอดีตซึ่งเป็น “คอกกำแพงกั้นแบ่งมนุษย์” และอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ผู้ประพันธ์เน้นคุณค่าของความรักในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างแม่กับลูกที่หล่อเลี้ยงชีวิตมนุษย์ โลกทัศน์มนุษยนิยมของผู้ประพันธ์ยังครอบคลุมไปถึงสัตว์ร่วมโลกซึ่งอาจให้อุทาหรณ์ที่มนุษย์ได้เรียนรู้และมีสำนึกเชิงจริยธรรม ด้านศิลปะการประพันธ์เด่นด้านการใช้ภาพพจน์ประเภทอุปลักษณ์และอุปมาการเปรียบเทียบระหว่างโลกภายนอกกับโลกภายในใจของมนุษย์ รวมบทกวีเล่มนี้จึงมีคุณค่าด้านจิตวิญญาณและการสร้างสำนึกเชิงจริยธรรมด้วยการสร้างสรรค์เชิงวรรณศิลป์
รากของเรา เงาของโลก
รวมบทกวี รากของเรา เงาของโลก ของสุขุมพจน์ คำสุขุม ประกอบไปด้วย บทกวีจำนวน 40 บท เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค ภาคแรก “รากของเรา” และภาคสอง “เงาของโลก” ภาคแรก “รากของเรา” ผู้ประพันธ์นำเสนอวิถีชีวิตพื้นถิ่นบ้านเกิดภาคอีสาน ซึ่งมีความผูกพันใกล้ชิดในครอบครัวและบรรพบุรุษ ที่แม้จะต้องทำมาหาเลี้ยงชีวิต แต่มีความรักและความอบอุ่นในครอบครัว ซึ่งยังคงเป็นความสุขในความทรงจำ รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันของไททั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นไทอีสาน ไทลาวและเผ่าไทในดินแดนอื่น ๆ วิถีชีวิตชาวนาในชนบทอีสานแม้จะต้องเผชิญอุปสรรคนานาประการ แต่การต่อสู้ชีวิตก็เป็นแนวทางที่บรรพบุรุษและหัวหน้าครอบครัวปลูกฝังให้ลูกหลานสืบต่อกันมาดุจรากเหง้าของเผ่าพันธุ์ที่หยั่งลึกท่ามกลางวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเป็นสุขด้วยอาหารพื้นถิ่นอีสาน เช่น ปลาแดก และข้าวจี่ ซึ่งผูกร้อยสายสัมพันธ์ของผู้คนร่วมแผ่นดินถิ่นเกิด ภาคที่สอง “เงาของโลก” ผู้ประพันธ์นำเสนอความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยที่เข้าสู่โลกาภิวัฒน์ สื่อร่วมสมัย เช่น เฟสบุ๊ค อินเทอร์เน็ต เปลี่ยนวิถีของคนไทย ซึ่งดูเหมือนใกล้ชิดแต่ไกลห่างทางความรู้สึกและความเข้าใจ ช่องว่างในสังคมเมืองที่มีผู้ที่เสพสุขอย่างล้นเหลือ รวมถึงผู้พิการที่เข้ามาขอทานเพื่อหาเลี้ยงชีวิต การอพยพเข้ามาอยู่เมืองหลวงของชาวอีสานจึงมิได้นำมาซึ่งความสุข แต่กลับเป็นพิษภัย “กรุงเทพฯ เป็นกรุงท่วม อาบทุกข์อ่วมนครอัน- สูงเด่นเป็นสวรรค์ จะซบหน้าลึกบาดาล” ผู้ประพันธ์ยังเสนอไว้ในบท “ความสุขมวลรวมฉบับสามัญชน” ว่าความสุขที่แท้จริง คือ ชีวิตที่เรียบง่าย พอมีพอกินในชนบท ความเอื้ออาทรเจือจานซึ่งกันและกัน การรู้จักอยู่และรู้จักประมาณตน ในทัศนะของผู้ประพันธ์ จี.ดี.พี จึงหมายถึง “จึงดีพอ” สำหรับชนชั้นสามัญชน
นิธาร
รวมบทกวีชุด “นิธาร” ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล มีลีลาเฉพาะตัว กล่าวคือ ‘คิดนอกกรอบ’ ในด้านเนื้อหา กล้านำเสนอไม่ซ้ำใคร มีมุมมองใหม่ ๆ ‘ภายใต้กรอบ’ ฉันทลักษณ์ (ที่ผ่อนคลาย) ซึ่งผสมผสานกันระหว่างรูปแบบเก่า (นิทาน) ประยุกต์กับการเล่าเรื่องแบบใหม่ได้ลงตัว เรื่องราวที่นำเสนอหลากหลายประเด็น เป็นต้นว่า โลก ชีวิต ธรรมชาติ สังคม การเมือง ฯลฯ โดยใช้ชั้นเชิงวรรณศิลป์ซึ่งมีทั้งความเปรียบ และสัญลักษณ์ แม้บางเรื่องจะสื่อสารตรง ๆ แต่ยังคงมีเสน่ห์การยั่วล้อและเสียดสี ผู้เขียนชี้ให้เห็นหายนะของความไม่พอดีของมนุษย์ ขณะที่อีกด้านหนึ่งได้ฉายภาพให้เห็นถึงโลกสวยงามด้วยความรัก สันติภาพ เสรีภาพ และอิสรภาพ อย่างมีชั้นเชิงในการนำเสนอพอสมควร เสน่ห์อีกอย่างก็คือ เมื่อผู้เขียนพูดถึงสิ่งใด เช่น หอยทาก ผีเสื้อ นก ต้นไม้ ก็มิได้หมายความจำเพาะแต่สิ่งนั้น หากแต่ซ่อนนัยไว้เสมอ และหลายเรื่องที่ตั้งเป็นปุจฉาหรือยกสิ่งใดมากล่าวอ้าง ก็สามารถอธิบายเหตุผลรองรับได้อย่างสมเหตุสมผล ในท่ามกลางโลกปัจจุบันสิ่งที่ผู้เขียนพยายามจะสื่อ คือ ให้ตั้งหลักทบทวนชีวิต แล้วก้าวเดินอย่างมีสติ เพื่อปรับความสมดุล อย่างไรก็ตาม ความไม่เคร่งครัดในรูปแบบการนำเสนอมีส่วนทำให้ “คำ” และ“ความหมาย” พร่าเลือนไปบ้าง หากแต่ผู้เขียนเลือกใช้วิธีเล่าเรื่องคล้าย ‘นิทาน’ บวกกับ ‘ลูกเล่น’ เฉพาะตัว จึงทำให้เรื่องหนัก ๆ กลายเป็นความผ่อนคลายและร่วมสมัย รวมบทกวี “นิธาร” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
คำถามของความเป็นมนุษย์
รวมบทกวี “คำถามของความเป็นมนุษย์” ของ กร ศิริวัฒโณ แบ่งเนื้อหาสาระออกเป็น สามส่วน ประหนึ่งจะตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์ในภาคอดีตที่ผ่านผัน ปัจจุบันที่เป็นอยู่ และมุ่งไปสู่อนาคตกาล โดยในภาค “หวนกาลผ่านเลย” ผู้เขียนเปิดภาพปูพื้นให้เห็น ความหลากหลายในตลาดเช้า ภาพชีวิตในชุมชนท้องถิ่น และการน้อมนำธรรมชาติมาพินิจพิจารณาในแง่มุมปรัชญานานาประเด็น ก่อนจบด้วยการถวิลถึงความรักของแม่ และทบทวนถึงรักแท้ของคู่สมรสในวัยชราเมื่อกาลเวลาผ่านเลย ในภาค “เนากาลผ่านวัน” สะท้อนภาพชีวิตในสังคมปัจจุบัน ผู้เขียนตั้งคำถามถึงประเด็นการอ่าน การเขียน และสถานภาพของนักเขียนในสังคมที่เริ่มมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ครอบคลุมถึงสัมพันธภาพของผู้คนในสังคมออนไลน์ผ่านการมีปฏิสัมพันธ์ทาง Facebook เพื่อไตร่ตรองมองตนบนความเป็นจริง และในภาค “สู่กาลผ่านใจ” เป็นการตั้งคำถามด้วยความห่วงใยในความเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบัน ที่เกิดภาวะบิดเบี้ยวของข้อเท็จจริงในข้อมูลข่าวสาร อันจะนำไปสู่สภาพสังคมชวนเคลือบแคลงในอนาคต บางชิ้นงานได้สะท้อนอารมณ์ท้อแท้ไม่แน่ใจกับความเป็นไปในชีวิต ก่อนปลุกปลอบให้โบยบินไปสู่ความหวังเบื้องบนฟ้าไกลในบทจบ ด้านศิลปะการประพันธ์ แม้ว่าจะมีข้อด้อยทางฉันทลักษณ์อยู่บ้าง แต่ผู้เขียนก็ใช้ภาษาเรียบง่ายได้อย่างมีชั้นเชิงทางวรรณศิลป์พอสมควร เพื่อส่งสารตั้งคำถามถึงความเป็นมนุษย์หลากหลายแง่มุม โดยไม่ต้องปรุงแต่งจนเกินพอดี สารของผู้เขียนจึงสามารถกระทบใจผู้อ่านให้แตกประเด็นคำถามและค้นหาคำตอบได้ตามประสบการณ์ของแต่ละคน สอดคล้องกับชื่อหนังสือ “คำถามของความเป็นมนุษย์” ในท้ายที่สุด รวมบทกวี “คำถามของความเป็นมนุษย์” จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
ประเทศของท่าน บ้านของผม
รวมบทกวี “ประเทศของท่าน บ้านของผม” โดยพิเชฐ แสงทอง เป็นการบอกว่าชีวิตของบุคคลย่อมซ้อนทับกับการดำเนินไปของสังคม ความเป็นไป ชะตากรรม หรือความคาดหมายในครอบครัวหนึ่ง ย่อมประกอบขึ้นเป็นเนื้อหนังของสังคมประเทศที่ไม่ต่างกัน จากบ้านสู่ประเทศ จากประเทศสู่บ้าน เราต่างมุ่งหวังชีวิตที่ดีกว่า แต่ในความเป็นจริงความหวังทั้งหลายได้หล่นหายรายเรียงไม่อาจจะดินถึงได้ทั้งที่เห็นอยู่เบื้องหน้า “ประเทศของท่าน บ้านของผม” กล้าหาญที่จะบอกถึงสิ่งซึ่งผุกร่อน ล่มสลายในท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไม่คงที่ ท้าทายกับยุคสมัยที่โลกหมุนไปข้างหน้า ท้าทายกับสิ่งที่เคยเป็นหมุดหมาย วีรกรรม อุดมคติ โดยผ่านการวิพากษ์จากรูปธรรมส่วนตนเองไปยังสังคมประเทศ เกิดการกระตุก ยั่วเย้า เพื่อให้เกิดการขบคิดต่อสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้อย่างกว้างขวางตามทัศนะแห่งการตีความ ดังนั้นรวมบทกวี “ประเทศของท่าน บ้านของผม” โดยพิเชฐ แสงทอง จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
สายลมบุพกาล
รวมบทกวี “สายลมบุพกาล” ของ ลอง จ้องรวี แบ่งเนื้อหาออกเป็น 2 ภาค ภาคแรก “บรรพ์ที่ 1 : สายลมบุพกาล” นำเสนอภาพชีวิตเปี่ยมสุขเมื่อครั้งวัยเยาว์ ผู้เขียนค่อย ๆ เผยรายละเอียดผ่านการละเล่นของเหล่าเด็กน้อยที่เป็นไปอย่างเรียบง่ายสอดคล้องกับยุคสมัยที่ “สายลมบุพกาล” ได้พัดผ่านไปแล้วอย่างยากจะหวนคืน ภาพวิถีชีวิตของคน “ริมยม” ที่อาศัยทรัพย์ในดิน สินในน้ำ หล่อเลี้ยงชีวิตให้งอกงามตามอัตภาพตลอดจนอารมณ์ความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นคนเมืองเก่า “สุโขทัย” อันสุขสงบของผู้เขียนซึ่ง “สายลมบุพกาล” ก็ได้พัดผ่านไปแล้วเช่นกัน ภาคหลัง “บรรพ์ที่ 2 : วันวานของอนาคต” เสนอสภาพสังคมปัจจุบันโดยเฉพาะในแวดวง “การศึกษา” ที่ผู้เขียนสังกัดอยู่อย่างมีสีสัน ทั้งปัญหานักเรียนค้าประเวณี หรือทำงานในสถานที่หมิ่นเหม่ต่อบรรทัดฐานทางศีลธรรม ผู้เขียนให้ภาพแง่มุมการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยผ่านภาพสิ่งของที่ปรากฏอยู่ใน “กระเป๋านักเรียน (หญิง)” อย่างมีสีสันผ่านสายตาของครูผู้ห่วงใยศิษย์ ผู้เขียนยังวิพากษ์วิจารณ์ระบบการศึกษาแผนใหม่ที่พรากครูไปจากห้องเรียนเพื่อเขียนเอกสารส่งตรวจตามมาตรฐาน “ตัวชี้วัด” ซึ่งสังการมาจากกระทรวงและไม่สอดคล้องกับธรรมชาติของการศึกษาที่แท้จริง ด้วยลีลาภาษาที่มีชั้นเชิงพอประมาณ ประกอบกับสำนวนโวหารที่คมคายในบทกวีหลายบทอันแฝงปรัชญาชีวิตชวนคิด เมื่อประกอบเข้ากับเนื้อหาอันเป็นเรื่องสัจธรรมแห่งชีวิตที่ไม่ตกยุคตกสมัย รวมบทกวี “สายลมบุพกาล” ของ ลอง จ้องรวี จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
เงาไม่มีเงา
“เงาไม่มีเงา” ของนายทิวา เป็นผลงานรวมบทกวีซึ่งแบ่งเป็น 3 ภาค คือ “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” “ตั้งอยู่-ดับไป-เกิดขึ้น” และ “ดับไป-เกิดขึ้น-ตั้งอยู่” ผู้ประพันธ์นำปรัชญาของพระพุทธศาสนา เรื่องความเป็นอนิจจังของสรรพสิ่งมาเรียงร้อยด้วยชั้นเชิงทางวรรณศิลป์ ผ่านบทกวี ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในมหานครเมืองแห่งอารยธรรมแต่ในท่ามกลางความเจริญแห่งอารยธรรมและเทคโนโลยี มนุษย์กลับไร้สุขและยังคง “งมงาย” กับวิถีชีวิตที่แก่งแย่งแข่งขันเพื่อเอาตัวรอด ยิ่งมากเทคโนโลยียิ่งห่างเหินจากกันไร้ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนมนุษย์ ผู้ประพันธ์มุ่งให้ผู้อ่านตระหนักถึงสภาวะวิถีมนุษย์ซึ่งเปรียบเสมือนเงาที่ไร้เงาเพื่อให้มนุษย์ได้ตื่นรู้ว่าสรรพสิ่งล้วนไม่จีรัง ย่อมเสื่อมสลายไปตามวัฏสงสาร อันเป็นสัจธรรมแห่งชีวิต รวมบทกวี “เงาไม่มีเงา” ของนายทิวา จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1
แม่น้ำที่สาบสูญ
แม่น้ำที่สาบสูญ ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ เป็นหนังสือรวมบทกวีบอกเล่าเรื่องราวของอารมณ์และความรู้สึก ที่กวีมีต่อชีวิตและสถานที่ที่ได้เข้าไปสัมผัสสัมพันธ์ แบ่งเนื้อหาออกเป็น 9 หมวดหมู่ โดยเริ่มจาก “มาจากดิน” กวีหวนคำนึงถึงรกรากที่จากมาด้วยอาวรณ์ ส่องสะท้อนความหลังครั้งเยาว์วัยด้วยหัวใจอันเต็มตื้น กวีพาผู้อ่านท่องไปยังโลกภายในของผู้เขียนผ่านกาละและเทศะอันหลากหลาย ก่อนจบลงตรง “คืนสู่ดิน” ด้วยการกลับไปสู่เรื่องราวของเด็กช่างฝันในท้องทุ่งจินตนาการ ผู้ท่องเทียวอยู่กับโลกด้านในผ่านฤดูกาลของชีวิตอันสัมพันธ์กับฤดูกาลภายนอก แม่น้ำที่สาบสูญ แสดงให้เห็นถึงเนื้อแท้ของความสุขอันเกิดจากวิถีเกษตรกรรมที่มีรกรากเดียวกันทั้งโลก ก่อนจะเกิดพรมแดนแผนที่และพรมแดนชีวิตเช่นปัจจุบัน ยิ่งกวีออกเดินทางกวีก็ยิ่งค้นพบว่าตัวเองสัมผัสสัมพันธ์กับธรรมชาติอย่างลึกซึ้งจนเป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งบทกวี ชีวิต และความฝันบรรพกาล ในด้านของภาษา เรวัตร์สามารถใช้ภาษาเพื่อสื่อความรู้สึกให้ผู้อ่านต้องจมดิ่งอยู่ในมนตราของอารมณ์อันคมเข้ม ทั้งหม่นมัวและสดใส ตามแต่กาละและเทศะที่ต้องการจะสื่อสารมายังผู้อ่านได้อย่างมีพลังสะเทือนอารมณ์ กระทบความรู้สึกไม่น้อย แม้ว่าจะปรากฏความซ้ำซ้อนทางเนื้อหาอารมณ์ในหลายบทหลายตอนก็ตาม รวมบทกวี แม่น้ำที่สาบสูญ ของ เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2
ทางจักรา
ทางจักรา โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ เป็นหนังสือกวีนิพนธ์เรื่องยาว ร้อยความดำเนินเรื่องให้เกี่ยวเนื่องไปกับกงล้อแห่งสัญญะ “จักรา” ซึ่งหมายถึงการเดินทางของสาระความคิด โดยอาศัยวงล้อของจักรยานเป็นความเปรียบที่มีทั้งจังหวะปั่นให้เร็วขึ้นและถีบปกติอย่างเชื่องช้า โดยมีตัวละคร 2 ตัวเป็นพลังขับเคลื่อนแท้จริงของกงล้อ ด้วยวิธีปุจฉา-วิสัชนาไปตลอดทาง ฉากและผู้คนที่เคลื่อนเข้ามาประกอบอย่างมีจังหวะ เป็นส่วนเติมให้เห็นสภาวะความเป็นมนุษย์ เห็นสังคมอันหลากหลาย นำพาผู้อ่านไปสู่ประสบการณ์ต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ต้นจนจบ ด้านกลวิธีการประพันธ์ ทางจักรา ได้แสดงลีลาวรรณศิลป์ในการนำเสนอ การใช้ภาษาเรียบง่าย ชี้ให้เห็นวัฏฏะที่นอกเหนือจากชีวิตอันเวียนว่ายแล้ว ยังมีการเคลื่อนเปลี่ยนโลกภายในและภายนอกที่ทับซ้อนเกี่ยวเนื่องต่อกัน ด้วยเหตุนี้คณะกรรมการตัดสินรางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ จึงตัดสินให้ทางจักรา โดย ศิวกานท์ ปทุมสูติ ได้รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ประจำปี 2559
บางคนอาจเดินสวนทางเราไป
บางคนอาจเดินสวนทางเราไป ของบัญชา อ่อนดี เป็นหนังสือรวมบทกวีจำนวน 39 เรื่องที่นำเสนอเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยทั้งในสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งผู้เขียนเปรียบโลกปัจจุบันว่าเป็น “โลกเสมือน” หรือยุค “สังคมก้มหน้า” ที่แม้ในเมืองจะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนแต่ก็ห่างเหิน ไร้ความใส่ใจซึ่งกันและกัน ในลักษณะ “ใกล้ตัว ใกล้ตา ไกลใจ” โลกอยู่ในยุค “สงครามใบ้” กับโลกเสมือนที่ “แรงถล่ม wi-fi เกินไซโคลน” ผู้ประพันธ์เล่าเรื่องราวของผู้คนในกระแสของความเปลี่ยนแปลงทั้งในเมืองและชนบท ในขณะที่ชาวชนบทอพยพย้ายถิ่นมาใช้แรงงานในเมืองหลวงด้วยหวังว่าชีวิตจะดีขึ้น แต่ไม่เป็นไปดังหวัง ยังคงทุกข์ยาก ใช้แรงงานหนักและได้เพียงฝันกลางวันเพื่อรำลึกโหยหาชีวิตและความสุขในชนบท ส่วนชาวเมืองก็ไปบุกรุกชนบทให้เป็นรีสอร์ต ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สาวชนบทแต่งงานกับชาวต่างชาติและไม่ปรารถนาจะใช้ชีวิตในชนบท แม้ “โลกเสมือน” จะเป็นโลกแห่งเทคโนโลยี แต่ความเชื่อของคนไทยบางส่วนยังคงงมงาย อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างกำไรจากความเชื่อ เช่น การสแกนกรรม การเปิดเว็บไซต์ขายสวรรค์ โดยมิได้ใส่ใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ด้านศิลปะการประพันธ์บทกวี ของบัญชา อ่อนดี มีความแม่นยำ ถูกต้องตามฉันทลักษณ์ ใช้ภาษาเรียบง่ายและภาษาร่วมสมัยเพื่อเล่าเรื่องราวอันหลากหลายของปัจเจกบุคคลโดยเฉพาะชนชั้นล่างของสังคมโดยดำเนินเรื่องอย่างมีโครงเรื่องชวนติดตาม ด้วยลีลาและท่วงทำนองกระชับฉับไว สามารถผสมผสานสีสันชนบททั้งด้านการใช้คำ ฉากและบรรยากาศทำให้บทกวีทุกเรื่องราบรื่นเรียบง่าย ชวนอ่านและชวนให้ขบคิด ดังนั้น รวมบทกวีบางคนอาจเดินสวนทางเราไป ของ บัญชา อ่อนดี จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2559
ธรรมชาติของหัวใจ
กวีนิพนธ์ชุด ธรรมชาติของหัวใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เป็นงานประพันธ์ประเภทฉันทลักษณ์ในรูปแบบกลอนแปด จำนวน 44 บทเรื่อง โดยแต่ละเรื่องมีสัมผัสรับต่อเนื่องกันไปตั้งแต่ต้นจนจบ ขณะที่เนื้อหา ผู้เขียนได้หยิบยกเอาเรื่องราวของธรรมชาติสิ่งแวดล้อมทั่ว ๆ ไปมาเชื่อมโยงเข้ากับวิถีชีวิตมนุษย์อย่างกลมกลืน ผู้อ่านสัมผัสได้ถึงมิตรภาพ ความงาม ความรัก ความหวัง กำลังใจและมีน้ำใจต่อกัน ด้านรูปแบบ ผู้เขียนมีความช่ำชองในเชิงฉันทลักษณ์พอสมควร มีความแม่นยำในลีลา จังหวะของบทกวี รวมทั้งมีการเล่นคำ เล่นกับภาษาได้อย่างลงตัว อย่างเช่นใช้คำซ้ำเพื่อย้ำความหนักแน่นและเกิดอรรถรส ซึ่งเป็นเสน่ห์อีกแบบหนึ่ง ดังนั้น เมื่อผสมผสานกับเนื้อหา “ธรรมชาติของหัวใจ” จึงค่อนข้างมีพลัง และทำให้ผู้อ่านได้ซึมซับได้เห็นว่า ธรรมชาติกับมนุษย์-ธรรมชาติกับหัวใจ มีความเชื่อมโยงกันอย่างแนบแน่นยากที่จะแยกออกจากกัน โดยเฉพาะมนุษย์ถ้าขาดสิ่งเหล่านี้ย่อมไม่อาจอยู่บนโลกใบนี้ได้เลย ดังนั้น กวีนิพนธ์ชุด ธรรมชาติของหัวใจ ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล
รวมบทกวี พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม แบ่งการนำเสนอเนื้อหาออกเป็น 3 ภาค ประกอบด้วยภาคแรก “หลับฝันอยู่ในกระเพาะนกกระจาบ” กวีย้อนภาพชีวิตของผู้คนพื้นถิ่นในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีชีวิตชีวา ผ่านยามเช้าอันชุ่มเย็นด้วยสายฝนจากอิทธิพลของมรสุมเขตร้อนเหนือคาบสมุทรมลายู อบอวลด้วยกลิ่นดอกไม้พื้นบ้านนานาพรรณ ผ่านชีวทัศน์อันอ่อนโยนของกวีผู้ศรัทธาในวิถีแห่งเกษตรกรรมที่ให้เห็นความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งในธรรมชาติรอบตัว ก่อนนำเสนอภาพความเปลี่ยนแปลงในภาคสอง “พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล” บอกเล่าสถานการณ์ความรุนแรงทางภาคใต้ที่สร้างความหวาดระแวงในใจของผู้คน เกิดสภาวะ “เมธีหลงทาง” เมื่อชุดความคิดและวาทกรรมกระแสหลักไม่สามารถอธิบายความซับซ้อนของปรากฏการณ์ทางสังคมไทยได้ กวีแสดงภูมิรู้ทางคติชนวิทยาโดยเฉพาะวิถีชีวิตชาวบ้านภาคใต้ได้อย่างมีสีสันชวนขบคิด กวีเห็นว่าไม่มีเวทมนตร์จากพ่อมดตนใดที่จะเสกสร้างสังคมหม่นมัวได้เท่าจิตใจของผู้คน และในภาคสุดท้าย “จำนวนที่เหลือของนกฝูงหนึ่ง” เหมือนจะสื่อเป็นนัยถึงผู้คนที่ผ่านการพลัดหลงจากกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในภาคที่สองมาแล้ว และยังต้องประสบชะตากรรมที่หลากหลาย โดยเฉพาะคนเล็กคนน้อยที่มีส่วนร่วมอยู่ในประวัติศาสตร์แต่กลับถูกเพิกเฉยไร้ความสำคัญไม่ต่างจาก “เศษเสี้ยวของก้อนหินพันปี” ขณะที่โลกเสมือนในโซเชียลเน็ตเวิร์กก็ไม่ต่างจากเวทมนตร์ยุคใหม่ที่ทำให้เราหลงใหลได้ปลื้มจนลืมรากเหง้าของตน ในด้านการใช้ภาษา กวีสามารถใช้โวหารกวีที่เฉียบคมลึกซึ้งหลากหลายรูปแบบ ชวนขบคิดตีความตามประสบการณ์ของผู้อ่าน อาทิ เปรียบเทียบเรื่องการยึดกุมอำนาจและการต้องตกเป็นเบี้ยล่างของประชาชนผ่านบทกวี “ในลำไส้วัวหนุ่ม” ซึ่งโดดเด่นในการใช้โวหารกวีที่แปลกต่างจากขนบอันคุ้นชิน ดังนั้น รวมบทกวี พลัดหลงไปในห้วงเวลาของนักมายากล ของ วิสุทธิ์ ขาวเนียม จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
ระหว่างทางกลับบ้าน
รวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์ นำเสนอความคิดเรื่องบ้านในหลากหลายมิติทั้งบ้านของผู้ประพันธ์เอง และบ้านของผู้คนหลากหลายอาชีพ หลากหลายชนชั้นในสังคมไทยและสังคมโลก อาทิ บ้านของแรงงานอพยพข้ามชาติ บ้านของชาวโรฮิงญา บ้านของผู้ลี้ภัยสงคราม บ้านจึงมีความหมายมากกว่าสถานที่เกิดและที่พำนักอาศัยแต่บ้านเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำ ความรัก ความผูกพันและความสุขของสมาชิกในครอบครัว ทุกชีวิตล้วนโหยหาและปรารถนาที่จะกลับบ้านซึ่งเป็น “ที่ให้เกิด ที่ให้ไกล ที่ให้กลับ ที่ไม่นับ เล็กหรือใหญ่ ที่ให้อยู่ ที่ชีวิต จิตวิญญาณ อวลซ่านอณู ที่ทุกข์สุข ทุกฤดู อยู่ในนั้น” ด้านศิลปะการประพันธ์ใช้ฉันทลักษณ์ประเภทกลอนสุภาพซึ่งมีลีลาและท่วงทำนองเรียบง่ายแต่มีความโดดเด่นในการเปรียบเทียบ โดยให้รูปธรรมของส่วนต่าง ๆ ซึ่งประกอบสร้างเป็นตัวบ้าน สื่อความหมายในเชิงนามธรรมของประสบการณ์ อารมณ์ ความรู้สึกและจิตวิญญาณของคำว่า “บ้าน” ได้อย่างน่าสนใจ ดังนั้น รวมบทกวี ระหว่างทางกลับบ้าน ของ อังคาร จันทาทิพย์ จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2560
สวนดวงใจ
รวมบทกวี สวนดวงใจ ของ ลอง จ้องรวี เป็นบทกวีมีเนื้อหาสะท้อนภาพความหลังที่ยังประทับอยู่ในความทรงจำของกวี เป็นภาพความสุขอันเกิดจากชีวิตเรียบง่ายในชุมชนท้องถิ่นบ้านเกิดของกวี โดยเล่าเรื่องความประทับใจผ่านวิถีชีวิตดั้งเดิม ที่ผู้คนหาอยู่หากินและมีความสุขตามสภาพแวดล้อม ทั้งจากพืชผักสวนครัวที่มีอยู่มากมายริมรั้วบ้าน การแลกเปลี่ยนข้าวปลาอาหารแบบชุมชนบุพกาล ภาพข้าวของเครื่องใช้สมัยก่อนซึ่งเป็นความทรงจำอันล้ำค่า ตลอดจนการพักผ่อนหย่อนใจจากมหรสพพื้นบ้าน ซึ่งกวีมีน้ำเสียง ชื่นชมความเรียบง่ายดังกล่าว ขณะที่ห่วงกังวลถึงความเปลี่ยนแปลงแบบสมัยใหม่ที่เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาในชุมชนดั้งเดิม ด้านกลวิธีการประพันธ์ กวีมีความสามารถในการสรรคำมาใช้ได้อย่างเหมาะงาม มีคำที่ต้องการสื่อถึงการโหยหาอดีตอย่างคำว่า วัยเยาว์ ความหลัง บ้านเก่า ฯลฯ ซ้ำ ๆ กันอยู่หลายแห่ง เพื่อมุ่งหมายจะช่วยให้ขับเน้นแนวคิดหลักของเล่มให้เด่นชัด ขณะเดียวกันชุดคำดังกล่าวก็อาจทำให้เกิดความซ้ำซ้อน และลดทอนความรู้สึกประทับใจลงไปได้บ้างเช่นกัน ดังนั้น รวมบทกวี สวนดวงใจ ของ ลอง จ้องรวี จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561
นัยน์ตาฤดูกาล
รวมบทกวี นัยน์ตาฤดูกาล ของ โขงรัก คำไพโรจน์ ประพันธ์ด้วยกลอนสุภาพ บันทึกเรื่องราวธรรมชาติและชีวิตที่กวีเฝ้ามองผ่าน “นัยน์ตา” ที่มิได้มองเห็นเพียงรูปธรรมภายนอกของสรรพสิ่ง หากยังเพ่งมองไปถึงนามธรรมหรือแง่คิดจากภาพที่มองเห็นเหล่านั้น จดจารเรื่องราวและความรู้สึก นึก คิดของกวีเป็นบทกวีที่เล่าเรื่องราวหลากหลายแตกต่างของผู้คนแต่ละอาชีพ ทั้งในชนบทและเมือง ด้วยน้ำเสียง ลีลาทางวรรณศิลป์ที่เรียบง่าย ทั้งอ่อนหวาน โศกเศร้า ขันขื่น สนุกสนาน สร้างอารมณ์ขันและรอยยิ้มให้ผู้อ่าน เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค คือภาคแรก สัจธรรมของธรรมชาติ นำเสนอธรรมชาติที่หลากหลายตามพื้นที่และฤดูกาล ภาพธรรมชาติในชนบทที่เปลี่ยนแปลง วิถีชีวิตของผู้คนและสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่เพ่งพินิจจาก “นัยน์ตา” ซึ่งเห็นทั้งโลกภายนอกและโลกภายในของกวีเอง ภาคหลัง ศาสตร์และศิลป์แห่งชีวิต นำเสนอวิถีชีวิตของผู้คนที่หลากหลายแตกต่าง โดยนำเสนอเรื่องเล่าที่มีโครงเรื่อง ตัวละคร การดำเนินเรื่องชวนติดตามและโดดเด่นด้วยการเล่นคำ เล่นความ ผ่านมุมมองด้วยผัสสารมณ์ แห่งรูป รส กลิ่น เสียงและสัมผัสผ่าน “นัยน์ตา” เฉพาะตนของกวี “แต่ละช่วงเวลาพาสัมผัส ชีวทัศน์ โลกทัศน์ วนผลัดเปลี่ยน ตามกาละขณะจ้องมองหมุนเวียน เปิดใจเรียนรู้ผ่านการเดินทาง” ด้านศิลปะการประพันธ์ ลีลากลอนลื่นไหล เรียงร้อยด้วยสัมผัสตามขนบทางวรรณศิลป์ ใช้การเล่นคำ เล่นความ หลายเรื่องใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบเรื่องสั้น ทำให้เนื้อเรื่องชวนติดตามและนำเสนอแง่คิดที่น่าสนใจ ดังนั้น รวมบทกวีนัยน์ตาแห่งฤดูกาล ของ โขงรัก คำไพโรจน์ จึงสมควรได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561
ใจปัจจุบัน
รวมบทกวีชุด ใจปัจจุบัน ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล เนื้อหาที่นำเสนอส่วนใหญ่เป็นเรื่องใกล้ตัว เช่น การใช้ชีวิตของตนและคนในครอบครัว แม้ดูเหมือนว่าเป็นเรื่องปัจเจก แต่สามารถปรับใช้กับ “ชีวิตใครก็ได้” กวีถ่ายทอดออกมาด้วยน้ำเสียงเนิบนุ่ม งดงามเป็นธรรมชาติ เรื่องราวเหล่านี้เกิดจากการเฝ้ามองอย่างสังเกตสังกา ทำให้ผู้อ่านได้ฉุกคิดว่าผู้คนยุคปัจจุบันมักมองไกลตัว ซึ่งสับสนวุ่นวายจนลืมสำรวจตรวจสอบใจตัวเอง โดยชี้ให้เห็นว่าความสุขที่แท้จริงคือการอยู่กับใจปัจจุบัน ให้กลมกลืนกับธรรมชาติ แล้วจะเกิดความสมดุลในชีวิต เพราะแท้แล้วชีวิตกับธรรมชาติล้วนโอบเอื้อเป็นเนื้อเดียวกัน ผลงานหลายสำนวนอ่านแล้วทำให้ชีวิตมีความหวัง หากใครกำลังท้อแท้ หรือแม้แต่บางเรื่องที่เลวร้าย แต่เมื่อได้ตั้งสติตริตรองมองมุมบวก ไม่ยึดติด พอใจในสิ่งที่มี ในที่สุดก็สามารถพลิกปัญหาเป็นปัญญาเห็นแสงสว่างได้ไม่ยาก อีกประเด็นสำคัญในงานสร้างสรรค์เล่มนี้ คือการอยู่ร่วมในสังคมด้วยการพึ่งพาอาศัยกัน สิ่งดีงามเหล่านี้ปัจจุบันนับวันยิ่งห่างไกล ผู้เขียนได้ชวนมองโลกในแง่งาม ให้เห็นน้ำใจ ซึ่งมองเห็นได้ไม่ไกลจากความเป็นจริง เรื่องใกล้ตัวดังกล่าวสามารถเชื่อมโยงมาสู่ใจมนุษย์ได้อย่างเป็นเอกภาพ โดยใช้ความเปรียบเทียบเคียงหรืออุปมาโวหารเห็นภาพแจ่มชัด ด้านสำนวนภาษาและกลวิธีเล่าเรื่อง ผู้เขียนนำเสนอในรูปแบบกลอนแปด มีความช่ำชองในเชิงฉันทลักษณ์ สัมผัสนอกลื่นไหล สัมผัสในอย่างมีจังหวะ ขณะที่บางสำนวนจงใจอวดภาษาวรรณศิลป์แพรวพราว บางบทประสมคำทำให้เกิดความแปลกใหม่ ไม่แปลกแยก แต่กลับมีเสน่ห์ สอดแทรกอารมณ์ขันด้วยมุกทันสมัย เล่นคำ-เล่นความไม่ล้นเกิน ด้วยคำง่าย ๆ มองง่าย ๆ ชวนให้ตระหนักถึงความเป็นมนุษย์ที่มีอยู่ในตัวเอง ดังนั้น หนังสือรวมบทกวี ใจปัจจุบัน ของ ‘กุดจี่’ พรชัย แสนยะมูล จึงสมควรได้รับรางวัลชนะเลิศ รางวัลเซเว่นบุ๊คอวอร์ด ประเภทกวีนิพนธ์ ประจำปีพุทธศักราช 2561
แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน
แม่งูไม่เคยห่างหายจากหมู่บ้าน เป็นรวมบทกวีจำนวน 47 สำนวน ส่วนใหญ่ใช้คำประพันธ์ประเภทกลอนสุภาพ เนื้อหาแบ่งเป็น 2 ภาค คือภาคแรก ฟ้าตอนนี้ ฟาฏอนี และภาคที่สอง ปราการปรากฏ กวีนำเสนอวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง เสียงระเบิดและความตาย ด้วยการเล่าเรื่องราวของผู้คนหลากหลายชีวิตที่ต้องอยู่ในสภาวะหวั่นหวาด เคลือบแคลง อคติ ทั้งที่ชาวบ้านปรารถนาชีวิตที่สันติสุข แม้เรื่องราวที่นำเสนอจะเป็นวาทกรรมความรุนแรงที่เคยได้ยินได้ฟังมาแล้ว กวีใช้น้ำเสียงแสดงความคลุมเครือ ใช้สัญลักษณ์ ความเปรียบที่เผยให้เห็นการวิพากษ์และการตอบโต้การกดทับทั้งวาทกรรมภาครัฐ ความเชื่อ ระบบอาวุโสและอคติซึ่งเปรียบเสมือนดวงตาของแม่งูที่เฝ้าจ้องมองและควบคุมความเป็นไปของลูกงูในหมู่บ้าน